Feature

ทำจนสำเร็จ : อาร์ต หลักปุย จูเนียร์ หนุ่มไทยเจ้าของแบรนด์ชุดชั้นในระดับโลก | Main Stand

ลิซ่า แฮมมอนด์ นักแสดงชาวอังกฤษจากซีรีส์ EastEnders เจ้าของความสูงเพียง 144 เซนติเมตร เคยพูดว่า “ระหว่างเส้นทางในการทำตามความฝัน บางครั้งคุณอาจหลงทาง แต่คุณก็มีโอกาสพบกับทางที่ดีกว่า” ซึ่งประโยคนี้สะท้อนไปถึงชีวิตของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่เกิดและเติบโตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย 

 


เขาพยายามหาโอกาสให้กับตัวเองและเริ่มต้นการเดินทางเพื่อที่เขาจะได้ทำงานเกี่ยวกับกีฬาฟุตบอลที่เขาหลงใหลมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งการเดินทางของเขานั้นได้ทำให้เขาก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของธุรกิจที่มีชื่อเสียงระดับโลก จนทำให้สุดยอดนักเตะอย่าง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ให้การยอมรับในตัวเขา

จากที่จะได้โอกาสเป็นนักฟุตบอลอาชีพและได้ลงเล่นกีฬาฟุตบอลในไทยลีก เขากลับกลายเป็นเจ้าของธุรกิจที่มีชื่อเสียงระดับโลก ภายใต้ชื่อแบรนด์ว่า AJR ถึงขั้นที่ว่ามีนักเตะระดับโลกหลายคนเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของเขา ทำให้สินค้าของเขากลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว แล้วสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?

Main Stand จะพาไปทำความรู้จักกับเรื่องราวที่น่าเหลือเชื่อของ อาร์ต กิตติพันธ์ หลักปุย จูเนียร์ 

 

จาก อีสาน สู่ ออร์ฮุส 

อาร์ต กิตติพันธ์ หลักปุย จูเนียร์ เกิดและเติบโตที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โดยอาร์ตเปิดเผยว่าเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในวัยเด็กไปกับการเล่นฟุตบอลกับเพื่อนข้างบ้าน

“ผมเติบโตในหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่จังหวัดอุบลราชธานี ครอบครัวของผมไม่ได้ร่ำรวย และผมใช้เวลาส่วนใหญ่ไปเล่นกับเด็ก ๆ ในพื้นที่” อาร์ต เล่า

“ในหมู่บ้านก็ไม่มีอะไรให้ทำมากนัก ผมและเพื่อน ๆ จะพับเศษหนังสือพิมพ์ที่ใช้แล้วให้เป็นทรงกลมเพื่อที่จะเตะด้วยเท้าเปล่าบนถนน นั่นคือลูกฟุตบอลสำหรับพวกเรา” 

ชีวิตของอาร์ตพลิกผันไปอย่างมากหลังจากวันเกิดอายุครบ 7 ขวบของเขา 

“แม่ของผมแนะนำให้เราย้ายไปอยู่ที่ประเทศเดนมาร์กกับเพื่อนคนหนึ่งของเธอ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับโอกาสที่จะมีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น” 

“ที่ประเทศไทย หลังจากที่แม่ของผมจบจากมหาวิทยาลัย เธอก็ไปเป็นพนักงานขายที่ต่างประเทศ แต่เธอมีรายได้น้อยกว่าที่เพื่อนของเธอทำได้ถึง 5 เท่า เพราะเธอไปทำงานในตำแหน่งแม่บ้านที่ประเทศเดนมาร์ก”

“เพื่ออนาคตที่สดใส เธอก็พาพี่สาวกับผมไปอยู่ที่เดนมาร์กด้วย” อาร์ต กล่าว

ทั้งสามคนอพยพไปยัง ออร์ฮุส (Aarhus) เมืองในเดนมาร์กที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งทิศตะวันออกของคาบสมุทรจัตแลนด์ (Jutland) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่อาร์ตได้รู้สึกรักและหลงใหลในกีฬาฟุตบอลเพิ่มมากขึ้น

“ในตอนแรกมันเป็นเรื่องยากมากที่ผมจะเข้ากับชาวบ้านคนอื่น ๆ แต่ยังโชคดีที่ผมสามารถเล่นฟุตบอลร่วมกับเด็กคนอื่น ๆ ภายในโรงเรียนได้” 

“นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้เล่นในสนามที่เหมาะสมด้วยรองเท้าและลูกฟุตบอลของจริง จากนั้นผมรู้ได้ทันทีเลยว่าผมจะต้องเป็นนักฟุตบอลอาชีพเพื่อที่จะหาเงินมาเลี้ยงชีพให้ได้”

“ผมเริ่มต้นไปทดสอบฝีเท้ากับทีมในโรงเรียน และเมื่อผมอายุได้ 11 ปี ผมก็ผ่านการทดสอบสำหรับทีมเยาวชนของทีม Skovbakken IK (ปัจจุบันเรียกว่า VSK Aarhus)” อาร์ต กล่าว

ปีกซ้ายฝีเท้าฉกาจรายนี้ก้าวขึ้นมาเป็นนักเตะเยาวชนของ Skovbakken IK ก่อนจะฝากผลงานที่โดดเด่นเอาไว้ในทีมเยาวชนชุด U-15

ผลงาน 15 ประตูของเขาในทัวร์นาเมนต์ระดับชาติก็เริ่มไปเข้าตาบรรดาแมวมองจากหลายสโมสร หลังจากนั้นเขาก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมอคาเดมีในเมือง อิคาสต์ (Ikast) ซึ่งมีชื่อว่า ISI ที่นั่นมีการแข่งขันฟุตบอลในระดับวิทยาลัย เพื่อเป็นการเฟ้นหาผู้เล่นที่น่าสนใจไปอยู่กับยอดทีมใน Danish Superliga อย่าง เอฟเซ มิดทิลลันด์ (FC Midtjylland)

ตัวของอาร์ตและเด็กผู้ชายอีก 20 คนต้องมาแข่งขันทดสอบฝีเท้ากันเพื่อที่จะได้โอกาสในการไปเซ็นสัญญากับทีมชุดใหญ่ของมิดทิลลันด์

 

ลองผิดลองถูก 

หกเดือนหลังจากที่เขาฝึกปรือฝีเท้าอยู่กับอคาเดมี ISI อาร์ตเป็นกลายเป็นดาวซัลโวของทีม และได้รับการทาบทามให้ไปเล่นฟุตบอลในระดับอาชีพ 

“เอเยนต์ฟุตบอลไทยจาก Trinity Sports Management ได้ยื่นข้อเสนอให้ผมไปเล่นฟุตบอลอาชีพที่ประเทศไทย” 

“ตอนแรกผมกับแม่ยังไม่เชื่อ แต่หลังจากที่เขาแสดงให้ผมเห็นว่าการแข่งขันฟุตบอลในไทยลีกกำลังเฟื่องฟู ผมจึงตัดสินใจลองเสี่ยงดู” อาร์ต กล่าว 

ในปี 2016 วงการฟุตบอลในประเทศไทย ณ ตอนนั้นได้รับความสนใจเป็นอย่างมากเนื่องจากมีจำนวนผู้เข้าร่วมมากขึ้น รวมถึงผู้เล่นต่างชาติชื่อดังต่างก็บินมาค้าแข้งที่ประเทศไทยกันมากขึ้นด้วย และระหว่างนั้น ทีมชาติไทย ก็กำลังลงแข่งขันฟุตบอลโลก รอบคัดเลือกกันอยู่ โดยทัพ “ช้างศึก” เข้าไปถึงรอบคัดเลือก รอบที่ 3 ซึ่งถือว่าเป็นการเข้ารอบที่ลึกที่สุดในรอบหลายทศวรรษ

มันจึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับวัยรุ่นที่มีประสบการณ์ในต่างแดน เพื่อที่เขาจะได้เริ่มต้นอาชีพการค้าแข้งในบ้านเกิดของตัวเอง

“เอเยนต์ของผมพาผมไปเจรจากับสโมสรต่าง ๆ ผมเดินทางไปกับเขาทั่วประเทศโดยหวังว่าจะได้เซ็นสัญญากับสโมสรฟุตบอลสักที่หนึ่ง”

“ผมไปทดสอบฝีเท้ากับสโมสรบางกอกกล๊าส เอฟซี (ปัจจุบันคือ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด), แอร์ฟอร์ซ ยูไนเต็ด (ปัจจุบันยุบสโมสรไปแล้ว), ลำปาง เอฟซี และ ตราด เอฟซี”

“แน่นอนว่าผมไม่ชอบย้ายทีมไปมา ผมต้องการตั้งถิ่นฐานที่สโมสรแห่งเดียวและเซ็นสัญญาอาชีพกับที่นั่น แต่ตัวแทนของผมมีแผนอื่นเตรียมเอาไว้ และต้องการดูว่าทีมใดมีข้อเสนอที่ดีที่สุดสำหรับผม” อาร์ต กล่าว

หลังจากที่เขาเดินทางไปทดสอบฝีเท้าอยู่หลายสโมสร ในที่สุดอาร์ตก็ได้รับข้อเสนอที่เหมาะสมจากทีมระดับดิวิชั่น 2 ในภาคใต้ของประเทศไทย 

แต่ในขณะที่เตรียมจะมีการเซ็นสัญญากัน ปัญหาครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้น เมื่ออาร์ตที่กำลังจะได้โอกาสเป็นนักฟุตบอลอาชีพกลับต้องผ่านขั้นตอนการเกณฑ์ทหารเสียก่อน 

ภายใต้กฎหมายของไทย ชายสัญชาติไทยที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ต้องผ่านการเกณฑ์ทหาร (ใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ หรือ สด.43 คือหลักฐานสำคัญที่ต้องใช้ในการสมัครเข้าทำงาน) หากจับได้ใบแดง อาจต้องเข้ากรมนานถึง 2 ปี อาร์ตที่มีอายุครบ 20 ปีในปีนั้น ไม่เคยผ่านการเป็นนักศึกษาวิชาทหาร (เรียน รด.) และเขาก็ไม่ได้รับการยกเว้นจากข้อกำหนดในกฎหมาย 

“การที่ผมยังไม่ผ่านการเกณฑ์ทหารในตอนนั้นหมายความว่าผมเหลือทางเลือกอยู่แค่สองทาง ผมสามารถเซ็นสัญญากับพวกเขาและขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร หรือบินกลับไปที่เดนมาร์กเพื่อขอรับสัญชาติเดนมาร์กและกลับมาในฐานะนักเตะต่างชาติ ซึ่งผมเลือกอย่างหลัง” อาร์ต กล่าว

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจในครั้งนั้นกลับทำให้เส้นทางการค้าแข้งในประเทศไทยของเขาตกต่ำลง 

อาร์ตเชื่อในตอนแรกว่าการเดินทางกลับเดนมาร์กเพื่อขอสัญชาติน่าจะทำได้เร็ว แต่กลับกลายเป็นว่าเขาต้องลองผิดลองถูกอยู่เป็นเวลานาน

แบบทดสอบการเป็นพลเมืองของเดนมาร์กมีคำถามทั้งหมด 45 ข้อเพื่อให้ผ่านการทดสอบ และต้องตอบให้ถูกอย่างน้อย 36 ข้อ รวมถึงต้องตอบคำถามเกี่ยวกับค่านิยมของเดนมาร์กให้ถูกอย่างน้อย 4 ข้อ

อาร์ตใช้เวลาตลอดปี 2017 คาบเกี่ยวถึงปี 2018 ในการศึกษาและทำข้อสอบไปด้วย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อาชีพนักฟุตบอลของเขาได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก 

“ผมคุยกับแม่ตอนนั้น เราตัดสินใจว่ามันอาจจะดีกว่าหากผมได้รับสัญชาติเดนมาร์ก เนื่องจากผมอาศัยอยู่ที่นั่นมาตั้งแต่ผมอายุเจ็ดขวบ”

“สำหรับผม มันยากมากที่มีอุปสรรคมาขัดขวางการเป็นนักฟุตบอลอาชีพของผมในช่วงที่ผมอายุประมาณ 20 ต้น ๆ เพราะนั่นเป็นช่วงอายุที่สำคัญสำหรับนักกีฬาทุกคนสำหรับการพัฒนาตัวเอง

“โชคดีที่ในขณะที่ผมกำลังอ่านหนังสือสอบ Skovbakken IK ก็อนุญาตให้ผมมาฝึกซ้อมกับทีมสำรองของพวกเขาได้ ผมจึงรักษาหุ่นและสภาพความฟิตของตัวเองเอาไว้ได้” อาร์ต อธิบาย

แม้ว่าจะหยุดอาชีพค้าแข้งไปเกือบ 2 ปี แต่อาร์ตก็วางแผนที่จะบินกลับไทยในฐานะนักเตะโควตาต่างชาติหลังสอบขอสัญชาติเดนมาร์กเสร็จ 

จากนั้นเบอร์โทรศัพท์ที่ไม่รู้จักก็ดังขึ้น ซึ่งปลายสายจากโทรศัพท์ทำเอาชีวิตของเขาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง 

 

การเป็นนักกีฬาไนกี้ 

“สิ่งที่ผมคิดมาตลอดช่วงปี 2016-2018 คือการสอบสัญชาติเดนมาร์กให้เสร็จแล้วบินกลับไปที่ประเทศไทยเพื่อเป็นนักฟุตบอลอาชีพ แต่วันหนึ่ง ผมได้รับโทรศัพท์จากทีมผู้บริหารของ Nike ที่ดูไบ” 

“ตอนแรกผมไม่เชื่อ ผมคิดว่านี่อาจจะเป็นมิจฉาชีพมาหลอกผม” อาร์ต กล่าว

สำนักงานใหญ่ของ Nike ที่ดูไบติดต่อกับอาร์ตผ่านทาง ฟอเซีย ลาทิฟ (Fozia Latif) นักธุรกิจหญิงซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นผู้จัดการให้กับอาร์ต พวกเขาเฝ้าติดตามสถานการณ์ของอาร์ตมาตลอดเช่นเดียวกับนักกีฬาอีกหลายคนที่พยายามให้ตัวเองก้าวขึ้นไปอยู่ในระดับมืออาชีพ 

ไม่มีวิธีไหนที่จะทดสอบความสามารถของพวกเขาได้ดีไปกว่าการแข่งขัน NAS Sports Tournament ซึ่งเป็นหนึ่งในการแข่งขันวิ่งมาราธอนที่ใหญ่ที่สุดในดูไบ ซึ่งจัดโดย Sheikh Hamdan bin Mohammed bin Rashid Al Maktoum มกุฎราชกุมารแห่งดูไบ 

ทุกปี สภากีฬาแห่งดูไบจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในช่วงเดือนรอมฎอน Nike, Adidas, Puma, Reebok และแบรนด์กีฬาอื่น ๆ ที่เป็นที่รู้จักทั่วโลกมีการส่งนักกีฬาและทูตเข้าร่วมการแข่งขัน

“มันเหลือเชื่อมาก ๆ ตอนนั้นผมนั่งอยู่ที่เดนมาร์กและครุ่นคิดว่าจะทำอะไรต่อไปเกี่ยวกับอาชีพค้าแข้งของผม และต่อมา Nike ก็เลือกให้ผมไปขึ้นเครื่องบินเพื่อเป็นตัวแทนของพวกเขาที่ดูไบ” 

“เมื่อเครื่องบินของผมลงจอด ผมไม่รู้จักใครเลย ผมไม่เคยติดต่อกับใครมาก่อน แต่พวกเขาก็ยินดีต้อนรับให้ผมเข้าร่วมเป็นครอบครัวเดียวกันกับพวกเขา” 

“พวกเขาให้ผมฝึกกับทีม Nike อยู่ 2-3 สัปดาห์ ที่นั่นผมได้พบกับนักวิ่งจากฟิลิปปินส์ ยุโรป และที่อื่น ๆ”

“ทั้งหมดนี้มันเป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับผม ผมรู้ว่าผมมีความเร็วและความอดทนจากพื้นฐานในการเล่นฟุตบอล แต่การวิ่งมาราธอนนั้นสำหรับผมมันเกินความฝันไปมาก”

“ผมถามตลอดตอนที่เดินทางว่า 'ทำไมต้องเป็นผม ?' และ 'ทำไมพวกคุณถึงเลือกผม ?' ซึ่งคำตอบของพวกเขาคือ 'คุณจะเห็นเองเมื่อคุณกลับไปเดนมาร์ก'” อาร์ต อธิบาย

หลังจบการวิ่งมาราธอน อาร์ตก็ยังงุนงงและกำลังบินกลับไปเดนมาร์กเพื่อที่หวังว่าจะได้คำตอบในเร็ว ๆ นี้ 

“เมื่อผมกลับมาที่เดนมาร์ก ผมได้รับข้อความติดตามผลจากทีม Nike ที่แจ้งว่าผมต้องนำเสนอ”

“ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก แต่ผมรู้ว่าผมต้องพร้อมเสมอและพยายามอย่างเต็มที่เพื่อโอกาสนี้” อาร์ต กล่าว

เมื่อถึงจุดนั้น อาร์ตทำให้อาชีพนักฟุตบอลของเขาต้องหยุดลงชั่วคราว เพราะเขารู้ว่าเขามีปลาตัวใหญ่กว่าที่จะต้องจับให้ได้ 

เป็นเรื่องง่ายสำหรับเขาที่จะตอบรับคำเชิญของ Nike เพื่อที่จะได้ฟังเรื่องราวของเขา

“ผมจำได้ว่าการนำเสนอเป็นไปอย่างราบรื่น พวกเขาชอบเรื่องราวเบื้องหลังของผม ผมเล่าให้พวกเขาฟังเกี่ยวกับการเติบโตที่ประเทศไทย การที่ผมย้ายไปเดนมาร์กตั้งแต่ยังเด็ก ช่วงเวลาที่ผมอยู่ที่ ISI Sports College การเข้ารับการทดสอบฝีเท้าในประเทศไทย ความยากลำบากทั้งหมดที่ผมได้เผชิญ และผมได้เล่าสิ่งเหล่านั้นทั้งหมดให้พวกเขาฟัง”

“หลังจากนั้นพวกเขาก็ประกาศอย่างเป็นทางการว่าผมจะเป็นนักกีฬาของ Nike ผมเซ็นสัญญากับพวกเขาทันที และผมจะทำให้ทุกคนเชื่อมั่นว่าผมสามารถเป็นตัวแทนที่ดีให้กับพวกเขาได้” 

“ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พวกเขาก็เริ่มส่งเสื้อผ้า Nike มาให้และคำเชิญให้ผมเข้าร่วมกิจกรรม รวมถึงการประชุมของ Nike ที่ต่างประเทศ” 

“มันบ้ามากที่ชีวิตของผมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ผมไม่คิดด้วยซ้ำว่าจะมีคนติดตามเรื่องราวที่ผมพบเจอมา และทันใดนั้นพวกเขาก็ต้อนรับผมเข้าสู่ทีม”

“นี่ไม่ใช่แค่แบรนด์ทั่วไป แต่นี่คือ Nike แบรนด์กีฬาที่ดังที่สุดในโลก!” อาร์ต กล่าว

 

ชุดชั้นใน AJR

แน่นอนว่าการได้สินค้าฟรีจาก Nike เป็นความฝันที่น่ายินดีอยู่แล้ว แต่เขารู้ว่าเขาไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่แบบนี้ได้ในระยะยาว

“Nike ส่งอุปกรณ์การเดินทางและอุปกรณ์ฝึกซ้อมมาให้ผมไว้ใช้สำหรับงานที่ผมเข้าร่วม เสื้อเป็นเสื้อยืด Nike สีขาวหรือสีดำที่มีโลโก้อยู่ที่หน้าอกด้านขวา และชื่อย่อของชื่อ 'AJR' อยู่ด้านซ้าย” 

“พวกเขาขายมันด้วย แต่ผมก็ไม่ได้หวังผลกำไรจากมัน”

“หลายเดือนหลังจากผ่านช่วงแรกของการเป็นนักกีฬาให้กับ Nike ผมก็เริ่มมองภาพรวมในชีวิตของตัวเอง” อาร์ต กล่าว

แม้ว่าอาร์ตจะขาดประสบการณ์ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือการจัดการธุรกิจ แต่เขาก็มีทีมงานที่มีความสามารถอยู่รอบตัวเขาที่ทำให้เขาพร้อมสำหรับการเริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ 

หลังจากเดินทางกลับจากดูไบในฐานะนักกีฬา Nike หลายเดือนต่อมา อาร์ตก็เริ่มรู้สึกได้ว่าเขาน่าจะสร้างผลิตภัณฑ์บางอย่างที่เป็นแบรนด์ของตัวเขาเองขึ้นมา เพื่อที่จะได้นำปรับใช้ให้เข้ากับตัวเอง

“ญาติของผม อรรถพร เป็นคนที่ผลักดันให้ผมเริ่มทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อเป็นการตอบแทนผู้คนที่ติดตามผลงานของผม ผมคิดว่าเราสามารถสร้างแบรนด์ด้วยชื่อย่อของผมว่า AJR ได้ แต่ถ้าผมทำแบรนด์เสื้อยืดหรือเสื้อมีฮู้ดมันก็อาจจะไม่มีอะไรที่แปลกใหม่เท่าไร” 

“ผมเลยตัดสินใจทำแบรนด์ชุดชั้นในขึ้นมา มันเป็นสินค้าที่จะทำให้เราแตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ”

“ประสบการณ์ในการเล่นฟุตบอลของผมก็มีประโยชน์อยู่เหมือนกัน ตอนสมัยเรียนผมมักจะสวมกางเกงขาสั้นรัดรูป Nike Combat Pro แต่กางเกงมันรัดรูปไปหน่อย และคุณคงไม่เห็นนักกีฬาหรือคนทั่วไปใส่เพื่อจุดประสงค์ที่ไม่ใช่กีฬา”

