Feature

มองผ่านข้อมูล: การทดเวลาแบบฟุตบอลโลก ส่งผลต่อสภาพร่างกายนักบอลหรือไม่ ? | Main Stand

ในแมตช์รอบแบ่งกลุ่มของฟุตบอลโลก 2022 ระหว่าง อังกฤษ กับ อิหร่าน เราได้เห็นการทดเวลารวมกันมากเกือบครึ่งชั่วโมง แบ่งเป็น 14 นาทีในครึ่งแรก กับอีก 13 นาทีในครึ่งหลัง จนกลายเป็นแมตช์ที่มีการทดเวลานานสุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลกมาแล้ว

 


แต่นี่ไม่ใช่เกมเดียวที่มีการทดเวลาเพิ่มไปมากระดับนี้ เพราะเราได้เห็นผู้ตัดสินที่ 4 ชูป้ายทดเวลาขึ้นเลขสองหลักมาตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่ม จนถึงเกมที่ เนเธอร์แลนด์ ยิงประตูไล่ตีเสมอ อาร์เจนตินา ในนาที 90+11 จนต้องต่อเวลาไปดวลจุดโทษตัดสิน จนกลายเป็นสถิติใหม่ในการแข่งขันฟุตบอลโลกอย่างต่อเนื่อง

แน่นอนว่าการทดเวลาแบบใหม่มีเหตุผลมารองรับ ทว่าหากมองในมุมของร่างกายนักกีฬา การปรับเปลี่ยนแบบนี้ส่งผลอะไรต่อประสิทธิภาพการลงเล่นหรือไม่ ? ร่วมหาคำตอบไปกับ Main Stand ได้ในบทความนี้

 

ทุกวินาทีมีค่า

เราทราบถึงพื้นฐานของฟุตบอลกันดีว่าเป็นกีฬาที่แข่งกัน 90 นาที แบ่งเป็นสองครึ่ง ครึ่งละ 45 นาที แต่หากมองลึกลงไปในรายละเอียดแล้ว ฟุตบอลระดับอาชีพไม่เคยได้เตะกันครบถึงขีดสุด 90 นาทีเลย

จังหวะทำประตูได้ จังหวะที่ลูกหลุดออกจากเส้นสนามแล้วต้องไปเตะลูกตั้งเตะหรือทุ่ม จังหวะเปลี่ยนตัว รวมถึงการบาดเจ็บที่ต้องให้ทีมแพทย์ลงมาในสนาม ต่างเป็นเวลาที่สูญเปล่าไป และกลายเป็นช่องโหว่ที่หลายทีมนำมาใช้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์เพื่อเผาเวลาและยื้อสกอร์ที่เป็นอยู่ในช่วงเวลานั้นไว้ให้นานที่สุด

นั่นจึงนำมาสู่การทดเวลาบาดเจ็บที่รวบรวมช่วงเวลาบอลตายหรือไม่มีแอ็กชั่นการแข่งขันเกิดขึ้นในสนาม มาบวกรวมเพื่อชดเชยเวลาที่สูญเสียไป โดยมีวิธีเทียบแบบคร่าว ๆ เป็นหลักการเพิ่มครั้งละ 30 วินาที - 1 นาที ตามจังหวะเหตุการณ์ในสนาม

อย่างไรก็ตามมีการเก็บสถิติจากฟุตบอลโลก 2018 ว่าการทดเวลาบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจริงในสนามนั้นไม่สมเหตุสมผลกับช่วงเวลาที่สูญเสียไป โดยพบว่าจาก 32 แมตช์แรกในฟุตบอลโลกที่รัสเซีย มีแค่เกมระหว่าง เยอรมนี กับ สวีเดน ที่มีการทดเวลา 9 นาที ซึ่งใกล้เคียงกับจังหวะที่บอลตายอยู่จริงในเกม แต่อีกทั้ง 31 แมตช์ที่เหลือไม่มีนัดไหนเลยที่ชดเชยเวลาได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง

หนึ่งในเคสที่โหดร้ายที่สุดคือแมตช์ระหว่าง เบลเยียม พบ ตูนิเซีย ซึ่งจากการเก็บสถิติโดย FiveThirtyEight พบว่าเวลาที่มีการเล่นฟุตบอลจริง ๆ นั้นอยู่แค่ 50:58 นาที และต้องมีการทดเวลาบาดเจ็บให้สูงถึง 20:58 นาที แต่กลับมีการทดเวลาจริงแค่ 07:14 นาทีเท่านั้น

