มอเตอร์สปอร์ตในความคิดคุณมีอะไรบ้าง F1 เหรอ หรือ โมโตจีพีเหรอ !? นั่นมันธรรมดาไป
วันนี้ Main Stand จะพาทุกคนไปรู้จัก มอเตอร์สปอร์ตของชาวเกษตรกร ใน “คูโบต้าพันธุ์แกร่ง!” ศึกรถแทรกเตอร์ชิงแชมป์ประเทศไทย เวทีที่สร้างความภาคภูมิใจให้เหล่าเกษตรกร
ทำไมต้อง “คูโบต้าพันธุ์แกร่ง”
“ศึกแห่งศักดิ์ศรี กีฬาแห่งความภูมิใจของเกษตรกรไทย” นี่คือสโลแกนของการแข่งขัน แทรกเตอร์ชิงถ้วยพระราชทานครั้งแรกในประเทศไทย ที่สยามคูโบต้ามุ่งหวังให้เป็นเวทีต่อยอดความสามารถของเกษตรกรไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูที่ไม่มีการเก็บเกี่ยว และเป็นการกระตุ้นให้ผู้ชมได้เห็นประสิทธิภาพและสมรรถนะของเครื่องจักรกลการเกษตรคูโบต้า พร้อมทั้งเป็นการสร้างรูปแบบกีฬาการแข่งขันแทรกเตอร์ให้เป็นที่ยอมรับ เพื่อยกระดับการแข่งขันสู่มาตรฐานสากล
ผู้เข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ มาจากการคัดเลือกจากผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 1,500 จาก 48 สนามทั่วประเทศไทยในรอบคัดเลือก
คุณสมบัติไม่มีจำกัดเพศและอายุ ขอเพียงคุณเป็นเกษตรกรที่มีรถแทรกเตอร์คูโบต้าใช้งานทำไร่ทำสวนเป็นประจำอยู่แล้ว
สำหรับแทรกเตอร์คูโบต้าที่นำมาแข่งขัน แบ่งเป็น 2 รุ่น ได้แก่ แทรกเตอร์คูโบต้า รุ่น L5018SP ขนาด 50 แรงม้า ซึ่งเป็นรุ่นยอดนิยม ใช้งานได้อเนกประสงค์ทั้งงานในไร่ นา หรือสวน มีความคล่องตัวสูง และรุ่นใหญ่ M6240 ขนาด 62 แรงม้า เหมาะสำหรับใช้งานไร่อ้อย มันสำปะหลัง
โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องขับฝ่าด่าน จำนวน 6 สถานี ประกอบด้วย
1.สถานีลูกระนาด ทดสอบความแข็งแกร่งช่วงล่างและทักษะการขับขี่ในพื้นที่ทุรกันดาร
2.สถานีขับเป็นวงกลม ทดสอบทักษะในการบังคับรถในพื้นที่แคบ
3.สถานีซิกแซก ทดสอบทักษะความแม่นยำและการทรงตัวในการขับขี่
4.สถานีเดินหน้าถอยหลัง ทดสอบทักษะความคล่องตัวในการใช้เกียร์
5. สถานีลุยหล่ม ทดสอบการบังคับควบคุมรถแทรกเตอร์ในพื้นที่โคลนตม
6.สถานีคานทรงตัว ทดสอบการทรงตัว การบังคับควบคุมแทรกเตอร์
แม้จะดูเป็นการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตที่ไม่ได้ใช้ความเร็วเป็นตัวตั้ง แต่ก็ต้องอาศัยเรื่องของทักษะการขับขี่ , ความเข้าใจในเครื่องยนต์และอุปกรณ์ ใช้ว่าใครจะกระโดดควบแทรกเตอร์ขึ้นมาขับก็ได้
เนื่องจากอุปกรณ์ในรถ นอกจากจะประกอบด้วย คลัชท์ , เกียร์ , คันเร่ง และ เบรกแล้ว ยังคันโยกสำหรับความเร็วสองระดับ คือ ระดับเต่า และ กระต่าย ซึ่งคุณต้องมีทักษะในการเลือกใช้ความเร็วระหว่างสองเกียร์นี้ให้เข้ากับด่านต่างๆด้วย ก็ไม่ต่างอะไรจากการทำงานในไร่ในสวน
เกษตรกรได้อะไร ?
ได้เงินรางวัลส่วนตัว และ เงินรางวัลไปพัฒนาชุมชน โดยผู้ชนะเลิศ L-Series ได้รับ 50,000 บาท M-Series 50,000 บาท ถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เงินพัฒนาชุมชน 30,000 บาท
รองชนะเลิศอันดับ 1 L-Series 20,000 บาท M-Series 20,000 บาท เงินพัฒนาชุมชน 20,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 L-Series 10,000 บาท M-Series 10,000 บาท เงินพัฒนาชุมชน 10,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 3 L-Series 5,000 บาท M-Series 5,000 บาท เงินพัฒนาชุมชน 10,000 บาท พร้อม ถ้วยรางวัลเกียรติยศ ส่วนผู้เข้าแข่งขันที่ไม่ได้ผ่านเข้ารอบ 4 คนสุดท้าย ก็ยังได้รับเงินสนับสนุนคนละ 1,000 บาท
อธิคม ตองเต (หมายเลข 3) จากทีม วี.ที.เอส.แทรกเตอร์ จ.ตาก แชมป์ในรุ่น M-Series ให้สัมภาษณ์ว่า แต่เดิมเขาเป็นเพียงวัยรุ่นอายุ 21 ปี ที่รับจ้างไถไร่ไถสวนที่จังหวัดตาก ได้เงินมาไร่ละ 400 ก็เก็บรวบรวมไว้จ่ายค่าเทอมในการเรียนภาษาเกาหลี
อธิคม เล่าต่อว่า เขาตั้งใจเรียนภาษาเกาหลีเพื่อจะสอบไปทำงานไร่งานสวนที่ประเทศเกาหลีใต้ หวังจะทำสักปี-2ปี แล้วเอาเงินก้อนกลับมาให้พ่อแม่และซื้อที่นาไว้เป็นของตัวเอง เพื่อให้ครอบครัวเอาไว้ทำมาหากินต่อไป
“ดีใจครับ ผมไม่เคยแข่งอะไรแบบนี้มาก่อน ก่อนมาแข่งผมหาเงินได้วันละ 400 บาทประมาณนี้ นี่น่าจะเป็นเงินหมื่นก้อนแรกที่หาเองได้ ก็ขอบคุณคูโบต้า ที่จัดกิจกรรมนี้ครับ ผมดีใจมากๆจะเอาเงินไปจ่ายค่าเรียนภาษาด้วยครับ” อธิคมกล่าวอย่างมีความสุข
เป้าหมายต่อไปของคูโบต้า
เช่นเดียวกับ คุณพิษณุ มิลินทานุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้นำของคูโบต้า ที่ผุดไอเดียแทรกเตอร์ชิงแชมป์ประเทศ และ อยู่ร่วมสนุกกับเกษตรไทยตั้งแต่เช้าจนจบการแข่งขัน ก็มีใบหน้าเปื้อนยิ้มตลอดเวลา หลังได้เห็นเกษตรกรไทยสนุกและทุ่มเทกับการแข่งขันนี้
ซึ่งความสุขของเกษตรกรในวันนี้ เป็นแรงผลักดันให้สยามคูโบต้ามีแรงในการสนับสนุนกิจกรรมในรูปแบบ Sport Marketing รายการใหม่ๆอีกหลายรายการ เน้นการสร้างความผูกพันและการมีส่วนร่วมระหว่างคูโบต้ากับลูกค้าให้แน่นแฟ้น ตลอดจนการมอบประสบการณ์ที่ดีร่วมกับแบรนด์จนเกิด Brand Loyalty ในระยะยาว
และไม่แน่ว่า ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นการแข่งขันคูโบต้าพันธุ์แกร่งชิงแชมป์ระดับอาเซียน และ เอเชียก็เป็นได้
“เราได้มีการวางแผนกันเอาไว้คร่าวๆ ว่าในอนาคต อาจจะมีการเปิดแข่งในระดับนานาชาติ เริ่มจากเพื่อนบ้านอาเซียน ไปสู่ระดับเอเชีย และเปิดกว้างขึ้นไปทีละขั้น เพราะทุกชาติมีเกษตรกรอยู่แล้ว และเราก็เห็นแล้วว่ากิจกรรมครั้งนี้เปิดโลกทัศน์และโอกาสให้กับเกษตรได้ดี” คุณพิษณุ กล่าว