โลกปัจจุบันมีการยอมรับเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกของแต่ละคนกันมากขึ้น ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ ที่เราจะได้เห็นการเปิดกว้างทางความคิดที่หลากหลายกว่าแต่ก่อน
สำหรับกีฬาที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกอย่างฟุตบอลก็มีเสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้น ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม และการย้อมผมของนักฟุตบอลก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วยเช่นกัน
การย้อมผมของนักเตะในวงการฟุตบอลญี่ปุ่นก็เคยมีการพูดถึงและเป็นที่น่าสังเกตกันอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง แน่นอนว่าเราสามารถบอกได้ว่ามันคือเรื่องของแฟชั่น หรือจะเป็นการสร้างความมั่นใจของแต่ละคนก็ได้
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเราพูดถึงญี่ปุ่นเราจะนึกถึงความเป็นชาตินิยมที่สูง ดังนั้นการที่พวกเขาละทิ้งผมดำ สัญลักษณ์แห่งความงามอันทรงคุณค่าของตัวเอง แล้วย้อมผมสีบลอนด์ทองซึ่งเป็นสีผมส่วนใหญ่ของชาวตะวันตกก็อาจจะพูดได้ว่าขัดกับค่านิยมที่ตัวเองได้ยึดถือมานาน
เหตุใดพวกเขาถึงได้ทำเช่นนั้น ? ร่วมหาคำตอบไปกับ Main Stand
อิทธิพลจากชาติตะวันตก
แม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่มีความเป็นชาตินิยมสูง แต่แท้จริงแล้วพวกเขาก็แอบหลงใหลในชาติตะวันตกอยู่ไม่น้อย
หลังการเข้ามาของกองรบเรือดำและ นายพล แมทธิว เพอร์รี ในช่วงยุคสมัยเอโดะ (ค.ศ.1603 - 1868) เพื่อกดดันให้ญี่ปุ่นเปิดตลาดค้าขายกับโลกภายนอกก็ทำให้ญี่ปุ่นที่ปิดประเทศอยู่ในขณะนั้นจำต้องเปิดประเทศเพื่อทำการค้าขายกับชาติตะวันตก
การเข้ามาของชาติตะวันตกในครั้งนั้นทำให้ญี่ปุ่นได้รู้ว่าโลกภายนอกได้พัฒนาไปไกลกว่าตนเองหลายก้าว จนกลายเป็นจุดที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของญี่ปุ่นในช่วงยุคสมัยเมจิ (ค.ศ.1868 - 1919) เพื่อการพัฒนาประเทศ ญี่ปุ่นได้พัฒนาโครงสร้างต่าง ๆ ให้ทัดเทียมกับโลกตะวันตก เริ่มเรียนรู้วิทยาการจากทั่วโลกเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและมั่งคั่งมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมการรับวิถีชีวิตแบบตะวันตกเข้ามาในการดำเนินชีวิต เช่น การแต่งกาย ยานพาหนะ อาหาร เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าอิทธิพลของชาติตะวันตกได้เข้ามาอยู่ในสังคมญี่ปุ่นเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว ซึ่งเราจะเห็นได้จากการผสมผสานของวัฒนธรรมทั้งสองเข้าด้วยกัน เช่น การกินเค้กคู่กับชาของคนญี่ปุ่น หรือการที่ประชากรในประเทศญี่ปุ่นกว่า 80% นับถือศาสนาพุทธแต่การจัดงานแต่งงานเป็นแบบของศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นศาสนาที่ชาวตะวันตกส่วนใหญ่นับถือก็มีให้พบเห็นในประเทศญี่ปุ่นบ่อยครั้งพอ ๆ กับการจัดงานแต่งงานในแบบญี่ปุ่นเอง หรือเทศกาลคริสต์มาสและวาเลนไทน์ที่เป็นเทศกาลของชาวตะวันตกก็ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น
การที่ญี่ปุ่นสามารถรับและผสมผสานอิทธิพลตะวันตกเข้ากับสังคมญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดีอย่างนั้นเป็นเพราะว่าคนญี่ปุ่นกว่า 80% นั้นได้รับการศึกษาที่ค่อนข้างดีมาตั้งแต่ยุคสมัยเอโดะ ซึ่งทำให้พวกเขามีความรู้ทั้งด้านการอ่าน การเขียน ที่เพียบพร้อมสำหรับการรับความรู้จากที่อื่น ๆ
และภายหลังความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สองก็ทำให้ญี่ปุ่นต้องตกอยู่ภายใต้การดูแลของสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ญี่ปุ่นรับค่านิยมและความคิดแบบตะวันตกเข้ามาในสังคมและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ แบบก้าวกระโดด นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ด้วยเหตุนี้ทำให้คนญี่ปุ่นเริ่มมีความนิยมชมชอบในตัวของชาวตะวันตก จนมีบางคนเคยกล่าวไว้ว่าคนญี่ปุ่นไม่ได้เพียงแค่ชื่นชอบชาวตะวันตกเท่านั้น แต่อยากเป็นเองเลยด้วยซ้ำ
ซึ่งคำบอกเล่านี้ก็ได้ถูกตอกย้ำผ่านทางสื่อบันเทิงต่าง ๆ ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอนิเมะ หนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์อันทรงพลังของญี่ปุ่น เช่น “โอมิยะ ชิโนบุ” ตัวละครจากอนิเมะ Kiniro Mosaic หรือชื่อไทย ประกายใสวัยฝัน ที่ตัวเธอชอบภาษาอังกฤษ และมักจะพยายามทำตัวให้เหมือนคนอังกฤษ เธอพยายามอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษถึงแม้จะอ่านไม่ออกก็ตาม และพยายามฟังบทสนทนาของ อลิซ และ คาเรน เพื่อนชาวอังกฤษของเธอตอนที่ทั้งสองสนทนากันด้วยภาษาอังกฤษ
หรือ “ซุน โกคู” ตัวเอกในการ์ตูนชื่อดังอย่าง ดราก้อนบอล ที่มีผมดำเหมือนคนญี่ปุ่นร่างปกติ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่แปลงเป็นซูเปอร์ไซย่า โกคูจะเปลี่ยนจากผมสีดำเป็นผมสีทองและแข็งแกร่งขึ้น นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความคลั่งไคล้ในชาวตะวันตกของคนญี่ปุ่นเช่นกัน แม้ภายหลังนักวาดผู้ให้กำเนิดการ์ตูนเรื่องนี้อย่าง อากิระ โทริยามะ จะบอกเหตุผลของการที่ซุปเปอร์ไซย่ามีผมสีทองว่าเป็นการประหยัดเวลาในการทำงานก็ตาม
ความคลั่งไคล้ในความเป็นชาติตะวันตกของคนญี่ปุ่นเริ่มปรากฏให้คนทั่วโลกแบบเห็นภาพชัดมากขึ้นผ่านนักเตะทีมชาติญี่ปุ่นที่ลงเล่นในฟุตบอลโลก 2002 ที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพร่วมกับเกาหลีใต้
ค่านิยมที่เปลี่ยนไป
ย้อนกลับไปในช่วงฟุตบอลโลก 2002 หากใครเคยดูทีมชาติญี่ปุ่นลงเล่นในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนั้นจะเห็นได้ว่านักเตะทีมชาติญี่ปุ่นหลายคนเลือกที่จะย้อมผมกัน เกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลานั้น ?
โดยทั่วไปสีผมตามธรรมชาติของคนญี่ปุ่นนั้นจะเป็นสีดำ ซื่งพวกเขาถือว่าสิ่งนี้เป็นสัญลักษณ์ความงามของหญิงสาวมาตั้งแต่ในยุคสมัยเฮอัน (ค.ศ.794 - 1192) และค่านิยมนี้ยังคงแข็งแกร่งมาเป็นเวลากว่าหลายร้อยปี จนกระทั่งเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาความนิยมในการย้อมผมก็เริ่มต้นขึ้นในญี่ปุ่น
การย้อมผมเพื่อเปลี่ยนจากผมหงอกให้เป็นผมดำนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่การย้อมผมเป็นเฉดสีอื่นมักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดแปลกในเวลานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามโรงเรียนและบริษัทต่าง ๆ ที่มีกฎเกณฑ์ต่อต้านเรื่องเหล่านี้อยู่ตลอด อย่างไรก็ตามทุกวันนี้การย้อมผมเป็นสีต่าง ๆ นั้นกลายเป็นเรื่องปกติและไม่ใช่เรื่องผิดแปลกในญี่ปุ่นอีกต่อไป แม้จะเป็นสีที่ฉูดฉาดอย่าง สีเขียว สีม่วง สีน้ำเงิน หรือสีชมพูเองก็กำลังเป็นที่นิยม ต่างจากในอดีตที่เป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้
บริษัท โฮยู ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทำสีผมรายใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับความนิยมในการย้อมผมของคนญี่ปุ่น พบว่า 68% ของผู้หญิงในญี่ปุ่นจะย้อมผมในช่วงปี 2001 เพิ่มขึ้นจากเมื่อห้าปีก่อนในปี 1996 ซึ่งยังอยู่ที่ประมาณ 30% เท่านั้น การสำรวจยังพบว่าแม้แต่ผู้ชายมากกว่า 20% ก็เริ่มนิยมย้อมผมกันในช่วงปี 2001 อีกด้วย หมายความว่าเกือบครึ่งหนึ่งของคนญี่ปุ่นเริ่มย้อมผมกันมากขึ้นในช่วงปีดังกล่าว และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
สาเหตุหลักของความนิยมนี้อาจมาจากการที่ดาราหรือนักกีฬาโดยเฉพาะนักฟุตบอล ซึ่งในโลกของฟุตบอลสมัยใหม่ที่มีเรื่องของธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องภาพลักษณ์เป็นอย่างมาก ดังนั้นการย้อมสีผมจึงเป็นวิธีการที่ง่ายสุดสำหรับการสร้างตัวตนที่แปลกใหม่ โดดเด่น ไม่เหมือนใครของนักฟุตบอล และมันอาจจะมาจากค่านิยมคลั่งไคล้ความเป็นชาติตะวันตกอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่จะมีจุดประสงค์เพื่อสร้างคาแร็กเตอร์ที่เด่นชัดของตัวเองเสียมากกว่า
ไนโตะ คุมิโกะ ที่ปรึกษาด้านการทำสีผมและทำวิจัยให้กับทาง The Professional Beauty Association (PBA) ได้กล่าวว่า “ความนิยมในการทำสีผมได้เริ่มแพร่หลายในปี 1994 ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางตัดสินใจที่จะส่งเสริมความนิยมเหล่านี้ให้มากขึ้น ช่างเสริมสวยหลายคนได้เริ่มแนะนำสีผมใหม่ ๆ ให้กับลูกค้าของพวกเขา และได้โปรโมตความนิยมนี้ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นผ่านทางสื่อรูปแบบต่าง ๆ”
โดยผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทำสีผมในช่วงเวลานั้นได้ออกสินค้าใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในการทำสีผมของผู้คนในสังคมญี่ปุ่น และพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขึ้นเพื่อสร้างความเสียหายต่อเส้นผมให้น้อยที่สุด อีกทั้งยังเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ที่ยังกลัวการทำสีผม หรือผู้ที่ไม่พึงพอใจกับผลลัพธ์ที่ได้ก็สามารถเปลี่ยนสีผมใหม่ได้ตามต้องการ
ความนิยมทำสีผมของคนญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้นได้ก่อกำเนิดแฟชั่นการทำสีผมในแบบเฉพาะของญี่ปุ่นเองที่เรียกว่า “ชาพัตสึ” (Chapatsu : 茶髪) ที่แปลออกมาตรง ๆ เลยว่า “ผมสีชา” ซึ่งสามารถพบเห็นการทำสีผมเช่นนี้ได้ในคนแทบทุกเพศทุกวัยของญี่ปุ่น โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่จะชอบทำผมสีชากันเยอะเป็นพิเศษ และแฟชั่นดังกล่าวยังคงอยู่ในความนิยมจวบจนปัจจุบัน
“ค่านิยมการทำสีผมในช่วงทศวรรษที่ 1990s นั้นได้เปลี่ยนวิถีชีวิตและปฏิวัติวงการแฟชั่นของญี่ปุ่นอย่างมาก จึงกล่าวได้ว่าในช่วงทศวรรษนี้คือ ทศวรรษของความเป็นปัจเจกบุคคล และการทำสีผมจะเป็นหนทางหนึ่งในการสร้างภาพลักษณ์ส่วนตัวของแต่ละคน และมันจะอยู่คู่กับสังคมญี่ปุ่นไปอีกนาน" ไนโตะ กล่าว
ในขณะที่ทีมชาติญี่ปุ่นเริ่มเป็นที่รู้จักของกลุ่มคนผู้หลงรักเกมลูกหนังทั่วโลกจากการที่พวกเขาได้เป็นเจ้าภาพร่วมฟุตบอลโลก 2002 และการย้อมสีผมที่โดดเด่นของนักเตะทีมชาติญี่ปุ่น ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าพวกเขาเริ่มจะมานิยมย้อมสีผมกันในช่วงเวลานั้น
แต่ความจริงแล้วจุดเริ่มต้นที่ทำให้นักเตะแดนปลาดิบนิยมชมชอบในการย้อมสีผมได้เริ่มมาก่อนหน้านั้นแล้ว จากบุคคลคนหนึ่งในการแข่งขันฟุตบอลโลกหนแรกของพวกเขา
นักเตะผู้สร้างปรากฏการณ์
ฟุตบอลโลกปี 1998 ที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ ถือเป็นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งแรกของทีมชาติญี่ปุ่น หลังจากที่พวกเขาสามารถเอาชนะ อิหร่าน ในรอบเพลย์ออฟเพื่อคว้าตั๋วไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่ฝรั่งเศส
ด้วยความที่เป็นครั้งแรกและยังอ่อนด้อยประสบการณ์ทำให้การประเดิมลงเล่นฟุตบอลโลกหนแรกของญี่ปุ่นมีผลงานที่ไม่ดีนัก โดยในรอบแบ่งกลุ่มพวกเขาอยู่ในกลุ่ม H ร่วมกับ อาร์เจนตินา, โครเอเชีย และ จาเมกา ญี่ปุ่นไม่สามารถเก็บแต้มได้เลยแม้แต่แต้มเดียว หลังแพ้ 3 เกมรวด ยิงได้ 1 ประตู เสียไป 4 ประตู
ถึงแม้ญี่ปุ่นจะตกรอบไปแบบเงียบ ๆ ไม่มีอะไรน่าจดจำในฟุตบอลโลกครั้งนั้น แต่ก็มีนักเตะคนหนึ่งที่เล่นได้อย่างโดดเด่นท่ามกลางความพ่ายแพ้ของทีม เด็กหนุ่มคนนั้นมีชื่อว่า ฮิเดโตชิ นากาตะ กับผมสีชาอันสะดุดตาของเขา
หลังโชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยมในฟุตบอลโลก 1998 นากาตะได้กลายเป็นที่สนใจในโลกของฟุตบอล โดยสโมสรฟุตบอลแห่งหนึ่งในลีกกัลโช่ เซเรีย อา ของอิตาลีที่ชื่อ เปรูจา ได้ดึงตัวเขาจาก เบลมาเร ฮิระสึกะ (โชนัน เบลมาเร ในปัจจุบัน) ต้นสังกัดของเขาสมัยที่ยังค้าแข้งอยู่ในญี่ปุ่น ไปร่วมทีมในฤดูกาล 1998/99 ด้วยค่าตัว 3.5 ล้านยูโร ก่อนจะระเบิดฟอร์มจนไปเข้าตาของ โรม่า ทีมยักษ์ใหญ่ในเซเรีย อา เข้า และซื้อตัวเขามาในราคากว่า 21 ล้านยูโร ในฤดูกาลต่อมา
นากาตะมีส่วนสำคัญในการพาโรม่าคว้าแชมป์ลีกในฤดูกาล 2000/01 และได้ส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับนักเตะทีมชาติญี่ปุ่นรุ่นต่อ ๆ มาในการพัฒนาฝีเท้าของตัวเองเพื่อโอกาสลงเล่นในต่างแดน ส่วนผมสีชาของนากาตะในตอนนั้นเองก็ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่นักเตะชาวญี่ปุ่นแห่กันย้อมผมด้วยสีสันต่าง ๆ ตามไอดอลของพวกเขา
ความคลั่งไคล้ในตัวนากาตะของคนญี่ปุ่นได้พุ่งพรวดขึ้นมาหลังจากที่เขาและเพื่อนร่วมทีมสามารถพาญี่ปุ่นเข้ารอบน็อกเอาต์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในฟุตบอลโลก 2002 นั่นทำให้เกิดกระแสที่เรียกว่า นากาตะฟีเวอร์ ส่งผลให้วัฒนธรรมการย้อมผมไม่ได้แพร่หลายแค่กับนักเตะชาวญี่ปุ่นอีกต่อไป แต่ได้แผ่ขยายไปยังกลุ่มคนผู้ชื่นชอบฟุตบอลอีกด้วย
แม้ปัจจุบันความนิยมในการย้อมสีผมของนักฟุตบอลสายเลือดญี่ปุ่นจะไม่ได้เฟื่องฟูเท่าเมื่อก่อน แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าความนิยมนี้จะหายสาบสูญไปเสียหมด ยังคงมีนักเตะบางคนที่เลือกย้อมสีผมด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่ย้อมตามกระแสแฟชั่นในช่วงเวลานั้น ๆ และเป็นการเสริมความมั่นใจ เช่น จุนยะ อิโตะ ปีกความเร็วสูงที่ทีมชาติญี่ปุ่นเลือกใช้งานในฟุตบอลโลก 2022 ที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วันนี้, โค อิตาคุระ อดีตเซ็นเตอร์แบ็กของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่เพิ่งย้ายไปร่วมทีม โบรุสเซีย มึนเช่นกลัดบัค แบบถาวรเมื่อตลาดซัมเมอร์ที่ผ่านมา
หรือ เคียวโงะ ฟุรุฮาชิ แข้งญี่ปุ่นขวัญใจชาวสกอตแลนด์ ที่หลุดจากรายชื่อผู้เล่น 26 คนสุดท้ายที่จะได้ไปฟุตบอลโลก 2022 ทั้งหมดที่กล่าวมาต่างก็ย้อมผมสีบลอนด์ทอง ซึ่งเป็นสียอดฮิตของคนทั่วโลก
นี่คือจุดที่ทำให้ทั้งนักเตะชาวญี่ปุ่น รวมถึงผู้คนในสังคมญี่ปุ่นต่างนิยมย้อมสีผมกัน และกลายเป็นเอกลักษณ์ที่น่าจดจำและไม่เหมือนใคร รวมถึงได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงค่านิยมเกี่ยวกับการทำสีผมของพวกเขาไปตลอดกาล
แหล่งอ้างอิง :
https://kiji.life/the-westernization-of-japan/
https://detail.chiebukuro.yahoo.co.jp/qa/question_detail/q13114818723
http://kajakm.blog.fc2.com/blog-entry-572.html
https://web-japan.org/nipponia/nipponia20/en/trend/index.html