Feature

"จู๊ด ไรซ์ ไมนู" 3 กองกลางยุคใหม่ สิงโตคำราม กับบทเรียนจากยุค "เจิด-แลมพ์-สโคลส์" | Main Stand

มีไม่บ่อยครั้งที่กุนซือระดับทีมชาติอังกฤษอย่าง แกเรธ เซาธ์เกต จะทำอะไรที่ขัดใจตัวเองแต่ตามใจกระแสของแฟนบอลแบบนี้ 

 


ฟอร์มของ ค็อบบี้ ไมนู กองกลางดาวรุ่งของ แมนฯ ยูไนเต็ด ร้อนแรงจนเกินมองข้าม เซาธ์เกต ใส่เขาลงไปในรายชื่อทีมชาติอังกฤษ และทำให้หลายคนพูดกันว่าทีมชาติอังกฤษกำลังจะมีกองกลางยุคทองที่สามารถใช้งานได้อีกเป็น 10 ปี ได้แก่ จู๊ด เบลลิงแฮม, ดีแคลน ไรซ์ และ ไมนู เป็น 3 ประสาน 

อย่างไรก็ตามยุคทองที่ว่านี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 20 ปีก่อน วันที่ทัพสิงโตคำรามมี 3 กองกลางระดับแม่ทัพของ 3 สโมสรอย่าง พอล สโคลส์, สตีเว่น เจอร์ราร์ด และ แฟรงค์ แลมพาร์ด ... แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จในรายการใดเลย 

ยุคทองแห่งปี 2000s กับยุคทองแห่งปี 2020s มีอะไรที่แตกต่างกันบ้าง และมีบทเรียนอะไรที่จะทำให้กองกลางยุคใหม่ 3 คนนี้ ดูไว้เป็นเยี่ยง และเอาไว้เป็นอย่าง 

จากยุคเก่าถึงยุคใหม่ ติดตามทั้งหมดที่ Main Stand 

 

ยุคทองเก่า ... เก่งที่สุด แต่ทำไมพิสูจน์ในระดับชาติไม่ได้ ? 

อย่างแรกที่ชัดที่สุดคือความต่างของบทบาทหน้าที่ของทั้ง 2 ยุค หากดูจากชื่อเสียงและฝีเท้าที่พิสูจน์ตัวเองมาแล้วนับไม่ถ้วนอย่าง สโคลส์, เจอร์ราร์ด และ แลมพาร์ด นั้นกินขาดทีมยุคทองรุ่นใหม่อย่าง จู๊ด, ไรซ์ และ ไมนู อย่างสิ้นเชิง  อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถสรุปได้ว่านั่นเป็นความต่างที่เป็นข้อดีหรือข้อเสียมากกว่ากัน 

ประการแรก อังกฤษ ในยุคต้น 2000s มีกุนซืออย่าง สเวน โกรัน อีริคส์สัน ไม่สามารถตัดใครออกได้แม้แต่คนเดียว เขาจำเป็นต้องใส่ทั้ง 3 คนนี้ลงสนาม และมีอีกคนที่ถอดเป็นตัวสำรองไม่ได้อย่าง เดวิด เบ็คแฮม 

เรื่องฝีเท้าทั้ง 4 คนเก่งที่สุดและดีที่สุดในประเทศอังกฤษแบบไม่มีใครเถียงได้ แต่ความสมบูรณ์แบบที่แท้จริง คือการมีแผงกองกลางที่แบ่งหน้าที่กันชัดเจน มีความถนัดเฉพาะทาง เหมาะกับหน้าที่ที่ตัวเองได้รับ ซึ่งแน่ชัดว่า แลมพาร์ด สโคลส์ และ เจอร์ราร์ด เป็นนักเตะที่มีรูปแบบการเล่นที่คล้ายกัน คือเล่นเกมรุกเป็นหลัก และเมื่ออยู่กับสโมสรของแต่ละคน บอลจะต้องผ่านพวกเขาเกิน 50% ในเวลาที่ทีมจะเล่นเกมรุกแต่ละครั้ง 

ดังนั้น การจัดทั้ง 3 คนในบทบาทมิดฟิลด์ลงพร้อมกันเเบบรักพี่เสียดายน้อง อีกทั้งไม่กล้าจะดรอปใครเพราะอาจจะส่งผลถึงกระแสของแฟนบอลและสื่อในอังกฤษ ที่หากได้กดดันใคร พวกเขากดดันเอาตาย ไม่ว่าจะ อีริคส์สัน จะดรอปใครสักคนไว้ข้างสนาม เขาก็จะถูกโจมตีว่าตัดสินใจผิดพลาด มันจึงกลายเป็นเรื่องที่ "เสียไม่ได้" และจบลงด้วยการเลือกคนที่เก่งที่สุด แต่ไม่ใช่การเลือกคนที่เหมาะสมกับหน้าที่ดีที่สุด 

ถ้าว่าทำไมเราถูกล้าพูดแบบนั้น ? เปล่าเลย เราไม่ได้คิดเอาเอง เรื่องนี้ อีริคส์สัน เป็นคนเปิดปากเล่าย้อนความเองทั้งหมด ในช่วงปี 2022 ที่ผ่านมา หลังจากเรื่องของอังกฤษยุค "โกลเด้นเจน" ครบรอบ 20 ปี 

"ในตอนนั้นผมคิดว่าเรามีกองกลางที่ดีที่สุด 4 คนในอังกฤษ (รวมเบ็คแฮมด้วย) และผมยอมรับว่าผมไม่สามารถวางใครสักคนไว้ในฐานะตัวสำรองได้เลยไม่ว่าจะเป็น เบ็คแฮม, แลมพาร์ด, เจอร์ราร์ด, สโคลส์ พวกเขาเหล่านี้เป็นตัวสำรองไม่ได้"  อีริคส์สัน กล่าว

เขาขยายความต่อว่า เขาพยายามจะทำให้ทั้ง 4 คนเล่นเข้ากันให้ได้ แต่สุดท้ายมันก็ต้องเก้ ๆ กัง ๆ จะต้องมี 1 คนที่ไม่ได้เล่นในตำแหนงที่ตัวเองถนัด ทำหน้าที่ที่ตัวเองไม่คุ้นเคย ซึ่งนั่นทำให้ทีมเสียสมดุลไป ... ซึ่งทีมชาติอังกฤษชุดนั้น ใช้การวางกองกลาง 2 แบบ แบกแรกคือ "ไดมอนด์" หรือไม่มีปีก เจอร์ราร์ด อยู่หน้ากองหลัง, เบ็คแฮม ยืนมิดฟิลด์ฝั่งขวา, สโคลส์ ยืนมิดฟิลด์ฝั่งซ้าย และ แลมพาร์ด ยืนอยู่หลังกองหน้า 

ส่วนอีกแบบคือการเล่น 4-4-2 แบบคลาสสิก โดยให้ เจอร์ราร์ด กับ แลมพาร์ด ยืนมิดฟิลด์คู่กันสลับกันขึ้น-ลง ตามจังหวะ ไม่มีใครยืนตำแหน่งตายตัว เบ็คแฮม ปีกขวา และ สโคลส์ ปีกซ้าย ซึ่งทั้ง 2 แผน ไม่มีระบบไหนลงตัว บ่อยครั้งที่ อีริคส์สัน จะต้องปรับแก้ระหว่างเกมตลอด บางครั้งเขาเปลี่ยนเอา เทรเวอร์ ซินแคลร์ หรือ โจ โคล ที่เป็นปีกธรรมชาติลงมาเล่นแทนใครสักคนใน 3 คนนี้ บางครั้งก็ขยับเอา เวย์น รูนี่ย์ มาเล่นปีกไปเลยเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความสมดุล ที่แก้เท่าไหร่ก็ไม่จบ

"ผมเลือกพวกเขาเพราะพวกเขาเก่งที่สุด ผมเชื่อว่า เจอร์ราร์ด จะยืนกลางคู่กับ แลมพาร์ดได้ ผมพยายามหาที่ให้ สโคลส์ ลง แต่แล้วเขาก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยคุ้นเคย ขยับเข้ามาเล่นเป็นตัวในโดยไม่รู้ตัวเสมอ" อีริคส์สัน อธิบายเพิ่มเติม

