Feature

เงินๆ ทองๆ : ทำไมวงการฟุตบอลไทย(แทบ)ไม่เปิดเผยค่าตัวยามนักเตะย้ายทีม | Main Stand

“ลิเวอร์พูล บรรลุข้อตกลง 100 ล้านยูโร คว้าตัว ดาร์วิน นูนเญซ” “แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทุ่มร้อยล้านคว้าแจ็ค กรีลิช” “เชลซีพร้อมทุ่ม 80 ล้านปอนด์กระชากโฟฟาน่าจากเลสเตอร์” 

 

นี่คือพาดหัวข่าวของสื่อต่างประเทศเวลาที่นำเสนอข่าวการย้ายตัวของนักฟุตบอล ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่ทำให้ทุกคน “ว้าว” นอกเหนือจากการย้ายทีมของนักฟุตบอล คือตัวเลขของค่าตัวที่มหาศาลที่ทำให้ข่าวคราวการย้ายตัว ดูน่าสนใจสำหรับแฟนบอลมากขึ้นไปอีก 

เป็นเรื่องปกติของการพาดหัวข่าวย่อมต้องใช้คำที่เร้าอารมณ์คนให้ได้มากที่สุด เพื่อดึงดูดความน่าสนใจของตัวข่าว ฉะนั้นข่าวการซื้อขายตัวนักฟุตบอล สิ่งที่สำคัญที่สุดคงเป็น “ตัวเลขค่าตัว” 

ในต่างประเทศมักมีค่าตัวยามนักเตะย้ายทีมเปิดเผยตามหน้าสื่ออย่างเป็นประจำ ทว่าใน ไทยลีก กลับไม่เห็นการเปิดเผยค่าตัวในการย้ายทีมเท่าไหร่นัก หรือถ้าจะมีก็น้อยครั้งมากๆ ที่จะมีการพูดถึง

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นติดตามไปพร้อมกับเรา


    
ต่างประเทศก็เหมือนบ้านเรา

ย้อนกลับไปที่ต่างประเทศอีกครั้ง ในทุกการนำเสนอข่าวการย้ายทีมของนักฟุตบอลจะนำเรื่องค่าตัวมาเป็นประเด็นให้ผู้อ่านได้ติดตาม แต่คำถามคือพวกเขาเอาตัวเลขนี้มาจากไหน และเป็นตัวเลขที่เชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด 

ณรินทร์ภัทร บุณยวีรพันธ์ เจ้าของเพจ “ดูบอลกับแนท” ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 2 แสนคน เคยเล่าว่าการทำงานของนักข่าวต่างประเทศก็ไม่ได้ต่างจากนักข่าวไทยเท่าไหร่หรอก บางทีการทำงานแทบเหมือนกันด้วยซ้ำ หมายความว่าหากอยากรู้อะไรก็ต้องสอบถามคนที่น่าจะรู้เรื่อง ซึ่งก็คือ “แหล่งข่าว” นั่นเอง

นักข่าวแต่ละคนก็มีแหล่งข่าวเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะอยู่ในสโมสรหรือคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการซื้อขายตัวนักฟุตบอล ซึ่งแหล่งข่าวพวกนี้แหละ คือคนที่เปิดเผยตัวเลขของการย้ายตัวให้กับนักข่าวได้เอามานำเสนออีกต่อผ่านหน้าสื่อ

โดยการทำงานของสื่อต่างประเทศจะมีสื่อที่หลายคนให้ความน่าเชื่อถือ อาทิ BBC, The Athletic หรือ Telegraph ของประเทศอังกฤษ ซึ่งเหล่านี้มักมีแหล่งข่าววงใน และหากนำตัวเลขมาเทียบกันปรากฎว่ามีความใกล้เคียงหรือตรงกัน ก็จะถือว่านักเตะคนนั้นมีค่าตัวตามที่นำเสนอออกมา

แต่ก็ใช่ว่าตัวเลขที่นำเสนอออกมานั้นจะเป็นตัวเลขที่ถูกต้อง 100% เพราะคงไม่มีใครรู้ตัวเลขอย่างเป็นทางการ ยกเว้นว่าจะเปิดเผยขึ้นมาโดยตรงจากสโมสร

เหมือนอย่างเช่นกรณีของ ดาร์วิน นูนเญซ กองหน้าชื่อดังที่เพิ่งย้ายจากเบนฟิก้า ในโปรตุเกส มาอยู่กับลิเวอร์พูลทีมดังของประเทศอังกฤษ ที่มีการเปิดเผยจากสื่ออย่างเป็นทางการของสโมสรเบนฟิก้า ที่ออกแถลงการณ์บนเว็บไซต์ของสโมสระบุว่าตอนนี้ทีมได้บรรลุข้อตกลงกับ ลิเวอร์พูล ในการขาย ดาร์วิน นูนเญซ เป็นจำนวนเงิน 75 ล้านยูโร และมีข้อตกลงเพิ่มเติมทำให้ค่าตัวสูงถึง 100 ล้านยูโร

