Feature

บททดลองเสนอ : แมนฯยูไนเต็ด ยุคใหม่ ควรใช้บอลชิงจังหวะ มากกว่าบุกไม่ยั้ง ? | Main Stand

หากท่านใดได้รับชมการเล่นของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในช่วงเดือนหลัง โดยเฉพาะ 2-3 แมตช์หลังสุด อาจพบว่าพลพรรคปีศาจแดงโดนพับสนามบุกแทบจะตลอดทั้งเกม ครองบอลเป็นรอง ต่อบอลขาด ๆ เกิน ๆ โดนเพรสซิ่งจนโงหัวไม่ขึ้น หรือกระทั่งความผิดพลาดส่วนบุคคลของนักเตะที่ส่งผลให้ทีมถึงขั้นแพ้ยับ (แพ้ เซบีญา 0-3) และหืดจับต้องดวลฎีกากว่าจะเข้ารอบ (ชนะจุดโทษ ไบร์ทตัน 7-6)

 


ทำให้ข้อวิจารณ์ของทั้งโค้ชคีย์บอร์ด บรรดากูรูที่เป็นแฟนคลับ หรือกระทั่งโค้ชอาชีพ ต้องถามถึง “DNA” ของสโมสรที่เหมือนได้รับการปลูกฝังว่าต้องเล่น “บอลบุก” บิลด์-อัพ ครองบอลกดพื้นที่คู่ต่อสู้ เข้าทำแบบสร้างสรรค์ คลาสสิก และยิงถล่มทลายแบบในทศวรรษก่อนที่ทีมครองความยิ่งใหญ่ในทวีปได้

กระนั้นเวลาได้ล่วงเลยมาเกิน 10 ปี ทำให้เกิดคำถามที่ตามมาซ้อนทับกันไปอีกขั้นว่า แท้จริงนั้น แทนที่จะคงปณิธานไว้แบบยึดมั่นถือมั่น สู้เปลี่ยนไปเล่นในแบบที่เคยใช้แล้วมีผลงาน อย่างการเล่นแบบ “ฉาบฉวย” หรือ “ชิงจังหวะ” ยกสถานะขึ้นมาเป็น DNA แบบใหม่จะเข้าทีกว่าหรือไม่ ?

Main Stand จึงพาไปร่วมประเมิน เพื่อ “บททดลองเสนอ” ว่าด้วย DNA ของปีศาจแดงยุคนี้ว่าควรจะเป็นแบบใด ?

 

ทุกอย่างมีความเปลี่ยนแปลง

ศัพท์ทางวิชาการหรู ๆ ศัพท์หนึ่งที่ท่านใดเรียนสายสังคมศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์อาจเคยได้ผ่านตาในชั้นเรียนมาบ้างไม่มากก็น้อย นั่นคือ “การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift)” ที่ว่าด้วยวัฏจักรการเปลี่ยนแปลงทางความรู้หรือการรับรู้ จากการที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบนั้น ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงไป หรือให้เข้าใจง่าย ๆ คือ “เมื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่ ย่อมทำให้ความรู้ทั้งกระบิเปลี่ยนตามไปด้วย”

เช่น ครั้งหนึ่งในเรื่องของการรักษาโรค ในยุคโบราณของจีน ส่วนมากตั้งต้นจากการพิจารณา “ธาตุในร่างกาย” เป็นสำคัญ ว่าไหลเวียนดีไหม มีสิ่งใดชงกันหรือไม่ ธาตุไฟพุ่งพรวดขึ้นมาขนาดไหน แล้วจึงจัดยาลูกกลอน การฝังเข็มหรือใช้ลมปราณตามหน้างาน แต่เมื่อโลกค้นพบ “Germs” ว่าเป็นต้นกำเนิดของความป่วยไข้ และการแพทย์สมัยใหม่ก็เน้นหนักไปที่การผ่าตัด การใช้เคมีภัณฑ์ปรุงยา และการวินิจฉัยโรคผ่านเทคโนโลยี ดังนั้นในแง่ของความรู้จึงเปลี่ยนผ่านตามไปด้วย

กระนั้นไม่ได้หมายความว่า การรักษาแบบจีนผิดโดยสิ้นเชิงแต่อย่างใด นั่นเพราะในช่วงหนึ่งสิ่งนี้เคยเป็นความรู้สำหรับการนำไปใช้รักษาคนไข้จริง ๆ และมันก็ใช้รักษาได้จริง ๆ ก่อนที่จะเกิดความรู้แบบใหม่เข้ามาท้าท้าย และพิสูจน์ได้ว่าเป็นสิ่งที่ยึดถือได้มากกว่า นี่จึงเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นกับความรู้ชุดเก่า ก่อนจะตกผลึกเกิดเป็นแพทย์แผนปัจจุบัน

เช่นนั้นหากแทนค่าว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นหน่วยศึกษาหนึ่งที่ไม่ได้มีความหยุดนิ่งตายตัว ในอดีตที่ผ่านมาหนทางที่นำไปสู่ความสำเร็จคือ “การบุกไม่ยั้ง” เดินหน้าฆ่าให้เรียบ ติดตั้งความเป็นเพชฌฆาตในนักเตะ แม้จะเหลือเวลาในการแข่งขันไม่มากก็จำเป็นที่จะต้องบุก แม้นำขาดก็ต้องบุก และเอนเตอร์เทนแฟนบอลให้คุ้มค่าตั๋ว

กระนั้นเมื่อเข้าสู่ยุคปัจจุบัน การบุกแบบวันเวย์ในโลกฟุตบอลใช่ว่าจะทำให้ทีมประสบความสำเร็จเสมอไป ดังที่เห็นได้จากในหลายกรณีที่ทีมที่โดนกดดันทั้งเกม อยู่ดี ๆ กลับพลิกชนะได้เสียอย่างนั้น หรือทีมที่ไม่บิลด์-อัพ เน้นรับแน่น ๆ และขอเพียงจังหวะเดียวเล่นสวนกลับ หรือกระทั่งการชิงจังหวะรอคู่ต่อสู้พลาดจังหวะเดียวแล้วเปลี่ยนเป็นประตูได้ 

หรือกล่าวมากไปกว่านั้น นั่นคือกระบวนทัศน์ที่เคยเป็นสรณะกลับเป็นเรื่องที่โดนท้าทาย ว่าแท้จริงแล้วก็ไม่ได้อยู่ยกคงกระพันหรือจะทรงประสิทธิภาพไปชั่วกาลปาวสาน กลับกันการเล่นแบบที่เคยคิดกันว่าเป็นสิ่งที่มีไว้ให้ทีมรองบ่อน ทีมที่มีคุณภาพน้อยกว่า หรือทีมที่ไม่ฟิตเต็มถัง ไว้ใช้ในการเอาตัวรอดจากสิงสาราสัตว์กลับสร้างวิกฤตให้เกิดขึ้นได้

และที่สำคัญ สำหรับการเล่นดังกล่าวได้นำมาสู่ผลสำเร็จต่อปีศาจแดงหลายต่อหลายครั้ง ที่เห็นได้ชัดคือ ในฤดูกาล 2019-20 แมตช์เปิดสนาม ที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ถล่ม เชลซี ไป 4-0 มองเผิน ๆ เหมือนว่าเป็นผลการแข่งขันที่มาจากการเล่นระดับเวิลด์คลาส แต่ในรายละเอียดเชลซีครองบอลกดดันมาก่อน แต่โชคไม่เข้าข้างทั้งยิงชนเสาชนคานสนั่น และโดนปีศาจแดงชิงจังหวะสวนกลับจนเสียประตู รวมถึงหาโอกาสเข้าทำแบบฉาบฉวยแบบได้ก็ดีไม่ได้ก็เน้นรอโอกาส แน่นอนว่าการเล่นแบบนี้ย่อมเกิดความไม่สม่ำเสมอและคาดการณ์ไม่ได้ ดังที่เห็นในเกมต่อ ๆ มาที่เสมอหรือถึงขั้นแพ้เลยทีเดียว

แต่เมื่อต่อมาปีศาจแดงมีความพยายามในการหวนคืนกระบวนทรรศน์ที่เคยเป็นโดยการพยายามเล่นให้ได้แบบที่อดีตเคยทำได้ แต่สิ่งที่เห็นกลับลงเอยด้วยคำที่แฟนบอลแซวอยู่ช่วงหนึ่งว่า “ลูปนรก” คือแพ้สักครั้งแล้วเล่นดี 4-5 แมตช์ ก่อนจะออกเสมอและแพ้วนไปอีกครั้ง

แต่เมื่อกลับมาพิจารณาในเกมปะทะกับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ในยุคนี้ที่เป็นอภิมหึมามหาเจ้าพ่อเกมรุก ยิงสนั่น ดุดันไม่เกรงใจใคร มีการเล่นฉาบฉวย และชิงจังหวะ มีผลทำให้จากที่แฟนบอลคิดไปเรียบร้อยแล้วว่า “แมตช์นี้หมอบแล้ว” แต่พวกเขากลับชนะได้แบบหน้าตาเฉย

กระนั้นด้วยวิกฤตที่ยังไม่ถึงขั้นที่จะทำให้เกิดการยอมรับได้ การเข้ามาของ เอริค เทน ฮาก ที่เน้นเกมรุก บิลด์-อัพ และเพรซซิ่ง จึงเปรียบเสมือน “ช่องทาง” ในการหายใจหายคอระหว่างวิกฤตของกระบวนทรรศน์เดิม ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริงแบบเห็นได้ชัดในหลาย ๆ ครั้ง อย่างในแมตช์ที่พบกับ อาร์เซนอล ในช่วงต้นฤดูกาล 2022-23 หรือ บาร์เซโลนา ในแมตช์ที่ 2 ของยูโรป้า ลีก รอบเพลย์ออฟ แต่ในแมตช์ใดที่ทำไม่ได้ก็แพ้เละเช่นกัน ทั้ง 0-4, 3-6 หรือ 0-7 สด ๆ ร้อน ๆ 

ดังนั้นการยกสถานะของบอลฉาบฉวยและชิงจังหวะขึ้นมาเป็นกระบวนทรรศน์ใหม่จึงทำให้คิดได้ว่า อาจเป็นช่องทางลัดที่ไม่จำเป็นให้ยื้อเวลาวิกฤตออกไปถ้าปรับเปลี่ยนไปเสียเลย ในความคาดหวังที่ว่ากระบวนทรรศน์นี้จะเป็นสรณะและทำให้สโมสรกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง

 

ป๋าพอแล้ว

แม้การพิจารณาในเชิงแนวความคิดจะทำให้เห็นถึงอะไรบางอย่างที่มีความเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนผ่านไปแบบทั้งยวง แต่ในบางครั้งการพิจารณาผ่าน “บุคคล” ในฐานะตัวแสดงที่ทรงอิทธิพลที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ย่อมมีความสำคัญไม่แพ้กัน

แน่นอน “เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน” คือบุคคลดังกล่าวของสโมสร ไม่ว่าจะเป็นการพาสโมสรกลับมาทวงบัลลังก์แห่งเกาะอังกฤษ พาเถลิงบัลลังก์แชมป์สโมสรทวีป ปลุกปั้นนักเตะระดับตำนานมากมาย รวมถึงเป็นผู้ติดตั้ง DNA ที่ว่าด้วยการบุกแหลกและมีจิตใจแข็งแกร่งไม่ยอมแพ้ ดังที่กล่าวไป

กระนั้นแม้เฟอร์กูสันจะลงจากเก้าอี้อย่างสวยงามจากการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2012-13 แต่ในรายละเอียดของการเล่น เมื่อพิจารณาจะพบว่า ในแง่ของ DNA แบบเดิม ๆ ก็เริ่มจะผิดแปลกไปบางส่วน อย่างแรก คือการแพ้ให้กับ บาร์เซโลนา ในรอบชิงถ้วยบิ๊กเอียร์ทั้ง 2 ครั้ง (2009 และ 2011) โดยที่ทีมนั้นบุกสู้ แต่กลับโดนทีเด็ด ติกิ-ตากา ของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา สอยร่วงตลอด 

ตรงนี้ในการให้สัมภาษณ์สุดคลาสสิกของเฟอร์กูสันที่บอกว่า “ผมไม่อุด นั่นไม่ใช่เรา” จากการที่เคยอุด เคยชิงจังหวะ และทำให้เข้ารอบชิงชนะเลิศ ด้วยการชนะ บาร์เซโลนา ในรอบรองชนะเลิศ 2007-08 มาแล้วในถ้วยนี้จะทำให้เข้าใจได้ว่าโค้ชต่างมีวิถีของตนเอง แต่การณ์เช่นนี้ย่อมหมายถึงการมอบแบบกลาย ๆ ว่าบอลบุก หรือ DNA ที่เป็นมาแบบเดิมเริ่มมีปัญหา

และที่สำคัญ ในโลกของฟุตบอลมักให้ความสำคัญกับ “Legacy” หรือสิ่งที่ทิ้งไว้ให้คนที่เข้ามาภายหลังสานต่อ แน่นอนว่าในเรื่องของวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของสโมสรมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นส่วนที่สามารถสร้างเรื่องราวและขายสตอรี่ได้ แต่ในแง่ของการทำทีมหรือการวางแผนงาน ตรงนี้เป็นดาบสองคม นั่นเพราะ Legacy อาจเป็นส่วนเหนี่ยวรั้งไม่ให้ทีมเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสกระบวนทัศน์ใหม่ ๆ หรือพลิกขั้วสลับด้านแบบหมดทั้งยวง 

เพราะก็มีแฟนบอลจำนวนไม่น้อยที่เรียกร้องให้เฟอร์กูสันกลับมาคุมทัพอีกครั้ง แน่นอนว่าในแง่ของฟุตบอล มีโค้ชแบบ จุปป์ ไฮย์เกส แต่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้แบบทั่วไปเสียเมื่อไร อีกอย่างเฟอร์กูสันก็สุขภาพย่ำแย่ลงตามอายุ ถึงแม้จะเห็นหน้าตามกล้องถ่ายทอดสดมาตามเชียร์ปีศาจแดงบ่อย ๆ ก็ตาม

ดังนั้นการใช้ Legacy ของ แมนฯ ยูไนเต็ด นั้นสมควรถูกตั้งคำถามว่าแท้จริงเป็นเรื่องของการธำรงไว้ซึ่ง DNA หรือเป็นเพียง Nostalgia โหยหาอดีต ในขณะที่หลายต่อหลายทีมไม่จำเป็นต้องบ้าบุกแต่กลับทรงประสิทธิภาพขึ้นมาได้

 

สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร

ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นเรื่องของการให้ข้อเสนอ หากแต่สิ่งดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ เลยหากเป็นเรื่องของการพิจารณา แมนฯ ยูไนเต็ด แบบ “ด่วนสรุป” จนเกินไป

หรือก็คือ ไม่ว่าจะในวงการใด อาชีพใด หรือมีตำแหน่งเล็กใหญ่เพียงไหนก็ตาม การได้รับ “ระยะเวลา” ที่เหมาะสมถือว่ามีความสำคัญทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัว การทดลองทำ การหาช่องทาง การหาวิถี รวมถึงการประเมินว่าเหมาะสมกับงานหรือไม่ และถึงแม้ว่าจะเก่งกาจระดับเทวดาเดินดินขนาดไหน เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าใครย่อมต้องการเวลาในการปรับตัวทั้งนั้น

เอริค เทน ฮาก ยังเข้ามาทำทีมได้ไม่ถึงปี แม้จะมีความกระท่อนกระแท่นไม่มากก็น้อย แต่จะเห็นได้ว่าในช่วงหนึ่งก่อนฟุตบอลโลก 2022 และหลังฟุตบอลโลก 2022 เล็กน้อย ทีมมีการเล่นที่ทรงประสิทธิภาพมากขึ้น แมนฯ ยูไนเต็ด เล่นเกมรุกกดคู่แข่งจนอยู่หมัด แถมเพรซซิ่งดีและเห็นถึงกลิ่นอายแบบเก่า ๆ ที่แฟนบอลอยากจะเห็น

หากไม่มีอะไรผิดพลาดเขาจะได้ทำทีมต่ออย่างแน่นอน และคนที่รู้ปัญหาของตนเองแต่ยังทำแบบเดิมเพื่อหวังให้แก้ปัญหาได้มีเพียง “คนบ้า” และ “คนมีแบ็กหนุนหลัง” เท่านั้น เทน ฮาก อาจมีการทำอะไรสักอย่างเพื่อทำให้สโมสรที่มีแฟนบอลแทบจะมากที่สุดในโลกก้าวไกลไปอีกขึ้น ในฐานะทีมแห่งอนาคตใหม่ที่พร้อมท้าชนเพื่อเป็นเต้ยแห่งทวีปอีกครั้ง

และเมื่อถึงตรงนั้น อาจต้องมานั่งพิจารณาอีกครั้งว่า ท้ายที่สุด DNA ที่ถวิลหากันอย่างหนักมายาวนานจะเป็นจริงได้อีกครั้งหรือไม่ในอนาคตไม่ใกล้ไม่ไกลนี้

 

แหล่งอ้างอิง

หนังสือ The Structure of Scientific Revolutions
https://breakingthelines.com/historical/manchester-united-2007-09-sir-alex-fergusons-greatest-masterpiece/ 
https://www.tribalfootball.com/articles/talking-tactics-retro-comparing-sir-alex-s-3-great-man-utd-teams-4320585
https://bleacherreport.com/articles/2692114-breaking-down-tactical-options-available-to-jose-mourinho-at-manchester-united  
https://www.coachesvoice.com/cv/ole-gunnar-solskjaer-manchester-united-cristiano-ronaldo/ 

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