บางครั้งการจากลาก็มักไม่มีสัญญาณเตือน และการเข้ามาก็ไม่น่าจดจำเท่าการจากไป เมื่อในปี 1974 บิลล์ แชงคลี ประกาศวางมือจากการเป็นผู้จัดการทีมของลิเวอร์พูล ในช่วงเวลาที่ทีมกำลังโบยบินอยู่บนจุดสูงสุดของเกาะอังกฤษ และเพิ่งคว้าแชมป์ เอฟเอ คัพ มาครองได้สำเร็จ
และในปี 2024 เยอร์เก้น คล็อปป์ กลายเป็นอีกคนที่กำลังจะลาทีมไป ในขณะที่เพิ่งสร้างทีมขึ้นมาใหม่ และกำลังไปได้สวย แต่เขากลับเลือกทิ้ง ลิเวอร์พูล 2.0 ที่ปั้นขึ้นมาเองกับมือไว้เป็นสมบัติชิ้นสุดท้าย และรอคอยให้ใครสักคนเข้ามาสานต่อ
แม้สองเหตุการณ์จะห่างกันกว่าครึ่งศตวรรษ แต่ความเหมือนที่เกิดขึ้น คือ 2 กุนซือผู้ยิ่งใหญ่เลือกลาทีมไปในวันที่พวกเขายังพา “หงส์แดง” บินสูงอยู่ ด้วยเหตุผลที่คล้ายกัน คือ หมดไฟ แต่เพราะอะไรทำไมพวกเขาถึงตัดสินใจอย่างนั้น
Main Stand อยากชวนผู้อ่านทุกท่านย้อนความทรงจำช่วงเวลาของลิเวอร์พูล ตั้งแต่การวางมือของ บิลล์ แชงคลี จนถึงการวางมือของ เยอร์เก้น คล็อปป์ ไปพร้อมกัน
ชายผู้ต่อลมหายใจ และสร้างจิตวิญญาณให้ลิเวอร์พูล
“ผมจะสร้างลิเวอร์พูลให้ไม่มีใครแตะต้องได้” เสียงประกาศกร้าวจากชายผู้อาสาเข้ามารับหน้าที่พาลิเวอร์พูลหนีจากยุคตกต่ำ
บิลล์ แชงคลี กุนซือชาวสก็อตแลนด์ ก้าวเท้าเข้ามาในยุคที่ ลิเวอร์พูล กำลังอยู่ในจุดที่ตกต่ำอย่างสุดขีด เหล่าผู้เล่นขาดจิตวิญญาณของผู้ชนะ ไร้แรงจูงใจ ขาดวินัย สภาพแอนฟิลด์ สนามแห่งมนต์ขลังที่ทรุดโทรม แชงคลีถึงกับเปรียบเทียบ ว่า “สภาพของแอนฟิลด์ในตอนนั้น ไม่ต่างจากส้วมขนาดใหญ่ในเมืองลิเวอร์พูล” ปัญหาที่ลุกลามตั้งแต่การบริหาร และผลงานในสนาม ส่งผลให้เหล่าบรรดาเดอะ ค็อป เริ่มเสื่อมศรัทธาต่อสโมสร
ก่อนการเข้ามาของบิลล์ แชงคลี ลิเวอร์พูลดิ้นรนอยู่ในดิวิชั่น 2 มาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถเลื่อนชั้นกลับไปเล่นในดิวิชั่น 1 ได้ แชงคลีจึงเล็งเห็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข้ให้เร็วที่สุด คือ สภาพจิตใจของนักเตะ ต้องทำให้พวกเขามีจิตวิญญาณของผู้ชนะ มีความทะเยอทะยาน และทำทุกอย่างเพื่อแฟนบอลที่ศรัทธาในสโมสร หากผู้เล่นคนไหนไม่พร้อม พวกเขาไม่เหมาะสมที่จะเล่นให้ลิเวอร์พูล
หากต้องการให้สโมสรก้าวหน้าต่อไปได้ จำเป็นต้องตัดเนื้อร้ายทิ้ง แชงคลีตัดสินใจโละผู้เล่นกว่า 24 คน โดยเฉพาะตำแหน่งกองกลางและกองหลัง ผู้เล่นเหล่านี้ได้รับการประเมินจากแชงคลีแล้วว่าไม่เหมาะกับวิธีการเล่นของเขา และจำเป็นต้องหาคนอื่นมาทดแทน
นอกจากการตัดสินใจปลดผู้เล่นที่ไม่พร้อมสู้ไปกับทีมแล้ว แชงคลียังได้ปลูกฝังปรัชญาการซ้อมแบบใหม่ให้กับทีม แต่เดิมนั้นการฝึกซ้อมจะเน้นเรื่องพละกำลังเป็นหลัก ผู้เล่นจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการวิ่งอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่แชงคลี มองว่าวิธีการแบบนี้ไม่ดีพอที่จะพาทีมประสบความสำเร็จได้ การซ้อมที่แชงคลี ปลูกฝังให้กับทีมจึงเป็นการฝึกซ้อมร่วมกับลูกบอล ฝึกการจ่ายบอลแล้วเคลื่อนที่ เพื่อให้นักเตะคุ้นชินกับลูกบอลที่สุด
การเปลี่ยนแปลงของแชงคลี ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียง 2 ปี หลังจากที่ลิเวอร์พูลพยายามอยู่นาน ในที่สุดฤดูกาล 1961-62 บิลล์ แชงคลี พาลิเวอร์พูลผงาดคว้าแชมป์ดิวิชั่น 2 และเลื่อนชั้นกลับไปเล่นในดิวิชั่น 1 ได้สำเร็จ
ฤดูกาล 1962-63 ลิเวอร์พูลได้กลับมาเล่นในลีกสูงสุดอีกคร้ัง ก่อนที่จะจบด้วยอันดับ 8 ส่วนแชมป์ตกเป็นของทีมคู่ปรับร่วมเมืองอย่างเอฟเวอร์ตัน ปีแรกของการได้กลับขึ้นมาบนสมรภูมิรบที่ยิ่งใหญ่นี้อีกครั้ง เปรียบเสมือนการลองเชิง ประสบการณ์เพียงหนึ่งปีทำให้บิลล์ แชงคลี รู้แล้วว่าหากต้องการเป็นที่หนึ่งจะต้องต่อสู้ยังไง และมันสมองของแชงคลี รวมทั้งความพยายามของเหล่านักเตะทุกคนก็ประสบความสำเร็จ ฤดูกาล 1963-64 ลิเวอร์พูล สามารถเถลิงบัลลังก์แชมป์ลีกสูงสุด แห่งเกาะอังกฤษ
สองฤดูกาลถัดมาความทะเยอทะยานของลิเวอร์พูล ภายใต้การคุมบังเหงียนแชงคลี ยังประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ฤดูกาล 1964-65 คว้าแชมป์เอฟ เอ คัพ ฤดูกาล 1965-66 คว้าแชมป์ลีกได้อีกสมัย ก่อนจะห่างหายความสำเร็จไปราว 5 ปี และกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ในฤดูกาล 1972-73 ที่คว้าได้ทั้งแชมป์ลีก และแชมป์ยุโรป
ฤดูกาล 1973-74 กลายเป็นปีสุดท้ายของบิลล์ แชงคลี และลิเวอร์พูล หลังพาทีมประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ แชงคลีเข้ามากอบกู้ซากปรักหักพังที่ชื่อว่าลิเวอร์พูล ให้กลับมาเป็นทีมที่ไร้เทียมทาน จนคู่แข่งไม่อยากเผชิญหน้า ทุกความสำเร็จตอกย้ำว่าถ้อยคำที่ประกาศกร้าวในวันที่ย่างเท้าเข้ามาวันแรก เป็นจุดมุ่งหมาย และความทะเยอทะยานสูงสุดของเขา
แชมป์สุดท้ายของลิเวอร์พูลที่บิลล์ แชงคลี ได้ฝากไว้ คือ เอฟเอ คัพ ก่อนจะประกาศวางมือ ที่ทำเอาเหล่าเดอะ ค็อป ใจสลายไม่น้อย เพราะสถานะของบิลล์ แชงคลี กับลิเวอร์พูลนั้นยิ่งใหญ่และทรงคุณค่าเกินกว่าการร่วมงานกันในฐานะผู้จัดการทีม และสโมสร การปรากฏตัวของ แชงคลี นั้นเปลี่ยนแปลง ลิเวอร์พูล ไปอย่างสิ้นเชิง
ความสำเร็จที่บิลล์ แชงคลี ได้จารึกไว้ในประวัติศาสตร์สโมสร ประกอบด้วยถ้วยแชมป์กว่า 10 ถ้วย แบ่งเป็นแชมป์ระดับเมเจอร์ 7 ถ้วย ได้แก่ ลีกรอง 1 สมัย, ลีกสูงสุด 3 สมัย, เอฟเอ คัพ 2 สมัย, ยูฟ่า คัพ 1 สมัย และแชมป์เอฟเอ แชริตี้ ชิลด์ ถ้วยการกุศล อีก 3 สมัย
อิทธิพล และมรดกของบิลล์ แชงคลี
“บางคนเชื่อว่าฟุตบอลเป็นเรื่องของชีวิตและความตาย ผมผิดหวังกับทัศนคตินี้มาก ผมรับรองได้เลยว่ามันสำคัญกว่านั้นมาก” บิลล์ แชงคลี กล่าว
การพูดจาที่เฉียบแหลมและชาญฉลาด ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของบิลล์ แชงคลี คำพูดเพียงไม่กี่ประโยคของเขาสามารถสร้างแรงรูงใจ สร้างแรงศรัทธาได้ แชงคลีต้องการให้แฟนบอลลิเวอร์พูลมีความแข็งกร้าว ดุดัน หยิ่งยโส พร้อมทำทุกอย่างเพื่อทีม ตราบใดที่คู่แข่งต้องมาเยือนพวกเขา บรรยากาศในแอนฟิลด์ต้องเป็นเหมือนนรกของทีมเยือน
อิทธิพลของแชงคลีแผ่ขยายไปมากกว่าแค่การคุมทีมข้างสนาม เขาเชื่อมโยงจิตวิญญาณของเมือง สโมสร และผู้คน ให้เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างชาญฉลาด สโมสรเป็นส่วนหนึ่งของเมือง ผู้คนเป็นส่วนหนึ่งของสโมสร ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและสโมสรลึกซึ้ง และผูกพันมากกว่าการเชียร์บอล แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต
แชงคลี สามารถกู้ศรัทธาที่เสื่อมถอยของเหล่าสาวกให้กลับมาได้ ด้วยการทำงานแบบลูกผู้ชาย สิ่งที่แฟนบอลจะช่วยทีมได้คือการลงทุนด้วยอารมณ์ ส่งเสียเชียร์เต็มที่ ส่วนสิ่งที่แชงคลี และลูกทีมจะทำได้ก็คือการตอบแทนให้กับแฟนบอลที่จ่ายเงินเพื่อเข้ามาดูพวกเขา ด้วยการเล่นอย่างถวายหัวให้กับเหล่าแฟนบอล
การเข้ามาของแชงคลีเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของลิเวอร์พูลไปอย่างสิ้นเชิง จนกลายเป็น “วิถีแห่งลิเวอร์พูล” และยังมีอีกหลายวัฒนธรรมที่ยังทรงคุณค่าจวบจนทุกวันนี้ “สีแดงเพลิง” สีประจำสโมสรที่เราต่างคุ้นตากันดี เป็นอีกวัฒนธรรมที่แชงคลีสร้างให้กับลิเวอร์พูล เพราะแต่เดิมนั้นสีประจำสโมสรของลิเวอร์พูลไม่ใช่สีแดง
วัฒนธรรม “Boot Room” แม้ในปัจจุบันจะยกเลิกไปแล้วก็ตาม แต่วัฒนธรรมนี้เคยทำให้ลิเวอร์พูลกลายเป็นทีมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุโรปมาแล้วจากการสานต่อของบ็อบ เพลสีย์ โจ เฟแกน
“This is Anfield” ประโยคสุดคลาสสิกที่ไม่ใช่การต้อนรับ แต่เป็นการเตือนบรรดาคู่แข่งที่มาเยือนสนามแห่งนี้ เป็นการตอกย้ำว่าสโมสรแห่งนี้ และแฟนบอลที่นี่ จะไม่มีวันปราณีคุณ
วิธีการบริหารของแชงคลี ยังได้รับการยกย่องว่ามาก่อนยุคอีกด้วย มันสมองของเขาไม่ได้มีดีแค่แท็คติกฟุตบอล แต่แชงคลีเป็นผู้จัดการทีมที่เชี่ยวชาญศิลปะการบริหารคน และเชี่ยวชาญศิลปะการพูด การบริหารจัดการคน และคำพูดของเขา อยู่ในระดับที่บงการจิตใจคนได้ เขากระตุ้นความกระหายของนักเตะ ให้วิ่งลืมตายเพื่อเขาได้ เขากระตุ้นอารมณ์ของแฟนบอลด้วยวิธีการเล่นฟุตบอลในแบบของเขาได้
เหล่านี้คือมรดกและอิทธิพลเพียงส่วนหนึ่งที่แชงคลีได้ทิ้งเอาไว้ให้ลิเวอร์พูล การเข้ามาของชายคนนี้เปลี่ยนแปลงลิเวอร์พูลไปตลอดกาล เขาไม่ได้เป็นเพียงผู้จัดการทีมของลิเวอร์พูล แต่กลายเป็นวัฒนธรรมของลิเวอร์พูล
บิลล์ แชงคลี แสดงให้เห็นคุณสมบัติของผู้จัดการทีมฟุตบอลที่ไม่สามารถสอนได้ในหลักสูตรการฝึกสอนใด ๆ เขาอุทิศชีวิตทั้งหมดให้ฟุตบอล ผ่านการทำงานที่เรียบง่าย ซื่อสัตย์ ขยัน อดทน สร้างสรรค์ และทรงพลัง
ชายผู้ฟื้นคืนชีพ Red Machine
นับตั้งแต่การวางมือของบิลล์ แชงคลี เข้าสู่ยุคของบ็อบ เพสลีย์ โจ เฟแกน เซอร์เคนนี่ ดัลกลิช ในช่วงกลางปี 70 - ต้นยุค 90 ลิเวอร์พูลยังประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ยาวมาจนถึงการคุมทีมของราฟาเอล เบนิเตช ในช่วงปี 2004-2010 ที่สามารถคว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก สมัยที่ 5 มาครองได้
หลังจากนั้นเพียงไม่นานลิเวอร์พูลกลับกลายเป็นทีมร้างความสำเร็จ แม้จะได้เซอร์เคนนี่ ดัลกลิช กลับมาคุมทีมคำรบที่สองช่วงสั้น ๆ และคว้าแชมป์ลีก คัพ ได้ 1 สมัย แต่นอกจากนั้นกลับคว้าน้ำเหลวมาโดยตลอด
ช่วงปี 2000 แม้จะประสบความสำเร็จในรายการอื่นอยู่บ้าง แต่หากพูดถึงแชมป์ลีกสูงสุด ลิเวอร์พูลคว้าแชมป์ครั้งล่าสุดตั้งแต่ฤดูกาล 1989-90 นับว่าห่างหายจากการคว้าแชมป์ลีกมานานกว่า 3 ทศวรรษแล้ว เพราะฉะนั้นลิเวอร์พูลจึงต้องมองหาใครสักคน ที่ดีพอจะพาลิเวอร์พูลกลับมายิ่งใหญ่ได้
การปรากฏตัวของชายที่ชื่อเยอร์เก้น คล็อปป์ ในปี 2015 สร้างภาพฝันให้สาวกหงส์แดงอีกครั้ง เพราะชื่อเสียงและความสามารถของเขาเป็นที่ประจักษ์ดี คล็อปป์เป็นผู้จัดการทีมเพียงคนเดียวในรอบกว่า 10 ปี ที่กระชากแชมป์บุนเดสลีกา มาจากบาเยิร์น มิวนิคได้ ก่อนจะโบกมือลาโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ และโคจรมาเจอกับลิเวอร์พูล ความหวังที่ลิเวอร์พูลจะคว้าแชมป์ลีกได้ จึงเริ่มส่องสว่างอีกครั้ง
สถานการณ์ของบิลล์ แชงคลี และเยอร์เก้น คล็อปป์ ในวันที่เข้ามาคุมบังเหงียนลิเวอร์พูล มีความคล้ายคลึงกันเนือง ๆ คือ สถานะที่ทีมเป็นอยู่ไม่ใช่ทีมที่พร้อมจะประสบความสำเร็จ คล็อปป์จึงมีงานต้องทำอีกหลายอย่างหากต้องการพาลิเวอร์พูลกลับไปอยู่ในจุดที่ควรอยู่ให้ได้
แต่คล็อปป์ไม่สามารถโละนักเตะครั้งละหลายคนออกได้ เพราะกฎทางการเงินในปัจจุบัน สิ่งที่เขาทำได้จึงเป็นการค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ทีละตำแหน่ง เรียงตามลำดับความสำคัญ เช่น คล็อปป์ เลือกเสริมเกมรุก โดยการดึงตัวซาดิโอ มาเน่ และโมฮาเหม็ด ซาลาห์ มาร่วมทีม ทำให้เกมรุกของลิเวอร์พูลดุดัน และพร้อมทะลวงประตูคู่แข่ง แต่ในทางกลับกันเกมรับของพวกเขาก็กลับโดนทะลวงง่าย ๆ
ปัญหาต่อมาที่ต้องแก้ไขจึงเป็นเกมรับ ลิเวอร์พูลตัดสินใจทุ่มเงินเป็นสถิติโลกของตำแหน่งกองหลัง ณ ช่วงเวลานั้น เพื่อดึงตัวเวอร์จิล ฟานไดจ์ค เข้ามาร่วมทีม และแน่นอนว่าสายตาที่เฉียบแหลมของคล็อปป์ มองคนไม่ผิด เพราะฟานไดจ์ค กลายเป็นป้อมปราการที่แข็งแกร่ง และยกระดับเกมรับของทีมได้ทันตาเห็น
ฤดูกาลถัดมาปัญหาสุดท้ายก็ได้ถูกแก้ไข อลิสซง เบคเกอร์ อีกหนึ่งสถิติโลกที่ลิเวอร์พูล คว้าเข้ามา และกลายเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญชิ้นสุดท้ายในการสร้างทีมของเยอร์เก้น คล็อปป์ ถึงคราวนี้ลูกทีมของคล็อปป์พร้อมแล้วในการไล่ล่าแชมป์ พวกเขามีเกมรับที่เหนียวแน่น มีแดนกลางที่ทำงานเป็นมดงาน และเกมรุกที่พร้อมบุกแหลก
ในที่สุดถ้วยแชมป์ที่รอคอยก็ประจักษ์ต่อหน้าแฟนบอลนับล้าน ฤดูกาล 2018-19 UCL สมัยที่ 6 ของสโมสร แม้ครั้งนี้จะไม่มีปาฏิหารย์เหมือนในปี 2005 แต่ขุมกำลังที่คล็อปป์สร้างขึ้นมากลับสร้างได้มากกว่าปาฏิหารย์ ฤดูกาลถัดมาสิ่งที่เหล่าเดอะ ค็อป รอคอยมากที่สุดก็เดินทางมาถึง เพราะนานกว่า 30 ปีแล้วที่ถ้วยแชมป์ลีกสูงสุดไม่ได้นำมาประดับที่แอนฟิลด์
และแล้วการเข้ามาของเยอร์เก้น คล็อปป์ ก็ทำให้นาฬิกาแห่งการรอคอยหยุดลง เขาปลุกเครื่องจักรสีแดงให้กลับมาทำงานอีกครั้ง และพาลิเวอร์พูลคว้าแชมป์ทุกรายการทั้ง ยูฟ่า แชมป์เปียนส์ ลีก, พรีเมียร์ลีก, ยูฟ่า ซูเปอร์ คัพ, ฟีฟ่า คลับ เวิลด์ คัพ, ลีก คัพ, เอฟ เอ คัพ และคอมมูนิตี้ ชิลด์
สถานะของเยอร์เก้น คล็อปป์ กับลิเวอร์พูลเกินกว่าจะแตะต้องได้ ความผูกพัน ความใกล้ชิดระหว่างสโมสร และแฟนบอล ที่ขาดหายไป คล็อปป์ทำให้กลับมาแน่นแฟ้นอีกครั้ง ผู้เล่นที่ขาดความกระหายชัยชนะ คล็อปป์ใช้หลักจิตวิทยาอย่างง่าย โดยการแสดงความเชื่อใจในผู้เล่นของเขาทุกคน ทำให้ผู้เล่นกลับมาวิ่งลืมตายเพื่อแฟนบอลอีกครั้ง
ศิลปะการพูด และการบริหารจัดการคน อยู่ในระดับฉมัง จึงไม่น่าแปลกใจว่าแม้ในวันที่ฟอร์มการเล่นไม่ดี เขาก็ไม่ใกล้เคียงกับการโดนปลด เพราะสิ่งที่เขามอบให้ลิเวอร์พูลยิ่งใหญ่เกินกว่าจะมาตัดสินด้วยหนึ่งฤดูกาลที่ย่ำแย่
จากลาอย่างน่าจดจำ
ด้วยวัย 61 ปีของบิลล์ แชงคลี และการทำงานอย่างหนักเพื่อลิเวอร์พูลมากว่า 15 ปี เขาทุ่มเทแรงกาย แรงใจทั้งหมด จนเขาหมดพลังแล้ว การตัดสินใจวางมือในครั้งนั้นจึงเป็นความต้องการอยากกลับไปใช้ชีวิตอย่างคนธรรมดา เพราะตลอดระยะเวลาที่สโมสรแห่งนี้ เขาใช้ชีวิตเยี่ยงราชา ที่ได้รับการสรรเสริญ แต่ก็ต้องแบกรับความกดดัน และความหวังมาโดยตลอด
แชงคลียังคิดถึงลิเวอร์พูลอยู่เสมอ แม้กระทั่งในวันที่ลงจากตำแหน่ง การตัดสินใจบอกลาทีมในวันที่แฟนบอลหลายคนยังเชื่อว่าเขายังสามารถอยู่กับทีมไปได้อีกหลายปี และคว้าแชมป์มาประดับในแอนฟิลด์ได้อีกหลายรายการ ขุมกำลังพลพรรค “หงส์แดง” ที่เขาสร้างขึ้นมายังคงแข็งแกร่งกว่าใครในเกาะอังกฤษ
แต่สาเหตุที่ทำให้แชงคลีกล้าวางมือจากลิเวอร์พูลที่เขาสร้างขึ้นมาเอง เพราะแชงคลีรู้ดีว่าบุคคลที่อยู่ข้างกายเขา และอยู่ในทุกความสำเร็จที่เขาได้สร้างให้กับลิเวอร์พูล อย่างบ็อบ เพสลีย์ จะสานต่อเจตนารมณ์ของเขาได้
เยอร์เก้น คล็อปป์ ผ่านช่วงเวลาที่ย่ำแย่มาได้ และสร้างลิเวอร์พูลขึ้นมาใหม่ กลายเป็นลิเวอร์พูล 2.0 ขุมกำลังชุดใหม่ที่อัปเกรดแล้ว และพร้อมไล่ล่าความสำเร็จอีกครั้ง แต่เขากลับตัดสินใจวางมือจากทีมไป พร้อมเหตุผลของการ “หมดไฟ” ที่ถึงขั้นทำให้เหล่าเดอะ ค็อป หลายคนเสียน้ำตา
ตลอดระยะเวลากว่า 9 ปีของคล็อปป์ ที่ลิเวอร์พูล เขาอุทิศชีวิตการทำงานทั้งหมดอย่างเต็มที่ จนแทบไม่ได้ใช้ชีวิต หลังจบแต่ละฤดูกาลต้องใช้ความคิดอย่างหนัก เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับฤดูกาลต่อไป การวางมือในครั้งนี้จึงไม่ต่างจากเหตุผลของบิลล์ แชงคลี คือพวกเขาอยากกลับไปใช้ชีวิตของคนธรรมดา
อีกทั้งคล็อปป์ยังประสบความสำเร็จกับลิเวอร์พูลมาครบแล้วทุกรายการ ความทะเยอทะยาน เป้าหมาย ความท้าทาย คงเหลือไม่มากพอที่จะให้เขาไปต่อกับทีม และการจากไปโดยการทิ้งสมบัติไว้ที่นี่ ย่อมดีกว่าการจากไปอย่างผู้พ่ายแพ้ ขุมกำลังที่เขาสร้างขึ้นมานี้ถูกวางรากฐานไว้อย่างดี และรอเพียงแค่ให้ใครสักคนเข้ามาสานต่อ
เยอร์เก้น คล็อปป์ และ บิลล์ แชงคลี คล้ายกันจนเหมือนภาพแทนของกันและกัน ทั้งสถานการณ์ของทีมก่อนที่พวกเขาจะเข้ามา การเข้ามากอบกู้ศรัทธา สถานะที่ไม่อาจแตะต้องได้ วิธีการบริหารคน การวางมือจากทีมที่ดีที่สุดที่ได้สร้างมา และเหตุผลของการวางมือ มีเพียงสิ่งเดียวที่คล็อปป์ต่างจากแชงคลี คือการไม่มีคนอย่างบ็อบ เพสลีย์ ที่พร้อมรับไม้ต่อดูแลลิเวอร์พูล
การจากลาของบิลล์ แชงคลี สวยงามและน่าจดจำ และการจากลาของเยอร์เก้น คล็อปป์ที่กำลังจะมาถึงคงจะได้รับการสรรเสริญ และน่าจดจำไม่ต่างกัน
และสุดท้ายนี้ “ไม่สำคัญว่าผู้คนจะคิดยังไงในวันที่คุณเข้ามา สิ่งที่สำคัญกว่าคือผู้คนจะจดจำคุณยังไง ในวันที่คุณจากไป” คำกล่าวที่เหมือนกันของสองยอดคนบริหารคนของลิเวอร์พูล
แหล่งอ้างอิง :
https://liverpoolfc.fandom.com/wiki/Bill_Shankly
https://www.theguardian.com/football/2024/jan/26/for-bill-shankly-in-1974-read-jurgen-klopp-in-2024-but-what-comes-next
https://www.theguardian.com/football/2024/jan/28/jurgen-klopp-like-bill-shankly-will-leave-his-liverpool-successor-a-strong-hand
https://150.scottishfa.co.uk/legends/managers/bill-shankly/
https://www.lfchistory.net/Managers/Manager/Profile/9
https://thesefootballtimes.co/2015/11/12/bill-shankly-its-not-how-you-arrive-its-how-you-leave/