Feature

จากผลงานรอบแบ่งกลุ่ม : ทำไมญี่ปุ่นถึงยังเล่นไม่ประทับใจแฟนบอลในเอเชียน คัพ 2023 | Main Stand

ก่อนทัวร์นาเมนต์เอเชียน คัพ 2023 จะอุบัติขึ้น บรรดาโพลน้อยใหญ่ต่างยกให้ทีมชาติญี่ปุ่นเป็นทีมเต็งที่จะคว้ารายการชิงแชมป์แห่งชาติของทวีปเอเชีย เนื่องด้วยแนวทางการเล่นที่น่าตื่นตาตื่นใจ ตลอดจนวิสัยทัศน์ของทัพซามูไรบลูในช่วงหลายเกมก่อนเข้าทัวร์นาเมนต์

 

อย่างไรก็แล้วแต่ เส้นทางของพลพรรคลูกหลานพระอาทิตย์ในการแข่งขันที่กาตาร์ไม่ได้ราบรื่นไปเสียทีเดียว เมื่อลูกทีมของ ฮาจิเมะ โมริยาสุ จบตำแหน่งในรอบแบ่งกลุ่มด้วยอันดับที่สอง ชนะทีมชาติเวียดนามได้ก็จริง ทว่าก็โดนทัพดาวทองยิงถึงสองลูก แถมพ่ายต่อทีมชาติอิรัก ทำให้ชวดแชมป์กลุ่มอีกต่างหาก

แม้จะผ่านเข้ารอบสานต่อเส้นทางสู่แชมป์อยู่ แต่แน่นอน แฟนบอลจำนวนไม่น้อยก็ไม่ได้ยอมรับว่านี่คือผลงานที่ดีที่สุดของญี่ปุ่น นำมาซึ่งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับทีมชาติญี่ปุ่นในเอเชียน คัพ 2023 ทำไมพวกเขาถึงทำผลงานชนิดยังไม่เข้ารูปเข้ารอยแบบที่ควรจะเป็น 

Main Stand ขอชวนคอลูกหนังมาร่วมวิเคราะห์ประเด็นนี้ไปพร้อม ๆ กัน 

 

ในฐานะทีมเต็งแชมป์

ปฐมฤกษ์แห่งความรุ่งโรจน์ครั้งใหญ่ในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมาของทีมชาติญี่ปุ่น เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเวลาที่ทัพซามูไรบลู ทำผลงานได้น่าประทับใจในฟุตบอลโลก 2022 ไล่มาตั้งแต่การคว้าแชมป์กลุ่ม E โดยเอาชนะทั้งทีมชาติเยอรมนีและทีมชาติสเปน ด้วยสกอร์เดียวกัน 2-1 มาได้ แถมเกมในรอบ 16 ทีมสุดท้าย ก็ยื้อทีมดีกรีรองแชมป์โลก 2018 อย่างโครเอเชียไปถึงการดวลจุดโทษตัดสิน

แม้จะจอดแค่รอบดังกล่าว ทว่าทีมของ ฮาจิเมะ โมริยาสุ ก็กลายเป็นที่น่าจับตามองนับแต่นั้น และนับเป็นนิมิตรหมายอันดีของทีมด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะการเดินหน้าสู่โปรเจ็คต์ใหญ่ กับภารกิจตั้งเป้าเป็นแชมป์โลกในปี 2050

ภายหลังจากทัวร์นาเมนต์เวิลด์คัพที่กาตาร์จบลง สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น หรือ JFA ก็ยังคงเดินหน้าไปตามแพลนที่ตั้งไว้ ไม่ว่าจะระยะสั้นหรือระยะยาว ไล่มาตั้งแต่การต่อสัญญากับโมริยาสุออกไปจนถึงปี 2026 

ขณะที่นักเตะหลาย ๆ คนก็ยังคงอยู่เป็นฟันเฟืองให้ทีมในเกมการแข่งขันนัดต่อ ๆ มา เพิ่มเติมด้วยการให้โอกาสแข้งหน้าใหม่อีกหลาย ๆ คนเข้าสู่สารบบทีมชาติ

