แม้ VAR หรือ วิดีโอช่วยตัดสิน จะถูกใช้งานในฟุตบอลรายการต่าง ๆ มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังไม่วายที่ยังเกิดการถกเถียงกัน เนื่องจากคำตัดสินที่อาจดูค้านสายตาในแต่ละกรณี
แต่เมื่อ VAR ถูกนำมาใช้เพื่อลดข้อผิดพลาดของกรรมการและทำให้การตัดสินมีความยุติธรรมมากขึ้น คำถามคือ มันช่วยได้จริง ๆ หรือไม่ ?
มาวิเคราะห์หาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand
VAR ในฟุตบอล
ฟุตบอลไม่ใช่ชนิดกีฬาแรกที่นำเทคโนโลยีมาช่วยให้ผู้ตัดสินสามารถทำงานได้ง่ายและแม่นยำขึ้น เพราะเทนนิส รักบี้ และมอเตอร์สปอร์ตชนิดต่าง ๆ ก็พึ่งพาเทคโนโลยีทั้งผ่านวิดีโอหรือเซนเซอร์ในการช่วยตัดสินจังหวะในที่สายตามนุษย์อาจพลาดไป
อันที่จริง ก่อนหน้าการมาของ VAR หรือ Video Assistant Referee วงการฟุตบอลได้นำเทคโนโลยีโกลไลน์ ที่ใช้วัดว่าลูกฟุตบอลข้ามเส้นประตูไปแล้วหรือยังมาใช้ในการแข่งขันรายการต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี เนื่องจากระบบดังกล่าวจะตัดสินแค่ว่าลูกฟุตบอลได้ลอยข้ามเส้นประตูไปเต็มใบแล้วหรือยัง
แต่กับ VAR สถานการณ์นั้นแตกต่างไปเล็กน้อย เพราะแม้จะเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยลดข้อผิดพลาดของผู้ตัดสิน แต่ท้ายที่สุดแล้วดุยพินิจของกรรมการก็ยังเป็นที่สิ้นสุด และบางครั้งการเข้ามาของ VAR ก็ดูเหมือนเป็นตัวเพิ่มปัญหาให้เกิดการถกเถียงมากขึ้นไปอีก
กรณีประเด็นร้อนที่เพิ่งเกิดขึ้นไปอย่างจังหวะการได้ประตูของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในเกมชนะ ฟูแล่ม ที่ มานูเอล อคานยี ยืนอยู่ในตำแหน่งล้ำหน้าและอาจมีส่วนรบกวนการเล่นต่อผู้รักษาประตูของฟูแล่ม แต่ท้ายที่สุดผู้ตัดสินยกให้เป็นประตูไป หรือการโดนใบแดงของ อเล็กซิส แมค อัลลิสเตอร์ ในเกมที่ ลิเวอร์พูล พบกับ บอนมัธ ซึ่งกรรมการยกใบแดงให้ทันทีโดยไม่มีการเช็ค VAR เพิ่มเติม และโทษใบแดงดังกล่าวก็ถูกยกเลิกไปหลังจากที่ลิเวอร์พูลได้ยื่นอุทธรณ์ในสัปดาห์ถัดมา
หรือปัญหายอดนิยมอย่าง การตีเส้นจังหวะล้ำหน้า ที่มักเป็นประเด็นถกเถียงทั้งจังหวะการหยุดภาพ มุมกล้อง หรือการเลือกจุดล้ำของผู้เล่นแนวรุก ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็ยังอาศัยการตัดสินโดยมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ดี
คำถามคือ ทำไมคำตัดสินของกรรมการถึงมีโอกาสเอียงไปทางฝั่งเจ้าบ้านได้ ทั้งที่ตามหลักแล้วผู้ตัดสินควรวางตัวเป็นกลางตลอดทั้งการแข่งขัน ?
ความได้เปรียบของทีมเหย้า
สำหรับการแข่งฟุตบอล ทีมเหย้ามักถือความได้เปรียบในมือจากการมีกองเชียร์ของพวกเขาคอยหนุนหลังอยู่ตลอดการแข่งขัน มีงานวิจัยที่ศึกษาปัจจัยความได้เปรียบหลัก ๆ 4 ประเภทของทีมที่เป็นเจ้าบ้าน ดังต่อไปนี้
- ผู้ชม - จำนวนผู้ชม เสียงเชียร์ ความหนาแน่นของคนดู และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- การเรียนรู้ - ทีมเหย้ามีความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมของสนามตัวเอง
- การเดินทาง - ทีมเยือนที่ต้องเดินทางไกลจะเกิดความเหนื่อยล้าที่มีผลต่อประสิทธิภาพการเล่น
- กฎ - กฎบางข้อของฟุตบอลถูกออกแบบมาให้เจ้าบ้านเป็นฝ่ายได้เปรียบ
เมื่อพิจารณาปัจจัยข้างต้นแล้วจะพบว่าผู้ชมมีอิทธิพลต่อฟอร์มการเล่นของทีมเจ้าบ้านด้วยการส่งเสียงเชียร์หรือปลุกเร้าในระหว่างการแข่งขัน พร้อมกับมีผลให้กรรมการตัดสินเข้าข้างเจ้าบ้านได้อีกด้วย
งานวิจัย "Referee Bias in Professional Football: Favoritism Toward Successful Teams in Potential Penalty Situations" เมื่อปี 2020 พบว่า กระแสกดดันทางสังคม (ซึ่งในกรณีนี้คือแฟนบอลจำนวนมากที่อยู่ในสนาม) สามารถมีอิทธิพลให้ผู้ตัดสินมีความเอียงเอนได้เล็กน้อย โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ผลการตัดสินสามารถออกได้ทั้งสองทาง กรรมการมักเลือกผลลัพธ์ที่ตัวเองรู้สึกว่ามีราคาต้องจ่ายน้อยที่สุด ซึ่งมักหมายถึงการยกประโยชน์ให้กับทีมเจ้าบ้าน
ทั้งนี้นอกจากปัจจัยเชิงจิตวิทยาแล้ว งานของผู้ตัดสินในสนามก็ยังถูกจำกัดด้วยมุมมองของมนุษย์ที่ไม่สามารถรับรู้สภาพโดยรอบทั้งหมดได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะเมื่อต้องคอยตรวจดูผู้เล่นต่าง ๆ รอบสนามตลอดเวลา ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้คำตัดสินอาจมีข้อผิดพลาด และนำไปสู่ความได้เปรียบของทีมเหย้าได้
VAR ช่วยได้ไหม
เมื่อ VAR ถูกนำมาใช้เพื่อลดข้อผิดพลาดของผู้ตัดสิน จะเป็นไปได้ไหมที่ความได้เปรียบของทีมเหย้าอาจลดลงไป จนนำไปสู่การตัดสินที่ยุติธรรมมากขึ้น ?
มีนักวิจัยที่ลองเก็บข้อมูลจากลีกสูงสุดของออสเตรเลีย เยอรมนี และจีน ซึ่งใช้ระบบ VAR มาตั้งแต่ปี 2018 โดยแบ่งชุดข้อมูลออกเป็นปี 2013-2018 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการใช้ VAR และปี 2018-2021 เป็นช่วงที่มีการใช้งานด้วยการนำเทคนิควิเคราะห์ Difference-in-Differences มาพิจารณาค่าเฉลี่ยจำนวนประตูของทีมเหย้า-ทีมเยือน
ผลลัพธ์ที่ได้คือ ค่าสัมประสิทธิ์ -0.084 ที่แสดงให้เห็นว่า VAR ช่วยลดความได้เปรียบของเจ้าบ้านลงไปตามวัตถุประสงค์ที่ VAR ได้ถูกริเริ่มนำมาใช้
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวใช้วิธีการศึกษาจากผลการทำประตูเท่านั้น ซึ่งอาจไม่สามารถสรุปภาพรวมของคำตัดสินในจังหวะต่าง ๆ ระหว่างเกม และยังไม่ได้รวมข้อมูลจากลีกการแข่งขันอื่น ๆ เนื่องจากมีการนำระบบ VAR เข้ามาใช้ช้ากว่า 3 ประเทศข้างต้น ทำให้ข้อมูลที่มีอยู่ยังถือว่าค่อนข้างน้อยเกินไป
ในท้ายที่สุด VAR ที่ถูกนำมาช่วยลด "ข้อผิดพลาดที่เด่นชัด" ก็อาจมีส่วนช่วยให้การตัดสินยุติธรรมขึ้นได้เมื่อพิจารณาจากประสิทธิภาพของตัวเทคโนโลยี ทว่าเมื่อยังต้องอาศัยดุลยพินิจของมนุษย์ในการตัดสินใจเป็นขั้นตอนสุดท้าย ผลที่ได้รับก็อาจนำไปสู่ความเอียงเอนโดยไม่ได้ตั้งใจได้เช่นกัน
และเมื่อมีจังหวะทำประตูได้โดยต้องพิจารณาจังหวะล้ำหน้าแบบมีโอกาสตีเส้นออกได้สองทาง ลองจับตาดูว่าผู้ตัดสินที่ทำหน้าที่หยุดภาพกับวาดเส้นนั้นจะตัดสินให้ประโยชน์กับฝั่งไหนมากกว่ากัน
แหล่งอ้างอิง
https://medium.com/@chyun55555/video-assistant-referee-var-and-home-advantage-in-football-econometric-approach-c6f274226f99
https://theathletic.com/1519918/2020/02/02/var-debate/
https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fspor.2020.00019/full