Feature

ฟุตบอลกับการเมือง : ความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง ที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ | Main Stand

ในยุคสมัยนี้ มักจะมีคำกล่าวที่ว่า “ควรแยกฟุตบอลออกจากการเมือง” จริง ๆ แล้วฟุตบอลกับการเมืองเกี่ยวข้องกันอย่างปฏิเสธไม่ได้ จะเห็นได้ชัดจากสโมสรฟุตบอลในประเทศไทยมีผู้สนับสนุนเป็นนายทุนหรือนักการเมืองที่โด่งดังในท้องถิ่น 

 


นับตั้งแต่การแข่งขันฟุตบอลอาชีพครอบคลุมทุกจังหวัดในประเทศไทย เรามักจะเห็นเหล่านายทุนและนักการเมืองท้องถิ่นสนใจที่จะเข้าร่วมในกระแสฟุตบอลมากขึ้น เพื่อหวังสร้างกระแสนิยมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

Main Stand จะพามาดูว่า แท้จริงแล้วการเมืองไทยกับฟุตบอลนั้นเกี่ยวข้องกันมากแค่ไหน สองอย่างนี้มีความเกื้อหนุนกันอย่างไร และในแต่ละจังหวัดสโมสรฟุตบอลมีลักษณะอย่างไร ? 

 

จุดเริ่มต้นฟุตบอลในไทย

กีฬาฟุตบอลในไทยเริ่มต้นในสมัย “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ 5  เนื่องจากสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ส่งพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลานยาเธอ และข้าราชบริพารไปศึกษาวิชาการด้านต่าง ๆ ที่ประเทศอังกฤษ 

และผู้ที่นำกีฬาฟุตบอลกลับมายังประเทศไทยเป็นคนแรกคือ “เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)” หรือที่คนไทยมักเรียกสั้น ๆ ว่า “ครูเทพ” ซึ่งท่านได้แต่งเพลงกราวกีฬาที่แสดงถึงน้ำใจนักกีฬา และยังคงเป็นเพลงอมตะจวบจนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ในตอนนั้นมีเสียงคัดค้านกีฬาฟุตบอลมากมาย โดยหลายคนกล่าวว่าฟุตบอลเป็นกีฬาที่ไม่เหมาะกับประเทศที่มีสภาพอากาศร้อนอย่างประเทศไทย และเป็นเกมที่เกิดอันตรายต่อผู้เล่นและผู้ชมได้ง่าย 

แต่ภายหลังข้อครหาต่าง ๆ ก็ได้หายไป ฟุตบอลกลายเป็นกีฬายอดนิยมของทั้งชาวไทยและทั่วทุกมุมโลก ต่อมาความเจริญก้าวหน้าของฟุตบอลไทยได้แผ่ขยายไปทั่วประเทศ ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงตั้ง “สโมสรคณะฟุตบอลสยาม” ขึ้น

ปัจจุบันฟุตบอลอาชีพในไทยมีอยู่แทบทุกจังหวัด และได้รับการสนับสนุนจากเหล่านายทุนและนักการเมืองท้องถิ่นมาช้านาน บางทีมที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ก็ต้องจำใจต้องยุบทีมไป
 
และในการเลือกตั้งปี 2566 ในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ น่าสนใจว่า … เหล่านักการเมืองใช้ “ฟุตบอล” เป็นตัวเชื่อมระหว่างตัวนักการเมืองและชาวประชาชนในพื้นที่อย่างไร ?

 

ฟุตบอลคือ Community

แน่นอนว่าการเป็นทีมฟุตบอล สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือ “แฟนบอล” สโมสรฟุตบอลเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้คนสามารถมารวมตัวกัน ใช้เวลาว่างร่วมกัน และสามารถก่อร่างสร้างตัวตนบางอย่างร่วมกันได้ เพื่อที่จะทำกิจกรรมในนามของ “แฟนบอล” รวมไปถึงการช่วยกันขับเคลื่อนสโมสรฟุตบอลที่ตนรัก

จากบทสัมภาษณ์ของ อ.ชาลินี สนพลาย จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมติชน กล่าวไว้ว่า 

“ สิ่งที่เปิดโอกาสให้นักการเมืองเข้ามาคลุกคลีกับฟุตบอลได้คือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคม นับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ จนท้องถิ่นมีภารกิจที่จะต้องสนับสนุนเรื่องกีฬา สนามกีฬาจากที่เคยเป็นของส่วนกลางก็มีการถ่ายโอนไปยังระดับจังหวัดและเทศบาล”

ฟุตบอลไทยกับการเมืองเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก นักการเมืองเริ่มใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือในการรักษาความนิยมส่วนบุคคลเอาไว้ ขณะเดียวกัน “อำนาจรัฐ” ก็มีส่วนเสริมและเอื้อต่อการทำทีมฟุตบอลอย่างมาก ทั้งในส่วนของ “สปอนเซอร์” หรือ “สนามแข่งขัน” 

นักการเมืองที่สามารถผูกขาดในจังหวัดได้ต้องพยายามสร้างความเป็น จังหวัดนิยม เปลี่ยนภาพลักษณ์ของจังหวัดจากหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น จังหวัดบุรีรัมย์ ที่บอสใหญ่ของปราสาทสายฟ้า “เนวิน ชิดชอบ” เข้ามาพลิกโฉมจังหวัดให้กลายเป็นจังหวัดแห่งกีฬา และมีเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามามากมาย 

หรือ จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ทุกคนคงทราบกันดีว่าเป็นถิ่นของ “บรรหาร ศิลปอาชา” โดยปัจจุบันท่านได้เสียชีวิตแล้ว ส่งไม้ต่อให้ “ลูกท็อป” วราวุธ ศิลปอาชา โดยตระกูลศิลปอาชามีส่วนเกี่ยวข้องกับ “ช้างศึกยุทธหัตถี”หรือสโมสรฟุตบอลสุพรรณบุรี เอฟซี และในสมัยที่พ่อบรรหารมีตำแหน่งทางการเมือง ถนนหนทางและสามารถเรียกรวม ๆ ได้ว่าทั้งจังหวัดสุพรรณบุรีพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด 

 

เจาะลึกสโมสรฟุตบอลในไทย

หากไปค้นหาชื่อของประธานสโมสรฟุตบอลในไทยลีก เรียกได้ว่าเกือบจะ 90 เปอร์เซ็นต์ ย่อมมีส่วนร่วมกับการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ( ส.ส.) หรืออาจจะเคยทำงานการเมืองมาก่อน มีสโมสรใดบ้างท่ีสร้างฐานความนิยมของตนเองจากทีมฟุตบอล ?

พรรคภูมิใจไทย ได้รับความนิยมไม่น้อยในพื้นที่ “อีสานใต้” เช่น จังหวัดนครพนม ที่เป็นพื้นที่ของ “สหายแสง” ศุภชัย โพธิ์สุ อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในสมัยที่แล้ว แต่ที่โดดเด่นที่สุดคือ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีบอสใหญ่ของทัพ “ปราสาทสายฟ้า” อย่าง เนวิน ชิดชอบ เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง

เนวินมีส่วนทำให้ฟุตบอลและกีฬา “ฟีเวอร์” ในจังหวัดบุรีรัมย์และอาจรวมไปถึงทั้งประเทศ เขาทำทุกอย่างทั้งการเลือกซื้อตัวนักเตะ และการดูฟอร์มนักเตะที่ลงเล่นในแต่ละเกม จนปฏิเสธไม่ได้ว่าชาวบ้านที่บุรีรัมย์ส่วนใหญ่ผูกพันธ์และรักตระกูล “ชิดชอบ” อย่างมาก และมันก็ส่งผลต่อผลการเลือกตั้งในปี 62 ที่ผ่านมาที่พรรคภูมิใจไทยกวาดยกจังหวัดบุรีรัมย์ โดยได้ไปทั้งหมด 8 เขต จากนี้ต้องรอดูว่ากระแสของคุณเนวินและพรรคภูมิใจไทยจะยังครองใจคนบุรีรัมย์ได้อยู่หรือไม่

ทางด้าน “ฉลามชล” ชลบุรี เอฟซี ของเฮดโค้ชอย่าง “โค้ชเตี้ย” สะสม พบประเสริฐ สถานการณ์ตอนนี้น่าสนใจอย่างมาก ถึงแม้ฟอร์มช่วงนี้จะไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะ 5 นัดหลังสุด ทางฉลามชลไม่ชนะใครเลย และตอนนี้อยู่ในที่ 6 ของตารางคะแนน 

แต่ทิศทางทางการเมืองของผู้มีอิทธิพลในสโมสรแห่งนี้ถือว่าร้อนแรง เท้าความก่อนว่า สโมสรฟุตบอลชลบุรี เอฟซี มี วิทยา คุณปลื้ม เป็นประธานสโมสร ซึ่งตระกูล “คุณปลื้ม” นับว่าเป็นตระกูลผูมีอิทธิพลในท้องที่ หรือที่ในทางการเมืองเรียกกันว่า “บ้านใหญ่” ของจังหวัดชลบุรี โดยในการเลือกตั้งปี 66 ตระกูล “คุณปลื้ม” พากันย้ายขั้วกลับมาร่วมกับพรรคเพื่อไทย หลังจากนี้ทิศทางในการบริหารฉลามชลจะเปลี่ยนไปหรือไม่ และชลบุรีจะคืนฟอร์มเก่งได้เมื่อไร ต้องติดตามชม

 

ฟุตบอลกับการเมืองในต่างประเทศ

วงการฟุตบอลในต่างประเทศกับการเมืองก็แยกออกจากกันไม่ได้เช่นกัน ถึงแม้ผู้บริหารบางคนจะพยายามรณรงค์ให้แยกฟุตบอลกับการเมืองออกจากกัน ยกตัวอย่างเหตุการณ์ในช่วงระหว่างฟุตบอลโลก 2022 ที่จัดขึ้นที่ประเทศกาตาร์ 

จานนี่ อินฟานติโน่ ประธานฟีฟ่า ได้เรียกร้องไปยัง 32 ประเทศที่จะเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกในครั้งนั้น ให้ละทิ้งเรื่องการเมืองออกไปให้หมด และให้โฟกัสอยู่กับเกมฟุตบอลเท่านั้น

“ได้โปรด  ตอนนี้เรามาโฟกัสที่ฟุตบอลกันเถอะ!” อินฟานติโน่และเลขาธิการฟีฟ่าได้ส่งจดหมายไปยังชาติที่จะต้องเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลกในครั้งนั้นทั้ง 32 ทีม “เราไม่อนุญาตให้เอาฟุตบอลไปมีความเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ทางอุดมการณ์และการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่”

เจ้าภาพฟุตบอลโลกในครั้งนั้นอย่างประเทศกาตาร์ถูกตั้งข้อครหามากมาย เช่น การปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติที่ได้ค่าจ้างที่ต่ำมาก และรวมไปถึงกฎหมายในกาตาร์ที่ห้ามมีการสมรสระหว่างเพศเดียวกัน (Same-sex marriage) 

ในกรณีของข้อที่ 2 อาจโยงได้ถึงเรื่องศาสนาได้เช่นกัน เพราะประชากรส่วนใหญ่ในประเทศกาตาร์นับถือศาสนาอิสลาม นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ “การสมรสเท่าเทียม” ยังเกิดขึ้นได้ยากในประเทศนี้่ 

สิ่งที่กล่าวมาสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าฟุตบอลกับการเมืองเกี่ยวข้องกันมาตลอดและไม่มีทางที่จะแยกออกจากกันได้ ขณะนั้นแฟนบอลชาติอิหร่านได้มีการเรียกร้องให้สหพันธ์ของประเทศถูกระงับ เนื่องจากมีการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ฟุตบอลของยูเครนก็ได้มีการเรียกร้องให้ฟีฟ่าถอดอิหร่านออกจากการแข่งขันในครั้งนี้ เนื่องจากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน และอิหร่านยังส่งอาวุธไปสนับสนุนประเทศรัสเซีย

“ที่ฟีฟ่า เราพยายามเคารพต่อทุกความคิดเห็นและความเชื่อ หนึ่งในจุดแข็งของโลกนี้คือความหลากหลาย และเราทุกคนต้องอยู่ร่วมกัน ด้วยความเคารพต่อความหลากหลายนั้น” อินฟานติโน่ กล่าว 

ท้ายที่สุดแล้ว ฟุตบอลกับการเมืองมีความสัมพันธ์ต่อกันแบบที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ในโลกฟุตบอลมักจะมีการเมืองแฝงอยู่ และการเมืองก็หวังผลประโยชน์จากฟุตบอลเช่นกัน ดังนั้นคำกล่าวที่ว่า “แยกฟุตบอลออกจากการเมือง” อาจจะใช้ไม่ได้กับสังคมในยุคสมัยนี้ 

ในการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยที่กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ น่าสนใจอย่างยิ่งว่ากระแสของการทำทีมฟุตบอลในไทยจะส่งผลและยังครองใจฐานเสียงของบรรดานักการเมืองชื่อดังต่อไปหรือไม่ ?

 

แหล่งอ้างอิง :

https://www.educatepark.com/story/thai-football-history/
https://www.thairath.co.th/sport/thaifootball/thaipremierleague/2668476
https://www.matichon.co.th/politics/news_1325051
https://www.espn.com/soccer/fifa-world-cup/story/4790519/fifa-on-qatar-world-cup-nations-told-to-stick-to-footballnot-politics

Author

ยลดา เวียงสิงขรณ์

เด็กอักษรเอกเยอรมัน เชียร์เชลซีและการท่าเรือ ติดตามนางงามทุกเวที

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา