Feature

เฟร์นานโด อลอนโซ่ : เทพแห่ง F1 ที่เร็วแบบ "ดุดัน ไม่เกรงใจวัย" | Main Stand

แม้มอเตอร์สปอร์ตจะเป็นกีฬาที่เราได้เห็นนักซิ่งตั้งแต่วัยแบะเบาะยันวัยดึก แต่สำหรับ Formula 1 การแข่งขันความเร็วอันดับ 1 ของโลก ช่วงวัยของนักแข่งโดยทั่วไปนั้นแทบไม่ต่างอะไรกับนักกีฬาอื่น ๆ ที่เราคุ้นเคย เพราะแค่เข้าวัย 30 ปี หลายคนก็มองว่า "แก่เกินแกง" แล้ว

 


แต่คำนั้นใช้ไม่ได้กับ เฟร์นานโด อลอนโซ่ เพราะแม้อายุอานามจะเข้าสู่หลักสี่ แต่เขายังคงโชว์ลีลาการซิ่งขั้นเทพ จนหากเรียกว่า "ขับให้เด็กมันดู" ก็คงไม่ผิดอะไร

Main Stand ขอนำเสนอเรื่องราวของแชมป์โลก F1 สองสมัยชาวสเปน ที่หลายคนยกให้เป็น "เทพ" เพราะเร็วแบบ "ดุดัน ไม่เกรงใจวัย"

 

มีวันนี้เพราะพี่ให้

นักกีฬาหลายคนล้วนมีใครสักคนที่เป็นแรงผลักดันหรือสนับสนุนให้ก้าวถึงฝั่งฝัน แต่สำหรับ เฟร์นานโด อลอนโซ่ (Fernando Alonso) เรื่องราวของการที่ "มีวันนี้เพราะพี่ให้" ดูจะแปลกประหลาดเอาเสียหน่อย

จุดเริ่มต้นในการก้าวสู่กีฬาแข่งรถของนักซิ่งจากเมืองโอเบียโด ประเทศสเปน นั้น เริ่มจาก โฆเซ่ คุณพ่อของเขา อดีตนักแข่งโกคาร์ตสมัครเล่น ต้องการส่งต่อแพสชั่นให้กับลูก ๆ เขาตัดสินใจสร้างรถโกคาร์ตขึ้นมาเอง โดยตั้งใจว่าจะทำรถคันนี้ให้กับ ลอเรน่า ลูกสาวคนโต ซึ่งตอนนั้นมีอายุ 8 ขวบ

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวพลิกผันเมื่อลอเรน่าไม่สนใจกีฬาความเร็ว กลับเป็น เฟร์นานโด น้องชายที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ซึ่งรู้สึกว่ารถคันนั้นเหมือนเป็นบ้านทันทีที่ปีนเข้าไปนั่ง กลายเป็นว่าคุณพ่อต้องเหนื่อยเพิ่มอีกนิดในการโมดิฟายรถให้เข้ากับเจ้าลูกชายคนนี้

แม้การเริ่มต้นบนเส้นทางความเร็วของอลอนโซ่จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก จากการเกิดมาในครอบครัวชนชั้นแรงงานที่บ้านไม่มีทุนทรัพย์พอในการทำรถและต้องใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านเข้าช่วย เช่น การนำยางสลิกมากัดดอกเป็นยางลุยฝน แต่ฝีไม้ลายมือในการซิ่งของเขานั้นคือของจริง เขากวาดแชมป์มานับไม่ถ้วนตั้งแต่วัยกระเตาะ จนคว้าแชมป์โลกโกคาร์ตในระดับเยาวชนได้เมื่อปี 1996

ปี 1999 อลอนโซ่เลื่อนชั้นสู่การแข่งขันรถล้อเปิดเป็นครั้งแรกในรายการ Euro Open และสามารถคว้าแชมป์ประจำปีได้ทันที ผลงานดังกล่าวไปถูกใจ ฟลาวิโอ บริอาตอเร่ (Flavio Briatore) นักธุรกิจชาวอิตาลี ผู้ทรงอิทธิพลในวงการความเร็วเข้าอย่างจัง จนอลอนโซ่ได้บริอาตอเร่เป็นผู้จัดการส่วนตัว ก่อนที่จะถูกผลักดันเข้าสู่เวที F1 กับทีม Minardi เริ่มจากการเป็นนักแข่งสำรองและนักแข่งทดสอบในปี 2000 ก่อนจะถูกผลักดันสู่การเป็นนักแข่งเต็มตัวในปี 2001