“ผมต้องการสร้างแบรนด์ชุดชั้นในที่ผสมผสานระหว่างกีฬาและไลฟ์สไตล์ เป็นแฟชั่นที่ผู้คนสามารถสวมใส่ได้ทุกวันในขณะที่ออกกำลังกายในยิม เล่นฟุตบอล หรืออะไรก็ตาม ผมคิดว่ามันคล้ายกับไลฟ์สไตล์แอ็กทีฟของผมได้ค่อนข้างมาก” อาร์ต เผย

ดังนั้นอาร์ตและทีมงานของเขาจึงทำการทดสอบต้นแบบหลายสิบรายการ พวกเขาร่วมมือกับคลังสินค้าในฮ่องกงที่ส่งแบบและผ้าต่าง ๆ ไปให้ทีมของเขาประเมิน 

เป้าหมายหลักที่สำคัญคือ การสร้างผลิตภัณฑ์ที่สวมใส่สบาย สามารถสวมใส่ได้ทั้งในและนอกสนาม

ดังนั้นพวกเขาจึงเลือกใช้ผ้าแบบพิเศษที่มีผ้าฝ้ายยืด 94% และเส้นใยสแปนเด็กซ์อีก 6% กลายเป็นกางเกงชั้นในที่มีคุณภาพดี

 

การยอมรับจากทั่วโลก 

ก่อนเปิดตัว อาร์ตเริ่มส่งตัวอย่างชุดชั้นใน AJR ไปให้กับอดีตเพื่อนร่วมทีมและนักฟุตบอลคนอื่น ๆ ในเดนมาร์กทดลองใช้

นักเตะที่ได้ทดลองใช้ชุดชั้นใน AJR ก็จะมี กิฟต์ ลิงก์ส (Gift Links) ปีกซ้ายชาวแอฟริกาใต้, มิคาเอล แอนเดอร์สัน (Mikael Anderson) กองหน้าไอซ์แลนด์, นิโคลัส มิคเคลสัน (Nicholas Mickelson) แบ็กขวาลูกครึ่งไทย-เดนมาร์ก และ นิโคลาย เฟรเดริคเซ่น (Nikolai Frederiksen) อดีตนักเตะชุด U-21 ของเดนมาร์ก

การใช้ได้ทั้งตอนเล่นกีฬาและในชีวิตประจำวันของชุดชั้นใน AJR ถือเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ความนิยมเพิ่มขึ้นในหมู่ผู้ใช้กลุ่มแรก ๆ  

จากการที่เคยอยู่ในทีมวิ่งของ Nike ที่ดูไบมาก่อน รวมถึงการได้คุยโทรศัพท์กับผู้คนในหลาย ๆ สถานที่ ทำให้เขาได้ติดต่อกับนักกีฬาระดับโลกมากมาย และได้รับความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับต้นแบบของชุดชั้นใน AJR

“ผมต้องการความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมาเกี่ยวกับแบรนด์ชุดชั้นในของผม ผมติดต่อกับทีมงานและนักกีฬาของ Nike ให้ได้มากที่สุด

“ผมจะบอกว่านักฟุตบอลที่มีชื่อเสียงที่สุดที่สวมกางเกงชั้นในของ AJR มาจนถึงทุกวันนี้ อย่างน้อยก็น่าจะเป็น อาร์ตูโร่ วิดัล” 

“ในปี 2020 ตอนที่เขาอยู่กับ อินเตอร์ มิลาน เขาสวมกางเกงชั้นในของผมระหว่างการแข่งขันและข่าวก็แพร่กระจายออกไป” อาร์ต กล่าว

แต่ไม่มีอะไรทำให้อาร์ตตื่นเต้นได้มากไปกว่าการที่ได้เห็นซูเปอร์สตาร์อย่าง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ มองดูผลิตภัณฑ์ AJR ของเขา 

ในช่วงสุดท้ายของโรนัลโด้กับยูเวนตุส นิโคลาย เฟรเดริคเซ่น (หนึ่งในผู้เล่นที่อาร์ตส่งต้นแบบของเขาไปให้ทดลอง) ได้รับเชิญให้ไปฝึกกับทีมชุดใหญ่ของยูเวนตุส 

นักเตะชาวเดนมาร์กไม่ได้สวมกางเกงรัดรูปแบบดั้งเดิมเหมือนกับคนอื่น ๆ มันทำกางเกงของเขาดึงดูดความสนใจของเพื่อนร่วมทีมในการฝึกซ้อม โดยเฉพาะกับโรนัลโด้