สิ่งนี้จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ ปิแอร์ลุยจิ คอลลินา อดีตผู้ตัดสินระดับโลกและปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะกรรมการผู้ตัดสินของฟีฟ่า ได้พิจารณาให้ผู้ตัดสินฟุตบอลโลก 2022 ทดเวลาเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับความเป็นจริง โดยระบุว่า “ให้คนดูได้รับชมแอ็กชั่นที่มากขึ้นในฟุตบอลโลก” และเพิ่มเติมว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่”

“เราไม่อยากให้การแข่งขันฟุตบอลเหลือเวลาเล่นเพียงแค่ 42, 43, 44, 45 นาที มันเป็นสิ่งที่รับไม่ได้”

สิ่งนี้นำมาสู่การแข่งขันที่มากขึ้นจริง แต่ในเวลาเดียวกันเราได้ตั้งข้อสงสัยตามมาว่าการทดเวลาเพิ่มเติมเหล่านี้มีผลต่อร่างกายนักฟุตบอลอาชีพอย่างไรบ้าง ?

 

ใส่ให้สุดก๊อก

โดยปกติแล้วนักฟุตบอลอาชีพจะมีเซสชั่นการฝึกซ้อมอยู่ในค่าเฉลี่ย 4-6 ชั่วโมงต่อวัน โดยมีแค่วันที่ต้องลงทำการแข่งขัน และวันฟื้นฟูร่างกายเท่านั้นที่พวกเขาไม่ต้องปฏิบัติตามตารางฝึกของทีม

แม้แต่ละสโมสรจะมีเทคนิคการฝึกซ้อมในรายละเอียดที่ต่างกัน แต่โดยรวมแล้วจะแบ่งเป็นช่วงวอร์มอัปร่างกาย ต่อด้วยการฝึกซ้อมด้านต่าง ๆ  เช่น การผ่านบอล ลูกตั้งเตะ หรือเทคนิคการครองบอล ก่อนจะเข้าสู่การเทรนแบบจำลองสถานการณ์จริงในแมตช์การแข่งขัน และปิดท้ายด้วยการคูลดาวน์ร่างกาย เพื่อให้กล้ามเนื้อและร่างกายฟื้นฟูจากอาการอ่อนล้า

นอกจากทักษะด้านฟุตบอลและความเข้าใจแทคติกหรือสไตล์การเล่นของทีมแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือการพัฒนาความทนทานทางด้านร่างกายของนักเตะ ที่ต้องทำให้มั่นใจว่านักบอลเหล่านี้จะสามารถลงเล่นได้ต่อเนื่องตลอดทั้ง 90 นาที

ซาบา กาบริส (Csaba Gabris) นักวิทยาศาสตร์การกีฬาของสโมสรฟุตบอลเชนไนยิน ในประเทศอินเดีย ระบุผ่านเว็บไซต์ของ Red Bull ว่า “การมีความทนทานในด้านร่างกายเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการแข่งขันกีฬาทุกประเภท มันช่วยให้นักเตะฟื้นตัวได้เร็วในระหว่างเกมการแข่งขัน หลังจบการซ้อมที่เข้มข้น หรือหากระบุลงไปในรายละเอียดของเกมแล้วจะรวมถึงจังหวะการเข้าปะทะกันอย่างหนักด้วย”

การซ้อมเพื่อเพิ่มความทนทาน จะมุ่งเน้นไปยังช่วงการออกกำลังกายแบบแอโรบิกที่ร่างกายต้องใช้ออกซิเจนมาสร้างเป็นพลังงาน เพื่อให้กล้ามเนื้อและส่วนต่าง ๆ นำไปใช้สำหรับการเคลื่อนไหว ซึ่งแตกต่างกับการซ้อมแบบแอนแอโรบิคที่อาศัยสารเคมีในร่างกาย เพื่อใช้ในการระเบิดพลังเพื่อขับเคลื่อนในระยะเวลาสั้น ๆ เช่น การวิ่ง 100 เมตร หรือยกน้ำหนัก เป็นต้น

จากสถิติที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ได้จัดทำขึ้นในฟุตบอลโลก 2018 พบว่านักฟุตบอลของทีมชาติต่าง ๆ มีค่าเฉลี่ยในการวิ่งอยู่ที่ 10,460 เมตรต่อนัด แต่ในฟุตบอลโลก 2022 นักเตะจากทั้ง 32 ประเทศมีระยะการวิ่งเฉลี่ยต่อเกมสูงกว่าเมื่อสี่ปีก่อนเสียทั้งหมด โดยที่ขุนพลทัพนักเตะสหรัฐอเมริกาแต่ละคนมีค่าเฉลี่ยการวิ่งมากถึง 12,202 เมตรในแต่ละเกม ซึ่งสหรัฐฯ ไม่ได้ลงเตะในช่วงต่อเวลาพิเศษ 30 นาทีเสียด้วย

นอกจากนี้ มาร์เซโล่ โบรโซวิช กองกลางของทีมชาติโครเอเชีย ยังทำลายสถิติการวิ่งมากที่สุดต่อ 1 เกมในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลก ในเกมที่พวกเขาเอาชนะญี่ปุ่นด้วยระยะทางรวม 16,700 เมตร มากกว่าระยะทาง 16,300 เมตรที่เจ้าตัวเคยทำได้ในปี 2018

 

ผลสรุปคือ

จากข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกรายงานออกมาจะเห็นได้ว่านักฟุตบอลยุคปัจจุบันสามารถวิ่งเก็บระยะทางได้มากกว่าในอดีต สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของช่วงทดเวลาบาดเจ็บในฟุตบอลโลกหนนี้

ตัวเลขดังกล่าวบอกเราได้ว่าการเพิ่มมาของระยะทดเวลาที่มากขึ้นไม่ได้มีผลต่อประสิทธิภาพของนักฟุตบอลสักเท่าไร เพราะแน่นอนว่าเรายังคงเห็นการถ่วงเวลาหรือจังหวะของเกมที่ติดขัดอยู่ดี แต่อย่างน้อยการทดเวลาเพิ่มเติมก็ช่วยให้เราได้รับชมแอ็กชั่นต่าง ๆ ในสนามได้มากขึ้นกว่าฟุตบอลโลกครั้งที่ผ่าน ๆ มา

ทั้งจากการเข้ามาของวิทยาศาสตร์การกีฬา สภาพอากาศที่อบอุ่นของกาตาร์ เมื่อเทียบกับท้องถิ่นของหลายประเทศเมืองหนาวและการปรับทริกลดระยะการสปรินต์ออกตัวในสนามของนักเตะอาวุโสหลาย ๆ คนได้ช่วยให้พวกเขาสามารถลงเล่นแบบครบ 90+ นาที โดยที่ร่างกายไม่อ่อนแรงลงในแบบที่นักเตะบางคนอาจเป็นหลังการต่อเวลาพิเศษ 30 นาที ซึ่งต้องอาศัยเรี่ยวแรงที่มากกว่าการทดเวลาตามปกติ

แต่หากต้องหาผู้ได้รับผลกระทบจริง ๆ ก็คงไม่พ้นเรื่องของการวางแผนถ่วงเวลาในเกมที่อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดอีกแล้ว เพราะไม่ว่าบอลจะตายไปมากเท่าไร มันก็จะถูกชดเชยในช่วงทดเวลาท้ายครึ่งอยู่ดี

 

แหล่งอ้างอิง:

https://fivethirtyeight.com/features/world-cup-stoppage-time-is-wildly-inaccurate/
https://twitter.com/OptaJoe/status/1594805190124773383
https://www.usatoday.com/story/sports/soccer/2022/11/22/fifa-orders-to-world-cup-referees-add-up-to-100-minute-games/50963339/
https://theathletic.com/3920787/2022/11/21/world-cup-injury-time-length/
https://www.ft.com/content/a7c29bcc-3ce3-4825-953e-b3232db83e5a
https://www.redbull.com/in-en/fitness-endurance-training-football
https://www.sciencetraining.io/2020/endurance-training-strategies-that-work/

Author

กรทอง วิริยะเศวตกุล

2000 - Football and F1 fanatics - Space enthusiasts - aka KornKT

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

Man u is No.2 But YOU is No.1

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