Feature

เปตอง : กีฬาทอยแก่นจากยุโรป ที่ชาติในอาเซียนปั้นมือฉมังออกมาไม่ขาดสาย | Main Stand

แม้จะเป็นกีฬาที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศในทวีปยุโรป แต่ “เปตอง” กลับถือว่าเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากสำหรับผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน จากการที่หลาย ๆ ชาติในภูมิภาคแห่งนี้สามารถปลุกปั้นนักกีฬาของพวกเขาให้ทยอยก้าวขึ้นไปสู่จุดสูงสุดในการแข่งขันระดับโลกได้หลายต่อหลายครั้ง

 


ซึ่งแน่นอนว่าจากความนิยมในกีฬาชนิดนี้ ทำให้ มหกรรมกีฬาซีเกมส์ ที่เป็นการแข่งขันกีฬาของเหล่านักกีฬาจากทุกชาติในภูมิภาคอาเซียน ก็ได้บรรจุกีฬาเปตองเข้ามาเป็นหนึ่งในชนิดกีฬาของการแข่งขันด้วยเช่นกัน ก่อนที่เปตองจะกลายเป็นหนึ่งในกีฬาของซีเกมส์ที่มีเกมการแข่งขันสุดเข้มข้นมาโดยตลอด 

จนอาจเปรียบได้ว่า การแข่งขันกีฬาเปตองในซีเกมส์เป็นเหมือนกับการแข่งขันชิงแชมป์โลกแบบกลาย ๆ ของกีฬาเปตองเลยก็ว่าได้ เพราะหลายชาติในอาเซียนโดยเฉพาะ ไทย, ลาว และ กัมพูชา ต่างก็ส่งนักกีฬาเปตองมากความสามารถลงแข่งในศึกซีเกมส์อยู่เสมอ

เหตุใดกีฬาชนิดนี้ถึงเป็นที่นิยมสำหรับผู้คนในภูมิภาคอาเซียน จนกลายเป็นกีฬาที่มีการแข่งขันกันเข้มข้นอีกชนิดในซีเกมส์ ติดตามได้ที่นี่ Main Stand

 

จุดเริ่มต้นจากก้อนหิน

สำหรับเปตองแล้ว นี่คือหนึ่งในกีฬาที่คนทุกเพศทุกวัยสามารถเล่นได้ทั้งเพื่อความสนุกและเพื่อการแข่งขันกันจริงจัง

ซึ่งวิธีการเล่นของกีฬานี้ไม่มีอะไรซับซ้อน นั่นคือการโยนหรือกลิ้งลูกเปตองของตัวเองจากภายในวงกลมที่ได้ถูกกำหนดเอาไว้ในแต่ละเกมให้เข้าใกล้ลูกแก่น หรือลูกเป้า มากกว่าลูกเปตองของฝ่ายตรงข้าม หรือจะเป็นการโยนหรือกลิ้งลูกเปตองเพื่อตีลูกเปตองของฝ่ายตรงข้ามให้ออกห่างจากลูกแก่น ผู้เล่นย่อมสามารถทำได้ทั้งหมด

โดยต้นกำเนิดของเปตองนั้นไม่ได้มีหลักฐานอย่างแน่ชัดว่าถือกำเนิดขึ้นที่ใด มีเพียงการสันนิษฐานว่าอาจจะมีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นกิจกรรมยามว่างของผู้คนในประเทศกรีซ เมื่อช่วงประมาณ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล ที่ชอบใช้เหรียญ หรือเก็บก้อนหินตามภูเขาหรือชายหาดมาขว้างปาให้ไกลที่สุด

ก่อนที่อาณาจักรโรมันจะได้เข้ายึดครองแผ่นดินกรีก และนำกิจกรรมยามว่างนี้มาพัฒนาเป็นกีฬาเพื่อใช้ทดสอบกำลังข้อมือของนักรบภายในกองทัพ โดยปรับเปลี่ยนจากการปาก้อนหินไปให้ไกลที่สุดมาเป็นการปาให้เข้าเป้าหมายที่ได้ถูกกำหนดไว้แทน

กีฬาชนิดนี้เริ่มแพร่หลายมากขึ้นในประเทศฝรั่งเศส หลังอาณาจักรโรมันได้เข้ายึดครองและแผ่อิทธิพลในดินแดนของชาวโกล หรือประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน และความนิยมในการเล่นกีฬาปาก้อนหินให้เข้าเป้าที่ได้รับมาจากอาณาจักรโรมันนั้นยังคงมีอยู่ในฝรั่งเศส จนเวลาผ่านไปถึงช่วงต้นคริสต์ศควรรษที่ 19 พวกเขาก็ได้พัฒนากีฬาชนิดนี้ครั้งใหญ่ โดยปรับเปลี่ยนการใช้ก้อนหินมาเป็นลูกบอลทรงกลมที่ทำจากไม้เนื้อแข็งแทน

