ในวันที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ไม่สามารถเป็นรังเหย้าของ “ทีมชาติไทย” ในศึกชิงเจ้าอาเซียน “เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเลคทริคคัพ 2022” เนื่องจากติดคอนเสิร์ตใหญ่จากศิลปินระดับโลก และสภาพพื้นหญ้าที่ไม่พร้อม ทำให้ สนามศุภชลาศัย กลายเป็นชื่อที่คอบอลไทยพูดถึงมากที่สุด และอยากเห็นขุนพล “ช้างศึก” ไปวาดเพลงแข้งที่นั่น
อย่างไรก็ตามคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ “ฟุตบอลไทย” ระดับนานาชาติ จะกลับไปสร้างความสนุกผสมกลิ่นอายประวัติศาสตร์ที่สังเวียนลูกหนังแห่งนั้นได้อีกครั้ง ทำไมสนามศุภชลาศัยจึงถูกเมินจากฝ่ายจัดการแข่งขัน ไปติดตามกับ Ball Thai Stand
ความฝันของนักฟุตบอลไทย
สนามศุภชลาศัย เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2480 ก่อนจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ใน พ.ศ.2484 สามารถจุผู้ชมได้ 40,000 คน นับเป็นสนามกีฬาระดับมาตรฐานสากลแห่งแรกของวงการกีฬาประเทศไทย ผ่านการจัดการแข่งขันกีฬามากมาย ทั้ง ซีเกมส์ จำนวน 3 ครั้งในปี พ.ศ. 2502, พ.ศ. 2510 และปี พ.ศ. 2518 รวมไปถึงกีฬาเอเชียนเกมส์ 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2509 และ พ.ศ. 2513 และเป็นสังเวียนเหย้าของฟุตบอลทีมชาติไทย
ผู้ที่ชื่นชอบฟุตบอล เชื่อว่ามีหลายคนวาดฝันว่า สักวันจะต้องก้าวไปติดทีมชาติไทย และลงเล่นบนฟลอร์หญ้าแห่งนี้สักครั้งในชีวิต เพื่อเป็นการเติมเต็มการเป็นนักฟุตบอลให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
จักรพันธ์ พรใส ดาวเตะตัวเก๋า คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด จากเด็กต่างจังหวัดที่แค่อยากดูฟุตบอลในสนามศุภชลาศัยสักครั้งในชีวิต แต่การชมฟุตบอลนัดเดียวกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาก้าวไปเป็นนักเตะอาชีพและก้าวไปติดทีมชาติไทย และมีโอกาสเติมเต็มความฝันในวัยเด็กด้วยการลงสนามในชุด “ช้างศึก” ในสนามที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์แห่งนี้
“ผมเชียร์และเป็นแฟนตัวยงของทีมชาติไทยมาตั้งแต่เด็กมีโอกาสเข้าไปดูทีมชาติไทยที่สนามศุภชลาศัย เป็นนัดชิงชนะเลิศ รายการซูซูกิคัพ ไทย กับ สิงคโปร์ เมื่อปี 2007” จักรพันธ์ เปิดใจถึงความหลังที่มีต่อสนามศุภชลาศัย
“วันนั้นคนเต็มสนาม เป็นบรรยากาศสุดยอดมาก เสียดายที่เราไม่ชนะ และปี 2012 ผมกลายมาเป็นนักฟุตบอลทีมชาติไทย รับใช้ทีมชาติไทยลงเตะฟุตบอลซูซูกิคัพ”
"เมื่อก่อนเรานั่งดูเรายังขนลุกเลย มีอารมณ์ร่วม เรายังเชียร์ ให้กำลังใจไปด้วย พอเรามาเป็นคนทำหน้าที่ตรงนั้น มันมีความภูมิใจมากๆ เป็นเกียรติประวัติ ธงติดหน้าอกมันศักดิ์สิทธิ์มาก”
มนต์ขลังที่ถูกพูดต่อจากรุ่นสู่รุ่น
บรรยากาศ “สนามแตก” ในศึกฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์ ครั้งที่ 24 รอบรองชนะเลิศ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ที่มีแฟนบอลเข้าเชียร์ไม่น้อยกว่า 60,000-70,000 คน จนแฟนบอลบางส่วนต้องไปนั่งอยู่บนลู่วิ่งเพื่อเชียร์ทัพ “ช้างศึก” กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ถูกพูดถึงปัจจุบัน
รวมถึงฟุตบอลอุ่นเครื่องที่มีสโมสรฟุตบอลระดับโลกเดินทางมาฟาดแข้งที่สนามแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น บาเยิร์น มิวนิค, ลิเวอร์พูล, อาร์เซน่อล, เอซี มิลาน หรือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ฯลฯ ซึ่งอัดแน่นด้วยสตาร์ดังระดับโลก ทั้ง คาร์ไฮ รุมเมนิกเก้, มาร์ค ฮิวจ์ส, ไรอัน ร็อบสัน, ปีเตอร์ ชไมเคิ่ล, รุด กุลลิท และ โรแบร์โต บาจโจ้ เป็นต้น
