Feature

ซาอุดีอาระเบีย : ความแข็งแกร่งของลีกในประเทศ ปัจจัยสู่การล้มอาร์เจนตินาในฟุตบอลโลก | Main Stand

กลายเป็นเรื่องที่แฟนฟุตบอลทั่วโลกต้องทึ่งไปตาม ๆ กัน เมื่อ ทีมชาติซาอุดีอาระเบีย ทำผลงานหักปากกาเซียนด้วยการล้ม ทีมชาติอาร์เจนติน่า 2-1 ในเกมประเดิมการแข่งขันกลุ่ม C ฟุตบอลโลก 2022

 


แม้ทัพ "เหยี่ยวมรกต" จะโดนทีม "ฟ้าขาว" ออกนำไปก่อน ทว่าพวกเขาแสดงให้เห็นถึงการสู้ไม่ถอย กล้าดันเกมสูงเพื่อบีบพื้นที่หวังทวงประตูคืน ไม่ได้ปิดตายซูเปอร์สตาร์ทีมคู่แข่ง โดยเฉพาะ "ลิโอเนล เมสซี่" และเน้นไปที่การเล่นร่วมกันเป็นทีม กระทั่งฉวยโอกาสพลิกแซงในที่สุด

นอกจากการวางหมากที่ยอดเยี่ยมของกุนซือ แอร์ฟ เรนาร์ แล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสู่การได้สามแต้มของซาอุดีอาระเบียคือความแข็งแกร่ง คุณภาพ และแรงส่งเสริมจาก "ซาอุดี โปร ลีก" หรือลีกอาชีพสูงสุดของประเทศ ที่ซึ่ง 26 ขุมกำลังทีมชาติในฟุตบอลโลกครั้งนี้ล้วนแต่ค้าแข้งที่นี่ทั้งหมด 

Main Stand ขอชวนแฟนฟุตบอลมารับรู้เรื่องราวของลีกอาชีพสูงสุดแห่งซาอุดีอาระเบียที่เปี่ยมไปด้วยมูลค่า และมีค่าจ้างที่พร้อมรั้งให้นักเตะในประเทศไม่ต้องย้ายไปไหน แถมยังดึงแข้งชื่อดังจากยุโรปมาเล่นได้ไม่ยาก จนสร้างแบรนด์ของตัวเองได้เป็นปึกแผ่น นำมาซึ่งผลประโยชน์ที่ส่งมาถึงทีมชาติแบบเต็ม ๆ 

 

Intro to ซาอุดี โปร ลีก

ฟุตบอลลีกอาชีพของซาอุดีอาระเบีย (Saudi Professional League) ยกระดับสู่ความเป็นมืออาชีพอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีมาตรฐานสอดคล้องกับนโยบายยกระดับศักยภาพของฟุตบอลเอเชีย โดยสหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ AFC ในช่วงยุค 2000s 

ช่วงเวลาก่อนหน้าฟุตบอลของซาอุดีอาระเบียเคยมีทั้งสมัยที่แข่งขันในรายการฟุตบอลถ้วยเก่าแก่ของประเทศอย่าง "คิงส์ คัพ" เพียงอย่างเดียว ในปี 1957 เคยมีช่วงเวลาที่ลองเพิ่มจำนวนทีมแบ่งเป็นลีกสูงสุดและลีกรอง เพื่อภารกิจสร้างทีมไปฟุตบอลโลก 1982 (สุดท้ายไม่ได้ไป)

ขณะที่ในปี 1990 ก็เคยมีช่วงเวลาที่ฝ่ายจัดการแข่งขันตัดสินใจควบรวมลีกอาชีพกับรายการฟุตบอลถ้วยอย่างคิงส์ คัพ เป็นทัวร์นาเมนต์เดียวไปเลย 

เมื่อยกระดับสู่ความเป็นสากลยิ่งขึ้นก็ยิ่งเติมเต็มให้ลีกฟุตบอลอาชีพของซาอุดีอาระเบียก้าวไปสู่การเป็นหนึ่งในลีกระดับท็อปของทวีปเอเชียอย่างเต็มตัว และมีมาตรฐานที่ "สูง" ขึ้นไปอีก

ปัจจุบัน ซาอุดี โปร ลีก บรรลุข้อตกลงเป็นพาร์ตเนอร์หลักกับ Roshn หรือแบรนด์ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของประเทศ โดยสัญญาที่เซ็นร่วมกับ 5 ปีมีมูลค่าถึง 127.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4.6 พันล้านบาทเลยทีเดียว

หรือหากมองมายังสโมสรเราก็จะเห็นความยิ่งใหญ่ของ อัล-ฮิลาล เจ้าของสถิติแชมป์เจ้าสโมสรเอเชีย (นับรวมทั้ง เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก และ เอเชียน คลับ แชมเปี้ยนชิพ - ชื่อเดิม) "มากที่สุด" ในประวัติศาสตร์ที่ 4 สมัย คือในปี 1991, 2000, 2019 และ 2021

ไม่เว้นแม้แต่สถิติของเหล่าสโมสรจากซาอุดีอาระเบียในการเข้าชิงชนะเลิศเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก นับตั้งแต่ที่ใช้ชื่อดังกล่าวเมื่อปี 2002 มาจนถึงช่วงเวลาปัจจุบัน เราก็จะพบว่ามีถึง 8 จาก 19 ครั้งด้วยกัน โดยแบ่งเป็น อัล-เอติฮัด 3 ครั้ง และ อัล-ฮิลาล 5 ครั้ง

อีกทั้งในอนาคตในฤดูกาล 2023-24 มีการยืนยันแล้วว่าศึกซาอุดี โปร ลีก จะเพิ่มทีมแข่งขันจากเดิม 16 ทีมเป็น 18 ทีม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ลีกมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนานักเตะท้องถิ่นซึ่งจะส่งผลดีต่อทีมชาติ

"ลีกใหญ่ ๆ ในต่างประเทศมีทีมแข่งขันอยู่ระหว่าง 18 ทีมและ 20 ทีม เรามองว่ามันถึงเวลาแล้วที่ฟุตบอลซาอุดีอาระเบียจะต้องก้าวไปอีกขั้นด้วยการเพิ่มจำนวนสโมสรเป็น 18 สโมสร โดยเริ่มตั้งแต่ฤดูกาล 2023-24" ยาสเซอร์ อัลไมซ์ฮาล (Yasser Almisehal) ประธานสหพันธ์ฟุตบอลซาอุดีอาระเบีย หรือ SAFF กล่าวกับ saudigazette.com

"ความปรารถนาคือเพื่อเพิ่มการแข่งขันระหว่างสโมสร เรื่องนี้จะช่วยสร้างพรสวรรค์ของผู้เล่นมากขึ้น และผลประโยชน์จากเรื่องนี้จะสะท้อนไปถึงทีมชาติด้วย" 

 

สร้างเอง ใช้งานเอง

ทีมชาติซาอุดีอาระเบีย เป็น 1 ใน 2 ชาติร่วมกับ กาตาร์ ที่ขุมกำลังที่ไปลุยฟุตบอลโลก 2022 ค้าแข้งอยู่ในลีกอาชีพของตัวเอง นั่นอาจเป็นคำถามที่ตามมาถึงเรื่องความแข็งแกร่งและความน่าสนใจของลีก รวมถึงเรื่องความท้าทายของผู้เล่น

แต่ในมุมมองของอัลไมซ์ฮาลได้ชี้ให้เห็นข้อสังเกตที่น่าสนใจเรื่องแรกของลีกสูงสุดในประเทศคือการมี "แรงดึงดูด" ที่น่าสนใจอย่าง "เม็ดเงิน" มาล่อตาล่อใจนักเตะในประเทศที่ทำให้เห็นว่าแม้จะไม่ได้ไปเล่นในต่างแดนก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร

"เหตุผลหลักที่ไม่มีผู้เล่นของซาอุดีอาระเบียไปเล่นในต่างแดนก็เพราะผู้เล่นที่ดีที่สุดของที่นี่ได้รับข้อเสนอที่น่าดึงดูดใจมาก ๆ จากสโมสรในซาอุดีอาระเบียเอง" ยาสเซอร์ กล่าวกับ The Athletic 

"มีการต่อสู้และการแข่งขันอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสัญญาของพวกเขากำลังจะหมดลง ดังนั้นพวกเขาจึงได้รับข้อเสนอใหม่ (จากทั้งทีมเดิมและทีมอื่น ๆ) ที่สูงกว่าที่เคยได้รับมาก ๆ"

ดังเช่นกรณีของ ซาเลห์ อัล-เชห์รี กองหน้าผู้ที่ยิงประตูตีเสมออาร์เจนตินา 1-1 transfermarkt.com ให้ข้อมูลสมัยที่ดาวยิงวัย 29 ปีย้ายจาก อัล-อาห์ลี มาเล่นให้ อัล-ราเอ็ด ในปี 2015 ว่ามีมูลค่าการตลาดอยู่ที่ 250,000 ยูโรหรือราว 9 ล้านบาท

แต่ช่วงเวลาที่เขาย้ายจาก อัล-ราเอ็ด มายังต้นสังกัดปัจจุบันอย่าง อัล-ฮิลาล ในปี 2020 มูลค่าถูกเพิ่มหลายเท่าตัว โดยขึ้นมาที่ 950,000 ยูโรหรือกว่า 35 ล้านบาทเลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้การที่นักเตะตัดสินใจที่จะอยู่สร้างความสำเร็จและพัฒนาฝีเท้าในลีกบ้านเกิดนั้นก็ถือว่ามีนํ้าหนักเพียงพอ สอดคล้องกับ The Athletic ที่อ้างอิงคำกล่าวของเอเยนต์นักฟุตบอลรายหนึ่งที่เคยพยายามเจรจากับสโมสรในซาอุดีอาระเบียเรื่องการดึงตัวนักเตะออกไปค้าแข้งในลีกยุโรป   

ท้ายสุดเรื่องนี้กลับไม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด นั่นเพราะสโมสรส่วนใหญ่ไม่ได้มีเงินหนาเหมือนสโมสรในดินแดนเศรษฐีน้ำมันแห่งนี้

"นักเตะซาอุดีอาระเบียมีพรสวรรค์พอที่จะลงเล่นในเกมระดับสูงของยุโรป แต่ไม่มีสโมสรจากยุโรปสโมสรใดที่มีเม็ดเงินเหมือนกับที่สโมสรจากซาอุดีอาระเบียมี" ข้อความบางส่วนจาก The Athletic ที่อ้างอิงคำพูดของเอเยนต์นักฟุตบอล

แถมยังเป็นสิ่งล่อตาล่อใจชั้นดีให้กับเหล่าผู้เล่นต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มผู้เล่นชื่อดังที่เคยผ่านการลงเล่นในระดับยุโรปมาก่อน ให้ย้ายมาเล่นในซาอุดีอาระเบียด้วยอีกทางหนึ่ง

แน่นอนว่าการเข้ามาของนักเตะต่างชาตินอกจากจะเป็นการยกระดับเพื่อสร้างความแตกต่างเรื่องขุมกำลังแล้ว ยังเป็นแรงผลักดันชั้นดีให้กับนักเตะในประเทศในการพัฒนาตัวเองขึ้นมาเพื่อให้ได้โอกาสลงสนาม

อย่างในฤดูกาล 2022-23 หรือฤดูกาลปัจจุบัน เราจะเห็นชื่อของ มาเธอุส เปย์เรรา อดีตนักเตะ เวสต์บรอมวิช อัลเบียน และ โอเดียน อิกาโล อดีตกองหน้า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ลงเล่นให้ อัล-ฮิลาล รวมถึง เฮลเดอร์ คอสต้า แนวรุกที่เคยเล่นให้ทั้ง วูล์ฟส์ และ ลีดส์ ยูไนเต็ด ลงเล่นให้ อัล-เอติฮัด 

หรือแม้แต่สองแข้งบราซิลเลี่ยน หลุยส์ กุสตาโว อดีตกองกลางตัวรับดีกรีทีมชาติชุดใหญ่ ผู้ที่เคยเล่นในบุนเดสลีกาเกิน 100 นัด รวมถึง แอนเดอร์สัน ทาลิสก้า อดีตแนวรุก เบนฟิกา กับ กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ (กว่างโจว เอฟซี ปัจจุบัน) ที่เล่นให้ อัล-นาสต์ เป็นต้น

ส่วนเรื่องของการสนับสนุนจากแฟน ๆ ในประเทศก็เป็นตัวเลขที่วางใจได้ ทั้งยังช่วยเติมเต็มให้ลีกนี้สนุกได้อย่างชัดเจน

แฟนบอลเข้ามาชมเกมในสนามเฉลี่ยต่อฤดูกาลเกือบหมื่นคน และหากเป็นเกมที่ทีมใหญ่ ๆ โม่แข้งกัน อย่างเกมระหว่าง อัล-เอติฮัด เจอ อัล-เวห์ดา เมื่อเดือนกลางตุลาคมที่ผ่านมาก็มีแฟนบอลเข้ามาชมในสนามถึง 35,933 คน

และยังไม่นับค่าเฉลี่ยการทำประตูต่อเกมในแต่ละฤดูกาล หากใครเลือกชมเกมการแข่งขันฟุตบอลลีกซาอุดีอาระเบียสักคู่ก็สามารถการันตีได้ว่าแมตช์นั้น ๆ จะมีประตูเกิดขึ้นอย่างแน่นอน 

ในฤดูกาล 2020-21 มีค่าเฉลี่ยการทำประตูอยู่ที่ 3.11 ลูก, ฤดูกาล 2021-22 ลีกสูงสุดมีค่าเฉลี่ยการทำประตูต่อเกมอยู่ที่ 2.65 ลูก หรือแม้แต่ในฤดูกาล 2022-23 นี้ที่แข่งไปแล้ว 8 เกมก็มีค่าเฉลี่ยประตูสูงถึง 2.34 ลูกต่อเกมเลยทีเดียว

 

โปรเจ็กต์ส่งนักเตะไปเล่นต่างแดน "เคยทำ" แต่ "ไม่เวิร์ก"

อันที่จริง สหพันธ์ฟุตบอลแห่งซาอุดีอาระเบีย เคยทำข้อตกลงร่วมกับ ลา ลีกา ลีกฟุตบอลอาชีพสูงสุดของสเปน ส่ง 9 นักเตะระดับแถวหน้าของประเทศย้ายไปเล่นในลา ลีกา ด้วยสัญญายืมตัวเมื่อเดือนมกราคม 2018 โดยหวังจะนำประสบการณ์จากการเล่นในลีกสูงสุดแดนกระทิงดุมาเสริมแกร่งให้ทีมชาติชุดลุยฟุตบอลโลก 2018

ทำให้ดาวดังของเหล่าทัพเหยี่ยวมรกตในตอนนั้น เช่น ซาลีม อัล-เดาซารี ย้ายไปอยู่ บียาร์เรอัล, ฟาฮัด อัล-มูวัลลัด ย้ายไปอยู่กับ เลบานเต้ ส่วน ยะห์ยา อัล-เซห์รี ไปอยู่กับ เลกาเนส ฯลฯ