แม้ฤดูกาลแรกใน F1 ของอลอนโซ่จะไม่สามารถเก็บคะแนนได้เลยแม้แต่แต้มเดียว แต่บริอาตอเร่เห็นถึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่จึงตัดสินใจให้เขาไปเป็นนักแข่งทดสอบของทีม Renault ที่ตัวเองเป็นบอสใหญ่ในปี 2002 ก่อนจะได้ลงแข่งอย่างเต็มตัวในปี 2003

ในตอนนั้น บริอาตอเร่ถูกเสียงวิจารณ์ถาโถมไม่น้อย เพราะอลอนโซ่มาแทนที่ของ เจนสัน บัตตัน นักแข่งชาวอังกฤษที่มีประสบการณ์มากกว่า แต่บอสจอมแสบชาวอิตาเลียนกล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า "เดี๋ยวเวลาจะตอบให้เองว่าผมคิดผิดหรือถูกกันแน่"

ซึ่งคำตอบนั้นไม่ต้องรอนาน เพราะเพียงแค่ปีแรกที่ลงแข่งกับทีม Renault อลอนโซ่ก็สัมผัสกับประสบการณ์ของการเป็นผู้ชนะทันที แถมยังสร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้ชนะการแข่ง F1 อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ ณ เวลานั้น ด้วยวัยเพียง 22 ปี 26 วัน

จากที่เคยตั้งข้อสงสัย "อนาคตแชมป์โลก" คือสิ่งที่หลายคนพูดถึงเขาไปแล้ว

 

แชมป์โลกและดราม่า

ต้นยุค 2000s ถือเป็นยุคที่ Ferrari ครองความยิ่งใหญ่แบบไร้เทียมทานใน F1 กับการคว้าแชมป์โลก 5 ปีติดของ มิชาเอล ชูมัคเกอร์ (Michael Schumacher) ระหว่างปี 2000-2004

ทว่าในปี 2005 อลอนโซ่ที่สั่งสมประสบการณ์มาหลายปีก้าวขึ้นมาท้าชิงตำแหน่งแชมป์โลกอย่างเต็มตัว ด้วยสไตล์การขับขี่ที่กล้าได้กล้าเสีย บวกกับรถแข่งที่ Renault สร้างขึ้นมาอย่างไร้ที่ติ ในปีนั้นเขาขึ้นโพเดียมถึง 15 สนาม โดย 7 สนามในจำนวนดังกล่าวคือการคว้าแชมป์และจบฤดูกาลด้วยตำแหน่งแชมป์โลก พร้อมกับสร้างสถิติแชมป์โลก F1 อายุน้อยที่สุด ณ เวลานั้น ด้วยวัยเพียง 24 ปี 59 วัน

ปี 2006 อลอนโซ่ยังโชว์ฟอร์มเทพเหมือนเดิม คว้าแชมป์ 6 เรซ กับเข้าป้ายอันดับ 2 อีก 3 เรซ ตลอด 9 สนามแรกของฤดูกาล ก่อนที่บทสรุปจะเป็นเช่นเดิม คือป้องกันแชมป์โลกได้สำเร็จ

ทว่าหลังจากนั้น สารพัดเรื่องราวดราม่าก็ถาโถมใส่เขา ทั้งการย้ายไปอยู่กับ McLaren ในปี 2007 ที่กลายเป็นฝันร้าย เพราะนอกจากต้นสังกัดจะเจอกับคดี "Spygate" กับการได้มาซึ่งข้อมูลอันเป็นความลับของทีมคู่แข่ง จนโดนตัดสิทธิ์การแข่งขันในประเภททีม และเจอโทษปรับ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การจับคู่กับ ลูอิส แฮมิลตัน (Lewis Hamilton) ที่เพิ่งขึ้นมาเป็นรุกกี้ปีหนึ่งยังกลายเป็นฝันร้าย จากที่คิดว่าจะประสานงานกลายเป็นประสานงา เกิดสงครามเย็นภายในการาจ จนแชมป์โลกประเภทนักขับหล่นใส่มือ คิมี่ ไรโคเน่น (Kimi Raikkonen) และอลอนโซ่ต้องออกจากทีมหลังย้ายมาได้เพียงปีเดียวเท่านั้น 

ขณะที่การย้ายกลับมาอยู่กับ Renault ในปี 2008 ก็ไม่วายมีเรื่องอื้อฉาวอีกหนกับคดี "Crashgate" เมื่อบริอาตอเร่ถูกตั้งข้อหาว่าสั่งให้ เนลสัน ปิเกต์ จูเนียร์ (Nelson Piquet Jr.) เอารถชนกำแพง เพื่อเรียกเซฟตี้คาร์ ช่วยให้อลอนโซ่คว้าแชมป์ที่ประเทศสิงคโปร์ จนถูกแบนจากวงการความเร็วตลอดชีวิต (ก่อนศาลฝรั่งเศสกลับคำตัดสินโทษแบนในเวลาต่อมา)

