Feature

Stop Crying Your Heart Out : เพลงเชียร์ฟุตบอลโลกสุดเศร้าที่อาจทำให้คนฟังต้องน้ำตาไหล | Main Stand

เสียงเพลง "Football's Coming Home" ดังกระหึ่มไปทั่วอาณาบริเวณที่แฟนบอลทีมชาติอังกฤษได้ย่างก้าวไป สื่อถึงความยิ่งใหญ่และเกรียงไกรของทัพ “สิงโตคำราม” แต่เมื่อใดที่ทีมแพ้ก็มักจะลงเอยด้วยเสียงเงียบงัน ชนิดป่าช้ายังเสียงดังกว่า

 

เมื่อมีเพลงเชียร์ยามชนะแล้วก็ต้องมีเพลงปลอบใจเมื่อแพ้ เพลง “Don't Look Back in Anger” ของวงบริตป็อปชื่อดัง Oasis ก็ถูกนำมาขับร้องโดยแฟนบอลอังกฤษหลายครั้งที่ทัพ “สิงโตคำราม” ทำผลงานน่าผิดหวังหรือพบกับเรื่องราวที่โชคไม่เข้าข้าง

แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ทีมชาติอังกฤษ ยังมีอีกหนึ่งเพลงเชียร์ที่แฟนบอลอังกฤษไม่อยากได้ยินแม้แต่อินโทรเริ่มเพลง เพราะเมื่อใดที่เพลงนี้ถูกบรรเลงมันเท่ากับว่าฟุตบอลทีมชาติอังกฤษได้ร่วงตกรอบการแข่งขันไปแล้ว เพลงนี้มีชื่อว่า “Stop Crying Your Heart Out” บทเพลงสุดเศร้าที่ขับร้องโดย เลียม กัลลาร์เกอร์ นักร้องนำจากวง Oasis เจ้าของเดียวกับบทเพลง “Don't Look Back in Anger” ที่กล่าวไปข้างต้น

และขณะที่ฟุตบอลโลก 2022 กำลังดำเนินไป Main Stand ขอพาทุกคนไปรู้จักกับเพลงนี้ให้มากขึ้น เพลงที่ได้ชื่อว่าเป็น “เพลงเชียร์ฟุตบอลที่เศร้าที่สุด”

 

พระเอกมาแล้ว! (ภาคทฤษฎี)

ทีมฟุตบอลแต่ละทีมมักมีช่วงเวลาพีกเป็นของตัวเอง เช่นเดียวกับทีมชาติอังกฤษที่ในช่วงยุคมิลเลนเนียมนั้นถือเป็นยุคเตรียมถ่ายเลือดใหม่ระหว่างผู้เล่นรุ่นเก๋ากับแข้งดาวรุ่ง

หลังพบกับความผิดหวังและความชอกช้ำในทัวร์นาเมนต์ ยูโร 1996, ฟุตบอลโลก 1998 และ ยูโร 2000 มาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ฟุตบอลโลก 2002 จึงเป็นห้วงเวลาอันเหมาะสมแล้วที่ทุกคนจะต้องหลบทางให้พระเอกเดินแบบหล่อ ๆ 

แต่เมื่อทัวร์นาเมนต์รอบคัดเลือกเริ่มขึ้นภายใต้การคุมทีมของ เควิน คีแกน เพียงนัดแรกที่ลงสนามพบ เยอรมนี ในถิ่นออริจินัล เวมบลีย์ ในวันที่ 7 ตุลาคม ปี 2000 เหล่าแข้ง “สิงโตคำราม” ก็โชว์หมูหกแพ้คาบ้านไป 0-1 จากลูกยิงของ ดีทมาร์ ฮาร์มันน์ มิดฟิลด์ที่ค้าแข้งกับ ลิเวอร์พูล อยู่ในขณะนั้น

แค่เกมแรกก็พังไม่เป็นท่า แถมเรื่องร้าย ๆ ก็ตามมา เพราะนอกจากจะเป็นการแข่งขันฟุตบอลแมตช์สุดท้ายในสนามเวมบลีย์เวอร์ชั่น “ทวินส์ ทาวน์เวอร์” ก่อนทุบทิ้งนั้นทางกุนซือคีแกนก็ประกาศลาออกหลังจบเกมทันที ทำแฟนบอลช็อกแบบ 3 เด้ง ทริปเปิลเด้ง

ทุกปัญหาย่องมีทางออก สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA) ไม่รอช้ารีบกระชากตัวบรมกุนซือ สเวน-โกรัน อีริคส์สัน มาเป็นกุนซือคนใหม่ทันทีในเดือนตุลาคมปี 2000 แต่กุนซือวัย 52 ปีในขณะนั้นเลือกขอทำงานกับ ลาซิโอ ต้นสังกัดปัจจุบันจนถึงเดือนมกราคมปี 2001 แล้วค่อยลาออกมาจับงาน “สิงโตคำราม” ในช่วงต้นปีเดียวกัน โดยเป้าหมายมีเพียงหนึ่งเดียวคือพาทีมชาติอังกฤษไปลุยฟุตบอลโลก 2002 ให้ได้

และแล้วกุนซือชาวสวีเดนก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เขาพาทีมชนะรวด 5 นัดติด แถมเกมรอบคัดเลือกนัดสุดท้ายยังได้ เดวิด เบ็คแฮม ยิงฟรีคิกสุดสวยตีเสมอ กรีซ 2-2 ในนาทีสุดท้ายพาอังกฤษตีตั๋วไปฟุตบอลโลก 2002 แบบไม่ต้องเพลย์ออฟด้วยความชื่นมื่นทั้งแผ่นดิน

และเมื่อทัวร์นาเมนต์จริงมาถึง อีริคส์สันได้ประกาศรายชื่อผู้เล่น 23 คนสุดท้ายที่จะไปเหยียบแผ่นดินญี่ปุ่น (ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพร่วมกับเกาหลีใต้ แต่อังกฤษลงเล่นทุกนัดที่ญี่ปุ่น) เผยชื่อเหล่าแข้งหนุ่มไฟแรงอย่าง แอชลี่ย์ โคล, ริโอ เฟอร์ดินาน, และ ไมเคิล โอเว่น ร่วมกับแข้งแกนหลังในยุคนั้นอย่าง เดวิด เบ็คแฮม, พอล สโคลส์, ร็อบบี้ ฟาวเลอร์ และ นิคกี้ บัตต์ ก่อนจะปิดท้ายด้วยแก๊งค์แข้งรุ่นใหญ่ เช่น เดวิด ซีแมน และ เท็ดดี้ เชอร์ริงแฮม เป็นต้น 

 

พระเอกมาแล้ว! (ภาคปฏิบัติ)

แน่นอนว่าการเป็นกุนซือทีมชาติอังกฤษคนแรกในรอบ 55 ปีที่ไม่ใช่ชาวสหราชอาณาจักรทำให้ตัวของอีริคส์สันถูกตั้งคำถามจากสื่อ แฟนบอล และนักเตะทั่วทั้งแผ่นดินบริเตนใหญ่ ว่าเขารู้จักฟุตบอลอังกฤษดีแค่ไหน แม้ว่าจะมีประสบการณ์บนเวทีลูกหนังสูงระดับปรมจารย์ก็ตาม 

ย้อนกลับไปช่วงก่อนประกาศรายชื่อ 23 คนสุดท้าย อังกฤษต้องลุ้นแบบวินาทีต่อวินาทีเมื่อ เดวิด เบ็คแฮม พบอาการบาดเจ็บที่ขาทำเอาสื่อหลายเจ้าออกมาวิเคราะห์การตัดตัวผู้เล่นกันให้วุ่น โดย พอล วิลสัน ผู้สื่อข่าวจาก The Guardian อธิบายไว้ในบทความของเขาเมื่อ 10 ปีที่แล้วว่า  

“ผมขอสันนิษฐานว่า คีรอน ดายเออร์ จะเข้ามาเติมเต็มฝั่งซ้ายขณะที่รอเบ็คแฮมเรียกความฟิต แต่ด้วยความเก่งกาจของ โอเว่น ฮาร์กรีฟส์ และ นิกกี้ บัตต์ อาจทำให้อีริคส์สันสามารถตัดชื่อ แฟรงก์ แลมพาร์ด และ แดนนี่ เมอร์ฟี่ ไว้ที่บ้านได้เลย”

อย่างไรก็ดีเบ็คแฮมสลัดอาการบาดเจ็บพร้อมเรียกความฟิตไปสวมปลอกแขนกัปตัน “สิงโตคำราม” ที่ญี่ปุ่นได้ทันเวลา ส่วนอีก 5 แข้งที่ พอล วิลสัน คาดไว้ก็ติดทีมหมดทุกคน

เมื่อการแข่งขันจริงมาถึง อังกฤษ ที่อยู่ในกลุ่ม F ร่วมกับ อาร์เจนตินา สวีเดน และ ไนจีเรีย ถูกสื่อยกให้เป็น “กรุ๊ปออฟเดธ” แต่ทว่ามันก็สร้างความสั่นสะเทือนแก่พวกเขาไม่ได้ เพราะอังกฤษชุดเบิ้ม ๆ ของอีริคส์สันโชว์ผลงานไร้พ่ายในรอบแบ่งกลุ่มนี้ด้วยการชนะ 1 เสมอ 2 แถมยังเขี่ย อาร์เจนตินา ตกรอบแรกในรอบ 62 ปีด้วยจุดโทษของเบ็คแฮมในนาทีที่ 44 ของเกม ทำแฟน ๆ สะใจทั่วบ้านทั่วเมืองก่อนตะลุยไปถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายที่พวกเขาโคจรมาพบกับ เดนมาร์ก ทีมแชมป์กลุ่ม A ที่ทำผลงานไร้พ่ายมาเช่นกัน

 

แตกหนึ่ง! 

ทัพ “สิงโตคำราม” ยังคงไม่หวั่นแม้วันมามาก เพราะในรอบน็อกเอาต์ก็ประเดิมสวยด้วยการโชว์คว่ำ เดนมาร์ก 3-0 แบบชนิดที่ว่าปิดเกมตั้งแต่ครึ่งแรก ส่งพวกเขาทะลุไปรอบ 8 ทีมด้วยการพบงานช้างอย่าง บราซิล ทีมรองแชมป์เมื่อ 4 ปีก่อน ที่มี 3 ประสานแดนหน้า “3R” (โรนัลดินโญ่, ริวัลโด้ และ โรนัลโด้ R9) รอกระซวกพวกเขาอยู่

และแล้ววันแห่งตำนานก็มาถึง 21 มิถุนายน 2002 ณ สนามอีโคปา สเตเดียม จังหวัดชิซุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น “ทรีไลอ้อน” ดวลกับ “แซมบ้า” โดยทั้งสองฝ่ายต่างก็เข็นตัวเทพลงสนามแบบหมดหน้าตักไม่ว่าจะเป็น โอเว่น กับ เบ็คแฮม ของฝั่งอังกฤษ และ “3R” ของบราซิล ล้วนลงสนามครบถ้วนโดยมีรอบรองชนะเลิศเป็นเดิมพัน

แน่นอนว่าความมั่นใจกับกีฬาอังกฤษเป็นของคู่กันอยู่ทั้งในสายเลือดและ DNA การเจอกับ บราซิล ที่มี “3R” ก็ไม่ทำให้พวกเขาสะทกสะท้านแม้แต่นิดเดียว พอลงเตะ อังกฤษ ก็นำก่อน 1-0 จาก ไมเคิล โอเว่น ที่ฉกบอลจากเท้าของ ลูซิโอ เข้าไปยิง

แต่โชคชะตาก็เหมือนเล่นตลกเมื่อ ริวัลโด้ ดันมายิงตีเสมอ 1-1 ให้ บราซิล ในนาทีสุดท้ายของครึ่งแรก ทำให้ครึ่งหลังต้องมาเริ่มต้นใหม่ โดยไม่มีใครคาดคิดเลยว่าในไม่ช้าวินาทีแห่งประวัติศาสตร์จะถูกจารึก

เมื่อ 45 นาทีหลังเริ่มต้นขึ้นไม่นานนัก นาทีที่ 48 อังกฤษ ก็เสียฟาวล์แบบไม่น่าเสียเมื่อ พอล สโคลส์ ไปชน โชเซ่ เคลเบร์ซง ล้มลงขณะจะรับบอลที่ คาฟู ทุ่มมาและแน่นอนว่าผู้ตัดสิน เฟลิเป้ รามอส จากเม็กซิโก เป่าให้ลูกฟรีคิกแบบไม่ต้องคิด

ทันใดนั้นแข้ง บราซิล พยายามเล่นเร็วแต่ เคลเบร์ซง กำลังนอนเจ็บอยู่ ผู้ตัดสินจึงเป่าหยุดเกมแล้วให้เล่นใหม่ ณ จุดเกิดเหตุแล้วก็เป็น โรนัลดินโญ่ ที่ยืนแถวนั้นรับลูกบอลมาตั้งป้อมด้วยตนเอง วินาทีนั้น “เหยินน้อย” เหล่มองเข้ากรอบเขตโทษแล้วพบว่า อังกฤษ ยังจัดระเบียบเกมรับไม่เป็นทรงเลย แม้กระทั่ง “การยืนตำแหน่งของผู้รักษาประตู!”

จากระยะ 33 หลา เมื่อเสียงนกหวีดดัง โรนัลดินโญ่ ก็วิ่งเข้ามาแล้วซัดทันที บอลลอยข้ามหัว เดวิด ซีแมน ฮุกเช็ดคานเสาสองไปแบบไม่มีใครคาดคิด ราวกับว่ามีพลังงานบางอย่างมาจับยัดลูกบอลเข้าประตูไป แน่นอนว่าเสียงจากแฟนบอลอังกฤษบนอัฒจันทร์เงียบราวกับป่าช้า

แต่มันก็กลายเป็นตลกร้าย เพราะในนาทีที่ 56 ของเกมหรือเพียง 6 นาทีหลังจากโรนัลดินโญ่ยิงประตูได้นั้น เขาก็โดนใบแดงโดยตรงไล่ออกจากสนามไปทันทีเพราะไปผลัก แดนนี่ มิลส์ แบ็กขวาของอังกฤษทั้งที่ดูเบาและไม่รุนแรงเลย แต่สุดท้ายเจ้าตัวก็เดินยิ้มแห้ง ๆ ออกจากสนามไป

ที่น่าเหลือเชื่อยิ่งกว่านั้น แม้ บราซิล จะเหลือผู้เล่น 10 คนแต่ทว่าการพับสนามบุกของ อังกฤษ นั้นทำอันตรายใด ๆ ไม่ได้เลยแล้วก็แพ้ไปแบบดื้อ ๆ ด้วยสกอร์ 2-1 ส่งทัพ “แซมบ้า” ทะลุเข้ารอบรองชนะเลิศไปพบ ตุรกี ส่วนขุนพล “ทรีไลอ้อน” ต้องน้ำตาตกกลับบ้านไป

หลังจบเกมคนที่โดนทัวร์ลงหนักที่สุดก็หนีไม่พ้น อีริคส์สัน กุนซือของทีมที่ถูกวิจารณ์จากสื่อทั่วทุกสารทิศเพราะเขาไม่ใช่คนอังกฤษที่ดันมาคุมทีมชาติอังกฤษ แถมกิริยาการคุมทีมข้างสนามก็ช่างดูไร้อารมณ์ร่วม อีกทั้งกระแสเรียกตัวผู้เล่นและการแก้เกมที่ถูกตำหนิมาตลอดก็โดนขุดขึ้นมาโจมตีเขาไม่หยุดหย่อน

อย่างไรก็ดีกุนซือชาวสวีเดนได้กล่าวหลังเกมว่า

“ผมหวังว่าเราจะทำได้ดีกว่าเพราะได้เปรียบตัวผู้เล่น แต่เราดันเหนื่อยและบราซิลก็ครองบอลได้ดีมาก ผมหวังว่าเราจะทำได้ดีกว่านี้ แต่ผมคิดว่าเราได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่าง เรามีผู้เล่นอายุน้อยจำนวนมากในทีมที่จะดีขึ้นในอีกสองปีข้างหน้า” 

ขณะที่ความโศกเศร้ากำลังเกิดขึ้นในญี่ปุ่น ณ อีกฟากของซีกโลกบนเกาะอังกฤษก็กำลังเกิดกระแสที่เศร้าไม่แพ้กันที่ในวินาทีนั้นที่ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นความบังเอิญหรือจงใจ เมื่อเสียงเพลงหนึ่งได้ดังกระหึ่มหลังจากที่อังกฤษร่วงตกรอบ….

 

ผู้มาก่อนกาล

17 มิถุนายน 2002 หรือเพียง 4 วันก่อนหน้าที่อังกฤษจะเตะกับบราซิล Oasis วงอัลเทอร์เนทีฟร็อกชื่อดังเจ้าของเพลง Wonderwall และ Don't Look Back In Anger สองเพลงฮิตที่ทำให้วงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ได้ปล่อยซิงเกิลที่ 2 ของอัลบั้ม Heathen Chemistry ที่มีชื่อว่า Stop Crying Your Heart Out ออกมาให้มิตรรักแฟนเพลงได้ฟังกัน อย่างไรก็ดีเพลงนี้เกือบไม่ได้ดังเป็นพลุแตกแล้วเพราะเดิมที โนล กัลลาร์เกอร์ ไม่อยากปล่อยเพลงออกมาในช่วงเวลาดังกล่าว

เพราะว่า โนล กัลลาร์เกอร์ มือกีตาร์และผู้แต่งเพลงดังกล่าวมองว่าเพลงมีเนื้อหาเหมือนพ่อแม่ใช้คุยกับลูก แต่ท้ายที่สุดเขาก็ถูกผู้จัดการวงเกลี้ยกล่อมให้ปล่อยเพลงนี้ เนื่องจากโนลชอบเพลงนี้เอามาก ๆ แต่ขณะเดียวกันมันก็ตรงกับช่วงเวลาที่ฟุตบอลโลก 2002 กำลังเตะอยู่ ซึ่งเจ้าตัวให้เหตุผลว่าที่ไม่อยากปล่อยเพลงนี้ออกมาตอนนั้นก็เพราะกลัวว่าอังกฤษจะตกรอบ

“เรารู้ว่าเมื่อมันถูกเลือกเป็นซิงเกิลมันจะออกตรงช่วงฟุตบอลโลก 2002 พอดี และเราคิดว่าอังกฤษจะต้องตกรอบเพราะเพลงนี้ที่เนื้อหามันเหมือนปลอบใจผู้แพ้” โนล กล่าวกับนิตยสาร NME เมื่อปี 2010

ส่วน เลียม ผู้เป็นทั้งนักร้องนำของวงและน้องชาย เคยกล่าวเป็นลางร้ายก่อนอังกฤษไปลุยฟุตบอลโลก 2002 ขณะไปเตะฟุตบอลการกุศลว่า

“ทุกคนคิดว่าอังกฤษจะคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก แต่ไม่มีทาง ถ้าทำได้ก็แฟร์เพลย์กับพวกเขา แต่เพราะมันมีนักเตะ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อยู่ในทีมมากเกินไป ซึ่งจะเป็นเหตุที่จะไม่ได้แชมป์ฟุตบอลโลก”

และมันก็เป็นตามที่โนลและเลียมคิดไว้ เพราะอังกฤษตกรอบด้วยการแพ้ให้กับ บราซิล 1-2 ในอีก 4 วันต่อมาหลังปล่อยเพลง และด้วยความที่ทุกอย่างมันลงตัวไม่ว่าจะเนื้อหาเพลงที่ว่าด้วยเรื่องราวของการปลอบประโลมคนที่ผิดหวังกับความฝันที่ตั้งใจไว้ รวมถึงให้กำลังใจอย่างสุดซึ้ง จึงส่งให้เพลงนี้ให้เข้ากับสถานการณ์ของทีมชาติอังกฤษที่เพิ่งตกรอบฟุตบอลโลกแบบเป๊ะ ๆ ตามเนื้อเพลงท่อนหนึ่งที่ร้องว่า

All of the stars are fading away,
แม้ดวงดาวทั้งหมดจะอับแสงลง

Not to worry, you'll see them someday
แต่อย่ากังวลไปเลย สักวันมันจะส่องประกายอีกครั้ง

Take what you need, and be on your way
คว้าสิ่งที่ต้องการ แล้วก้าวตามทางของเธอเข้าไว้

And stop crying your heart out
แล้วหยุดร้องไห้เสียที

เพลง Stop Crying Your Heart Out 

แต่ความจริงแล้ว โนล กัลลาร์เกอร์ ไม่ได้แต่งเพลงนี้มาเพื่อปลอบขวัญแฟนบอลและนักเตะทีมชาติอังกฤษที่เสียใจกับการพลาดแชมป์ฟุตบอลโลก 2002 เพราะเพลงนี้ถูกปล่อยออกมาก่อนที่อังกฤษจะเตะกับบราซิลถึง 4 วันด้วยกัน และเขาก็น่าจะแต่งเพลงนี้ก่อนฟุตบอลโลก 2002 เสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อเพลงถูกเล่าปากต่อปากจนลามไปถึงที่สื่อโทรทัศน์ในอังกฤษยังชอบนำเพลงนี้ไปเปิดคลอตอนฉายคลิปไฮไลท์ที่แพ้บราซิลก็ส่งให้กระแสมันดังเป็นพลุแตกจนวง Oasis ถือโอกาสไหลตามไปด้วยเสียเลย

ด้วยเนื้อหาเพลงที่กินใจ ยิ่งใครก็ตามที่กำลังเศร้ากับความฝันที่ล้มเหลวหรือเผชิญกับเรื่องเศร้าแล้วมาฟังเพลงนี้ก็จะได้ความรู้สึกราวกับมีเพื่อนสักคนมานั่งปลอบใจอยู่ข้าง ๆ อย่างแท้จริง จึงไม่แปลกที่เพลง Stop Crying Your Heart Out จะเข้าไปครองใจใครหลายคน

เพราะหลังเปิดตัวไม่ถึงเดือนและมาพร้อมกับกระแสอังกฤษตกรอบฟุตบอลโลก ก็ส่งให้เพลงไต่ขึ้นถึงอันดับ 2 ของชาร์ตเพลง UK Singles Charts ในอังกฤษ และติดชาร์ต 20 อันดับแรกในอีกหลายประเทศ เช่น สกอตแลนด์, ไอร์แลนด์, อิตาลี, แคนาดา, เบลเยียม, สเปน, ฟินแลนด์ และ ฮังการี เป็นต้น ทำยอดขายเฉพาะแค่ซิงเกิลนี้เพลงเดียวภายใน 1 เดือนแรกได้ถึง 200,000 ก็อปปี้ เรียกได้ว่าแค่เพลงนี้เพลงเดียวก็ทำวง Oasis นอนตีพุงนับเงินอยู่บ้านอย่างสบายใจ

แม้จะไม่มีการยืนยันรายได้เฉพาะเพลงนี้อย่างเป็นทางการ แต่จากคำพูดของ โนล กัลลาร์เกอร์ มือกีตาร์และผู้แต่งเพลงก็พอจะเชื่อได้

“ความพ่ายแพ้ของอังกฤษในฟุตบอลโลกปี 2002 ช่วยให้เพลง Stop Crying Your Heart Out ดังแบบฉุดไม่อยู่ แต่ก็นั่นแหละมันทำให้ผมซื้อบ้านหลังใหม่ได้เลย” โนล กล่าวกับนิตยสาร NME

 

อย่าหันกลับไปมอง(อดีต)

กาลเวลาผ่านไป เพลง Stop Crying Your Heart Out ถูกจดจำแบบเข้าใจผิดมาตลอดในฐานะเพลงที่ถูกแต่งขึ้นมาเพื่อปลอบใจทีมชาติอังกฤษที่ตกรอบฟุตบอลโลก 2002 เนื่องด้วยความลงตัวหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการที่สองพี่น้องกัลลาร์เกอร์ที่มีอีกภาพจำเป็นแฟนบอลเดนตายของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และทีมชาติอังกฤษ รวมถึงช่วงเวลาที่เพลงถูกปล่อยนั้นตรงจังหวะพอดี

และมันก็ยิ่งถูกฝังรากลึกลงสมองแฟนบอลและแฟนเพลงยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเมื่อใดที่ฟุตบอลทีมชาติอังกฤษตกรอบทัวร์นาเมนต์ใหญ่ ๆ เพลง Stop Crying Your Heart Out ก็จะถูกสื่อหยิบยกขึ้นมาเล่นเสมอไม่เว้นกระทั่งตัวของศิลปินเองอย่าง เลียม กัลลาร์เกอร์ นักร้องนำวง Oasis ซึ่งเป็นคนร้องเพลงนี้จากปากก็เอามาเล่นด้วย

“ผมขอเล่นเพลงต่อไปนี้ให้กับทีมชาติอังกฤษของเราที่ตกรอบ ยูโร 2004” เลียม กล่าวก่อนจะเล่นเพลง Stop Crying Your Heart Out ที่เทศกาลดนตรี Glastonbury ในปี 2004 และที่พีกคือวงร้องเพลงนี้ในเทศกาลหลังจากอังกฤษตกรอบ 8 ทีมสุดท้ายได้เพียง 2 วันเท่านั้น

แต่ถึงเพลง Stop Crying Your Heart Out จะถูกตีตราว่าเป็นเพลงเชียร์ฟุตบอลที่เศร้าที่สุด แต่ทว่ามันกลับไม่เคยถูกเอามาร้องในสนามเพื่อเป็นการปลอบใจความพ่ายแพ้เลยแม้แต่ครั้งเดียว

ส่วนเหตุการณ์แฟนบอลร้องเพลง Stop Crying Your Heart Out ในสนามที่โด่งดังที่สุดต้องย้อนกลับไปในเกมเพลย์ออฟเลื่อนชั้น “เดอะ แชมเปียนชิพ” สู่ “พรีเมียร์ลีก” ในปี 2019 เมื่อแฟนบอล ลีดส์ ยูไนเต็ด ร่วมกันร้องเพลงนี้ฉลองชัยชนะของพวกเขาหลังบุกไปชนะ ดาร์บี้ 1-0 เพื่อเป็นการล้อเลียนที่ ดาร์บี้ แพ้ ลีดส์ ทุกเกมที่เจอกันตลอดฤดูกาล 2018-2019 (แต่ฤดูกาลนั้นทั้งสองทีมก็ไม่ได้เลื่อนชั้น)

และถ้าถามว่าหากแฟนบอลอังกฤษไม่ร้องเพลง Stop Crying Your Heart Out ในสนามยามทีมแพ้หรือตกรอบพวกเขาจะร้องเพลงอะไรแทน อยากบอกว่าคำตอบนั้นเฉลยตั้งแต่ช่วงเกริ่นแล้ว นั่นคือเพลง Don't Look Back in Anger จากวง Oasis เช่นเดียวกัน ซึ่งเพลงนี้ถูกขับร้องโดย โนล กัลลาร์เกอร์ มือกีตาร์และนักแต่งเพลงของวง (โนลทำการแบ่งเพลงร้องกับเลียมไว้แล้ว โดยเลียมไปร้องเพลง Wonderwall แทน)

สำหรับแฟนบอลอังกฤษแล้วนั้น เพลง Don't Look Back in Anger สำคัญไม่แพ้เพลงชาติอังกฤษเลยทีเดียว (God Save The King) เพราะถึงเพลง Don't Look Back in Anger จะมีเนื้อหาปลอบใจไม่ให้เราหวนกลับไปหาอดีตอันแสนเจ็บปวด แต่มันก็เป็นได้ทั้งเพลงประกาศศักดาของกองเชียร์ “ทรีไลอ้อน” และเพลงปลอบใจพวกเขายามทีมพ่ายแพ้ได้เช่นกัน

