สำหรับกีฬาฟุตบอลนั้น ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้ตลอดแบบไม่ทันตั้งตัว วันวานเห็นบางสโมสรยังตกต่ำ เผลอครู่เดียวกลับผงาดง้ำขึ้นมาเฉิดฉายได้เสียอย่างนั้น
แน่นอนว่า ณ ตอนนี้ หนึ่งในสโมสรที่เข้าข่ายดังกล่าวหนีไม่พ้น “ไบเออร์ เลเวอร์คูเซน (Bayer Leverkusen)” ยอดทีมระดับตำนานแห่งบุนเดสลีกา ที่ในช่วงต้นฤดูกาลยังลูกผีลูกคน ค้างอยู่โซนแดงเป็นเดือน ๆ แต่เม่ือเข้าสู่ปี 2023 เป็นต้นมาพวกเขากลับโชว์ผลงานได้ยอดเยี่ยม ขยับขึ้นมาลุ้นพื้นที่ฟุตบอลระดับทวีปอย่างเต็มตัว
เรื่องนี้ต้องยกความดีความชอบให้ “ชาบี อลอนโซ่ (Xabi Alonso)” อดีตนักเตะเจ้าของฉายา “คุณชายลูกหนัง” ที่เพิ่งเข้ามารับจ็อบโค้ชทีมระดับอาชีพเป็นครั้งแรก และเขาก็เสกสรรค์ผลงานได้อย่างสุดยอด ชนิดที่ว่าไม่เหมือนกับมือใหม่หัดคุม แถมยังโชว์กึ๋น ไม่เพียงแต่ทำผลงานในลีก เขายังพาพลพรรค “ห้างขายยา” มีลุ้นเข้ารอบรองชนะเลิศ ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก อีกด้วย
เกิดอะไรขึ้น ? อลอนโซ่พลิกห้างขายยาด้วยเคล็ดลับอะไร ? หรือมีการใช้ “แท็กติก” ใดจึงทำผลงานได้อย่างเต็มคาราเบลขนาดนี้ ร่วมติดตามไปพร้อมกับเรา
คุณชายสายจับฉ่าย
ตั้งแต่เล็ก เรามักได้รับการกรอกหูกรอกสมองว่า คนเราเกิดมาจะต้อง “โดดเด่นในด้านใดด้านหนึ่ง” หรือ “เชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง” จึงจะ “มีตัวตน” ในสังคมที่ตีตราคนด้วย “ความสำเร็จและชื่อเสียง” เป็นที่ตั้ง
แต่จะมีสักกี่คนที่จะสามารถไปให้สุดขอบฟ้า สมปรารถนาดั่งใจหมายได้ ? คำถามที่ตามมาคือ สำหรับ “คนธรรมดา” ที่ไม่ได้โดดเด่นอะไรโดยกำเนิด โดยพรแสวง หรืออาจจะเป็น “คนพิเศษ” ที่ยังมืดแปดด้านกับเส้นทางในอนาคตของตนเอง สิ่งใดจะเข้ามาเป็น “ตัวช่วย” สำหรับการนี้ได้ แน่นอนว่าถนนทุกสายต่างมุ่งไปหา “ความจับฉ่าย” นั่นเพราะในเมื่อยังไม่เทพหรือเทพด้านใดไม่ได้ก็ขอธรรมดาแต่ทำได้หลากหลายด้านเสียดีกว่า
แน่นอนว่าในโลกของฟุตบอลก็เช่นเดียวกัน ณ ตอนนี้จึงพบเห็นนักเตะประเภท “สารพัดประโยชน์” ได้บ่อยครั้ง หรือ “แท็กติก” ที่บังคับให้นักเตะต้องทำได้สารพัดประโยชน์แบบ โททัล ฟุตบอล, ติกี-ตากา หรือแม้กระทั่ง “เพรสซิ่ง” ที่นิยมใช้กัน กระทั่ง “การยืนตำแหน่ง” ก็มีส่วน อย่าง 4-3-3 หรือ 3-4-3 ก็บังคับให้แดนกลางหรือกองหน้าริมเส้นต้องมีสกิลมากกว่าเดิมทั้งสิ้น
แต่ที่โหดไปกว่านั้นคือรายละเอียดของแท็กติกก็สามารถแบ่งวรรณะได้ด้วย “คุณภาพ” ไม่ว่าจะเป็นของนักเตะเองหรือโค้ช เราจึงเห็นบางทีมเล่นเพรสซิ่งอย่างเทพ บางทีมพยายามเล่นแต่ดูฝืน หรือบางทีมเล่นแบบโบราณเป็นซิกเนเจอร์ เพราะไม่มีความสามาถมากพอในการเล่นตามเทรนด์
เมื่อเป็นเช่นนี้ ให้คิดตามว่าบนถนนสายกุนซือของน้องใหม่อย่าง อลอนโซ่ ที่มารับเผือกร้อนในขณะที่ทีมอยู่อันดับ 17 ของตารางคะแนน (บุนเเดสลีกามี 18 ทีม) กับโปรไฟล์ที่คุมทัพมาแค่ เรอัล มาดริด ฆูเบนิล (เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี) และ เรอัล โซเซียดาด เบ (ทีมสำรอง) ไม่ได้สัมผัส “ของจริง” แบบจริงจัง แถมเขายังไม่คุ้นเคยกับนักเตะที่ตนเองไม่ได้เลือกมาเอง วิธีการใดถือว่าสร้างข้อได้เปรียบให้ตนเองและทีมได้มากที่สุด คำตอบคือ ไม่ต้องเลือกใด ๆ ใส่ความ “จับฉ่าย” ลงไปก่อน อย่างอื่นค่อยตามมาทีหลัง
ใช้ระบบ 3-4-3 ในเกมที่พบกับ ชาลเก้ (ชนะ 4-0)
ใช้ระบบ 4-2-3-1 ในเกมที่พบกับ ปอร์โต้ (แพ้ 0-3)
ใช้ระบบ 3-4-2-1 ในเกมที่พบกับ แฟรงค์เฟิร์ต (แพ้ 1-5)
ใช้ระบบ 3-4-3 ในเกมที่พบกับ โวล์ฟบวร์ก (เสมอ 2-2)
ใช้ระบบ 4-3-1-2 ในเกมที่พบกับ แอต มาดริด (เสมอ 2-2)
ใช้ระบบ 3-4-3 ในเกมที่พบกับ ไลป์ซิก (แพ้ 0-2)
ใช้ระบบ 3-4-3 ในเกมที่พบกับ ไลป์ซิก (เสมอ 0-0)
ใช้ระบบ 3-4-3 ในเกมที่พบกับ อูนิโอน เบอร์ลิน (ชนะ 5-0)
ใช้ระบบ 3-4-3 ในเกมที่พบกับ โคโลญจน์ (ชนะ 2-1)
ใช้ระบบ 3-4-3 ในเกมที่พบกับ สตุดการ์ด (ชนะ 2-0)
จากที่กล่าวในข้างต้น จะเห็นได้ว่าอลอนโซ่ผลัดเปลี่ยนระบบการยืนไม่ต่ำกว่า 4 แผน ซึ่งส่วนมากมักไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ แต่การได้ลองอะไรมากมายแบบไม่จำกัดจำเพาะว่าต้องมีระบบตายตัว ทำให้ผลที่ได้ตามมาคือการเห็นอะไรบางอย่างว่าแผนไหนใช้แล้วได้ผลงานที่พึงพอใจมากที่สุด หวยจึงไปตกที่ระบบ 3-4-3 ที่ใช้แล้วแทบไม่แพ้เลย และอลอนโซ่ได้ยึดถือแผนนี้มาตั้งแต่นั้น
กระนั้นการยืนตำแหน่งถือเป็นส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันคือรายละเอียดในการเล่น ซึ่งอลอนโซ่ก็ใส่ความจับฉ่ายลงไปไม่แพ้กัน โดยในช่วงแรก ๆ เขาให้ลูกทีมใช้ “การครองบอล” ส่วนหนึ่งเป็นการต่อยอดจากโค้ชคนก่อนที่เล่นแบบทีมใหญ่และจบถึงอันดับที่ 3
แต่เล่นไปเล่นมาทีมของอลอนโซ่กลับแพ้รัว ๆ เขาจึงหันมาใช้ “การแพ็คเกมรับ” แบบแน่น ๆ หาจังหวะฉาบฉวยเข้าโจมตีไม่กี่จังหวะ แน่นอนว่าผลงานของทีมดีขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ยิงไม่ค่อยได้จึงหันมาใช้ “การบิลด์อัพ” ตามจังหวะของตนเอง โดยใช้การขึ้นเกมจากวิงแบ็กหรือให้กองหน้าริมเส้นชิงจังหวะ ซึ่งผลลัพธ์ก็ออกมาดีเกินคาดและเข้ากับระบบ 3-4-3 ได้อย่างดียิ่ง
แต่สิ่งที่ขาดไปไม่ได้ นั่นคือการเล่นของกองกลางแบบ Double Pivot
Double Pivot: ผมมีสองกลาง ดับเบิลกลาง
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า Double Pivot คืออะไร ?
โดยศัพท์ทางฟุตบอลนี้พัฒนามาจาก “ระบบ W-M” ของ “เฮอร์เบิร์ต ชาปแมน (Herbert Chapman)” ตำนานกุนซือของอาร์เซนอล ที่วางการยืนตำแหน่งในแดนหน้าเป็นรูป W และแดนหลังเป็น M (อาจเรียกว่าระบบ 3-2-5) เพื่อลดช่องว่างในแดนกลาง เพราะจะมีจุดเชื่อมต่ออย่างน้อย 4 ตำแหน่ง (หน้า 2 กลาง 2) ในการครองบอลหรือทำเกม
แต่หากอธิบายให้เข้ากับบริบทปัจจุบันจะหมายถึง กองกลางสองคนที่ยืนหน้าเซ็นเตอร์ฮาล์ฟที่ต้องทำหน้าที่แทบจะทุกอย่างทั้งรุกและรับ โดยสามารถผลัดเปลี่ยนสลับหน้าที่กันได้ เช่น อีกคนเติมเกมรุก อีกคนต้องระวังสวนกลับ อีกคนจ่ายบอลแนวลึก อีกคนต้องเป็นฮาร์ดแมน หรือจะเล่นเกมรับ คอยหาจังหวะเติมหลังกองกลางหมายเลข 10 ที่เป็นเพลย์เมกเกอร์หรือกลางรุกย่อมได้ ซึ่งแฟนบอลมักคุ้นชินการยืนแบบนี้ในระบบ 4-2-3-1 หรือ 3-4-3
การยืนในลักษณะนี้เป็นการสร้างความแข็งแกร่งในแดนกลาง แม้จะยืนจังก้ากัน 2 ตำแหน่ง แต่สำหรับบทบาทในการเล่นถือว่าต้องรับภาระหนักมาก ๆ เกมในวันนั้นจะหมู่หรือจ่าก็ขึ้นอยู่กับว่า 2 กองกลางจะรั่วหรือยุบให้เห็นหรือไม่ หากแข็งจริงปีกหรือวิงแบ็กจะเล่นง่าย เสียบอลเสียไป ประเดี๋ยว Double Pivot หาทางแย่งบอลและสกัดบอลคืนมาให้สร้างสรรค์เกมจากด้านข้างต่อได้
ตรงนี้การเล่นด้านข้างยิ่งสบาย โดยเฉพาะในการสวนกลับ เพราะสองกลางจะเป็นห้องเครื่องที่ต้องพยายามหาทางเปลี่ยนบอลออกจากแดนตนเองออกข้างตามจ็อบ หรือแม้กระทั่งในระหว่างที่ไม่ได้ครอบครองบอล
ในฟุตบอลยุคปัจจุบัน ทีมที่ใช้ตำแหน่งนี้แล้วดีคือ เชลซี ที่มี เอ็นโกโล ก็องเต้ ยืนกับ จอร์จินโญ่ ในยุคของ เมาริซิโอ ซาร์รี และเปลี่ยนเป็น ก็องเต ยืนกับ มาเตโอ โควาซิซ ในยุคของ โทมัส ทูเคิล, เอซี มิลาน ที่มี ซานโดร โตนาลี ยืนคู่กับ ฟร็องซ์ เคซซีเย ในชุดแชมป์กัลโช่ เซเรีย อา 2021-22 หรือที่พีกที่สุดคือ บาเยิร์น มิวนิค ที่มี เลออน โกเร็ตกา และ โยชัว คิมมิช ประจำการ
หรือที่เป็นตลกร้ายคือ เรอัล มาดริด ชุดทวงบัลลังก์เจ้ายุโรปในฤดูกาล 2013-14 ก็ได้ใช้การยืนตำแหน่งแดนกลางเช่นนี้ โดยมี ซามี เคดิรา และ ซาบี อลอนโซ่ บัญชาการ จะด้วยเหตุผลที่ตนเองเคยเล่น Double Pivot หรือเปล่าไม่อาจแน่ชัด แต่อลอนโซ่ก็ได้นำมันมาติดตั้งให้ลูกทีมพร้อม ๆ กับระบบ 3-4-3 ที่เริ่มลงตัว
