Feature

ปริศนา El Tri : เหตุใดเม็กซิโกแทบไม่มีแข้งผิวดำในทีมชาติเหมือนเพื่อนบ้านละตินอเมริกา | Main Stand

ในโลกของฟุตบอลนั้นโดยปณิธานแล้วถือว่าไม่มีการแบ่งแยก ไม่ว่าใครจะเกิดมารูปร่างแบบใด ชนชั้นใด เชื้อชาติใด ศาสนาใด หรือมีผิวสีอะไร เมื่ออยู่ต่อหน้าเกมลูกหนังแล้วทุกคนล้วนเท่าเทียมกันทั้งสิ้น

 

โดยเฉพาะฟุตบอลแถบละตินอเมริกาที่จะพบเห็นได้ถึง "ความหลากหลาย" ทางเผ่าพันธุ์ (Ethnics) ของบรรดาพ่อค้าแข้งอย่างมาก มีตั้งแต่คนขาว ชาวคอเคซอยด์ ชาวอินเดียนพื้นเมือง ผิวแดงลูกผสมแคริบเบียน เอเชียอพยพ หรือที่ชินตาที่สุดคือบรรดานักเตะ "ผิวดำ" 

ทั่วทุกแคว้นแดนเขตของละตินอเมริกาล้วนมีนักฟุตบอลผิวดำลงสนามในนามทีมชาติชนิดนับไม่ถ้วน และส่วนมากก็สามารถสร้างชื่อกระฉ่อนด้วยลีลาการเล่นเฉพาะตัว หรือบางรายอาจมาจากชาติเล็ก ๆ แต่กลับมีส่วนทำให้ชาติของตนนั้นเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

หากแต่มีชาติมหาอำนาจลูกหนังแดนละตินแห่งหนึ่งที่แทบจะไม่มีนักฟุตบอลผิวดำสวมอาภรณ์ทีมชาติลงสนามเลย นั่นคือ ทีมชาติเม็กซิโก 

เกิดอะไรขึ้น ? เหตุใดชาวผิวดำจึงไม่ค่อยปรากฏในพลพรรค "เอล ทรี" ? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับเรา

 

คนไม่ใช่คน

หากจะสืบสาวราวเรื่องอาจจะต้องย้อนไปไกลถึงสมัยที่ราชอาณาจักรสเปนเข้าครอบครองดินแดน "โลกใหม่" แห่งนี้ได้สำเร็จราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 ที่เป็นเหมือนจุดกำเนิดการสร้างกระบวนการกำหนดวิธีคิดแบบ "คนไม่ใช่คน" ที่ยังคงปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน

โดยขณะนั้นสเปนได้เข้ามาทำการ "เอนโกมีเอนดา" (Encomienda) หรือการจัดสรรแรงงานชนพื้นเมืองให้มีหน้าที่เพาะปลูกทำเกษตรกรรม ขุดแร่ทองแร่เงิน และจ่ายส่วยให้แก่กษัตริย์ ผ่านผู้เป็นนายชาวสเปน หรือที่เรียกว่า "คองคิสทาดอร์" (Conquistador) ผู้เป็นนายต้องสอนหนังสือ ฝึกการทำเกษตรกรรมสมัยใหม่ รวมถึงเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิคไปด้วย 

ระบบนี้ถือว่าชนพื้นเมืองไม่ใช่ทาส เพียงแต่เป็น "ผู้ด้อย" ที่เจ้าอาณานิคมคนขาวจะต้องเป็น "ผู้เหนือกว่า" ที่รับบทอาจารย์พี่เลี้ยงในปกครอง คอยอบรมบ่มนิสัยให้คนพวกนี้อารยะขึ้น

สิ่งนี้เหมือนจะดูดีเพราะก็คล้ายกับการเกณฑ์แรงงานทั่วไป หากแต่การปฏิบัติจริง ๆ กลับเป็นพวกเจ้าอาณานิคมที่ป่าเถื่อนผิดมนุษย์มนา เพราะดินแดนโลกใหม่แห่งนี้ไกลหูไกลตาผู้คนที่จะทำอะไรแล้วกว่าจะมีใครรู้ใครเห็นก็สายไปเสียแล้ว 

บรรดาผู้เป็นนายนั้นได้กระทำรุนแรงกับชนพื้นเมืองสารพัด ทั้งการใช้แรงงานทาส ให้ทำงานหามรุ่งหามค่ำ และเสี่ยงตายสารพัดโดยไม่จ่ายค่าจ้าง รวมถึงมีการปล้นสดมภ์ ขมขื่นผู้หญิง และที่หนักที่สุด คือการฆ่าชนพื้นเมืองเป็นผักเป็นปลา ชนิดที่ฆ่าเพราะพวกนี้เหิมเกริม แข็งขืน หรือว่าฆ่าเอาสนุกเฉย ๆ ก็มี

ต่อมาเมื่อชนพื้นเมืองตายกันระนาว จำนวนประชากรจึงลดลงเรื่อย ๆ อย่างน่าใจหาย ทั้งจากการฆ่าแกงโดยเจ้าอาณานิคม และการเกิดกาฬโรค (Black Death) ซึ่งเป็นโรคระบาดที่ร้ายแรงที่ป้องกันและรักษาได้ยากในสมัยนั้น ทำให้ผู้เป็นนายได้ทำการนำเข้า "แรงงานทาสผิวดำ" มาจากแอฟริกาโดยตรง เพื่อมาทำงานชดเชยกับอัตรากำลังของชาวพื้นเมืองที่เสียไป

อย่างที่ทราบคือสรีระของคนผิวดำนั้นมีความ "อึด ถึก ทน ใหญ่" เหมาะสมกับการใช้แรงงานเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงเกิดการนำเข้าคนกลุ่มนี้มาเรื่อย ๆ ตามการ "บุกเบิก" เส้นทางและกอบโกยทรัพยากรในดินแดนโลกใหม่ที่นับวันจะมากขึ้นทุกที จนจำนวนนั้นแทบจะใกล้เคียงกับชนพื้นเมืองเลยทีเดียว

และแน่นอนว่า ห้ามดินห้ามฟ้าไม่ได้ฉันใด จะห้ามคนรักกันย่อมไม่ได้ฉันนั้น การขยายเผ่าพันธุ์จึงเกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้มีแต่กลุ่มคนที่เกิดจากการที่ชาวผิวดำสมรสกันเอง (Afromexicanos) หากแต่ยังมีการ "ข้ามเผ่าพันธุ์" อีกด้วย 

นอกเหนือจากพวก "เมซติโซ" (Mestizo) ที่เป็นลูกผสมจากคนขาวและชนพื้นเมืองแล้ว ยังมีพวก "มูลัตโต" (Mulatto) ที่เป็นลูกผสมระหว่างคนขาวและทาสคนผิวดำ หรือพวก "ซัมโบ" (Zambo) ที่เป็นลูกผสมระหว่างแรงงานทาสผิวดำและชนพื้นเมือง

ซึ่งกลุ่มบุคคลเหล่านี้เองก็ได้รับการปฏิบัติเหมือนไม่ใช่คนเช่นเดียวกัน พวกเขามีสถานะต่ำต้อยด้อยเพียงดินกว่าพวก "ครีโอล" (Creole) ซึ่งเป็นลูกของคนขาวด้วยกันเองที่เกิดยังดินแดนโลกใหม่ ที่พวก "เพนินซูลาเรส" (Peninsulares) ซึ่งเป็นลูกของคนขาวที่เกิดที่สเปนแผ่นดินแม่แล้วย้ายมาอยู่โลกใหม่มักดูถูกดูแคลนเสียด้วยซ้ำ

เพราะพวกครีโอลนั้นแม้จะได้ได้เกิดที่มาตุภูมิ แต่ก็ยังมี "เลือดบริสุทธิ์" ของชาวคอเคซอยด์อันยิ่งใหญ่ โดยไม่มีเลือดอื่น ๆ ของเผ่าพันธุ์อื่น ๆ มาผสมให้เสียคุณค่า หรือก็คือหากเผ่าพันธุ์คนขาวนั้นไปผสมปนเปกับเผ่าพันธุ์อื่น ๆ แล้วเมื่อไหร่ "ความเป็นคน" ของบุคคลที่เกิดมานั้นจะถูกลดระดับ หรือปฏิเสธการมีอยู่ไปโดยปริยาย

แต่ข้อยกเว้นก็มีอยู่บ้าง หากผู้ใดที่เกิดมาโดยมี "บิดาเป็นคนขาว" สามารถขอร้องให้บิดาทำเรื่อง "เลื่อนสถานะ" ให้ตนเองจากทาสสู่คนธรรมดาได้ แต่ส่วนมากคนเหล่านี้มักจะเกิดมาด้วยความไม่ตั้งใจของบิดา ไม่ว่าจะมาจากการขืนใจสตรี การแอบไปมีบ้านเล็กบ้านน้อย หรือกระทั่งการฟันแล้วทิ้ง ก็ตาม ดังนั้นจึงเป็นการยากที่บิดาจะยอมรับเด็กที่เกิดมาเหล่านี้ เว้นแต่เกิดความสงสารและเห็นใจจริง ๆ 

กระนั้นถึงแม้ว่าคนเหล่านี้จะโชคดีได้ขยับสถานะของตน หากแต่ค่านิยมทางสังคมก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย สังคมที่มีแต่เผ่าพันธุ์คอเคซอยด์เดินกันอยู่ทั่วแผ่นดินย่อมเป็นการยากที่จะยอมรับว่าคนเหล่านี้ตีตนเสมอพวกเขา มันเป็นเรื่องที่ไปไม่ได้และไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น ทางใดก็ตามที่จะขจัดสิ่งพวกนี้ออกไปจากสังคมหรือนำกลับไปสู่สิ่งเดิมก็ยินดีกระทำอย่างไม่ลังเล

แน่อนว่าชุดวิธีคิด "เหยียดผิว" เช่นนี้จะดำรงอยู่ในดินแดนเม็กซิโกมานานแสนนานแบบข้ามยุคข้ามสมัยมาหลายร้อยปีเลยทีเดียว ที่แม้จะเข้าสู่ยุคร่วมสมัยแล้วก็ยังไม่หมดไปจากสังคมเสียที

 

เปิดกว้างพอเป็นพิธี

ในสังคมยุคร่วมสมัยเป็นยุคสมัยแห่งการตื่นตัวในประเด็นทางสังคมมากมาย โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง "การเหยียดเชื้อชาติ" (Racism) ที่ในปัจจุบันก็ได้มีการเปิดกว้างมากขึ้น ผู้คนตระหนักรู้ถึงความรุนแรงของสิ่งดังกล่าวมากขึ้น หากแต่ในความเป็นจริงสังคมนั้น ๆ ล้วนแต่ "เปิดกว้างพอเป็นพิธี" ให้พวกคนผิวดำมีที่มีทางในสังคมเฉย ๆ 

นั่นไม่ใช่การเป็นไปเพื่อการยอมรับและเพื่อการอยู่ร่วมกัน หากแต่เป็น "การข่มจิตข่มใจ" (Toleration) ของพวกคนขาวที่ครอบครองการบริหารประเทศอยู่ต่างหาก

นั่นเพราะโลกในปัจจุบันนี้แม้จะเปิดกว้างมากขึ้น แต่เอาเข้าจริง ๆ ก็ทำไปโดยได้รับการบีบบังคับ ทำไปด้วยหน้าที่ที่ประชากรของรัฐควรกระทำ (Obligation) เสียมากกว่า หากไม่ทำก็จะเป็นการไม่ตามเทรนด์ นอกคอก ดูไม่อารยะ ติดกับดักวิธีคิดโบราณ หรือหนักหนาที่สุดคือผิดกฎหมายตามที่บัญญัติไว้

นั่นไม่ใช่หลักแห่งการอยู่ร่วมกันที่ดีเลย คนที่อดทนก็ต้องอดทนต่อไป และไม่ได้มีความคิดว่า "คนเท่ากัน" อยู่ในหัวแบบจริง ๆ จัง ๆ หรือมาจากส่วนลึกของจิตใจ เหมือนกับว่าสังคมที่เปิดกว้าง มีความศิวิไลซ์ ให้สิทธิและเสรีภาพแบบวิธีคิดแบบ "เสรีนิยม" (Liberalism) ทำได้เพียงแค่ระงับการปะทุของภูเขาไฟลูกหนึ่งไว้แต่มันไม่ได้ดับสนิท และเมื่อถึงเวลาถึงขีดจำกัด ภูเขาไฟลูกนั้นก็จะปะทุออกมาชนิดที่ไม่สามารถรับมือได้ทัน

การถือคนขาวเป็นใหญ่ (White Supremacy), กรณี จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) และ Black Lives Matter, นโยบาย American First ของ โดนัลด์ ทรัมป์, การเกิดขึ้นของแนวคิดเผด็จการและอำนาจนิยมทั่วโลก หรือแม้แต่กรณี แอเรียล ใน The Little Mermaid ล้วนแล้วแต่เป็น "สิ่งสั่งสม" ที่มาจากการปะทุของเรื่องดังกล่าว

