กระแสในแวดวงกีฬาอาเซียนช่วงต้นเดือนพฤษภาคม คงหนีไม่พ้นเรื่องราวของมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ที่ในปี 2023 นี้ ประเทศกัมพูชารับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ
แน่นอนว่าแต่ละชนิดกีฬาถูกกระจายการแข่งขันไปตามแต่ละสถานที่ที่เจ้าภาพจัดสรรให้ และแม้กัมพูชาจะเนรมิตสนามกีฬาแห่งชาติใหม่อย่าง มรดก เตโช ขึ้นมาเป็นสนามหลักของการแข่งขัน ทว่ายังมีอีกหนึ่งสังเวียนที่มีความสำคัญกับกัมพูชาไม่แพ้กัน นั่นคือ "เนชั่นแนล โอลิมปิก สเตเดียม พนมเปญ" ซึ่งก็ใช้จัดการแข่งขันซีเกมส์หนนี้เช่นกัน
กัมพูชาไม่เคยเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกมาก่อน แต่เหตุใดพวกเขาจึงใช้ชื่อสนามที่จัดงานอีเวนต์ใหญ่มานักต่อนักแห่งนี้โดยมีคำว่า โอลิมปิก เป็นส่วนหนึ่งของชื่อ
เรื่องนี้มีความเชื่อมโยงกับมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติหรือไม่ อย่างไร และโอลิมปิก สเตเดียม พนมเปญ มีความหมายต่อคนกัมพูชามากแค่ไหน
Main Stand อยากชวนคุณมาหาคำตอบนี้ไปพร้อม ๆ กัน
สถาปัตยกรรมเขมรใหม่
ก่อนที่กัมพูชาจะมีสนามกีฬาแห่งชาติใหม่นาม "มรดก เตโช เนชั่นแนล สเตเดียม (Morodok Techo National Stadium)" ซึ่งถูกเนรมิตขึ้นมาด้วยงบประมาณกว่า 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 6,500 ล้านบาท โดยการสนับสนุนของจีน
กัมพูชามีสนามกีฬาแห่งชาติเก่าที่เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวและมีมนต์ขลังสอดรับกับช่วงเวลาประวัติศาสตร์ชาตินามว่า "เนชั่นแนล โอลิมปิก สเตเดียม" หรือ โอลิมปิก สเตเดียม พนมเปญ (Olympic Stadium, Phnom Penh)
สนามกีฬาโอลิมปิกกรุงพนมเปญสร้างขึ้นในระหว่างปี 1963 แล้วเสร็จในปี 1964 ภายใต้การออกแบบของ วรรณ โมลีวรรณ (Vann Molyvann) สถาปนิกชื่อดังที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบสถานที่สำคัญอื่น ๆ ของประเทศอีกมากมาย เช่น อนุสาวรีย์เอกราช (Independence Monument) หอประชุมชากโตมุข (Chaktomuk Conference Hall) และมหาวิทยาลัยหลวงแห่งพนมเปญ (Royal University of Phnom Penh)
ว่ากันว่าเนชั่นแนล โอลิมปิก สเตเดียม ได้รับคำนิยามว่าเป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมเขมรใหม่ (New Khmer Architecture) เรื่องนี้มาจากการที่ วรรณ ในฐานะคนรุ่นใหม่ของประเทศในเวลานั้น จบการศึกษาจากโรงเรียนวิจิตรศิลป์ฝรั่งเศสทำให้มีความคิดความอ่านแบบตะวันตก เมื่อสำเร็จการศึกษาไม่นานเขาก็ได้เข้าทำงานเป็นสถาปนิกและหัวหน้าหน่วยโยธาธิการแห่งรัฐ ในรัชสมัยของกษัตริย์สีหนุ
สนามกีฬาแห่งชาติโอลิมปิก รวมถึงสถานที่อื่น ๆ ที่ วรรณ โมลีวรรณ เป็นหัวเรือใหญ่ในการออกแบบ จะให้ความรู้สึกเป็นตะวันตกผสมผสานกับความเป็นกัมพูชาดั้งเดิม ซึ่งทุกอย่างดูกลมกลืนและลงตัว
ยกตัวอย่าง โอลิมปิก สเตเดียม พนมเปญ ที่ออกแบบมาในรูปแบบของสนามกีฬาเอนกประสงค์ (Multi-purpose stadium) เพื่อความเป็นสมัยใหม่ (Modernist) ควบคู่ไปกับงานออกแบบสไตล์บรูทัลลิสต์ (Brutalist - สถาปัตยกรรมที่แสดงตัวตนผ่านคอนกรีตเปลือย)
