"ผมเชื่อว่าการมีความฝันและเป้าหมายเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการใช้ชีวิต ผมจึงอยากให้เด็ก ๆ ของผมทั้งหมดต่างมีความฝันเป็นตัวเอง และมุ่งมั่นที่จะพยายามทำความฝันของตัวเองให้กลายเป็นจริง รวมถึงไม่ถอดใจให้กับมันง่าย ๆ" เคสุเกะ ฮอนดะ กล่าวกับ Main Stand เกี่ยวกับสิ่งที่เขาอยากจะให้เหล่านักเตะ ที่ไม่ว่าจะมาจากการได้รับการฝึกฝนศาสตร์ลูกหนังที่โรงเรียนฟุตบอลของเขา หรืออยู่ภายใต้การคุมทีมชาติกัมพูชาของเขาเป็น
แม้ก่อนหน้านี้ในช่วงตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทีมชาติกัมพูชาจะไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรแบบเป็นชิ้นเป็นอัน แต่หลังจากที่พวกเขาได้สร้างผลงานน่าประทับใจในศึกฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียนครั้งล่าสุด หรือ เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คัพ 2022 จากการเก็บแต้มในรอบแบ่งกลุ่มได้ 6 คะแนน โดยเอาชนะฟิลิปปินส์ 3-2 และบรูไน 5-1 นับเป็นผลงานที่ดีที่สุดของพวกเขาในการลงเล่นรายการนี้
มันก็กลายเป็นสัญญาณที่เริ่มบ่งบอกว่า "ฟุตบอลกัมพูชา" กำลังเดินไปข้างหน้าอยู่ โดยทุกก้าวนั้น เปี่ยมไปด้วยความหวังว่าสักวันพวกเขาจะได้พบกับอนาคตที่สดใส
Main Stand จึงขอพาทุกคน ย้อนดูเรื่องราวของทีมชาติกัมพูชา ตั้งแต่จุดเริ่มต้น จนไปพบกับอุปสรรคต่าง ๆ ระหว่างทาง ก่อนจะเจอจุดเปลี่ยนที่ทำให้พวกเขาสามารถพัฒนาตัวเองจากทีม "สมันน้อย" กลายมาเป็นหนึ่งในทีมที่ทุกชาติในอาเซียน ไม่สามารถประมาทได้อีกแล้วในตอนนี้
จุดเริ่มต้นก่อนถึงทางตัน
ถึงฟุตบอลจะเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในกัมพูชา แต่สำหรับทีมชาติของพวกเขานั้นกลับไม่ได้มีผลงานที่สามารถเป็นเครื่องยืนยันว่าพวกเขาเป็นแถวหน้าของวงการฟุตบอลอาเซียน และถูกจัดเป็นทีมรองบ่อนอยู่เสมอ
ฟุตบอลได้เข้ามายังประเทศกัมพูชาครั้งแรก ตอนที่พวกเขาตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1863-1953 ก่อนกีฬาชนิดนี้จะได้ความนิยมจากผู้คนในประเทศ แล้วนำไปสู่การก่อตั้งสมาคมฟุตบอลกัมพูชาอย่างเป็นทางการในปี 1933 ซึ่งกว่าที่พวกเขาจะเข้าไปเป็นชาติสมาชิกของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA ได้สำเร็จก็ต้องใช้เวลาถึง 20 ปี ในปี ค.ศ. 1953 ปีเดียวกับที่กัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส
รวมถึงเข้าไปเป็นชาติสมาชิกของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย หรือ AFC ในปี 1957 พร้อมกับลงแข่งในเกมการแข่งขันต่าง ๆ ของทาง FIFA
หลังเข้ามาเป็นชาติสมาชิกของ FIFA กัมพูชาก็ประเดิมลงเล่นเกมฟุตบอลระดับนานาชาติครั้งแรก กับการแข่งขันรอบคัดเลือกของศึก เอเชียน คัพ ปี 1956 โดยพบกับ ทีมชาติมาเลเซีย ก่อนจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไป 2-9 จากนั้นทีมชาติกัมพูชาก็ได้ลงเล่นเกมการแข่งขันเป็นระยะ ๆ