ไม่เพียงเท่านั้น การย้ายมาร่วมทีม Ferrari ในปี 2010 ยังมีผลลัพธ์ที่ออกมาไม่สวยงามนัก เพราะแม้เขาจะซิ่งรถแบบเค้นทุกเม็ดจนคว้าชัยชนะได้หลายสนาม แต่รถแข่งค่ายม้าลำพองกลับไม่ดีพอที่จะช่วยให้เขาคว้าแชมป์โลก ยิ่งปี 2014 ยิ่งสาหัส เขาขึ้นโพเดียมได้เพียง 2 ครั้ง โดยไม่มีชัยชนะเลย

ซ้ำร้าย การกลับสู่ McLaren รอบสองในปี 2015 ยังกลายเป็นหายนะสมบูรณ์แบบ เมื่อเครื่องยนต์ Honda ทั้งไม่แรงและไม่ทน ทำเอาอลอนโซ่เหลืออดวิจารณ์ Honda อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านวิทยุสื่อสารระหว่างการแข่งขัน ซึ่งเชื่อว่าหลายคนน่าจะจำ "GP2 Engine" ในการแข่งที่ซูซูกะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2015 ได้เป็นอย่างดี

แม้ McLaren จะพยายามเอาใจอลอนโซ่เต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนเครื่องยนต์จาก Honda เป็น Renault ในฤดูกาล 2018 ทว่าผลงานตลอด 4 ปีกับทีมก็ไม่สามารถขึ้นโพเดียมได้เลย ทำให้เขาตัดสินใจอำลาวงการ F1 

ถึงกระนั้น เขาก็ไม่ทิ้งโอกาสในการกลับมา หากไฟในตัวลุกโชนอีกครั้ง

 

เปลี่ยนเวทีเพื่อเติมไฟ

ผลงานในการแข่งขัน F1 กับภาคสองที่ McLaren ไม่เป็นไปตามคาดหวัง ทำให้ไฟในตัวของอลอนโซ่เริ่มมอด และวิธีของเขาในการฟื้นฟูตัวเองคือการเปลี่ยนประสบการณ์ไปชิมลางการแข่งรายการอื่นบ้าง

เรื่องดังกล่าวเริ่มต้นในปี 2017 ระหว่างที่ยังแข่ง F1 เมื่ออลอนโซ่ตัดสินใจข้ามฟากไปแข่งขันในศึก IndyCar กับรายการระดับตำนานอย่าง Indianapolis 500 แม้จะไม่จบการแข่งขัน แต่การขึ้นนำการแข่งชั่วขณะหนึ่งเหมือนจะทำให้เขาเริ่มกลับมาสนุกกับการแข่งอีกครั้ง จนตัดสินใจกลับมาแข่ง Indy 500 อีก 2 ครั้งในปี 2019 และ 2020

ขณะเดียวกัน เขาก็หันไปลงสนามในการแข่งประเภทเอนดูรานซ์ แข่งความอึดทั้งรถและคน ทั้ง 24 Hours of Daytona ซึ่งคว้าแชมป์ได้ในปี 2019 ในรถ Cadillac ตลอดจน WEC (World Endurance Championship) กับทีม Toyota ซึ่งนอกจากจะคว้าแชมป์ประจำฤดูกาล 2018-19 ได้แล้วยังคว้าแชมป์ 24 Hours of Le Mans ถึง 2 ปีซ้อนในปี 2018 และ 2019 อีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น อลอนโซ่ยังแว่บไปลงสนามในการแข่งขันทางฝุ่นกับ Dakar Rally แรลลี่สุดหฤโหดกับทีม Toyota ในปี 2020 อีก โดยจบการแข่งขันในอันดับ 13

และจากผลงานเหล่านี้ อลอนโซ่ดูจะพร้อมแล้วกับการรีเทิร์นสู่เวที F1 ที่เขาจะพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า "ขับให้เด็กมันดู" นั้นเป็นเช่นไร

 

เทพผู้ดุดัน ไม่เกรงใจวัย

ปี 2021 อลอนโซ่ตัดสินใจกลับมาลงแข่ง F1 อีกครั้ง และเป็นคำรบสามที่เขาอยู่กับทีม Renault ซึ่งรีแบรนด์ใหม่ในชื่อ Alpine รถสปอร์ตในเครือ