ถึง อีริคส์เซ่น จะบอกว่า สโคลส์ เล่นไม่ตรงตำแหน่ง แต่เขาก็อธิบายว่าเหตุผลที่ให้ลงเพราะคิดว่า สโคลส์ เป็นคนที่มีความสามารถรอบด้าน จ่ายบอลได้ วางบอลยาวได้ ครองบอลเหนียว และยิงประตูได้ดี เขาจึงจำเป็นต้องทำแบบนั้น สรุปแล้ว กองกลางของอังกฤษยุคนั้น สวยแต่รูปจูบไม่หอม เพราะต่างคนต่างถนัดการเป็นแม่ทัพ ไม่ใช่ลูกหาบ 

แม้ทั้ง 3 คนจะบัญชาเกมระดับเทพเวลาที่เล่นให้ต้นสังกัด แต่พอถึงทีมชาติพวกเขาไปกันคนละทิศคนละทาง คุณสามารถมองผ่านผลงานในแต่ละทัวร์นาเม้นต์ของยุคนั้นได้เลย 

 

ยุคใหม่ อาจไม่เก่งและดังเท่า ... แต่แบ่งหน้าที่ชัดกว่า 

 ตัดภาพกลับมาที่ 3 กองกลางที่สื่ออังกฤษเริ่มเรียกว่า "ยุคทองใหม่" อย่าง จู๊ด ไรซ์ และ ไมนู นั้น จะมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง ประการแรกบทบาทหน้าที่ของพวกเขาไม่เหมือนกัน แต่ละคนมีหน้าที่ชัดเจน ถ้าคุณมองจากปัจจุบันล้วน ๆ คุณจะเห็นภาพนี้ชัดขึ้น

ค็อบบี้ ไมนู เป็นหมายเลข 8 ยุคใหม่ ที่สามารถลงมาช่วย โฮลด์บอลกับนักเตะหมายเลข 6(กลางรับอย่าง คาเซมิโร่) หน้าที่ของเขาหลัก ๆ แล้วคือการช่วยแกะเพรสซิ่ง ทำสถานการณ์ที่อึดอัดให้ดูง่ายขึ้น และจากนั้นจึงปล่อยบอลไปให้กับนักเตะตัวรุกคนอื่น ๆ ทำหน้าที่เป็นหลัก 

ดีแคลน ไรซ์ เริ่มต้นกับ อาร์เซน่อล ในตำแหน่ง เบอร์ 6 ก่อนที่จะขยับมาเป็นเบอร์ 8 แล้วในเวลานี้ เพราะมี จอร์จินโญ่ คอยเป็นคนประคองข้างหลังให้ทำให้เขาเคลื่อนที่ไปตัดเกม หรือขึ้นเกมได้อย่างอิสระมากขึ้น 

จู๊ด เบลลิงแฮม อาจจะโด่งดังมาจากเบอร์ 8 กับ ดอร์ทมุนด์ แต่ที่ เรอัล มาดริด นั้น คาร์โล อันเชล็อตติ  ใช้เขาเล่นในตำแหน่งที่อยู่หลังกองหน้าเป็นหลัก และบางครั้งก็ยืนในตำแหน่งปีกซ้ายแบบทีขยับเข้ามาอยู่ข้างในเวลาเล่นเกมรุก

ตอนนี้ทั้ง 3 คน อยู่ในฟอร์มที่ดีมาก ๆ โดยเฉพาะ ไรซ์ กับ เบลลิ่งแฮม นั้นเรียกได้ว่าเป็นจุดพีกของทั้งคู่เลยก็ว่าได้ และยังเป็นคนที่รักษามาตรฐานของตัวเองได้มาตั้งแต่ช่วงต้นซีซั่น ขณะที่ ไมนู นั้นก็อย่างที่เห็นกันพุ่งทะลุแจ้งเกิดมาในช่วง 3 เดือนหลังสุด และได้รับการพูดถึงอย่างมากว่ามีศักยภาพที่ต่อยอดได้ 

