“มันคือแพชชั่นล้วน ๆ ผมว่า ในการมีอะไรยึดโยง มันต้องทำกรรมอะไรกันไว้” คือส่วนหนึ่งในความเห็นของ ตูน - อาทิวราห์ คงมาลัย เมื่อเล่าถึงการตามเชียร์ทีมรักอย่าง ทอตแน่ม ฮอตสเปอร์ส มาตั้งแต่วัยเด็ก
นอกจากความสำเร็จและชื่อเสียงในฐานะนักร้องนำของวงบอดี้สแลม เจ้าตัวยังเป็นหนึ่งในแฟนบอลตัวยงของทัพไก่เดือยทอง ผู้ตามคอยให้กำลังใจทีมรักของตนเมื่อมีโอกาสอยู่เสมอ โดย ตูน - อาทิวราห์ ได้เปิดใจถึงเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับความชอบที่มีต่อ ทอตแน่ม ฮอตสเปอร์ส อย่างเจาะลึกผ่านรายการ Main Stand Talk กับ ยักษ์ - จิตกร ศรีคำเครือ
ตามติดเรื่องราวบนเส้นทางครึ่งแรกของ อาทิวราห์ จากเด็กชายผู้เริ่มดูบอลที่ร้านข้าวต้ม สู่การอุทิศหัวใจให้ยอดทีมจากกรุงลอนดอน ที่ต่อให้ “ไม่ได้แชมป์ แต่เรารู้สึกมีความสุขจัง ที่ได้เชียร์ทีมนี้” ได้เพิ่มเติมในบทความนี้
นัดชิงในร้านข้าวต้ม
นักร้องนำของวงบอดี้สแลม ได้เล่าย้อนกลับไปถึงเกมนัดชิงฟุตบอลถ้วยเอฟเอคัพ ปี 1991 ที่เป็นการพบกันระหว่าง น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ กับ ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ส เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เจ้าตัวได้มานั่งกินข้าวต้มในร้านกับคุณพ่อ
อาทิวราห์ ที่กำลังศึกษาอยู่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เปิดเผยว่า “ที่ร้าน (ข้าวต้ม) ก็จะเปิดทีวีแมตช์นี้ สเปอร์ส เจอกับ น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ โดยที่ตอนนั้นเราไม่รู้หรอกแต่ละทีมเป็นยังไง แต่ดูไปดูมาสีขาวชนะ เห้ย เก่งนี่หว่า”
“และตอนนั้นชีวิตเราก็เริ่มเล่นกีฬา เตะฟุตบอลอยู่แล้ว ก็เลยทำการบ้านว่า อ๋อ สุดท้ายทีมนี้มันชื่อ สเปอร์ส มันชนะนู่นนั่นนี่ สุดท้ายก็แบบ เทใจเลย ไม่เคยเปลี่ยนทีม”
สำหรับความคลั่งไคล้ในทัพไก่เดือยทองของ อาทิวราห์ เจ้าตัวได้เปิดใจผ่านรายการ Main Stand Talk ว่าถึงขั้นเคยขอให้พ่อขับรถจากจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเข้ามาดูทีมรักตนเองเตะระหว่างที่มีถ่ายทอดสดมาแล้ว “ตอนนั้นผมมาเรียนสวนกุหลาบฯ มานอนบ้านคุณป้า ซึ่งมีเคเบิลทีวี แล้วผมก็ได้ดูฟุตบอลในช่วงที่ผมเปิดเรียน แต่พอปิดเทอมผมต้องกลับบ้านที่สุพรรณ”
“แล้วมันมีช่วงปิดเทอมที่มีแมตช์ สเปอร์ส เตะ ผมขอร้องพ่อให้ช่วยขับรถมาบ้านป้าที่กรุงเทพ ให้ผมได้มาดูฟุตบอล แล้วคุณพ่อก็ขับมาให้ ซึ่งโชคดีมันไม่ได้ไกลมากจากสุพรรณ ก็แค่ชั่วโมงนิด ๆ แต่ย้อนกลับไปพ่อเราก็ใจดีมากเลยนะ ที่ขับรถมาให้เราได้ดูบอล”
นอกจากจะเป็นคนดูผ่านหน้าจอแล้ว อาทิวราห์ ยังได้ใช้ช่วงเวลาในวัยเรียนไปกับการลงวาดลวดลายบนผืนสนามด้วยเช่นกัน ในฐานะนักเตะตำแหน่งปีกขวา จากการมีเท้าขวาเป็นข้างถนัด และมีความชอบในการเปิดบอล “ผมชอบ ดาร์เรน แอนเดอร์ตัน เพราะผมเล่นปีกขวาตอนอยู่สวนกุหลาบ แอนเดอร์ตัน ก็จะยกมือก่อน (เปิดบอล) เราก็ก็อปเขามา ไม่รู้เขายกทำไม เราก็ยกบ้าง (หัวเราะ)”
โตมากับเล่มเล็ก
“ผมซื้อเล่มเล็ก (สตาร์ ซอกเกอร์) ทุกวัน และ ซอกเกอร์ รายสัปดาห์” เจ้าตัวเปิดเผยระหว่างให้สัมภาษณ์ “สมมติสัปดาห์นั้นมีรูปนักเตะ ทอตแน่ม ผมก็จะตัดและก็แปะไว้ข้างฝาห้องของบ้านคุณป้าที่ผมอยู่”
“ในห้องผมมีทั้งรูปทีมรวม รูป ดาร์เรน แอนเดอร์ตัน, นิกกี บาร์มบีย์, รอนนี โรเซนธัล, จัสติน เอดินเบิร์ก, มี คริส วอดเดิล แต่ว่าตอนนั้นเจ้าตัวย้ายไป เชฟฟิลด์ เวนส์เดย์ แม้ย้ายทีมไปแต่ถ้าเคยอยู่ ทอตแน่ม ผมก็เอามาแปะด้วย” อาทิวราห์ ระลึกย้อนกลับไปยังความทรงจำสมัยวัยรุ่นของเขา
ตูน - อาทิวราห์ ระบุว่าตนเองชอบอ่านเล่มเล็ก หรือหนังสือพิมพ์ สตาร์ ซอกเกอร์ รายวัน รวมถึง สตาร์ ซอกเกอร์ รายสัปดาห์ เนื่องจากมีบทวิเคราะห์วิจารณ์จากคอลัมนิสต์ที่ประจำการอยู่อังกฤษจริง ๆ “มันทำให้เราคิดภาพตามหรือจินตนาการตามสนุกขึ้นด้วย ของการตามไปเชียร์แต่ละทีม สนามนี้ไปอย่างไร บรรยากาศกองเชียร์เป็นอย่างไร”
“ผมอ่านของพี่โจ้ ลิตเติลโจ ตั้งแต่เด็ก ๆ จนเพลง ‘คิดฮอด’ ผมแต่งเนื้อที่ไม่ใช่ภาษาอีสานด้วยคำว่า ‘ใครคนนี้’ ‘ใครคนนั้น’ ผมได้สำนวนคำสั้น ๆ มาจากเขา แล้วผมก็จับใส่เข้าไปในเพลง” โดยคำดังกล่าวถือเป็นวลีประจำของ สุรศักดิ์ มากทวี หรือเจ้าของนามปากกา ‘ลิตเติลโจ’ ผู้สื่อข่าวกีฬาที่มีประสบการณ์มากกว่า 25 ปีบนเกาะอังกฤษ ที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินชื่อดังในการนำไปใช้ในบทเพลงของเขา “มันใช้คำนี้ได้นี่หว่า มันมีคนเคยใช้มาแล้ว ผมก็ใช้บ้าง อะไรแบบนี้” เจ้าตัวอธิบายเสริมพร้อมกับเสียงหัวเราะ
และจากการเป็นผู้อ่านในตอนวัยรุ่น อาทิวราห์ ก็ได้เติบโตมาด้วยความชอบในเรื่องฟุตบอล เช่นเดียวกับการขีดเขียนบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ โดยเจ้าตัวเล่าว่ามีไดอารี่อยู่เล่มหนึ่งตอนอยู่มหาลัย ที่มีการเขียนสิ่งที่ต้องทำก่อนตายไว้ ไม่ว่าจะเป็นการทำเพลงให้สำเร็จ ขายอัลบั้มได้ล้านตลับ “เราก็เขียนไว้ให้เว่อร์ ๆ แต่นั่นในขณะที่ชอบร้องเพลงแต่ก็ยังไม่ได้ทำวงอะไรขึ้นมาเป็นชิ้นเป็นอัน ก็มี to-do list ก่อนตาย”
“ก็มีข้อนึง น่าจะข้อสี่หรือข้อห้าแถว ๆ นี้ หลังจากเรื่องซีเรียส ข้อนี้เขียนว่า ไปเชียร์ สเปอร์ส ที่ ไวท์ ฮาร์ท เลน…”
แค่ป้ายเลี้ยวซ้าย…
ตูน - อาทิวราห์ เล่าว่านี่เป็นหนึ่งในภารกิจที่ต้องไปให้ได้ก่อนตาย “แค่เล่าโมเมนต์ที่เขียนก็จะร้องไห้ มันรู้สึกแบบเป็นความฝันแน่ ๆ ตอนนั้นที่บ้านก็ไม่มีตังค์ส่งไปอังกฤษแน่นอน ก็เป็นเด็กปกติขึ้นเรือด่วนไปเรียนจุฬา นั่งรถเมล์ ไม่มีภาพอยู่ในหัวเลยว่าจะไปดูบอลที่อังกฤษ มันไม่มีทางเลย ตอนนั้นปี 39 ปี 40 มันไกลโพ้นมาก”
แล้วเส้นทางชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไป จากการเริ่มก่อตั้งวงบอดี้แสลมในปี 2002 จนทำให้ชื่อของ อาทิวราห์ และวงดนตรีของเขากลายเป็นที่จดจำได้ในเหล่าแฟนเพลง ความปรารถนาต่าง ๆ จากลิสต์สิ่งที่ต้องทำที่เคยถูกเขียนไว้ด้วยความฝัน ก็ทยอยกลายเป็นความจริงไปทีละข้อ ก่อนดำเนินมาสู่ข้อที่บอกว่า เขาจะไปเชียร์ สเปอร์ส ลงเตะถึงข้างสนามให้ได้
“ตอนนั้นผมไปแบบไม่รู้อะไรเลย ก็ขึ้นรถตามที่พี่ ๆ แนะนำ ก็คือขึ้นรถใต้ดินก่อน แล้วค่อยไปต่อรถเมล์ เพราะเราซื้อตั๋วรถไฟใต้ดินแค่ 2 โซน แต่สนามอยู่โซน 3” อาทิวราห์ เล่าย้อนความทรงจำในวันนั้น “แล้วจังหวะที่นั่งรถเมล์ไปเนี่ยครับ ผมเห็นป้ายเขียนว่า ‘เลี้ยวซ้ายไป ไวท์ ฮาร์ท เลน’ ผมแบบ นำตามันไหลเลยครับ”
“มันย้อนกลับไปวันที่เราจดบันทึก แล้วแบบ เชี่ย มาอยู่ตรงนี้ได้ไงวะเนี่ย มานั่งรถเมล์งง ๆ โง่ ๆ คนเดียว พาตัวเองมาได้ไง ด้วยสตางค์เก็บตัวเอง ด้วยน้ำพักน้ำแรงตัวเอง”
จากจุดนี้ อาทิวราห์ ได้ย้อนระลึกถึงความทรงจำของหนึ่งแมตช์ที่เขาเข้าไปรับชมในปี 2008 นั่นคือเกมที่ สเปอร์ส เปิดบ้านรับการมาเยือนของ พอร์ตสมัธ “ไฮไลท์คือต้อนรับ โซล แคมป์เบล กลับบ้าน” เจ้าตัวเล่าพร้อมเสียงหัวเราะร่วน “ทุกช็อตที่จับบอลคือสนุกมากครับ” โดยนอกจากเกมนี้แล้ว เขายังได้ดูทัพไก่เดือยทองลงสนามพบกับ สลาเวีย ปราก ในรายการยูฟ่าคัพอีกนัดหนึ่งด้วย
หลังจากได้โอกาสทำตามฝันตนเองแล้ว ตูน ก็มีโอกาสร่วมงานกับสโมสรอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน โดยเจ้าตัวเผยว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากรายการ ‘ทีมนี้พี่รัก’ ที่ทำให้เขาได้เข้าไปถ่ายทำร่วมกับนักเตะของ สเปอร์ส เป็นครั้งแรก ก่อนที่เจ้าตัวจะได้ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ กับทีมที่ตนเองสนับสนุนมาตั้งแต่วัยเด็กมาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อพูดถึงฟอร์มของทีมรัก อาทิวราห์ เปิดใจว่า “ก็อยากได้ถ้วย อยากได้แชมป์ แต่เรารู้ว่าทีมเรามันแถว ๆ นี้แหละ เราไม่ใช่ทีมใหญ่ที่จะทำให้เราเป็นแชมป์ทุกฤดูกาล ก็อยู่กับตรงนี้มาตลอด และรู้สึกดีใจด้วยที่เราก็ไม่คิดที่จะเปลี่ยนทีม เราอยากอยู่กับความชนะก็ดีใจ แพ้ก็เสียใจไปกับเขาได้ มีอารมณ์ร่วมไปกับตรงนี้ได้อย่างจริงจัง”
“รู้สึกว่าเราดีใจที่เรารักอะไรก็แบบ อยู่กับเขาได้แม้ในวันที่ไม่ค่อยดี ในวันที่ดี เรารู้สึกอิน ชอบที่ตัวเราแบบนี้ และเรารู้สึกว่าคาแรคเตอร์เรากับทอตแน่มเหมือนกัน มันแบบกลาง ๆ ไม่ได้แบบหวือหวา เรื่อย ๆ แต่มั่นคง”
และเมื่อมาถึงเรื่องชีวิต อาทิวราห์ เปรียบเทียบไทมไลน์ของเขาไว้กับเกมการแข่งขันฟุตบอลได้อย่างน่าสนใจ “ตอนนี้มันเป็นแค่นาทีที่ 37 ของเกมเองครับ ยังไม่หมดครึ่งแรกของเกม ของชีวิตด้วยซ้ำ ถ้ามาบอกว่าผมสำเร็จแล้วในชีวิต ต้องรอกรรมการเป่านกหวีดจบ 90 นาทีก่อนครับ”
อาทิวราห์ ในวัย 45 ระบุเพิ่มเติมว่า “ผมรู้สึกว่ามันกำลังจะหมดครึ่งแรกแล้ว ชีวิตผมแข่งกับใครไม่รู้ แต่ผมอาจจะสกอร์นำอยู่ 2-0 ทุกคนก็แบบ ‘เก่งจัง’ ‘เยี่ยมจัง’ ‘สำเร็จแล้ว’”
“แต่เปล่าครับ มันมีอีก 45 นาทีที่ผมต้องแข่งต่อ ถ้าไม่มีใครมาเปลี่ยนตัวผมออกในนาทีที่ 70 อะไรแบบนี้นะครับ” เจ้าตัวเปรียบต่อไปว่าเขาค่อยมารอดูผลเมื่อจบครบ 90 นาที ว่ายังออกนำ 2-0 เหมือนเดิมไหม หรือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร “เพราะมันบอกให้รู้ว่าเราต้องไม่ประมาท เราแค่เดินทางมาแค่ครึ่งเดียวเอง”
ติดตามบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของ ตูน - อาทิวราห์ คงมหาลัย กับ Main Stand Talk ได้เร็ว ๆ นี้