“ผมยังจำได้เหมือนเมื่อวาน นิโคลาย (เฟรเดอริคเซ่น) เป็นหนึ่งในนักกีฬาที่ผมส่งต้นแบบไปให้ และเขาสวมชุดชั้นในแบรนด์ของผมระหว่างลงซ้อมกับทีมชุดใหญ่”

“มันทำให้ผู้เล่นหลายคนในห้องล็อกเกอร์รู้สึกประหลาดใจ และก็มีคนถามเกี่ยวกับชื่อแบรนด์ของผม” 

“หนึ่งในผู้เล่นเหล่านั้นคือ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ผมคิดว่านิโคลายต้องบอกเขาเกี่ยวกับแบรนด์และตัวผมบ้าง ถึงทำให้โรนัลโด้ตัดสินใจดูสตอรี่ในอินสตาแกรมของผมในวันนั้น” 

“คุณรู้ไหม ? ผมยังมีภาพหน้าจอของโรนัลโด้ที่กำลังดูสตอรี่ IG ของผมอยู่ในโทรศัพท์ มันเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิตที่ไอดอลจำผมได้ มันเป็นความรู้สึกที่น่าอัศจรรย์” อาร์ต เล่า

ไม่ใช่เพียงแค่นักกีฬาที่ต้องการสวมชุดชั้นในต้นแบบ AJR เหล่านักลงทุนหลายรายก็แสดงความสนใจเช่นเดียวกัน

เอสเบน โมลส์ คาเบลล์ (Esben Mols Kabell) เศรษฐีชาวเดนมาร์ก และ เคนเน็ธ อาวน์สเต็ด (Kenneth Avnsted) เจ้าของและซีอีโอของ Scandinavian Print Group และ อาโนดีน (Anodyne) บริษัทผลิตเสื้อยืดทางการแพทย์ ได้พบกับอาร์ต และหารือเกี่ยวกับแผนการของเขาสำหรับแบรนด์ AJR และหลังจากนั้น เอสเบนก็ขอซื้อหุ้น 25% ในบริษัททันที

“ผมรู้สึกดีมากที่พวกเขาเห็นถึงการทำงานอย่างหนักของผม และผมได้รับการตอบรับที่ดีจากนักกีฬาและนักลงทุนรายใหญ่” 

“ผมไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นเร็วขนาดนี้” 

“ในตอนนั้นเรายังไม่ได้เปิดตัวด้วยซ้ำ แต่เขา (เอสเบน) มีความไว้วางใจและมั่นใจในการทำงานหนัก รวมถึงความหลงใหลที่มีอยู่ในตัวผม เขาชอบความคิดแบบนักล่าฝันของผมและเขารู้ว่าผมจะทำมันออกมาได้ดี” อาร์ต กล่าว

นอกเหนือจากเศรษฐีแล้ว แมดส์ ฮานเซ่น (Mads Hansen) นักธุรกิจชาวเดนมาร์ก ก็ได้ซื้อหุ้นบริษัทของเขาด้วย และตกลงที่จะเป็นผู้จัดการให้กับแบรนด์ของอาร์ตในเดนมาร์ก 

แมดส์ ฮานเซ่น เข้าซื้อกิจการด้วยมูลค่า 13 ล้านโครน (ประมาณ 62.8 ล้านบาท)

จากการตอบรับที่ดีของนักกีฬาหลาย ๆ คนและนักลงทุนที่ให้การสนับสนุน แบรนด์ชุดชั้นใน AJR จึงวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในช่วงฤดูร้อนปี 2021 โดยขายได้มากกว่า 500 ตัวในวันเปิดตัว

 

วางแผนไปข้างหน้าแล้วค่อยตอบแทน

20 เดือนนับตั้งแต่วันเปิดตัวได้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากยอดขายรายเดือนที่ “ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น” ด้วยมูลค่าสุทธิอยู่ประมาณที่ 1,746,962 ยูโรแล้ว แบรนด์ AJR ยังได้ขยายตัวแทนจัดจำหน่ายไปยังนักกีฬาคนอื่น ๆ นอกเหนือไปจากกีฬาฟุตบอลด้วย

ตั้งแต่นักเต้นและนักออกแบบท่าเต้นมืออาชีพอย่าง นิคกี้ อานเดอร์เซ่น (Nicky Andersen) ก็สวมกางเกงชั้นใน AJR ไปจนถึง สุพันคาร์ เดย์ (Subhankar Dey) นักแบดมินตันชาวอินเดีย ทำให้แบรนด์ AJR เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ 

ความสนใจในช่วงแรกเริ่มของแบรนด์ AJR มักจะมุ่งเน้นไปที่เครื่องแต่งกายสำหรับผู้ชาย ทำให้อาร์ตวางแผนในการหันมาทำชุดกีฬาสำหรับผู้หญิงด้วย เพื่อเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงของแบรนด์ AJR ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

และเขาก็กำลังพยายามทำสิ่งอื่น ๆ เพื่อเป็นการสร้างชื่อเสียงที่โดดเด่นให้กับแบรนด์ควบคู่ไปด้วย

“ชุดกีฬาหญิงของ AJR กำลังก้าวหน้าไปอย่างมาก ผมกำลังคุยกับ นาเดีย นาดิม ตำนานซูเปอร์สตาร์ระดับโลก ซึ่งเคยเล่นให้กับทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติเดนมาร์ก และตอนนี้เธอก็เป็นแพทย์ที่มีฝีมือมาก ๆ คนหนึ่ง”

“ผมมีแผนให้เธอเป็นตัวแทนหลักของ AJR สำหรับเครื่องแต่งกายสตรีในประเทศแถบสแกนดิเนเวียในปีนี้”

“ผมได้ติดต่อกับเธอมาระยะหนึ่งแล้ว เธอรู้ว่าเราเป็นอย่างไร และวิสัยทัศน์ของเราจะพาเราก้าวไปข้างหน้า” อาร์ต กล่าว

“ผมคิดว่าเรามีที่ว่างเสมอสำหรับ AJR สำหรับการทำให้ธุรกิจเติบโตมากขึ้นนอกเหนือจากชุดกีฬาของผู้ชาย และผมคิดว่าคนที่สมบูรณ์แบบที่จะช่วยให้เรารับรู้มากขึ้นเกี่ยวกับชุดกีฬาและไลฟ์สไตล์ของผู้หญิงในทวีปยุโรปก็น่าจะเป็นเธอ” อาร์ต กล่าว

เมื่อธุรกิจของเขาก้าวไปใกล้จุดสูงสุดอย่างต่อเนื่อง อาร์ตยังคงต้องการทำสิ่งพิเศษอีกอย่างหนึ่งเพื่อทำให้เรื่องราวของเขาสมบูรณ์แบบ 

หลังจากทำงานและเดินทางอย่างหนักมาหลายปี อาร์ตไปเยี่ยมหมู่บ้านในวัยเด็กของเขาที่อำเภอวารินชำราบ เพื่อมอบของเล่นและเครื่องกีฬาให้กับเด็กที่ด้อยโอกาส

“ผมมีความสุขมากที่ได้กลับมาเมืองไทยอีกครั้ง ชีวิตของผมเปลี่ยนไปมากในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา แต่ที่นี่ยังคงบ้านสำหรับผมตลอดไป สิ่งสำคัญสำหรับผมคือการกลับไปยังจุดเริ่มต้นและตอบแทนชุมชน” อาร์ต กล่าว

เขาบอกกับ Main Stand ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เขาหวังว่าจะทำตลาดแบรนด์ AJR ในประเทศไทย เช่นเดียวกับที่เขาวางแผนจะขยายธุรกิจในยุโรป 

เมื่อขอให้เขาแบ่งปันคำแนะนำแก่เยาวชนที่รู้สึกท้อแท้หรือสิ้นหวังในระหว่างทางไปสู่ความฝัน อาร์ตก็สรุปไว้ว่า

“ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พยายามอย่างเต็มที่ในทุกสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ คุณไม่มีทางรู้หรอกว่าใครกำลังดูอยู่ ดังนั้นทุ่มสุดตัวแล้วทุกอย่างจะออกมาดีเอง”

แม้อาร์ตอาจจะยังไม่บรรลุเป้าหมายในการเป็นนักฟุตบอลชื่อดัง แต่ถึงกระนั้นด้วยความทะเยอทะยาน ความทุ่มเท ทำงานหนัก และความสามารถในการปรับตัวของเขา ทำให้เขาได้เติบโตและกลายเป็นผู้ประกอบการที่มั่นคงและประสบความสำเร็จในตอนนี้

Author

ธีศิษฎ์ เลาหจรัสแสง

ไม่ค่อยเก่งภาษาไทย คำว่า MAO สะกดยังไง

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น