ขนาด เปเล่ ราชาลูกหนังโลกผู้ล่วงลับ ยังเคยมาสอนฟุตบอลให้เยาวชนไทย ที่สนามศุภชลาศัย เมื่อปี พ.ศ. 2517 ซึ่งเป็นการการันตีประวัติศาสตร์และมนต์เสน่ห์อันยิ่งใหญ่ของสนามแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้บริเวณรอบสนามศุภชลาศัยในอดีต ยังเป็นแหล่งรวมตัวของคอลูกหนัง เนื่องจากมีร้านขายเสื้อผ้าชุดกีฬามากมาย
วันไหนมีเกมแข่งขันบรรยากาศจะอบอุ่นขึ้นไปอีก เพราะจะมีแฟนบอลถือโอกาสไปจับจ่ายซื้อเสื้อผ้ากีฬาของสโมสรไทยและต่างประเทศไว้ใส่เชียร์ทีมรักผ่านจอตู้ หรือจะเป็นรองเท้าสตั๊ดหลากหลายยี่ห้อดังคอยล่อตาล่อใจให้หลายคนเข้าไปจับจองเป็นเจ้าของ
รวมไปถึงกลิ่นควันจาก หมูปิ้ง, ไก่ยาง หรือไส้กรอกอีสาน ช่วยดึงดูดให้แฟนบอลไปยืนต่อคิวรอลิ้มรสความอร่อย บางคนถือโอกาสเสวนาภาษาลูกหนังกัน เมื่อแม้ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน พอพูดคุยถูกคอกลายเป็นเพื่อนเชียร์บอลบางก็มี ที่สำคัญอาหารเหล่านั้นมันช่วยเติมพลังในการเชียร์ฟุตบอลให้สนุกสุดเหวี่ยงตลอด 90 นาที
สนามฟุตบอลอันยิ่งใหญ่สู่โบราณสถาน
หลังสัญญาเช่าพื้นที่ระหว่างสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ที่ผูกไว้กับกรมพลศึกษามาตั้งแต่ปี 2478 หมดลงในปี 2555 สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของที่ดินได้ขอขึ้นค่าเช่าพื้นที่จากปีละ 3.3 ล้านบาท เป็นปีละ 153 ล้านบาท กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ
เมื่อผู้เช่าเป็นหน่วยงานรัฐอย่างกรมพลศึกษา ทำให้มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณในการดูแลปรับปรุงอาคารเป็นแบบปีต่อปี ส่งผลให้การดูแลรักษาไม่ทั่วถึง ทำให้สภาพภายในและภายนอกสนามดูทรุดโทรม ห้องน้ำ ห้องพักนักกีฬา อัฒจันทร์ ห้องจำหน่ายตั๋ว และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ยิ่งสนามแห่งนี้ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรให้เป็นโบราณสถานแล้ว ทำให้การซ่อมแซมมีความยุ่งยากเข้าไปอีก
ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษา ได้เปิดเผยว่า สถานที่แห่งนี้มีความเก่าแก่ ควรค่าแก่การอนุรักษ์อาคาร สถานที่ ให้คงสภาพเดิม อีกทั้งสนามศุภชลาศัย ยังขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรเป็นโบราณสถาน หากจะปรับปรุงซ่อมแซม ต้องแจ้งให้กรมศิลปากรทราบ
โดยครั้งสุดท้ายที่ทีมชาติไทย ลงแข่งขันที่สนามแห่งนี้เป็นการแข่งขันฟุตบอลรายการพิเศษ “GSB Bangkok Cup 2018” ซึ่งเป็นทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี ภายใต้การคุมทีมของ “โค้ชหระ” อิสสระ ศรีทะโร คุมทัพ ซึ่ง ไทย จบอันดับสุดท้ายของการแข่งขันจาก 4 ทีมที่ร่วมโม่แข้ง
จัดคอนเสิร์ตได้ แต่จัดแข่งฟุตบอลไม่ได้
เพิ่งปิดฉากไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมากับคอนเสิร์ตเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังจากเกาหลีใต้ BLACKPINK (แบล็กพิงก์) ที่มาสร้างความสุขให้แฟนเพลงชาวไทยในคอนเสิร์ต BLACKPINK THE BORN PINK WORLD TOUR BANGKOK ซึ่งมีสาวกของ 4 สาว จีซู, เจนนี่, โรเซ่ และลิซ่า เข้าไปชมคอนเสิร์ตกว่า 40,000 คน ทำให้มีข้อสงสัยว่าทำไมสนามศุภชลาศัยจัดคอนเสิร์ตใหญ่ระดับโลกได้ แต่จัดแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติไม่ได้
ต้องยอมรับว่าการจัดอีเว้นต์ระหว่างคอนเสิร์ตกับฟุตบอล แตกต่างกัน และการใช้พื้นที่มีบางส่วนที่แตกต่างกันไป อย่างคอนเสิร์ตจะใช้พื้นที่ในสนามเป็นหลัก ส่วนภายในห้องทำงานต่างๆ ภายในสนามแทบไม่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งฝ่ายจัดกับ YG Entertainment ต้นสังกัดของ BLACKPINK มีการตรวจสอบอย่างรอบคอบจึงไฟเขียวให้ใช้สนามศุภชลาศัยจัดคอนเสิร์ตนี้ได้
“การตัดสินใจครั้งนี้อยู่ที่ผู้จัดคือทางเทโร และ YG เป็นผู้ตัดสินใจเลือก ซึ่งกว่าจะตัดสินใจอะไรลงไป ทางเทโร จะมีการประสานงานส่งแผนงานไปให้กับทาง YG ได้พิจารณาตรวจสอบอย่างรอบคอบแล้ว มีการตรวจสอบและวางแผน ตัดสินใจเลือกแนวทางที่ดีที่สุด ก่อนจะออกมาเป็นไฟเขียวเลือกสนามศุภชลาศัยในที่สุด” ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษา เผย
ขณะที่การจัดแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติ นอกจากจะต้องใช้พื้นที่หญ้าในสนามแล้ว ไฟสนาม, ห้องน้ำ, ห้องแต่งตัวนักกีฬา, ห้องทำงานผู้ตัดสิน, ห้องทำงานผู้สื่อข่าว หรือห้อง VAR ต้องมีความสมบูรณ์พร้อมใช้งานและต้องได้มาตรฐานตามที่สหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ AFC วางเอาไว้
พาทิศ ศุภะพงษ์ เลขาธิการสมาคมฯ เผยว่า “มาตรฐานในการจัดคอนเสิร์ตกับกีฬาที่มีสหพันธ์ฟุตบอลต่างกัน คือนอกจากสนามแล้ว ห้องทำงานต่างๆ สมบูรณ์ ถูกตกแต่งอย่างสวยงาม”
“การจัดแข่งขันฟุตบอลแต่ละครั้งมีคู่แข่งที่ขอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ทำให้ทุกอย่างต้องได้มาตรฐานที่ถูกตั้งไว้ นอกจากนี้ไฟสนามยังเป็นเรื่องสำคัญ ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ไฟเกิน 2,000 ลักซ์ เช่นเดียวกันกับที่สนามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ก็อยู่ระดับ 2,000 ลักซ์ ส่วนสนามศุภชลาศัยไม่ได้อัพเดตมานานมาก ที่เคยไปตรวจสอบก็ไม่ผ่านเกณฑ์”
“อนาคตถ้าเจ้าของพื้นที่มีการปรับปรุงฟื้นฟูสนามให้สมบูรณ์ตามมาตรฐาน ภายในมีการตกแต่งสวยงาม เราก็พร้อมที่จะเช่าสนาม จัดการแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติอีกครั้ง”
“อย่าลืมว่าทุกอย่างมันไม่ได้อยู่ที่สมาคมฯ แต่อยู่ที่เจ้าของสนาม ถ้าถามว่าสมาคมฯ อยากให้ทีมชาติไทยไปแข่งขันที่นั่นไหม ยังยืนยันว่าอยากทำแน่นอน” พาทิศ กล่าวปิดท้าย
เชื่อว่ามีแฟนบอลไทยหลายคนเชียร์ให้สนามศุภชลาศัยคืนชีพกลับมาจัดการแข่งขันฟุตบอลทีมชาติไทยอีกครั้ง
หากเจ้าของพื้นที่อย่างสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ไม่สามารถปรับปรุงสภาพสนามทั้งภายในและภายนอกให้กลับมาสมบูรณ์ทันสมัยตามมาตรฐานที่ AFC และสมาคมฯ วางเอาไว้ คงเป็นเรื่องยากที่สนามศุภชลาศัยกับฟุตบอลทีมชาติไทยจะกลับมาบรรจบกันอีกครั้ง
ภาพ: เว็บไซต์กรมพลศึกษา
แหล่งอ้างอิง
https://www.thairath.co.th/content/307881
https://mainstand.co.th/th/features/1/article/3470?fbclid=IwAR2g5q2ykrW-cvv-vQKp8LGB5E4y3NTzKO_EYcroJid8b3jG-hJyfKqYvuE
https://sport.mthai.com/football/thaileague/362547.html
https://news.ch7.com/detail/615716
https://www.fathailand.org/news-detail/V6C-h
https://thelist.group/realist/blog/จุฬาขอคืนสนามศุภชลาศัย/
https://www.dpe.go.th/stadium-391591791792-392791791792
https://www.facebook.com/cometogether2017/photos/a.1537419113245141/3255987598054942/?type=3&mibextid=r5uJeJ
https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_2944827
https://news.ch7.com/detail/615340
https://www.goal.com/th/ข่าว/เคยมาไทย-เปเลสอนทักษะฟุตบอลที่สนามศุภชลาศัย-มีคลิป/blt35cf67c7601aafcd
https://www.facebook.com/AFHT48/photos/a.1357330497745734/1357330394412411/?paipv=0&eav=AfalIfwJ2pq_wIKoz2bM-kPqA8S7C13gOiwaAchCW8T6oNdG2m2wcIxyLk9mT_UpA08&_rdr
https://pantip.com/topic/30446909
https://www.dailynews.co.th/news/1863722/