ว่ากันว่าผู้เล่นมากกว่า 100 คนในฟุตบอลโลก 2022 เป็นตัวแทนให้ประเทศที่พวกเขาไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นมา แต่ด้วยอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ ตลอดจนวัฒนธรรมการเลี้ยงดูที่ได้อิทธิพลมาจาก "ต้นตระกูล" ที่อพยพไปตั้งรกรากใหม่ตั้งแต่อดีต กลับหล่อหลอมถึงความเป็นตัวตนของผู้เล่นแต่ละคน ในฐานะตัวแทนของ (ทีม) ชาตินั้น ๆ ได้อย่างกลมกลืน
นอกจากความน่าสนใจในเรื่องแทคติกการเล่น ตลอดจนเรื่องราวของซูเปอร์สตาร์แต่ละรายของทีมชาติโมร็อกโก ที่รวมพลังกันจนกรุยทางสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายได้สำเร็จแล้วนั้น เรื่องราวของทีมฉายา "สิงโตแห่งแอตลาส" ว่าด้วยเรื่องการรวมตัวกันของนักเตะที่เกิดต่างถิ่นแต่เล่นให้ทีมชาติของบรรพบุรุษ ก็นับเป็นสตอรี่ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
เพราะหากลองสังเกต เราจะเห็นชื่อของดาวดังของพวกเขาเติบโตในต่างแดนทั้งสิ้น เช่น ฮาคิม ซิเยค กับ นุสแซร์ มาซราอุย (เนเธอร์แลนด์), อัชราฟ ฮาคิมี่ (สเปน), ยาสซีน โบโน่ (แคนาดา) หรือแม้แต่กุนซือคนปัจจุบันอย่าง วาลิด เรกรากี ก็เติบโตมาจากประเทศฝรั่งเศส
Main Stand ขอชวนแฟน ๆ มาร่วมติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานของชาวโมร็อกกัน ที่หล่อหลอมจนเป็นทีมชาติโมร็อกโก หนึ่งในทีมม้ามืดประจำทัวร์นาเมนต์เวิลด์คัพ ที่กาตาร์
การย้ายถิ่นฐานของชนโมร็อกกัน
เพื่อให้เข้าใจถึงบริบทเรื่องการย้ายถิ่นฐานของชาวโมร็อกกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ต้องเท้าความไปตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 15 และ 16 เป็นต้นมา เริ่มจากนักสำรวจไปจนถึงตั้งรกรากของคนยุโรป ตลอดจนคนมุสลิมในพื้นที่แถบทวีปแอฟริกาตอนเหนือ
จากข้อเขียนของ เฮน เดอ ฮาสส์ (Hein de Haas) นักสังคมวิทยาและนักภูมิศาสตร์ ผ่านบทความ "Morocco: Setting the Stage for Becoming a Migration Transition Country?" นักวิชาการชาวดัตช์มองจุดสำคัญที่ก่อให้เกิดการถิ่นฐานของคนในพื้นที่ตอนเหนือของแอฟริกาว่ามาจากการเข้ายึดครองดินแดนโดยฝรั่งเศสในแอลจีเรีย ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับโมร็อกโก ตั้งแต่ปี 1830
เมื่อความเจริญจากชาติในยุโรปเข้ามายังพื้นที่ ส่งผลให้การย้ายถิ่นฐานของคนในแถบนี้เริ่มมีมากขึ้น และหนึ่งในกลุ่มชนที่ตัดสินใจย้ายถิ่นฐานก็คือชาวโมร็อกกัน ว่ากันว่าในช่วงปลายทศวรรษที่ 1930s จำนวนผู้อพยพชาวโมร็อกโกไปยังแอลจีเรียอยู่ราว ๆ 85,000 คนต่อปี
กลับมาที่โมร็อกโก ไม่ว่าประวัติศาสตร์ยุโรปและโลกจะมีช่วงเวลาสำคัญใด ๆ เข้ามา อาทิ ช่วงที่จักรวรรดิออตโตมันเรืองอำนาจ ประเด็นการค้าทาสชาวแอฟริกัน ตลอดจนการล่าอาณานิคมในยุคแรก ๆ โมร็อกโกก็สามารถก้าวผ่านเรื่องพวกนี้ไปได้ทั้งหมด
แต่เนื่องจากดินแดนแห่งนี้อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติอย่างแร่ธาตุ เช่น ฟอสเฟต แร่เหล็ก แมงกานีส ย่อมทำให้ชาติมหาอำนาจอยากครอบครองเป็นพิเศษ
แม้จะมีช่วงเวลาที่เคยถูกรุกรานจนต้องเสียดินแดนบางส่วนให้ชาติมหาอำนาจอย่าง สเปน คือพื้นที่บริเวณ เซวตา (Ceuta) และ เมลิยา (Melilla) (ปัจจุบัน สองพื้นที่ดังกล่าวคือดินแดนยุโรปของสเปนที่เหลืออยู่เพียงสองแห่งในทวีปแอฟริกา) และการพ่ายแพ้จากสงครามบีบให้โมร็อกโกต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม ทว่าด้วยการที่โมร็อกโกเคยมีสัมพันธไมตรีกับอังกฤษจึงช่วยคานอำนาจกับสเปนได้ และทำให้สถานะของการเป็นเมืองขึ้นยังคงไม่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดีการที่ฝรั่งเศสและสเปนเข้ามามีอิทธิพลกับโมร็อกโกมากขึ้นเรื่อย ๆ บวกกับบทบาทของอังกฤษต่อดินแดนนี้ลดลง จนในที่สุด ปี 1912 โมร็อกโกก็กลายเป็นดินแดนในอาณัติของฝรั่งเศสและสเปน โดยทั้งสองชาติได้ทำสนธิสัญญาเฟส (Treaty of Fes) สำหรับการแบ่งดินแดนกันปกครอง กลายเป็นว่าพื้นที่ของโมร็อกโกในช่วงเวลาหนึ่งแบ่งเป็นโมร็อกโกภายใต้รัฐอารักขาของฝรั่งเศสในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ และรัฐอารักขาของสเปนบริเวณชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
จุดนี้เองที่กลายเป็นหนึ่งในใบเบิกทางสู่การอพยพไปยังต่างทวีปของชาวโมร็อกกัน โดยเฉพาะในฝรั่งเศส เนื่องด้วยการอยู่ในช่วงรอยต่อของสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 การขาดกำลังคนทำให้มีการเกณฑ์คนเข้าไปเป็นทหาร บ้างก็ไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม บ้างก็ไปทำการเกษตร
ขณะที่การย้ายถิ่นฐานไปยังสเปน มีรายงานว่าการย้ายถิ่นฐานในฐานะแรงงาน เริ่มขึ้นในช่วงปี 1960 ก่อนหน้านั้นเป็นการย้ายในลักษณะ "ทหารกองทัพ" ของ นายพล ฟรานซิสโก ฟรังโก อดีตผู้นำเผด็จการฟาสซิสต์ของสเปนนั่นเอง
อีกหนึ่งประเด็นที่ส่งให้มีผู้อพยพออกจากโมร็อกโกเพิ่มขึ้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่โมร็อกโกได้รับเอกราชจากทั้งฝรั่งเศสและสเปนไปแล้วตั้งแต่ปี 1956 แต่จากปัญหาทางเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดี รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองภายในเมื่อปี 1971 และ 1972 ประเทศก็เข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความไร้เสถียรภาพทางการเมือง
การย้ายถิ่นฐานในช่วงแรกอยู่ในฐานะกลุ่มที่ถูกเชื้อเชิญ ทั้งเรื่องทางการทหาร แรงงานภาคเกษตร และอุตสาหกรรม จากนั้นคนโมร็อกกันอพยพก็เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานแบบถาวร และเริ่มกระจายไปตามหลาย ๆ พื้นที่ในยุโรปอย่าง อิตาลี เนเธอร์แลนด์ รวมไปถึงพื้นที่นอกยุโรป โดยเฉพาะ แคนาดา ในรัฐควิเบก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คนฝรั่งเศสอาศัยอยู่จำนวนมาก
อีกปัจจัยที่ทำให้กลุ่มผู้อพยพมีการขยายตัวคือการที่คนกลุ่มแรก ๆ ได้ให้การช่วยเหลือสู่การย้ายมาอยู่ยังประเทศใหม่ และมีไม่น้อยที่คนรุ่นต่อมาจะกลายเป็นพลเมืองของประเทศนั้น ๆ โดยเฉพาะการแต่งงานมีครอบครัวกับคนในพื้นที่ ว่ากันว่าในปี 1998 มีจำนวนคนเชื้อสายโมร็อกโกในยุโรปเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 ล้านคน