พวกเขาได้สิทธิ์ไปเล่นในศึก เอเชียน คัพ 1972 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยการแข่งขันครั้งนี้มีทีมเข้าร่วมทั้งหมด 6 ทีม ได้แก่ ไทย, กัมพูชา, อิหร่าน, อิรัก, เกาหลีใต้ และ คูเวต ซึ่งกัมพูชาก็สามารถคว้าอันดับ 4 ของรายการดังกล่าวมาครองสำเร็จ นับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของพวกเขา อีกทั้งศึก เอเชียน คัพ 1972 ยังเป็นทัวร์นาเมนต์ระดับทวีปครั้งแรกและครั้งเดียวในตอนนี้ของกัมพูชา ที่ได้สิทธิ์เข้าร่วม
กัมพูชายังคงพัฒนาต่อยอดศาสตร์ด้านฟุตบอลให้สูงอยู่เรื่อย ๆ จนในที่สุดพวกเขาก็ได้ลิ้มรสกับความสำเร็จครั้งแรกในการแข่งขันฟุตบอลระดับทีมชาติ หลังสามารถเอาชนะเวียดนามใต้ ในเกมรอบชิงชนะเลิศของศึกฟุตบอลฉลองเอกราชของเวียดนามใต้ (The South Vietnam Independence Cup) ประจำปี 1972 และต่อเนื่องในปี 1973 กับการแข่งขันฟุตบอล เพรสซิเดนท์ คัพ ของเกาหลีใต้ โดยทีมชาติกัมพูชา สามารถคว้าแชมป์รายการนี้ได้สำเร็จ ร่วมกับ ทีมชาติเมียนมาร์
ความสำเร็จในทั้งสองรายการนี้ ทำให้แผนการพัฒนาวงการฟุตบอลของประเทศให้ดีขึ้นของกัมพูชากำลังดำเนินไปได้อย่างราบรื่นมาก อย่างไรก็ตาม ความฝันของพวกเขาที่อยากจะทำให้วงการฟุตบอลของตัวเองมีรากฐานที่แข็งแกร่ง มีอันต้องหยุดชะงักลง เมื่อประเทศตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมืองที่มีส่วนให้การก้าวเดินสู่ความก้าวหน้าของกัมพูชา ถูกแช่แข็งไปเป็นเวลานับหลายปี
ล้มเหลวมาตลอด
ในช่วงต้นปี 1970 โลกกำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งความตึงเครียดจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสงครามเย็น กัมพูชาที่ขณะนั้นมีความวุ่นวายเกิดขึ้นจากการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างกลุ่มผู้มีอิทธิพลรายใหญ่ภายในประเทศ ได้มีการก่อรัฐประหารขึ้นโดยกลุ่มอำนาจของนายพล ลอน นอล พร้อมแต่งตั้งนายพลคนนี้ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของประเทศ ก่อนที่ในปี 1975 กองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์แห่งกัมพูชา หรือที่รู้จักกันในนาม "เขมรแดง" (Khmer Rouge) จะเข้าโค่นล้มรัฐบาล ลอน นอล และยึดกรุงพนมเปญ รวมถึงปกครองประเทศกัมพูชา
ซึ่งในตอนแรก ประชาชนชาวกัมพูชา ต่างรู้สึกยินดีกับการมาของกลุ่มเขมรแดง ที่ช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากรัฐบาลเผด็จการของนายพล ลอน นอล พร้อมนำพาความสงบมาให้กับประเทศ โดยที่ไม่รู้ว่า สิ่งที่พวกเขากำลังจะเจอกับการปกครองประเทศของกลุ่มเขมรแดงที่โหดร้ายยิ่งกว่ารัฐบาลของนายพล ลอน นอล เสียอีก
กัมพูชาตกอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มเขมรแดง ที่มีแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์สุดโต่ง และเชื่อว่าระบบสังคมนิยมชาวนา จะช่วยให้กัมพูชาเข้าสู่ยุครุ่งเรืองได้ พวกเขาจึงต้องการให้ประชาชนกัมพูชาทุกคนเป็นชนชั้นกรรมาชีพ โดยจับผู้คนที่ทำงานอยู่ในสังคมทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็น หมอ, ครู, พ่อค้า, ศิลปิน และอีกหลาย ๆ อาชีพ มาทำนาให้หมด เพื่อเป็นการทำลายระบบทุนนิยมและชนชั้นให้หมดไปจากประเทศแห่งนี้ และแน่นอนว่า คนที่ทำงานในวงการฟุตบอลกัมพูชา ก็เข้าข่ายนี้ด้วยเหมือนกัน
เขมรแดงดำเนินนโยบายเช่นนี้ เป็นเวลาถึง 4 ปี ส่งผลให้ประชาชนชาวกัมพูชาจำนวนมากต้องเสียชีวิตจากการถูกกลุ่มเขมรแดงประหารชีวิต เพราะมองว่าพวกเขาเป็นฝ่ายที่ฝักใฝ่ในระบบทุนนิยม ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อแนวคิดระบบสังคมนิยมของตนเอง หรือไม่ก็เสียชีวิตจากการอดอาหารแล้วถูกใช้แรงงานอย่างหนัก
และถึงแม้การกดขี่ข่มเหงของกลุ่มเขมรแดงต่อประชาชนชาวกัมพูชาจะสิ้นสุดลงในปี 1979 แต่ความสงบภายในประเทศก็ยังไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น เนื่องจากเวียดนามก็ได้นำกองกำลังทหารของตัวเอง บุกเข้ารุกรานกัมพูชา เพื่อหวังจะได้แผ่อิทธิพลคอมมิวนิสต์โซเวียตในประเทศแห่งนี้ สงครามระหว่างกัมพูชากับเวียดนาม กินเวลาไป 10 กว่าปี จนท้ายที่สุดเวียดนามก็ได้ประกาศหยุดยิงแล้วถอนกำลังทั้งหมดกลับประเทศในปี 1990
หลังจากที่ประเทศถูกแช่แข็งมานานกว่า 20 ปี กัมพูชาก็ได้ลืมตาดูสังคมโลกภายนอกอีกครั้ง แล้วพวกเขาก็ต้องพบว่าชาติของตัวเองที่ไม่มีการพัฒนาอะไรเลยในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 1970 ได้ถูกชาติอื่น ๆ นำหน้าไปแล้วหลายก้าว และแน่นอนว่าเรื่องของฟุตบอลก็เป็นแบบนั้นด้วยเช่นกัน
กัมพูชาได้กลับมาลงเล่นเกมการแข่งขันฟุตบอลของทาง FIFA อีกครั้งในปี 1996 โดยได้เข้าแข่งขันในรายการ ไทเกอร์ คัพ หรือศึกฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน แต่ด้วยความที่ห่างหายจากการลงฟาดแข้งในเกมฟุตบอลระดับนานาชาติมานาน ทำให้ผลงานของพวกเขาในการแข่งขันครั้งนี้ ต้องจบลงด้วยการตกรอบแรก แพ้ 4 เกมรวด ยิงได้ลูกเดียวและโดนถลุงประตูไป 12 ลูก
จากนั้นพวกเขาก็ได้ลงเล่นในศึกฟุตบอลโลก 1998 รอบคัดเลือกโซนเอเชีย และพ่ายแพ้ให้กับชาติอื่น ๆ อย่างเละเทะ แพ้ 5 จาก 6 เกม ยิงได้ 2 เสียไปถึง 27 ประตู
ผลงานของฟุตบอลกัมพูชา อยู่ในจุดที่ตกต่ำตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา จากการลงเล่นทั้งสองรายการนี้ รวมไปถึงรอบคัดเลือกของศึกเอเชียนคัพด้วย จนทีม ๆ นี้กลายเป็นทีมไม้ประดับในทุกการแข่งขันอย่างสมบูรณ์แบบ กระทั่งในปี 2016 เป็นต้นมา กัมพูชาก็ได้เจอกับจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้พวกเขาได้รับโอกาสพัฒนาวงการฟุตบอลภายในประเทศของตัวเองใหดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
ก้าวที่สำคัญ
หลังล้มเหลวมาตลอด 20 ปี ในที่สุดความหวังของกัมพูชาที่อยากจะพัฒนาฟุตบอลภายในประเทศให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้ถูกจุดขึ้นเมื่อ "FIFA Forward" โครงการที่ทาง FIFA สร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนทุนช่วยส่งเสริมและพัฒนาวงการกีฬาฟุตบอลตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งกัมพูชาเองก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับการช่วยเหลือทางด้านฟุตบอลจากโครงการนี้ด้วยเช่นกัน
การเข้ามาของ FIFA Forward ได้ช่วยให้กัมพูชามีทุนใช้สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวงการฟุตบอลภายในประเทศ เช่น สนามฟุตบอลที่ทันสมัยได้มาตรฐานอย่าง สนามกีฬาแห่งชาติมรดกเตโช ที่เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2021 สามารถรองรับผู้คนได้มากถึง 60,000 คน ใช้งบจัดสร้างกว่า 6,500 ล้านบาท จากเงินทุนส่วนหนึ่งของทั้งโครงการ FIFA Forward และทางประเทศจีน และสนามแห่งนี้จะถูกใช้เป็นสังเวียนการแข่งขันฟุตบอลนัดเปิดสนาม และนัดรอบชิงชนะเลิศ ของมหกรรมกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ วันที่ 5-17 พฤษภาคม 2023
หรือการที่ FIFA Forward มีส่วนร่วมในการทำให้ลีกฟุตบอลของกัมพูชามีความเป็นสากลมากขึ้น ด้วยการสนับสนุนให้พวกเขาได้รีแบรนด์ลีกฟุตบอลระดับรอง หรือ "Cambodian League 2" ขึ้นมาใหม่เมื่อปี 2016 เพื่อเพิ่มความเข้มข้นของการแข่งขันฟุตบอลลีกภายในประเทศให้มากขึ้น และก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพด้วยการทำให้เกมทั้งในระดับลีกสูงสุดและลีกรองมีมาตรฐานตรงตามที่ FIFA ให้การยอมรับ
อีกทั้งมีการออกแบบโลโก้ลีกขึ้นมาใหม่ เมื่อต้นปี 2022 เพื่อให้มีความสอดคล้องกับประเทศกัมพูชายิ่งขึ้น โดยนำเอาตัวอักษร CPL ซึ่งเป็นตัวย่อของ "Cambodia Premier League" ชื่ออย่างเป็นทางการของลีกฟุตบอลระดับสูงสุดของกัมพูชา เข้ามาประกอบรวมกันเป็นลักษณะที่คล้ายกับแผนที่ของประเทศกัมพูชา
นอกจากนี้ FIFA Forward ยังได้ช่วยกัมพูชาในการจัดตั้งศูนย์ฝึกฟุตบอลสำหรับเยาวชนขึ้นทั่วทุกจังหวัดของประเทศ และจัดอบรมเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นให้กับเหล่าทีมงานสตาฟฟ์โค้ช, เจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ในวงการฟุตบอลกัมพูชาอยู่เป็นระยะ ๆ
"FIFA Forward มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวงการฟุตบอลของเรา" เขียว สารัธ เลขาธิการของสมาคมฟุตบอลกัมพูชา กล่าวกับ FIFA.com
"สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด เพื่อให้วงการฟุตบอลกัมพูชาก้าวต่อไปข้างหน้าก็คือ การสร้างสนามฟุตบอลที่ดีและปลอดภัยขึ้นในพื้นที่ทั่วประเทศของเรา และด้วยโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เราได้สร้างขึ้นมาให้กับผู้คนในประเทศ เราหวังว่าเราจะสามารถไปได้ถึงรอบรองชนะเลิศในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลของซีเกมส์ 2023 ในฐานะที่เราได้เป็นเจ้าภาพ"