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้นฟุตบอลโลก 2018 รอบรองชนะเลิศที่ อังกฤษ แพ้ต่อ โครเอเชีย 2-3 โดยในช่วงหลังจบเกมทางสนามลุซจ์นิกี สเตเดียม ได้เปิดเพลง Don't Look Back in Anger ขึ้นมา ทำเอาสาวกลูกหนังเมืองผู้ดีถึงกับร้องเพลงนี้ลั่นสนามเพื่อเป็นการส่งสารให้ทีมเดินหน้าก้าวต่อไป 

ชมแฟนอังกฤษร้องเพลง Don't Look Back in Anger : 

หรือก่อนหน้านั้นใน ยูโร 2016 ที่ประเทศฝรั่งเศส เหล่าแฟนบอลอังกฤษที่ตามไปเชียร์ถึงสนามก็ร้องเพลงนี้ทุกครั้งที่เพลงถูกเปิดในช่วงพักครึ่งเพื่อประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ แต่ทัวร์นาเมนต์นั้นพวกเขาก็ไปไกลถึงแค่รอบ 16 ทีมโดยแพ้ให้กับ ไอซ์แลนด์ 1-2

นอกจากนี้เพลง Don't Look Back in Anger ยังเป็นเพลงเชียร์ประจำสโมสร แอสตัน วิลลา ทีมดังในเวทีพรีเมียร์ลีก ที่แฟนบอล “สิงห์ผงาด” มักร้องในสนามแทบทุกครั้งเมื่อมีโอกาส แต่ทว่าพวกเขาก็ไม่ใช่ทีมเดียวในพรีเมียร์ลีกที่ร้องเพลงนี้เพราะแฟนบอล เวสต์แฮม กับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ก็มักหยิบเพลงนี้ขึ้นมาร้องในสนามบ่อยไม่แพ้กัน

และในวาระฟุตบอลโลก 2022 นี้ เราก็ไม่อาจตอบได้ว่าเพลง Don't Look Back in Anger หรือเพลง Stop Crying Your Heart Out จะถูกขับร้องโดยแฟนบอลอังกฤษเมื่อใด เพราะท้ายที่สุดแล้วบทสรุปของทีมชาติอังกฤษในฟุตบอลโลกครั้งนี้ถ้าไม่จบด้วยบทเพลง Football's Coming Home พร้อมด้วยรอยยิ้มและเสียงเฮ ก็คงต้องจบด้วยเพลง Stop Crying Your Heart Out ไม่ก็เพลง Don't Look Back in Anger ที่มาพร้อมกับคราบน้ำตาแน่นอน

 

แหล่งอ้างอิง :

http://www.oasisnewsroom.com/2004/06/#.Y3asK8dBy3A
https://www.songmeaningsandfacts.com/stop-crying-your-heart-out-by-oasis/
https://www.nme.com/news/music/noel-gallagher-360-1290428
https://www.facebook.com/AllaboutRKID/photos/stop-crying-your-heart-out-เพลงปลอบใจแฟนบอลอังกฤษ-อีกหนึ่งเพลงดังของวง-oasis-ที่/233702827302886/
https://twitter.com/scyhodotcom/status/994316952230416385
https://en.wikipedia.org/wiki/Stop_Crying_Your_Heart_Out#cite_ref-6
http://news.bbc.co.uk/sport3/worldcup2002/hi/matches_wallchart/england_v_brazil/newsid_2054000/2054593.stm
https://www.thesportsman.com/articles/when-england-were-knocked-out-of-the-world-cup-before-breakfast
https://www.theguardian.com/football/2002/jun/21/minutebyminute.worldcupfootball2002
https://www.theguardian.com/football/2002/jun/22/worldcupfootball2002.sport
https://www.esquire.com/uk/latest-news/a22124439/watch-the-england-fans-who-stayed-in-the-stadium-to-sing-oasis-dont-look-back-in-anger/

Author

ทรงศักดิ์ ศรีสุข

"พาผมไปส่งบขส.หน่อยครับ"

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น