Feature

แนวคิดจาก บิลล์ แชงคลี : ชายผู้นำพาลิเวอร์พูล ก้าวสู่ความยิ่งใหญ่ในพรีเมียร์ลีก | Main Stand

ลิเวอร์พูล ต้องตกชั้นไปเล่นดิวิชั่น 2 เป็นเวลานานกว่า 5 ปี และพ่ายแพ้ให้กับ วูสเตอร์ ซิตี้ (ทีมนอกลีกในเอฟเอคัพ 1958 – 59) สถานการณ์ ณ เวลานั้นอยู่ในจุดตกต่ำถึงขีดสุด แอนฟิลด์ทรุดโทรมจนไม่สามารถรดน้ำสนามได้ แต่ในปี ค.ศ. 1959 หลังการมาถึงของ บิลล์ แชงคลี (Bill Shankly) ลิเวอร์พูลก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

 


แชงคลีเป็นมากกว่าผู้จัดการทีมที่ยิ่งใหญ่ เขาคือ มูฮัมหมัด อาลี แห่งวงการฟุตบอล ผู้มากด้วยเสน่ห์ ความน่าเกรงขาม รวมถึงคำพูดอันคมคายราวกับบทกวีที่คาดไม่ถึง ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปี แห่งการคุมบังเหียนในถิ่นแอนฟิลด์ (1959 - 74) เขานำพาลิเวอร์พูลก้าวสู่ความยิ่งใหญ่ชนิดที่ไม่มีใครเทียบได้อีก ด้วยการพาทีมเลื่อนชั้นสู่ดิวิชั่น 1 ในปีถัดมา และยังสามารถคว้าแชมป์ลีก 3 สมัย รวมถึงยูฟ่า คัพ 1 สมัย

เขาวางรากฐานให้ บ็อบ เพสลีย์ (Bob Paisley) และ โจ ฟาแกน (Joe Fagan) ผู้สืบทอดตำแหน่งผู้จัดการทีมในเวลาต่อมา สามารถพาทีมผงาดด้วยการคว้าแชมป์ลีก 7 สมัย และยูโรเปี้ยนคัพ 4 สมัยใน 10 ฤดูกาลหลังจากที่แชงคลีรีไทร์ในปี 1974

อาจกล่าวได้ว่าแชงคลีได้กลายเป็นวีรบุรุษตลอดกาลของชาวเดอะค็อป (The kop) และนี่คือส่วนหนึ่งในแนวคิดของเขาที่วางรากฐานให้ลิเวอร์พูลก้าวสู่ความยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา

ติดตามได้ที่ Main Stand

 

รักในสิ่งที่ทำ

ปี ค.ศ. 1913 บิลล์ แชงคลี เกิดในหมู่บ้านเหมืองถ่านหิน ย่านเกลนบัค เมืองไอร์เชียร์ ประเทศสกอตแลนด์ และต้องอยู่ท่ามกลางความยากลำบาก ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในเมืองที่แทบทุกครัวเรือนมีปัญหาความยากจน

แชงคลีเคยเขียนไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเองว่า “ตอนเด็ก ผมกับเพื่อน ๆ เคยขโมยผัก ขนมปัง หรือแม้แต่ผลไม้เน่า ๆ จากเกวียนในเหมืองถ่านหิน ผมยอมรับว่ามันผิด แต่จำเป็นต้องทำเพราะความหิวโหย”

อายุ 14 ปี แชงคลีจำเป็นต้องลาออกจากโรงเรียนเพื่อไปช่วยครอบครัวหาเงินอีกแรง เขาทำงานอย่างหนักในเหมืองถ่านหินซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งสกปรก หนู และความเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายจากโรคภัยหรืออุบัติเหตุจากเครื่องยนต์

บนสถานที่แห่งความทุกข์ยากยังมีสิ่งหนึ่งที่งดงามและสร้างรอยยิ้มให้แก่คนงานผู้ต้อยต่ำในเหมืองถ่านหินเสมอ “มันคือฟุตบอล”

ในขณะที่ทำงานเป็นคนขุดแร่ แชงคลีใช้โอกาสทุกครั้งที่เป็นไปได้เพื่อเล่นฟุตบอลให้บ่อยที่สุด เขาพัฒนาทักษะตัวเองจากพื้นสกปรกของเหมืองแร่ราวกับไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เขาบอกว่า

“ตอนนั้นผมยังเด็ก แต่ผมรู้ว่าผมหลงรักฟุตบอล การทำงานในเหมืองก็เป็นเพียงการฆ่าเวลาเท่านั้น เพราะความฝันสูงสุดของผมคือการได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ”

แม้ว่าในเวลานั้นการเป็นนักฟุตบอลอาชีพจะได้รับเงินค่าจ้างเพียงน้อยนิด และฟุตบอลก็ยังถูกมองว่าเป็นกีฬาสำหรับแรงงานชั้นล่างเท่านั้น แต่แชงคลีก็ไม่เคยหวั่นไหว เขารู้ดีว่าตัวเองเกิดมาเพื่อเป็นใคร และมุ่งมั่นเพื่อสิ่งที่วาดฝันไว้ด้วยความแน่วแน่ กับความกระตือรือร้นอย่างไม่มีสิ้นสุดในสิ่งที่ตนรัก

ด้วยความมุมานะรวมถึงความศรัทธาในสิ่งที่รัก ส่งให้แชงคลีสามารถผลักดันตัวเองให้กลายมาเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้ในที่สุด เขาลงเล่นให้กับทั้ง คาร์ไลส์ ยูไนเต็ด (1932 – 1933), เพรสตัน นอร์ท เอนด์ (1933 – 1949) ยิงได้ 13 ประตู จาก 313 เกม ที่ลงเล่นในตำแหน่งกองหลังให้กับทั้งสองทีม

 

จงกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง

ก่อนเข้ามารับหน้าที่เป็นผู้จัดการทีมให้ลิเวอร์พูล แชงคลีเคยกุมบังเหียนให้กับ คาร์ไลส์ ยูไนเต็ด (1949–1951), กริมสบี้ ทาวน์ (1951–1954), เวิร์กคิงตัน (1954–1955) และ ฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์  (1956–1959) ด้วยสไตล์การคุมทีมที่เน้นความเป็นมืออาชีพ บวกกับทัศนคติที่ไม่เคยยอมแพ้ ทำให้เขาได้รับความไว้วางใจจากบอร์ดบริหารให้เข้ามาคุมทีมลิเวอร์พูล ในปี 1959

“ผมจะสร้างลิเวอร์พูลให้แข็งแกร่งเหมือนป้อมปราการที่ไม่มีวันล้ม หากนโปเลียนคิดแบบเดียวกันเขาคงหยุดสงครามที่นองเลือดได้ … แต่ผมต้องการสร้างลิเวอร์พูลให้ไม่มีใครแตะต้องได้ จนในที่สุดทุกคนก็ต้องยอมจำนนต่อเรา” แชงคลี ประกาศกร้าวตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาถึงสโมรสร

การมาของแชงคลีในยุคที่อาจเรียกได้ว่ากำลังตกต่ำถึงขีดสุด ทำให้เขาพบปัญหาหลายอย่าง เช่น สนามแอนฟิลด์อยู่ในสภาพทรุดโทรมจนไม่สามารถรดน้ำได้ ปัญหาด้านการเงินที่ไม่คล่องตัว รวมถึงแฟนบอลที่เริ่มหมดศรัทธาต่อทีมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ปัญหาใหญ่ที่เขาต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือบรรดานักเตะซึ่งอยู่ในสภาพไม่ฟิต มีอาการท้อแท้ และขาดระเบียบวินัยอย่างรุนแรง รวมถึงยังขาดความทะเยอทะยานในการฝึกซ้อมอีกด้วย

แชงคลีทำการปลดผู้เล่นกว่า 24 รายในปีนั้น โดยเฉพาะตำแหน่งกองกลางและกองหลัง ซึ่งเขาต้องการผู้เล่นที่หิวกระหายมากพอที่จะทำตามแทคติกที่เน้นเกมรับของเขาได้

ในขณะเดียวกัน เขาเริ่มเปลี่ยนแปลงเทคนิคการซ้อมของทีมเสียใหม่ นั่นคือการซ้อมแบบ "sweat box" เป็นครั้งแรก ที่ต้องใช้กระดานขนาดใหญ่เท่ากำแพงบ้านมาล้อมไว้ 4 ด้าน แล้วให้นักเตะสลับกันพลิกตัวเตะเพื่อฝึกไหวพริบ ความว่องไว และความคล่องตัวระหว่างควบคุมลูกบอล เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ทอม ฟินนีย์ (Tom Finney) อดีตเพื่อนรวมทีมสมัยยังค้าแข้งให้เพรสตัน นอร์ท เอนด์ ที่ฝึกซ้อมคนเดียวเพื่อพัฒนาทักษะของตนเอง โดยเทคนิคดังกล่าวสามารถตอบโจทย์ปรัชญาการเล่นของเขาที่ว่า “ส่งบอลแล้วเคลื่อนที่” ได้อย่างดีเยี่ยมในเวลาต่อมา

อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในยุคของแชงคลี นั่นคือนับตั้งแต่ที่ทีมถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1892 ลิเวอร์พูลก็สวมเสื้อสีน้ำเงิน-ขาว กับกางเกงขาสั้น และถุงเท้าสีกรมท่ามาโดยตลอด อาจจะมีถุงเท้าสีดำกับสีแดงสลับกันบ้างในบางปี แต่โทนสีจะไม่หนีไปจากนี้

ในวันที่ 24 พฤศจิกายน ปี 1964 ในเกมยูโรเปี้ยนคัพ รอบสอง เลกแรก ซึ่งสโมสรถูกจับสลากให้มาพบกับ อันเดอร์เลชท์ ก่อนการแข่งขันจะเริ่มต้น แชงคลีตัดสินใจทดลองบางอย่าง เขาทำการเปลี่ยนชุดแข่งให้กลายเป็นสีแดงทั้งหมด เขากล่าวว่า

“สีแดงมีผลกับจิตวิทยาอย่างมาก"  คืนนั้นผมกลับมาที่บ้าน คุยกับกับ เนส ภรรยาของผม ว่า "คุณรู้อะไรไหม … คืนนี้ที่ผมออกไปที่แอนฟิลด์ เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นว่าเหมือนกับมีแสงไฟกำลังลุกโชน เกมของเรากับอันเดอร์เลชท์เป็นคืนแห่งความทรงจำ เราสวมชุดสีแดงทั้งหมดเป็นครั้งแรก คริส รอนนี่ ผู้เล่นของผม เขาดูเหมือนยักษ์เลยล่ะ”

ผลจากการเปลี่ยนสีชุดแข่งในครั้งนั้นทำให้ลิเวอร์พูลเอาชนะ อันเดอร์เลชท์ 3-0 และไปได้ไกลถึงรองแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพ ปี 1964 นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ทำให้ลิเวอร์พูลมีชุดแข่งสีแดง ซึ่งเป็นสีประจำสโมสรมาจนถึงทุกวันนี้

แชงคลีต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงลิเวอร์พูล เขามีปากเสียงกับบอร์ดผู้บริหารอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเรื่องของการใช้เงินซื้อนักเตะเข้ามาร่วมทีม ซึ่งบอร์ดไม่เห็นด้วยกับการทุ่มเงินซื้อนักเตะแพง ๆ ในยุโรป จนบางครั้งแชงคลีต้องเดินออกมาสงบสติอารมณ์คนเดียวข้างนอก

แต่เขาก็ไม่เคยหวั่นไหว เพราะหากเขาไม่มีความกล้าหาญมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ทีมก็คงจะไม่มีวันกลายมาเป็นหนึ่งในยอดทีมที่แข็งแกร่งในพรีเมียร์ลีกได้จนถึงปัจจุบัน

 

ใช้คำพูดอย่างชาญฉลาด

"ลิเวอร์พูลไม่ใช่แค่สโมสร แต่เป็นสถาบัน”

“บางคนคิดว่าฟุตบอลเป็นเรื่องของชีวิตและความตาย แต่ผมรับรองกับคุณได้เลยว่ามันร้ายแรงกว่านั้นมาก”

“สิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลกคือความกระตือรือร้น คุณจะไม่มีทางประสบความสำเร็จหากไม่มีมัน”

“ในช่วงเวลาของผมที่แอนฟิลด์ เราพูดเสมอว่าเรามีสองทีมที่ดีที่สุดในเมอร์ซีย์ไซด์ – ลิเวอร์พูลและลิเวอร์พูลทีมสำรอง”

“ความสำเร็จมากมายของฟุตบอลอยู่ในใจ คุณต้องเชื่อว่าคุณเก่งที่สุดแล้วตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณเป็นเช่นนั้น”

“เพราะผมไม่ได้รับการศึกษา ผมจึงต้องใช้สมองให้หนักขึ้น”

เหล่านี้ล้วนเป็นคำพูดที่ชี้ให้เห็นถึงหลักการใช้คำพูดอย่างชาญฉลาดของแชงคลี จิตวิทยาในการใช้คำพูดของเขาจึงนับว่างดงามราวกับบทกวี แต่คมคายราวกับปลายมีดแหลม

เขารู้ว่าควรพูดอะไรหรือไม่ควรพูดอะไร และคำพูดไหนเหมาะสมในเวลาไหนบ้าง ซึ่งบ่อยครั้งที่คำพูดของเขาช่วยพลิกสถานการณ์ให้ลิเวอร์พูลจากเสียเปรียบกลับมาได้เปรียบได้อย่างไม่น่าเชื่อ

หลักแห่งการใช้คำพูดของแชงคลีจึงสำคัญ เพราะการสื่อสารที่ดีจะนำมาซึ่งความสำเร็จที่ยอดเยี่ยม มันไม่ใช่แค่ช่วยกระตุ้นความกล้าหาญต่อลูกทีมเท่านั้น แต่ยังสามารถทำให้ทีมเป็นอันหนึ่งเดียวกันได้อย่างมั่นคงอีกด้วย

 

อดทนและทำงานให้หนัก

“ชีวิตของผมคืองานของผม งานของผมคือชีวิตของผม”

นี่เป็นอีกหนึ่งคำกล่าวอันคมคายของแชงคลี ซึ่งแสดงได้เห็นถึงทัศนคติต่อการทำงานของเขาได้อย่างชัดเจนที่สุด

เขาเป็นผู้จัดการทีมที่ขึ้นชื่อเรื่องระเบียบวินัยอย่างมาก เขามักจะแสดงให้ทีมงานหรือผู้เล่นของเขาได้เห็นถึงการทำงานหนัก ความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ ความยืดหยุ่น และสำนึกต่อทีมอย่างตรงไปตรงมา

“ผมค่อนข้างจริงจังกับงานอย่างมาก และก็รู้สึกไม่พอใจอย่างยิ่ เมื่อเห็นผู้เล่นที่รับเงินเดือนแพง ๆ แต่กลับขาดความมุ่งมั่นที่จะทำงานหนัก ซึ่งหากเป็นไปได้ ผมรับรองได้เลยว่าผมจะจับพวกเขาเข้าคุกทันทีที่มีโอกาส เพราะพวกเขาคือตัวอันตรายต่อทีม”

การทำงานหนักด้วยความอดทนทำให้แชงคลีสามารถนำพาลิเวอร์พูลคว้าแชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษได้ภายในเวลาเพียง 2 ปี

และอีก 15 ปีต่อมา (1959 - 74) เขาก็กลายเป็นตำนานผู้จัดการทีมที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ด้วยการนำลิเวอร์พูลคว้าแชมป์ลีก 3 สมัย (1963 – 64, 1965 – 66 และ 1972 – 73) ยูฟ่า คัพ 1 สมัย (1972 -  73) เอฟเอคัพ 2 สมัย (1964 – 65 และ 1974 – 74) รวมถึง เอฟเอ ชาริตี้ ชิลด์ อีก 3 สมัยในปี 1964, 1965 และ 1966

ด้วยจิตวิทยาการทำงานระดับสูงของแชงคลี ทำให้ผู้เล่นทุกคนในทีมรู้สึกแข็งแกร่งเหมือนเป็นยักษ์สูง 10 ฟุต อีกทั้งยังสามารถเรียกความมั่นใจจากแฟนบอลให้เชื่อมั่นต่อวิธีการของเขาได้ตลอดชีวิตการทำงานในถิ่นแอนฟิลด์

“ผมอยากเห็นทุกคนทำงานเพื่อเป้าหมายเดียวกัน และทุกคนจะมีส่วนร่วมในความสำเร็จ นั่นคือวิธีที่ผมเห็นฟุตบอล นั่นคือวิธีที่ผมเห็นชีวิต ”

แชงคลียุติการเป็นผู้จัดการทีมของลิเวอร์พูล ในปี 1974 ด้วยวัย 60 ปี นี่เป็นเพียงบางส่วนจากวิธีคิดของเขาเท่านั้น ซึ่งการเข้ามาของเขานับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญต่อลิเวอร์พูลอย่างถึงที่สุด

เขาเสียชีวิตในวันที่ 29 กันยายน ปี 1981 (อายุ 68 ปี) ด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน ศพของเขาถูกเผาที่สุสานแอนฟิลด์ และในวันที่ 2 ตุลาคม เถ้ากระดูกของเขาถูกโปรยลงบนสนามแอนฟิลด์ที่ฝั่งเดอะค็อป อย่างยิ่งใหญ่

ในเวลาต่อมา ลิเวอร์พูลสร้างรูปปั้นของเขาซึ่งสูง 15 ฟุต ไว้ที่หน้าอัฒจันทร์แอนฟิลด์ โรด สลักข้อความว่า "You'll Never Walk Alone" เพื่อเป็นการรำลึกถึงหนึ่งในตำนานผู้จัดการทีมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสโมสรแห่งนี้

แชงคลียังได้รับการบรรจุชื่อลงในหอเกียรติยศฟุตบอลอังกฤษ ในปี 2002 ความยิ่งใหญ่ของเขาไม่ใช่เพียงการสร้างให้ลิเวอร์พูลให้กลายมาเป็นหนึ่งในทีมที่แข็งแกร่งที่สุดของยุโรปเท่านั้น

แต่เรื่องราวของเขายังสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน นับตั้งแต่วันแรกที่มาคุมทีม จวบจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

“ลิเวอร์พูลถูกสร้างมาเพื่อผม และผมถูกสร้างมาเพื่อลิเวอร์พูล” 

คำกล่าวของเขาดูจะเป็นจริงเช่นนั้น เขาคือหนึ่งในวีรบุรุษของชาวเดอะค็อปอย่างแท้จริง ที่แม้แต่แฟนบอลที่ไม่ชื่นชอบลิเวอร์พูลก็ยังคงรำลึกถึงเขาเสมอ ด้วยความนอบน้อม และความเคารพอย่างถึงที่สุด


 
แหล่งอ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/Bill_Shankly
https://thesefootballtimes.co/2015/11/12/bill-shankly-its-not-how-you-arrive-its-how-you-leave/
https://www.liverpoolfc.com/news/first-team/174990-50-years-since-lfc-first-wore-all-red
https://www.theguardian.com/football/2009/oct/18/bill-shankly-liverpool-manager
https://quotefancy.com/bill-shankly-quotes

Author

ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด

Main Stand's author

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

Man u is No.2 But YOU is No.1

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