หนึ่งในปัญหาคลาสสิกของฟุตบอลไทยคือเรื่องของสนามฟุตบอล โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียง ที่เมื่อถึงแมตช์ใหญ่ทีไรก็ต้องมีปัญหาเรื่องของการเดินทางสำหรับแฟนบอลเกิดขึ้นเสมอ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสนามฟุตบอลของไทยหลายแห่งไม่มีความพร้อมที่จะเอื้ออำนวยให้แฟนบอลมีความสะดวกสบายในการเดินทาง ยิ่งมีผู้ชมเยอะก็ยิ่งลำบาก หรือถ้ามีปัญหาเรื่องภาพอากาศก็ไม่สามารถเดินทางไปสนามฟุตบอลได้
ในขณะที่การเดินทางไปสนามฟุตบอลของประเทศพัฒนาแล้วเป็นเรื่องง่าย แต่เหตุใดการเดินทางไปดูฟุตบอลในไทยถึงลำบากยากเย็นเหลือเกิน ติดตามไปพร้อมกับเรา
ส่องกล้องมองต่างแดน
ในโลกตะวันตกอย่าง ประเทศอังกฤษ ที่สนามฟุตบอลของแต่ละสโมสรบางทีก็เกือบเก่าพอ ๆ กับเมือง ทำให้ส่วนมากจะตั้งอยู่ใกล้กับชุมชนในเขตเมืองของสโมสรหรือไม่ก็ชุมชนในเขตเมืองรอบนอก การเดินทางไปรับชมการแข่งขันของแฟนบอลในพื้นที่จึงสะดวกสบายมาก ๆ เพราะสามารถเดินเท้าไปรับชมได้
พูดง่าย ๆ ก็คือสำหรับต่างประเทศสนามฟุตบอลคือส่วนหนึ่งของเมือง เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และวิถีชีวิตมายาวนาน ไม่ต่างกับโบสถ์หรือวัดในสังคมไทย ดังนั้นการมีสนามฟุตบอลคุณภาพดีอยู่ใจกลางเมืองถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งการยกโขยงเดินเท้านี้เองก็เป็นภาพที่แทบจะเห็นจนชินตาก่อนเกมการแข่งขันจะเริ่มขึ้น
แม้ว่าในยุคสมัยปัจจุบันจะมีการสร้างสนามแห่งใหม่ของหลายสโมสร เพื่อความทันสมัย ขนาดที่ใหญ่ขึ้นจุแฟนบอลได้มากขึ้น และไกลจากฐานถิ่นเดิมมากขึ้น แต่ความสะดวกสบายในการไปชมก็ยังมีอยู่เช่นเดิม ยกตัวอย่าง อเมริกัน เอ็กซ์เพรส สเตเดียม ของสโมสรไบร์ทตัน แอนด์ โฮป อัลเบียน ที่ไกลจากตัวเมืองเกือบ 10 กิโลเมตร แต่ก็มีขนส่งสาธารณะทั้งรถบัสและรถไฟวิ่งตลอดทั้งคืน แม้จะเลิกค่ำแค่ไหนก็ไม่มีหวั่น
ที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะ “ระบบการวางผังเมือง" ในอังกฤษมีลักษณะ “พุ่งออกจากศูนย์กลางเป็นวงกลม" เป็นมรดกจากเมืองยุคกลางเหมือนกันทั่วทั้งประเทศ ทำให้ง่ายต่อการวางระบบ โดยเฉพาะระบบโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และการคมนาคมขนส่ง ให้เป็นแบบแผนเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน
รวมถึงการบังคับใช้ “ข้อไต่สวนเทย์เลอร์ (Taylor Inquiry)" ในปี 1990 จากกรณีโศกนาฏกรรมฮิลส์โบโร่ ทำให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาสนามให้มีความปลอดภัย สามารถป้องกันอันตรายต่อแฟนบอลและชุมชนรอบข้าง ทำให้สโมสรต้องรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น และแน่นอนว่าด้วยระเบียบบังคับนี้ก็ได้ทำให้สโมสรยิ่งใกล้ชิดกับชุมชนหรือแฟนบอลมากขึ้นไปอีกขั้น
ด้วยความที่ฟุตบอลในประเทศอังกฤษและหลายประเทศในยุโรป ทั้ง เยอรมัน หรือ สเปน ต้องใกล้ชิดกับชุมชนหรือใกล้ชิดกับผู้คนในท้องถิ่น จึงเป็นไปไม่ได้ที่การสร้างสนามฟุตบอลจะไปตั้งในพื้นที่ซึ่งการเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบาก หรือออกไปตั้งโดดเดี่ยวบนพื้นที่รกร้าง
อีกทั้งการมีผังเมืองที่ดีรองรับสนามฟุตบอลในเรื่องของเศรษฐกิจระดับจุลภาค เพราะสามารถ “การสร้างงานสร้างอาชีพ" ให้ผู้คนละแวกสนามสามารถทำธุรกิจ เช่น ขายอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าจิปาถะ ทำกิจการโรงแรม หรือห้องพักในพื้นที่อาศัยของตนได้ เพราะสนามก็อยู่ไม่ไกลทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปทำมาค้าขาย หรืออาจจะเปิดเคหะสถานของตนเองเพื่อทำธุรกิจดังกล่าว ดีไม่ดีอาจร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับสโมสรไปเลยก็ได้ ซึ่งตรงนี้เป็นการ “เพิ่มการมีส่วนร่วม" ของคนในพื้นที่และสโมสรไปในตัว แฟนบอลแฮปปี้ สโมสรก็แฮปปี้
แต่สิ่งที่กล่าวมานี้กลับไม่เคยเกิดขึ้นกับสนามฟุตบอลของสโมสรในประเทศไทย ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีเหตุผล และไม่ใช่เหตุผลที่ดีเลยกับทั้งประเทศไทยและวงการฟุตบอลไทย
ยับตั้งแต่ต้น
ตั้งแต่รุ่นพ่อยันรุ่นลูก ใคร ๆ ก็รู้ว่าผังเมืองของไทยถูกสร้างมาอย่างไร้แบบแผน ไม่ว่าจะในระดับเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด จะยุคสมัยไหนก็ไม่เปลี่ยนแปลง
อย่างกรุงเทพฯ คือต้นแบบของปัญหาที่เห็นชัดที่สุด แค่มองจากภาพมุมสูงของเมือง เราจะเห็นความไร้ระเบียบของกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี มันเหมือนกับว่าไม่มีการวางแผนอะไรเลยกับเมืองนี้
ซึ่งการวางผังเมืองที่มั่วไปหมดก็นำมาซึ่งปัญหามากมายที่เกิดขึ้นกับกรุงเทพฯ ทั้งน้ำท่วม, รถติด, ชุมชนแออัด, พื้นที่อุตสากรรมที่ใกล้กับพื้นที่ชุมชน, การไร้พื้นที่สาธารณะ และอีกมากมายที่กลายเป็นปัญหาคลาสสิกของเมืองหลวงของประเทศไทยไปแล้ว
อาทิ น้ำรอระบาย รถติด ถนนในซอยแคบ ซอยเพียบ ซอยเปลี่ยว ชุมชนแออัด บ้านชายคลอง แม่น้ำปฏิกูล ถนนดาวอังคาร ทางม้าลายมรณะ ไฟฟ้าดับ ประปาไม่ถึง ไปจนถึงอินเทอร์เน็ตเสีย เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่เห็นจนชินตาไปแล้ว
ซึ่งปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นก็เพราะการขาดความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับประชาชนในพื้นที่ เพราะผู้บริหารบ้านเมืองไทยเอะอะก็เน้นสร้างอย่างเดียวแต่ไม่ได้คิดถึงการใช้ชีวิตจริงของประชาชน
ขณะที่ผู้อยู่อาศัยของเมืองก็ไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียงที่จะร่วมออกแบบผังเมืองของกรุงเทพฯ มาตั้งแต่ไหนแต่ไร รู้ตัวอีกทีประชาชนก็ต้องใช้ชีวิตในพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยบ้านเรือนและซอยเล็ก ๆ ยิบย่อยมากมาย แต่มีถนนสายเดียวให้ออกไปทำงาน จนกลายเป็นปัญหาการเดินทางที่เจ็บปวดทั้งเช้าและเย็น
ขณะที่ต่างจังหวัดตามเขตเทศบาลจะพบว่าดีหน่อย เพราะพอจะมีการแบ่งสรรทั้งเขตอยู่อาศัย เขตค้าขาย และเขตอุตสาหกรรม พอประมาณ มีการวางให้ถนนสายหลักผ่ากลางเมือง ทั้งในตัวจังหวัดและตัวเขตอำเภอรอบนอกเหมือน ๆ กัน
หากแต่ตามท้องถิ่นก็ยังคงมีเรื่องของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่อยู่วันยังค่ำ คนพวกนี้แทบจะสามารถกำหนดความเป็นไปของท้องถิ่นได้ตลอด ในเรื่องผังเมืองก็เช่นเดียวกัน หลายครั้งที่เมืองสร้างตามใจของผู้มีอำนาจ แทนที่จะเป็นไปตามหลักของการสร้างผังเมือง
ดังนั้นการสร้างเมืองของหลายจังหวัด หากอิงกับผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจในท้องถิ่นและส่งผลดีกับชาวเมืองไปด้วยก็เป็นโชคดีของจังหวัดนั้น แต่ถ้าไม่ประชาชนก็ต้องรับกรรมกันไป
นอกจากนี้ประเทศไทยนั้นก็ไม่ได้ให้อำนาจหน่วยงานปกครองท้องถิ่นแบบเต็มไม้เต็มมือ หลายครั้งยังต้องฟังคำสั่งจากส่วนกลาง ซึ่งก็ตามมาด้วยปัญหาที่หน่วยงานจากส่วนกลางไม่มีความรู้ในเชิงลึกที่มากพอกับแต่ละท้องถิ่น และกลายเป็นการออกนโยบายเปลี่ยนแปลงเมืองที่ไม่ได้ส่งผลดีกับท้องถิ่น
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยได้กล่าวถึงความพิเศษของการจัดการผังเมืองไทย ว่าแท้จริงแล้วไม่ได้เป็นไปเพื่อการทำให้เกิดความสะดวกสบายแก่ผู้คน ตรงกันข้ามเป็นไปเพื่อการ “ไล่คนออกจากเมือง" ต่างหาก
เรื่องนี้คนไทยคงสัมผัสได้ดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะคนในเขตกรุงเทพมหานครที่นับวันยิ่งต้องอพยพย้ายออกจากเมืองไปเรื่อย ๆ ออกไปอยู่พื้นที่โซนรอบนอกทั้ง บางนา หรือ มีนบุรี แม้กระทั่งออกไปอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี หรือ ปทุมธานี เพราะสู้ราคาซื้อที่อยู่อาศัยในเมืองไม่ไหว
ไม่ใช่ว่าต่างประเทศไม่มีปัญหาการขยายเมือง แต่สิ่งที่แตกต่างคือประเทศไทยไม่ได้สร้างความพร้อมให้กับการขยายเมืองเลย โดยสักแต่จะไล่ให้คนย้ายออกไป แต่ไม่มีความพร้อมอื่น ๆ ให้ รถไฟฟ้าก็ไม่มี, รถเมล์ก็หายาก, กว่าจะเดินทางเข้ามาทำงานในเมืองก็เสียเวลาชีวิตไปหลายชั่วโมง ตามมาซึ่งปัญหาสุขภาพจิตอันย่ำแย่ของคนอีก
มองกลับมาในโลกฟุตบอลที่ต้องการ “จำนวนคน" และ “รากฐานการบริหารจัดการเมืองที่ดี" อย่างแรกเพื่อเพิ่มฐานแฟนบอล เพิ่มการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่กับสโมสร อย่างหลังคือเมื่อคนในพื้นที่มีชีวิตที่ดี ถนนดี เดินทางสะดวก ไม่ไกลบ้าน ก็จะทำให้สามารถเลือกหาอะไรบันเทิงใจเพิ่มเติมจากปัจจัย 4 อย่างการชมฟุตบอลได้
แต่ในไทยกลับไม่เอื้อต่อปัจจัยสองอย่างนี้ใด ๆ ทั้งนั้น และดีไม่ดีก็จะยิ่งทำให้สโมสร “ห่างเหิน" กับคนในพื้นที่มากกว่าเดิมเสียอีก
ดูได้จากสนามฟุตบอลเบอร์หนึ่งที่ใช้งานเป็นประจำยามทีมชาติไทยมีการแข่งขันอย่าง ราชมังคลากีฬาสถาน ที่สร้างมาแต่ไม่มีรถไฟฟ้าให้แฟน ๆ เดินทางไปง่าย ๆ จะนั่งรถเมล์หรือรถส่วนตัวไปก็ต้องฝ่ารถติดไปหลายชั่วโมง ซึ่งกว่าที่จะมีรถไฟฟ้าผ่านก็ต้องรออย่างน้อยจนถึงปี 2025 เมื่อรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ส่วนตะวันออก ก่อสร้างแล้วเสร็จ
หรือสนามฟุตซอลที่เขตหนองจอกอย่าง บางกอก ฟุตซอล อารีนา ที่สร้างในพื้นที่สุดห่างไกลจนมีแฟนบอลไปดูเพียงน้อยนิดยามมีการแข่งขันฟุตซอลรายการใหญ่ ไม่ใช่เพราะว่าแฟนบอลไม่อยากดู แต่เป็นเพราะการเดินทางที่ต้องทั้งเสียแรงและเวลา ก็คงมีไม่กี่คนที่จะยอมต้องเสี่ยงเสียสุขภาพจิตจากการเดินทางในกรุงเทพฯ ที่อาจไม่คุ้มกับความสุขที่ได้จากการดูกีฬา
ถอยห่างชุมชน
เมื่อผังเมืองไม่ได้มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ นอกจากจะทำให้เกิดความไร้ระเบียบแล้วก็ได้ส่งผลต่อมายังสนามฟุตบอลด้วย นั่นคือสนามไม่สามารถสร้างอยู่ในชุมชนได้
สำหรับประเทศไทย แรกเริ่มหากคิดจะสร้างหรือหาที่อยู่อาศัยย่อมหนีไม่พ้นการสร้างหรืออยู่ให้ใกล้กับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของรัฐ อาทิ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ การขนส่ง หรือถนนสายหลัก ให้มากที่สุดไว้ก่อน
เพราะหากพลาดไปอยู่ที่ไกล ๆ ก็จะมีปัญหาด้านเวลา ความสะดวก หรือการเดินทางได้ ซึ่งในส่วนอื่น ๆ ทั้งตลาด ย่านการค้า บริษัทห้างร้าน ไปจนถึงอุตสาหกรรม ก็คิดแบบเดียวกัน
สิ่งที่ตามมาคือการเกิด “ความกระจุกตัว" ตามเขตต่าง ๆ ที่ปะปนกันมั่วไปหมด แม้จะมีความพยายามแยกเขตเหล่านี้ออกจากกันก็ไม่เป็นผล เพราะไม่มีใครอยากย้ายตัวออกจากพื้นที่ซึ่งใช้ชีวิตใกล้กับสิ่งที่สร้างความสะดวกสบาย ทั้งสถานที่ราชการ หรือห้างสรรพสินค้า แม้กระทั่งการสร้างรถไฟฟ้าต่าง ๆ ในภายหลังก็ยังสร้างตามแนวสถานที่อันโด่งดัง ทำให้ความกระจุกก็จะยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย
ซึ่งตรงนี้ส่งผลต่อการสร้างสนามฟุตบอลอย่างชัดเจน พวกสนามที่สร้างมานานแล้วอย่าง สนามศุภชลาศัย หรือพวกสนามที่สโมสรเช่ายืมเขตเมืองอย่าง สนามกีฬากลาง, สนาม อบต. และ อบจ. ก็จะไม่ค่อยมีปัญหา แต่ปัญหาไปเกิดกับสโมสรที่คิดสร้างสนามใหม่นี่แหละ
ที่ดินใกล้ ๆ ชุมชนก็แทบจะหาที่ว่างยากแล้ว หรือหากมี รังวัดมาก็คงมีขนาดไม่พอกับการสร้างสนาม ไม่ก็อาจจะโดนโก่งราคา หรือมีราคาสูงเกินความเป็นจริง
ดังนั้น การสร้างสนามจึงจำเป็นที่จะต้องออกไปนอกเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้ อาทิ ช้าง อารีนา ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 6 กิโลเมตร, ราชบุรี สเตเดียม ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 7 กิโลเมตร หรือ ลีโอ เชียงราย สเตเดียม ก็อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 8 กิโลเมตร
ไม่เพียงแต่สนามที่สโมสรฟุตบอลสร้างเองเท่านั้น สนามสร้างใหม่หรือสปอร์ตคอมเพล็กซ์ที่ภาครัฐสร้างขึ้นมาให้แล้วสโมสรมาเช่ายืมไปใช้ก็มีระยะห่างไม่ต่างกัน เช่น สนามเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา นครราชสีมา ก็อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 7.5 กิโลเมตร สนามสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ก็อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 10 กิโลเมตร หรือสนามเขาพลอง ก็อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 14 กิโลเมตร
แม้แต่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลอย่าง ธรรมศาสตร์ สเตเดียม ที่ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ไปเช่าใช้ก็มีระยะห่างจากตัวเมืองกรุงเทพฯ กว่า 45 กิโลเมตร กลายเป็นเหมือนไปเล่นในจังหวัดปทุมธานี ทั้งที่เป็นสโมสรที่มีชื่อเป็นกรุงเทพมหานคร
ซึ่งการตั้งสนามกันห่างไกลชุมชนขนาดนี้ก็ไม่แปลกที่เรื่องความผูกพันของทีมฟุตบอลกับท้องถิ่นไทยจะเป็นปัญหาเรื้อรัง เพราะแค่จะเดินทางไปสนามยังไกลเลย
เมื่อผังเมืองไม่เอื้ออำนวยจนสโมสรจะต้องหาเช่าสนามหรือไปสร้างสนามไกลขนาดนี้ แล้วจะให้ไปสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนอย่างแน่นแฟ้นแบบอังกฤษได้อย่างไร
แพชชั่นที่ไม่ยั่งยืนจากทั้งสองฝ่าย
อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการพิจารณา นั่นคือ “ความเห่อ" ของบรรดาแฟนบอล และ “ความบ้าจี้" ของบรรดาผู้บริหารสโมสร
เมื่อฟุตบอลลีกไทยได้รับความนิยมมากขึ้น มีแฟนบอลเพิ่มมากขึ้นแต่สนามความจุไม่พอ ก็จะเห็นเป็นเรื่องปกติที่แฟนบอลจะเรียกร้องให้สร้างสนามใหม่ไปเลย ซึ่งหลายครั้งเหล่าผู้บริหารที่มีความรัก ความทะเยอทะยานต่อสโมสร ก็แทบจะตามน้ำจัดไปตามคำขอ โดยไม่ได้ดูว่าจริง ๆ แล้วเมืองต้องการสนามฟุตบอลแห่งใหม่หรือไม่
เราได้เห็นสโมสรจำนวนไม่น้อยยอมทุ่มเงินมหาศาลสร้างสนามขึ้นมาใหม่ แต่การสร้างสนามดันไปเกิดในพื้นที่ซึ่งไกลจากตัวเมือง และไม่ได้มีความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง
และปัญหาที่ตามมาคือพอกระแสตกลงแฟนบอลก็หดหาย เพราะจากแฟนบอลที่เคยอยากให้ทีมสร้างสนามใหม่ บัดนี้เมื่อผลงานทีมไม่ดีก็เลือกทิ้งทีมไม่เข้าสนาม ขอนอนดูผ่านโทรทัศน์ที่บ้านเพราะบอกว่าไม่คุ้มค่าตั๋ว
ส่วนสโมสรก็ถอดใจโดยไม่มีการช่วยประสานกับเมืองหรือลงทุนอำนวยความสะดวกให้แฟน ๆ ในด้านการเดินทาง ปล่อยให้แฟน ๆ บางส่วนที่รักจริงต้องเดินทางไปชมการแข่งขันแบบตามมีตามเกิด
การหลับหูหลับตาสร้างสนามในขณะที่ไม่ได้ไปดูว่าตัวผังเมืองที่ทำให้ต้องไปสร้างสนามไกล ๆ นั้น ทำให้หาจุดเชื่อมต่อกับชุมชนหรือพื้นที่อย่างจริงจังได้ยากมาก และเมื่อเป็นแบบนี้ ความยั่งยืนจะหาที่ไหนได้
สุดท้ายแล้ว ปัญหาเรื่องสนามฟุตบอลไทยดูจะเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกและคาราคาซัง แฟนบอลไทยก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากทำใจไปอีกนานแสนนาน
เอกสารอ้างอิง
บทความ A level playing field? Sports stadium infrastructure and urban development in the United Kingdom
บทความ Football Stadia Developments: Land-Use Policy and Planning Controls
บทความ The emergence and conceptualisation of community stadia in the UK
บทความ Stadium Architecture and Urban Development from the Perspective of Urban Economics
บทความ The changing face of football: Stadiums and communities
https://www.townplanning.info/town-planning-in-england/
https://www.townplanning.info/what-is-town-planning/history-of-town-planning-in-england/
https://www.thailandnow.in.th/life-society/how-football-stadiums-changed-the-game-in-thailand/
https://www.tuda.or.th/index.php/2018/08/02/000005/
https://www.the101.world/pitch-interview/