จากนั้นในช่วงปลายคริสต์ศควรรษที่ 19 ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนตัวลูกบอลที่ใช้เล่นอีกครั้ง โดยมีการนำตะปูมาตอกรวมกันเป็นลูกบอลทรงกลมแทนเพื่อเพิ่มน้ำหนักให้กับลูกบอล และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914-1918) ก็ได้มีการผลิตลูกบอลที่เป็นโลหะล้วนขึ้นจากเทคโนโลยีการผลิตลูกกระสุนปืนใหญ่ที่ใช้สำหรับทำสงคราม ซึ่งลูกบอลลักษณะนี้ได้กลายเป็นลูกเปตองอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม มันก็ได้ทำให้กีฬาเปตองถือกำเนิดขึ้นมาให้ทุกคนได้เล่นกันเฉกเช่นทุกวันนี้ 

 

กำเนิดเปตอง

รูปแบบการเล่นของกีฬาเปตองแบบที่เป็นอยู่ในตอนนี้ได้ถูกดัดแปลงมาจากกีฬาที่ชื่อ “เฌอ โพรวองซาล” (Jeu provençal) เมื่อช่วงปี ค.ศ.1907-1910 ซึ่งกีฬาชนิดนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทางตอนใต้ของฝรั่งเศส และมีวิธีการที่คล้าย ๆ กับเปตอง นั่นคือการโยนหรือกลิ้งลูกบอลของตัวเองให้เข้าใกล้ลูกแก่นให้ได้มากที่สุด

โดยหลังจากที่ชายชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งที่ชื่อ ฌูล เลนัวร์ เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์อย่างรุนแรงจนไม่สามารถเดินเพื่อเล่นกีฬา เฌอ โพรวองซาล ได้อีกต่อไป นั่นจึงทำให้เพื่อนของเขาอย่าง เออร์เนส พิติโอ ได้นำกีฬา เฌอ โพรวองซาล มาดัดแปลงกติกาการเล่นใหม่ เพื่อให้ ฌูล เลนัวร์ สามารถเล่นกีฬาที่เขารักได้ต่อ 

ซึ่งกติกาที่พิติโอได้ปรับเปลี่ยนไปนั้นคือ จากเดิมกีฬา เฌอ โพรวองซาล จะสามารถก้าวขาเดินได้ 3 ก้าว ขณะโยนหรือกลิ้งลูกบอลในสนาม พิติโอได้เปลี่ยนใหม่โดยให้เท้าทั้งสองข้างของผู้เล่นต้องติดอยู่กับพื้นในขณะที่กำลังโยนหรือกลิ้งลูกบอลลงไปในสนาม ซึ่งวิธีการเล่นนี้ก็คือวิธีการเล่นกีฬาเปตองแบบในปัจจุบัน

การปรับเปลี่ยนกฎการเล่นกีฬา เฌอ โพรวองซาล ของ เออร์เนส พิติโอ ในครั้งนั้นทำให้เกิดกีฬาชนิดใหม่ที่มีวิธีการเล่นแตกต่างกับ เฌอ โพรวองซาล อยู่เล็กน้อย นั่นคือกีฬาที่ชื่อ “พิเย ตองเกส์” (Pieds Tanqués) ก่อนที่ชื่อกีฬาดังกล่าวจะถูกเรียกเพี้ยนกลายเป็นชื่อ “เปตอง” (Pétanque) ในเวลาต่อมา

เปตองได้กลายเป็นหนึ่งในกีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั่วประเทศฝรั่งเศส ก่อนที่พวกเขาจะเผยแพร่เสน่ห์ของกีฬาชนิดนี้ให้กับชาติอื่น ๆ ในทวีปยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์, เยอรมนี, สเปน, โปรตุเกส และ อังกฤษ

รวมถึงชาติอื่น ๆ นอกทวีปยุโรปที่พวกเขาได้เข้าไปปกครองในยุคล่าอาณานิคม โดยหลาย ๆ ชาติในอาเซียนก็ได้รับกีฬาเปตองเข้ามายังประเทศของพวกเขาในช่วงเวลานั้น

 

แพร่หลายในอาเซียน

ฝรั่งเศสได้ทำการเข้าปกครองหลาย ๆ ประเทศทั้งในทวีปแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 และหลายชาติในภูมิภาคอาเซียนก็ได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก่อนที่จะได้รับอิสรภาพในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20

ซึ่งเวลาเกือบ 70 ปี ที่ลาว, กัมพูชา และ เวียดนาม ได้ถูกฝรั่งเศสเข้ายึดครองแล้วผนวกเข้ารวมกันเป็นสหภาพอินโดจีนในปี ค.ศ. 1887 พวกเขาได้ซึบซับการใช้ชีวิต ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมต่าง ๆ ของฝรั่งเศส โดยกีฬาเปตองเองก็เป็นหนึ่งในความเป็นฝรั่งเศสที่ทั้งสามประเทศเหล่านี้ได้รับมาเช่นกัน

เวลาต่อมา ลาวก็ได้ต่อยอดกีฬาทอยแก่นนี้ให้เข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของพวกเขา สังเกตได้จากตามแต่ละหมู่บ้านของประเทศพวกเขาจะมีสนามสำหรับเล่นเปตองโดยเฉพาะ โดยในช่วงเวลาหลังจากเลิกงานพวกเขาก็มักจะมีการรวมกลุ่มกันเพื่อดื่มสังสรรค์และสนุกสนานกับการเล่นเปตองไปด้วย

“เปตองเป็นกีฬายอดนิยมของลาวมานานแล้ว ตั้งแต่ที่พวกเราตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเดินไปที่ไหนคุณก็จะเห็นผู้คนที่นี่รวมตัวกันดูคนเล่นเปตอง” สุรสิทธิ์ คำวงศา นักกีฬาเปตองทีมชาติลาว กล่าวกับ Trans World Sport

“มันคือกีฬาที่สะท้อนถึงตัวตนที่แท้จริงของพวกเรา พวกเราเล่นมันอย่างสนุกสนาน แต่ก็มีความจริงจังในการพัฒนาฝีมือให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ผมมีความสุขมากที่ได้เล่นเปตองร่วมกับเพื่อน ๆ ของผมอยู่ตลอด”

“พวกเราจะมารวมตัวกันเล่นเปตองในทุกวันเสาร์ มาพบปะพูดคุยสังสรรค์กัน บางทีก็มารวมตัวกันจัดการแข่งขันเปตองเพื่อชิงเงินรางวัลด้วย” ชายชาวลาวคนหนึ่ง กล่าว

เช่นเดียวกับ กัมพูชา ที่ผู้คนนิยมชมชอบในการเล่นกีฬาชนิดนี้เป็นอย่างมาก แม้จะเป็นรองกีฬาขวัญใจของพวกเขาอย่าง ฟุตบอล และ วอลเลย์บอล ก็ตาม

“พวกเราสามารถเล่นกีฬานี้ด้วยกันได้โดยไม่จำเป็นต้องมาจำแนกเพศหรืออายุ ฉันอายุเกิน 50 ปีแล้ว แต่ฉันก็ยังสามารถเล่นกับหลานของฉันได้อย่างสนุก” เค เล็ง ตำนานนักกีฬาเปตองทีมชาติกัมพูชา ดีกรีแชมป์โลก 4 สมัยซ้อน ในการแข่งขันเปตองประเภทชู้ตติ้งหญิง ของศึกเปตอง เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ ปี 2013, 2015, 2017 และ 2019 กล่าวกับ The Culture Trip

“ฉันเริ่มเล่นเปตองเมื่อปี 2005 และเล่นเพื่อเป็นการออกกำลังกายในทุก ๆ เย็น” อุก สเรย์มอม นักกีฬาเปตองทีมชาติกัมพูชา วัย 48 ปี เจ้าของแชมป์โลก ในการแข่งขันเปตองประเภทชู้ตติ้งหญิง ของศึกเปตอง เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ ปี 2021 เผย

“ปัจจุบันคนหนุ่มสาวที่นี่ให้ความสนใจกับกีฬาเปตองมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน พวกเขาใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงหลังเลิกงานเปิดไฟสนามเปตองและเล่นกีฬานี้ด้วยกัน”

และจากวิถีชีวิตแบบนี้เองที่ทำให้ชาติของพวกเขาสามารถปั้นนักกีฬาเปตองยอดฝีมือออกมาอย่างต่อเนื่อง และได้มาปล่อยของอยู่หลายครั้งในมหกรรมกีฬาซีเกมส์

เช่น ศก จัน มิน ดีกรีแชมป์โลกประเภทชู้ตติ้งชาย ของศึกเปตอง เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ ปี 2016, พุทร เขียนกรรนิกา นักเปตองทีมชาติลาว เจ้าของเหรียญทอง ซีเกมส์ 2023 ประเภทชายเดี่ยว

แต่ใช่ว่าในอาเซียนจะมีแค่พวกเขาสองชาติเท่านั้นที่เก่งกาจในกีฬาชนิดนี้ เพราะหลังจากที่เปตองได้เข้ามาเป็นที่แพร่หลายในลาวและกัมพูชาแล้ว ทางด้านไทย, มาเลเซีย และ เมียนมา เองก็ได้นำกีฬาเปตองเข้ามาในประเทศในเวลาต่อมา จนทำให้กีฬาทอยแก่นชนิดนี้กลายเป็นหนึ่งในกีฬาที่หลายชาติในภูมิภาคอาเซียนต่างก็มีดีไม่แพ้กัน

 

กีฬาที่ไม่มีใครยอมใคร

นอกจากลาวกับกัมพูชาที่รับกีฬาเปตองมาจากฝรั่งเศสโดยตรงแล้ว ไทยเป็นชาติแรก ๆ ที่นำกีฬาเปตองที่เป็นหนึ่งในกีฬายอดนิยมของลาวและกัมพูชาเข้ามาให้ผู้คนในประเทศของตัวเองได้รู้จักและลองเล่นในปี ค.ศ. 1975

จากนั้นในปี ค.ศ. 1976 ไทยได้ก่อตั้งสมาคมเปตองแห่งประเทศไทยขึ้นมา เพื่อให้คนไทยได้ทำความรู้จักและเพิ่มความสนใจกับกีฬาเปตอง ก่อนที่ทางสมาคมจะทำการเปลี่ยนชื่อตัวเองอีกครั้งเป็น สหพันธ์เปตอง แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี ค.ศ. 1987 และเปตองทีมชาติไทยก็ได้เริ่มเฟ้นหานักกีฬาทอยแก่นที่มีศักยภาพเข้ามาปลุกปั้นเพื่อเป็นกำลังสำคัญของทีมชาติตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ทองสี ตะมะโคตร นักเปตองหญิงทีมชาติไทย ดีกรีแชมป์โลก 8 สมัย, ศราวุฒิ ศรีบุญเพ็ง ดีกรีแชมป์โลก 2 สมัยซ้อน ประเภทชายคู่ ของศึกเปตอง เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ ปี 2019 และ 2022, นันทวัน เฟื่องสนิท ดีกรีแชมป์โลก 2 สมัยซ้อน ประเภทหญิงคู่ ของศึกเปตอง เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ ปี 2017 และ 2019 

นี่คือตัวอย่างผลงานของเหล่านักกีฬาเปตองที่ทีมชาติไทยได้ปลุกปั้นขึ้นมา

จุดเริ่มต้นของความนิยมชมชอบกีฬาเปตองในภูมิภาคอาเซียนที่เริ่มจากลาวและกัมพูชาแล้วส่งต่อให้กับในไทยนั้น ได้ถูกส่งต่อความนิยมนี้อีกครั้งไปยังอีกสองประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เมียนมา และ มาเลเซีย จนทำให้ซีเกมส์ตัดสินใจบรรจุกีฬาเปตอง เข้ามาเป็นหนึ่งในกีฬาสำหรับการแข่งขันครั้งแรกในศึกซีเกมส์ 2001 ที่ประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ

ซึ่งครั้งแรกกับการแข่งขันกีฬาเปตองในศึกซีเกมส์นั้น หลายชาติต่างก็ให้ความสนใจพร้อมกับส่งนักกีฬาลงแข่งขันกัน ก่อนที่เปตองจะได้กลายเป็นกีฬาขาประจำของศึกซีเกมส์มาตลอด 

และแน่นอนว่า “เปตอง” คงจะเป็นหนึ่งในกีฬาที่ได้รับความนิยมในอาเซียน รวมถึงผลิตนักกีฬาฝีมือดีเพื่อลงสนามในการแข่งขันทั้งซีเกมส์และระดับโลกต่อไปอีกนานแสนนาน

 

แหล่งอ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/Pétanque
https://www.petanquelafayette.org/history/
https://www.silpa-mag.com/history/article_68401
https://www.youtube.com/watch?v=aLnuIZhho8M
https://theculturetrip.com/asia/cambodia/articles/how-cambodia-produced-world-champions-by-playing-petanque/
https://www.nanitalk.com/interesting-story/15229

Author

อิสรา อิ่มเจริญ

ชายผู้สนใจญี่ปุ่นเพียงเพราะได้ดูฟุตบอลเจลีก โปรดปรานข้าวไข่เจียวเป็นที่สุด

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

ชื่นชอบกีฬาฟุตบอล แต่ตอนนี้หลงไหล " ว่าย ปั่น วิ่ง "

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