ผืนสนามก่อกำเนิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์ของดินขนาดใหญ่เพื่อสร้างสนามกีฬา โดยต้องขุดดินถึง 500,000 ลูกบาศก์เมตรเพื่อสร้างสนามขึ้นมา ขณะที่โครงสร้างและการออกแบบตัวอาคารคำนึงถึงสภาพอากาศและวิถีชีวิตของชนชาวกัมพูชา ด้วยความจุผู้คนแตะหลักระหว่าง 50,000 ถึง 70,000 คน (ก่อนปรับปรุงใหม่ในซีเกมส์ เหลือ 30,000 ที่นั่ง) มีช่องระบายอากาศ เช่นเดียวกับการใช้แผ่นโลหะซึ่งนำความร้อนได้ดีมาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบ
หรือแม้แต่ระบบระบายน้ำเสียในสนาม วรรณได้ศึกษาและเลียนแบบจากระบบของนครวัด ศาสนสถานอันดับต้น ๆ ของประเทศ เป็นต้น
การเข้ามายกระดับงานสถาปัตยกรรมของ วรรณ โมลีวรรณ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยานของกัมพูชาในยุคนั้น และเพื่อให้คนในประเทศระลึกถึงภาพจำอดีตที่เคยรุ่งโรจน์ในสมัยเป็นอาณาจักรขอมโบราณ เป็นเหตุให้สถาปัตยกรรมยุคดังกล่าวได้รับการยกย่องให้เป็นยุคทองของประเทศเลยทีเดียว
จัดโอลิมปิกทางเลือก
ไม่มีข้อมูลปรากฏแน่ชัดว่าสนามกีฬาแห่งชาติโอลิมปิก พนมเปญ มีความเกี่ยวข้องกับโอลิมปิกได้อย่างไร
อย่างไรเสีย เรื่องนี้มีเหตุผลสำคัญบางประการที่พอจะเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องราวได้ ซึ่งต้องย้อนไปยังวัตถุประสงค์เดิมของการก่อตั้งสนาม
เดิมทีสนามแห่งนี้ถูกวางแผนก่อสร้างเพื่อรองรับมหกรรมกีฬาคาบสมุทรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAP Games) ปี 1963 หรือ "กีฬาแหลมทอง" หรือที่รู้จักในนามกีฬา "ซีเกมส์" ณ ปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม สนามกีฬาแห่งชาติโอลิมปิกยังไม่ถูกใช้จัดอีเวนต์กีฬาชิงชัยแห่งอาเซียนในยุคนั้นได้ เหตุเพราะปัญหาการเมืองภายในประเทศ ตลอดจนเม็ดเงินในการลงทุน
ถึงกระนั้นในอีก 3 ปีถัดมา โอลิมปิก สเตเดียม พนมเปญ ก็ได้จัดมหกรรมกีฬาระหว่างประเทศจนได้ และที่สำคัญ เป็นรายการแข่งขันที่เปรียบเสมือนเป็นทัวร์นาเมนต์ทางเลือกของมหกรรมโอลิมปิก นามว่า "กาเนโฟ (GANEFO)"
กาเนโฟ ถือเป็นรายการกีฬาของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาใหม่ เป็นการจัดการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศเกิดใหม่ ที่ให้ความรู้สึกเหมือนกีฬาโอลิมปิกที่ปราศจากอิทธิพลของจักรวรรดินิยม เสมือนเป็นมหกรรมคู่ขนานกับโอลิมปิก โดยมีนักกีฬาจากประเทศคอมมิวนิสต์และกลุ่ม NAM (ไม่ฝักฝ่ายฝ่ายใด) เป็นตัวตั้งตัวตี
กาเนโฟริเริ่มการแข่งขันครั้งแรกที่อินโดนีเซีย ซึ่งในช่วงนั้นโดนคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC แบนไม่ให้แข่งขันโอลิมปิก เหตุเพราะอินโดนีเซียปฏิเสธให้วีซ่าแก่คณะผู้แทนจากอิสราเอลและไต้หวัน ในมหกรรมเอเชียนเกมส์ 1962
อินโดนีเซียโดย ประธานาธิบดีเดวี ซูการ์โน ชักชวนให้ชาติทั่วทุกมุมโลกกว่า 51 ชาติ (รวมชาติที่แข่งโอลิมปิก) อาทิ สหภาพโซเวียต, เยอรมนีตะวันออก, อาร์เจนตินา, เวียดนามเหนือ, ญี่ปุ่น และจีน เข้าร่วมชิงชัย
กาเนโฟจัดขึ้นมาได้น่าพอใจ นำมาซึ่งการจัดมหกรรมกีฬานี้เป็นครั้งที่สอง โดยกำหนดการเดิมถูกวางไว้ที่สหสาธารณรัฐอาหรับ (อดีตคือสหภาพทางการเมืองระหว่างอียิปต์และซีเรีย)
แต่ด้วยปัญหาด้านการเมืองทำให้การจัดแข่งขันมหกรรมนี้ต้องถูกยกเลิกจัดบนดินแดนระหว่างสองทวีป กอปรกับในเวลานั้นทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากลเริ่มวางนโยบาย "แบน" ชาติที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งต่อไปไม่ให้เข้าร่วมแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก
ทำให้หลาย ๆ ชาติเริ่มถอนตัวจากการแข่งขัน ทำให้กาเนโฟครั้งที่สองในปี 1966 กลายเป็นรายการกีฬาที่แข่งกันเฉพาะชาติจากเอเชีย ภายใต้ชื่อ "เอเชียน กาเนโฟ" และนี่เป็นการแข่งขันครั้งสุดท้ายของรายการนี้ และเป็นการปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 1967
โดยการจัดครั้งที่สองนี้ ชาติที่รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพก็อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากอินโดนีเซีย นั่นคือกัมพูชา โดยใช้สนามกีฬาแห่งชาติโอลิมปิก กรุงพนมเปญ เป็นสังเวียนหลักของการแข่งขัน และ พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ เสด็จมาเป็นประธานเปิดการแข่งขันด้วยตัวพระองค์เอง
เอเชียน กาเนโฟ 1966 ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชนกัมพูชา เพราะนี่เปรียบเสมือนอีเวนต์กีฬาใหญ่ระหว่างประเทศหนแรกของประเทศ นักกีฬากว่า 2,000 คน จาก 17 ชาติเข้าร่วมชิงความเป็นหนึ่ง
กัมพูชาจบทัวร์นาเมนต์ด้วยการเป็นอันดับสาม คว้า 10 เหรียญทอง 42 เหรียญเงิน และ 10 เหรียญทองแดง เป็นรองจีนและเกาหลีเหนือ ชาติอันดับหนึ่งและสองของการแข่งขัน
นี่ถือเป็นความสำเร็จของการจัดการแข่งขันอีเวนต์กีฬาระดับประเทศหนแรกของกัมพูชา ภายใต้การใช้สนามโอลิมปิกของประเทศที่เป็นสังเวียนหลักของการจัดมหกรรมโอลิมปิกทางเลือก
สังเวียนหลักชิงโควตาฟุตบอลโลก 1966
สนามกีฬาแห่งชาติโอลิมปิก กรุงพนมเปญ ไม่ได้ถูกจัดเป็นสังเวียนสำคัญรองรับรายการกีฬาแค่ เอเชียน กาเนโฟ 1966 เท่านั้น สนามแห่งนี้ยังถูกใช้จัดการแข่งขันสำคัญครั้งหนึ่งบนหน้าประวัติศาสตร์เกมลูกหนังอย่าง ฟุตบอลโลก รอบคัดเลือกมาแล้ว
เนื่องด้วยสถานการณ์กระแสโลกในเวลานั้นมีความครุกรุ่นไปทั่วหลายพื้นที่ และเมื่อการคัดเลือกไปฟุตบอลโลก 1966 ในโซนเอเชีย/โอเชียเนีย เป็นการโคจรมาเจอกันระหว่าง เกาหลีเหนือ และ ออสเตรเลีย ก่อนการดวลกันหลายฝ่ายตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ในการจัดการแข่งขันครั้งนี้
ในเวลานั้นออสเตรเลียมีความเข้มงวดเรื่องกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อบรรดาทีมงานของเกาหลีเหนือ ส่วนหนึ่งมาจากความแตกต่างด้านอุดมการณ์ทางการเมืองด้วย ขณะที่เกาหลีเหนือเองก็ไม่มีสนามกีฬาฟุตบอลที่ผ่านมาตรฐานของฟีฟ่า (ในเวลานั้น)
ดังนั้นข้อสรุปที่ดีที่สุดก็คือการแข่งขันกันที่สนามกลางทั้งเหย้าและเยือน ก่อนที่หวยจะออกมาที่กัมพูชาที่สนามโอลิมปิก สเตเดียม พนมเปญ
ออสเตรเลียไม่ได้มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองกับกัมพูชา ขณะที่เกาหลีเหนือยิ่งแล้วใหญ่ ความสัมพันธ์ของสองผู้นำประเทศในเวลานั้นอย่าง สีหนุ และ คิม อิล-ซอง อยู่ในขั้นสนิทชิดเชื้อกันเป็นการส่วนตัว ดังการที่ทั้งสองชาติเป็นสมาชิกของขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
ถึงขั้นที่ว่าผู้นำกัมพูชาเป็นคนเสนอให้สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า จัดเกมดังกล่าวด้วยตัวเอง
เป็นเหตุให้การชิงตั๋วไปฟุตบอลโลกที่อังกฤษเกิดขึ้นต่อหน้าแฟน ๆ ที่เข้ามาชมเกมในสนามแห่งชาติกัมพูชาได้สำเร็จ โดยประชาชนเกินครึ่งแสนแบ่งฝั่งกันสนับสนุนทั้งสองชาติแบบครึ่งต่อครึ่ง ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี
ก่อนจะเป็น เกาหลีเหนือ จะชนะไปด้วยสกอร์รวม 9-2 ผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้เป็นครั้งแรก และอย่างที่ทุกคนทราบกัน ทีมโสมแดงทำผลงานหักปากกาเซียนลิ่วเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ
ถึงแม้ว่าการถูกใช้จัดเป็นสนามกลางชี้ชะตาทีมไปฟุตบอลโลกจะไม่ได้เป็นเหตุผลที่บ่งบอกถึงการใช้ชื่อ โอลิมปิก สเตเดียม ของกัมพูชา ทว่านี่ถือเป็นมรดกครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งที่สนามกีฬาแห่งชาติประเทศได้ถูกใช้จัดการแข่งขันกีฬาระดับโลก
ท่ามกลางเหตุการณ์สำคัญของประเทศ และมรดกชาติ
เนชั่นแนล โอลิมปิก สเตเดียม พนมเปญ ตั้งตระหง่านท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของกัมพูชามาช้านาน
เรื่องราวหลังการก่อตั้งสนามดังกล่าวในยุคของการปกครองของ พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ มีเหตุการณ์สำคัญต่อเนื่องในประเทศนี้ นั่นคือการเข้าปกครองโดยกลุ่มเขมรแดง (Khmer Rouge) สังเวียนแห่งนี้เคยเป็นทั้งลานขึ้น-ลงเฮลิคอปเตอร์ และเอาไว้อพยพชาวต่างชาติจากภัยสงครามในประเทศ
ทั้งยังเคยเป็นลานประหารชีวิตของบรรดาอดีตสมาชิกสาธารณรัฐเขมร ในช่วงรอยต่อยุคเจ้าสีหนุและเขมรแดง ภายใต้การนำของ นายพลลอน นอล มาแล้ว
แม้จะอยู่ในช่วงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนเขมรด้วยกันเอง ทว่าสนามโอลิมปิก พนมเปญ ไม่ได้รับความเสียหายถึงขั้นร้ายแรง นานวันเข้าจึงมีการอนุรักษ์และได้รับการปรับปรุงสนามรวมถึงบริเวณพื้นที่โดยรอบ
ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาอาคารสนามกีฬา ในปี 2000, การเปลี่ยนหญ้าสนามเป็นหญ้าเทียมเพื่อง่ายต่อการดูแลในปี 2015 หรือแม้แต่ในช่วงซีเกมส์ 2023 นี้ มีการปรับปรุงภาพลักษณ์สนามเพิ่มเติมและกลับมาใช้หญ้าจริงอีกครั้ง พร้อมเติมที่นั่งบนอัฒจันทร์ให้ขนาดสนามลดความจุลงเหลือ 30,000 ที่นั่ง เป็นต้น
ในวันธรรมดาช่วงที่ไม่มีการแข่งขันหรือจัดงานใด ๆ เนชั่นแนล โอลิมปิก สเตเดียม เปิดให้ประชาชนเข้ามาใช้ออกกำลังกาย และมักใช้เป็นสถานที่รองรับเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของประเทศอยู่บ่อยครั้ง เช่น ในช่วงโควิด-19 ระบาดหนักพื้นที่สนามก็เคยถูกใช้เป็นโรงพยาบาลสนามมาแล้ว
แม้กัมพูชาจะมีสนามกีฬาแห่งชาติแห่งใหม่ที่พร้อมรองรับอีเวนต์สำคัญระดับโลกในอนาคตต่อจากนี้
แต่เหนือสิ่งอื่นใด เชื่อเหลือเกินว่าคนกัมพูชาจะไม่มีวันลืมประวัติศาสตร์ของสนามกีฬาแห่งชาติเก่าที่มีชื่อคล้ายกับมหกรรมกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิกแต่อย่างใด
แหล่งอ้างอิง
บทความ Can Phnom Penh's Olympic Stadium Withstand the Force of Globalization?
https://www.sac.or.th/databases/southeastasia/subject.php?c_id=2&sj_id=32
https://www.sportskeeda.com/football/olympic-stadium-phnom-penh
https://www.khmernights.com/the-phnom-penh-olympic-stadium/
https://www.cambodiabeginsat40.com/map/listing/olympic-stadium/
https://en.wikipedia.org/wiki/Olympic_Stadium_(Phnom_Penh)
https://www.dezeen.com/2016/09/13/the-national-sports-complex-phnom-penh-1964-vann-molyvann-virgile-simon-bertrand/
https://architectuul.com/architecture/phnom-penh-national-stadium