สรุปแล้วความต่างที่เห็นกันแบบชัด ๆ ในจุดแรกคือ 3 ยุคทองยุคใหม่นั้น มีตำแหน่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ไม่มีใครทับตำแหน่งกันโดยตรง และถ้าหยิบทั้ง 3 คนมาวางในโมเดล กองกลางยุคใหม่ ไม่ว่าจะระบบ 4-3-3 แบบใช้ "เบอร์ 6" 1 คน และมีเบอร์ 8  2 คน ก็สามารถจัดวางได้อย่างไม่เคอะเขิน ซึ่ง ณ ตอนนี้ ดูเหมือนว่า ไรซ์ จะเป็นเบอร์ 8 ที่ท็อปฟอร์มมาก ๆ กับ อาร์เซน่อล ส่วน ไมนู ก็ติดทีมชาติเพราะการเล่นเป็นเบอร์ 6 ในเกมเอฟเอ คัพ ที่ชนะ ลิเวอร์พูล 4-3 

คุณจะเห็นได้ว่าทั้งยุคทองเก่านั้นทั้ง 3 คน เป็นนักเตะเกมรุกโดยธรรมชาติ แต่กับยุคใหม่ทั้งหมดเป็นกองกลางแบบสมัยใหม่หรือที่เขาเรียกกันว่าไฮบริดจ์ สามารถเล่นได้ทั้งเกมรุก และเกมรับในเวลาเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น จู๊ด ที่เป็นเบอร์ 10 ในเวลานี้ แต่กลับมีจุดเด่นเรื่องการไล่บี้เพรสซิ่ง แย่งบอลเก่ง โดยสถิติการเข้าปะทะและเเย่งบอลสำเร็จบอลโดยเฉลี่ยของเขาคือ 1.7 ครั้งต่อเกม มากกว่า ออเรเลียง ชูอาเอมี่ กองกลาวตัวรับของ เรอัล มาดริด ที่มีอันตราการเข้าปะทะสำเร็จเฉลี่ย 1.5 ครั้งเท่านั้น  ... การมีตัวรุกอย่าง จู๊ด นั้นช่วยเบาภาระกองกลางตัวรับได้ดีมาก จน อันเชล็อตติ ต้องออกปากชมอยู่หลายหนในซีซั่นนี้

และนักเตะที่ดูเหมือนเป็นตัวรับธรรมชาติอย่าง ไรซ์ กลับเล่นเกมรุกได้อย่างไม่เคอะเขินเลยในตอนนี้ เพราะมีจังหวะสอดเข้าไปในกรอบเขตโทษทำประตูได้บ่อยครั้ง ปีนี้เขาทำไปแล้ว 6 ประตูกับอีก 7 แอสซิสต์ ถือเป็นจำนวนทีไม่ธรรมดาเลยสำหรับนักเตะเชิงรับ 

ส่วน ไมนู แม้มีศักยภาพให้เติมเต็มสูงมาก แต่อาจจะต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่านี้ เพราะเจ้าตัวเพิ่งได้เป็นตัวจริงให้กับ ยูไนเต็ด ได้ไม่นานนัก ซึ่งข้อดีคือต่อให้ อังกฤษ ไม่ใช้ ไมนู พวกเขาก็สามารถรับวิธีการเล่นได้หลากหลาย เช่นการใช้ ไรซ์ เป็นตัวรับ ใช้ เบลลิ่งแฮม เป็นหมายเลข 8 และเปลี่ยน ฟิล โฟเดน มาเป็นเพลย์เมคเกอร์หมายเลข 10 ได้ ซึ่งตัวของ โฟเดน นั้นแม้จะได้เล่นปีกขวาบ่อยกว่า(18 เกมในซีซั่นนี้) แต่ก็มีถึง 8 เกมที่เขาได้เล่นเป็นเพลย์เมคเกอร์ และจาก 8 เกมนั้น เขามีส่วนร่วมให้ทีมได้ประตูถึง 7 ลูก (ยิง 4 แอสซิสต์ 3)  

นอกจาก โฟเด้น แล้วยังมี เจมส์ แมดดิสัน, แจ็ค กรีลิช และ โคล พาลเมอร์ ที่เล่นในตำแหน่งกองกลางได้เช่นกัน ... ดังนั้นจำนวนทีมากขึ้น ก็เพิ่มความหลากหลายเชิงแท็คติกได้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว 

ดังนั้นเราได้เห็นความยืดหยุ่น หลากหลายมากกว่าผ่านทีมยุคทองยุคปัจจุบัน ไม่ใช่แค่เรื่องตำแหน่งการยืนของนักเตะทั้ง 3 คน(จู๊ด ไรซ์ ไมนู) เท่านั้น แต่พวกเขายังมีนักเตะคนอื่น ๆ ที่สามารถทำหน้าที่เติมเต็มเเดนกลางให้ทีมได้ไม่ว่าจะเป็น โฟเดน, เฮนเดอร์สัน หรือแม้แต่ เทรนท์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์

และจุดเด่นของทีมยุคใหม่ที่ลืมไม่ได้คือไม่มีไม่มีใครอยู่ในสถานะ "เป็นตัวสำรองไม่ได้" เหมือนกับที่ อีริคส์สัน วางไว้ให้กับ สโคลส์ แลมพาร์ด เจอร์ราร์ด (รวมถึง เบ็คแฮม) ดังนั้นเรื่องการแข่งขันภายในทีมก็จะสูงขึ้น ทำให้นักเตะแต่ละคนมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับฟอร์มการเล่นของตัวเอง ให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้น ดีพอที่จะเป็น 11 ตัวจริง ซึ่งประโยชน์จากข้อนี้ก็ตกมาที่ภาพรวมของทีมในท้ายที่สุด

 

อังกฤษยุคใหม่ "เป็นทีมมากกว่า" 

คุณจะชอบหรือไม่ชอบการทำทีมของ แกเรธ เซาธ์เกต นั่นไม่ใช่ประเด็น เพราะหากวัดกันด้วยผลงานไม่มีกุนซือทีมชาติอังกฤษคนไหนทำผลงานได้ดีเท่าเขาอีกแล้วหลังจากยุคแชม์โลกปี 1966 .. ทำไมเป็นแบบนั้น ? 

ประการแรก อังกฤษ ยุคเก่าเป็นแบบที่ อีริคส์สัน บอก ... พวกเขามีความเป็นสตาร์และแบ่งแยกกันมากกว่า หากเราไล่เรียงรายชื่อนักเตะอังกฤษยุค "โกลเด้นเจน"(2000s) คุณจะเห็นว่าชือเสียงและดีกรีแต่ละคนสูง ๆ เข้ม ๆ ทั้งนั้น ไม่แปลกที่จะไม่มีใครยอมใคร ไมเคิล โอเว่น กองหน้ารางวัล บัลลงดอร์, เบ็คแฮม สตาร์เบอร์ 1, รูนี่ย์ คือสุดยอดดาวรุ่งแห่งยุคที่สื่อจับตาเป็นพิเศษ, คู่เซ็นเตอร์อย่าง ริโอ เฟอร์ดินาน และ จอห์น เทอร์รี่ ที่เป็นพี่ใหญ่สายตะโกนสั่งทั้งคู่ แน่นอน รวมถึง 3 แม่ทัพอย่าง สโคลส์, แลมพาร์ด และ เจอร์ราร์ด 

คุณเข้าใจได้ทันทีว่าทีมที่มีสตาร์ดังมากขนาดนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรวมพวกเขาเป็นก้อนเดียวกันได้  พวกเขาห้ำหั่นกันในลีก ชนิดแสดงตัวเป็นอริกันแบบซึงหน้า เรื่องนี้ เจอร์ราร์ด ก็ออกมาพูดเองว่า ตัวเขาก็เกลียดหน้านักเตะทีมชาติอังกฤษรุ่นเดียวกันบางคน 