กลายเป็นว่าทีมชาติญี่ปุ่นในช่วงหลังฟุตบอลโลก 2022 หรือเจาะเพื่อให้เห็นภาพมากกว่านั้นอย่างในปีปฏิทิน 2023 พวกเขามีโปรแกรมการแข่งขันตามปฏิทินฟีฟ่าทั้งหมด 10 นัด ปรากฏว่าแพ้คู่แข่งแค่นัดเดียว ที่เหลือแบ่งเป็นสถิติชนะ 8 เสมอ 1 โดยหนึ่งในชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่เกิดขึ้นในการทัวร์ยุโรปในเดือนกันยายน กับการบุกไปย้ำแค้นเยอรมนีถึงถิ่น 4-1 ตามด้วยเกมกระซวกตุรกี 4-2 

ความสำเร็จที่ว่ามานี้ ส่งให้ซามูไรบลู ทะยานขึ้นไปรั้งอันดับโลกของฟีฟ่า ที่ 17 หลังจบปี 2023 ทั้ง ๆ ที่ช่วง 6 ปีก่อนหน้า (2017) พวกเขายังรั้งอยู่อันดับที่ 57 ของโลกอยู่เลย 

เพื่อต่อยอดผลงานและความสำเร็จที่ออกมาเป็นรูปธรรมเหมือนที่ทำอยู่ ทัวร์นาเมนต์เอเชียน คัพ 2023 จึงเป็นหมุดหมายอันดีที่รอให้ทีมชาติญี่ปุ่นสานต่อ แน่นอนว่าทีมของฮาจิเมะ โมริยาสุก็คือทีมเต็มแชมป์ในการแข่งขันที่กาตาร์ ดังการเปิดเผยของ Opta เว็บไซต์ที่บันทึกข้อมูลสถิติชั้นนำของวงการฟุตบอล ยกให้ทีมซามูไรเป็นทีมเต็ง ที่อัตรา 24.8% เป็นต้น

“เราต้องการความสมบูรณ์แบบตั้งแต่เกมแรก แต่ก็ต้องเตรียมให้พร้อมในแต่ละนัด แถมยังต้องคอยรับมือกับอาการบาดเจ็บ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ อีกด้วย” ฮาจิเมะ โมริยาสุ ให้สัมภาษณ์ต่อหน้าสื่อมวลชน ในเดือนธันวาคม 2023

“การเตรียมเรื่องสภาพร่างกายและแท็คติกส์เป็นเรื่องที่สำคัญ แล้วเราก็ต้องเมคชัวร์ด้วยว่าก่อนทัวร์นาเมนต์จะเริ่มขึ้น เราต้องมีแนวคิดการเล่นให้ดุดันและพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่เข้ามา” 

อย่างไรก็ดี แทนที่ญี่ปุ่นจะเดินหน้าสร้างผลงานในแบบที่ควรจะเป็นในฐานะเต็งแชมป์ พวกเขากลับมีช่วงเวลาที่สะดุดอยู่เหมือนกัน ไล่มาตั้งแต่เสียถึงสองประตูในเกมประเดิมชนะเวียดนาม 4-2 พลาดท่าพ่ายต่ออิรัก 1-2 แถมเกมส่งท้าย แม้จะได้สามคะแนน แต่ก็พลาดเก็บคลีนชีต จากการโดนอินโดนีเซียยิงปลอบใจ 3-1 กลายเป็นจบรอบแบ่งกลุ่ม กลุ่ม D ในฐานะทีมอันดับสอง 

ตัวอย่างข้างต้น คือภาพรวมของผลงานที่ไม่ได้ออกมาสมบูรณ์แบบ แต่หากจะเจาะคำอธิบายเพิ่มเติม ก็จะพบข้อสังเกตที่น่าสนใจอยู่อีกหลายประการ

 

ข้อผิดพลาดในเกมป้องกัน

ปัญหาแรกที่เป็นปัจจัยให้ทีมชาติญี่ปุ่นทำผลงานไม่ประทับใจแฟนบอลหนีไม่พ้นเรื่องของการเสียประตูให้คู่แข่งง่ายเกินไป มันเกิดขึ้นจากทั้งนักเตะหลายคนก่อข้อผิดพลาดส่วนบุคคล ไปจนถึงการป้องกันลูกกลางอากาศได้ไม่ดีพอ 

ไซอง ซูซุกิ ผู้รักษาประตูจากแซงต์-ทรุยด็อง ที่เคยมีข่าวว่าแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดให้ความสนใจ คือมือกาวเบอร์หนึ่งของทีมชาติญี่ปุ่นในเวลานี้ เห็นได้ชัดจากการลงเฝ้าเสาตัวจริงให้ทัพซามูไรบลูตลอด 5 เกมหลังสุดที่ลงแข่ง รวมถึงทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์เอเชียที่กาตาร์ และหากไม่มีอะไรผิดพลาด แข้งวัย 21 ปี น่าจะยึดนายด่านตัวเลือกแรกของทีมต่อไปอีกยาว

แต่ไป ๆ มา ๆ จอมหนึบผลผลิตอุราวะ เร้ดส์ กลับทำผลงานชนิดที่แฟนบอลญี่ปุ่นต้องตั้งคำถามเช่นเดียวกับการพาตัวเองให้กลายเป็นคอนเทนต์สนั่นสื่อสังคมออนไลน์ในแวดวงฟุตบอลทั่วโลก โดยเฉพาะกับเรื่อง “ความผิดพลาดส่วนบุคคล” เมื่อเขาโชว์การเซฟประตูที่ไม่เด็ดขาดเท่าที่ควร รวมถึงการยืนตำแหน่ง ฯลฯ

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น สถิติจากเว็บไซต์สหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย หรือ เอเอฟซี ระบุว่าตลอดเกมรอบแบ่งกลุ่ม นายด่านจากลีกเบลเยี่ยมผู้นี้มีสถิติเซฟรวมกันแค่ 2 เซฟเท่านั้น คิดเป็นอัตราเซฟสำเร็จเพียง 28.6%

5 ประตูที่ญี่ปุ่นเสียให้คู่แข่งในรอบแบ่งกลุ่ม ล้วนแต่เกิดจากการเข้าทำด้วยลูกกลางอากาศทั้งสิ้น ลักษณะของการเสียประตูมาครบทั้งลูกเตะมุม ลูกฟรีคิกในระยะก่อนเข้ากรอบเขตโทษ การเปิดจากด้านข้าง ไปจนถึงการเล่นลูกทุ่มไกลเข้ากรอบเขตโทษ 

ข้อผิดพลาดที่ว่ามานี้ มีตัวเลขสะท้อนออกมาจากฟอร์มของนักเตะอยู่เหมือนกัน อย่างยูกินาริ ซุงาวาระ แบ็คขวาจากอาแซ่ด อัลค์มาร์ มีสถิติชนะการดวลลูกกลางอากาศ (Aerial duels) คิดเป็น 33.3% เท่านั้น

 

ปัญหาคู่แข่งเล่นรับต่ำ

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ญี่ปุ่นมักจะเผชิญรูปเกมที่คู่แข่ง โดยเฉพาะทีมจากเอเชียด้วยกัน ออกสตาร์ตด้วยการเล่นเกมรับที่แข็งแกร่งไว้ก่อนแล้วค่อยหาโอกาสสวนกลับ ซึ่งหลายครั้งผลการแข่งขันออกมาชนิดเป็นใจให้ฝั่งตรงข้าม

ในอดีตทีมซามูไรเจอปัญหานี้เล่นงานมาช้านาน ถ้าให้ย้อนไปไม่ไกลนักก็คือเกมเปิดไซตามะ สเตเดี้ยม เสมอกับทีมชาติเวียดนาม ยุคกุนซือพัค ฮัง-ซอ 1-1 ในฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก รอบ 12 ทีมสุดท้าย หรือถ้าให้มองยุคปัจจุบัน ตัวอย่างเด่นชัดคือเกมแพ้ทีมชาติอิรัก ในนัดที่สอง ด้วยสกอร์ 1-2

ในเกมกับอิรัก หลังญี่ปุ่นพลาดโดนขึ้นนำตั้งแต่นาทีที่ 5 กลายเป็นสถานการณ์ทุกอย่างเข้าทางอิรักของกุนซือเฆซุส คาซาส ทั้งหมด ทีมสิงโตแห่งเมโสโปเตเมียเริ่มเน้นสมาธิไปยังการเล่นเกมรับต่ำ รัดกุมเต็มอัตรา ปล่อยให้ญี่ปุ่นเดินหน้าบุก แล้วค่อยหาโอกาสเล่นเกมสวนกลับที่แม่นยำ

เมื่อเป็นเช่นนี้ สถานการณ์จึงบีบบังคับให้ทัพซามูไรสีน้ำเงินต้องเปิดหน้าแลก อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นกลับทำได้แค่การเคาะบอลเท้าสู่เท้าเป็นส่วนใหญ่ ดังสถิติครองบอลหลังจบเกมที่สูงถึง 72.2% ได้โอกาสจบสกอร์ถึง 15 ครั้ง แต่จบแบบตรงกรอบเพียง 2 ครั้ง 

“เราเล่นกันได้อย่างที่กุนซือของเราต้องการ เราทำงานกันหนักในช่วงสัปดาห์และเราก็เล่นได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะเรามีสมาธิกับเกมนี้จริง ๆ” ไอเมน ฮุสเซน เจ้าของผลงานสองประตูพาอิรักเฉือนชนะ 2-1 กล่าว

อนึ่ง ในเกมที่ญี่ปุ่นดวลกับอินโดนีเซีย พวกเขาก็เผชิญกับปัญหาดังกล่าวเช่นกัน เพียงแต่มีความต่างตรงที่อายาเสะ อุเอดะ ยิงจุดโทษให้ญี่ปุ่นออกนำไว ทำให้ทีมอิเหนาต้องเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการเข้าทำเล็กน้อย กลายเป็นเดินหน้าเข้าใส่ตามโอกาสที่มี ก่อนที่ญี่ปุ่นจะปิดเกมไปด้วยสกอร์ 3-1

ส่วนเกมเกมดวลเวียดนามของกุนซือฟิลลิป ทรุสซิเยร์ เรียกได้ว่าไม่ได้เข้าข่ายการเล่นเกมรับต่ำขนาดนั้น นั่นเพราะเฮดโค้ชฉายา “พ่อมดขาว” พลิกโฉมการเล่นของทีมดาวทองยุคโค้ชพัค ฮัง-ซอ จากที่เน้นรับรัดกุมเป็นเปิดหน้าแลก นำมาซึ่งสองประตูของเวียดนามใน 45 นาทีแรก

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกมเปิดหน้าแลกกัน การวัดกันในพื้นที่สุดท้ายคือคีย์แมนพิชิตชัย ที่สุดก็เป็นแข้งแดนปลาดิบ ที่ฝีเท้าและคุณภาพอยู่เหนือกว่านักเตะเวียดนามหลายขุม นำมาซึ่งการพลิกชัยชนะของญี่ปุ่นที่ 4-2

จึงอาจกล่าวได้ว่า หากญี่ปุ่นขึ้นนำไปก่อน รูปเกมก็อาจจะเข้าทางพวกเขา คู่แข่งจำเป็นต้องลดอัตราการเล่นเกมรับลึกมาเป็นเปิดเกมบุกตามจังหวะที่มี เช่นเดียวกัน เมื่อเจอทีมคู่ต่อสู้เปิดหน้าแลก พวกเขาก็พร้อมจะใช้คุณภาพของผู้เล่นเป็นฟันเฟืองสู่ชัยชนะ

อย่างไรเสีย หากญี่ปุ่นโดนคู่แข่งนำไปก่อน ก็ยากจะปฏิเสธว่าพวกเขาจะเจอการเล่นของคู่แข่งที่รับเต็มอัตราศึกเช่นกัน

 

แต่ญี่ปุ่นก็คือญี่ปุ่น

ถึงแม้ญี่ปุ่นจะลงเล่นด้วยผลงานที่ไม่ประทับใจแฟนบอลไปบ้าง แต่ถึงอย่างไร พวกเขาก็ยังคงเป็นทีมชาติญี่ปุ่นที่เป็นทีมเต็งแชมป์อยู่ดี

มีข้อสังเกตและข้อชวนคิดมากมายเกิดขึ้นหลังจากที่ญี่ปุ่นเข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้ายในฐานะทีมอันดับสองของกลุ่ม D โดยเฉพาะคำถามชวนคิดที่ว่า ทีมหลาย ๆ ทีมตั้งใจหลีกเลี่ยงการเจอกับญี่ปุ่นในรอบน็อคเอาต์ 

ขณะเดียวกัน ขุมกำลังของญี่ปุ่นก็เริ่มจะเข้ารูปเข้ารอยกันมากขึ้นกว่าเกมรอบแบ่งกลุ่มเป็นแน่แท้ นักเตะอย่างทาเคฮิโระ โทมิยาสุ เริ่มฟิตสมบูรณ์พร้อมปักหลักเต็มอัตรา เช่นเดียวกับสตาร์คนอื่น ๆ ที่ต่างก็พร้อมจะปรับปรุงฟอร์มการเล่น เรียนรู้ข้อผิดพลาดจากรอบแบ่งกลุ่ม แล้วนำมาแก้ไขในเกมต่อจากนี้

นั่นก็เพื่อต่อยอดสู่ความสำเร็จกับแชมป์เอเชียน คัพ สมัยที่ 5 ในประวัติศาสตร์ชาติ เพื่อการันตีว่าพวกเขาคือชาติเบอร์หนึ่งของเอเชียในเวลานี้

"ผมรู้ว่ามีเสียงวิจารณ์จำนวนมากเกิดขึ้นกับตัวผม ในฐานะที่เป็นผู้รักษาประตูทีมชาติญี่ปุ่น ผมรู้ว่าผมจะถูกคาดหวังว่าต้องทำผลงานให้ดีอยู่เสมอ ดังนั้นผมจะขอยอมรับในเสียงวิจารณ์เหล่านั้น และก้าวเดินต่อไป" ซูซุกิ หนึ่งในนักเตะที่โดนโจมตีเรื่องฟอร์มการเล่นมากที่สุด เปิดใจ

"เราจะแสดงผลงานออกมาอย่างเต็มความสามารถ เราต้องเตรียมตัวให้ดีและทุ่มเทอย่างเต็มที่ ในทุกเกมการแข่งขันต่อจากนี้ พร้อมกับรักษาเป้าหมายของเราเอาไว้" โมริยาสุ ทิ้งท้าย

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.the-afc.com/en/national/afc_asian_cup/news/moriyasu_pleased_with_japans_improved_performance_.html 
https://www.the-afc.com/en/national/afc_asian_cup/news/patient_japan_please_moriyasu.html
https://www.japantimes.co.jp/sports/2023/12/08/soccer/samurai-blue-asian-cup/ 
https://theanalyst.com/eu/2024/01/asian-cup-2023-stats-centre/ 
https://www.the-afc.com/en/national/afc_asian_cup/teams.html 

Author

พชรพล เกตุจินากูล

แฟนคลับเชลซี ติดตามฟุตบอลเอเชีย ไก่ทอดและกิมจิเลิฟเวอร์

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