เหล่าแฟน ๆ “ไก่เดือยทอง” คงจะทราบกันดีว่าในวันที่ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ กำลังมองหาความสำเร็จกับถ้วยรางวัลในระยะหลัง พวกเขาไม่เคยทำสำเร็จเป็นรูปธรรมเลย นับตั้งแต่ที่เถลิงบังลังก์คาร์ลิ่ง คัพ (ปัจจุบันคือ คาราบาว คัพ) เมื่อปี 2008
จึงเป็นบ่อเกิดแห่งเครื่องหมายคำถามที่ผุดขึ้นจาก “สาวกท็อตแนม” เรื่อยมาเกี่ยวกับความทุ่มเทในการบริหารงานของ “แดเนียล เลวี” ประธานสโมสรที่มักมีแนวทางมุ่งเน้นกำไรจากการทำธุรกิจมากกว่าผลงานในสนาม
แนวทางการบริหารสโมสรท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ของ “แดเนียล เลวี” เป็นอย่างไร มาร่วมถอดบทเรียนไปพร้อมกับ Main Stand
จุดเริ่มต้นจากกองเชียร์ตัวเล็กเล็กสู่ผู้บริหารทีม
แดเนียล เลวี เกิดและเติบโตขึ้นที่เมืองเอสเซกซ์ (Essex) ประเทศอังกฤษ มีเชื้อสายยิวติดตัวมาจากครอบครัวชนชั้นกลาง ก่อนที่จะเริ่มดำเนินกิจการ Mr Byrite (ปัจจุบันคือ Blue Inc) ธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้าราคาถูกที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในยุค 80s-90s
จากรากฐานครอบครัวที่เป็นผู้มั่งคั่งบนเกาะอังกฤษ แดเนียล เลวี จึงมีโอกาสได้เดินทางไปรับชมการแข่งขันเกมลีกที่ สเปอร์ส พบกับ ควีนส์ ปาร์ค เรนเจอร์ส เมื่อปี 1960 ซึ่ง ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ช่วงเวลานั้นนับว่าเป็นทีมที่มีเสน่ห์ ทั้งเรื่องแผนการเล่น คุณภาพนักเตะ และสปิริตความเป็นนักสู้ รวมถึงมีความสำเร็จเป็นรูปธรรมที่มีถ้วยรางวัลติดมือทุกฤดูกาล นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ แดเนียล เลวี หลงรักความเป็นสเปอร์สนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ทันทีที่เขาสำเร็จการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 จากคณะเศรษฐศาสตร์และเศรษฐกิจที่ดิน มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เขาได้กลับมารับช่วงต่อธุรกิจของครอบครัวและกลายเป็นที่รู้จักในแวดวงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจอื่น ๆ อีกหลายสายงาน หลังก้าวสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แดเนียล เลวี มีหุ้นอีนิค (ENIC) กลุ่มธุรกิจกีฬาและความบันเทิงในประเทศอังกฤษอยู่ในมือ พร้อม ๆ กับได้รู้จักและพูดคุยกันถูกคอกับ โจ ลูอิส ผู้ที่มีเชื้อสายยิวเช่นเดียวกับเขา ก่อนที่จะได้เป็นพันธมิตรทางด้านธุรกิจร่วมกันในภายหลัง
เพียงเวลาไม่นาน แดเนียล เลวี และ โจ ลูอิส ก็มีความคิดที่อยากจะเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลสักแห่ง ซึ่งก็เดาได้ไม่ยากเนื่องจาก แดเนียล เลวี มีความหลงใหล ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ เพียงทีมเดียวเท่านั้นมาตั้งแต่ตอนที่เขายังเด็ก เขาจึงเริ่มดำเนินการเทคโอเวอร์สเปอร์สจาก อลัน ชูการ์ เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1998 ก่อนที่จะโดนบอกปัดไป
ความพยายามครั้งที่สองของ แดเนียล เลวี มาเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2000 ณ ขณะนั้นสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง อลัน ชูการ์ และ สาวกไก่เดือยทอง เริ่มเข้าสู่ช่วงตึงเครียดมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยสาเหตุที่ อลัน ชูการ์ ไม่ได้ทุ่มเทกับสโมสรมากเท่าที่แฟนบอลคาดหวัง รวมถึงสเปอร์สก็ไม่ได้อยู่ในทิศทางที่ควรจะเป็น แต่ถึงกระนั้น อลัน ชูการ์ ก็ยังปฏิเสธข้อเสนอจาก แดเนียล เลวี เป็นครั้งที่สอง
จากคำพูดที่ว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” ในปี 2001 แดเนียล เลวี ได้ตัดสินใจยื่นข้อเสนอครั้งที่สาม และในครั้งนี้ อลัน ชูการ์ ยอมใจอ่อนขายสโมสรให้ในที่สุด ด้วยราคากว่า 22 ล้านปอนด์ พร้อมกับ แดเนียล เลวี ได้ดำรงตำแหน่งประธานสโมสรท็อตแนม ฮอตสเปอร์
แนวคิดและมันสมองของเลวี
แดเนียล เลวี ที่มีศักดิ์เป็นประธานสโมสรและถือหุ้นจำนวน 26.4% ถึงแม้จะดูเหมือนจะไม่มากนัก แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็มีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่าง ๆ ของสโมสร ทั้งการเจรจา ดูแลสภาพคล่องทางเงินโดยรวมของสโมสร ฯลฯ ซึ่งภารกิจแรกของเขาคือ การพาสเปอร์สที่กำลังอยู่ในฟอร์มย่ำแย่กลับมาเป็นทีมหัวตารางในพรีเมียร์ลีกอีกครั้ง โดยเริ่มดำเนินการเจรจาโน้มน้าวให้เหล่าสตาร์ดังเข้าเล้าไก่ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ดิมิทาร์ เบอร์บาตอฟ, ร็อบบี้ คีน และ ราฟาเอล ฟาน เดอร์ ฟาร์ต เพื่อยกระดับทีมให้ก้าวสู่โอกาสลุ้นแชมป์ พร้อมทั้งปลูกฝังรากฐานให้ท็อตแนมเติบโตได้อย่างยั่งยืน
สิ่งสำคัญที่ แดเนียล เลวี ประธานสโมสรของสเปอร์ส ได้รับการนับถือมากที่สุดคือเรื่องการบริหารที่เฉียบแหลม พร้อมกับการพลิกโฉมให้กับสเปอร์สเป็นทีมที่ไฉไลขึ้นด้วยการทำให้ท็อตแนมเป็นหนึ่งในทีม บิ๊ก 6 ในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ได้สำเร็จ โดยผลงานในสนามที่ดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตาทำให้เขาถูกรับเลือกเป็น CEO of the Year จาก Football Business Awards เมื่อปี 2017 อีกทั้งเขายังได้เซ็นสัญญาจากหลากหลายสปอนเซอร์ ไม่ว่าจะเป็น AIA, Nike, HSBC และ HPE ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำของโลกให้เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนสเปอร์สอีกด้วย
การพัฒนาสนามแข่งขันก็เป็นสิ่งสำคัญที่ แดเนียล เลวี ไม่ละเลย ดังที่ปรับโฉม ไวท์ ฮาร์ท เลน ให้กลายเป็นหนึ่งในสนามเหย้าแห่งใหม่ที่ทันสมัยที่สุดในโลก ด้วยความจุผู้ชมจากเดิมที่ 36,240 มาเป็น 62,850 ที่นั่ง ซึ่งจะใช้งบประมาณการสร้างสูงถึง 1 พันล้านปอนด์
สนามใหม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพิ่มเข้ามา เช่น โรงแรมสุดหรู ร้านอาหารระดับท็อปจากอังกฤษ พร้อมกับสามารถเปลี่ยนสนามเป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ต รวมถึงใช้ในการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล (NFL) นี่คือความตั้งใจของ แดเนียล เลวี ที่ต้องการจะมอบประสบการณ์ใหม่ ๆ ด้วยสนามแห่งนี้นอกจากการรับชมฟุตบอล นับว่าเป็นการสร้างกำไรโดยตรงต่อสโมสรที่จะเป็นผลดีในระยะยาว หลังจากนั้นมาสเปอร์สได้กลายเป็นหนึ่งในสโมสรที่สร้างผลกำไรมากที่สุดในยุโรป โดยมีมูลค่ามากกว่า 2 พันล้านปอนด์ และได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในสนามที่ดีที่สุดในโลกพ่วงด้วยศูนย์ฝึกที่ทันสมัย
ด้วยความมุ่งมั่นของ แดเนียล เลวี ที่เล็งเห็นถึงการเติบโตที่จะไปได้อีกยาวไกล ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาวางรากฐานไว้ส่งผลให้เขาได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในบุคคลผู้มีอิทธิพลมากที่สุดในด้านการบริหารสโมสรฟุตบอล พร้อมทั้งเป็นประธานสโมสรที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในพรีเมียร์ลีก โดยเขาอยู่ในตำแหน่งมานานถึง 22 ปี
อีกหนึ่งปรัชญาที่สำคัญของ แดเนียล เลวี คือการนำ “ผู้จัดการทีมที่มีชื่อเสียง” มากุมเบียงหันให้สเปอร์ส พร้อมกับพาทีมจบท็อป 4 ในทุกฤดูกาลเป็นอย่างต่ำ หากสร้างผลงานในสนามได้ดีก็จะมีโบนัสเพิ่มให้ แต่ในทางกลับกันถ้าหากผลงานไม่เป็นตามที่หวังไว้ เจ้าของทีมรายนี้ก็พร้อมที่จะปลดผู้จัดการทีมทุกคนออกจากตำแหน่งทันที
ประเด็นที่ทำให้ แดเนียล เลวี กลายเป็นประธานจอมเขี้ยวลากดินคือ การซื้อขายนักเตะ ที่ตอกย้ำกับทุกทีมที่เจรจาด้วยอย่างไม่หยุดหย่อน เพราะเขามองว่าผลประโยชน์ของสโมสรต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง เช่นในปี 2020 ที่ผ่านมา แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ยื่นเสนอให้เลวียอมปล่อยตัว แฮร์รี่ เคน ดาวยิงทีมชาติอังกฤษ ด้วยจำนวนเงิน 120 ล้านปอนด์ แต่เลวีก็ปัดตกไปเพราะคิดว่าราคาที่ควรจะเป็นคือ 150 ล้านปอนด์เท่านั้น
แดเนียล เลวี ถือคติการรักษาสภาพคล่องทางการเงินของสโมสรให้เสียหายน้อยที่สุด เช่นดีลของ เดยัน คูลูเชฟกี้ ตัวรุกจอมแอสซิสต์ ที่ยืมตัวมาจากยูเวนตุสด้วยสัญญา 18 เดือน และพ่วงซื้อขาดในภายหลังที่ราคา 25.6 ล้านปอนด์ นับเป็นเคสตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า แดเนียล เลวี มีความรัดกุมในเรื่องการดึงนักเตะสักรายเข้ามาสู่ทีม นี่จึงเป็นสิ่งที่แสดงถึงการวางแผนที่ละเอียดทุกครั้งเพื่อให้สโมสรห่างไกลจากภาวะหนี้สิน
ปรัชญาของเลวีที่นำไปสู่ความล้มเหลว
จากที่กล่าวไปข้างต้นดูเหมือนว่าแนวทางต่าง ๆ ที่เลวีได้ปลูกฝังไว้กับท็อตแนมจะเป็นเพียงสิ่งที่สร้างแต่ผลกำไรมหาศาลให้กับสโมสรล้วน ๆ ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ด้านผลงาน เนื่องจาก แดเนียล เลวี ยังไม่สามารถนำความสำเร็จมาสู่สโมสรได้เลยสักอย่างเดียว และมันได้ขยายความไม่พอใจให้กับสาวกไก่เดือยทองเป็นวงกว้าง
ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการที่สโมสรฟุตบอลจะประสบความสำเร็จได้ต้องประกอบไปด้วย “การเสริมนักเตะที่มีระดับ” ควบคู่กับ “โค้ชระดับเวิลด์คลาส” อย่างไรก็ตาม แดเนียล เลวี กลับมีความคิดว่าการที่ “บรรดาผู้ถือหุ้นของสโมสรได้ผลกำไร" และ “ผลงานความสำเร็จในสนาม” ต้องเกิดขึ้นควบคู่กัน
เลวีจึงเลือกใช้วิธีการซื้อนักเตะดาวรุ่งที่ราคาไม่แรงสเปคดีเข้ามาหวังใช้งานในระยะยาว แต่ในอดีตที่ผ่านมาทุกคนคงเห็นแล้วว่า ดาวรุ่งน้อยคนนักที่จะสามารถก้าวขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ของสเปอร์สได้ ก่อนที่สุดท้ายจะต้องถูกระบายออกจากทีมในที่สุด ปัญหาเหล่านี้ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขจากตัวของเลวี จนเหล่าสาวกต้องออกมาต่อต้านอยู่บ่อยครั้ง เช่นจากแคมเปญ “LevyOut”
นับตั้งแต่ที่ทีมคว้าแชมป์ในศึกฟุตบอลถ้วยรายการ คาร์ลิ่ง คัพ (หรือปัจจุบันคือ คาราบาว คัพ) ไปเมื่อปี 2008 ผลงานที่ดีที่สุดของสเปอร์สคือการเป็นรองแชมป์พรีเมียร์ลีก เมื่อฤดูกาล 2016-17 และรองแชมป์ ยูฟ่า แชมป์เปี้ยนส์ลีก ในปี 2018-19 โมเมนต์เหล่านั้นยังคงตราตรึงในใจของเหล่าแฟน ๆ ที่รอคอยวันที่ทีมรักจะประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
เมื่อ แดเนียล เลวี สั่งปลด เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่ พ้นออกจากตำแหน่ง เมื่อปลายปี 2019 หลังจากที่เขาทำผลงานได้อย่างน่าผิดหวัง ด้วยการพาสเปอร์สเป็นทีมที่แพ้ในลีกมากที่สุดถึง 18 นัด หลังจากนั้น “เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่” ก็ออกมาเปิดใจว่า “ความมุ่งมั่นของผมที่มีต่อสโมสร รวมถึงของ แดเนียล เลวี บรรดานักเตะ และแฟนบอลมันพิเศษมาก ผมบอกกับเลวีไปแล้วว่าผมอยากสานต่อภารกิจกับสเปอร์ส เนื่องจากผมทำยังไม่สำเร็จ”
ต่อมาสเปอร์สที่ตามหาผู้จัดการทีมคนใหม่เพื่อเข้ามาแทนที่ “เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่” ได้ตั้งตั้ง โชเซ่ มูรินโญ่ เข้ามากุมบังเหียน ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของมูรินโญ่คือการพาสเปอร์สไปถึงนัดชิงชนะเลิศศึกฟุตบอลถ้วยรายการ “คาราบาว คัพ” ที่ฟาดแข้งกับ แมนฯ ซิตี้ เมื่อปี 2021 แต่ด้วยสาเหตุใดไม่มีใครทราบ แดเนียล เลวี กลับสั่งปลดมูรินโญ่ก่อนถึงเกมการแข่งขันดังกล่าว โชเซ่ มูรินโญ่ ได้เปิดใจหลังจากที่โยกไปคุมโรม่าไว้ว่า
“สเปอร์สคือสโมสรเดียวที่ผมไม่รู้สึกผูกพัน อาจเป็นเพราะสนามที่ว่างเปล่าในช่วงโควิดที่ไม่มีแฟนบอลเข้ามาชมเกม และที่สำคัญที่สุดคือ แดเนียล เลวี่ ที่ไม่ยอมให้ผมนั่งคุมทีมรอบชิงชนะเลิศเพื่อคว้าถ้วยรางวัล การมีโอกาสคว้าแชมป์กับสโมสรมันไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ และมันเป็นความฝันของเหล่าแฟนบอล”
จากนั้นในฤดูกาล 2021-22 ก็เป็น นูโน เอสปิริโต ซานโต ที่เข้ามารับช่วงต่อ และจากสไตล์การทำทีมและผลงานที่ไม่ได้เป็นไปตามหวัง หลังรับตำแหน่งได้สี่เดือนเขาก็โดนปลดออกจากการคุมทีมในที่สุด ส่งผลให้ ไรอัน เมสัน เป็นกุนซือรักษาการณ์เข้ามาคุมทีมขัดตาทัพ
หลังจากนั้นสเปอร์สได้แต่งตั้ง อันโตนิโอ คอนเต้ เข้ามาคุมทีมต่อ เนื่องจากประสบการณ์การคุมทีมเป็นแชมป์ลีก นับตั้งแต่ ยูเวนตุส (กัลโช่ เซเรีย อา ฤดูกาล 2011-12, 2012-13 และ 2013-14), เชลซี (พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2016-2017) รวมทั้ง อินเตอร์ มิลาน (กัลโช่ เซเรีย อา ฤดูกาล 2020-2021)
หลังจากที่ร่วมงานกันไปกลับเกิดความขัดแย้งระหว่างทั้งคู่ เนื่องด้วยปรัชญาการทำทีมของคอนเต้และเลวีไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน คอนเต้จึงทิ้งบอมบ์ปัญหาของทีมไว้ว่า สเปอร์สจะไม่มีวันคว้าถ้วยแชมป์ หาก แดเนียล เลวี ยังดำรงตำแหน่ง เขายังกล่าวไว้เมื่อเดือนมีนาคม 2023 ว่า
“เรื่องราวของสเปอร์สเป็นแบบนี้มาแล้ว 20 ปีแล้ว เพราะเขาไม่เคยผลักดันที่จะคว้าแชมป์สักรายการ ความผิดเป็นเพราะสโมสรล้วน ๆ สเปอร์สจะเป็นแบบนี้ไปทุกฤดูกาลและจะเป็นแบบนี้เรื่อย ๆ ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นผู้จัดการทีม เชื่อผมได้เลย” อันโตนิโอ คอนเต้ กล่าวหลังเกมที่สเปอร์สถูก เซาแธมป์ตัน ตามตีเสมอ 3-3
ทุกวันนี้ปัญหาที่ไม่มีถ้วยแชมป์ติดมือของสเปอร์สยังคงถูกตั้งคำถามว่า “เป็นเพราะสไตล์การเล่นของทีม” หรือ “เป็นเพราะนักเตะไม่มีใจ” สิ่งที่เหล่าแฟน ๆ สังเกตเห็นได้ชัดที่สุดคือ นักเตะมักจะพลาดการครองบอล เสียบอลง่าย และไม่จ่ายบอลให้กับเพื่อนร่วมทีม รวมถึงไม่สามารถสร้างสรรค์โอกาสได้มากนัก จึงอดคิดไม่ได้ว่ามันเป็นเพราะ “ความผิดพลาดส่วนบุคคล” หรือ “แผนการเล่น” กันแน่ นี่คือผลลัพธ์ของสเปอร์สที่วนลูปอย่างไม่จบสิ้น
ในศึกพรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2022-23 ที่ผ่านมา ผลงานของสเปอร์สคือการจบด้วยอันดับที่ 8 ของตาราง แดเนียล เลวี จึงเดินหน้าตามหากุนซือที่มีสไตล์การทำทีมที่คล้ายคลึงกับ “เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่” กุนซือชาวอาเจนไตน์ที่เป็นที่โปรดปรานของเหล่าสาวก ที่ทำทีมให้มีเกมรุกสนุกสนานเร้าใจและเพรสซิ่งใส่คู่แข่งอย่างดุดัน เมื่อกวาดสายตาไปยังลิสต์รายชื่อกุนซือที่เข้าข่ายคล้ายคลึงกับ “โปเช็ตติโน่” เลวีจึงสนใจในตัว อังเก้ ปอสเตโคกลู ที่พา กลาสโกว์ เซลติก กวาดถ้วยรางวัลมากมายบนดินแดนสกอตแลนด์ทั้งในลีกและฟุตบอลถ้วย รวมถึงทำผลงานได้ดีในเวทียุโรป
และเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา สเปอร์สได้ประกาศแต่งตั้ง อังเก้ ปอสเตโคกลู ให้มาคุมทีมอย่างเป็นทางการด้วยสัญญาระยะ 4 ปี โดย แดเนียล เลวี ได้กล่าวถึงเฮดโค้ชป้ายแดงคนนี้ไว้ว่า "อังเก้นำความคิดเชิงบวกและรูปแบบการเล่นเน้นการบุกโจมตีรวดเร็วเข้ามา เขามีประวัติคุมทีมที่โดดเด่นเรื่องการพัฒนานักเตะ เขาเข้าใจถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงกับอคาเดมี ซึ่งทั้งสองอย่างเป็นสิ่งที่สำคัญต่อสโมสรอย่างมาก เรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้อังเก้มาอยู่กับทีม ในระหว่างนี้เรากำลังเตรียมพร้อมสำหรับฤดูกาลหน้า"
มีการเปิดเผยจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับสโมสรไว้ว่า อังเก้ โปสเตโคกลู แสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนกับ แดเนียล เลวี ว่า อยากเสริมทัพด้วยบรรดานักเตะตามลิสต์รายชื่อที่ตนอยากร่วมงานมากที่สุด นี่จึงทำให้เลวีลุยดีลเรื่องนักเตะด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นดีลของ เจมส์ แมดดิสัน ตัวรุกจาก เลสเตอร์ ซิตี้ ในราคา 40 ล้านปอนด์, กุลเญโม่ วิคาริโอ่ นายทวารจากเอ็มโปลี ในราคา 17.2 ล้านปอนด์ ที่จะมาเฝ้าเสาแทน อูโก้ โยริส และดึงตัว มานอร์ โซโลมอน ตัวรุกฟรีเอเยนต์จาก ชัคตาร์ โดเนตสก์ เข้ามาสู่ทีมได้สำเร็จ
ซึ่งที่กล่าวมานี้ยังไม่รวมตำแหน่งอื่น ๆ ที่กำลังจะตามมา การที่เลวีช็อปปิ้งหนักขนาดนี้ได้สร้างความคึกคักให้กับเหล่าแฟน ๆ ได้ไม่น้อย สิ่งเหล่านี้อาจทำให้สเปอร์สมีลุ้นความสำเร็จในฤดูกาลหน้ามากขึ้นกว่าเดิม และอาจทำให้สาวกไก่เดือยทองยากที่จะมีคำครหา
ต้องเฝ้าดูกันว่าการมาถึงของ อังเก้ ปอสเตโคกลู จะยกระดับทีมให้มีลุ้นขึ้นกว่าก่อนหน้านี้ได้หรือไม่ ส่วนมันจะเป็นไปตามที่คาดหวังของใครหรือไม่ จะทำผลงานได้ดีแค่ไหน มีเพียงฤดูกาล 2023-24 เท่านั้นที่จะเป็นข้อพิสูจน์สำหรับ “ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ส”
แหล่งอ้างอิง
https://www.tottenhamhotspur.com/daniel-levy/#:~:text=Mr.,he%20has%20held%20since%201995.
https://www.football.london/tottenham-hotspur-fc/news/daniel-levy-tottenham-supporters-mistakes-26741193#
https://thai-tottenham.blogspot.com/2007/06/enic.html
https://www.blockdit.com/posts/5d962008b917cc0ce7347076
https://www.themarque.com/profile/daniel-levy
https://en.as.com/soccer/who-is-tottenham-chairman-daniel-levy-net-worth-family-salary-n/
https://theathletic.com/4524016/2023/05/17/tottenham-levy-mistakes-history/
https://talksport.com/football/1366399/tottenham-antonio-conte-explosive-interview-southampton-draw/
https://www.tnnthailand.com/news/epl/147997/
https://gossipgist.com/daniel-philip-levy/
https://issuu.com/desmond6/docs/tse_mar_20_web/s/10424217
https://thestandard.co/jose-mourinho/
https://cartilagefreecaptain.sbnation.com/2020/5/23/21268255/tottenham-hotspur-mauricio-pochettino-gracious-honest-first-major-interview-sacking
https://www.theguardian.com/football/2023/may/25/jose-mourinho-tottenham-daniel-levy-roma-feelings
https://thestandard.co/tottenham-hotspur-release-nuno-espirito-santo/
https://www.theguardian.com/football/2000/dec/21/newsstory.sport6