“เมื่อคุณเข้าแถวต่อสู้ในอุโมงค์กับริโอ (เฟอร์ดินานด์) และแกรี่ เนวิลล์ คุณต้องการทำทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะพวกเขา...ไม่มีใครกล้าปฎิเสธว่ามีความเกลียดชังอยู่ที่นั่น(แคมป์ทีมชาติ) นั่นคือสิ่งที่มันเป็น เมื่อคุณพบกันที่ทีมชาติอังกฤษในเวลานั้น คุณจำเป็นต้องแกล้งทำเป็นชอบพวกเขา” เจอร์ราร์ด เล่าย้อนความ และนี่คือหนึ่งในหลายตัวอย่างที่ อังกฤษ ยุคทองเล่นกันแบบต่างคนต่างไป 

ตัดภาพกลับมาที่ยุคของ เซาธ์เกต นับตั้งแต่เขาคุมทีมในปี 2016 มีการละลายพฤติกรรมและสังคายนาปัญหาเก่า ๆ นั่นคือนักเตะเอาอีโก้ออกจากนักเตะทุกคน ด้วยการวางกฎให้เข้มงวดมากขึ้น เช่นทุกคนต้องมีกิจกรรมร่วมกันมากขึ้นภายในเเคมป์ ง่าย ๆ ที่สุดอย่างที่ เอริค ไดเออร์ บอก คือทีมมีการปรับให้ประชุมทีมกันไวขึ้นและเน้นย้ำเรื่องความตรงต่อเวลา หรือแม้กระทั่งกินข้าวพวกเขาจะต้องมารวมตัวกันจนครบจึงจะเริ่นกินได้ พร้อมทั้งมีการเก็บมือถือ และหลังจากกินข้าวเสร็จก็มีกิจกรรมสันธนาการกันเช่น การแข่งขันเกมปาลูกดอก ที่มักจะออกมาเป็นคลิปวีดีโอให้แฟนบอลได้เห็นบ่อย ๆ เป็นต้น

เซาธ์เกต เน้นย้ำเรื่องนี้มาก ตั้งแต่การเลือกนักเตะที่มีทัศนคติที่ดี และเป็นคนที่ทำให้บรรยากาศในการอยู่ร่วมกันออกมาดีที่สุด เพื่อให้พลังงานเชิงบวกนี้ส่งลงมาในสนาม ซึ่งเรื่องหัวใจเป็นเรื่องสำคัญ ... เรื่องนี้ยืนยันได้จากปากคำของซีเนียร์อย่าง จอร์เเดน เฮนเดอร์สัน ที่ยกย่องสปิริตทีมชุดนี้ว่า "ยอดเยี่ยมที่สุด" 

"คุณจะเห็นได้เลยว่า เด็ก ๆ ในทีมชุดนี้ แม้แต่คนที่ไม่มีโอกาสลงสนามมากมายเท่าไหร่ แต่เมื่อได้โอกาส พวกเขาก็โดดเด่นมาก แม้กระทั่งในวันซ้อม พวกเขาก็ไม่เคยถอดชุดความคิดของการเป็นนักสู้ออกได้ การฝึกซ้อมกับทีมชุดนี้เป็นเรื่องยากเสมอ และนี่คือทีมที่ดีที่สุดในแง่ทัศนคติ"  เฮนเดอร์สัน กล่าว 

หรือแม้กระทั่งตัวของ เซาธ์เกต ก็ออกมายืนยันว่า ทีมของเขาไม่ใช่แค่ฝีเท้าดีอย่างเดียวเท่านั้น แต่ทุกคนต้องมีความเป็นนักสู้ ปราศจากอีโก้ และพร้อมจะเสียสละเพื่อทีม ... ซึ่งจุดนี้อาจจะไม่ถูกใจบางคนนัก แต่ เซาธ์เกต ก็พร้อมเป็นคนรับผิดชอบกับการตัดสินใจของเขาทั้งหมด 

"เด็ก ๆ จากทีมชุดนี้เริ่มต้นอาชีพกับสโมสรเล็ก ๆ พวกเขารู้ดีถึงความถ่อมตัวอยู่แล้ว กว่าพวกเขาจะมาอยู่ในจุดนี้ พวกเขารู้ดีว่ามันเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจขนาดไหน"

