ณ ขณะนี้ ในบรรดาลีกแดนตะวันออกกลาง “ซาอุดิ โปร ลีก” ถือว่ากำลังเนื้อหอมมากที่สุดจากการต้อนรับนักฟุตบอลวัยไม้ใกล้ฝั่ง นับตั้งแต่ต้อนรับ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ เข้ามาสู่ อัล นาเซอร์
กระนั้นทีมที่ใช้พลังเงินดูดนักเตะร่วมทีมอย่างเมามันในฤดูกาล 2023-24 ที่กำลังจะมาถึง เป็นทีมใดไปไม่ได้นอกจาก “อัล อิตติฮัด (Al-Ittihad Club)” ที่ได้ดึงตัวนักเตะระดับท็อปของโลกอย่าง คาริม เบนเซม่า ยอดศูนย์หน้าที่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างให้ เรอัล มาดริด รวมไปถึง เอ็นโกโล่ ก็องเต้ ห้องเครื่องเชลซี ที่เลือกย้ายมาสมทบ
ถึงแม้จะไม่ได้ใหญ่คับวงการ แต่ยอดทีม “พยัคฆ์ร้ายเจดดาห์” ก็ถือเป็นเต้ยแห่งวงการฟุตบอลซาอุดีอาระเบียที่เคยเกรียงไกรอย่างมากในยุค 2000s พวกเขาคว้าแชมป์ลีกได้ต่อเนื่อง แถมยังประกาศศักดาก้องทวีปในรายการ เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก ได้เสียด้วย ก่อนที่ทีมจะลดระดับลงและแชมป์ลีกขาดมือไปกว่า 14 ปี ก่อนจะกลับมาคว้าแชมป์ลีกได้อีกครั้งในฤดูกาล 2022-23 ที่เพิ่งจบไป
นี่จึงทำให้คิดได้ว่า การที่ทีมไปโน้มน้าวสตาร์วัยชราเข้าสู่ทีมได้อาจมีเหตุผลเรื่องการต่อยอดทีมที่กำลังขาขึ้นให้กลับมาเกรียงไกรอีกครั้ง ?
ร่วมติดตามรอยทางนี้ไปพร้อมกับ Main Stand
แก่ ชื่อโหล เจดดาห์ ประชาชน
อัล อิตติฮัด ถือได้ว่าเป็นสโมสรที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยก่อตั้งเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 1927 ผ่านการลงนามพหุภาคีสมาชิกชมรมคนชอบฟุตบอลแห่งกรุงเจดดาห์ 13 คน โดยให้เหตุผลว่าจะเป็นการรวบรวมบรรดาทีมฟุตบอลเดินสาย (Traveling Teams) ในกรุงเจดดาห์ (Jeddah) ที่มีหลากหลายทีมเข้ามาเป็นเนื้อเดียวกัน ให้มีที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง ง่ายต่อการบริหาร และแสดงออกถึงความเป็นตัวแทนของเมือง
หรือก็คือ อัล อิตติฮัด นั้นเป็นสโมสร “ของชาวเจดดาห์ โดยชาวเจดดาห์ เพื่อชาวเจดดาห์” อย่างแท้จริง โดยสะท้อนออกมาจากการตั้งชื่อสโมสรเป็นภาษาอาหรับที่มีความหมายว่า “สหภาพ (Union) หรือการรวมเป็นหนึ่ง (United)” ซึ่งมีที่มาจากหนึ่งในสมาชิกนามว่า มาเซ็น โมฮัมเหม็ด (Mazen Mohammed) ที่ได้กล่าวในที่ประชุมหลังมีมติว่า
“ตราบที่เรายังพร้อมหน้ากันอยู่ที่นี่ ขอใช้ชื่อสโมสรว่า อัล อิตติฮัด กันเถิดสหาย”
แน่นอนว่าการใช้ชื่อ อัล อิตติฮัด สำหรับโลกตะวันออกกลางถือได้ว่าเป็นชื่อที่ “โหล” อย่างมาก แตกต่างจากการตั้งชื่อแบบธรรมเนียมโลกตะวันตกที่ถึงแม้จะมีการใช้ชื่ออย่าง ยูไนเต็ด, โบรุสเซีย, ดินาโม, สปาร์ตา, หรือ ซีเอสเคเอ แต่เป็นไปในลักษณะคำสร้อย เช่น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์, ดินาโม เคียฟ, สปาร์ตา รอตเตอร์ดัม หรือ ซีเอสเคเอ มอสโก ผิดกับการตั้งชื่อตามโลกตะวันออกกลางที่ใช้เป็นชื่อแบบโดด ๆ เพราะชื่อนี้ใน ซีเรีย โอมาน ยูเออี และ อียิปต์ ก็มีใช้เช่นกัน
แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ อัล อิตติฮัด แห่งซาอุดีอาระเบีย เป็นเพียงสโมสรเดียวในประเทศที่มีลักษณะการเป็น “ภาพแทนของประชาชน (ที่รวยมาก)” นั่นเพราะบรรดาพหุภาคีก่อตั้งสโมสรเป็นคนธรรมดาทั้งสิ้น
ผิดกับสโมสรอื่น ๆ ในประเทศที่ได้รับการก่อตั้งจากบรรดาราชวงศ์หรือบรรดาขุนนางที่ถวายการรับใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ราชวงศ์ซาอูดทั้งสิ้น โดยเฉพาะ บรรดา Big 4 ของประเทศที่เหลืออย่าง อัล นาเซอร์, อัล ฮิลาล และ อัล อาห์ลี (ซึ่งเป็นตลกร้ายที่ทั้งสี่ทีมมีเจ้าของเดียวกันในเวลาต่อมา)
หรือก็คือ อัล อิตติฮัด สามารถ “เคลม” ได้ว่า ภายใต้อาภรณ์ เหลือง-ดำ นี้ พวกเราเป็นสโมสรของประชาชน ในประเทศที่การแบ่งแยกทางชนชั้นเห็นได้อย่างชัดเจนก็ยิ่งทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าเป็นสโมสรหนึ่งเดียวในการต่อกรกับทีมอำมาตย์ทั้งหลายแหล่
โดยเฉพาะแมตช์ที่ปะทะกับ อัล ฮิลาล ที่ได้รับการขนานนามว่า “เอล กลาซิโก” ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นแมตช์ตัวแทน “ประชาชน ปะทะ ราชวงศ์” เลยทีเดียว
จากการเป็นภาพแทนของประชาชนที่มีจำนวนมากกว่าชนชั้นนำเป็นไหน ๆ ก็ยิ่งส่งผลดีต่อสโมสร เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็สามารถสร้างแนวร่วมแฟนบอลขึ้นมาได้ทั้งในเจดดาห์และทั่วประเทศ ต่อให้ไม่ได้เชียร์แบบโจ่งครึ่ม หากแต่เวลาทีมแข่งขันกับตัวแทนอำมาตย์ก็อาจแอบเอาใจช่วยอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ
ไม่ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เมื่อมาถึงยุคสมัยที่ฟุตบอลคือการพานิชย์ การเป็นภาพแทนของประชาชนจึงทำให้ อัล อิตติฮัด ได้เปรียบทีมอื่น ๆ อย่างมาก เพราะเมื่อประชาชนคือคนส่วนใหญ่ นั่นหมายถึงจำนวน “ลูกค้า” ที่มหาศาลตามไปด้วย
จึงไม่น่าแปลกใจหากในทุกสุดสัปดาห์ ณ สนามคิงอับดุลลาห์ สปอร์ตส์ ซิตี้ จะมีแฟนบอลใส่เสื้อ เหลือง-ดำ เข้าสนามราวครึ่งหมื่น (สนามมีความจุประมาณ 63,000 ที่นั่ง) ผิดกับ The Big 4 ทีมอื่น ๆ ที่อยากมากที่สุดคือหลักหมื่นคน
ด้วยความที่ก่อตั้งก่อนใครเพื่อน ในช่วงแรก อัล อิตติฮัด จึงเป็นเหมือนการเตะฟุตบอลเพื่อการสันทนาการ เพราะไม่รู้ว่าจะไปสรรหาคู่แค้นมาจากที่ใด เข้าทำนองเตะกันเองชมกันเอง
แต่ภายหลังจากมีการก่อตั้ง คิงส์ คัพ ขึ้นในช่วงปลายยุค 1950s ถึงกลาง 1960s ก็ถือได้ว่า อัล อิตติฮัด ได้สถาปนาความเป็นเจ้าของรายการนี้ โดยพวกเขาคว้าไป 5 สมัย และนับจนถึงปัจจุบันก็คว้าไปแล้ว 9 สมัย เป็นอันดับที่ 2 ร่วม (กับ อัล ฮิลาล)
อย่างไรก็ตาม ในลีกอาชีพสูงสุดสโมสรกลับเสียท่าให้สองทีมจากริยาดอย่าง อัล นาเซอร์ และ อัล ฮิลาล รวมทั้งคู่แค้นร่วมเมืองอย่าง อัล อาห์ลี ปาดหน้าเค้กชูโทรฟี่เป็นว่าเล่น
โดย อัล อิตติฮัด ได้แชมป์ลีกเพียงครั้งเดียวในฤดูกาล 1981-82 ที่ทีมชนะเพลย์ออฟ อัล ชาบับ อีกหนึ่งทีมจากริยาด ไป 1-0 นอกนั้นมักจะป้วนเปี้ยนอยู่แถวกลางตาราง มีโอกาสขึ้นมาลุ้นท็อป 4 บ้างประปราย แต่ส่วนมากมักจะผิดหวัง
ผิดกับฟุตบอลถ้วยที่สโมสรคว้าแชมป์ได้เรื่อย ๆ เรียกได้ว่าเป็นเทพฟุตบอลแบบน็อกเอาต์ก็ว่าได้ (ดังที่กล่าวถึง คิงส์ คัพ ไปก่อนหน้า) และมักจะเป็นลูปนรกแบบนี้วนเวียนซ้ำไปเรื่อย ๆ มากว่า 20 ปี
จนกระทั่งเริ่มก้าวเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ อะไร ๆ ที่เคยทำไม่ได้ก็เริ่มที่จะคลี่คลายให้เห็นถึงความหวังมากขึ้น
ครองยุค 2000s ทั้งในและนอกประเทศ
หลายครั้งหลายคราที่ทีมใดทีมหนึ่งอยู่ ๆ ก็กระเตื้องขึ้นมาครอบครองเป็นเจ้าแห่งฟุตบอลในประเทศ การให้เหตุผลสนับสนุนมักเป็นไปใน 2 แนวทาง
แนวทางแรก เป็นทีมที่มีการลงทุนเยอะ จากการตกถังข้าวสารที่ได้เศรษฐีมาเทคโอเวอร์ ดังที่เห็นได้จาก แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ ปารีส แซงต์ แชร์กแม็ง ส่วนอีกแนวทาง นั่นคือการกลับขึ้นมาของอดีตทีมเคยดังที่ร้างราไปนานที่สามารถขายอดีตรวมจิตใจจนกลับมาผงาดได้ ดังที่เห็นจากพวกทีมในยุโรปตะวันออกอย่าง เซอร์เวนา ซเวซดา (เรดสตาร์ เบลเกรด) หรือ สปาร์ตัก มอสโก
แต่พวกเขาเป็นทีมที่มีเงินแล้ว ประวัติศาสตร์การคว้าแชมป์ก็น้อยเสียจนแทบไม่มี แต่กลับขึ้นมาผงาดได้อย่างไม่น่าเชื่อ จนเหมือนปาฏิหาริย์
เพราะนับตั้งแต่ฤดูกาล 1996-97 อัล อิตติฮัด คว้าแชมป์รัว ๆ จนได้ถ้วยแชมป์ลีกมาประดับตู้โชว์สโมสรถึง 7 ถ้วย คว้าแชมป์ลีกรวมเป็นทีมอันดับที่ 2 (รองจาก อัล ฮิลาล) ณ ขณะนั้น เรียกได้ว่าแซงทีมใหญ่ ๆ ด้วยกันได้หมด
เท่านั้นยังไม่พอ ในเมื่อการแข่งขันระดับประเทศเล็กเกินไปสำหรับพวกเขา การออกไปอาละวาดระดับทวีปจึงเป็นเป้าหมายต่อมา โดย อัล อิตติฮัด เข้ามาแข่งขัน เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก (ในชื่อเดิม เอเชียน คลับ แชมเปี้ยนชิพ) ครั้งแรกในฤดูกาล 2001 และไปได้ถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ
โดยเป็นรายการการแข่งขันที่มีระบบการแข่งขันสุดงง นั่นคือแข่งแบบน็อกเอาต์รอบแรก รอบก่อนรองชนะเลิศแข่งแบ่งกลุ่ม ก่อนจะกลับมาน็อกเอาต์อีกทีจนถึงรอบชิงชนะเลิศ และใน 2 ฤดูกาลต่อมา อัล อิตติฮัด ก็ตกรอบคัดเลือกรอบสอง และไม่ได้เข้ามาเล่นอีก
ก่อนที่ฤดูกาล 2004 หรือ 2 ปีหลังการรีแบรนด์ถ้วยนี้มาใช้ชื่อ เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก พวกเขาจะไปถึงฝั่งฝันอีกครั้งอย่างน่าเหลือเชื่อ
ด้วยระบบการแข่งขันที่เป็นแบบสากลโลกขึ้นมาเล็กน้อย (แข่งแบ่งกลุ่ม คัดเฉพาะแชมป์กลุ่มเข้ารอบ ก่อนใช้ระบบน็อกเอาต์) อัล อิตติฮัด ทำผลงานได้อย่างดีเกินคาด ไล่อัด เซปาฮาน จากอิหร่าน, อัล อาราบี จากคูเวต และ เนฟท์ซี จากอุซเบกิสถาน แบบไม่เห็นฝุ่น
ก่อนจะไล่ปราบทีมจากโซนตะวันออกที่ถือได้ว่ามีความแข่งแกร่งและครองพื้นที่รายการนี้มาตลอดในรอบน็อกเอาต์ ไม่ว่าจะเป็น ต้าเหลียน ชีเตอะ, ชุนบุก ฮุนได มอเตอร์ส ก่อนจะเข้าชิงกับ ซองนัม อิลฮวา ชอนมา (ตอนนี้คือ ซองนัม เอฟซี) ยักษ์ใหญ่แห่งเคลีก อดีตแชมป์รายการนี้เมื่อฤดูกาล 1995
แน่นอน อัล อิตติฮัด โดนรับน้องไปตามระเบียบ พวกเขาแพ้คาบ้านต่อพลพรรค “ม้าบิน” ในแมตช์แรกไป 1-3 แต่ยังดี ที่ระบบการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศของเอเชียเป็นแบบ เหย้า-เยือน จึงมีโอกาสในแมตช์ที่สองให้แก้ตัว
แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ จากการรับน้องในแมตช์แรกจะโดนรุ่นน้องสวนเสียหมดรูปในแมตช์ที่สอง เพราะ อัล อิตติฮัด ถล่มแบบไม่ไว้หน้าไปถึง 5-0 คว้าแชมป์ไปครองที่ประเทศเกาหลีใต้อย่างไม่มีใครคาดคิด
เท่านั้นยังไม่พอ ในฤดูกาลต่อมา อัล อิตติฮัด ยังคงฟอร์มแรงต่อเนื่อง โดยคราวนี้ไม่ต้องลงแข่งขันรอบแบ่งกลุ่มให้เสียเวลา ได้บายเข้ามาแข่งรอบน็อกเอาต์เลย และเมื่อได้บายแรงจึงยังเหลือเยอะกว่าทีมอื่นที่เหนื่อยฝ่าฟันมาหลายรอบหลายแมตช์
อัล อิตติฮัด จึงใช้ประโยชน์จากจุดนี้ในการไล่ถลุงฝั้งตรงข้าม ทั้งการชนะ ซานตง ลู่เหนิง ไปด้วยสกอร์รวม 8-3 หรือ การชนะ พูซัน ไอพัค ไปด้วยสกอร์รม 7-0 ส่งให้ทีมเข้าชิงชนะเลิศกับ อัล ไอน์ ยักษ์ใหญ่แห่งยูเออี ก่อนที่จะชนะไปด้วยสกอร์รวม 5-3 คว้าแชมป์ 2 สมัยติดต่อกัน
แน่นอนว่าด้วยฟอร์มสุดโหดขนาดนี้ สโมสรจึงได้รับการขนานนามว่า “ราชันแห่งเอเชีย” เลยทีเดียว
แต่ใครเลยจะรู้ว่าช่วงเวลา 10 ปีแห่งความรุ่งโรจน์นี้จะปิดฉากลง ภายหลังจากที่ทีมคว้าแชมป์ลีกเมื่อฤดูกาล 2008-09 อย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย
14 ปีที่รอคอย สู้ไม่ถอย พร้อมสานต่อ
จริง ๆ พลพรรคพยัคฆ์ร้ายเจดดาห์ ไม่ได้ถือว่าสิ้นไร้ไม้ตอกแต่อย่างใด เพราะทีมยังได้แชมป์ฟุตบอลถ้วยในประเทศอยู่เป็นระยะ ๆ ไม่ว่าจะเป็น คิงส์ คัพ หรือ คราวน์ พรินซ์ คัพ หากแต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับสโมสรฟุตบอล นั่นคือการได้ถ้วยแชมป์ลีกมาประดับตู้โชว์สโมสร เพราะมันถือได้ว่าเป็นการฝ่าฟันที่ยาวนานจึงความสำคัญมากกว่าฟุตบอลถ้วยในประเทศเป็นไหน ๆ
เพียงแต่ว่าในช่วง 14 ปีที่ผ่านมาเป็นยุคแห่งการฟาดฟันของ 2 สโมสรใน The Big 4 อย่าง อัล ฮิลาล และ อัล นาเซอร์ ที่แย่งแชมป์ลีกกันอย่างเมามัน โดยมี อัล อาห์ลี หลุดมาคว้าแชมป์ไปครั้งหนึ่ง รวมไปถึงขั้วอำนาจใหม่อย่าง อัล ชาบับ และ อัล ฟาเตห์
ส่วน อัล อิตติฮัด กลับไม่ได้ใกล้เคียงที่จะลุ้นแชมป์ใด ๆ แถมผลงานยังสวิงไปมาจนยากที่จะหาความแน่นอนหรือความสม่ำเสมอได้ บางทีขึ้นไปจบรองแชมป์แต่ปีต่อมากลับต้องหนีตกชั้น กลับมาแย่งโควตาฟุตบอลระดับทวีปก่อนไปหนีตกชั้นอีกที
ก่อนที่จุดเปลี่ยนจะมาเกิดขึ้นในฤดูกาล 2022-23 ที่เพิ่งรูดม่านปิดฉากไป
โดยเฉพาะการที่ทีมปาดหน้า อัล นาเซอร์ ที่มี คริสเตียโน่ โรนัลโด้ เป็นกำลังหลักไปแบบสร้างความเจ็บช้ำให้บอร์ดบริหารของพลพรรค “อัศวินนาจิด” ถึงขนาดมีการขอลาออก
แน่นอนว่าเครดิตส่วนหนึ่งต้องยกให้กับ นูโน่ เอสปิริโต้ ซานโต้ ที่ยกระดับทีมได้ดีอย่างน่าเหลือเชื่อ แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือ การได้นักเตะนาม เอลแดร์ คอสต้า เข้ามาสู่ทีม เรียกได้ว่า “คนเดียวเสียวทั้งลีก” ของแท้ เพราะดีกรีของเขา แม้จะไม่ได้ดังแต่ถือว่ามีประสบการณ์ลงเล่นลีกใหญ่ ๆ มานักต่อนัก แถมยังเป็นอดีตกำลังหลักในการพา ลีดส์ ยูไนเต็ด เลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีกอีกด้วย
คอสต้าลงสนามแบบไม่ต้องปรับตัว แถมในทุก ๆ การทำเกมรุกของทีมจะมีเขาไปผลุบ ๆ โผล่ ๆ มีส่วนร่วมเสมอ รวมถึงยังยกระดับแนวรุกคนอื่น ๆ อย่าง โรมารินโญ่ และ อับเดอราซัค ฮัมดัลลาห์ โดยเฉพาะฮัมดัลลาห์ที่ยิงกระจายจนคว้าดาวซัลโวไปครองที่ 21 ประตู
แน่นอนว่าการจะนำเข้านักเตะต่างชาติย่อมต้องหวังผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นของสโมสรไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่คำถามที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เหตุใดจึงเลือกเซ็นนักเตะต่างชาติที่มีดีกรีโหดขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก เช่นการคว้า คาริม เบนเซม่า และ เอ็นโกโล่ ก็องเต้ เข้ามาสู่ทีม ทั้งที่ของดีราคาถูกแถมอายุน้อย ๆ ที่มีพลังงานเต็มเปี่ยม มีถมเถไป ?
การตอบคำถามนี้มีการเสนอไว้ในบทความ ซีนไม่มาต้องหาซีน : เมื่อ อัล นาสเซอร์ อาจกำลังคืนความเดือดใน "ริยาด ดาร์บี้" อีกครั้ง ใน Main Stand ว่าหนีไม่พ้นการเห็นตัวอย่างของ อัล นาเซอร์ ที่คว้าตัว คริสเตียโน่ โรนัลโด้ เข้ามาสู่ทีมเพื่อ “หาซีน” แม้ในสนามอาจจะไม่เห็นผล แต่นอกสนามทีมกลับประสบความสำเร็จอย่างมาก อย่างน้อย ๆ แฟนบอลก็ต้องเสิร์ชหาคำว่า อัล นาเซอร์ ใน Google เป็นแน่
กลับมาที่ อัล อิตติฮัด ที่มีพร้อมสรรพ ทั้งในแง่ของความสำเร็จที่คว้าแชมป์ และได้ไปลุย ฟีฟ่า คลับ เวิลด์ คัพ จึงมองหาว่าในตลาดนักเตะมีใครพอจะ “ทาบรัศมี” โรนัลโด้ ได้บ้าง แน่นอนว่า “คาริม เบนเซม่า” คือหนึ่งในนั้น เพราะตอนนั้น ลิโอเนล เมสซี่ ก็มีข่าวหนาหูกับ อัล ฮิลาล ไม่เว้นแต่ละวัน
แต่การตอบคำถามในลักษณะนี้ย่อมทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่า แล้ว เอ็นโกโล่ ก็องเต้ ล่ะมาด้วยเหตุผลใด ?
หากกล่าวเช่นนั้นก็หมายความว่า ก็องเต้ อดีตกลางรับแชมป์โลกไม่ใช่ระดับเวิลด์คลาส หรือคนละคลาสกับเบนเซม่าอย่างนั้นหรือ ?
แต่หากจะตอบอีกแบบก็ต้องย้อนกลับไปที่ผลงานในสนาม อย่างที่กล่าวไปว่าแค่ เอลแดร์ คอสต้า เข้ามาคนเดียวก็ทำให้ทั้งลีกสั่นสะเทือนในวัยเตะหลัก 3 ซึ่งเขามีอายุแตกต่างจาก เบนเซม่า หรือ ก็องเต้ เพียงไม่กี่ปี หมายถึงว่าการนำสองคนนี้เขามาตอนที่ยังไม่ถึงกับหมดสภาพและประคองผลงานในระดับสูงได้ ก็เท่ากับว่าได้ของดี Free Agent อย่างไรอย่างนั้น
แต่ที่น่าคิดกว่านั้นคือการที่ Public Investment Fund หรือ PIF ได้กว้านซื้อหุ้นของ The Big 4 และเข้าเป็นผู้ถือหุ้นหลักอย่างเป็นทางการ นอกเหนือไปจากการโดนคำครหาว่าจะเกิดการ “เกี้ยเซียะ” หรือ “ฮั๊ว” กันในการแข่งขัน การซื้อขายนักเตะ จะมีการถัวเฉลี่ยความสำคัญกันได้มากน้อยแค่ไหน ?
เพราะอย่าลืมว่า หากทุ่มซื้อนักเตะระดับสตอร์ให้กับทีมใดทีมหนึ่ง ย่อมหมายถึงการ “ลำเอียง” อย่างเห็นได้ชัด
และหากคิดในทางกลับกัน สโมสรอื่น ๆ ที่มีกลุ่ม PIF เป็นเจ้าของ หรือแม้แต่สโมสรของมหาเศรษฐีเจ้าอื่นในประเทศก็ต้องทุ่มเงินคว้าสตาร์ดังมาร่วมทีมเสริมความแข็งแกร่งแข่งกับพวกเขาที่ได้นักเตะมาแล้วเช่นกัน ตัวอย่างชัด ๆ ก็ อัล ฮิลาล ที่ต้องหานักเตะแม่เหล็ก หลัง ลิโอเนล เมสซี่ เป้าหมายในอดีต เลือกที่จะไปค้าแข้งกับ อินเตอร์ ไมอามี่ ใน เมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ตลาดซื้อขายนักเตะเพิ่งเริ่มต้นขึ้น ยังมีเวลาอีกมากในการพิจารณาต่อว่าสมมุติฐานนี้จะมีความเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหน
แหล่งอ้างอิง
https://www.saudigazette.com.sa/article/632853/Sports/A-battalion-of-amazing-professionals-script-history-for-Al-Ittihad
https://www.nytimes.com/2023/06/06/sports/soccer/karim-benzema-saudi-arabai-al-ittihad.html
https://www.fifa.com/fifaplus/en/articles/al-ittihads-historic-double-a-tale-of-back-to-back-afc-champions-league-triumphs
https://web.archive.org/web/20200809020713/https://footballhistory.org/club/al-ittihad.html
https://www.bbc.com/sport/football/65813662
https://www.mainstand.co.th/th/features/5/article/3466