นี่คงเป็นตัวเลขที่สามารถยืนยันได้อย่างเป็นทางการ เพราะแหล่งข่าวนี้คือสโมสรที่ได้รับเงินโดยตรง....แต่เคสนี้ก็น้อยครั้งมากๆ ที่สโมสรจะออกมาป่าวประกาศให้คนทั่วไปได้รับรู้

ดังนั้นแล้ว ในแง่ของตัวเลข “จริง” ฟุตบอลนอกก็ไม่ต่างจากฟุตบอลไทยที่ยากจะรู้ตัวเลขแท้จริงของการย้ายตัว แต่ข้อแตกต่างคือในฟุตบอลนอกสามารถมีการหาตัวเลขมาเล่นข่าวกันแทบทุกวัน ขณะที่ฟุตบอลไทยกลับตรงข้ามเพราะมีไม่กี่ดีลเท่านั้นที่สื่อจะสามารถขุดตัวเลขมาเล่นข่าวกันได้ นั่นก็เพราะความแตกต่างของ “แหล่งข่าว” ในฟุตบอลไทยกับฟุตบอลนอก

 

เอเยนต์แหล่งข่าวชั้นดี

แหล่งข่าวมีหลากหลายรูปแบบ ไม่เพียงแต่เป็นคนในสโมสรเพียงอย่างเดียว แต่บุคคลหนึ่งที่มีความน่าเชื่อถือได้มากที่สุดคงหนีไม่พ้นเอเยนต์นักฟุตบอล

พวกนี้รู้เรื่องค่าตัวของนักเตะตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้นจึงเป็นแหล่งข่าวชั้นดีของบรรดานักข่าวที่จะคอยสอบถามค่าตัวและอาจรวมไปถึงค่าเหนื่อยด้วย นั่นหมายความว่าหากนักข่าวสนิทกับเอเยนต์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสรู้ลึกถึงค่าตัวมากเท่านั้น

ทว่าเอเยนต์ก็ใช่ว่าจะปริปากบอกข้อมูลกับนักข่าวทุกคน แต่คนที่เขาพร้อมบอกข้อมูลจะต้องเป็นคนที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ พูดง่าย ๆ คือต้องมี “คอนเน็คชั่น” ระหว่างกัน

ฟาบริซิโอ โรมาโน นักข่าวชาวอิตาลี่วัย 29 ปี ที่ได้รับการยอมรับว่ามีความแม่นยำเกี่ยวกับการย้ายทีมของนักฟุตบอลมากที่สุดก็มีแหล่งข่าวเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นคนในสโมสรหรือแม้แต่ “เอเยนต์” ซึ่งที่ผ่านมาความน่าเชื่อถือของ โรมาโน ได้รับการยอมรับเพราะทุกอย่างเป็นไปตามข่าวที่เขานำเสนอ

แต่กว่า โรมาโน จะมาถึงจุดนี้ได้ เขาต้องใช้เวลาบ่มเพาะประสบการณ์และสะสมคอนเน็คชั่นนานกว่า 10 ปีเลยทีเดียว ซึ่งจานลูกา ดิ มาร์ซิโอ ผู้สื่อข่าวรุ่นใหญ่ชาวอิตาเลียน เปรียบเสมือนอาจารย์ของ โรมาโน บอกว่าเคล็ดลับที่สำคัญในการหาข่าวคือคุณต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคน

“เขาสอนผมว่าอย่ารอเช็กข่าวจากสโมสรอย่างเดียว แต่ยังต้องติดตามกับเอเยนต์หรือคนที่อยู่เบื้องหลังด้วย” โรมาโน กล่าว

“ในวันนึงผมโทรศัพท์ไม่ต่ำกว่า 50 ครั้ง รวมไปถึงการเดินทางไปสำนักงานใหญ่ของสโมสรต่างๆ เพื่อขอข้อมูลในการนำเสนอข่าว ฉะนั้นถ้าผมไม่มั่นใจจริงๆ ก็จะไม่เปิดเผยข้อมูลเด็ดขาด”

นั่นหมายความว่าค่าตัวของนักฟุตบอลไม่ได้มาจากการที่สโมสรเป็นคนป่าวประกาศแต่อย่างใด แต่เกิดจากการสืบเสาะของนักข่าวที่ได้มาจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ จึงเป็นที่มาของการทราบถึงค่าตัวของนักเตะคนนั้นๆ

ซึ่งด้วยความที่ระบบการทำงานของสื่อต่างประเทศ ร่วมกับแหล่งข่าวต่าง ๆ ทั้งเอเยนต์ หรือบุคลากรในสโมสรเกิดขึ้นมานาน จึงเกิดเป็นเหมือนวงจรของการนำเสนอข่าวเรื่องค่าตัวออกมา เพื่อสร้างผลประโยชน์ในการต่อรอง ให้กับตัวนักเตะบ้าง หรือสโมสรบ้าง แล้วแต่วาระกับโอกาสที่ต่างกันออกไป

 

ไทยละเอียดอ่อนและยากจะเข้าถึง

ตัดกลับมาที่ประเทศไทย การนำเสนอข่าวการย้ายทีมของนักฟุตบอลไม่ค่อยพูดถึงเรื่องตัวเลขค่าตัวสักเท่าไหร่ หรือที่ผ่านมาก็มีน้อยคนนักที่จะถูกพูดถึงค่าตัวในการย้ายทีม

เหตุผลเป็นเพราะว่าคนที่รู้เรื่องนี้มักไม่มีใครปริปากพูดออกมา อย่าว่าแต่เรื่องค่าตัวเลย แค่มีการเปิดโต๊ะเจรจาทุกอย่างก็เป็นความลับตั้งแต่ต้น เพราะทีมไม่อยากให้ใครได้รับรู้ก่อนที่สื่ออย่างเป็นทางการของสโมสรจะตีข่าวเป็นที่แรก

ดังนั้นแล้วการที่สื่อหรือนักข่าวจะรู้เรื่อง ทุกอย่างก็เสร็จสิ้นสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว และมีการยืนยันจากสโมสร ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีการพูดถึงค่าตัวแต่อย่างใด นั่นทำให้นักข่าวต้องไปสืบเสาะหาเอาเอง 

แน่นอนว่าสิ่งที่นักข่าวจะสืบเสาะได้ก็ต้องมาจากแหล่งข่าว ซึ่งคราวนี้แหละอยู่ที่ว่านักข่าวคนใดมีคอนเน็คชันมากกว่ากัน ไม่ต่างจากที่ต่างประเทศ หากใครรู้จักคนในสโมสรที่เชื่อถือได้ก็จะทราบตัวเลขที่แน่ชัด แต่หากนักข่าวคนใดเข้าไม่ถึงแหล่งข่าวในสโมสรก็ต้องใช้วิธีการอื่นนั่นก็คือสอบถามจากเอเยนต์

เอเยนต์ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุกคนได้ทราบว่านักฟุตบอลไทยคนนั้นๆ มีค่าตัวอยู่ที่เท่าไหร่ แต่ก็ใช่ว่าเอเย่นต์จะบอกกับทุกคน เพราะเรื่องเงินๆ ทองๆ ในประเทศไทยถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ฉะนั้นแล้วหากนักข่าวไม่สนิทสนมกับเอเย่นต์จริงๆ ก็ยากที่จะรู้

ด้วยความที่เรื่องเงินทองการทำธุรกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องที่จะเอาไปบอกผ่านสื่อกันง่าย ๆ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่เราจะได้เห็นเอเยนต์เปิดเผยข้อมูลผ่านสื่อ ยกเว้นส่วนใหญ่ที่เห็นกัน ก็จะเป็นดีลการย้ายตัวที่มีค่าตัวสูง เพราะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับนักเตะได้ 

ซึ่งในกรณีแบบนี้ มักจะมีการเปิดเผยตัวเลขระบุอย่างชัดเจน เป็นเพราะว่ามีการยืนยันจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ และบางคนถึงขั้นมีการให้สัมภาษณ์จากทางสโมสร

เช่น ธีราทร บุญมาทัน ย้ายจาก บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ไปร่วมทีม เมืองทอง ยูไนเต็ด เมื่อปี 2559 โดยตอนนั้น ทัดเทพ พิทักษ์พูลสิน ผู้จัดการทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ได้ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่าขาย ธีราทรไปให้เมืองทองในค่าตัว 30 ล้านบาท

หรือแม้แต่ล่าสุดการย้ายทีมของ วรชิต กนิษศรีบำเพ็ญ ที่เปลี่ยนสีเสื้อจาก ชลบุรี มาเป็น บีจี ปทุม ยูไนเต็ด มีการคาดการณ์จากสื่อในทีแรกว่าค่าตัวอยู่ที่ 50 ล้านบาท แต่ว่าต่อมา ปวิณ ภิรมย์ภักดี ประธานสโมสรบีจีฯ ได้ออกมายืนยันด้วยตัวเองว่าไม่เป็นความจริง เพราะสถานการณ์แบบนี้ไม่อาจจ่ายเงินสูงถึงขนาดนั้นได้

นั่นหมายความว่าค่าตัวของนักฟุตบอลที่ผ่านมาไม่อาจบอกได้ว่าเป็นตัวเลขที่แน่นอน 100% ได้ทั้งหมด เพียงแต่มีความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่อย่างน้อยก็พอทำให้เรารู้ได้ว่านักเตะบางคนย้ายตัวด้วยค่าตัวแพงประมาณไหน และตีข่าวสร้างความตื่นเต้นให้กับแฟนบอลได้บ้าง

แต่สำหรับนักเตะที่ไม่ได้มีดีกรีชื่อดังระดับผู้เล่นทีมชาติ ก็คงไม่มีการเปิดเผยตัวเลขผ่านหน้าสื่อออกมาเท่าไหร่นัก 

นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่าวงการฟุตบอลไทย ยังไม่ได้ย้ายตัวในหลักมหาศาลแบบที่เกิดขึ้นในฟุตบอลต่างประเทศที่นักเตะส่วนใหญ่ย้ายตัวกันในหลักสิบล้าน แต่ของไทยนักเตะบางคนย้ายตัวกันด้วยค่าตัวน้อยนิดเพียง “หลักแสน” เท่านั้น

จึงกลายเป็นเหมือนตลกร้ายที่บางการซื้อขาย ก็ไม่มีการเปิดเผยค่าตัว เพียงเพราะค่าตัวน้อยเกินไป กลัวออกข่าวแล้วจะไม่สร้างกระแส “ว้าว” ผ่านทางหน้าสื่อเหมือนดีลระดับสิบล้านบาท

 

เงินสนับสนุนแลกตัวนักเตะ

อีกทั้งอาจจะเรียกว่าเป็นเรื่องเฉพาะของฟุตบอลไทยก็ได้ ที่การย้ายตัวสามารถเกิดขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินสดเป็นก้อนเท่านั้น

การซื้อขายหรือโยกย้ายของนักฟุตบอลในไทยลีก ไม่ได้มีแค่จ่ายเงินแล้วจบแต่มีรูปแบบอื่นๆ มาประกอบมากมาย 

เช่น สโมสรหนึ่งมีธุรกิจนอกสนามจึงใช้วิธีการแลกเปลี่ยนด้วยการเข้าไปเป็นผู้สนับสนุนทีมเพื่อแลกกับนักฟุตบอล 1 หรือ 2 คน เป็นต้น ดังนั้นจึงไม่อาจบอกได้ว่านักฟุตบอลคนนั้นมีค่าตัวอยู่ที่เท่าไหร่

หรือบางทีมีการแลกตัวนักฟุตบอลกันเกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องปกติที่สามารถทำกันได้ จึงไม่อาจรู้ได้ว่านักฟุตบอลคนนั้นๆ มีค่าตัวกี่บาทกันแน่

ในอดีตที่ผ่านมาเคยมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเสนอให้มีการบอกตัวเลขค่าตัวของนักฟุตบอลในทุกการซื้อขาย เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับวงการฟุตบอลไทยและสร้างความตื่นเต้นให้กับแฟนบอล เหมือนกับฟุตบอลต่างประเทศ ทว่าสุดท้ายหลายทีมไม่เห็นด้วยด้วยเหตุผลส่วนตัว จึงทำให้ทุกอย่างเป็นความลับต่อไป

ถึงสีสันตรงนี้ จะสู้ฟุตบอลต่างประเทศไม่ได้ แต่สุดท้ายสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันกับบอลไทย และบอลนอก คือข่าวก็คือข่าว สุดท้ายเราก็ต้องฟังหูไว้หู คิดว่าเป็นความสนุกของการติดตามเกมลูกหนังรูปแบบหนึ่งก็พอ เพราะค่าตัวนักเตะก็คงไม่สำคัญ เท่ากับการที่ทีมรักของทุกคนได้นักเตะฝีเท้าดีมาร่วมทีม ไม่ว่าพวกเขาจะค่าตัวเท่าไหร่ก็ตาม

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.slbenfica.pt/pt-pt/agora/noticias/2022/06/13/futebol-benfica-darwin-comunicado-cmvm-transferencia-liverpool?fbclid=IwAR3PLdU4pWc_YD1UfMLhLZWbEx7U33l_EWGJ8L6ALZlCjjoFB_xs4U8i0Nw
https://www.nationtv.tv/original/378851738
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/697946    

Author

ธรรมวัตร เอกฉัตร

"เรื่องบอลไทยไว้ใจผม แต่ภรรยาผมกับไม่เคยไว้ใจผมเลย"

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