หลายคนมองว่าในวัย 40 ปี นักซิ่งผู้นี้จะยังมีน้ำยาเหลืออยู่ไหม แต่ผลงานในฤดูกาลดังกล่าวก็ตอบคำถามได้เกินพอ ทั้งการบัง เซอร์ลูอิส แฮมิลตัน สุดชีวิตในเรซที่ประเทศฮังการี จนช่วยให้ เอสเตบัน โอคอน (Esteban Ocon) คว้าชัยชนะครั้งแรกใน F1 ได้สำเร็จ รวมถึงการคว้าอันดับ 3 ที่ประเทศกาตาร์ ซึ่งเป็นการขึ้นโพเดียมครั้งแรกในรอบ 7 ปี

และถึงหลายคนจะมองอีกด้วยว่าการได้ขึ้นโพเดียมก็ดีเกินความคาดหวังแล้วสำหรับนักแข่งวัย 40 ปี อันเป็นวัยไม้ใกล้ฝั่งบนเวที F1 แต่อลอนโซ่นั้นยังคงยึดถือคติที่ว่า "ถ้าไม่หวังชนะ แล้วจะมาแข่งทำไม" ตลอดจน "ถ้ามีความสุข แล้วจะเลิกทำไม" เสมอ  

นั่นทำให้เกิดเหตุอีกครั้ง เมื่อเขาตัดสินใจย้ายทีมไปแข่งให้ทีม Aston Martin ในฤดูกาล 2023 ด้วยสัญญาหลายปี หลังไม่พอใจที่ Alpine เสนอสัญญาใหม่แบบปีต่อปี กลายเป็นจุดเริ่มต้นสู่มหากาพย์ดราม่าการย้ายทีมในช่วงฤดูร้อนปี 2022 ที่มีการสลับสับเปลี่ยนเก้าอี้นักขับกันวุ่นวาย

ไม่ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร แต่อลอนโซ่ก็ใช้ผลงานในสนามตอบคำถามอีกครั้ง ด้วยการขึ้นโพเดียมถึง 8 ครั้ง ใน F1 ฤดูกาล 2023 รวมเป็นโพเดียม 106 ครั้งกับ F1 และเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า หากรถดีพอเขาก็สู้เพื่อชัยชนะได้เสมอ

และถึงหลายคนจะมองว่าอลอนโซ่แก่เกินแกง แต่ เดม่อน ฮิลล์ (Damon Hill) แชมป์โลก F1 ปี 1996 ชาวอังกฤษ ยังมองว่า อลอนโซ่นั้นยังมีดีพอ และพร้อมสอนเชิงนักแข่งรุ่นน้องอยู่เสมอ

"เขาคือปรมาจารย์ ผมหมายถึงว่า เขาเชี่ยวชาญเรื่องการเข้าใจการแข่งขัน เขาเชี่ยวชาญในการแข่งขัน เขาเอาตัวเองออกจากปัญหาได้เสมอ และความเห็นของเขาคืออะไรที่สุดยอดมาก เพราะเขารู้ดีว่าเขาต้องพูดอะไรเพื่อเป็นการโรยเกลือขยี้แผลหากจำเป็นต้องทำ เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ"

"ผมคิดว่า นักแข่งทุกคนต้องมองมาที่เขา และมองเขาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวมาก ๆ เลยล่ะ"

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

2005 United States Grand Prix : เมื่อแฟนนับแสนลุกฮือขอเงินค่าตั๋วคืน เพราะมีรถแข่ง "แค่ 6 คัน"

The Power of Dreams : จากตัวตลก สู่แชมป์โลก F1 ของเครื่องยนต์ ฮอนด้า ยุคเทอร์โบไฮบริด

สัญญาไม่เป็นสัญญา : ดราม่าเก้าอี้ดนตรี F1 ฤดูกาล 2023 ที่มีคนโดนหักหน้าครั้งแล้วครั้งเล่า

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.formula1.com/en/drivers/hall-of-fame/Fernando_Alonso.html
https://www.planetf1.com/news/damon-hill-fernando-alonso-master/
https://en.wikipedia.org/wiki/Fernando_Alonso

Author

เจษฎา บุญประสม

Content Creator ผู้ชื่นชอบการกิน, ท่องเที่ยว และดูกีฬาแทบทุกประเภท โดยเฉพาะฟุตบอล, อเมริกันเกมส์, มอเตอร์สปอร์ต, อีสปอร์ต

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

Man u is No.2 But YOU is No.1

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา