“แตวแต่วแต้วแต่วแตวแต่ว แต่ว แต้ว”
เชื่อได้เลยว่าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ยามใดที่เกิดการทำประตูขึ้นในสนามของฟุตบอลแห่งโลกตะวันตก โดยเฉพาะในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ ๆ อย่างฟุตบอลโลก 2018, 2022 รวมถึงยูโร 2020 เสียงกีตาร์ตุแหน่ว ๆ ในข้างต้นจะดังกังวาฬขึ้นมาเป็นจังหวะให้แฟนบอลทั้งในจอนอกจอใจเต้นและฮึกเหิมกันอย่างถ้วนหน้า ดีไม่ดีนักฟุตบอลในสนามฝั่งที่ยิงประตูได้ก็อาจมีความรู้สึกเช่นเดียวกัน
ท่วงทำนองดังกล่าวมาจากเพลง Seven Nation Army ของวง The White Stripes ที่ปล่อยเพลงนี้ออกมาตั้งแต่ปี 2003 และติดอันดับชาร์จบิลล์บอร์ด 1 ใน 100 เพลงแห่งปี
แต่ที่น่าฉงนสนเท่ห์ก็คือ เหตุใดเพลง Metal ต้นยุค 2000s จึงเข้ามาข้องแวะเกี่ยวพันกับฟุตบอลได้ ? เหตุใดจึงเป็นเพลงนี้ที่ได้รับความนิยมไม่เป็นเพลงอื่น ๆ ที่มีลักษณะการเรียบเรียงเสียงประสานไม่ต่างกัน ? และเหตุใดแฟนบอลจึงถูกใจเพลงนี้ ?
ร่วมพิจารณาการให้เหตุผลสนับสนุนไปพร้อมกับ Main Stand
หลอนหูแฟนบอล
"เหตุผลจริง ๆ ก็ง่าย ๆ เพลงมันติดหูและเร้าอารมณ์เดือดพล่าน นี่แหละเพลงที่แฟนบอลในสนามคู่ควร"
เบื้องต้นคือการให้ทรรศนะของ อลัน ซีเกล (Alan Siegel) นักข่าวกีฬาสัญชาติอเมริกัน ต่อเพลง Seven Nations Army ซึ่งมีความน่าสนใจอย่างมาก เพราะเขาได้แจกแจงให้เห็นว่าเพลงดังกล่าวมี “คุณสมบัติครบถ้วน” ต่อการเปิดในสนามฟุตบอล
เริ่มแรก อาการติดหู (Earworm) ซึ่งจริง ๆ เป็นเรื่องสัมพัทธ์ (Relative) ต่างกรรมต่างวาระที่มีอาการติดหูต่อเพลงแตกต่างกันไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เพลง “คนบ้านเดียวกัน” ที่ติดหูบรรดาชาวอีสาน แต่อาจระคายเคืองหูคนเมือง เพลง “ทรงอย่างแบด” ที่ติดหูวัยฟันน้ำนม แต่อาจสร้างความไม่อภิรมย์ต่อวัยเป้งนักเลงขาสั้นหรือวัยมนุษย์เงินเดือน หรือเพลง “ปูหนีบอีปิ๊” ที่ติดหูชาววัยรุ่นสร้างตัว แต่อาจสร้างมลทินต่อวัยรุ่นพันล้าน
แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในวงการฟุตบอลซึ่งเป็นวงการที่มีความเข้าใจร่วมกันค่อนข้างสูง เพราะไม่ว่าจะเกิดในคฤหาสน์หรือในสลัม เพศหญิงหรือชาย อายุน้อยหรือมาก ต่อหน้าลูกกลม ๆ มีลมข้างใน ทุกคนล้วนเข้ามาสนุกสนาน เพลิดเพลิน เสพความบันเทิง และผ่อนคลายจากโลกที่ประสบมาทั้งสิ้น
เมื่อมีฐานความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นจึงได้ “อุปทาน” ไปในทิศทางเดียวกัน จึงไม่แปลกใจที่หากเพลงใดเข้าครอบครองปริมณฑลทางหูของแฟนบอลเข้าให้แล้ว กระบวนการทำให้เกิดความเคยชินย่อมมีมาเป็นเงาตามตัว
เร้าอารมณ์ให้เดือดพล่าน
ประการต่อมา นั่นคือ การเร้าอารมณ์เดือดพล่าน (Aggressive) ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กับการทำให้ติดหู เพราะอย่าลืมว่าในการเข้ามาชมมาเชียร์ในสนามฟุตบอลคือการมาพร้อมความคาดหวังว่าทีมเราต้องชนะ ทีมเราต้องเป็นแชมป์ หรือเราต้องถ่มถุยคู่ต่อสู้ให้ได้
ดังนั้นเพลงเร้าใจที่ช่วยในการปลดปล่อยสันดานดิบออกมาจึงมีศักยภาพที่จะติดหูได้ง่ายขึ้น
เรื่องนี้ คาดี้ ซิเรการ์ (Cady Siregar) ได้เขียนเสนอแบบเห็นด้วยไว้ในบทความ Why is White Stripes song 'Seven Nation Army' a football anthem? ใน GOAL.com ความว่า
"ด้วยความเคารพ พวกอิตาลีนำเพลงนี้ (Seven Nation Army) มาใช้อย่างหนาตา ไม่มีอะไรที่จะน่ามองไปกว่า พวกเขาแหกปากร้องเพลงนี้ประหนึ่งเพลงแห่งวัฒนธรรมตน"
โควตนี้หากอ่านเฉย ๆ ก็อาจไม่มีเข้าใจ แต่หากอ่านด้วยการคิดถึงบริบทการเชียร์ฟุตบอลของอิตาลีไปด้วยจะเข้าใจได้ทันทีว่า ประเทศนี้มีวัฒนธรรมการเชียร์ที่โหดแทบจะที่สุดในโลก โดยเฉพาะเรื่องของการถ่มถุยคู่ต่อสู้ที่มีให้เห็นเป็นเรื่องปกติ หรืออาจลุกลามไปจนถึงการเหยียดผิว
แน่นอนว่าการถ่มถุยหากทำแบบตรง ๆ ก็จะไม่สาแก่ใจ การใช้เพลง แฟนชานท์ หรือฮัมทำนอง เข้ามาเพื่อประกอบสร้างความหมายย่อมเป็นการสร้าง “กึ๋น” ในการถ่มถุยเพิ่มไปอีกขั้น ดังนั้นเพลงในรูปแบบใดล่ะที่จะเข้ามาเติมเต็มตรงนี้ได้อย่างดีเยี่ยม ? แน่นอนว่าต้องเป็นเพลงที่มีความรุนแรงของเสียงประสาน จังหวะเร้าใจ เร้าอารมณ์แฟนบอลได้ อย่างเพลง Rock Metal หรือ Heavy Metal ทำนองนี้
เพราะหากคิดตามว่า แฟนบอลอิตาลีโห่ร้องทำนองเพลง Love Me Tender อาจทำให้เป็นการเอ็นเตอร์เทนด้านเสียงหัวเราะแทน
และหากคิดให้ซับซ้อนไปกว่านั้น การเปิดเพลงดังกล่าวในช่วงที่ได้ประตูก็มีความเป็นไปได้ว่าเป็นการเปิดเพื่อถ่มถุยว่า ท่านเสร็จเราแล้ว เพลี้ยงพล้ำต่อเราแล้ว เรายิงประตูท่านได้ หรือท่านช่างกากเสียจริง
แต่คำถามที่ตามมาคือ หากคุณสมบัติของเพลงในสนามฟุตบอลที่ต้องติดหูและเร้าอารมณ์ เหตุใดเพลงของ Black Sabbath อย่าง Ironman หรือ Slipknot, Metallica, AC/DC จึงไม่เข้ามาสังฆกรรม ณ จุดนี้ด้วย ? คำตอบที่อาจพอให้เหตุผลได้คือเรื่องของ “การเข้าปาก” สำหรับเหล่าแฟนบอลในการแฟนชานท์
จังหวะไกด์แฟนชานท์
"ไอ้ดนตรี แตวแต่วแต้วแต่วแตวแต่ว แต่ว แต้ว เนี่ย ทำให้แฟนบอลแฟนชานท์ได้ง่าย แค่ โอโอ่โอ้โอ่โอโอ่ โอ่ โอ ก็ได้แล้ว และในทำนองท่อนนี้มาบ่อยมาก ๆ แฟนบอลเลยโอ่เพลินเลย"
เบื้องต้นคือโควตของซีเกลคนเดิมที่ได้ให้เหตุผลหนุนเสริมไปอีกขั้นว่าแท้จริงนั้นการติดหูและเร้าอารมณ์จะไม่สามารถทำให้เพลงหนึ่งเพลงใดเข้ามาในปริมณฑลของสนามฟุตบอลได้เลย หากปราศจากรูปแบบที่เข้าปากแฟนบอลอย่างแนบสนิท
ซึ่งเรื่องนี้เป็นเหตุผลเดียวกันกับว่า เหตุใดแฟนบอลจึงโห่ร้องคำว่า “โอเล โอเล โอเล โอเล” “อาเล อาเล อาเล” หรือ “โอ้โอ่โอโอ้โอ โอ่โอ้โอโอโอโอ โอ่โอโอ้โอ” จากเพลง Olé Olé Olé The Cup of Life และ Wavin’ Flag กันถ้วนหน้า?
เพราะว่าลักษณะดังกล่าวเข้ารูปเหมาะกับการแหกปากตะโกนหรือโห่ร้องตามของแฟนบอลยามใดที่เพลงถูกเปิดขึ้นมา เรียกได้ว่าแฟนชานท์อย่างเมามันเลยทีเดียว
เรื่องนี้ แจ็ค ไวท์ (Jack White) นักร้องที่ขับร้องเพลงนี้ด้วยตนเองได้ประสบมากับตัว ดังที่เขาเปิดเผยไว้ ความว่า
“ช่วงที่อิตาลีได้แชมป์ฟุตบอลโลก มีคนมาบอกผมว่า แจ็คดูนี่สิ ประธานาธิบดีอิตาลีแหกปากโห่ร้องเพลงมึงจากห้อง VIP เลยนะเว้ย ผมแบบ นี่มัน****อะไรกันครับ เกิดอะไรขึ้นกับเพลงของผม นั่นทำให้ผมสงสัยอย่างมากจึงเริ่มสนใจฟุตบอลในยุโรปมากขึ้น ซึ่งไม่เหมือนกับที่ผมเคยวาดไว้เลย ผมดีใจนะ เป็นโมเมนต์ระดับอีปิกเลยที่เพลงของผมไปถึงจุดนั้นได้ และอีกไม่นานก็คงแพร่มายังอเมริกาชัวร์ ๆ”
จะเห็นได้ว่าขนาดคนใหญ่คนโตยังร่วมหอลงโลงร่วมแฟนชานท์กับเพลงดังกล่าวได้ ซึ่งนับว่าทรงพลังไม่น้อย และอีกอย่างไวท์ก็ถือว่ามองขาดอย่างมาก เพราะอีกไม่กี่ปีต่อมา แฟนอเมริกันเกมส์ ได้แฟนชานท์ทำนอง แตวแต่วแต้วแต่วแตวแต่ว แต่ว แต้ว เช่นเดียวกัน
มาถึงตรงนี้ Seven Nations Army ยังคงถูกเปิดอย่างสะนั่นสนามอยู่เป็นนิจศีล และอาจมีความยากที่เพลงอื่น ๆ จะขึ้นมาทาบรัศมี แทนที่ หรือเขย่าบัลลังก์ได้
ดังนั้นการได้รับฉายา “เพลงชาติแห่งสนามฟุตบอล” จึงถือว่าไม่ได้กล่าวเกินจริงแต่อย่างใด
แหล่งอ้างอิง
https://www.goal.com/en/news/why-is-white-stripes-song-seven-nation-army-a-football-anthem/uxuank7lguri189v93v0yxlvd
https://www.npr.org/2018/07/11/626288758/american-anthem-world-cup-white-stripes-seven-nation-army
https://www.theguardian.com/culture/2022/nov/26/seven-nation-army-terrace-anthem-blur-bernie-sanders
https://metaladdicts.com/the-story-of-the-biggest-stadium-song-seven-nation-army/
https://deadspin.com/how-the-song-seven-nation-army-conquered-the-sports-w-5875933