ไม่ว่าจะยุคเก่ายุคใหม่ แทบจะหาได้ยากยิ่ง ที่นักแต่งเพลงจะมีการประพันธ์ โดยเปรียบเทียบความรักเป็น "เกมกีฬาฟุตบอล" เพราะดูจะห่างไกล และไม่น่าจะเข้ากันได้
กระนั้น ก็ใช่ว่าจะไม่มีเสียทีเดียว
Main Stand จะพาไปรู้จักกับเพลง "ความรักเหมือนเกมกีฬา" บทเพลงลูกทุ่งยุค 70 ที่นำเสนอความรัก ในรูปแบบที่เหมือนการแข่งขันฟุตบอล ซึ่งถือว่าถ่ายทอดความรักได้นำยุคนำสมัยในตอนนั้นเป็นอย่างมาก
การเปรียบเทียบสุดแหวกแนว
ในบทเพลงที่เล่าเรื่องความรัก ไม่ว่าจะลงเอยด้วยสุขหรือโศก แนวเพลงป็อปหรือลูกทุ่ง การเปรียบเปรยความรักในท่อนเพลงเป็นสิ่งต่างๆ ก็นับว่าเป็นวรรณศิลป์ที่สุดแต่มันสมองของคนประพันธ์จะให้เป็นไป
มีทั้งแบบธรรมดา ที่เปรียบความรักว่ามีรสหวานจับใจ แบบเพลง หวาน ของ ปราโมทย์ วิเลปะนะ ที่ร้องว่า "หวานละมุนละไมอยู่ในทุกตอน หวานทุกความรู้สึกไม่มีวันจางหายไป"
ไปอีกขั้นก็เปรียบความรักเป็นอักษรบนกระดาษ ในเพลง สุดท้ายคืออ้ายเจ็บ ของ ไผ่ พงศธร ที่ร้องว่า "หากคำว่าฮัก ของเฮาเขียนด้วยกระดาษ ถ้าน้องทำขาด อ้ายคงบ่เจ็บปานใด๋"
ขั้นแอดวานซ์ คือเปรียบความรักดั่งโคถึก ในเพลง บุพเพสันนิวาส ของ ประพนธ์ สุนทรจามร ที่ร้องว่า "รักเหมือนโคถึกที่คึกพิโรธ ความรักเช่นนั้นให้โทษ จะไปโกรธโทษรักไม่ได้"
หรือแม้กระทั่งตั้งข้อสงสัยกับการเปรียบเปรยความรัก ที่ไม่สามารถหาจุดสิ้นสุดได้ ทำ้อาสับสนงงงวยไปหมด อย่างเพลง รักแท้…ยังไง ของน้ำชา - ชีรณัฐ ยูสานนท์ ที่ร้องว่า "รักแท้ที่อะไรตับไตไส้พุง หรือรักกางเกงที่นุ่งว่าดูสวยดี รักที่นามสกุล รักยี่ห้อรถยนต์ รักเพราะว่าไม่จนมีสตางค์ให้จ่าย" เลยทีเดียว
เป็นธรรมดา ที่นักแต่งเพลงจะพยายามตะโกนหาสรรหาอะไรใหม่ๆ มาใส่ในเพลงของตน โดยเฉพาะเพลงรัก ที่มีกันให้เกร่อ หาได้ทั่วไปตามท้องตลาด การแข่งขันสูงลิบ การสร้างความแตกต่าง จึงถือเป็นจุดขาย จุดสนใจที่พึงกระทำ
แต่ที่กล่าวมานี้ เทียบไม่ได้เลยกับเพลง ความรักเหมือนเกมกีฬา ที่ได้นำ "การแข่งขันฟุตบอล" เข้ามาเปรียบเทียบกับความรักได้แบบตะลึงคนฟังอย่างยิ่ง
ความแปลก ความยูนีค ไม่เหมือนใคร เป็นสิ่งที่ตลาดต้องการก็จริงอยู่ หากแต่การเปรียบเทียบเช่นนี้ นั้นเป็นสิ่งที่ "เกินคอมมอนเซนส์" ของคนปกติไปมากโข
ชนิดที่ใครไก้สดับรับฟัง ต้องอุทานว่า "ผีเข้าทรง" คนแต่งหรือไร? ทำไมจึงมีความคิดเช่นนั้น
แต่เมื่อพิจารณาต่อไปอีกเล็กน้อย ถึงความคิด วิธีคิด ของคนแต่ง ก็จะทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น
แรงบันดาลใจจากเอเชี่ยนเกมส์
เพลงความรักเหมือนเกมกีฬานั้นประพันธ์โดย ครูเริง ภิรมย์ บรมครูเพลงลูกทุ่งไทย ขับร้องครั้งแรกโดย โรม ศรีธรรมราช ตำนานขุนพลเพลงปักษ์ใต้
โดยเพลงนี้ เป็นเพลงแทร็กท้ายๆ แทรกอยู่ในชุดแผ่นเสียง ความรักเหมือนเกมกีฬา (คล้ายการออกอัลบั้มในสมัยนี้) วางจำหน่ายในปี พ.ศ. 2512
อักทั้ง ยังเป็นเพลง "เดบิวต์" แรกสุดที่โรมขับร้อง หลังจากเข้ากรุงเทพฯ มาใช้เสียงทำมาหากิน โดยโรม ได้เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงนี้ของ "พี่เริง" ไว้ว่า
"ท่านได้แรงบันดาลใจจากการดูกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ที่จัดขึ้นในประเทศไทย วันนั้นหลังจากที่แต่งเพลงเสร็จ ท่านก็มาเรียกผม และบอกว่าแต่งเพลงให้แล้วเพลงหนึ่ง ท่านเป็นคนชอบแต่งเพลงแบบไทยเดิม เพราะเป็นลิเกมาก่อน ผมก็ขอเพลงนี้มาจากท่าน แล้วก็ร้องมาเรื่อยๆ จนจำได้ขึ้นใจ"
พร้อมทั้งเล่าเหตุการณ์ได้บันทึกแผ่นเสียงเพลงนี้ไว้ว่า
"หลังจากนั้นประมาณ 2 ปี...ผมก็มาร้องเพลงอยู่ที่ร้านอาหารสักพักหนึ่ง ก็ได้ไปอยู่วงของ ชาตรี ศรีชล อยู่ได้ 5 วันก็ยุบวงอีก พอดีว่า อาจารย์มนต์ เมืองเหนือ ท่านเป็นผู้จัดการวงชาตรี อยู่ก็ชวนให้ไปอัดแผ่นเสียงกัน กับ รุ่ง โพธาราม ด้วยเพลงของครูเริง ภิรมย์ ทั้งเพลง"
โดยครูเริง ได้ประพันธ์เนื้อร้องไว้ว่า
"ความรักของชายมองดูก็คล้ายกีฬา ต่างปัดแข้งปัดขา เหมือนกีฬาฟุตบอล
ใครจะได้เป็นของใครก็ไม่แน่นอน เปรียบผู้หญิงเหมือนลูกบอล ต่างฝ่ายก็ต้อนกันเข้าประดู
รักหญิงที่งาม มันต้องเพิ่มความมานะ อย่ามัวเฉยเมยละ ต้องมานะทนสู้
จงบากบั่นยิงลูกไปให้ได้ประตู หากมัวเฉยเมยอยู่ จะถูกคู่ชู้เค้าเอาไปชิม
รักของผมมันทั้งขมทั้งเค็ม เหมือนกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ เล่นเสียเต็มสติม
แต่เล่นผิดแผน เลยเหมือนขุนแผนพราดรักแม่พิมพ์
คนอื่นเขาอุ่นกินเสียจนอิ่ม จะกลับมาชิมก็ชืดชา
***กีฬาความรัก มันต้องคึกคักเข้มแข็ง ผมมัวหลงออมแรง เลยถูกเขาแซงขึ้นหน้า
เลยต้องแย่เลยต้องแพ้ เหมือนเกมส์กีฬา เหมือนเล่นฟุตบอล ถึงตอนเสียท่า
เลยถูกเขาคว้าเหรียญทอง
(ซ้ำ ***)"
แต่น่าเสียดายที่เพลงนี้ ไม่ใช่เพลงที่สร้างชื่อให้เขา หากแต่เป็นเพลง "ซากรักที่บึงธาราม" อีกเพลงที่ครูเริงแต่งให้ต่างหากที่พุ่งสวนขึ้นมา ก่อนที่โรมจะดังระเบิดเถิดเทิงด้วยเพลง "หลวงปู่ทวดเหยียบใจ" ในอีกไม่กี่ปีต่อมา
กระนั้น เพลงนี้ก็กลับมาให้แฟนเพลงได้ฟังอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ "สายัณห์ สัญญา" นักร้องลูกทุ่งขวัญใจคนเดิม นำมาปัดฝุ่นร้องด้วยสไตล์เสียงแหบมหาเสน่ห์ของตนเอง
โดย "พี่เป้า" ได้ทำการแทรกเพลงดังกล่าว ในอัลบั้มชุดคนสุดท้าย ราวกลางยุค 2520 ซึ่งวัดที่ยอดขายแผ่นเสียงเพียวๆ ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร
เพราะในยุคนั้น สมัยนั้น เป็นยุคของสายัณห์ ออกเพลงอะไร ร้องเพลงอะไร หรือหยิบยืมเพลงของศิลปินท่านใดมาขับร้อง ก็ดังเป็นพลุแตก (สมัยก่อน กฎหมายลิขสิทธิ์ยังไม่เข้มข้น นักร้องสามารถหยิบยืมเพลงของกันและกันได้)
