Feature

โผน กิ่งเพชร : ตำนานแชมป์โลกคนแรกของไทย ผู้ผ่านสังเวียนชีวิตที่เหี้ยมโหดยิ่งกว่าบนผืนผ้าใบ | Main Stand

ท่ามกลางคนดูแน่นขนัดรอบเวทีมวยลุมพินี แชมป์เปี้ยนโลก ปาสคาล เปเรซ ขึ้นเวทีทางด้านฝั่งน้ำเงิน ตามด้วยผู้ท้าชิง โผน กิ่งเพชร กระโดดขึ้นเชือกเวทีทางด้านฝั่งแดงมาด้วยความมั่นใจ

 


นี่เป็นการแข่งขันชกมวยสากลชิงแชมป์โลก รุ่นฟลายเวต ครั้งแรกในประเทศไทย เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 เมษายน 1960 (พ.ศ. 2503) และมันจะกลายเป็นตำนานที่ถูกจารึกไปตลอดกาล

หากท่านสงสัยว่าเรื่องราวในวันนั้นเป็นอย่างไร Main Stand จะขอพาท่านย้อนกลับไปสัมผัสกับแชมป์โลกรุ่นฟลายเวตที่คนไทยทุกคนไม่อาจลืมอีกครั้งหนึ่ง สามารถติดตามได้ที่นี่

 

ไปเชียร์โผน

"เปเรซจะแข็งอย่างไร แต่โผนเลือดไทย … ต้องเชียร์ไว้ดีกว่า"

ข้อความข้างต้นเป็นท่อนหนึ่งจากเพลง "เชียร์โผน" ประพันธ์โดย สุรพล โทณะวณิก และขับร้องโดย มีศักดิ์ นาครัตน์ มีเนื้อหาเชิญชวนให้ผู้คนออกมาเชียร์ โผน กิ่งเพชร นักมวยไทยคนแรกที่ได้ขึ้นชกชิงแชมป์โลก รุ่นฟลายเวต ณ เวทีมวยลุมพินี ในวันที่ 16 เมษายน 1960 (พ.ศ. 2503)

คู่ชกของเขาคือ ปาสคาล เปเรซ แชมป์โลกวัย 33 ปี ผู้ไร้เทียมทานชาวอาร์เจนตินา เจ้าของฉายา "ยักษ์แคระ" ผู้มีจุดเด่นเรื่องหมัดขวาอันหนักหน่วง และอาศัยร่างกายที่แข็งแรงกำยำเป็นเกราะป้องกันชั้นดีจากพายุหมัดของคู่ต่อสู้ที่ช่วยป้องกันแชมป์โลกมาได้มากถึง 10 สมัย พ่วงด้วยเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ ปี 1948 ที่สหราชอาณาจักร

ทางด้านผู้ท้าชิง "เจ้างูเห่าทะเล" โผน กิ่งเพชร เป็นนักชกหนุ่มไฟแรงวัย 25 ปี ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ชกชิงแชมป์โลกมาก่อน เขาเป็นชาวหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มีชื่อเสียงเรื่องหมัดกระทุ้งที่รุนแรงและรวดเร็วเสมือนงูเห่าทะเล สายตาว่องไว มีไหวพริบดีเยียมแม้จะมีรูปร่างค่อนข้างผอมบาง แต่มีช่วงขาที่ยาวแข็งแรง ทำให้ชนะได้มากถึง 20 ครั้งตลอด 22 ไฟต์ที่ขึ้นชกมาก่อนหน้านี้

การชกครั้งนี้มีความสำคัญต่อประชาชนชาวไทยอย่างมาก นี่ไม่ใช่การชกชิงแชมป์โลกของคนไทยเพียงคนเดียว แต่เป็นการชกชิงแชมป์โลกของคนไทยทุกคน

จึงมีการแต่งเพลงเชิญชวนให้คนไทยออกมาเชียร์ โผน กิ่งเพชร และมีการประกาศกระจายเสียงออกไปผ่านทางวิทยุ สร้างความตื่นเต้นต่อคนไทยในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก

ในวันชกจริงมีคนไทยจำนวนมากเข้ามาชมการแข่งขันจนเนื่องแน่นไปทั่วเวทีมวยลุมพินี หากวิเคราะห์จากยอดขายบัตรเข้าชมที่ขายในราคา 60 บาท 150 บาท และ 350 บาท ที่มียอดขายบัตรรวมได้มากกว่า "หนึ่งล้านหกแสนบาท" ซึ่งถือเป็นรายได้ที่สูงมากในสมัยนั้น ก็พอจะคาดเดาได้ว่ามีประชาชนชาวไทยจำนวนมากที่แห่แหนเข้าไปดูการชกครั้งนี้กันอย่างมากมาย

อีกทั้งยังได้รับเกียรติสูงสุดจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง

โดยมีคณะรัฐบาล นำโดย พลเอก ถนอม กิตติขจร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ยศในสมัยนั้น) ร่วมเดินทางมาชมและให้กำลังใจนักชกชาวไทยในครั้งนี้ด้วย

ดังนั้นการชกชิงแชมป์โลกของโผนจึงกลายเป็นวาระแห่งชาติไปอย่างไม่ต้องสงสัย แม้จะไม่มีการถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์ (เนื่องจากประเทศไทยสมัยนั้นยังไม่มีสถานีโทรทัศน์) แต่มีการบันทึกเป็นหนังสารคดีออกฉายตามโรงภาพยนตร์ในภายหลังแทน รวมถึงในวันชกจริงยังมีการถ่ายทอดสดผ่านทางวิทยุกระจายเสียง เพื่อให้คนไทยทุกคนได้ติดตามการชิงแชมป์ในครั้งนี้ได้อย่างใกล้ชิดไปทั่วประเทศ

 

ศึกนี้ยากเย็นนัก

เสียงระฆังยกที่หนึ่งดังขึ้น แทบไม่มีการจับจ้องหรือดูเชิงกันก่อน นักมวยทั้งสองปรี่กันออกจากมุม ก้าวเท้าเข้าไปปะหมัดกันตรงกลางเวทีทันที … การต่อสู้เปิดฉากขึ้นอย่างดุเดือดตั้งแต่วินาทีแรกที่สิ้นเสียงระฆัง

เปเรซใช้ร่างกายที่กำยำบุกตะลุยผู้ท้าชิงอย่างไม่ยอมให้ตั้งตัวติด เขาอาศัยจังหวะที่ว่องไวกว่า ปล่อยหมัดขวาอันหนักหนวงเข้าไปที่ลำตัวและศีรษะของโผนไปหลายครั้ง แต่โผนใช้ส่วนสูงที่เหนือกว่าสกัดกั้นไม่ให้แชมป์เปี้ยนโลกทำอะไรได้ถนัดนัก

ยกที่สอง เปเรซยังคงเป็นฝ่ายเดินเข้าหาอย่างผลีผลาม เขาเหวี่ยงหมัดซ้าย-ขวาถูกโผนบ้าง 2-3 ครั้ง แต่ซ้ำหมัดได้ไม่ถนัดนัก เนื่องจากโผนสามารถแย็บสกัดได้ทุกครั้ง

การต่อสู้ดำเนินไปอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน ทุกยกผ่านไปอย่างเร้าใจ มีเสียงโห่ร้องกระหึ่มรอบเวทีไปตลอดทั้งการชก และจะดังเป็นพิเศษทุกครั้งที่โผนขยับตัวหรือชกโดนคู่ต่อสู้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายด้วยหมัดแย็บอันรวดเร็ว

นานเข้านักชกทั้งสองก็เริ่มออกอาวุธอย่างระแวดระวังมากขึ้น รวมทั้งยังพยายามคิดกลยุทธ์เพื่อหลอกล่อให้คู่ต่อสู้ให้ตายใจ เช่น เปเรซใช้วิธีก้มตัวหลบต่ำแล้วขว้างหมัดซ้าย-ขวาอย่างรวดเร็ว แต่โผนก็หลบได้ทุกครั้ง ส่วนโผนเองก็ชกด้วยความใจเย็น ไม่ยอมหลงกลเจ้ายักษ์แคระเช่นกัน เขาตั้งรับและรอโต้ตอบ ก่อนออกหมัดถูกเปเรซจนศีรษะขวาแตกในยกที่ 4

ยกที่ 5 และ 6 ผ่านไป เมื่อโผนปักหลักเข้าสู้บ้างก็มีการแลกหมัดของนักชกทั้งสองอย่างดุเดือด จนเรียกเสียงโห่ร้องเชียร์โผนเป็นการใหญ่จากคนดู

เปเรซยังคงทะลวงบุกหนักขึ้นในยกที่ 7 เขาถูกหมัดขวาของโผนเข้าอย่างจังถึงสองครั้งติดกัน ทำให้เปลือกตาซ้ายมีเลือดออก แต่เปเรซก็ยังคงเดินหน้าบุกอย่างบ้าคลั่งต่อไป จนกระทุ้งหมัดถูกเปลือกตาซ้ายของโผนให้แตกทันทีในยกที่ 10 ด้วยเช่นกัน

ยกที่ 11 เริ่มต้น เปเรซพุ่งเข้าใส่โผนทันทีหวังซ้ำเติมแผลบนเปลือกตาซ้ายที่แตกของโผน แต่เพราะความใจร้อนก็เลยทำให้เขาเสียท่าถูกโผนแย็บหมัดซ้ายโต้ตอบอย่างจัง กระนั้นกลับยิ่งกระตุ้นให้บุกต่อไปอย่างไม่ลดละ

การเลี่ยงหลบอย่างคล่องแคล่วของโผนช่วยให้เขาเอาตัวรอดมาได้จนถึงยกที่ 15 ซึ่งเป็นยกตัดสิน ที่ไม่ง่ายนักสำหรับนักชกเจ้าสำอางที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์ชิงแชมป์โลกมาก่อน

อย่างไรก็ดี หลังสิ้นสุดระฆังในยกที่ 15 โผนสามารถเอาชนะ ปาสคาล เปเรซ ได้อย่างไม่เป็นเอกฉันท์ โดย ลอเรนโซ โตร์เรโอ อัลบา (Lorenzo Torreo Alba) กรรมการห้ามบนเวทีชาวอาร์เจนตินา ให้เปเรซชนะ 145 - 143 คะแนน, วงศ์ หิรัญยเลขา ให้โผนชนะ 148 - 137 คะแนน และ แนต ฟลายเชอร์ (Nat Flycher) กรรมการจากเดอะริง ให้โผนชนะ 146 – 140  

ภายหลังรู้ผลการชก คนดูทุกคนรอบเวทีมวยลุมพินีต่างปรบมือก้องสนั่นด้วยความดีใจ นี่คือแชมป์เปี้ยนโลกของสถาบัน เดอะริง (The Ring) และไลนีล รุ่นฟลายเวตคนแรกของไทย อันบ่งบอกได้ถึงฝีไม้ลายมือในการชกมวยของโผนที่แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก และมันเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง

 

ชีวิตแสนสั้น … แต่ตำนานตลอดกาล

หลังจากช่วงชิงตำแหน่งแชมป์โลกมาจาก ปาสคาล เปเรซ ได้แล้ว โผนก็สามารถรักษาตำแหน่งแชมป์โลกได้อีกถึง 3 ครั้ง

โดยมีไฟต์แห่งความทรงจำมากมาย ทั้งการเอาชนะการชกแก้มือของ ปาสคาล ได้ที่ลอสแอนเจลิส ซึ่งชนะคะแนนไปอย่างหายสงสัย หรือเสียแชมป์ครั้งแรกให้กับ ไฟติง ฮาราดะ (Fighting Harada หรือชื่อจริง Masahiko Harada) ดาวรุ่งจากญี่ปุ่น ที่ถือเป็นการชกชิงแชมป์โลก WBA ครั้งแรกในเอเชีย รวมถึงการชกแก้มือกับ ฮาราดะ ในวันที่ 12 มกราคม 1963 ซึ่งกลายเป็นการชิงแชมป์โลกสมัยที่ 4 ของเขาก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยม เนื่องจากเป็นอีกครั้งที่เขาสามารถคว้าแชมป์โลกต่อหน้าคนไทยได้อย่างยิ่งใหญ่

แต่หลังจากนั้นโผนเริ่มทำตัวแปลกไป เขาไม่มาซ้อมมวยที่ค่าย และมีการเลื่อนการชกออกไปหลายครั้ง

ในระหว่างนี้ นิยม ทองชิตร เทรนเนอร์ส่วนตัวได้ถอนตัวออกไป เนื่องจากไม่พอใจที่โผนไม่มาซ้อมมวย รวมถึงยังหมางเมินต่อการท้าชิงของนักชกญี่ปุ่น ฮิโรยูกิ เอบิฮาระ (Hiroyuki Ebihara) โดยมี หิรัญ สีดอกบวบ พี่ชายของโผน เข้ามาเป็นผู้จัดการส่วนตัวแทน ซึ่งในที่สุดก็มีการชกชิงแชมป์ระหว่าง โผน กับ เอบิฮาระ ในวันที่ 18 กันยายน 1963 ซึ่งโผนแพ้น็อกต่อผู้ท้าชิงไปในแค่ยกแรกเท่านั้น สร้างความผิดหวังต่อผู้เข้าชมในไฟต์นั้นเป็นอย่างมาก

ต่อมาโผนกลับมาชกแก้มือได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นการคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 3 ของเขา แต่ก็เป็นแชมป์สมัยสุดท้ายของเขาด้วยเช่นกัน เพราะหลังจากนั้นเขาได้ชกป้องกันแชมป์โลกกับ ซัลวาตอเร่ บูร์รูนี่ (Salvatore Burruni) และเสียแชมป์โลกให้นักชกชาวอิตาลีไปถึงถิ่น และไม่สามารถกลับมาทวงบัลลังก์แชมป์โลกได้อีกเลย จนประกาศแขวนนวมในปี 1966 ขณะมีอายุเพียง 31 ปีเท่านั้น

ในช่วงบั้นปลายชีวิต โผนติดสุราอย่างหนักจนเกือบเป็นโรคสุราเรื้อรัง ชีวิตของเขาค่อนข้างตกต่ำ เพราะเงินที่ได้จากการชกก็หมดไปกับการลงทุนเสียส่วนใหญ่ แต่เขาก็ต้องขาดทุนเพราะไม่เจนจัดในเรื่องการค้า

เขาถูกโรคประจำตัวรุมเร้า ทั้งยังเป็นหวัด โรคเบาหวาน โรคปอดบวม รวมถึงการสำลักอาหารจนเข้าไปติดในหลอดลมทำให้เกิดการบูดเน่า ส่งผลให้โลหิตเป็นพิษและอาการทรุดหนักลงจนเสียชีวิตในวันที่ 31 มีนาคม ปี 1982 (พ.ศ. 2525) สิริอายุรวม 47 ปีเท่านั้น

โผน กิ่งเพชร ชายจากจ.ประจวบคีรีขันธ์ ผู้แบกสถิติ ชก 35 ไฟต์ ชนะ 28 ครั้ง ชนะน็อก 9 ครั้ง แพ้ 7 ครั้ง (แพ้น็อก 3 ครั้ง)ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักชกชาวไทยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลโดยสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย และกำหนดให้วันที่ 16 เมษายนของทุกปีเป็น "วันนักกีฬายอดเยี่ยม" ของสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งตรงกับวันที่โผนสามารถคว้าแชมป์โลกให้กับประเทศไทยได้สำเร็จ

กิตติคุณของเขาลือลั่นไปทั่ว แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ก็ยิ่งใหญ่มากพอให้เป็นที่จดจำไปตลอดกาล และด้วยเหตุนี้จึงมีการสร้างอนุสรณ์สถานโผน กิ่งเพชร ขึ้นที่บริเวณชายหาดหัวหินเมื่อปี 1992 (พ.ศ.2535) โดยมีลักษณะเป็นรูปปั้นสูง 2.20 เมตร ท่ายืน มือขวาชูกำปั้น มือซ้ายถือเข็มขัดแชมป์โลก เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึงวีรกรรมของเขาสืบไป

ปล. ฉากการต่อสู้ระหว่าง โผน กิ่งเพชร และ ปาสคาล เปเรซ ผู้เขียนอ้างอิงมาจากหอภาพยนตร์ Thai Film Archive

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.youtube.com/watch?v=VOEo2CKPY_k
https://www.ringtv.com/648888-died-on-this-day-pascual-perez/
https://www.martialbot.com/boxing/p/pone-kingpetch.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Pascual_P%C3%A9rez_(boxer)

Author

ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด

Main Stand's author

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา