ไบรท์ตัน ประกาศงบดุลประจำปี 2022-23 โดยได้ผลออกมาสุดยอดเกินคาดเมื่อพวกเขาทำกำไรไปถึง 122 ล้านปอนด์ ซึ่งถือเป็นการทำกำไรต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และเป็นการทำกำไรครั้งประวัติศาสตร์ในแบบที่ไม่เคยมีสโมสรไหนในพรีเมียร์ลีกได้กำไรมากขนาดนี้มาก่อน
ทีมที่เพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นมาได้ไม่ถึง 10 ปี พัฒนาสโมสรแบบต่อเนื่อง ยิ่งกว่าสตาร์ทอัพยูนิคอร์นได้อย่างไร... เบื้องหลังของหมากเกมนี้ช่างร้ายเหลือ
ติดตามที่ Main Stand
หัวเริ่มสาย...หางจึงเริ่มกระดิก
ไบรท์ตัน เป็นทีมระดับลีกวัน หรือแชมเปี้ยนชิพมาโดยตลอดในช่วงยุค 90s ต่อ 2000s ในช่วงเวลานั้น สโมสรบริหารทีมแบบยุคเก่า ไม่ได้มีแผนการตลาดหรือโครงการสร้างทีมระยะยาวเลย ดังนั้นพอถึงเวลาที่ทีมเริ่มตก และตัวเลขในบัญชีเริ่มเป็นสีเเดง สิ่งต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นร็วมาก ไม่ว่าจะเป็นการการสนามเหย้าที่ชื่อว่า โกลด์สโตน กราวด์ ในปี 1997
การฝืนทำทีมแบบไม่ประสบความสำเร็จและไม่เกิดกำไรทำให้เจ้าของเก่าอย่าง ดิค ไนท์ ต้องขายกิจการให้กับคนรุ่นใหม่อย่าง โทนี่ บลูม เศรษฐีชาวอังกฤษ ที่สร้างเนื้อสร้างตัวได้ด้วยธุรกิจ "ให้ทีเด็ดบอล" หรือแปลแบบภาษาทางการคือผู้ให้คำแนะนำในการเดิมพัน (Bet Advisor) ภายใต้ชื่อบริษัท Starlizard และเหนือสิ่งอื่นใดคือเขาเป็นแฟนบอลของไบรท์ตันมาตั้งแต่จำความด้วย
บลูม นำเงิน 93 ล้านปอนด์ มาซื้อหุ้นเพื่อเป็นเจ้าของของ ไบรท์ตัน ต่อจากไนท์ ณ ตอนนั้นทีมยังอยู่ลีกวันอยู่เลยด้วยซ้ำ หลักการบริหารของ บลูม คือทุกอย่างต้องเริ่มจากรากฐาน การจะทำอะไรให้สำเร็จต้องรู้จริงมากที่สุด และงานส่วนไหนที่เขาไม่รู้ หรือรู้ไม่มากพอ เขาก็จะจ้างทีมงานที่เก่งกาจเฉพาะทางเข้ามาบริหาร หนึ่งในคนที่เป็นเหมือนกุญแจสำคัญในการสร้างทีม ไบรท์ตัน ยุคลีกวันคือ พอล บาร์เบอร์ ที บลูม จ้างเข้ามาเพื่อเป็น ซีอีโอ หรือประธานบริหารของทีม
หลักการทำงานมีอยู่ว่า บาร์เบอร์ อธิบายทุกสิ่งที่เขารู้ และบอกเล่าทุกสิ่งที่เขาคิด อะไรบ้างที่สโมสรต้องทำเพื่อทะยานไปข้างหน้าแบบรวดเร็วที่สุดโดยไม่ต้องห่วงเรื่องเงินทองและราคาค่างวด เพราะส่วนนี้คนพิจารณาสุดท้ายคือ บลูม ชายที่โฆษณาตัวเองว่ามีเซ้นส์ในการตัดสินใจที่เฉียบคมที่สุด ซึ่งเป็นนิสัยที่เขาได้มาจากการเป็นเซียนโป๊กเกอร์
"โป๊กเกอร์จะช่วยให้คุณมีพื้นฐานที่ดีมากในการอ่านสถานการณ์ต่างๆ คุณจะตัดสินใจได้ง่ายขึ้นเวลาเจอเรื่องที่ยากต่อการฟันธง ทักษาะเหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้เกี่ยวกับการธุรกิจและฟุตบอล" บลูม โฆษณาตัวเองแบบนั้น