ขณะที่ช่วงเวลาต่อจากนั้นร่วมทศวรรษอย่างในปี 2018 มีรายงานยอดคนพลัดถิ่นชาวโมร็อกโกทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านคน โดยกระจายตัวมากที่สุดกว่า 3 ล้านคนในทวีปยุโรป โดยเฉพาะพื้นที่ยุโรปตะวันตกและยุโรปใต้
คนบ้านเดียวกัน
"ตราบใดที่คุณมีความเชื่อมโยงทางสายเลือดกับโมร็อกโก คุณก็คือคนโมร็อกโก" ฟาติมา-เอซซาห์รา ฮายาด แฟนบอลโมร็อกกันรายหนึ่ง กล่าว
แม้โมร็อกโกจะเป็นประเทศที่ประชากรเดิมเลือกอพยพไปตั้งถิ่นฐานใหม่มาตั้งแต่อดีต แต่โมร็อกกันชนทั้งที่อยู่ในแผ่นดินเดิมและในต่างแดนกลับมีความรู้สึกร่วม ที่รับรู้ได้ถึงความเป็น "คนบ้านเดียวกัน" อยู่ตลอดเวลา
ซาอิด ซาดดิกี (Said Saddiki) ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัย ซิดี โมฮาเหม็ด เบน อับเดลลาห์ (Sidi Mohamed Ben Abdellah) ตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องการ "รักแผ่นดินบรรพบุรุษ" ของผู้อพยพจากโมร็อกโกในต่างถิ่นว่าเห็นได้การรวมตัวกัน โดยเฉพาะการเชียร์กีฬาทั้งในและนอกสนาม บางครั้งถึงขั้นก่อจลาจล
"ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นนี้ปรากฏในกิจกรรมสาธารณะสำคัญ ๆ เช่น การแข่งขันฟุตบอล" ซาดดิกี บอกกับ MEE
อย่างล่าสุดจากชัยชนะของ โมร็อกโก เหนือ เบลเยียม 2-0 ก็มีการจลาจลปะทุขึ้นในหลาย ๆ เมืองของเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์
นอกจากนี้ผลการศึกษาของสภาชุมชนโมร็อกโกในต่างประเทศ (Council of the Moroccan Community Abroad) เมื่อปี 2018 ระบุว่ากว่า 61% ของชาวโมร็อกโกในยุโรปที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 35 ปีเดินทางมาเยือนราชอาณาจักรทุกปี
สอดคล้องกับคำกล่าวของ โมฮาเหม็ด เบน มุสซา (Mohamed Ben Moussa) รองศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารแห่งมหาวิทยาลัยชาร์จาห์ (University of Sharjah) ที่มองว่าหลายครอบครัวในโมร็อกโกมีญาติที่อาศัยอยู่ในต่างแดน ทำให้ยากที่จะบอกว่าครอบครัวใด ๆ ในโมร็อกโกไม่มีสมาชิกเป็นคนต่างถิ่น
การตัดสินใจของนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์สายเลือดโมร็อกโกก็มีผลอย่างยิ่ง แม้พวกเขามีดีพอที่จะติดทีมชาติในประเทศที่ถือกำเนิดขึ้น และบางคนเคยเล่นให้ทีมชาตินั้น ๆ ในชุดเยาวชน เช่น ฮาคิม ซิเยค และ โซฟียาน อัมราบัต ที่เคยเล่นให้เนเธอร์แลนด์ ส่วน อับเดลฮามิด ซาบิรี ก็เคยลงเล่นให้เยอรมนี
แต่ดูเหมือนว่าการตัดสินใจเล่นให้ทีมชาติโมร็อกโกชุดใหญ่จะเป็นปลายทางของใครหลาย ๆ คนมากกว่า
"ชาวโมร็อกโกชื่นชมความจริงที่ว่านักฟุตบอลเหล่านี้หลายคนสามารถเลือกเล่นให้กับทีมในชาติยุโรปอื่น ๆ แต่พวกเขากลับเลือกเล่นให้กับประเทศต้นทางแทน" เบน มุสซา กล่าวต่อ "ทีมชาติถูกมองว่าเป็นตัวแทนของลักษณะพื้นฐานของเอกลักษณ์โมร็อกโกสมัยใหม่ อันที่จริงการใช้ชีวิตและประสบความสำเร็จในต่างแดนของนักฟุตบอลเหล่านี้เป็นที่มาของความภาคภูมิใจเพิ่มเติม"