ก่อนที่จะพยายามทำให้ตัวเพลงโด่งดังไปอีกขั้นกับการประพันธ์ "เพลงแก้" ขึ้นมา
ผ่องศรี เป็นศรีแก่เพลง
หากคุณเป็นคนมีอายุสักน้อย ประมาณ 20 ปีขึ้นไป ชื่อของ "ผ่องศรี วรนุช" ราชินีเพลงลูกทุ่งคนแรก (ก่อนเป็นพุ่มพวง ดวงจันทร์) และศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องลูกทุ่ง) ปี 2535 คงเคยผ่านหูของคุณมาบ้าง
ด้วยน้ำเสียงสูงแหลมเป็นเอกลักษณ์อันไพเราะนุ่มนวล จึงไม่แปลกที่เพลงของ "แม่ผ่อง" อย่าง ด่วนพิศวาส กอดหมอนนอนหนาว วิมานในฝัน และอื่นๆ จะครองใจแฟนเพลงมาได้นานนับครึ่งศตวรรษ
แต่ก็มีอีกบทบาทหนึ่งที่น้อยคนจะสังเกต นั่นคือ แม่ผ่องนั้น เป็น "เจ้าแม่เพลงแก้" ที่มักจะร้องเพลงแก้กับศิลปินชาย ซึ่งส่วนมาก มักร้องแก้กับ สุรพล สมบัติเจริญ เพลงดังๆ ก็มี น้ำตาเมียหลวง ร้องแก้ น้ำตาผัว, หัวใจเปราะ ร้องแก้ หัวใจเดาะ หรือไหนว่าไม่ลืม ร้องแก้ ลืมไม่ลง หรือแม้แต่นักร้องรุ่นราวคราวเดียวกัน อย่าง ก้าน แก้วสุพรรณ ที่ร้องเพลง น้ำตาลก้นแก้ว แม่ผ่องก็ไปร้องเพลงแก้ น้ำปลาก้นขวด ให้
แต่ก็มีบางเพลงที่ไปร้องแก้นักร้องชายหน้าใหม่ แล้วเหมือนเป็น "มาดามดัน" ส่งรุกกี้เหล่านั้นดังปรอทแตก เช่น เพลงจันทร์อ้อน ร้องแก้ อ้อนจันทร์ ของศรชัย เมฆวิเชียร, เพลงร้องน้องต้องหนีแม่ ร้องแก้ รักพี่ต้องหนีพ่อ ของยงยุทธ เชี่ยวชาญชัย หรือที่ดังที่สุด คือเพลงกินข้าวกับน้ำพริก ร้องแก้ กินอะไรถึงสวย ของสายัณห์ สัญญา
ซึ่งต้องบอกได้คำเดียวว่า ณ ตอนนั้น ไม่มีเพลงใดที่ร้องแก้โดยผ่องศรี แล้วจะไม่ดัง!
และการร้องแก้แล้วดังนี้เอง ก็ได้นำพาแม่ผ่องมาร้องแก้เพลงที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอล โดยเพลงดังกล่าว คือเพลง "อย่าเห็นหญิงเป็นลูกบอลล์" ซึ่งเป็นการร้องแก้เพลง "ความรักเหมือนเกมกีฬา" นั่นเอง
ซึ่งเพลงนีั ก็มีนักประพันธ์ชื่อว่า เริง ภิรมย์ เหมือนกัน เพียงแต่เพลงความรักเหมือนเกมกีฬา เล่าเรื่องเพลงโดยผู้ชาย ที่เห็นความรักเป็นกีฬาฟุตบอล ที่จะต้องแข่งขัน ปะทะประชันกับคู่แข่งอีกหลายคน เพื่อแย่งชิงความรักนี้มา ชักช้าไม่ได้ ไม่ทันการ ประเดี๋ยวคู่แข่งคาบไปกิน ดังนั้น จะต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อที่จะยิงประตูให้ได้เป็นอันพอ
ดังนั้น ครูเริงจึงแต่งอีกเพลง ให้พลิกกลับมาเล่าเรื่องในมุมผู้หญิง ที่ออกแนวตัดพ้อผู้ชายว่า เห็นตัวเธอเป็นของตาย คล้ายกับลูกฟุตบอล ที่จะต้องมาแข่งขันเกมกีฬา เพื่อที่จะแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น เพียงเพื่อจะเตะให้เข้าประตู ผู้หญิงเองก็คิดเองได้ จะเลือกใครมาเป็นคู่ครองก็ต้องเลือกด้วยตัวเอง มีสัจจะพอที่จะไม่นอกใจ หากทำแบบนั้นก็ขอยอมตายดีกว่าอยู่ ดังเนื้อเพลงที่ร้องว่า
"ความรักของชายมันมีทั้งร้ายทั้งดี ต่างทนสู้ไม่หนี เพื่อศักดิ์ศรีของตัว
ใครจะเก่งเป็นนักเลงก็ไม่กลัว ได้ทีแล้วก็ต้องมั่ว โดยมากยวนยั่วด้วยกัน
ลองรักหญิงใดเขาต้องปักใจวางแผน บ้างซื้อสร้อยซื้อแหวน บ้างหวงแหนเหลือเกิน
เอาอำนาจวาสนาค่าเงิน หากใครหลงมัวเพลิน จะยับเยินเมื่อถูกเขาชิง
รักชายหญิงทันจะหวานหรือมัน หญิงหรือชายต่างรู้กัน ผูกสัมพันธ์รอยยิ้ม หากเดินผิดทาง เหมือนขุนช้างแย่งรักแม่พิมพ์ กินหลับนอนตื่นมันฝืนจะอิ่ม ไปแย่งเขาชิมเป็นบาปหนักหนา
***พอทีนะชาย อย่ามองหญิงคล้ายลูกบอลล์ หญิงมีรักแน่นอน โปรดจงสังวรณ์ดูว่า มีความเจ็บ มีความช้ำ ระกำอุรา รักปักใจแล้วไปเสียท่า ก็ขอให้ฆ่าเสียเลย
(ซ้ำ ***)"
กระนั้น แม่จะมีการ "บัฟพลัง" จากแม่ผ่อง แต่หากมาวัดที่ตัวเพลงโดดๆ เพลงนี้ดันเกิด "อาภัพ" ไม่ติดหูมิตรรักแฟนเพลงไปเสียเฉยๆ แบบไม่น่าเชื่อ
ไม่ประสบความสำเร็จ
เมื่อลองพิจารณาอย่างถ้วนที่ อาจจะคาดเดาความล้มเหลวของเพลงได้ 2 ประการด้วยกัน
ประการแรก อาจเป็นเพราะแฟนเพลงยุคนั้นไม่คุ้นชินกับเนื้อหาที่เพลงสื่อ เพราะอย่าลืมว่า โลกในสมัย 70 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง อย่างยุคโลกาภิวัตน์ ในปัจจุบัน ฉะนั้น การทำอะไรที่เหมือนไป "กระตุกโลกทัศน์" ที่ดำเนินมาของคนในสังคม จึงเป็นสิ่งที่ไม่เข้าทีอย่างยิ่ง
ประการต่อมา แฟนเพลงอาจจะไม่ได้มีเซนส์ของการชมกีฬาเป็นเวลา "อดิเรก" แบบทุกวันนี้ เพราะสมัยก่อน ที่กีฬาเป็นกีฬาจริงๆ ไม่มีธุรกิจมาข้องเกี่ยว จึงเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เล่นกันเฉพาะกลุ่ม เล่นเองดูเอง
หรือไม่ก็เป็นสิ่งสุดท้ายที่ประชาชนในประเทศจะเป็นจริงๆ เพราะว่ากันตามตรง นักกีฬามีสถานภาพต่ำกว่าพวกเสมียน หรือโชเฟอร์ เสียอีก เว้นเสียแต่ได้เหรียญรางวัลจากมหกรรมกีฬาใดมหกรรมหนึ่ง จึงจะได้เลื่อนสถานะเป็น "ฮีโร่" ของประเทศ
นั่นจึงทำให้เพลงความรักเหมือนเกมกีฬา ไปไม่รอด เพราะแท้จริงนั้น ไม่เข้ากับยุคสมัยที่ตัวเพลงเกิดมา
กระนั้น หากมีการหยิบเพลงนี้นำมาทำดนตรีใหม่ หรือปรับคำปรับเนื้อร้อง ให้ทันสมัยมากขึ้น ในยุคที่กีฬาเป็นมากกว่าการแข่งขัน ฟุตบอลเฟื่องฟูถึงขีดสุด มีเม็ดเงินไหลเวียนสะพัดทั่วโลก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟุตบอลไทย ที่เริ่มตั้งไข่ และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
ไม่แน่เพลงนี้อาจจะ "อยู่ถูกที่ถูกเวลา" อย่างที่ควรเป็นก็ได้
แหล่งอ้างอิง
https://youtu.be/dwOITHULCtY
https://youtu.be/nXpEc0LHuzI
https://www.silpa-mag.com/culture/article_69137
https://www.ryt9.com/s/prg/37132