"นี่คือแผนของเราที่มีชื่อว่า 'Road 2023' เพื่อเติมเต็มความทะเยอทะยานของเรา สมาคมฟุตบอลกัมพูชา จึงอยากจะใช้ความช่วยเหลือที่ได้รับมาจาก FIFA Forward สานฝันของเราให้กลายเป็นจริง"
และทุกอย่างมันก็เริ่มส่งสัญญาณไปในทางที่ดี เมื่อกัมพูชาสามารถพาตัวเองผ่านเข้าสู่รอบที่ 2 ของศึกฟุตบอลโลก รอบคัดเลือกโซนเอเชียได้สำเร็จในปี 2018 โดยสามารถเอาชนะมาเก๊าไปได้ด้วยสกอร์รวมจากเกมทั้งสองเลก 4-1 และทำแบบนี้ได้อีกครั้งในปี 2022 จากการเอาชนะปากีสถานไปได้ด้วยสกอร์ 4-1 เหมือนกัน หลังก่อนหน้านี้พวกเขามักจะตกรอบแรกอยู่เสมอในการแข่งขันรายการนี้ ซึ่งแม้ว่าผลงานดังกล่าวอาจจะไม่ยิ่งใหญ่อะไร แต่มันก็ได้ทำให้กัมพูชาเห็นแล้วว่าพวกเขากำลังก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยวิธีการที่ถูกต้องอยู่
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาวงการฟุตบอลกัมพูชาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้ ก็ไม่ได้มาจากการได้รับความช่วยเหลือและแรงสนับสนุนจากโครงการ FIFA Forward เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะในช่วงเดือนสิงหาคม 2018 กัมพูชาก็ได้เจอกับอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้ผลงานของพวกเขาในสนามแข่งขันกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี
ยึดมั่นในแนวทางที่ใช่
หากใครได้ติดตามฟุตบอลญี่ปุ่นมาอยู่ตลอด ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องเคยได้ยินชื่อของนักเตะเลือดซามูไรคนนี้สักครั้งอย่างแน่นอน สำหรับ "เคสุเกะ ฮอนดะ" อดีตตัวรุกมากเทคนิคและประสบการณ์ของทีมชาติญี่ปุ่น วัย 36 ปี
ซึ่งเขาคนนี้ได้สร้างเซอร์ไพรส์ครั้งใหญ่ ด้วยการตกลงรับงานเป็นเฮดโค้ชให้กับทีมชาติกัมพูชาเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2018 ทั้งที่ช่วงเวลาดังกล่าว เขาเพิ่งจะเซ็นสัญญาเป็นนักเตะให้กับทีม เมลเบิร์น วิคตอรี่ ในลีกสูงสุดของออสเตรเลียไปเอง พร้อมกับประกาศว่าเขาจะไม่ขอรับเงินเดือนจากการทำงานเป็นนายใหญ่ให้กับทีมชาติกัมพูชาอีกด้วย เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าเขาอยากจะทำงานนี้จริง ๆ
"ผมอยากจะทำให้กัมพูชามีสไตล์การเล่นฟุตบอลที่เป็นของตัวเองอย่างชัดเจน และให้ทุกคนได้เห็นว่าสไตล์การเล่นฟุตบอลของกัมพูชานั้นเป็นอย่างไร" เคสุเกะ ฮอนดะ ให้สัมภาษณ์หลังเข้ามารับงานเป็นเฮดโค้ชให้กับทีมชาติกัมพูชาอย่างเป็นทางการ
ในตอนแรกที่ฮอนดะเข้ามาทำหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ของทีมชาติกัมพูชา เขามักจะใช้วิธีการสื่อสารกับนักเตะและสตาฟฟ์คนอื่น ๆ ภายในทีมเพื่อคอยติดตามความเป็นไปของทีมผ่านทางออนไลน์หรือวิดีโอคอลเสียส่วนใหญ่
และได้ผู้ช่วยของเขาอย่าง เฟลิกซ์ ดัลมาส เป็นคนที่คอยพานักเตะทีมชาติกัมพูชาลงซ้อมอยู่ที่หน้างานจริง ๆ รวมถึงทำตามแผนงานที่ได้รับมอบหมายจากทางฮอนดะอยู่ตลอด
"เขา (เคสุเกะ ฮอนดะ) เป็นคนที่มีคาแร็กเตอร์ไม่เหมือนใครในโลกของฟุตบอล" เฟลิกซ์ ดัลมาส กล่าวถึง เคสุเกะ ฮอนดะ กับทาง The Asian Game
"ทุกสิ่งที่เขาทำนั้นมันอาจจะดูผิดปกติไปสักหน่อย แต่นั่นก็เป็นเพราะเขาอยากจะพบเจอกับความท้าทายอยู่เสมอ เขามีความคิดที่อยากจะเป็นโค้ช และเขาเองก็มีความรู้สึกที่ดีต่อกัมพูชารวมถึงผู้คนที่เขารู้จักที่นี่ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เขาอยากจะหาทางช่วยเหลือวงการฟุตบอลของพวกเขา"
พวกเขาทั้งสองได้เข้ามาเปลี่ยนสไตล์การเล่นฟุตบอลของกัมพูชา จากเดิมที่เล่นแบบตั้งรับลึก ๆ 11 คนในแดนตัวเอง แล้วพอได้บอลก็สาดยาวขึ้นหน้า วัดดวงให้นักเตะที่มีความเร็ววิ่งขึ้นไปเล่นเกมรุกอย่างไม่มีแบบแผน ให้กลายเป็นทีมที่กล้าเล่นเกมรุกใส่คู่แข่งมากขึ้น กล้าที่จะต่อบอลเพื่อแกะเพรสซิ่งของคู่แข่ง และเล่นเกมรับอย่างมีวินัยขึ้น เพื่อต่อยอดให้เกมรุกของทีมดีขึ้นตามมา และส่งผลให้กัมพูชาสามารถทำผลงานคว้าชัยชนะได้ 1 เกม ในศึกฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน 2018 โดยเอาชนะทีมชาติลาวไป 3-1 ซึ่งนั่นนับเป็นการเก็บชัยชนะได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี ของกัมพูชากับการลงแข่งขันรายการนี้
แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะไม่ได้เจอกับอุปสรรคอะไรเลยระหว่างทาง เพราะฮอนดะและดัลมาสรู้ดีว่า ณ เวลานั้น กัมพูชาเป็นทีมที่ด้อยกว่าแทบทุกทีมในระดับที่สูงขึ้นมาจากอาเซียน ก็คือระดับทวีปเอเชีย และจะต้องใช้เวลาไปอีกสักพักถึงจะสามารถทำให้ทีม ๆ นี้กลายเป็นทีมที่พอจะต่อกรกับคู่แข่งชาติอื่น ๆ ได้อย่างสูสี ซึ่งมันก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ
เคสุเกะ ฮอนดะ ได้พาทีมชาติกัมพูชาลุยศึกฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือกโซนเอเชีย รอบสอง โดยพวกเขาถูกจับให้ไปอยู่ในกลุ่ม C ร่วมกับ ฮ่องกง, บาห์เรน, อิรัก และชาติยักษ์ใหญ่ในวงการฟุตบอลทวีปเอเชียอย่าง อิหร่าน
ซึ่งจากทั้งหมด 8 เกมที่ทีมชาติกัมพูชาได้ดวลแข้งกับเพื่อนร่วมกลุ่มอีกทั้ง 4 ทีม พวกเขาไม่สามารถเก็บสามแต้มได้เลย เสมอ 1 แพ้ 7 ยิงได้แค่ 2 ประตู และโดนคู่แข่งถลุงตาข่ายไปมากถึง 44 ประตู โดยเฉพาะจากสองเกมที่กัมพูชาได้เจอกับ อิหร่าน ในรอบนี้ พวกเขาก็เสียประตูไปถึง 24 ประตูแล้ว แบ่งเป็นเกมที่แพ้ 0-14 ในปี 2019 และเกมแพ้ 0-10 ในปี 2021
