Feature

ปาราปารา : การเต้นยอดนิยมของญี่ปุ่น ที่โด่งดังจนปรากฏในป็อปคัลเจอร์ทุกวงการ | Main Stand

หากท่านใดเป็นแฟนคลับของการ์ตูน โคนัน เจ้าหนูยอดนักสืบ (Detective Conan) มานานพอสมควร ไม่ว่าจะรับชมสด ๆ ทางโมเดิร์นไนน์การ์ตูนหรือทางดีวีดี เชื่อได้เลยว่าจะต้องคุ้นเคยกับ "เพลงเปิดที่ 8" (Opening 8) อย่างแน่นอน 

 

ด้วยความยาวประมาณนาทีนิด ๆ มีโคนันมาทำหน้านิ่ง ๆ ตาย ๆ โชว์สเต็ปการเต้น โบกไม้โบกมือ โยกย้ายส่ายสะโพก ชนิดที่ช็อกสายตาแฟนการ์ตูน เพราะไม่เหลือคราบนักสืบสุดฉลาดและสุขุมนุ่มลึกเลย และถึงแม้จะดูขัด ๆ และแอบฮาเล็กน้อย แต่เพลงเปิดนี้กลับได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนั้น 

เมื่อเวลาผ่านไปความนิยมให้โคนันมาเต้นแรงเต้นกาเช่นนี้ได้กลับมาปรากฏตัวอีกครั้งใน "เพลงเปิดที่ 51" ซึ่งเป็นการฉลองครบรอบ 20 ปีการเต้นดังกล่าว รวมถึงการกลับมาครั้งนี้เจ้าหนูนักสืบยังได้ออกท่าออกทางชนิดใส่สุดไม่มีออมแรงเสียด้วย

กระนั้นการเต้นดังกล่าวนี้ก็ไม่ได้มาเล่น ๆ แค่พอเน้นเรียกรอยยิ้มมุมปาก แต่ว่ามันกลับเป็นการเต้นที่มีความจริงจัง เป็นระบบ และต้องมีการฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วงมาก การเต้นแบบนี้เรียกกันว่า การเต้นแบบปาราปารา (Para Para) ซึ่งดำรงอยู่ในญี่ปุ่นมานานนมตั้งแต่ยุค 1980s แล้ว

การเต้นปาราปารานี้มีที่มาอย่างไร ? มีตื้นลึกหนาบางอะไรบ้าง ? เหตุใดจึงไปปรากฏตัวอยู่ในป็อปคัลเจอร์ญี่ปุ่นได้ ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand 

 

80s : ยุคดิสโก้สุดสวิง 

ย้อนกลับไปในยุค 1980s ซึ่งถือว่าเป็นยุคแห่ง "เพลงดิสโก้" (Disco) อย่างจริงจังในทั่วทุกมุมโลกตามสถานบันเทิงยามราตรี หรือกระทั่งแหล่งโคมเขียวต่าง ๆ ก็ต่างพร้อมใจกันปรับแปรภาพให้ไปกันได้กับแนวเพลงนี้อย่างพร้อมเพรียง 

ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนมูดแอนด์โทนด้วยแสงสีเสียงแบบสว่างคาตา ปรับให้มีลานกว้างมากขึ้นสำหรับการเต้น หรือที่สังเกตได้ชัดที่สุดคือการประดับลูกบอลคริสตัลอยู่บนเพดาน ให้หมุน ๆ ระยิบระยับ ล่อตาล่อใจนักท่องราตรี

นั่นจึงทำให้จากเดิมร้านรวงต่าง ๆ เน้นเปิดมาเพื่อสังสรรค์ กินดื่ม นั่งชิลล์ ดื่มดำบรรยากาศยามค่ำคืน ก็กลับกลายมาเป็นสถานที่เพื่อ "การเต้น" มากยิ่งขึ้น นอกจากนักเที่ยวจะไปลองลิ้มรสชาติแอลกอฮอล์และกับแกล้มก็ยังเป็นการออกไปเพื่อโชว์ออฟสเต็ปขาแดนซ์ของตนเองได้อีกด้วย

ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือภาพยนตร์เรื่อง Saturday Night Fever ที่นำแสดงโดย จอห์น ทราโวลตา (John Travolta) ว่าด้วยเรื่องของพนักงานเงินเดือนที่มีชีวิตประจำวันน่าเบื่อหน่าย ตื่นเช้า แต่งตัว ไปทำงาน กลับบ้าน นอน เป็นวัฏจักรไปเรื่อย ๆ ก็หันมาใช้การเต้นเพลงดิสโก้เพื่อ "การปลดปล่อย" สภาวจิตที่หม่นหมอง หมดอาลัยตายอยากกับโลกทุนนิยม แล้วหันไปหาการแสวงหาความสำราญจากการเป็นดาวเด่นเป็นราชาบนผืนฟลอร์ 

ภาพยนตร์ดังกล่าวกลายเป็นการตอกย้ำวัฒนธรรมดิสโก้ไปทั่วโลก ที่มีมากอยู่แล้วก็ไปอยู่ในเมนสตรีมมากยิ่งขึ้น

ซึ่งแนวเพลงดิสโก้เองก็ได้พัฒนาไปอีกหลายแขนง และแขนงที่ถือว่าได้รับความนิยมมากพอสมควรนั่นคือ "ยูโรบีต" (Eurobeat) 

เพราะแนวทางนี้จะมีการผสมผสาน "เสียงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์" เข้ามาประกอบ รวมถึงมีการเร่งจังหวะให้เร็วขึ้นกว่าเดิม 2-3 จังหวะ มันจึงทำให้บรรดานักเที่ยวขาแดนซ์ได้วาดลวดลายอย่างถึงพริกถึงขิงมากยิ่งขึ้น 

และยังถือได้ว่าแนวเพลงยูโรบีตนี้เป็นรอยทางของการมิกซ์แบบ "EDM" (Electronic Dance Music) ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในยุคปัจจุบันก็ว่าได้ 

แม้ต้นกำเนิดยูโรบีตจะอยู่ในโลกตะวันตก แต่ตัวแนวเพลงนั้นกลับได้รับความนิยมน้อยกว่าในโลกตะวันออกหลายเท่า โดยประเทศที่ถือว่ารับยูโรบีตเข้ามาและติดตลาดจนถูกเปิดในสถานบันเทิงกันทั่วทุกที่นั่นคือ "ประเทศญี่ปุ่น" อย่างไม่ต้องสงสัย

โดยญี่ปุ่นนั้นวงการดิสโก้ถือว่าเติบโตในประเทศเป็นอย่างมาก เหนือกว่าประเทศใด ๆ ในเอเชีย เนื่องมาจากญี่ปุ่นมีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรุดหน้า ประชาชนยินดีพลีกายถวายหัว ทำงานหามรุ่งหามค่ำ แทบล้มประดาตาย อย่างไม่ปริปาก 

ดังนั้นชีวิตกว่าค่อนของประชาชนในประเทศจึงมีแต่ความอมทุกข์  เก็บกด อัดอั้น ระงมกับความเครียดทั้งวันทั้งคืน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีบางสิ่งสำหรับใช้ระบายออก

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บรรดาออฟฟิศแมนต่างตะโกนหาแต่ดิสโก้ ร่างกายที่ต้องการยูโรบีตก็พากันแห่แหนกันเข้ามาเต้น มาโยกย้าย ระบายอารมณ์ และความอัดอั้นจากที่ทำงานมาทั้งอาทิตย์กันเป็นแถบ

เพียงแต่ว่าเมื่อมีการรับของจากโลกตะวันตกเข้ามา ญี่ปุ่นก็มักจะทำได้อย่างยอดเยี่ยมในการปรับแปรให้เข้ากับขนบธรรมเนียมของตนเสมอ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อยอดในเรื่องของ "ท่าเต้น" ที่จะมาเติมเต็มยูโรบีตให้ครื้นเครงยิ่งขึ้นในยุคต่อมา

 

90s : เต้นไปเรื่อยสู่มีแบบแผน

ขึ้นชื่อว่าญี่ปุ่นนั้น เมื่อรับสิ่งใดก็ตามเข้ามาในประเทศก็ไม่เคยที่จะคงความออริจินัลไว้ มีแต่จะปรับให้เข้ากับบริบท วัฒนธรรม ประเพณีในประเทศ หรือถึงที่สุดก็คือการพัฒนาให้ดียิ่งกว่าของเดิมดังที่เกิดขึ้นกับยูโรบีต ในแง่ของการเติมท่าเต้นที่มีแบบแผนเข้าไปด้วย

จากที่แต่เดิมการเต้นเข้าจังหวะดิสโก้นั้นส่วนมากจะเป็นไปในลักษณะฉายเดี่ยว เต้นคนเดียวให้โดดเด่นที่สุด ประหนึ่งเราเป็นราชาบนผืนฟลอร์ หรือกระทั่งการเต้นแบบรวมกลุ่มก็เป็นไปในลักษณะไร้ซึ่งแบบแผน ต่างคนต่างเต้น แม้ท่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันแต่ก็มีการคร่อมจังหวะของกันและกัน โบกไม้โบกมือ สไลด์ซ้ายขวา ชี้ขึ้นชี้ลง ไปตามใจฉัน

แต่ไม่ใช่กับญี่ปุ่น ดินแดนแห่งความคิดสร้างสรรค์สุดบรรเจิด ที่ได้ทำการปรับนั่นนิดปรับนี่หน่อยแก้ไขความไร้แบบแผนของท่าเต้นประกอบเพลงยูโรบีตโดยการใส่จังหวะจะโคนเข้าไปในการเต้นให้บรรดาประชาชนเท้าไฟนับในใจ เมื่อถึงท่อนลงจังหวะค่อยออกท่าทาง อาจจะเป็นการยกมือ ชี้นิ้ว เตะขา สไลด์ข้าง หรือย่ำเท้า 

นั่นทำให้เวลาเข้าสถานบันเทิงแต่ละทีจะไร้ซึ่งการเต้นแบบสะเปะสะปะอีกต่อไป นักย่ำราตรีต่างรวมเป็นเนื้อเดียวกัน โยกย้ายส่ายสะโพกโยกย้าย ประหนึ่งว่ามีการนัดแนะซักซ้อมท่าเต้นมาเป็นอย่างดี ซึ่งพินิจดูแล้วก็เป็นภาพที่สบายตาอย่างยิ่ง

ก่อนที่รูปแบบการเต้นนี้จะได้รับการขนานนามว่า "ปาราปารา" (Para Para) ในภายหลัง

ซึ่งการเกิดขึ้นของปาราปารายังทำให้บทบาทของดีเจเปลี่ยนแปลงไปด้วย จากแต่เดิมที่เปิดเพลงมิกซ์บีต สแครชแผ่นเฉย ๆ ก็ต้องมารับบท "ผู้นำเต้น" คอยขยับท่าทาง ออกแบบท่าเต้น เอ็นเตอร์เทนให้แขกเหรื่อ และมันยังคงอิทธิพลเช่นนี้มาจนถึงปัจจุบัน

ในกาลต่อมาราวกลางยุค 1990s จากที่ออกสเต็ปกันเฉพาะในสถานที่บันเทิงก็เริ่มแพร่สะพัดไปสู่ตลาดทั่วไปมากยิ่งขึ้น โดยมีต้นทางจาก บริษัท เอเว็กซ์ แทร็ก (Avex Trax) ค่ายเพลงอิสระ ณ ตอนนั้น (ที่ตอนนี้กลายเป็นค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อันดับต้น ๆ ในญี่ปุ่น) ที่ได้ทำการบันทึกการแสดงปาราปาราออกมาขายในรูปแบบวีซีดี โดยตั้งชื่อว่า "ปาราปารา เคียวเท็น เรย์" (Para Para Kyouten 0 : パラパラ教典 0) 

ชุดวีซีดีนี้เปรียบเสมือนกับแม่บทของผู้อยากทดลองเต้นปาราปารา เรียกได้ว่าหากบ้านไหนไม่มีมาครอบครองจะถือว่า "ไม่จ๊าบ" เลยทีเดียว และไม่เพียงแต่ท่าเต้นที่ทำให้คนทำตามกันระนาว ยูโรบีตที่ใช้ประกอบก็กลายเป็นที่นิยมในสถานบันเทิงที่แขกมาขอกันบ่อยครั้ง

แต่ที่ถือว่าเป็นการแพร่สะพัดมากที่สุดคงหนีไม่พ้น การได้มีโอกาสในหน้าสื่อ "วงการโทรทัศน์" ที่เป็นช่องทางแพร่ภาพช่องทางเดียวที่สามารถทำให้เรื่องต่าง ๆ "แมส" ได้แบบทันตาเห็น

โดยรายการแรก ๆ ที่เผยแพร่การเต้นนี้คือ SMAPxSMAP รายการวาไรตี้ช่วงไพร์มไทม์ (ประมาณ 2-3 ทุ่ม) ฉายทางช่องฟูจิ ทีวี ช่องยอดนิยมของญี่ปุ่น โดยผู้ดำเนินรายการที่เป็นบอยแบนด์อยู่ก่อนหน้า (วง SMAP) มักจะหยิบยกเพลงจากวีซีดี เอเว็กซ์ ขึ้นมาเต้นในรายการอยู่บ่อยครั้ง ขนาดที่ทำเป็นช่วงประจำของรายการเลยทีเดียว

นี่จึงเป็นช่วงเวลากอบโกยของต้นคิดอย่างค่ายเพลงเอเว็กซ์ที่น้ำขึ้นต้องรีบตัก ขยันออกเพลงและท่าเต้นใหม่ ๆ มาดึงดูดเม็ดเงินจากลูกค้าสารพัด ถึงขนาดเป็นที่รู้จักจนขึ้นเป็นค่ายเพลงเมนสตรีมได้จากจุดนี้

ยิ่งไปกว่านั้นบรรดาศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปในญี่ปุ่นตอนนั้นก็ยังรับท่าเต้นปาราปารานี้ไปใช้เต้นประกอบเพลงของวงตนเอง อาทิ MAX D&D หรือ V6 ก็ยิ่งทำให้ปาราปาราระบือลือไกลขึ้นไปอีกขั้น

ว่ากันว่าการเต้นปาราปารานี้เป็นต้นกำเนิดของ "การออกแบบท่าเต้น" (Choreography) ของบรรดาศิลปิน "เจป็อป" (J-pop) ในยุคต่อ ๆ มาที่วาดลวดลายขั้นแอดวานซ์ มีการฝึกไลน์จัดวางการเร่งจังหวะการเต้นแบบชัดเจนอีกด้วย

และเมื่อปาราปาราขึ้นมาอยู่ในเมนสตรีมได้อย่างมั่นคงในยุค 1990s แล้ว ในขั้นต่อไปการเต้นดังกล่าวจึงเตรียมเดินทางต่อไปสู่การเป็น "ป็อปคัลเจอร์" ของญี่ปุ่นในยุคต่อมา

 

2000s : รันวงการป็อปคัลเจอร์

ยุค 2000s ถือได้ว่าเป็นยุคที่วัฒนธรรมป็อปของญี่ปุ่นกำลังอยู่ตัว หลังจากพุ่งถึงขีดสุดในยุค 1990s ที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างมีความคุ้นชินกับสินค้าป็อป ๆ จากญี่ปุ่นโดยไม่ได้รู้สึกว่ามีความแปลกแยกหรือไม่สามารถเสพและเข้าถึงได้แต่อย่างใด

ปาราปาราก็ใช้โอกาสนี้ในแทรกตัวขึ้นมาอยู่ในการรับรู้และเข้าใจของชาวญี่ปุ่นแล้ว ดังนั้นมันจึงนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของป็อปคัลเจอร์ญี่ปุ่นไปโดยปริยาย

โดยเฉพาะการปรากฏตัวใน "วงการเกม" โดย บริษัท โคนามิ ยักษ์ใหญ่ระดับโลกแห่งอาณาจักรเกม ก็ได้สร้าง ParaParaParadise เกมเต้นที่จะบังคับให้คนเล่นเต้นเฉพาะแบบปาราปาราเท่านั้น เพื่อที่จะเคลียร์เกมได้

หรืออย่างเกม Rumble Roses XX ที่ได้ใช้การเต้นปาราปาราเป็นท่าไม้ตายลับสุดยอดของตัวละคร

แต่ที่ได้รับความนิยมไปกว่านั้นคือ "วงการภาพยนตร์การ์ตูน" อย่าง Gals! การ์ตูนตาหวานที่โด่งดังระดับหนึ่ง ก็วางบทให้ตัวละครหลักอย่าง โคโตบุกิ รัน (Kotobuki Ran) มีความชอบส่วนตัวในการเต้นปาราปาราเพื่อฆ่าเวลา

การ์ตูนดังในตำนานอย่าง ดราก้อนบอล ภาคจีที ก็ได้จัดวางให้ตัวละครหลัก 4 ตัว อย่าง ซุน โงกุน, ปัง, ทรังค์ และ หุ่นยนต์ติดตามกิรุ ชื่นชอบการเต้นปาราปาราเป็นชีวิตจิตใจ ขนาดที่ตั้งชื่อแก๊งว่า Para Para Brothers เลยทีเดียว

แต่ที่โด่งดังที่สุดคงจะหนีไม่พ้นการเต้นของ เอโดงาวะ โคนัน อย่างที่ได้เกริ่นไปข้างต้น

โดยผลงานเพลงเปิดที่ 8 นั้นขับร้องโดย รินะ ไออุชิ (Rina Aiuchi) ซึ่งปล่อยเพลงเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ปี 2000 และหลังจากนั้นก็ได้นำมาประกอบการ์ตูนโคนันจนโด่งดัง เป็นภาพจำติดตาแฟนการ์ตูนอย่างมาก

ก่อนที่จะฉลองครบรอบ 20 ปีด้วยเพลงเปิดที่ 51 ด้วยท่าเต้นสุดสะเด่าแบบไม่เกรงใจวิชาชีพนักสืบเลยทีเดียว

ซึ่งปาราปารานั้นก็ไม่ได้เพียงปรากฏในป็อปคัลเจอร์ในประเทศมาตุภูมิเพียงอย่างเดียว หากแต่บ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง ประเทศเกาหลีใต้ก็ขอหยิบยืมมาใช้เพื่อการแผ่ขยาย "เคป็อป" ของตนเองด้วย

วงคารา (KARA) เกิร์ลกรุ๊ปเจน 2 ของ ฮัลลยู (Hallyu : กระแสเกาหลี) ได้หยิบยกการเต้นปาราปารามาดัดแปลงใช้กับเพลง Go Go Summer! ในอัลบั้ม Super Girl ที่ปล่อยสตรีมมิ่งออกมาเมื่อ 22 มิถุนายน ปี 2011 แต่จะไม่เรียกการเต้นนี้ว่าปาราปาราโดยตรง หากแต่เลี่ยงบาลีไปเรียกว่า คาราปารา เพื่อให้ล้อไปกับชื่อของวงและเป็นกิมมิกเล็ก ๆ

มิหนำซ้ำเพลงดังกล่าวยังนำกลับเข้ามาขายในญี่ปุ่นอีกทอดหนึ่งเสียด้วย

ตราบจนถึงปัจจุบันก็ยังมีการพบเห็นชาวญี่ปุ่นออกมาเต้นปาราปาราอยู่ไม่ขาดสาย ทั้งที่จริง ๆ อะไรก็ตามที่เป็นกระแสในชั่วระยะเวลาหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปความนิยมในการปฏิบัติก็จะลดลงตามไปด้วย

จึงอาจจะนับได้ว่า ปาราปารา นั้น ถือเป็น "วัฒนธรรมการเต้นแห่งชาติ" ของญี่ปุ่นได้อีกแขนงหนึ่งเลยก็ว่าได้

 

แหล่งอ้างอิง

บทความ Rituals of rebellion among contemporary Japanese youth: The outdoor disco at Tokyo's Yoyogi Park
http://paraparalovers.com/parapara 
https://web-japan.org/trends00/honbun/tj000729.html 
http://paraparalovers.com/parapara 
https://www.animenewsnetwork.com/interest/2020-01-18/watch-20-year-old-conan-dance-sequence-referenced-in-new-op-video/.155330 
https://www.nytimes.com/1996/06/09/nyregion/saturday-night-fever-the-life.html 
https://www.jef.or.jp/journal/pdf/cover%20story%207_0403.pdf 

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