ยิ่งไปกว่านั้นที่ขาดไปไม่ได้คือ การยืนดังกล่าวนี้ส่งผลดีต่อทีมเล็ก ๆ หรือทีมที่ไม่ได้เงินถุงเงินถัง เพราะ “สองแรงบวก” ในแดนกลางนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องเก่งด้านใดด้านหนึ่ง แต่ขอแค่เข้าใจ “หน้าที่” ที่ต้องทำร่วมกัน และต้องมี “วินัย” ทั้งตอนครองบอลและไม่ได้ครองบอล เท่านี้ไม่ว่ากองกลางแบบไหนในโลกก็สามารถยืนได้หมด
โดย Double Pivot ของทีมเล็ก ๆ ที่ผลงานเข้าตา เช่น ดีแคลน ไรซ์ ที่มากับ โทมัส ซูเช็ค ของเวสต์แฮม ยูไนเต็ด, ฮวัง อิน บอม ยืนกับ จอง อู ยอง ให้กับ ทีมชาติเกาหลีใต้ ชุดที่พลิกนรกชนะ โปรตุเกส ในฟุตบอลโลก 2022 มาแล้ว หรือสด ๆ ร้อน ๆ อย่าง ดักกลาส ลุยซ์ และ เลอันเดอร์ เดนด็องเกอร์ ที่ยืนคู่กันพา แอสตัน วิลลา ลุ้นไปลุย ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ณ ขณะนี้
เมื่อกลับมาพิจารณา ไบเออร์ เลเวอร์คูเซน จะพบว่า มีความได้เปรียบที่จะให้อลอนโซ่นำ Double Pivot มาใช้อย่างมาก เพราะมีถึง 4 นักเตะในแดนกลางที่สามารถยืนตำแหน่งนี้ได้ นั่นคือ นาเด็ม อมิรี่ (Nadiem Amiri), เคเร็ม เดมีร์ไบ (Kerem Demirbay), โรเบิร์ต อันดริช (Robert Andrich) และ เอเซเกล ปาลาซิออส (Exequiel Palacios) เพราะกองกลาง 3 เยอรมัน 1 อาร์เจนไตน์ แม้จะไม่ได้โดดเด่นอะไรเป็นพิเศษ แต่มีวินัยและพลังงานเหลือล้น ไม่ว่าจะจับใครลงยืนคู่กลาง ผลงานที่ออกมาก็จะไม่ต่างกันมาก
เช่นนี้หมายความว่า ไม่มีใครการันตีตัวจริงและมีการทดแทนกันได้ ใครเจ็บใครป่วยที่เหลือก็พร้อมเสียบทันที แน่นอนว่าแบบนี้ส่งผลดีต่อการโรเทชั่นในการแข่งขันระยะยาว แม้จะไม่มี 11 ตัวจริงแบบตั้งต้นก็ตาม แต่การผลัดเปลี่ยน Double Pivot แบบเรื่อย ๆ ของอลอนโซ่เรียกได้ว่าเป็น “โชคสองชั้น” เพราะในลีกก็ฟอร์มแจ่ม ในถ้วยเล็กทวีปก็มีลุ้น ตรงนี้อาจจะเรียกในมุมกลับได้ว่าอลอนโซ่เองก็ถือได้ว่ารับ “โชคชั้นที่สาม” ในการประเดิมคุมทีมจากจุดนี้เช่นกัน
คืนชีพยันนักเตะ
กระนั้น แม้ Double Pivot จะเป็นการชูชีพให้แก่พลพรรคห้างขายยาและหน้าที่การงานของอลอนโซ่ แต่ฟุตบอลนั้นเล่นกัน 11 ตำแหน่ง การพุ่งเป้าไปให้ความสำคัญเพียง 2 ตำแหน่งย่อมเป็นการยากที่จะประสบความสำเร็จได้
แน่นอนว่านักเตะระดับกองกลางในตำนานอย่างอลอนโซ่ไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงแค่แดนกลางแบบที่ตนเองถนัดและเรียนรู้มาทั้งชีวิต แต่เมื่อคิดจะเล่นระบบ 3-4-3 สิ่งที่จะทำให้ได้ประตูคือตำแหน่ง “ริมเส้น”
คัลลัม ฮัดสัน-โอดอย (Callum Hudson-Odoi) แนวรุกจากเชลซีที่ย้ายมาอยู่ใต้ชายคา ไบ อารีนา เพื่อความหวังในการแจ้งเกิดใหม่อีกครั้ง แต่กลับแจ้งดับในช่วงต้นฤดูกาล จนได้มาอยู่ในการปลุกปั้นของอลอนโซ่เขาจึงค่อยๆ มีที่ทางในทีม มีความวูบวาบ และสามารถทำเกมจากด้านข้างได้มากขึ้น ในฐานะกองหน้าริมเส้นฝั่งซ้าย
เยเรมี ฟริมปง (Jeremie Frimpong) วิงแบ็กขวาดาวรุ่งที่ทีมไปสอยมาจากเซลติกในฤดูกาลก่อน (2021-22) แต่เงียบกริบ ฤดูกาลนี้อลอนโซ่ก็คืนชีพให้วัยรุ่นเลือดดัชต์คนนี้กลับมาเฉิดฉาย โดยตะบันไปแล้วถึง 6 ประตูในฐานะนักเตะเกมรับ โดยเป็นที่ฮือฮาอย่างมากจากข่าวว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้องการตัวไปร่วมทีม
แต่ที่โหดที่สุดคือ การเสกร่างทองให้ มุสซา ดิยาบี (Moussa Diaby) ปีกขวาที่อยู่กับทีมมาตั้งแต่ฤดูกาล 2019-20 สานต่อการยิงกระจุยกระจายจากฤดูกาลก่อน พร้อมกับสกิลในการแอสซิสต์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีส่วนร่วมไปแล้วทั้งหมด 15 ประตูในลีก (ยิง 9 แอสซิสต์ 6) เรียกได้ว่ายิงมากกว่ากองหน้าประจำทีมอย่าง แพทริก ชิค (Patrik Schick) หรือ ซาดาร์ อาซมูน (Sardar Azmoun) เสียด้วยซ้ำ
ซึ่งเมื่อเกมตรงกลางทำได้ตามแผน ผนวกกับเกมทางด้านข้างดี สามารถชงเองกินเองหรือชงให้ตำแหน่งอื่น ๆ ได้ นั่นหมายถึง วัตถุดิบพร้อม เครื่องครัวพร้อม เครื่องปรุงพร้อม เลเวอร์คูเซนจึงโจนทะยานได้อย่างไม่เคอะเขิน ภายใต้เชฟที่มีชื่อว่า ซาบี อลอนโซ่
การเข้ารอบรองชนะเลิศ ยูโรปา ลีก จากการถล่ม อูนิยง แซงต์-ชิลลัวส์ (USG) ไปด้วยสกอร์รวม 5-2 ในครั้งนี้ ถือได้ว่ามาไกลเกินฝันมาก ๆ สำหรับเลเวอร์คูเซน แต่หนทางยังอีกยาวไกล เพราะยังต้องคั่วโควตาฟุตบอลระดับทวีปในลีกและขึ้นไปเทียบผลงานที่ดีที่สุดอย่างการคว้าโทรฟี่รายการนี้ ในฤดูกาล 1987-88 ที่ชนะ เอสปันญอล จากการดวลจุดโทษ 3-2 (เสมอสกอร์รวม 3-3) ให้ได้ ตรงนี้ เป็นเรื่องที่สุดแต่อลอนโซ่จะไขว่คว้าและพาพลพรรคห้างขายยาดำเนินไปในอนาคต
แหล่งอ้างอิง
https://www.coachesvoice.com/cv/xabi-alonso-tactics-bayer-leverkusen-2022-23/
https://www.coachesvoice.com/cv/double-pivot-football-tactics-explained-bayern-munich-chelsea/
https://jobsinfootball.com/blog/double-pivot-soccer/
https://www.coachesvoice.com/cv/wm-formation-football-tactics-explained-tuchel-guardiola-chapman/
https://totalfootballanalysis.com/article/xabi-alonso-a-closer-look-at-his-bayer-leverkusen