"นี่คือกลุ่มนักเตะที่พิเศษ ทุกคนอ่อนน้อมถ่อมตน เต็มไปด้วยความภาคภูมิ และมีจิตวิญาณที่เป็นอิสระ ทุกสิ่งออกมาจากแก่นและตัวตนที่แท้จริงของพวกเขา" เซาธ์เกต กล่าวถึงลูกทีมของเขาที่ส่วนใหญ่เริ่มต้นจากทีมเล็ก ๆ เหมือนกับตัวของเขาเอง 

ดังนั้น 3 กองกลางที่ถูกเรียกว่า "ยุคทอง" อย่าง จู๊ด ไรซ์  และ ไมนู จะอยู่ในบรรยากาศที่มที่มีความเข้มข้นทางด้านคุณภาพ แต่ปราศจากอีโก้เมื่อเดินออกจากสนาม จริงอยู่ที่หากวัดจากความสำเร็จพวกเขาอาจจะยังเทียบชั้น 3 จอมทัพจากยุค 2000s ไม่ได้  แต่บรรยากาศโดยรวมที่พวกเขาอยู่ ดีต่อพัฒนาการเป็นอยางมาก ไม่ใช่แค่พวกเขาทั้งนั้น แต่หมายถึงพัฒนาการของนักเตะทั้งทีม

อย่างไรก็ตามสุดท้ายและท้ายสุด สื่ออังกฤษเองก็ต้องระวังให้ดี เพราะจากผลงานที่ดีขึ้นใน 2 ทัวร์นาเม้นต์หลัง ก็เริ่มทำให้มีกระแสที่คล้าย ๆ กับการอวยมากขึ้น ...ซึ่งจุดนี้อันตรายเป็นอย่างมาก เพราะนี่คือตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นเเล้วกับทีมโกลเด้นจน ยุคเก่า ที่พวกเขาถูกบอกว่า "เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์" ทั้ง ๆ ที่พวกเขาไม่เคยคว้าเเชมป์ระดับชาติใด ๆ ได้เลย 

"การเรียกพวกเราว่าเป็นโกลเด้น เจเนอเรชั่น มันเกือบจะเหมือนกับว่าผู้คนกำลังรอให้พวกเราล้มเหลว”

“ที่ อดัม โครเซียร์(คนแรกที่ใช้คำนี้) พูด มันก็เร็วเกินไป เรามีผู้เล่นที่ดี แต่เรายังไม่ได้ใช้ประโยชน์สูงสุด หรือประสบความสำเร็จจากคำ ๆ นั้น พวกเราทุกคนต่างรู้ดีและยอมรับความผิดพลาดและผลงานที่พวกเราล้มเหลวหลายต่อหลายครั้ง"  แฟรงค์ แลมพาร์ด สรุปเอาไว้ในวันที่เขาเลิกเล่นเเล้ว 

ดังนั้นนักเตะอังกฤษต้องเอาเท้าติดเอาไว้ เพราะคำชมที่มากมายนั้นไม่ได้มีความหมายเลยหากเทียบกับความสำเร็จในการแข่งขันจริง ... พวกเขาไม่ใช่ "ยุคทอง" จนกว่าวันที่พวกเขาจะประสบความสำเร็จ นีคือคำที่สรุปทุกคำตอบของเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

 

แหล่งอ้างอิง : 

3 เสือแดนกลางอังกฤษยุค 2000S แต่ทำไมอยู่ด้วยกันไม่ได้ ? | Footballista EP.106
https://www.youtube.com/watch?v=AlMPP0SwxxY 
https://mainstand.co.th/th/features/5/article/2147
https://www.manchestereveningnews.co.uk/sport/football/football-news/manchester-united-news-world-cup-25647802
https://m.allfootballapp.com/news/EPL/Eriksson-opts-for-Lampard--Gerrard-in-heart-of-his-best-England-midfield/2270652
http://footballstories.co.uk/england-golden-generation/
https://www.givemesport.com/88018602-gerrard-scholes-lampard-eriksson-appeared-to-settle-the-debate-in-2013/

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น