ทว่าโปรเจ็กต์นี้กลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เมื่อทั้ง 9 คนลงสนามรวมกันแค่ 59 นาทีเท่านั้น อัล-มูวัลลัด ลงสนามให้เลบานเต้ไปแค่ 26 นาทีจาก 2 นัด ส่วน อัล-เดาซารี ลงสนามไป 33 นาทีในเกมเสมอ เรอัล มาดริด 2-2 ท้ายสุดโปรเจ็กต์นี้ก็ถูกระงับอย่างรวดเร็ว

แถมผลงานในฟุตบอลโลก 2018 ที่ซาอุดีอาระเบียผ่านเข้ามาเล่นรอบสุดท้ายในรอบ 12 ปีต่อจากฟุตบอลโลก 2006 ก็ล้มเหลว ตกรอบจากการจบอันดับสามในกลุ่ม A มีเกมที่พ่ายคู่แข่งอย่าง รัสเซีย เจ้าภาพราบคาบถึง 5-0 

โดยซาอุดีอาระเบียในยุคนั้นคุมทีมโดย ฮวน อันโตนิโอ ปิซซี่ นายใหญ่ชาวอาร์เจนตินา ที่เข้ามาคุมทีมในเดือนพฤศจิกายน 2017 

การที่ SAFF เลือกส่งนักเตะระดับท็อปของประเทศไปเล่นในลา ลีกา จากมุมมองของ แอร์ฟ เรนาร์ นายใหญ่คนปัจจุบัน มองว่าแม้จะเป็น "เจตนาที่ดี" ทว่านั่นคือการตัดสินใจที่ "ผิดพลาด"

"เมื่อคุณเข้ามาไปอยู่ในทีมใหม่ก่อนฟุตบอลโลกจะเริ่มต้น 6 เดือน คุณต้องใช้เวลาในการปรับตัว เพราะในซาอุดีอาระเบีย คุณไม่ได้ฝึกซ้อมอย่างเข้มข้นเหมือนในสเปน" เรนาร์ วิเคราะห์สถานการณ์ของทีมชาติซาอุดีอาระเบียเมื่อช่วง 4 ปีที่แล้ว "นั่นเป็นเรื่องที่ยากสำหรับนักเตะซาอุดีอาระเบียนะ แต่ถ้าพวกเขาอยู่ที่นั่น (ลา ลีกา) เป็นเวลา 1 ปีหรือนานกว่านั้น บางทีสถานการณ์มันอาจจะต่างออกไป"

"และถ้าคุณกำลังพูดถึงผู้เล่นอายุ 27-28 ปี มันไม่ง่ายเลยที่จะไปยุโรปที่ต้องห่างไกลจากครอบครัวและเมืองของคุณ แถมยังต้องไปอยู่ในที่ที่มีวิถีชีวิตที่แตกต่าง รวมถึงมีวิธีการเล่นฟุตบอลที่แตกต่าง"

สุดท้ายซาอุดีอาระเบียก็กลับมาใช้แนวทางเดิม นั่นคือการกลับมาพัฒนาลีกในประเทศให้แข็งแกร่ง เพิ่มขีดการแข่งขัน ดึงโค้ชและนักเตะต่างชาติฝีเท้าดีเข้ามาสู่ลีก พวกเขาปั้นโปรเจ็กต์ไปลุยฟุตบอลโลกด้วยแนวทางนี้จนได้กลับมาเล่นในฟุตบอลโลกอีกครั้ง

 

ลีกอาชีพส่งเสริมทีมชาติสู่ฟุตบอลโลก 2022

"ไม่ มันไม่ใช่ข้อเสียเลย" เรนาร์ พูดถึงการที่นักเตะทีมชาติเลือกเล่นในประเทศทุกคน "บางครั้งมันก็เป็นข้อได้เปรียบนะ เพราะพวกเขาทั้งหมดกำลังเล่นในลีกของซาอุดีอาระเบียที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยระดับของลีกที่นี่ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผมรู้จักลีกนี้เป็นอย่างดี มันไม่ใช่ลีกที่ง่ายนะ ที่นี่มีทั้งคุณภาพและเทคนิคอยู่ระดับสูงเลยล่ะ"

ศึกซาอุดี โปร ลีก ส่งเสริมและสนับสนุนทีมชาติซาอุดีอาระเบียไปในเวลาเดียวกัน เห็นได้ชัดจากปี 2022 นี้กับภารกิจเตรียมทีมชาติก่อนลุยฟุตบอลโลก นอกจากจะแข่งขันกระชับมิตรทีมชาติตามปฏิทินฟีฟ่าแล้ว การที่ลีกฤดูกาลปัจจุบันตัดสินใจพักเบรกเอื้อให้ทีมชาติตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคมก็นับเป็นประโยชน์ให้ทีมชาติได้มีเวลาเตรียมทีมร่วมกันแบบเต็มอัตราศึก

นับแต่วันที่ 22 ตุลาคมเรื่อยมาจนกระทั่งวันที่ 22 พฤศจิกายน หรือก่อนเกมประเดิมสนามที่พวกเขาอัดอาร์เจนตินา 2-1 ซาอุดีอาระเบียได้ลงอุ่นเครื่อง ได้ลองรูปแบบวิธีการเล่น และเช็กฟอร์มนักเตะมาแล้วถึง 10 เกมด้วยกัน

ทำให้ แอร์ฟ เรนาร์ ได้รู้ว่าการเล่นอย่างเข้าขารู้ใจคือจุดแข็งของทีมชุดนี้ 

และยิ่งใส่แทคติกการเล่นเพื่อให้เหมาะกับแต่ละเกม โดยเฉพาะความพยายามควบคุมคู่แข่งในสนามให้ได้มากที่สุดก็ชี้ชัดว่าซาอุดีอาระเบียชุดนี้แตกต่างไปจากที่เคยเป็นทีมรอรับอย่างอดทน เมื่อได้เล่นทัวร์นาเมนต์เวิลด์คัพ

"บางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องเล่นฟุตบอลที่ยอดเยี่ยม เราต้องเล่นเป็นทีม คิดถึงทีมเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นค่อยคิดถึงตัวเอง" เฮดโค้ชชาวฝรั่งเศส เผย

"ผู้เล่นที่มีทักษะมากมาย บางครั้งพวกเขาก็ต้องการทำสิ่งที่มหัศจรรย์ แต่สิ่งที่เราต้องการคือการเล่นเป็นทีม นั่นคือสิ่งสำคัญที่สุดเพื่อให้เข้าใจถึงฟุตบอลของซาอุดีอาระเบียได้ดียิ่งขึ้น"

 

แหล่งอ้างอิง

https://theathletic.com/3669114/2022/11/22/world-cup-saudi-arabia/  
https://theathletic.com/3922037/2022/11/22/argentina-saudi-arabia-result/ 
https://www.sportspromedia.com/news/saudi-pro-league-roshn-title-sponsorship/  
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_Asian_Club_Championship_and_AFC_Champions_League_finals 
https://saudigazette.com.sa/article/619430/Sports/Saudi-Pro-League-expands-to-18-clubs-from-2023-24-season  
https://www.transfermarkt.com/saleh-al-shehri/profil/spieler/242267 
https://en.wikipedia.org/wiki/2022%E2%80%9323_Saudi_Professional_League  


SaudiArabia,SadiProLeague,WC2022,WorldCup2022,Qatar2022,Argentina,Messi,

MainStand,Main Stand,mainstand th,เมนสแตนด์,Feature

Author

พชรพล เกตุจินากูล

แฟนคลับเชลซี ติดตามฟุตบอลเอเชีย ไก่ทอดและกิมจิเลิฟเวอร์

Photo

ปฐวี ยอดเนียม

Man u is No.2 But YOU is No.1

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น