Feature

วันเศร้าชาวมิลาน : เมื่อสนาม ซาน ซิโร่ กำลังจะถูกทุบทิ้งจนเหลือแต่อดีตให้หวนนึกถึง | Main Stand

ไม่แน่ในสักวันแฟนบอล เอซี มิลาน กับ อินเตอร์ มิลาน อาจจะต้องพูดประโยคนี้กับลูก ๆ หลาน ๆ ของพวกเขาว่า

"ครั้งหนึ่งในอดีต เราเคยมีสนามฟุตบอลสุดยิ่งใหญ่ที่มีชื่อว่า ซาน ซิโร่"

 


ที่เกริ่นมาข้างต้นอาจไม่ใช่เรื่องตลกสำหรับสองแฟนบอลของสโมสรดังจากเมืองมิลาน เพราะรังเหย้าของพวกเขาเตรียมเหลือแต่รูปถ่ายกับวิดีโอให้ดูในไม่ช้านี้ เมื่อสภาเมืองมิลานอนุมัติให้ทำลายสนามทิ้งเพื่อสร้างใหม่เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2020 ที่ผ่านมา โดยพวกเขาจะย้ายไปเล่นในสนามแห่งใหม่ที่ไม่ไกลกันมากอย่างเร็วสุดภายในฤดูกาล 2027-28

แต่การทำลายสนาม ซาน ซิโร่ ในครั้งนี้ไม่ได้มาแบบธรรมดาเพราะจะเป็นการรื้อถอนออกหมดทุกส่วน แม้กระทั่งหอคอยทั้ง 11 เสาอันเป็นเอกลักษณ์ที่ล้อมรอบสนามก็มีอันต้องหายไปเช่นกัน ทำเอาแฟนบอลที่ผูกพันกับสนามแห่งนี้มานานถึงกับใจสลาย

เพราะเหตุใดประเทศอิตาลี ดินแดนที่ขึ้นชื่อเรื่องศิลปะและความงาม กลับไม่เหลียวแลที่จะรักษาสิ่งที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ Main Stand ขอพาทุกคนไปซึมซับสิ่งดี ๆ ของสนาม ซาน ซิโร่ ก่อนที่จะเหลือแต่เพียงเรื่องเล่าในไม่ช้า

 

ปฐมกาล

หากนึกถึง ซาน ซิโร่ ในแวบแรกใคร ๆ ต่างก็จดจำมันในฐานะสนามฟุตบอลที่มี 2 ทีมใหญ่ใช้ร่วมกัน นั่นก็คือ เอซี มิลาน กับ อินเตอร์ มิลาน แต่ถ้าจะให้พูดถึงที่มาของสนามแห่งนี้ ขอบอกก่อนเลยว่าแรกเริ่มเดิมทีทั้งสองสโมสรดังเมืองมิลานต่างลงเล่นสนามอื่นมาก่อน

ทาง "ปีศาจแดง-ดำ" เอซี มิลาน นับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสรในปี 1899 ก่อนจะมาลงเอยที่ ซาน ซิโร่ พวกเขาระหกระเหินตระเวนเล่นตามสนามกีฬาต่าง ๆ ทั่วเมืองมิลานมามากกว่า 6 สนามด้วยกัน ส่วนฝั่งคู่แข่งอย่าง "งูใหญ่" อินเตอร์ มิลาน ที่ก่อตั้งสโมสรในปี 1908 ก็ผ่านการใช้สนามในการเล่นมาก่อนหน้านี้ 3 สนาม

กระทั่งวันแห่งประวัติศาสตร์ก็มาถึงเมื่อ "ปิเอโร พิเรลลี่" ประธานสโมสรเอซี มิลาน ช่วงปี 1909-1928 (สำหรับแฟนกีฬาสายความเร็วที่คุ้น ๆ นามสกุล เขาคือทายาทของ โจวานนี่ พิเรลลี่ ผู้ก่อตั้งบริษัทยางรถยนต์ Pirelli ที่ต่อมากลายเป็นสปอนเซอร์คู่บุญของ อินเตอร์ มิลาน นั่นเอง) มีความคิดสร้างสนามฟุตบอลแบบไม่มีลู่วิ่งขึ้นมาใช้เป็นของตัวเองในช่วงปลายปี 1925 จึงไล่ซื้อที่ดินบริเวณรอบสนามแข่งม้าของเขาในเขตซาน ซิโร่ เมืองมิลาน มาทำเป็นสนามฟุตบอล

สำหรับสนามกีฬาแห่งนี้ใช้เวลาสร้างเพียงแค่ 13 เดือนเท่านั้น เริ่มจากเดือนสิงหาคม 1925 ถึงเดือนกันยายน 1926 โดยพิเรลลี่ได้แรงบันดาลใจมาจากสนามฟุตบอลของอังกฤษที่ไม่มีลู่วิ่งและเป็นอัฒจันทร์แยกจากกัน 4 ด้าน  

ในส่วนของโครงสร้าง เริ่มต้นสนามกีฬาออกแบบโดยวิศวกรชาวอิตาลี อัลแบร์โต คูจินี่ และสถาปนิกเพื่อนร่วมชาติ อูลิสเซ สตัคชินี่ ประกอบด้วยสี่อัฒจันทร์แยกจากกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ทำจากคอนกรีตเสริมเหล็ก มีหลังคาฝั่งเดียว (อัฒจันทร์หลัก) มาพร้อมกับความจุ 35,000 คน (ยืนผสมนั่ง) นอกจากนี้พื้นที่บางส่วนใต้อัฒจันทร์ยังถูกใช้เป็นห้องแต่งตัว ห้องอาบน้ำ และสำนักงานทั่วไป รวมถึงคอกม้าชั่วคราว โรงนา และห้องเก็บของสำหรับเก็บอาหารสัตว์

เดิมทีช่วงเปิดใช้งานระยะแรกสนามถูกเรียกว่า "Nuovo Stadio Calcistico San Siro" ที่มีความหมายคือ "สนามฟุตบอลแห่งใหม่ในซาน ซิโร่" โดยที่แฟนบอล เอซี มิลาน จะเรียกสั้น ๆ ว่า "ซาน ซิโร่" ตามชื่อเขตที่ตั้งสนามซึ่งห่างจากตัวเมืองมิลานไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว 5 กิโลเมตร

เมื่อรังเหย้าเสร็จสมบูรณ์ เอซี มิลาน ก็ย้ายสังเวียนจาก "เวียเล่ ลอมบาร์เดีย" ที่ใช้มา 6 ปี (1920-1926) มาเปิดศักราชใหม่ที่ ซาน ซิโร่ โดยประเดิมสนามเป็นทางการนัดแรกพบกับ อินเตอร์ มิลาน ทีมคู่อริร่วมเมืองที่ตอนนั้นทัพงูใหญ่มีรังเหย้าอยู่ที่สนาม "อารีนา ซิวิกา" (Arena Civica) แต่ผลปรากฏว่าฝ่ายอาคันตุกะบุกมากระซวกไส้คาบ้าน 6-3 ในวันที่ 19 กันยายน 1926 

9 ปีต่อมา (1935) สภาเมืองมิลานตัดสินใจเข้าซื้อสนามพร้อมกับลงมือขยายสนามทันที โดยทำการต่อเติมอัฒจันทร์ทรงโค้งตรงหัวมุมเพื่อให้อัฒจันทร์ได้ล้อมสนามครบทุกด้านส่งให้ความจุสนามกระโดดเพิ่มขึ้นเป็น 55,000 คน แต่ด้วยเหตุผลบางประการในปี 1941 เอซี มิลาน ย้ายสนามชั่วคราวไปยัง อารีนา ซิวิกา รังเหย้าของ อินเตอร์ มิลาน ก่อนจะย้ายกลับมาที่ ซาน ซิโร่ อีกครั้งในปี 1945

ก่อนที่อีก 2 ปีต่อมาในคริสตศักราช 1947 ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ได้ถือกำเนิด เมื่อ อินเตอร์ มิลาน ตัดสินใจโบกมือลาสนาม อารีนา ซิวิกา (Arena Civica) ที่ใช้มานานกว่า 17 ปี (1930-1947) จากย่านโซน 1 ในดาวน์ทาวน์ของเมืองขยับขึ้นไป 5 กิโลเมตร ณ โซน 7 หรือทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของดาวน์ทาวน์ และมาขอใช้สนาม ซาน ซิโร่ ร่วมกับ เอซี มิลาน โดยให้เหตุผลว่าสนามของพวกเขาเล็กเกินไป (ไม่มีเก้าอี้นั่ง จุคนได้ประมาณ 18,000–30,000 คน) อีกทั้งสนามยังเป็นของสภาเมืองซึ่งไม่สามารถต่อเติมได้ตามใจจึงต้องจำใจย้าย และเมื่อผ่านการอนุมัติจากสภาเมือง จุดเริ่มต้นของศักราชสองมิลานในสนามเดียวก็อุบัติขึ้น

 

Towers 11

หอคอย 11 (Tower 11) เสาแท่งกลมที่ล้อมรอบสนามจำนวน 11 ต้น บ่งบอกถึงความสุดยอดของประเทศอิตาลี ดินแดนที่ได้ชื่อว่ามีสถาปัตยกรรมงดงามเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ความเป็นเอกลักษณ์ของมันโดดเด่นจนแม้กระทั่งคนไม่ดูกีฬาฟุตบอลยังต้องเหลียวมอง

แต่ที่มาของหอคอยเหล่านี้ต้องย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1980s เมื่อประเทศอิตาลีได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ปี 1990 จึงทำให้เกิดหนึ่งในงานช้างที่เจ้าภาพหลีกหนีไม่ได้เลยนั่นคือการปรับปรุงสนามครั้งใหญ่ รวมถึง ซาน ซิโร่ ด้วย เพราะในเวลานั้น ซาน ซิโร่ จะถูกใช้เป็นสังเวียนลูกหนังที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอิตาลีด้วยจำนวนความจุ 85,000 คน (ปรับปรุงล่าสุดปี 1955)

เมื่อเหล่าสถาปนิกมาระดมสมองกันก็ได้ความเห็นว่า ซาน ซิโร่ ต้องเพิ่มความจุขึ้นไปให้มากขึ้น โดยทีแรกเหล่าสถาปนิกคิดนำแผนขยายสนามในปี 1948 กลับมาปัดฝุ่นใหม่อีกครั้งที่วางเป้าหมายไว้สูงลิ่วด้วยความจุถึง 150,000 คน ด้วยการเพิ่มอัฒจันทร์ทุกฝั่งไปอีกชั้นให้เป็น 3 ชั้น แต่เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัยแผนนี้จึงไม่ผ่านเป็นหนที่สอง

แต่ความทะเยอทะยานไม่สิ้นสุดแค่นั้น ในปี 1987 สภาเมืองมิลานก็ได้สองสถาปนิกอย่าง จิอันคาร์โล รากัซซี่ และ เฮนรี่ ฮอฟเฟอร์ ร่วมมือกับวิศวกรนามว่า ลีโอ ฟินซี่ มาช่วยพัฒนาพื้นที่โดยรอบและขยายสนามซึ่งไอเดียของพวกเขาบอกได้เลยว่ามันจะเปลี่ยนประวัติศาสตร์สนามแห่งนี้ไปตลอดกาล

จากแปลนสนามเดิมที่เป็นอัฒจันทร์ 2 ชั้นล้อมครบทุกด้านจากการต่อเติมสนามครั้งล่าสุดเมื่อปี 1955 พวกเขาตัดสินใจเพิ่มชั้นที่ 3 ด้วยการสร้างหอคอยทรงเกลียวขึ้นมา 11 ต้นล้อมอัฒจันทร์เดิมเพื่อรับน้ำหนักอัฒจันทร์ชั้นที่ 3 และหลังคาโดยเฉพาะเพื่อความจุ 85,700 ที่นั่ง อีกทั้งยังปรับปรุงภาพลักษณ์ของสนามเก่าให้ดูทันสมัยขึ้นด้วยการติดเก้าอี้ให้หมดเพื่อปิดโซนยืนเชียร์ สกอร์บอร์ด และระบบไฟถูกซ่อมแซมให้ดูสวยหรู 

เมื่อการขยายสนามเสร็จสิ้นในปี 1990 ก็ทันใช้แข่งฟุตบอลโลกในปีนั้นพอดีเป๊ะ สนามได้รับคำชื่นชมจากชาวโลกและแฟนบอลที่เดินทางมาเยี่ยมชมถึงความสวยงามโดยเฉพาะเจ้าหอคอย Tower 11 ที่เด่นสะดุดตามองเห็นได้แต่ไกลหลายกิโลเมตร จนมันกลายมาเป็นสถาปัตยกรรมที่ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของสนามซาน ซิโร่ ซึ่งการลงทุนด้วยเม็ดเงินไปมากกว่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐในครั้งนั้นเรียกได้ว่าคุ้มทุกบาททุกสตางค์ เพราะเสา 11 ต้นนี้ทำงานได้มากกว่าการเป็นเสาค้ำโครงสร้างสนามไปไกล

 

มหาวิหาร

หลังจากสนามซาน ซิโร่ และหอคอย 11 (Tower 11) ทำหน้าที่เชิดหน้าชูตามานานกว่า 30 ปี ในที่สุดก็ถึงวันที่มันต้องบอกลาแฟนบอลอันเป็นที่รัก

ย้อนกลับไปในปี 2012 อินเตอร์ มิลาน ประกาศโครงการสร้างสนามใหม่ของตัวเองแต่ก็ถูกพับไปโดยเร็ว จากนั้นในปี 2015 เอซี มิลาน ก็ประกาศลั่นขอย้ายสนามบ้าง โดยจะไปสร้างใหม่ที่เขตปอร์เตลโล แต่สุดท้ายแผนก็ล่มไม่เป็นท่า

แต่เมื่อใจมันหมดรักไปแล้วยังไงมันก็จะย้ายให้ได้ 24 มิถุนายน 2019 ทั้งสองสโมสรออกแถลงการณ์สร้างสนามใหม่โดยมีเป้าเสร็จให้ทันในฤดูกาล 2022-23 แต่ทว่า จูเซปเป ซาลา นายกเทศมนตรีนครมิลาน รวมไปชาวเมืองและแฟนบอลได้รวมตัวเรียกร้องกดดันให้สโมสรใช้งานสนามซาน ซิโร่ ไปจนถึงมหกรรมกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูหนาวปี 2026 ที่เมืองมิลานและเทศบาลกอร์ตีนาดัมเปซโซ เป็นเจ้าภาพร่วม ซึ่งคำขอของชาวเมืองก็ได้ผลและยังมีสิทธิ์เห็นสนามแห่งนี้ต่อไปอีกอย่างน้อย 4 ปี

แน่นอนว่านี่เป็นการผลิกโฉมครั้งสำคัญ เพราะสองสโมสรได้วางแปลนสนามแห่งใหม่ให้อาณาจักรของพวกเขากลายเป็นพื้นที่สีเขียวและอนุรักษ์ธรรมชาติกับสิ่งแวดล้อมภายใต้พื้นที่โดยรอบ 55.66 ไร่ โดยจะทำการกวาดซื้อที่ดินบริเวณนั้นมาพัฒนา และนอกจากสนามฟุตบอลใหม่แล้วก็จะมีศูนย์ประชุมและศูนย์การค้าขนาดใหญ่ สวนสาธารณะเทศบาล สถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง พิพิธภัณฑ์ เป็นต้น เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนของชาวเมือง ซึ่งคาดว่าโปรเจ็กต์มโหฬารนี้จะเสร็จภายในปี 2030 แต่ส่วนของสนามฟุตบอลจะเร่งให้เสร็จทันเปิดฤดูกาล 2027-28

ด้านหัวใจหลักอย่างสนามฟุตบอลจะถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "นูโว สตาดิโอ มิลาโน" (Nuovo Stadio Milano) หรือในชื่อไทยคือ สนามกีฬาเมืองมิลานแห่งใหม่ แต่ทว่าด้วยรูปทรงของมันเลยถูกเรียกคร่าว ๆ ว่า "เดอะ คาธิดรัล" (The Cathedral) ที่แปลได้ว่า "มหาวิหาร" ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากศูนย์การค้า "กัลเลเรีย วิตโตริโอ เอมานูเอเล เซคอนโด" (Galleria Vittorio Emanuele II) ห้างสรรพสินค้าที่เก่าแก่สุดในโลกซึ่งตั้งอยู่ที่ใจกลางนครมิลาน และอาคารอาสนวิหารมิลาน (Duomo di Milano) โดยตัวสนามมาพร้อมกับความจุราว 60,000 ที่นั่ง ลดลงจาก ซาน ซิโร่ เดิมที่จุคนได้ 75,923 ที่นั่ง ทั้งนี้สองสโมสรให้ความเห็นว่าปัจจุบันจำนวนแฟนบอลเข้าสนามน้อยกว่าความจุจริงของซาน ซิโร่ เป็นอย่างมาก ดังนั้นการลดความจุลงมาให้เหมาะสมจึงเป็นทางเลือกที่ช่วยประหยัดแถมยังทำให้แฟนบอลเต็มสนามอีกด้วย

สำหรับการออกแบบสนามจะได้บริษัท Populous ที่เคยรับผิดชอบโครงการสร้างสนามชื่อดังหลายแห่งทั้งสนามเวมบลีย์ใหม่, เอมิเรตส์ สเตเดียม และ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ สเตเดียม มารับหน้าที่ออกแบบและก่อสร้างโดยจะอยู่ภายใต้แนวคิดสนามกีฬาที่ยั่งยืนที่สุดในยุโรป มาพร้อมโครงสร้างเก้าอี้ที่ช่วยให้แฟนบอลอยู่ใกล้ชิดกับนักกีฬาและการแข่งขันมากที่สุด อีกทั้งแสงของโครงรอบสนามยังสามารถปรับเปลี่ยนสีไปตามสโมสรที่ลงแข่งขันเหมือนกับสนามชื่อดังทั่วยุโรป เช่น อลิอันซ์ อารีนา, เมโทรโปลิตาโน่ สเตเดียม เป็นต้น 

ฟังดูอาจสวยหรูและยิ่งใหญ่ แต่รู้หรือไม่ว่าแฟนบอลและชาวเมืองต่างน้ำตาตกในที่จะไม่ได้เห็นสนามฟุตบอลอันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองอีกต่อไป และในวันที่ 22 พฤษภาคม 2020 หน่วยงานดูแลมรดกวัฒนธรรมของอิตาลีก็อนุมัติให้ทุบทำลายสนามซาน ซิโร่ อย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ดีส่วนของหอคอยทั้ง 11 ต้นจะถูกรักษาไว้ 1 หอคอย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงการมีตัวตนของสนามซาน ซิโร่ ซึ่งจะตั้งเด่นอยู่ไม่ไกลนักจากตัวสนามฟุตบอลและยังใช้ชั้นดาดฟ้าเป็นจุดชมวิวของเมืองอีกด้วย แต่ทว่าที่กล่าวมาคงได้แค่ฝันไป

 

ได้แต่นึกถึง (อดีต)

จากคอลัมน์ของ อัลวิเซ แกคนาซโซ นักเขียนบทความชาวอิตาลี ได้เขียนไว้ในเว็บไซต์ข่าว Daily Mail เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวของสภาเมืองมิลานว่า หอคอย 11 (Tower 11) ทุกต้นได้รับการอนุมัติให้ทุบทิ้งตามสนามไปด้วย ทำเอาแฟนบอลและชาวเมืองเสียใจอย่างมากที่จะได้เห็นสนามซาน ซิโร่ แต่ในรูปภาพกับคลิปวิดีโอในอีกไม่ช้า ตอนนี้เหลือโอกาสให้เก็บเกี่ยวความทรงจำเกี่ยวกับสนามได้ถึงปี 2026 ก่อนถูกรื้อทำลายหลังจบมหกรรมโอลิมปิกฤดูหนาวในปีเดียวกัน

หมายความว่าสนามซาน ซิโร่ จะไม่ต่างกับสนามเวมบลีย์เวอร์ชั่นออริจินัลที่เคยมีหอคอย "ทวินทาวเวอร์" ที่ถูกทุบทิ้งไปเพื่อสร้างสนามเวมบลีย์ใหม่อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน ซึ่งสองสนามนี้ต่างมีสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ที่ถูกทำลายโดยไม่คิดถึงการอนุรักษ์ไว้เลย

จึงไม่แปลกที่คนเสียใจที่สุดจะเป็นแฟนบอล เพราะสิ่งที่พวกเขารักกำลังจะหายไปต่อหน้าต่อตา โดย อันเดรีย เคลนซี่ ตัวแทนฝั่งแฟนบอลเอซี มิลาน เดินหน้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อสภาเมืองมิลานร้องขอไม่ให้ทำลายสนามซาน ซิโร่ ทิ้งจนหมด โดยเขาได้จัดแคมเปญต่อต้านนี้ลงเว็บไซต์ change.org เพื่อรวบรวมเสียงประชาชนที่ไม่เห็นด้วย

"ได้โปรด อย่าทำลายสนามกีฬาซาน ซิโร่"

"โลกฟุตบอลมองว่าสนามกีฬาซาน ซิโร่ เป็นสัญลักษณ์ไม่เพียงแต่ของเมืองมิลานหรือของสองสโมสรในมิลานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงฟุตบอลโดยทั่วไป แน่นอนว่ามันอยู่ในหัวใจของแฟนฟุตบอลส่วนใหญ่ไม่เพียงเพราะประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่มันยังเป็นเพราะสถาปัตยกรรมของมันด้วย การรื้อถอนเพื่อสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่คงทำร้ายความรู้สึกของหลายคน โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชม"

"เราขอยกตัวอย่างเมืองมิวนิค เมื่อทั้งสองสโมสรในมิวนิค (บาเยิร์น มิวนิก และ 1860 มิวนิค) ตัดสินใจสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ พวกเขาไม่ได้รื้อถอนสนามกีฬาโอลิมปิก มิวนิค เพราะพวกเขารู้ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของเมือง ประชาชนถูกขอให้ลงคะแนนเสียงเกี่ยวกับที่ตั้งของสนามกีฬาแห่งใหม่แล้วให้สนามกีฬาแห่งเดิมถูกใช้สำหรับคอนเสิร์ตและกิจกรรมอื่น ๆ มาจนถึงทุกวันนี้ และผู้คนก็ยังคงสนุกไปกับมัน ทำไมเราไม่สามารถทำเช่นเดียวกันในมิลาน สนามกีฬาแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ที่ยอดเยี่ยม มีผู้เล่นและแมตช์พิเศษมากมายเกิดขึ้นที่นี่ น่าเสียดายที่พวกเขาเลือกที่จะทำลายความทรงจำเหล่านี้ทั้งหมด" เคลนซี่ กล่าวในเว็บไซต์ change.org

สำหรับโปรเจ็กต์การสร้างสนามใหม่จะเริ่มทำการก่อสร้างในเดือนมกราคม 2024 แล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2030 (ส่วนของสนามเสร็จภายในปี 2027) โดย Corriere della Sera สื่ออิตาลีระบุว่าล่าสุดงบประมาณสร้างสนามอาจแตะถึง 1.2 พันล้านยูโร (4.2 หมื่นล้านบาท) แต่เมื่อสร้างเสร็จคาดว่าทั้งสองสโมสรจะมีรายรับเพิ่มขึ้น 120 ล้านยูโร (4.44 พันล้านบาท) แบ่งเป็น 80 ล้านยูโร (2.9 พันล้านบาท) จากภาคสนามและ 40 ล้านยูโร (1.48 พันล้านบาท) จากภาคการตลาด

"ในอิตาลีมีการเคารพประวัติศาสตร์ด้านกีฬาเพียงเล็กน้อย และการรื้อถอนสนามกีฬา จูเซปเป เมียซซา หรือ ซาน ซิโร่ เป็นข้อพิสูจน์ว่ารัฐบาลไม่สนใจสิ่งมหัศจรรย์ทางสถาปัตยกรรมของเมืองมิลาน สนามจะถูกรื้อทิ้งอย่างสมบูรณ์ และจะไม่มีอดีตหรือประวัติศาสตร์ของสนามกีฬาเหลืออยู่ ยกเว้นเศษฝุ่นของอัฒจันทร์ที่ถูกทุบทิ้งไป" 

"เป็นเรื่องน่าเศร้าที่คิดว่าสนามซึ่งครั้งหนึ่งเคยมียอดนักเตะอย่าง โรนัลโด้, เชฟเชนโก้, มัลดินี่ หรือ ซาเนตติ จะไม่มีอยู่อีกต่อไป เหลือแต่ความเป็นจริงที่ยากลำบากในระบบราชการของอิตาลีที่ทำให้แฟนฟุตบอลทั่วโลกต้องอับอาย" อัลวิเซ แกคนาซโซ กล่าวไว้ในบทความของเขากับ Daily Mail 

ที่กล่าวมาจะเห็นได้ชัดว่าไม่ว่าเสียงเรียกร้องของผู้น้อยจะดังมากแค่ไหนก็ไม่สามารถเปลี่ยนแรงปรารถนาของกลุ่มผู้มีอำนาจไปได้ ตราบใดที่คนเหล่านี้เป็นคนควบคุมหรือกุมชะตาเอาไว้

แน่นอนว่าสิ่งเดียวที่เราทำได้มากสุดในตอนนี้ไม่ใช่การออกไปต่อต้านหรือประท้วงไม่ให้ทุบสนามซาน ซิโร่ แต่เป็นการออกไปเก็บเกี่ยวความทรงจำไว้ก่อนที่มันจะเลือนหายไปในอีก 4 ปีที่เหลือต่อจากนี้ เราต้องทำใจยอมรับว่าสนามที่เคยใช้แข่งฟุตบอลโลกปี 1934 และ 1990 กับสังเวียนนัดชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ปี 1965, 1970, 2001 และ 2016 กำลังจะหายไปจากโลกใบนี้

แต่ก่อนที่เราจะต้องจากกัน ยังมีอีกหนึ่งเรื่องดี ๆ ให้ได้นึกถึง เพราะในปี 2026 หรือปีที่สนามจะถูกใช้เป็นครั้งสุดท้ายนั้นตรงกับวาระครบรอบ 100 ปีของสนามพอดีเป๊ะ และถ้าหากไม่ใจร้ายกันไปหน่อยอย่างน้อยก็ควรจัดงานฉลองวันเกิดให้ ซาน ซิโร่ ก่อนจะทำลายทิ้งก็ดีนะ

 

แหล่งอ้างอิง : 

https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-11221897/New-Milan-stadium-set-cost-1BILLION-project-EIGHT-YEARS.html
https://www.insidethegames.biz/articles/1128152/san-siro-demoltion
https://sempremilan.com/san-siro-updated-plans-80-months-revenues
https://sempreinter.com/2022/09/19/lega-serie-a-president-lorenzo-casini-im-in-favour-of-demolishing-san-siro-if-inter-ac-milan-build-competitive-new-stadium/
https://sempremilan.com/repubblica-from-dismantling-to-disposal-how-san-siro-will-be-demolished
https://sempreinter.com/2022/09/17/inter-ac-milan-submit-detailed-plans-for-demolition-of-san-siro-to-make-way-for-new-stadium-italian-media-report/
https://www.change.org/p/city-of-milan-do-not-demolish-the-san-siro-stadium-in-milan-italy
https://www.stadiumguide.com/sansiro/
https://www.acmilan.com/en/club/venues/san-siro
https://archeyes.com/san-siro-stadium-cugini-stacchini-ragazzi-hoffer/

Author

ทรงศักดิ์ ศรีสุข

"พาผมไปส่งบขส.หน่อยครับ"

Graphic

ปริญญา คงปันนา

กราฟฟิคหน้าโหด ทำงานด้วย Passion ว่างๆ ชอบไปคาเฟ่ หลงไหลในศิลปะ, การเดินทางและกีฬา