อัชราฟ ฮาคิมี แบ็กขวาสังกัด ปารีส แซงต์ แชร์กแมง เป็นตัวอย่างที่สะท้อนถึงเรื่องราวดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
แม้เจ้าตัวจะเกิดและเติบโตในกรุงมาดริด ประเทศสเปน โดยมีคุณพ่อคุณแม่ชาวโมร็อกกันที่ย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่นี่อย่างถูกกฎหมาย ทว่าอดีตนักเตะเยาวชน เรอัล มาดริด รายนี้ กลับต้องเผชิญเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์อยู่บ่อยครั้ง จนกลายเป็นความรู้สึกนึกคิดในใจ เช่นในปี 2015 เขาถูกสั่งห้ามเล่นให้กับทีมยังบลัดของราชันชุดขาว
สาเหตุเพราะสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA เกิดเข้าใจผิดคิดว่าเขาเป็นหนึ่งในเยาวชนต่างชาติที่ลงทะเบียนแบบไม่ถูกต้องตามระเบียบ เพียงเพราะฮาคิมีมีชื่อเป็นมุสลิม กอปรกับรูปลักษณ์ภายนอกที่เป็นมุสลิมมากกว่าคนในพื้นถิ่น
เช่นเดียวกับช่วงเวลาตัดสินใจเล่นทีมชาติชุดเยาวชน แม้เขาจะเคยถูกเรียกติดทีมชาติสเปน รุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี แต่ฮาคิมีก็รู้สึกว่านี่ไม่ใช่ที่ของเขา
"ผมอยู่ที่ลาส โรซาส (สนามซ้อมของทีมชาติสเปน) ราว ๆ 2-3 วัน สำหรับผมมันไม่ใช่ที่ที่เหมาะกับผมเลย ผมไม่รู้สึกเหมือนได้อยู่บ้าน ไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนกับสิ่งที่ผมรู้สึก มันไม่เหมือนกับที่ผมโตมากับที่บ้าน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมอาหรับโมร็อกโก" ฮาคิมี บอกกับ Marca
ก่อนที่สมาคมฟุตบอลโมร็อกโกจะติดต่อเข้ามา และนั่นคือโอกาสที่ดาวเด่นโมร็อกกันรายนี้ปรารถนา ไม่นานเขาก็เข้าสู่ระบบของทัพสิงโตแห่งแอตลาส และติดทีมชาติชุดใหญ่มาตั้งแต่ปี 2016 ในวัยไม่ถึง 20 ปี และเป็นแกนหลักมาจนถึงปัจจุบัน
แนวทางที่ไม่เปลี่ยน สู่ม้ามืดในฟุตบอลโลก 2022
14 ปีหลังได้รับเอกราช โมร็อกโกเป็นชาติแรกในทวีปแอฟริกาที่คว้าสิทธิ์ลงแข่งขันในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ปี 1970 ที่เม็กซิโกได้สำเร็จ และนี่คือส่วนหนึ่งของก้าวเล็ก ๆ สู่เวทีลูกหนังระดับโลกและเป็นการรับมรดกจากชาติมหาอำนาจในยุโรป ซึ่งทีมสิงโตแห่งแอตลาสก็ต่อยอดความสำเร็จในอีก 6 ปีต่อมาด้วยการเป็นแชมป์แอฟริกา คัพ ออฟ เนชั่นส์ ในปี 1976 ว่ากันว่ายุคนั้นถือเป็นยุคทองครั้งหนึ่งของวงการลูกหนังโมร็อกโก
จากนั้นทีมชาติโมร็อกโกก็มีช่วงขึ้น ๆ ลง ๆ ไปตามยุคสมัย ในศตวรรษที่ 21 การยกระดับและพัฒนาทีมชาติร่วมทวีปแอฟริกากลายเป็นโจทย์สำคัญที่รอให้โมร็อกโกเผชิญอยู่เรื่อยมา
อย่างไรก็ดีโมร็อกโกไม่เคยเปลี่ยนแนวทางการทำทีมชาติ สิ่งที่พวกเขายึดถือมาโดยตลอดคือการ "พึ่งพา" นักฟุตบอลชาวโมร็อกกันที่เกิดและเติบโตในต่างประเทศ ยึดจากแข้งที่ถูกพัฒนาขึ้นมาร่วมกับสโมสรระดับอาชีพในทวีปยุโรปไล่มาตั้งแต่ระดับเยาวชน ซึ่งถือเป็นทีมชาติตัวอย่างที่มีแนวทางดังกล่าวชัดเจน
จึงไม่แปลกที่ช่วงเวลาหนึ่งโมร็อกโกจะเคยมีประเด็นร่อนจดหมายไปยังฟีฟ่าเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนกฎนักเตะติดทีมชาติ อย่างในฟุตบอลโลก 2018 ที่ซึ่งทีมสิงโตแอตลาสผ่านเข้ามาเล่นรอบสุดท้ายได้ในรอบ 20 ปี โมร็อกโกมีความตั้งใจที่จะดึง มูเนียร์ เอล ฮัดดาดี อดีตเด็กสร้าง บาร์เซโลน่า มาติดทีมไปลุยเวิลด์คัพที่รัสเซียให้ได้ เพื่อเพิ่มอาวุธเด็ดในแนวรุกของทีม
แต่ด้วยการที่ มูเนียร์ ที่มีเชื้อสายโมร็อกโกเคยเล่นทีมชาติสเปนชุดใหญ่ไปแล้ว 1 นัด ในศึกยูโร 2016 รอบคัดเลือก นั่นถือเป็นเกมทางการที่ฟีฟ่าให้การรับรอง ทำให้อดีตสตาร์จากศูนย์ฝึกลา มาเซีย รายนี้ไม่สามารถเปลี่ยนทีมชาติชุดใหญ่เล่นได้ในเวลานั้น ก่อนที่ในปี 2020 ฟีฟ่าจะปรับกฎให้นักเตะเคยเล่นทีมชาติซีเนียร์เปลี่ยนทีมได้ ซึ่ง มูเนียร์ ได้ลงสนามให้ทีมชาติโมร็อกโกแล้วในปี 2021
โมร็อกโกยังคงชัดเจนกับการใช้แนวทางพึ่งพาผู้อพยพจำนวนมากเพื่อความสำเร็จของทีมชาติของพวกเขา ก่อนจะเริ่มเห็นผลอย่างจริงจังอีกครั้งในฟุตบอลโลก 2022
แทคติกการเล่นของพวกเขามาจากการวางหมากที่แม่นยำในแต่ละนัด อย่างการเน้นเกมรับให้แน่นและพยายามชิงพื้นที่เล่นตรงกลางเพื่อให้บอลอยู่ในการครอบครอง นำมาซึ่งการเสียแค่ 1 ประตู ก่อนเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้าย ซึ่งทีมของ วาลิด เรกรากี สามารถต่อกรกับชาติระดับท็อปทั้ง โครเอเชีย, เบลเยียม รวมถึง สเปน ได้อย่างน่าสนใจ โดยโมร็อกโกมีแกนหลักที่ไม่ได้เติบโตในแผ่นดินบรรพบุรุษเกินครึ่งทีมเป็นหัวใจสำคัญ
"เราได้แสดงให้โลกเห็นว่าชาวโมร็อกโกทุกคนก็คือชาวโมร็อกโก เมื่อพวกเขามากับทีมชาติพวกเขาก็พร้อมสู้" เรกรากี กล่าวหลังเกมแม่นโทษดับสเปน ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย
"ผมเกิดในฝรั่งเศส แต่ไม่มีใครเอาหัวใจของผมไปจากประเทศของผมได้"
แฟน ๆ ลูกหนังโมร็อกโกก็พร้อมสนับสนุนทีมเสมอมา โดยไม่มีการแบ่งแยกว่าเป็นคนในหรือนอกประเทศ เพราะทุกคนคือคน "โมร็อกโก" นั่นเอง
แหล่งอ้างอิง
https://indianexpress.com/article/sports/football/fifa-world-cup-morocco-through-to-last-16-after-beating-canada-8301272/?fbclid=IwAR3HJLBCkE_Szs7vVO2Sva-MgUXgy7slaCJH5o5X6yTzQSpMsyVJEnbqi5U
https://theathletic.com/3970821/2022/12/06/spain-morocco-world-cup-connections/
https://theathletic.com/3977295/2022/12/07/morocco-spain-world-cup/
http://www.openbase.in.th/files/Saranrom_34_12.pdf
https://www.sportzcraazy.com/know-about-the-success-story-of-the-migrants-from-morocco-at-fifa-world-cup-2022/?fbclid=IwAR3RdI381GsKnEoMiIWTzi4z8uazlHXUCduMpTSKEJIjW6TtI77n7PkdPoo
https://www.sportingnews.com/th/football/news/
https://www.middleeasteye.net/news/qatar-world-cup-morocco-football-team-nationalities-fluid?fbclid=IwAR01sqfcAmKWZFXO1m77yGw-LQZ7GCUIftEkVN8nIQklCFehdr7b-XX3VAg
https://www.thaipost.net/main/detail/103831
https://www.migrationpolicy.org/article/morocco-setting-stage-becoming-migration-transition-country
https://en.wikipedia.org/wiki/Morocco_national_football_team