หลังเกมพรีเมียร์ลีก แมตช์เดย์ที่ 28 ของ เชลซี ในฤดูกาล 2022/23 ที่เสียท่าพ่ายคาบ้านต่อ แอสตัน วิลล่า 0-2 นำมาซึ่งฟางเส้นสุดท้ายของการเป็นเฮดโค้ชสิงห์บลูส์ของ แกรห์ม พอตเตอร์ โดยเป็นการตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่าย จากประกาศของสโมสร
นี่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลง “แนวทาง” การทำทีมกีฬาของกลุ่มเจ้าของสโมสรใหม่ชาวอเมริกัน นำโดย ท็อดด์ โบห์ลี อยู่ไม่น้อย เพราะจากบทสัมภาษณ์ ตลอดจนข้อเขียนหลาย ๆ ชิ้นก่อนหน้านี้ที่ชี้ไปทิศทางเดียวกันว่าโบห์ลีไม่มีความตั้งใจให้เชลซีมีแนวทางเฉกเช่นกับเจ้าของคนก่อนหน้าอย่าง โรมัน อบราโมวิช ที่หากเห็นว่ากุนซือคนใดทำผลงานได้ไม่ตรงใจกับสโมสรก็จะถูกปลดออกจากตำแหน่งแบบไม่ต้องคิดนาน
นั่นได้กลายเป็นการตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมทีมสิงโตน้ำเงินครามในยุคของกลุ่มทุมอเมริกันถึงยอมกลืนน้ำลายตัวเองด้วยการปลดกุนซือแบบติด ๆ กันถึงสองคน และทั้งหมดเกิดขึ้นในฤดูกาลเดียว
มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันได้ที่ Main Stand
โปรเจ็กต์ใหม่สิงห์บลูส์ที่มีพอตเตอร์เป็นฟันเฟือง
ย้อนกลับไปช่วงต้นฤดูกาล 2022/23 เชลซีภายใต้การบริหารงานของกลุ่มมหาเศรษฐีอเมริกัน นำโดย ท็อดด์ โบห์ลี ตัดสินใจแยกทางกับ โธมัส ทูเคิ่ล ผู้จัดการทีมที่มีส่วนพาสโมสรผงาดแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก รวมถึงแชมป์สโมสรโลก ออกจากตำแหน่ง ด้วยเหตุผลว่าแนวทางการทำงานไม่ตรงกัน และเลือกแต่งตั้ง แกรห์ม พอตเตอร์ เข้าคุมทีมแทน
ว่ากันว่าสิงห์บลูส์ยอมจ่ายค่าฉีกสัญญาราว 21.5 ล้านปอนด์ให้ไบรท์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบียน เพื่อดึงกุนซือไฟแรงแห่งแวดวงลูกหนังอังกฤษรายนี้มาเป็นนายใหญ่ในถิ่นสแตมฟอร์ด บริดจ์ พร้อมมอบสัญญาระยะยาว 5 ปี
ในรายของพอตเตอร์ถือว่าได้รับบททดสอบสำคัญกับการคุมสโมสรในเวทีที่ใหญ่ขึ้น ในขณะที่ทีมบริหารเชลซีก็ได้กุนซือตรงสเปคที่เลือกมาเองกับมือ
จนปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่เป็นหนึ่งในแนวทางการเปลี่ยนผ่านปรัชญาสโมสร กับการเน้นสร้างทีมเพื่ออนาคตใหม่ และมีความแตกต่างกับยุคที่สิงห์บลูส์มี โรมัน อบราโมวิช เป็นเจ้าของอย่างแท้จริง
เพราะสมัยที่เชลซีมีเจ้าของเป็นชาวรัสเซีย แฟน ๆ อาจไม่ได้เห็นทีมดึงพอตเตอร์ รวมถึงกุนซือรายอื่น ๆ ที่มีโปรไฟล์คุมทีมระดับกลางตารางและไม่ได้มีแชมป์ระดับเมเจอร์ประดับบารมีเข้ามาเป็นหัวเรือใหญ่
นั่นเพราะภาพจำแนวทางการทำทีมยุคอบราโมวิชคือการดึงกุนซือระดับท็อปที่คว้าความสำเร็จผ่านโทรฟี่น้อยใหญ่ เข้ามาคุมสโมสรเป็นหลัก และต่อให้ทีมมีการเปลี่ยนแปลงเก้าอี้กุนซือเยอะก็จริง ทว่าแนวทางนี้มันเห็นผล เมื่อสโมสรได้ “แชมป์” มานักต่อนัก
แต่เชลซีในยุคใหม่ ท็อดด์ โบห์ลี ร่วมถึงทีมบริหารคนอื่น ๆ พยายามทำให้เห็นถึงความแตกต่าง ซึ่งเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการนำแนวทางทำทีมแบบ “อเมริกันเกมส์สไตล์” ที่มีแนวทางการทำทีมระยะยาว ไปจนถึงไม่ได้มีแนวทางปลดเฮดโค้ชที่ถี่ยิบ ตลอดจนการมอบสัญญาให้นักกีฬาเกิน 5 ปี เข้ามาปรับใช้กับที่เชลซี
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น จากการที่โบห์ลีเป็นหนึ่งในเจ้าของทีมเบสบอลชื่อดัง “ลอสแอนเจลิส ดอดจ์เจอร์ส” สิ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมาชัดเจนคือนับแต่ปี 2015 เรื่อยมา ดอดจ์เจอร์สใช้ผู้จัดการทีมเพียงรายเดียวคือ เดฟ โรเบิร์ตส์ รวมถึงแต่งตั้ง แอนดรูว์ ฟรีดแมน เข้ามาเป็นประธานฝ่ายปฏิบัติการในปีเดียวกัน ก่อนที่ความเชื่อใจจะแปรเปลี่ยนเป็นแชมป์ World Series titles ของ แอลเอ ดอดจ์เจอร์ส เป็นสมัยแรกในรอบ 32 ปี เมื่อปี 2020
“เราตื่นเต้นมากที่จะนำเขามาสู่สโมสร เขาเป็นโค้ชที่ได้รับการพิสูจน์แล้วและเป็นผู้ริเริ่มในพรีเมียร์ลีก ซึ่งเหมาะกับวิสัยทัศน์ของเรา ไม่เพียงแต่เขามีความสามารถอย่างมากในสนาม เขายังมีทักษะและความสามารถที่ขยายออกไปนอกสนาม ซึ่งจะทำให้เชลซีเป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากขึ้น” โบห์ลี กล่าวหลังเชลซีเปิดตัวพอตเตอร์ ในเดือนกันยายน 2022
“เขาได้สร้างปรากฏการณ์สำคัญกับสโมสรก่อนหน้าของเขา และเราตั้งตารอที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกของเขาที่เชลซี เราจะสนับสนุนเขาและทีมงานของเขาเพื่อเติมเต็มศักยภาพอย่างเต็มที่ในอีกไม่กี่เดือนและหลายปีต่อจากนี้”
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเหตุผล ท็อดด์ โบห์ลี ตั้งใจจะเข้ามาเปลี่ยนแนวทางเชลซี โดยมี แกรห์ม พอตเตอร์ เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์ระยะยาว
สะดุดล้ม … แก้แล้วก็ยังไม่หาย
ไม่ใช่ว่า แกรห์ม พอตเตอร์ จะทำทีมจนถูกตั้งคำถามอยู่ตลอดเส้นทางขวบปีแรกที่เชลซี ซึ่งเป็นปีที่กลุ่มเจ้าของทีมตั้งใจจะวางรากฐานทีมก่อน เพราะมีช่วงที่กุนซือวัย 47 ปี เคยคุมทีมไม่แพ้รวมทุกรายการถึง 10 เกมติดต่อกัน
หนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงของเขาคือการเอาชนะ เอซี มิลาน คู่ปรับสำคัญในแชมเปี้ยนส์ลีก รอบแบ่งกลุ่ม ได้แบบทั้งไปและกลับ ด้วยสกอร์ 3-0 และ 2-0 ตามลำดับ ส่งให้สโมสรจบด้วยการเป็นแชมป์กลุ่ม ลิ่วสู่รอบน็อกเอาต์ได้
ในระหว่างนั้นเชลซีก็เริ่มสร้างแผนงานของตัวเองสืบเนื่องกันไป โดยเฉพาะการแต่งตั้งฝ่ายบริหารภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ ลอเรนซ์ สจวร์ต อดีตผู้อำนวยการด้านเทคนิค อาแอส โมนาโก มาทำงานให้เชลซีในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค
พอล วินสแตนลีย์ ซึ่งเคยร่วมงานกับพอตเตอร์ที่ไบรท์ตัน เข้ามาเป็นผู้อำนวยการแผนกจัดหาแข้งพรสวรรค์ระดับสากลและการซื้อขาย รวมไปถึง คริสโตเฟอร์ วีเวลล์ ที่เข้ามาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของสโมสร ตำแหน่งเดิมกับที่เขาเคยทำกับ แอร์เบ ไลป์ซิก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เพราะความสำเร็จของการทำทีมฟุตบอลหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ปัจจัยเรื่อง “ผลการแข่งขันในสนาม” จะเข้ามามีส่วนในการตัดสินผลงานและภาพรวมของทีม
และเส้นทางการคุมทีมเชลซีของพอตเตอร์ก็โรยด้วยกลีบกุหลาบได้เพียงเท่านี้
ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทั้งก่อนและหลังโปรแกรมฟุตบอลลีกที่หลบทางให้ฟุตบอลโลก 2022 เรื่อยมาจนถึงฟางเส้นสุดท้ายในเกมแรกของเดือนเมษายน 2023 แกรห์ม พอตเตอร์ คุมสิงโตน้ำเงินครามสะกดคำว่า “แพ้” กับ “เสมอ” มากกว่าคำว่า “ชนะ” เสียอีก
แม้ตลาดนักเตะเดือนมกราคม 2023 สโมสรจะทุบคลังทุ่มงบประมาณมหาศาลกว่า 323 ล้านปอนด์ ในการดึงดาวดังรายใหม่หวังกู้วิกฤตทั้งแบบซื้อขาดและสัญญายืม เช่น เอ็นโซ่ เฟร์นานเดซ, เบอร์นัวต์ บาเดียชิลล์, มิไคโล่ มูดริค และ ชูเอา เฟลิกซ์
ทว่าการย้ายเข้ามาของบรรดาแข้งใหม่ก็ยังไม่อาจทำให้เชลซีพลิกจากหลังมือเป็นหน้ามือได้
สโมสรก็ยังคงสถานะเป็นทีมทีมที่แฟน ๆ ต้องมาลุ้นผลการแข่งขันในทุก ๆ เกมว่าจะออกหน้าไหน ไล่ตั้งแต่ที่โดน ไบรท์ตัน อดีตทีมของพอตเตอร์ ตบเละทะ 1-4, แพ้ทีมท้ายตารางอย่าง เซาแธมป์ตัน ต่อหน้าแฟน ๆ ที่เดอะ บริดจ์ 0-1 รวมถึงเสียสถิติโดนเปิดแผลแพ้ในรังเหย้าใหม่ของ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ เป็นครั้งแรก ด้วยสกอร์ 0-2 ฯลฯ
นอกจากจะทำทีมจมปลักอยู่อันดับกลางตารางโดยสมบูรณ์ มากกว่านั้นพอตเตอร์ยังพาสโมสรตกรอบฟุตบอลถ้วยอังกฤษทั้งสองรายการอย่างเอฟเอคัพ และลีกคัพ ตั้งแต่รอบสาม เป็นครั้งแรกที่ทีมตกรอบนี้พร้อมกัน นับตั้งแต่ฤดูกาล 1983/84
ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากแฟน ๆ จำนวนไม่น้อยที่อยากเห็นบอร์ดบริหารทำอะไรสักอย่าง ก็ไม่ใช่ว่า ท็อดด์ โบห์ลี รวมถึงฝ่ายบริหารคนอื่น ๆ จะไม่รับรู้ถึงสถานการณ์ของทีม
แต่ด้วยหลากเหตุปัจจัยทำให้ทุกฝ่ายยังคงเชื่อมั่นว่าพอตเตอร์จะพลิกสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้
แมตต์ ลอว์ นักข่าวสายเชลซีจาก Telegraph ระบุว่า หลายต่อหลายครั้งพอตเตอร์ได้สื่อสารตรงไปยังเจ้าของทีมทั้ง ท็อดด์ โบห์ลี รวมถึง เบห์ดัด เอ็กห์บาลี เพื่อให้รับรู้ถึงสภาพการณ์ของทีมอยู่เสมอ อย่างเรื่องการจัดตัวขัดใจแฟน ๆ ในบางกรณี โดยให้เหตุผลเรื่องอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นกับตัวนักเตะได้ ทำให้ต้องถนอมร่างกายนักเตะเอาไว้เป็นรายคน
ไปจนถึงเรื่องการฝึกซ้อมที่เข้มข้นจริงจัง สปิริตภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี รวมทั้งเหตุผลที่เขาย้ายมารับงานแบบกระทันหัน ทั้งหมดคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้พอตเตอร์ยังได้ไปต่อท่ามกลางผลงานที่ไม่สู้ดี
และแม้จะมีช่วงที่ดูเหมือนจะกลับมาได้ อย่างผลงานเดือนมีนาคม 2023 ที่ทีมลงแข่ง 4 นัด รวมทุกรายการพอตเตอร์คุมทีมชนะได้ถึง 3 นัด โดยโมเมนต์สำคัญก็หนีไม่พ้นที่เอาชนะ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ สกอร์รวม 2-1 ในแชมเปี้ยนส์ลีก รอบ 16 ทีมสุดท้าย
ทว่าสุดท้ายก็วนมาอีหรอบเดิม นั่นคือผลงานในเกมสุดท้ายก่อนโดนปลด กับความพ่ายแพ้ต่อ แอสตัน วิลล่า คาบ้าน 0-2 กลายเป็นสถิติที่ไม่น่าจดจำสักเท่าไร เพราะนี่เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปีที่ สิงห์บลูส์ แพ้ สิงห์ผงาด ในบ้านตัวเอง จนเชลซีหล่นไปอยู่อันดับที่ 11 ของตาราง
ยังไม่นับสถิติน้อยใหญ่อีกมากที่แสดงให้เห็นถึงผลงานที่ตกลงของเชลซีแบบน่าใจหาย เช่น คุมทีมเชลซีคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ชนะที่ต่ำที่สุดในบรรดาผู้จัดการสโมสรในรอบ 30 ปี และคุมทีมจบสกอร์ใส่คู่แข่งไปแค่ 21 ลูกจากทั้งหมด 22 เกมพรีเมียร์ลีก หรือคิดอัตราเฉลี่ยต่อเกมเชลซียิงได้ไม่ถึงหนึ่งประตูด้วยซ้ำ ฯลฯ
กอปรกับกระแสต่อต้านจากแฟน ๆ ก็ยิ่งถาโถม จากเสียงตะโกนว่า “You don't know what you're doing (แกไม่รู้ตัวหรอก ว่าแกกำลังทำอะไรอยู่)” หรือแม้แต่ “sacked in the morning (เช้ามา โดนไล่ออก)”
ท้ายสุดจุดแยกทางก็มาถึง เมื่อช่วงดึกของวันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน (ต่อเช้าวันจันทร์ที่ 3 เมษายน) 2023 ตามเวลาประเทศไทย เชลซียุคเศรษฐีอเมริกัน นำโดยสี่คนจากทีมบริหารอย่าง ท็อดด์ โบห์ลี, เบห์ดัด เอ็กห์บาลี, ลอเรนซ์ สจวร์ต และ พอล วินสแตนลีย์ เห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันเรื่องการตัดสินใจแยกทางกับ แกรห์ม พอตเตอร์ โดยเป็นการทำงานร่วมกันในระยะเวลาไม่ถึง 7 เดือนด้วยซ้ำ
“ในนามของทุกคนที่สโมสร เราอยากขอบคุณแกรห์มด้วยใจจริงสำหรับการมีส่วนร่วมของเขากับเชลซี เรามีความเคารพอย่างสูงสุดต่อแกรห์มในฐานะโค้ชและในฐานะบุคคลคนหนึ่ง” ท็อดด์ โบห์ลี และ เบห์แดด เอ็กห์บาลี เจ้าของสโมสร (ร่วม) แถลงอำลาพอตเตอร์ลงเว็บไซต์สโมสร
“เขาประพฤติตัวด้วยความเป็นมืออาชีพและความซื่อสัตย์มาโดยตลอด และเราทุกคนต่างก็ผิดหวังกับผลลัพธ์นี้”
เซฟซีซั่น 2022/23
“คุณไม่สามารถใช้เงิน 550 ล้านปอนด์ (ตลาดนักเตะเชลซียุคโบห์ลี) และรั้งอันดับ 11 ในพรีเมียร์ลีก” คาเวห์ โซลเฮโคล หัวหน้าฝ่ายข่าวของ Sky Sports News แสดงความเห็น
“ท็อดด์ โบห์ลีย์ มีส่วนสำคัญในการแต่งตั้งพอตเตอร์ เขาเป็นคนที่คอยสนับสนุนให้พอตเตอร์อยู่ในตำแหน่งนี้ เหล่าทีมบริหารคนอื่น ๆ ของเชลซีต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงก่อนหน้า แต่สุดท้ายพวกเขาก็ไม่ได้ตัดสินใจจนกระทั่งตอนนี้ ถ้าเป็นยุคโรมัน อบราโมวิช เจ้าของคนก่อน เขา (พอตเตอร์) คงถูกไล่ออกตั้งแต่ 3-4 เกมแรกไปแล้ว”
แม้จะดูขัดกับแนวทางใหม่ของสโมสรที่เน้นการสร้างทีมเพื่ออนาคต กับความตั้งใจใช้โค้ชคนเดียววางรากฐานทีมไปยาว ๆ ซึ่งเป็นความพยายามในการเปลี่ยนทิศทางเดิมจากยุคอบราโมวิชที่เน้นจ้างโค้ชดังแล้วปลดง่ายดายหากผลงานไม่เป็นที่น่าพอใจ
ในรายของทูเคิ่ล เป็นเรื่องแนวทางการทำงานที่ไม่ตรงกัน ขณะที่พอตเตอร์ เพื่อไม่ให้ผลงานภาพรวมของสโมสรในฤดูกาล 2022/23 “ตก” ลงไปมากกว่านี้
สำหรับกรณีของ แกรห์ม พอตเตอร์ บ่งชี้ได้ว่าสโมสรยัง “ไม่ยอม” ยกธงขาวในฤดูกาลนี้
ถึงแม้ว่าการลุ้นพื้นที่ท็อป 4 เพื่อสิทธิ์ไปแข่งขันยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก 2023/24 จะดูไกลเกินเอื้อมแล้ว ทว่ากับเส้นทางของทัวร์นาเมนต์ดังกล่าวในฤดูกาลปัจจุบันยังไม่จบลง เพราะเชลซียังมีโปรแกรมรอบ 8 ทีมสุดท้ายกับ เรอัล มาดริด รออยู่
ด้วยเหตุนี้ สโมสรจะปล่อยให้สถานการณ์ในลีกดูย่ำแย่ไปกว่านี้ไม่ได้ หากทีมได้ไอเดียใหม่ ๆ ได้แทคติกใหม่ ๆ จากกุนซือคนต่อไป ไม่ว่าจะเป็นคนขัดตาทัพอย่าง บรูโน่ ซัลตอร์ หนึ่งในสตาฟของพอตเตอร์ หรือกุนซือคนใหม่ที่วันดีคืนนี้สโมสรอาจทำการแต่งตั้ง ทุกอย่างอาจพลิกผันจากร้ายกลายเป็นดีได้
เพราะหาก “ไม่เซฟ” ซีซั่นนี้ เชลซีมีสิทธิ์จบฤดูกาลมือเปล่า มีสิทธิ์เก็บแต้มได้น้อยที่สุดในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก เพราะตั้งแต่ลีกสูงสุดใช้ชื่อนี้ เชลซีไม่เคยจบด้วยการมีแต้มน้อยกว่า 50 แต้ม (ปัจจุบันแข่ง 28 นัด มี 38 แต้ม)
แถมรายได้มหาศาลในฤดูกาลหน้าอาจจะหายไปอีกหากไม่ได้คว้าสิทธิ์ลุยฟุตบอลยุโรป
นั่นทำให้ทีมบริหาร นำโดย ท็อดด์ โบห์ลี จึงยอม “กลืนน้ำลายตัวเอง” เพื่อให้ทีมดีขึ้นกว่าเดิมโดยเร็วให้ได้
แหล่งอ้างอิง
https://www.chelseafc.com/th/news/article/chelsea-statement-02-04-23
https://theathletic.com/4373530/2023/04/02/chelsea-sack-graham-potter/
https://twitter.com/CFCDaily/status/1642661763077349377?s=20
https://www.telegraph.co.uk/football/2023/04/02/graham-potter-sacked-chelsea-wrong-fit-todd-boehly/
https://www.telegraph.co.uk/football/2023/04/02/how-chelseas-faith-in-graham-potter-slowly-ebbed-away/
https://www.telegraph.co.uk/football/2023/04/02/graham-potter-sacked-chelsea-next-manager/
https://www.skysports.com/football/news/11668/12782650/graham-potter-chelsea-sack-head-coach-one-day-after-blues-beaten-by-aston-villa
https://www.independent.co.uk/sport/football/chelsea-manager-graham-potter-sacked-boehly-b2312764.html
https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-11930989/IAN-LADYMAN-Graham-Potters-sacking-Chelsea-dismally-short-term-short-sighted.html