ฟุตบอลอาชีพของไทยเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนักฟุตบอล, โค้ช หรือนักวิทยาศาสตร์การกีฬา ยังมีอาชีพอื่นๆ คอยขับเคลื่อนให้ฟุตบอลอาชีพมีความสมบูรณ์แบบ มีมาตรฐานสูงเทียบชั้นการแข่งขันระดับนานาชาติ
ทำให้หลายมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐบาลและเอกชนเห็นความสำคัญ เปิดหลักสูตรที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอลโดยตรง เพื่อเป็นทางเลือกให้บุคคลทั่วไปหรือบุคลากรในวงการฟุตบอล เข้ามาศึกษาเพิ่มเติม เป็นใบเบิกทางในการก้าวหน้าในสายงานฟุตบอลอาชีพ หรือธุรกิจฟุตบอลเต็มตัว
แล้วตำราลูกหนังเหล่านี้เปิดโลกให้คนลูกหนังอย่างไร ขับเคลื่อนฟุตบอลไทยให้ไปข้างหน้าได้มากแค่ไหน ติดตามได้ใน Ball Thai Stand
สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลโดยตรง
หากจะพูดถึงสาขาวิชาเกี่ยวกับกีฬา แน่นอนว่าหลายคนคงนึกถึงสาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่หลายมหาวิทยาลัยของรัฐบาลและเอกชน บรรจุไว้ในหลักสูตร และมีผู้เข้าเรียนอย่างแพร่หลาย
แต่ถ้าจะชี้ชัดไปที่สาขาวิชาที่มุ่งเน้นเกี่ยวกับฟุตบอลจริงๆ หลักๆ ก็จะมี 2 สถาบัน ระดับปริญญาตรี จะมีเปิดสอนที่มหาวิทยาลัยมหิดล หลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต การออกกำลังกายและกีฬา วิชาเอกกีฬาฟุตบอล ซึ่งเป็นที่แรกที่เปิดสอนเกี่ยวกับเรื่องของฟุตบอลเพียวๆ สามารถสร้างบุคลากรให้วงการฟุตบอลกว่า 300 คน
รวมถึงที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ สวนสุนันทา ที่เอาจริงด้านการพัฒนาเรื่องการบริการกีฬา เปิดให้ศึกษาต่อระดับปริญญาโท ในหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต สาขาการจัดการการกีฬา และการจัดการฟุตบอลอาชีพ
โดยมีอดีตนักเตะอย่าง สินทวีชัย หทัยรัตนกุล, ธีรเทพ วิโนทัย และเร็วๆ นี้จะมี กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ ผู้รักษาประตูทีม เมืองทอง ยูไนเต็ด เข้าไปศึกษาต่อ รวมถึงบุคลากรในสายฟุตบอลไทย ตบเท้าไปเรียนไม่น้อย ซึ่งแต่ละปีจะรับสมัครผู้สนใจเข้าเรียนไม่เกิน 40 คน
คุณสมบัติของผู้สนใจเข้าเรียนหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต การออกกำลังกายและกีฬา วิชาเอกกีฬาฟุตบอล เป็นผู้สำเร็จการศึกษา หรือ กำลังศึกษา ชั้น ม.6 หรือเป็นผู้สำเร็จการศึกษา หรือ กำลังศึกษา Grade 12 ระบบอเมริกัน หรือ Year 13 ระบบอังกฤษ (International High School ) เป็นตัวแทนนักกีฬาทีมชาติไทย หรือ เยาวชนทีมชาติไทย เข้าร่วมการแข่งขันระดับซีเกมส์ หรือ เอเชียนเกมส์ หรือโอลิมปิกเกมส์ หรือชิงแชมป์อาเซียน หรือชิงแชมป์เอเชีย หรือชิงแชมป์โลก หรือตัวแทนทีมชาติไทยในการแข่งขันระดับนานาชาติ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ เว็บไซต์มหาวิทยาลัยมหิดล (https://tcas.mahidol.ac.th/) และส่วนผู้สนใจศึกษาต่อระดับปริญญาโท ในหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต สาขาการจัดการการกีฬา และการจัดการฟุตบอลอาชีพ ต้องเป็นผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ไม่จำกัดสาขา สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ https://cim.ssru.ac.th/page/courses2564 ได้เลย
เรียนไปเพื่ออะไร
หากจะเจาะจงที่เกี่ยวกับฟุตบอลอาชีพจริงๆ และมุ่งเน้นสายงานนอกสนาม คงเป็น ปริญญาโท หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาการจัดการฟุตบอลอาชีพ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ สวนสุนันทา เปิดสอนมาตั้งแต่ปี 2557
มีคนในวงการฟุตบอล ทั้งอดีตนักฟุตบอล บุคลากรจากสโมสรต่างๆ ในไทยแล้ว ปัจจุบันยังมีบุคคลทั่วไปจากหลายสาขาอาชีพที่มีใจรักฟุตบอลสนใจเข้ามาเรียนมากขึ้น เพื่อหวังเป็นใบเบิกทางก้าวสู่การเข้ามาทำหน้าที่ในบทบาทต่างๆ
ดร. อาชวิทย์ เจิงกลิ่นจันทร์ ผู้จัดการทั่วไป สโมสรโปลิศ เทโร และอาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารมหาบัณฑิต สาขาการจัดการฟุตบอลอาชีพ ได้เปิดเผยของความพิเศษของหลังสูตรดังกล่าวว่า “เราได้เปรียบตรงที่มีสมาคมฯ และ ไทยลีก สนับสนุน บางวิชาได้มีการส่งบุคลากรมาเป็นวิทยากรให้”
“นอกจากนี้เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับสโมสรชั้นนำของไทย สามารถพานักศึกษาไปดูงาน ฝึกงาน หรือทำงานได้จริง”
“เราเรียนเรื่องการจัดแมตช์แข่งขัน การจัดตารางแข่งขัน และการจัดการแข่งขันจริงๆ พอเรียนตรงมันก็เป็นข้อได้เปรียบให้คนที่รักฟุตบอลสามารถต่อยอดได้”
ไม่ใช่นักกีฬา ก็เข้าสู่วงการฟุตบอลอาชีพได้
อย่างที่ทราบกันดีว่าระบบฟุตบอลอาชีพไม่ได้มีขีดจำกัดแค่เรื่องในสนามที่มีองค์ประกอบหลัก คือ นักกีฬา, สต๊าฟฟ์โค้ช, ผู้ตัดสิน หรือเรื่องของวิทยาศาสตร์การกีฬา เท่านั้น เพราะยังมีเรื่องของการบริหารจัดการนอกสนาม ทั้งการเรื่องการตลาด การสร้างแบรนด์สโมสร ซึ่งมีความจำเป็นในยุคของฟุตบอลกลายเป็นธุรกิจเต็มตัว
ปัจุบันผู้สนใจเข้ามาศึกษามาจากหลากหลายอาชีพ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรักกีฬาฟุตบอล และต้องการมีส่วนร่วมในการผลักดันและพัฒนาฟุตบอลอาชีพให้มีความเป็นสากลเหมือนในระดับนานาชาติ
“เมื่อก่อน พี่คิง ก่อนบ่าย (ณภัทร ชุ่มจิตตรี) เขาช่วย พีที ประจวบ ในฐานะประธานแฟนคลับ เมื่อก่อนเวลาทีมลงแข่งที่ไหนเขาไปเชียร์หมด ไม่ได้คิดอะไร แต่พอได้มาเรียนเขาก็เห็นภาพกว้างขึ้นว่า การพากองเชียร์ไปแต่ละแห่งมันมีเรื่องของค่าใช้จ่าย” ดร. อาชวิทย์ กล่าวเสริม
“เขาได้เห็นว่าทุกอย่างทุกมีการวางแผน ไปแต่ละที่ต้องใช้เงินเท่าไหร่ เป็นเงินส่วนไหนบ้างที่ต้องเอามาใช่ มันทำให้คิดได้ละเอียดขึ้น”
“เราเคยเจอลูกศิษย์ที่เป็นพนักงานของเวิร์คพอยท์ หรือทำงานอยู่แท่นขุดเจาะน้ำมันของ ปตท. คนกลุ่มนี้ไม่ได้คิดจะไปเปิดอคาเดมี่ หรือทำสโมสรอาชีพ แต่เขารักฟุตบอล อยากเข้าเป็นครอบครัวฟุตบอล แต่ไม่รู้ว่าจะเข้าไปทางไหน”
“หลักสูตรนี้สามารถสร้างให้เขาเข้ามาอยู่ในครอบครัวฟุตบอลได้ คนกลุ่มนี้ถ้าตั้งใจเรียนจริงๆ สามารถสอบเป็นผู้ควบคุมการแข่งขันได้ ซึ่งมีบางคนทำได้แล้ว ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งของคนที่อยากจะเข้ามาทำงานในวงการฟุตบอลไทย”
เปิดมุมมองของโลกฟุตบอลใหม่
ไม่มีใครแก่เกินเรียน คำนี้ใช้ได้เสมอสำหรับผู้ที่ทำตัวเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว คอยศึกษาในสิ่งใหม่ๆ เสมอ เช่นเดียวกับ ธิติกร อาจวาริน เลขาธิการสโมสรฟุตบอลชลบุรี ที่คลุกคลีอยู่ในวงการฟุตบอลไทยมากว่า 10 ปี แต่ตัดสินใจศึกษาต่อระดับ ปริญญาโท หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาการจัดการฟุตบอลอาชีพ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ สวนสุนันทา และจบการศึกษาเรียบร้อยแล้ว
ซึ่งการเรียนที่นี่ได้เปิดมุมมองการทำงานใหม่ๆ ทำให้เกิดไอเดียกลับมาพัฒนาสโมสรได้มากขึ้น
“คนทำฟุตบอลในอดีตจะเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ แต่ฟุตบอลสมัยใหม่มันพัฒนาตลอด มีความเป็นธุรกิจมากขึ้น” ธิติกร กล่าว
“ทำให้ผมมีความคิดว่าถ้าเราทำฟุตบอลมันเปลี่ยนไปทุกวัน ถ้าเราไม่รู้เรื่องการบริหารเลยมันก็จะกลายเป็นเหมือนคนตกยุค”
“มันทำให้เรามองในมุมที่สูงขึ้น เราสู้กับงาน เจออะไรบวกหมด พอได้เราได้เรียนมันทำให้วิสัยทัศน์ของการทำงานเราเปลี่ยน”
“เมื่อก่อนเรามองแบบนี้ ด้วยอายุ ประสบการณ์ด้วย มันทำให้มองอีกแบบมองกว้าง มองไกลขึ้น ศาสตร์บางอย่างมันเป็นทางเฉพาะของฟุตบอลจริงๆ โดยเฉพาะเชิงการบริหารฟุตบอลอาชีพ”
เรียนแล้วยกระดับวงการฟุตบอลแค่ไหน
การเรียนแต่ละสาขาวิชาหากเรียนแล้วไม่สามารถนำไปต่อยอดใช้งานจริง คงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ในวงการฟุตบอลแน่นอนว่าผู้มีอำนาจมากที่สุดคือเจ้าของทีม ซึ่งเม็ดเงินที่ทุ่มลงไป ล้วนต้องการผลตอบแทน ทั้งผลงานของทีมที่ต้องเป็นแชมป์หรือแม้แต่หาเงินกลับมาที่สู่สโมสร
หากบุคลากรที่จบการศึกษาแล้ว ได้รับบทบาทที่เกี่ยวข้องและผู้บริหารเองมีความเข้าใจบริบทของฟุตบอลอาชีพจริงๆ จะเป็นการผลักดันสโมสรให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง เหมือนกับฟุตบอลอาชีพต่างประเทศ
ดร.อาชวิทย์ ได้พูดถึงประเด็นดังกล่าวว่า “ต้องดูว่าคนที่มาเรียนมีบทบาทอย่างไรในสโมสร หากทำงานเกี่ยวกับการบริหารเขาจะได้องค์ความรู้ไปเต็มๆ แน่นอน”
“บางคนทำสโมสรดีอยู่แล้ว หากมาเรียนก็จะเห็นมุมมองเพิ่มขึ้น อาจจะไปยกระดับทีมตัวเองให้ดีกว่าเดิม ถ้าเป็นพนักงานอยู่แล้ว อาจจะเติมความรู้ด้านอื่นๆ เป็นยกระดับความสามารถตัวเองเพิ่มขึ้นด้วย”
“ถ้าผู้บริหารฟังข้อคิดเห็น เปิดกว้าง หรือผู้บริหารมาเรียนเองจะดีมากเลย เพราะจะได้เห็นภาพการบริหารฟุตบอลจริงๆ”
“ผมแบ่งสัดส่วนผู้ที่มาเรียน 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือนักฟุตบอลที่กำลังจะแขวนสตั๊ด เขาต้องการเรียนต่อเพื่อศึกษาแนวทางการทำอคาเดมี่ เป็นผู้บริหารสโมสร เขาก็จะมาเรียนเพื่อต่อยอดองค์ความรู้ให้มีมากขึ้น”
“กลุ่มที่ 2 คือคนที่ที่ทำงานในองค์กรฟุตบอลอยู่แล้ว เช่น เจ้าหน้าที่ไทยลีก หรือสมาคมฯ หน่วยงานกีฬาอื่นๆ ที่ต้องการหาความรู้ด้านบริหารฟุตบอลเพิ่มเติม และกลุ่มสุดท้าย คือบุคคลทั่วไป ที่รักฟุตบอล ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาฟุตบอล เช่น เข้ามาทำหน้าที่ผู้ควบคุมการแข่งขัน หรือเจ้าหน้าที่ในองค์กรฟุตบอล รวมทั้งในสโมสร เป็นต้น”
โลกฟุตบอลหมุนเร็ว ต้องปรับตาม
ฟุตบอลไทย ไม่ได้ขึ้นตรงกับ สมาคมฯ หรือ ไทยลีก อย่างเดียว เพราะจะเห็นว่าปัจจุบัน ภาพของฟุตบอลอาชีพกว้างขึ้น เรามีบุคลากรหลายคนเข้าไปทำงานในองค์กรฟุตบอลระดับโลกอย่าง ฟีฟ่า และ เอเอฟซี มากขึ้น ซึ่งการเรียนรู้ต้องมีการพัฒนายกระดับหลักสูตรให้สอดคล้องด้วย
“หลักสูตรใหม่ที่จะเริ่มใช้ในปี 67 จะปรับเปลี่ยนไป เราได้มีการพูดคุยและได้ไอเดียจาก พาทิศ ศุภะพงษ์ เลขาธิการสมาคมฯ เพิ่มเติมด้วย” ดร.อาชวิทย์ เกี่ยวกับหลักสูตรการเรียนในอนาคต
“มันจะมีความทันสมัยมากขึ้น เราจะเรียนรู้ว่าองค์กรกีฬามีอะไรบ้าง การทำงานร่วมกับฟีฟ่า หรือ เอเอฟซี ต้องทำอย่างไร มีขั้นตอนแบบนไหน เราจะเน้นเรื่องฟุตบอลมากกว่าเดิม”
“บางสโมสรสร้างสโมสรดีนะ แต่ยังขาดความรู้เรื่องการสร้างแบรนด์ของตัวเอง แต่ขายงานให้สปอนเซอร์ไม่เป็น เราก็จะเพิ่มหลักสูตรตรงนี้ด้วย”
“รวมถึง เทคโนโลยีฟุตบอล นอกจาก VAR มีอะไรเพิ่มเติมอีกไหม หรือวิชากฎหมาย หากสโมสรไม่จ่ายเงินเดือนนักกีฬา ตัวนักกีฬาสามารถไปฟ้องร้องกับหน่วยงานไหนได้บ้าง”
แม้การเรียนเกี่ยวกับการบริหารฟุตบอลอาชีพจะเป็นเรื่องที่มีขึ้นมานานแล้ว แต่รายละเอียดต่างๆ ถูกพัฒนาไปข้างหน้า ตามโลกฟุตบอลที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
หากนำความรู้มาใช้อย่างถูกต้อง อนาคตฟุตบอลไทยคงก้าวไปข้างหน้า แม้จะเป็นก้าวที่ช้า แต่ดูมีความมั่นคงไม่น้อย
สุดท้ายทุกส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันพัฒนาฟุตบอลไทย ให้กลายเป็น “อาชีพ” อย่างเต็มตัวและเป็นรูปธรรมทั้งในและนอกสนาม หากทำได้ได้คำว่า “ไปฟุตบอลโลก” คงไม่ใช่เรื่องที่ฝันอีกต่อไป