หลังจบทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลก 2022 เป็นต้นมา สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่แฟนฟุตบอลมักจะได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทีมชาติหลาย ๆ ทีมคือการเข้าสู่ “ยุคใหม่” ซึ่งครอบคลุมทั้งการเปลี่ยนผ่านจากนักเตะมากประสบการณ์ที่อำลาทีม มาสู่แข้งแกนหลักรุ่นรองลงมา และเหล่าสตาร์สายเลือดใหม่ ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงด้านอื่น ๆ
เช่นเดียวกับทีมฟุตบอล ทีมชาติเวลส์ ซึ่งเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง นอกจากทัพ “มังกรแดง” จะไม่มีชื่อของ แกเร็ธ เบล หนึ่งในตำนานลูกหนังตลอดกาลของชาติ ที่ประกาศเลิกเล่นฟุตบอลหลังจบเวิลด์คัพที่กาตาร์ อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญคือ การพิจารณาเปลี่ยนชื่อทีมชาติเป็น “คัมรี (Cymru)” แทน
ชื่อดังกล่าวอาจมีความแปลกใหม่ในสายตาคอลูกหนังทั่วมุมโลก ทว่ากับที่เวลส์ นี่คือ “คำ” ที่ชนในชาติรู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
ทำไมเวลส์ถึงมีแนวคิดเปลี่ยนชื่อทีมชาติเป็น “คัมรี” ติดตามไปพร้อม ๆ กับ Main Stand
ประวัติศาสตร์และท้องถิ่น
“ทีมควรถูกเรียกว่าคัมรีมาเสมอ นั่นคือสิ่งที่เราเรียกกันที่นี่ มุมมองของเราในตอนนี้คือในประเทศเราถูกเรียกว่าคัมรีแบบชัดเจนเลย นี่คือชื่อที่เราใช้เรียกทีมชาติของเรา”
จากคำให้สัมภาษณ์ของ โนเอล มูนีย์ (Noel Mooney) ผู้บริหารระดับสูงของสมาคมฟุตบอลเวลส์ หรือ FAW ช่วยให้ทุกคนเข้าใจได้ว่า ที่จริงแล้ว เวลส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ชาติประกอบรวมเป็นสหราชอาณาจักร มีคำที่ใช้เรียกชื่อความเป็นชาติของตัวเอง ซึ่งก็คือ “คัมรี” หรือที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Cymru
หรืออธิบายง่าย ๆ ก็คือ คนภายนอกจะเรียกที่นี่ว่า “เวลส์” ตามชื่อภาษาอังกฤษที่ใช้อย่างเป็นทางการ ตัวอย่างคำที่ใช้เรียกที่เกี่ยวกับเวลส์ เช่น ชาวเวลส์ ประเทศเวลส์ และ ทีมชาติเวลส์ เป็นต้น
เรื่องนี้มีที่มาจากประวัติศาสตร์ โดยคำเป็นอื่นที่ถูกเรียกชนชาวเวลส์ถูกริเริ่มเรียกมาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล คำว่า เวลส์ มาจากคำรากศัพท์ของชนเผ่าเยอรมัน (Germanic Tribes) อย่าง Volcae ที่มีความหมายว่า คนต่างชาติต่างถิ่น
ชนเยอรมันโบราณได้ใช้คำดังกล่าวเรียกชาวเคลต์ (Celts) หรือกลุ่มชนที่มีถิ่นเดิมในยุโรปกลาง ทว่าก็มีบางส่วนที่อาศัยอยู่บนเกาะอังกฤษและไอร์แลนด์ รวมถึงชาวโรมัน
จากนั้นเมื่อชาวแองโกล-แซกซอน (Anglo-Saxon) อพยพเข้ามาอยู่บนเกาะอังกฤษ กลุ่มชนเผ่าจากเยอรมันกลุ่มนี้จึงเพิ่มคำศัพท์เรียกชาวเคลต์ที่ตั้งรกรากในพื้นที่เวลส์ไปว่า Wealas ซึ่งมีความหมายว่า คนแปลกหน้า
ก่อนจะแปรเปลี่ยนเรื่อยมาหลากยุคสมัยจนคำถูกกร่อนใหม่เป็น Wales หรือ Welsh ในปัจจุบัน
ขณะที่คนภายในไม่ได้ใช้คำเรียกกันเองว่าเวลส์ แต่มีชื่อเฉพาะที่ใช้กัน นั่นคือ คัมรี ซึ่งหมายถึง ประชาชน (The people) หรือเพื่อนร่วมชาติ (Fellow countrymen)
โดย คัมรี มีที่มาจากคำว่า Combrogi หรือเป็นคำจากกลุ่มภาษา Brythonic ซึ่งเป็นภาษาที่ชนอังกฤษโบราณใช้สื่อสารกัน ซึ่งก็แปลความหมายได้ว่า เพื่อนร่วมชาติ
ว่ากันว่าชาวเวลส์โบราณใช้กลุ่มภาษาดังกล่าวสื่อสารระหว่างกัน รวมทั้งยังใช้สื่อสารกับกลุ่มชนที่พูดภาษานี้ในพื้นที่เกาะอังกฤษด้วย
เพราะคำดังกล่าวมีความหมายใช้แทนคนกลุ่มเดียวกันมาช้านาน นี่จึงเปรียบเสมือนเป็นคำท้องถิ่นของพื้นที่แห่งนี้ไปโดยปริยาย
ดังนั้นคำว่า คัมรี มักถูกใช้สื่อสารแทนคำว่า เวลส์ กันเป็นปกติในดินแดนที่มีกรุงคาร์ดิฟฟ์เป็นเมืองหลวง
ยกตัวอย่างการที่สมาคมฟุตบอลมังกรแดงมักจะใช้คำว่า คัมรี สื่อสารสู่สายตาสาธารณชน ดังปรากฏทั้งที่เป็นชื่อหลักของสำนักงานใหญ่ การติดต่อพูดคุย การส่งเอกสารให้เจ้าหน้าที่สมาคมที่ประจำการอยู่ในยูฟ่า ไปจนถึงการใช้คัมรีสอดแทรกในเนื้อข่าว สารประกาศ รวมถึงภาพกราฟิกประกาศต่าง ๆ ทางโซเชียลมีเดีย
เป็นเหตุให้สมาคมฟุตบอลเวลส์พร้อมผลักดันเต็มที่ เพื่อให้คำว่า คัมรี ปรากฏเป็นชื่อทีมชาติของพวกเขาแทนคำว่า เวลส์
“ถ้าคุณดูที่เว็บไซต์ของเราว่าเราพูดถึงตัวเองแบบไหน ไม่ต้องสงสัยใด ๆ เลย เราคือคัมรี” โนเอล มูนีย์ ผู้บริหารระดับสูงของ FAW ว่าต่อ
ไอเดียที่มาจากการเปลี่ยนชื่อของทีมชาติอื่น
ว่ากันว่าการผลักดันเพื่อให้ใช้คำว่า ทีมชาติคัมรี แทน ทีมชาติเวลส์ มาเกิดขึ้นแบบจริง ๆ จัง ๆ ในช่วงจับสลากแบ่งสายรอบคัดเลือกศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือยูโร 2024 ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม 2022
โดยทัพมังกรแดงถูกจับสลากให้มาอยู่ในสาย D ร่วมกับทีมชาติโครเอเชีย ทีมชาติอาร์เมเนีย ทีมชาติลัตเวีย และทีมชาติตุรกี (ตุรเคีย)
ซึ่งชื่อทีมชาติสุดท้ายนี้เอง ภายหลังกลายเป็นไอเดียที่ทางสมาคมลูกหนังของเวลส์ใช้ผลักดันมาจนถึงเวลานี้
เนื่องด้วยความหมายบางส่วนในภาษาอังกฤษของประเทศดินแดนแห่งสองทวีปนี้ตีความหมายได้หลายหลาก และบางความหมายดูไม่เป็นมงคลเท่าไร เช่น ในหมวดหมู่คำไม่เป็นทางการของพจนานุกรมภาษาอังกฤษเคมบริดจ์ นิยาม Turkey หมายถึงความล้มเหลว คนโง่ และคนเซ่อ ไปจนถึงการไปพ้องเสียงกับคำว่า ไก่งวง ในภาษาอังกฤษ
ด้วยเหตุนี้รัฐบาลตุรกีจึงริเริ่มดำเนินการเปลี่ยนชื่อประเทศใหม่ ก่อนจะได้รับการจดทะเบียนเป็นชื่อใหม่ในภาษาต่างประเทศจาก ตุรกี (Turkey) เป็น ตุรเคีย (Türkiye) ซึ่งเป็นชื่อตามภาษาถิ่นที่คงคุณค่าทั้งทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ซึ่งได้รับการรับรองโดยองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ไปเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2022
เท่ากับว่าช่วงเวลาต่อจากนี้ บรรดาหน่วยงานราชการของประเทศ ตลอดจนการใช้นามทางการของประเทศในระดับสากลจะถูกเปลี่ยนมาเป็น ตุรเคีย เรียบร้อย และนั่นทำให้ทีมฟุตบอลทีมชาติตุรกี มีชื่อทางการเป็นภาษาอังกฤษว่า ตุรเคีย ดังที่ปรากฏในเว็บไซต์ของยูฟ่า
และนี่ได้กลายมาเป็นไอเดียสำคัญสำหรับการพิจารณาเปลี่ยนชื่อทีมชาติเวลส์ ดังบทสัมภาษณ์อีกช่วงหนึ่งของมูนีย์ อดีตหัวหน้าฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป ที่เข้ามาบริหารสมาคมฟุตบอลเวลส์ช่วงกลางปี 2021
“คุณได้เห็นประเทศต่าง ๆ อย่าง อาเซอร์ไบจาน ตุรกี รวมถึงประเทศอื่น ๆ ใช้ภาษาของตนเอง พวกเขาค่อนข้างหนักแน่นในเรื่องนี้มาก ๆ”
“เราก็ได้พูดคุยกับตุรกีเกี่ยวกับเรื่องนี้ตอนจับสลากฟุตบอลยูโร 2024 รอบคัดเลือก แล้วเราก็ได้พูดคุยกับยูฟ่า แบบยังไม่เป็นทางการมาแล้ว ซึ่งก็ได้ถามเรื่องนี้ในอีเวนต์ต่าง ๆ ด้วยว่าตุรกีทำได้อย่างไร ประเทศอื่น ๆ ทำได้ไหม”
การดำเนินการและกระแสตอบรับ
การพิจารณาและบทสัมภาษณ์หลัก ๆ ของ โนเอล มูนีย์ เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2022 หรือช่วงก่อนฟุตบอลโลกที่กาตาร์จะอุบัติ
ทำให้เวลานี้ยังอยู่ในช่วง “ปฐมฤกษ์” ของการผลักดันแนวทางดังกล่าว ซึ่งต้องเริ่มจากการพูดคุยกันภายในเพื่อให้แผนงานและการผลักดันเป็นไปในทิศทางเดียวกันเสียก่อน จากนั้นเราอาจได้เห็นประกาศเรื่องการดำเนินการกันอีกครั้ง
“ผมคิดว่าปี 2023 เป็นต้นไปจะเป็นปีที่เรามีการสนทนาที่ดีกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล สภา ไปจนถึงบอร์ดบริหารของเรา และเจ้าหน้าที่ของสโมสรต่าง ๆ รวมถึงนักเตะ” โนเอล เผยต่อ
“เราเป็นองค์กรที่มีความเป็นประชาธิปไตย เราเปิดกว้าง และเราจะไม่ตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียว ผมบอกได้เลยว่ามันเป็นแค่ทิศทางที่เราตั้งใจจะมุ่งไปแต่ยังไม่มีการตัดสินใจที่แน่ชัด ก็คงคล้ายกับการซึมซับในสิ่งที่เราอยากจะก้าวไปให้ถึง”
แต่ก่อนจะไปถึงจุดที่ดำเนินเรื่องอย่างจริงจัง เป็นธรรมดาของสังคมที่จะมีมุมทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
เช่นเดียวกับกระแสตอบรับบางส่วนจากแฟนฟุตบอลเวลส์ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเสียทั้งหมด บ้างก็ดูสอดรับกับการพิจารณาเปลี่ยนชื่อทีมชาติ และแน่นอนว่าบ้างก็ไม่เห็นด้วย
“เป็นการพัฒนาที่ยอดเยี่ยมเลย เป็นการเคลื่อนไหวที่ดีจริง ๆ คัมรี!"
“ในฐานะคนที่ใช้ชีวิต 90% ของตัวเองในเวลส์ มันรู้สึกแปลกที่จะพูดหรือเขียนว่า คัมรี เป็นประโยคภาษาอังกฤษ แต่ถึงอย่างไร ผมโหวตให้กับเรื่องนี้”
“ผมเป็นชาวเวลส์ที่พูดภาษาอังกฤษได้ ดังนั้นผมยินดีที่จะให้ใช้ชื่อว่าเวลส์ต่อไป”
“ทีมชาติก็ควรจะโฟกัสแต่กับเรื่องฟุตบอล ไม่ใช่เอาเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้มาผลักดันจนเป็นกระแสใหญ่”
จากความคิดริเริ่มเปลี่ยนชื่อทีมชาติใหม่ สู่การหารือที่ออกสตาร์ตจากภายใน ท่ามกลางเสียงสนับสนุนและเสียงที่มองต่างจากแฟน ๆ เสมือนเหรียญที่ออกได้ทั้งสองด้าน
นอกจากผลงานในสนามของพลพรรคมังกรแดงยุคใหม่ที่ชวนให้ติดตามแล้ว เรื่องราวการเปลี่ยนชื่อทีมชาติจาก เวลส์ เป็น คัมรี ที่เป็นเรื่องนอกสนามก็ดูจะน่าสนใจไม่แพ้กัน
แหล่งอ้างอิง
https://www.theguardian.com/football/2022/oct/31/wales-considering-change-name-to-cymru-after-world-cup-faw
https://www.the-sun.com/sport/6566650/cymru-wales-changing-name-world-cup/
https://www.telegraph.co.uk/football/2022/10/31/wales-want-stop-called-wales-world-cup/
https://www.dailypost.co.uk/sport/fans-react-faw-considers-welsh-25403884#comments-wrapper
https://www.wales.com/about/language/place-names-wales?fbclid=IwAR0o0aGf-akXuKdBBeOp_Wy7LAIGGZumw64yGr9gk4SzlInXUtSEa0jrrVY
https://www.sportingnews.com/th/wales/news/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD-%E2%80%98
https://www.facebook.com/LamsingBee/posts/pfbid02a4X7Wg3Miq2eSsDBkasMHFrmZA4upxXjE2K4i582tpUE6aZRL3kcp8uGemSQyJaRl
https://ngthai.com/cultures/42002/turkeychangetoturkiye/