อย่างไรก็ตาม ฮอนดะและดัลมาสกลับมองว่านี่เป็นเรื่องดีที่จะทำให้ลูกทีมของพวกเขา ได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากความผิดพลาดของตัวเอง เมื่อได้ลงสนามในเกมการแข่งขันระดับทวีปเอเชีย และทำให้เหล่านักเตะทีมชาติกัมพูชารู้ว่าพวกเขาจะต้องพยายามพัฒนาตัวเองให้มากกว่านี้ เพื่อสลัดคำว่า "ทีมไม้ประดับ" ออกจากทีมของพวกเขาไปให้ได้
"เราให้ความสำคัญกับการเติบโตของทีมมากกว่าความสำเร็จ ผมว่าวิธีที่ดีที่สุดในการทำให้ทีมเกิดการพัฒนาไปในทางดีขึ้นกว่าเดิมคือการให้นักเตะได้เจอกับความล้มเหลว ให้พวกเขาได้ใช้ความกล้าที่จะลองทำอะไรบางอย่างแล้วพบกับความล้มเหลว จากนั้นก็นำความผิดพลาดเหล่านั้นมาปรับปรุงแก้ไขตัวเองให้ดีขึ้น" ดัลมาส กล่าว
"ผมเชื่อว่าความล้มเหลวในครั้งนี้จะเป็นสิ่งที่จะช่วยให้พวกเขาเติบโตขึ้น ช่วยให้พวกเขามีทัศนคติในการเล่นฟุตบอลรวมถึงการใช้ชีวิตที่ดี ทำให้พวกเขาเป็นคนที่ไม่ท้อถอยเมื่อเจอกับอุปสรรค พยายามแก้ไขให้กลับมาอยู่ในจุดที่ควรจะเป็น เมื่อสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามที่พวกเขาต้องการ เป็นคนที่มีระเบียบ วางแผนทำงานอย่างเป็นระบบ ตั้งเป้าหมายและพยายามทำให้สำเร็จ"
"ในฐานะผู้เล่น และในฐานะมนุษย์ ปัญหาใหญ่ที่สุดที่จะคอบฉุดรั้งการเติบโตของเราคือความกลัวที่จะล้มเหลว เมื่อเจอกับความล้มเหลว เราก็แค่ยอมรับ และเก็บมันมาเป็นประสบการณ์พร้อมกับก้าวไปข้างหน้าต่อไป"
"เรามีแนวทางการเล่นฟุตบอลเป็นของตัวเอง และเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่านี่คือแนวทางที่ถูกต้องสำหรับเรา เราเข้าใจว่าทีมของเราอยู่ในจุดไหน เราเข้าใจว่าฟุตบอลกัมพูชาอยู่ที่จุดไหนในตอนนี้"
พร้อมกับให้ลูกทีมยืนหยัดในการเล่นฟุตบอลตามแบบที่ฮอนดะต้องการจะให้เป็นต่อไป เพราะอีกไม่นานสิ่งต่าง ๆ ที่อดีตแข้งชาวญี่ปุ่นรายนี้ได้ปลูกฝังให้กับฟุตบอลทีมชาติกัมพูชา กำลังจะเริ่มผลิดอกออกผลขึ้นมาแล้ว และมันก็ได้ทำให้ทุกคนเห็นภาพแล้วว่า ฟุตบอลกัมพูชากำลังพัฒนาไปข้างหน้าอยู่ จากการการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียนครั้งที่ผ่านมา
การพัฒนาที่เห็นภาพชัดเจน
เคสุเกะ ฮอนดะ ได้พาทีมชาติกัมพูชาลุยศึกฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน 2022 หรืออีกชื่อก็คือ เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คัพ 2022 ซึ่งนี่ก็เป็นรอบที่ 3 แล้วที่ฮอนดะ ได้คุมทีมชาติกัมพูชาลงเล่นในรายการนี้ และศึกครั้งนี้เองที่ฮอนดะสามารถสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ให้กับทีม ๆ นี้ ได้อย่างมากมาย
เพราะนี่คือการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียนที่กัมพูชาสามารถทำผลงานได้ดีที่สุด นับตั้งแต่ที่พวกเขาได้ลงเล่นรายการนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1996 พวกเขาสามารถเก็บแต้มไปได้ 6 คะแนน จากการลงเล่น 4 เกม โดยสามารถเอาชนะฟิลิปปินส์ 3-2 และบรูไน 5-1
เป็นครั้งแรกที่กัมพูชาสามารถทำประตูได้ทุกเกมในการแข่งขันครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่เกมที่พวกเขาเอาชนะฟิลิปปินส์ 3-2, เกมแพ้อินโดนีเซีย 1-2, เกมถล่มบรูไน 5-1 และเกมแพ้ไทย 1-3 ครั้งแรกที่พวกเขาสามารถทำประตูแตะเลขสองหลักได้สำเร็จในศึกฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน โดยทำไปได้ 10 ประตู และเป็นศึกฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียนครั้งแรกที่กัมพูชาสามารถทำประตูได้มากกว่าจำนวนประตูที่เสียไป โดยเสียไปเพียง 8 ประตู
และถึงแม้กัมพูชาจะยังไม่สามารถตีตั๋วเข้าสู่รอบรองชนะเลิศของรายการนี้ได้สำเร็จ แต่ เคสุเกะ ฮอนดะ กลับรู้สึกภาคภูมิใจกับผลงานของลูกทีมของเขาที่สามารถเล่นได้อย่างยอดเยี่ยมโดยไม่มีท่าทีว่าจะถอดใจยอมแพ้เลยแม้แต่น้อย
หลังเกมนัดสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่ม ที่กัมพูชาแพ้ให้กับไทย 1-3 ที่สนามกีฬาธรรมศาสตร์ รังสิต และส่งผลให้พวกเขาตกรอบไป ฮอนดะได้โพสต์ข้อความชื่นชมนักเตะทีมชาติกัมพูชาในศึกฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียนครั้งนี้ ผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัวของตัวเอง
"แม้เราจะแพ้ไทย 1-3 แต่ลูกทีมของผม กลับเล่นได้อย่างยอดเยี่ยม และผมก็รู้สึกภูมิใจในตัวพวกเขา"
อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้ เคสุเกะ ฮอนดะ จะได้อำลาบทบาทเฮดโค้ชของทีมชาติกัมพูชาชุดใหญ่ไปเรียบร้อยแล้ว แต่เขายังคงเหลืออีกหนึ่งภารกิจสำคัญกับวงการฟุตบอลกัมพูชา นั่นคือการพาทีมชาติกัมพูชาชุด U-23 ลงเล่นในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลของมหกรรมกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ โดยพวกเขาจะอยู่ในกลุ่ม A ร่วมกับ อินโดนีเซีย, เมียนมาร์, ฟิลิปปินส์ และ ติมอร์-เลสเต
สุดท้ายนี้ หากกัมพูชายังคงยึดมั่นและทำตามแนวทางที่ฮอนดะได้วางเอาไว้ให้กับพวกเขาได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นฟุตบอลทีมชาติกัมพูชาก้าวไปอยู่ในจุดที่เราอาจยังไม่เคยคิดเคยฝันว่าพวกเขาจะสามารถไปถึงก็เป็นได้
แหล่งอ้างอิง
https://www.fifa.com/news/cambodia-reviving-historical-passion-for-football
https://www.fifa.com/fifaplus/en/articles/cambodias-football-story-from-the-highs-of-the-1972-asian-cup-to-depths-of-despair
https://www.rsssf.org/tablesv/vietnatday.html
https://www.cambodiasportsreview.com/history-of-football-in-cambodia/
https://www.bbc.com/news/world-asia-pacific-10684399
https://time.com/5486460/pol-pot-cambodia-1979/
https://www.theguardian.com/football/2018/aug/12/keisuke-honda-to-coach-cambodia-national-team-while-playing-in-a-league
https://www.theasiangame.net/honda-driving-cambodia-forward/