Feature

วันนี้เมื่อปีที่แล้ว : แมนฯ ยูฯ แชมป์คาราบาว คัพ 2023 … มาถึงจุดนี้ได้ยังไง ? | Main Stand

28 กุมภาพันธ์ ปี 2023 เป็นวันที่แฟนบอลของ แมนฯ ยูไนเต็ด มีความสุข สะใจ ปลาบปลื้ม และมีความหวังว่า "เรากลับมาแล้ว" หลังจากที่ เอริค เทน ฮาก พาทีมคว้าเเชมป์ คาราบาว คัพ ได้ตั้งแต่ซีซั่นแรกในการทำงาน 

 


แต่สุดท้าย ความเข้มในวันนั้น แพสชั่นที่ดุเดือด และ ความสำเร็จที่ถูกรอให้ต่อยอดที่ถูกคาดหวังไว้กลายเป็นคนละเรื่องกันในปีนี้ พวกเขาที่คงสภาพนักเตะชุดเดิม แถมเสริมทัพหมดไปเกือบ 200 ล้านปอนด์ กลายเป็นทีมที่ท้อแท้ หมดหวัง และสร้างความหดหู่ให้กับกองเชียร์อย่างไม่มีใครคาดคิด 

ทั้ง ๆ ที่มันควรจะดีขึ้น ทำไมมันถึงแย่ลงได้ขนาดนี้ ? 

 

Second Season Syndrome ?

ในพรีเมียร์ลีก มีโรคอยู่โรคหนึ่งที่มักจะถูกแซวกันในหมู่สโมสร, โค้ช หรือนักเตะ ที่เปิดตัวปีแรกด้วยผลงานยอดเยี่ยม  แต่เมื่อซีซั่นที่ 2 พวกเขามักจะเจอกับความยากลำบากด้วยเหตุผลหลัก ๆ คือการโดนคู่แข่งจับทางได้ หรือแบกรับความกดดันไม่ไหว จนทำให้ฟอร์มเละเทะไม่เหมือนเก่า .. อาการเหล่านี้เรียกกันว่าโรค Second Season Syndrome

ยกตัวอย่างเช่น มาร์เซโล่ บิเอลซ่า กับ ลีดส์ ในซีซั่นที่ 2 บนพรีเมียร์ลีก( 2021-22) , เชฟฯ ยูไนเต็ด ของ คริส วิลเดอร์ ที่เคยทำได้มาก ๆ ในการเลื่อนชั้นปีแรก แต่ปีต่อมากลับตกชั้นด้วยฟอร์มคนละเรื่อง หรือแม้กระทั่งในยุคเก่า ๆ อย่าง อิปสวิช ทาวนร์ ทีมน้องใหม่ที่เคยทำอันดับไปเล่น ยูฟ่า คัพ (ยูโรป้า ลีกปัจจุบัน) ในปีแรก แต่ปีต่อมากลับตกชั้น เป็นต้น 
 
สำหรับ แมนฯ ยูไนเต็ด เราสามารถใช้คำว่า Second Season Syndrome ของ เอริค เทน ฮาก ได้หรือ ? 

หากมองในแง่ผลงาน เทน ฮาก สร้างผลงานระดับเกรด A ในปีแรกของเขากับ ยูไนเต็ด เพราะสามารถทำทีมได้จบท็อป 4 ตามเป้า พร้อมบวกด้วยถ้วยแชมป์อีก 1 รายการ และที่สำคัญรูปทรงการเล่นเริ่มปรากฎมากขึ้น พอให้แฟน ๆ คาดหวังการต่อยอดได้    

ตัดกลับมาที่ปีนี้ พวกเขาตามหลังทีมอันดับ 4 ถึง 8 แต้ม, ตกรอบแรกด้วยการเป็นบ๊วยในยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก, ตกรอบคาราบาว คัพ ที่เคยเป็นเเชมป์เก่า และท้ายที่สุดคือรูปแบบการเล่นที่สุดแสนจะโกลาหล กลับมาเป็น ยูไนเต็ด ทีมเดิมตลอด 10 ปีที่ผ่านมา นั่นคือไร้รูปแบบการเข้าทำ, ขาดความเข้าใจเกม และไม่มีการทำงานร่วมกันในสนามให้เห็น ... ทั้งหมดนี้เราพอจะพอบอกได้ว่า เทน ฮาก กำลังเจอ Second Season Syndrome ได้ในระดับหนึ่ง

ทว่าสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น ๆ ที่ยกตัวอย่างมาก่อนหน้านี้คือ เทน ฮาก มีข้อได้เปรียบมากกว่าในแง่ของการเสริมทัพ ซึ่งบอร์ดบริหาร แมนฯ ยูไนเต็ด "ให้ทุกอย่าง ที่เขาต้องการ" สำหรับนักเตะที่เขาเลือกมาใส่ทีมในซีซั่น 2023-24 

เงินกว่า 200 ล้านปอนด์หมดไปกับ เมสัน เมาท์ 60 ล้านปอนด์ , อองเดร โอนาน่า 50 ล้านปอนด์ , ราสมุส ฮอยลุนด์ 70 ล้านปอนด์ , อัลทาย บายินเดียร์ และ ยืมตัว โซฟียาน อัมราบัต ... แน่นอนว่าถึงตรงนี้ ยังไม่มีใครที่อยู่ในระดับแบกทีมและยกระดับทีมได้อย่างจริงจังเลย ที่ใกล้เคียงที่สุดเห็นจะมีแต่ ฮอยลุนด์ ที่มีแววจะไปถึงจุดนั้นได้บ้าง ส่วนคนอื่น ๆ นั้นยังห่างไกลคำว่า "ตัวแบก" พอสมควร 

กุนซือบางคนไม่มีโอกาสได้งบประมาณมากขนาดนี้ หรือแม้กระทั่งได้เลือกนักเตะที่ตัวเองอยากจะได้เท่าเทน ฮาก ดังนั้น Second Season Syndrome ที่ว่าด้วยการโดนคู่แข่งจับทางคงจะไม่จริงทั้งหมด และเรื่องนี้ เทน ฮาก ต้องโทษตัวเองไม่มากก็น้อย 

 

ขาดการวางแผนคือสิ่งสำคัญ 

ท็อปโฟร์ กับ แชมป์บอลถ้วย คือสารตั้งต้นที่ดี แและปีนี้แฟน ปีศาจเเดง ต่างก็หวังว่า เทน ฮาก จะพาทีมขึ้นไปอีกระดับ แน่นอนว่าไม่ได้หมายถึงการลุ้นเเชมป์กับทีมระดับหัวแถว แต่คือการเก็บแต้มในลีกให้มากกว่าปีที่แล้ว เข้าใกล้ทีมอื่นๆ ให้ได้มากกว่านี้ และอีกอย่างที่สำคัญมาก ๆ ทีมอยากจะเห็นรูปแบบการเล่นในแบบที่ "โบ๊ะบ๊ะ" หรือแปลคร่าว ๆ คือการมีวิธีการเล่นที่แน่นอน ชัดเจน ดุดัน และมีประสิทธิภาพ ตามครรลองของโมเดิร์นฟุตบอล 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมาถึงตรงนี้ต้องบอกว่าผิดตั้งแต่การวางแผนเสริมทัพ เทน ฮาก ยืนยันว่านักเตะอย่าง เมาท์, โอนาน่า และ ฮอยลุนด์  คือนักเตะที่เขาต้องการในวิธีการเล่นของทีมที่เขาอยากจะให้เป็น 

เมสัน เมาท์ ที่เหลือสัญญาปีเดียวกับ เชลซี ถูกซื้อมาด้วยเงินก้อนโต แต่พอมาลงเล่นกลับไม่มีตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดให้กับเขา ช่วงแรก ๆ ตั้งแต่พรีซีซั่นถึงฤดูกาลปกติ เทน ฮาก ลองใช้เงานเมาท์ แทบจะครบทุกตำแหน่งที่เขาพอจะเล่นได้ ก่อนจะไม่เจอตำแหน่งที่ลงตัวสักที นั่นแสดงให้เห็นว่า เขาซื้อ เมาท์ มาโดยที่ยังนึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าจะให้เล่นตรงไหน หรือไม่ เขาและทีมวิเคราะห์ก็วิเคราะห์ข้อมูลนักเตะไม่ขาด จนได้นักเตะที่นอกจากนักเตะที่ไม่ตอบโจทย์แล้ว ยังไม่สามารถใช้งานได้จากอาการบาดเจ็บที่เกิดตลอดซีซั่น 

หากมองย้อนกลับไปในปี 2023 ปีที่ แมนฯ ยูไนเต็ด เป็นแชมป์คาราบาว คัพ นั้น มีการคาดการคร่าว ๆ นักเตะที่ ยูไนเต็ด ต้องการมีหลายตำแหน่ง ไล่เรียงมาตั้งแต่ เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ, แบ็คขวา, กองกลาง, กองหน้าตัวเป้า ซึ่งจากงบประมาณกว่า 200 ล้านปอนด์ที่ใช้ไป เทน ฮาก ควรจะบริหารจัดการการซื้อ-ขาย ได้ดีกว่านี้ สุดท้ายกลายเป็นว่าพวกเขาเดิมพันด้วยการเปลี่ยน ดาบิด เด เคอา มาเป็น โอนาน่า ในตำแหน่งผู้รักษาประตู ซึ่งใช้เงินก้อนใหญ่ไม่น้อย รวมถึงทั้ง เมาท์ และ ฮอยลุนด์ ในราคาที่ต้องยอมรับว่า "แพง"  จนกระทบกับการซื้อนักเตะตำแหน่งเซ็นเตอร์ฮาล์ฟ และ แบ็คขวา ที่มีปัญหามาตลอด 

สุดท้าย ยูไนเต็ด ต้องยอมไปคว้าเอาม้าแก่อย่าง จอนนี่ อีแวนส์ นักเตะที่แม้แต่ เลสเตอร์ ที่ตกชั้นไป เดอะ เเชมเปี้ยนชิพ ยังปล่อยออกจากมาเป็นตัวสแตนด์บาย ซึ่งปลายทางที่เราเห็นในตอนนี้คือ แม้ อีแวนส์ จะไม่ได้ผิดอะไรมากมายนัก แต่เทน ฮาก อาจจะลืมไปว่าทีมของเขาเต็มไปด้วยนักเตะในช่วงขาลงมากมายเกินพอแล้วในทีมชุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักเตะที่แก่เกินเเกงและรอวันผลัดใบอย่าง ราฟาแอล วาราน, คาเซมิโร่, คริสเตียน อีริคเซ่น 

นักเตะที่อยู่ในช่วงอายุจุดพีกแต่ไม่สามารถจะดีได้กว่านี้อย่าง วิคตอร์ ลินเดอเลิฟ และ แฮร์รี่ แม็คไกวร์  และนักเตะที่เป็นส่วนเกินที่เจ็บจนไม่สามารถใช้งานได้อย่าง อองโทนี่ มาร์กซิยาล, ไทเรล มาลาเซีย ที่แม้จะแทบไม่ได้ลงเล่น แต่ก็มีปัญหาบาดเจ็บตลอดซีซั่น 

กลับมาที่ดีลของ จอนนี่ อีแวนส์ ดีลนี้ถือเป็นเครื่องหมายยืนยันเรื่องการซื้อขายนักเตะที่ปัญหาใหญ่ของ เทน ฮาก และ แมนฯ ยูไนเต็ด ในเวลานี้  เพราะในวันที่ ลิซานโดร มาร์ติเนซ บาดเจ็บ  เอริค เทน ฮาก มักออกมาอ้างว่าทีมของเขามีปัญหาเรื่องวิธีการเล่นจากการหายไปของ มาร์ติเนซ รวมถึงตัวหลักอื่น ๆ ที่ผลัดกันบาดเจ็บตลอดซีซั่น 

ซึ่งอันที่จริงแล้วการบาดเจ็บคือสิ่งที่โค้ชทุกคน และสโมสรทุกสโมสรต้องเจอ และต้องคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า การที่ เทน ฮาก มาบอกว่าอาการบาดเจ็บทำให้ทีมของเขาเล่นไมได้ เป็นเหมือนการออกมายอมรับกลาย ๆ ว่าเขาวางแผนการเสริมทัพผิดพลาดอย่างมหันต์ ล้มเหลวทั้งในแง่ของเชิงคุณภาพ และปริมาณ  กล่าวคือนอกจาก squard depth (ขุมกำลังเชิงลึก) ที่ไม่พอใช้งานตลอดทั้งซีซั่นแล้ว  ตัวที่ซื้อมายังผิดฝาผิดตัว ท้ายที่สุดแล้วแทนทีนักเตะใหม่จะเข้ามาต่อยอดจากเดิม กลายเป็นไม่สามารถสร้างความแตกต่างได้ 

ซ้ำร้ายยังมีสิ่งที่หนักกว่านั้นอีก นั่นก็คือการบริหารจัดกาคน ซึ่งเป็นทักษะสำคัญมาก ๆ ของโค้ชระดับทีมยักษ์ใหญ่ ที่ตอนนี้กำลังผิดเพี้ยนหนักจากที่แฟน ๆ ตั้งความหวังไว้ 

 

ปัญหาใหม่เข้ามา … ปัญหาเก่าก็แก้ไม่ได้ 

แน่นอนที่สุดนอกจากเรื่องการซื้อ-ขาย ที่ผิดพลาดมหันต์ที่ เทน ฮาก และทีมสรรหาต้องร่วมกันรับผิดชอบแล้ว ยังมีสิ่งที่หนึ่งที่เขาต้อง "รับผิดชอบเต็มๆ" นั่นคือส่วนของการบริหารจัดการคน  ที่ ณ  ตอนนี้ในทีม แมนฯ ยูไนเต็ด มีปัญหามากมาย ไล่เรียงได้เลยว่านักเตะในทีมแต่ละคนตอนนี้ มีเรื่องที่แฟนบอลและสื่อติติงได้มากมาย 

สิ่งหนึ่งที่ เทน ฮาก สอบตกมาก ๆ คือการสอนนักเตะ เนื่องจากใน 2 ซีซั่นที่เขาทำานเขาใข้เงินไปเยอะมาก ๆ แต่กลับไม่ได้เห็นรูปแบบการเล่นทีมแฟนบอลวาดหวังเอาไว้ สิ่งสำคัญคือนักเตะแต่ละคนฟอร์มตกอย่างน่าใจหาย 

เจดอน ซานโช่, แอนโทนี่, มาร์คัส แรชฟอร์ด, คาเซมิโร่, ราฟาแอล วาราน  คนที่เคยเป็นตัวหลักในปีก่อน กลับเล่นออกมาเป็นคนละเรื่องในปีนี้ นี่ยังไม่รวมถึงนักเตะที่สร้างความผิดพลาดในสนามแข่งขันจนนำมาสู่ผลการแข่งขันแย่ ๆ อีกหลายคนที่ไมได้เอ่ยถึง 

เทน ฮาก แทบไม่ได้ทำให้นักเตะเหล่านี้เป็นนักเตะที่ดีขึ้นเลย แต่ละคนเคยเล่นแบบไหน ก็ยังคงเล่นแบบนั้นมาโดยตลอด ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น แรชฟอร์ด ยังคงสร้างความเหนื่อยหน่ายกับฟุตบอลชายเดียวและความอ่อนหัดในการเล่นเกมรับ, แอนโทนี่ ยังเป็นปีกค่าตัวแพงที่หาจุดเด่นไม่เจอสักอย่าง ไหนจะเรื่องรายละเอียดโดยรวมของทีมเรื่องการเสียบอลกลางทาง, การต่อบอลที่ไม่แม่นยำ, การเสียประตูจากลูกตั้งเตะ ที่ต้นซีซั่นนี้เป็นอย่างไร ทุกวันนี้ก็ยังเหมือนเดิม  ซึ่งนั่นแปลความได้ 2 อย่างนั่นคือ เขามองไม่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้น หรือไม่ เขาอาจจะมองเห็นแต่เขาไม่สามารถสอนให้ทีมเข้าใจถึงวิธีการแก้ปัญหาได้ 

ดังนั้นไม่ว่าจะเกมไหน ๆ รูปแบบการเล่นของ ยูไนเต็ด ยังคงเหมือนเดิมเสมอ นั่นคือการหวังพึ่งความสามารถส่วนตัวของนักเตะในจังหวะการเข้าทำ เล่นบอลแบบวัดวาเปิดหน้าแลก เพราะนี่เป็นวิธีเดียวที่พวกเขาเล่นเป็นสำหรับการขึ้นเกมรุก 

ส่วนปัญหาเกมรับก็ต้องมาลุ้นกันทุกนัดว่าวันนี้นักเตะในทีมจะช่วยกันวิ่งหรือไม่ หรือไม่ก็ต้องมาลุ้นว่านักเตะคนไหนจะสร้างความผิดพลาดส่วนบุคคลจนนำมาสู่การเสียประตูอีก ...  นี่คือปัญหาเก่า ๆ ที่พูดกันไม่รู้จบในหมู่แฟนบอล และดูเหมือนว่า เทน ฮาก วุ่นวายเหมือนกับลิงแก้แห ยิ่งแก้ก็ยิงสับสัน ได้หน้าลืมหลัง ได้หลังลืมหน้า จนทีมไม่สามารถต่อยอดไปข้างหน้าได้เลย 

ตอนนี้ ยูไนเต็ด กลายเป็นคนละทีมกับ ซีซั่นที่แล้วโดยปริยาย พวกเขาไม่มีตัวตนที่ชัดเจน ไม่สามารถเล่นฟุตบอลแบบทีมใหญ่หรือทีมหัวตารางได้ ครั้งหนึ่ง เจมี่ คาร์ราเกอร์ กล่าวแบบเจ็บจี๊ดว่า  “พวกเขากำลังเล่นฟุตบอลรองบ่อน และพวกเขาทำแบบนั้นตั้งแต่เขา (เทน ฮาก) เข้ามา”

“พวกเขาเล่นโต้กลับและเล่นบอลยาวเยอะมาก ไม่มีทีมชั้นนำอื่นเล่นแบบนั้น มันไม่เกี่ยวอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นเหนือเขา(ผู้บริหาร) เรื่องนี้เขาต้องรับผิดชอบเลย คำถามคือเขากำลังทำอะไรในสนามฝึกซ้อม ? กับนักเตะที่เขานำเข้ามา ? และ เขาขอให้นักเตะพวกนี้ทำอะไรกันแน่ ทำไมแฟนบอลมองไม่เห็นเหมือนกันเขาเลย" 

ประโยคนี้ของ คาร์ราเกอร์ สรุปความเรื่องทั้งหมดได้อย่างดี ทีม ๆ นี้ไม่ใช่แค่เดินหน้าไม่ได้ แต่กำลังถอยหลังทั้งในแง่ของการจัดการ และวิธีการเล่นในสนาม ... ซึ่งดูเหมือนว่าทีมผู้บริหารใหม่อย่าง เซอร์ จิม แรดคลิฟฟ์ ก็อาจจะมองเห็นปัญหานี้ เนื่องจากในการให้สัมภาษณ์ครั้งล่าสุด ตามหลักแล้วถ้าเขาเชื่อมั่นในเทน ฮาก .. เซอร์ จิม น่าจะต้องยืนยันว่าเขาจะสนับสนุน และหนุนหลังการทำงานของ เทน ฮาก บ้าง แต่นี่กลับแทบไม่มีการพูดถึงเทน ฮาก และ อนาคตหลุดออกมาเลย

จากวันนี้เมื่อปีที่แล้ว ยูไนเต็ด จะต้องจริงจังกับปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ และหาคำตอบให้ได้ว่าต้นเหตุของปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นจากใครกันแน่ ?  ซึ่งเมื่อหาเจอ พวกเขาจะต้องกำจัดมันออกไป เพื่อให้ทีมเดินไปข้างหน้า และไล่ตามหลังทีมอื่นที่ฉีกหนีไปไกลหลายปีให้เข้าใกล้มายิ่งขึ้น ไม่ใช่ยิ่งเล่น ยิ่งโดนทิ้งห่างอย่างทุกวันนี้ 

 

แหล่งอ้างอิง : 

https://www.france24.com/en/live-news/20231107-what-s-gone-wrong-for-erik-ten-hag-at-man-utd
https://www.espn.com/soccer/story/_/id/39210205/ten-hag-makes-case-man-united-worst-modern-manager
https://www.goal.com/en/lists/five-reasons-erik-ten-hag-not-right-manager-man-utd-forward/blt61a4ce64befce57f#cs06a850e2aeba25d9
https://www.mirror.co.uk/sport/football/news/man-utd-erik-ten-hag-31665483
https://www.kompas.id/baca/english/2024/01/07/en-batas-kegagalan-erik-ten-hag

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น