บาร์เบอร์ อธิบายอย่างตรงไปตรงมาว่าเหตุผลที่ ไบรท์ตัน เป็นทีมที่เดินหน้าต่อเนื่องแม้จะมีการเปลี่ยนกุนซือและนักเตะในทีมแทบจะทุกซีซั่น ก็เพราะพวกเขาเน้นไปที่การมองภาพกว้างเอาไว้ ยกตัวอย่างเช่นการกำหนดวิธีการเล่น วิธีการซื้อ-ขายนักเตะ พวกเขาจะไม่สร้างทีมเพื่อให้โค้ชคนใดคนหนึ่งทำผลงานได้ดี แต่พวกเขาสร้างทีมเพื่อให้มีโครงสร้างที่แข็งแกร่ง แนวทางที่ชัดเจน และทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนโค้ช พวกเขาก็จะพิถีพิถันคุยกันอย่างละเอียดเกี่ยวกับสโคปงานที่ผู้ถูกจ้างว่าจะต้องทำอะไรบ้าง
ดังนั้นเมื่อโครงสร้างดีก็เหมือนกับโปรเเกรมหนึ่งในคอมพิวเตอร์ที่มีระบบเสถียร ไม่ว่าใครจะเป็นคนเปิดคอมขึ้นมาและกดปุ่มคลิกโปรเเกรมนั้น โปรแกรมจะถูกรันไปอย่างอัตโนมัติ
"การบริหารของเราไมได้มองไปที่ทำโค้ชคนนี้ไม่ซื้อนักเตะคนนั้น ไม่เล่นแผนนี้ล่ะ แต่มันคือการออกมาดูภาพรวมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับทีมอยู่ในช่วงของพัฒนาการเชิงบวกหรือไม่ ... เราไม่เคยสร้างทีมเพื่อตามใจโค้ชคนใดคนหนึ่ง เพราะพวกเขาไม่อยู่กับเราตลอดไป วันหนึ่งพวกเขาจะลาออก ดังนั้นคุณต้องสร้างทีมที่พร้อมพัฒนาไปตลอดไม่ว่าอยู่ในมือของโค้ชคนไหน"
"ความท้าทายของเราที่เจอมาตลอดคือการพัฒนาทีมอย่างไรเมื่อโค้ชเปลี่ยนมือจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง" บาร์เบอร์ กล่าว และถ้าคุณติดตาม ไบรท์ตัน มาตั้งแต่เลื่อนชั้นคุณก็จะเห็นแบบนั้น จากยุค คริส ฮิวจ์สตัน ที่มีเป้าหมายเพื่อความอยู่รอดในพรีเมียร์ลีก, ยุคของแกรม พ็อตเตอร์ ที่สร้างทีมให้มีสไตล์ที่ชัดเจนและมีวิธีการเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ และยุคปัจจุบัน ที่มี โรแบร์โต้ เดอ แชร์บี้ มาต่อยอดเพื่อพาทีมจากยุคพ็อตเตอร์ บินสูงไปอีกระดับหนึ่ง
เมื่อเบื้องบนมีการวางแผนงานเพื่ออนาคตที่ดี มีการเอาคนรู้จริงมาทำงานในการเลือกเฮ้ดโค้ชแต่ละครั้ง ไบรท์ตัน จึงเป็นทีมที่ค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้นมาเรื่อยอย่างต่อเนื่อง แม้จะช้าไปบ้าง ไม่ได้มีอะไรหวือหวามากมาย แต่มันเต็มไปด้วยความมั่นคัง ... แน่นอนว่าพวกเขายังไม่เคยคว้าเเชมป์ระดับเมเจอร์ได้ในยุคของ บลูม แต่มันก็มีหนึ่งเรื่องที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ ในแบบที่ทีมในพรีเมียร์ลีกทีมอื่นทำไมได้ นั่นคือการ "ปั้นและขาย" เพื่อทำให้ทีมมีสถานะทางการเงินที่เเข็งแกร่งไปพร้อม ๆ กับการเล่นในสนามที่ยังคงมีมาตรฐาน ทั้งสองอย่างไปพร้อมกันได้ ถูกใจทั้งแฟนบอล และถูกใจทั้งผู้บริหาร ... ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย
การเดินหมากแบบคิดล่วงหน้า
การที่ บลูม และ บาร์เบอร์ พา ไบรท์ตัน ขึ้นสู่ลีกสูงสุดได้ ถือเป็นความท้าทายในอีกระดับ เหล่าสโมสรน้องใหม่ในพรีเมียร์ลีกมีวิธีคิดแตกต่างกันในวันที่พวกเขาได้เลื่อนชั้น บางทีมเลือกที่จะใช้ทีมชุดเดิม ๆ เพราะเชื่อว่าการเก็บเงินก้อนโตจากค่าลิขสิทธิ์ไว้ใช้ในระยะยาว ดีกว่าเอาไปทุ่มเสริมทัพจนหมดเพื่อเพิ่มโอกาสการอยู่รอดในลีกสูงสุดต่อไป เพราะมันคือความเสี่ยงมหาศาลถ้ารอดก็ดีไป แต่ถ้าไม่รอดและใช้เงินจนหมดกระเป๋า การกลับมาในจุดนี้อีกครั้งจะเป็นเรื่องยากสุด ๆ
ฝั่ง ไบรท์ตัน เองก็เลือกแบบนั้น โทนี่ บลูม ไม่ได้ใช้เงินที่มีทั้งหมดไปกับการเสริมทัพตั้งแต่ตลาดแรก แต่ใช้วิธีค่อย ๆ ผลัดใบนักเตะที่คลาสยังไม่ถึง และเสริมตัวที่มีราคาไม่แพง ซึ่งในปีแรกที่ขึ้นมาพรีเมียร์ลีก ไบรท์ตัน ก็ถือว่าลองผิดลองถูกเหมือนกัน โดยเน้นไปที่นักเตะที่ค้าแข้งในลีกนอกประเทศ เพราะมีราคาถูกกว่า โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ซื้อเพื่อเล่นให้กับทีมชุดใหญ่ ซึ่งเป็นนักเตะที่มีประสบการณ์แล้ว พร้อมลงเล่นทันที อย่าง ปาสกาล กรอส, แมทธิว ไรอัน, ดาวี่ พร็อพเพอร์, โฮเซ่ อิซเกิเอร์โด้ และ เอเซเกล เชล็อตโต้
อีกกลุ่มเป็นกลุ่มที่ซื้อตามนโยบายของสโมสรแต่แรก คือกลุ่มดาวรุ่งราคาถูก อายุน้อยและมีแวว ซึ่งอาจจะด้วยความใหม่ในเวทีพรีเมียร์ลีก ณ ตอนนั้น จึงยังไม่มีดาวรุ่งที่ ไบรท์ตัน ซื้อมาแล้วเอามาใช้งานหรือขายทำกำไรได้
ผลงานของ ไบรท์ตัน ในช่วงแรกจึงเป็นแค่ทีมระดับหนีตกชั้น แต่ก็ถือว่าทำได้ตามเป้าด้วยการจบอันดับที่ 15 และ อันดับ 17 ใน 2 ซีซั่นแรกบนพรีเมียร์ลีก (2017-18 และ 2018-19)
บาเบอร์ เล่ากับ นิวยอร์ค ไทม์ ว่า พรีเมียร์ลีกคือของใหม่สำหรับเขา เป็นเวทีที่มาตรฐานสูง และเขาก็รู้ตัวดีว่าประสบการณ์ของเขายังไม่เจนจัดพอในการบริหารเรื่องตลาดซื้อขายในเวทีระดับนี้ นั่นเองจึงทำให้มีการแต่งตั้งประธานเทคนิค คนที่มีส่วนสำคัญมาก ๆ ในการต่อยอดบนเวทีพรีเมียร์ลีกเข้ามาทำงานเป็น "ฝ่ายซื้อ-ขาย" นั่นคือ แดน แอชเวิร์ธ คนเดียวกันกับที่กำลังจะไปทำงานตำแหน่งเดียวกันที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ในซีซั่นหน้า
"แดน แอชเวิร์ธ คือคนที่เก่งมากในเรื่องที่พวกเรายังไม่รู้" โทนี่ บลูม เจ้าของทีมพูดถึงการจ้าง แอชเวิร์ธ มาทำงานนี้
"ผมจ้างเขาเข้ามาทำงานเพราะเห็นว่าเรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาก ๆ เขาเล่าแนวคิดและสไตล์การสร้างทีมของเขา ซึ่งผมฟังแล้วเคลิ้มขึ้นสวรรค์ไปเลยเพราะมันเหมาะกับ ไบรท์ตันมากๆ ... แดน เข้ามาและเริ่มต้นงานของเขาได้แบบไร้ที่ติ เมื่อเวลาผ่านไปเขาสร้างความก้าวหน้ากับทีมได้แบบก้าวกระโดด เขาทำทุกอย่างที่เราคาดหวังจากเขา ... แม้กระทั่งวันที่เขาลาออกไปเขาก็ทิ้งมรดก และแนวทางเพื่อให้เราได้เดินไปต่อได้อีกด้วย"
แดน แอชเวิร์ธ เข้ามาและใช้แนวคิดในการสร้างทีมแบบ "มันนี่บอล" ซื้อมาและขายไปตามแบบฉบับที่ ไบรท์ตัน ได้วางโครงสร้างไว้ แนวทางการซื้อนักเตะยังคงไม่ต่างจากเดิม เดินทางหานักเตะดาวรุ่งฝีเท้าดีจากนอกประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะดาวรุ่งจากประเทศที่ไม่ได้เป็นมหาอำนาจฟุตบอล หรือดึงตัวมาจากลีกใหญ่ ๆ ด้วยเหตุผลเรื่องราคาที่ถูกกว่า จากนั้น ไบรท์ตัน จะซื้อพวกเขาเข้ามาตอนอายุไม่เกิน 21 ปี จากนั้นก็เข้าสุ่กระบวนการปั้น - ใช้งาน และขายต่อ
คำถามคือนี่เป็นแนวคิดที่ใคร ๆ ก็รู้ และคิดภาพออก แต่ในการลงมือปฎิบัติจริง ไบรท์ตัน ทำอย่างไรในการคว้านักเตะดาวรุ่งเหล่านี้มาแล้วใข้งานได้จริง ขายได้จริง ทำกำไรมหาศาลได้จริง?
สรรหา บ่มเพาะ ขายต่อ
ประการแรก ไบรท์ตัน และ แอชเวิร์ธ ลงทุนกับเรื่องของฐานข้อมูลนักเตะจากทั่วโลกเป็นอย่างมาก บาร์เบอร์ เล่าว่า ทีมเขามีฐานข้อมูลของนักเตะมากมายเป็นร้อย ๆ คน โดยในฐานข้อมูลนั้นก็จะเต็มไปด้วยข้อมูลต่างและตัวเลขสถิติต่าง ๆ ยิบย่อยไปจนถึงลักษณะนิสัยและการใช้ชีวิต
ซึ่งพวกเขาก็จะมีเกณฑ์การตัดสินในแต่ละครั้งว่า นักเตะคนไหนที่ราคาน่าลงทุน ไม่แพงเกินไป มีศักยภาพพอจะไปต่อ หรือแม้กระทั่งลึกลงไปอีกว่าหากซื้อมาแล้วจะเอามาเล่นตรงไหนให้กับทีม มีคุณสมบัติพร้อมสำหรับฟุตบอลระดับสูงหรือยังไม่ว่าจะเป็นเรื่องทักษะ ร่างกาย และการใช้ชีวิตในต่างเเดน เพราะส่วนใหญ่นักเตะที่ ไบรท์ตัน ซื้อมานั้น ล้วนแต่ไม่เคยย้ายออกมาจากบ้านเกิดของพวกเขาทั้งสิ้น
และถ้ามีการประเมินภายในว่านักเตะคนนั้นยังไม่ดีพอหรือยังไม่พร้อมสำหรับพรีเมียร์ลีก พวกเขาจะยอมขาดทุนก่อน ด้วยการปล่อยยืมให้กับอื่น ๆ โดยเลือกไปที่สโมสรที่มีแนวทางการเล่น วิธีการใช้งานนักเตะของพวกเขาในแบบใกล้ ๆ กัน เพื่อที่ในวันที่สัญญายืมตัวจบลง ไบรท์ตัน จะได้นักเตะที่คุ้นชินกับตำแหน่งและวิธีการเล่นในแบบพวกเขามากทีสุด ซึ่งมันทำให้เมื่อเวลานั้นมาถึง เด็ก ๆ หลายคนที่ ไบรท์ตัน ซื้อมา ก็จะปรับตัวไม่นานเกินรอ
"มันเป็นเรื่องของฐานข้อมูล ระดับผลงานของพวกเขา คุณลักษณะทางความคิดและนิสัย ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้เราคาดการณ์สถานการณ์ของพวกเขาได้อย่างแม่นยำมากขึ้น เช่น ผู้เล่นจากประเทศ X (สมมุติ) มีแนวโน้มจะปรับตัวกับพรีเมียร์ลีกได้มากแค่ไหน ถ้าไม่ พวกเขาควรไปอยู่ลีกไหน หรือสโมสรไหนก่อน" บาร์เบอร์ กล่าว
ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือ คาโอรุ มิโตมะ ที่ดึงตัวมาจาก คาวาซากิ ฟรอนตาเล่ ตั้งแต่ปี 2021 แม้ตัวนักเตะจะขึ้นมาเล่นชุดใหญ่ในญี่ปุ่นช้ามากเพราะเอาเวลาไปเรียนมหาวิทยาลัยก่อน แต่ทีมแมวมองของ ไบรท์ตัน ก็มองลึกไปถึงความพร้อมด้านความคิด และการใช้ชีวิต ที่สุดแล้วพวกเขาก็ชั่งน้ำหนักว่า แม้ มิโตมะ จะอายุเกินกำหนดแนวทางการซื้อนักเตะของสโมสรไปแล้ว แต่ศักยภาพที่ยังไปต่อยังมีมากพอที่ทีมจะเสี่ยง พวกเขาจึงคว้าตัว มิโตมะ และปล่อยไปยังสโมสร ยูเนี่ยน แซงต์ ชิลลัวส์ ในเบลเยี่ยมที่ บลูม เป็นเจ้าของ
การปล่อยตัวครั้งนั้นเพื่อให้ มิโตมะ ปรับตัวกับการใช้ชีวิตในต่างเเดน เล่นฟุตบอลยุโรป และเหนือสิ่งอื่นใดคือตำแหน่งตัวริมเส้นในทีมยังไม่ว่างในเวลานั้นเพราะมี เลอันโดร ทรอสซาร์ ขวางทางอยู่ ดังนั้นการปล่อยยืมจึงมีประโยชน์ที่สุดสำหรับทุกฝ่าย ... และมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ แบบที่ทุกคนเห็นตอนที่ มิโตะมะ กลับมาเล่นในพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2022-23
ไม่ใช่แค่ มิโตมะ นักเตะอีกหลายคนที่มีชื่อยู่บนฐานข้อมูลของ ไบรท์ตัน ล้วนแล้วแต่ถูกเตรียมพร้อมเอาไว้เสมอ เรียกได้ว่าในวันที่พวกเขาปั้นนักเตะและขายทำกำไรได้เมื่อไหร่ นักเตะคนต่อไปที่อยุ่ในลิสต์ก็สแตนด์บายพร้อมรอเสียบทันที ทำให้ทีมแทบไม่มีจังหวะสะดุดเลย
"โดยปกติแล้วเราพยายามหาผู้เล่นที่จะเป็นตัวแทนมารอก่อนแล้ว หากเราคิดว่ามีนักเตะในทีมของเรากำลังเป็นที่สนใจของทีมอื่น ๆ และเขาจะย้ายออกไปในอีกไม่นาน" บาเบอร์ อธิบายต่อ
"ยกตัวอย่าง มอยเซส ไคเซเโก้ เราซื้อเขามาตอนอายุ 19 ปี เพราะเรารู้ว่า อีฟ บิสซูม่า กำลังจะย้ายออกไป ... เราเตรียมตัวแต่วันที่ยังไม่เสียตัวหลักเหล่านี้ เพราะเรารู้ว่าไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าการที่วันหนึ่งนักเตะของเราโดนทีมใหญ่กระชากตัวไป แบบที่ไม่ได้ตั้งตัว แล้วเราจึงค่อยออกลุยตลาดด้วยความร้อนรน การเตรียมให้พร้อมสำหรับอนาคต คือสิ่งที่เรายึดมั่นมาตลอด"
ผ่านไปปีต่อปีด้วยการบริหารแบบนี้ ไบรท์ตัน จึงเป็นหนึ่งในสโมสรที่มีการเปลี่ยนโฉมหน้านักเตะ 11 ตัวจริงมากที่สุดตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมันไม่แปลกอะไร และไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย พวกเขาคิดรอไว้ก่อนแล้ว และยิ่งทำให้มันเป็นภาพชัดเท่าไหร่ พวกเขาก็ยิ่งทำให้ดาวรุ่งทั่วโลกได้เห็นว่าหากพวกเขาเลือก ไบรท์ตัน พวกเขาจะได้การดูแลที่ดี และเหนือสิ่งอื่นใด พวกเขาจะได้โอกาสลงสนาม ซึ่งแนวคิดแบบนี้ทำให้ ไบรท์ตัน เริ่มแย่งดาวรุ่งกับทีมยักษ์ใหญ่ได้มากขึ้นในภายหลัง
และเหนือสิ่งอื่นใดที่ดึงใจดาวรุ่งหลายคนให้เลือก ไบรท์ตัน ได้ เพราะสโมสรยืนยันว่าถ้าวันใดวันหนึ่งมีข้อเสนอก้อนโตจากทีมยักษ์ใหญ่ สโมสรพร้อมจะปล่อยเด็ก ๆ เหล่านั้นไปพิสูจน์ตัวเองสุ่ก้าวต่อไปอย่างแน่นอน
หนึ่งในคนทำหน้าที่เข้าถึงนักเตะที่รับงานต่อจาก บาเบอร์ และ แอชเวิร์ธ คือ แซม จีลล์ หัวหน้าฝ่ายสรรหาของ ไบรท์ตัน (ปัจจุบันทำงานกับ เชลซี) ระบุว่าการตกลงกับเด็ก ๆ ดาวรุ่งให้เข้าใจถึงอนาคตของพวกเขา คือกลไกสำคัญมาก ๆ ทีทำให้ ไบรท์ตัน ได้นักเตะศักยภาพดี ๆ อายุน้อย ๆ เข้ามาอยู่ในทีมตลอด
"ผมมักจะบอกผู้เล่นเสมอว่า คุณมีทีมอย่าง แมนฯ ซิตี้ หรือ บาเยิร์น เป็นทีมในดวงใจ พวกเราเข้าใจดี ดังนั้นไม่ต้องห่วงเราพร้อมจะขายคุณให้พวกเขาในวันที่คุณดีพอสำหรับทีม ๆ นั้นอย่างไม่ต้องสงสัยเลย " จีลล์ กล่าวถึงประโยคมัดใจดาวรุ่งหลายคนให้มุ่งหน้ามาที่สโมสรแห่งนี้
แน่นอนว่าแนวคิดในการสร้างทีมของ ไบรท์ตัน ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงจากทั้งหมดที่เรากล่าวมา แม้ว่าวันนี้บุคลากรในสโมสรหลายคนจะถูกทีมใหญ่ ๆ ดึงตัวไปร่วมทีม แต่อย่างที่กล่าวไว้ ที่ ไบรท์ตัน พวกเขาเตรียมตัวแทนเอาไว้เสมอ ไม่ใช่แค่นักเตะ แต่ยังรวมไปถึงสต๊าฟฟ์, เฮ้ดโค้ช และบุคลากรส่วนต่าง ๆ ในสโมสรด้วย
การทำงานแบบมีแผนที่ชัดเจน การเลือกเอาคนที่เก่งที่สุดมาทำงานที่ยากที่สุด และการเอาหัวชนกันเพื่อหารือทุกครั้งในการจะลงทุนด้านใดสักด้าน ทั้งหมดนี้คือเบื้องหลังความมั่งคั่งที่ ไบรท์ตัน ทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ
พวกเขาขายนักเตะคนแล้วคนเล่าจนเรานับนิ้วแทบไม่พอ และกลไกนี้ยังคงดำเนินต่อไปอย่างแข็งแกร่งภายใต้ระบบที่เซ็ตไว้แล้วเกือบ 10 ปี ... การได้กำไรสถิติพรีเมียร์ลีกที่ 122 ล้านปอนด์ในปีนี้ อาจจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นก็ได้ใครจะไปรู้? ... พวกเขาทำให้โลกได้เห็นแล้วว่าทีมเล็ก ๆ ไร้โปรไฟล์สามารถมีตัวตนในโลกลูกหนังยุคปัจจุบันได้อย่าง เรียกได้ว่า โมเดลของ ไบรท์ตัน จะต้องการเป็นกรณีศึกษาของอีกหลายสโมสรทั่วโลกอย่างแน่นอน
แหล่งอ้างอิง :
https://sport.optus.com.au/news/premier-league/os72421/brighton-premier-league-record-profit-owner-tony-bloom-investment
https://theathletic.com/5380826/2024/04/02/brighton-player-sales-profit/
https://www.nytimes.com/2023/04/14/sports/soccer/brighton-chelsea-premier-league.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Brighton_%26_Hove_Albion_F.C.
https://www.viasport.com/articles/brightons-blueprint-for-success-their-player-recruitment-pathway
https://www.sussexexpress.co.uk/sport/football/brighton-and-hove-albion/dan-ashworth-brighton-chairman-tony-bloom-extremely-disappointed-as-technical-director-exits-amid-newcastle-talks-3557450