ยังไม่นับรวมผลพวง (Consequences) อื่น ๆ ที่ตามมาจากกรณีดังกล่าว อาทิ การญีฮัด (Jihad) ของอิสลาม การเกิดขึ้นของกลุ่ม อัลกออิดะฮ์ (Al-Qaeda), กลุ่มไอซิส (ISIS) หรือแม้กระทั่งความรุนแรงของการบังคับใช้กฎหมายอิสลามที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงการเกิดขึ้นของแนวคิด "ค่านิยมแบบเอเชีย" (Asian Values) ที่ประณามความเป็นตะวันตก ไม่ยอมเป็นขี้ข้าฝรั่ง ก็เป็นผลพวงย้อนกลับของเรื่องนี้เช่นกัน

โดยเฉพาะในเม็กซิโกที่มีความ "สลับซับซ้อน" (Complex) ทางเผ่าพันธุ์สูงมากมาตั้งแต่ครั้งอดีต แน่นอนว่าความขัดแย้งที่มีเรื่องสีผิวเป็นแกนกลางย่อมไม่อาจสงบลงได้โดยดุษฎี การต่อสู้ฟาดฟันทางความคิดยังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ แบบไม่มีทางจบสิ้น

ในวงการฟุตบอลก็เช่นกัน แม้จะเป็นกีฬาที่ถือว่าต้องใช้พละกำลังมหาศาลที่ขายแรงและการฝึกซ้อมแบบหนักหน่วงแลกกันกับเงินเดือนที่น้อยนิดในสมัยก่อน ก็ยังไม่มีที่ว่างให้แก่ชาวผิวดำ ที่สรีระได้ ความแข็งแกร่งได้ หรือความอดทนได้เลย กลับกันมีแต่พวกคนขาวไม่ก็ลูกผสมชนพื้นเมืองกับคนขาวเท่านั้นที่ได้สวมอาภรณ์ "ทรีโกลอร์" ลงแข่งขันในนามทีมชาติ

นั่นทำให้เห็นว่าขนาดยาจกที่เป็นคนผิวขาวที่ต้องปากกัดตีนถีบมาเตะฟุตบอลก็ยังไม่ได้ "ชายขอบ" เท่ากับชาวผิวดำเลย

กระนั้นในกาลต่อมาที่ฟุตบอลเริ่มเป็นธุรกิจมากขึ้น ก็ได้มีชาวผิวดำก้าวขึ้นมาทำผลงานได้ดีจนติดทีมชาติบ้างประปราย ที่พอมีชื่อเสียง เช่น เอดู อิสเซลา (Edoardo Isella) อดีตดาวโรจน์ของชีวาส กัวดาลาฮารา (C.D. Guadalajara), อาเดรียน ชาเวซ (Adrián Chávez) ผู้รักษาประตูระดับตำนานของคลับ อเมริกา (Club América) หรือ เมลวิน บราวน์ (Melvin Brown) กองหลังระดับตำนานของสโมสรครูซ อาซูล (Cruz Azul) ทั้งยังได้ติดทีมไปลุยศึกฟุตบอลโลก 2002 ร่วมกับทีมด้วย แม้ไม่ได้ลงสนามแม้แต่แมตช์เดียวก็ตาม

แต่ก็เป็นเหมือนปรากฏการณ์เสียมากกว่า เพราะการก้าวขึ้นมาอยู่ในแสงสีของพวกเขาเป็นดั่งของแปลกของหายากที่นาน ๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง แน่นอนว่าการต่อสู้ฝ่าฟันจนได้รับโอกาสแสดงความสามารถเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม หากแต่สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดหากคิดว่าชาวผิวดำก็คือคน ๆ หนึ่งที่ชีวิตล้วนมีเรื่องราวและมีวิถีไม่ต่างจากคนอื่น ๆ ในสังคม

นั่นทำให้ชาวผิวดำไม่ได้มีโอกาสกำหนดความเป็นไปของอัตลักษณ์ตนเองแบบจริง ๆ จัง ๆ เลย นั่นเป็นเพราะอำนาจก็ไม่เคยมี และคนมีอำนาจก็ไม่ได้จริงจังกับเรื่องนี้

แต่ที่พีกไปกว่านั้นคือบรรดาชาวผิวดำนี่แหละที่กระทำการ "เหยียดกันเอง" และที่โด่งดังที่สุดคือกรณี  โรนัลดินโญ่ ปีกสตาร์บราซิล เมื่อครั้งสวมอาภรณ์ฟ้า-ดำ ของ เกเรทาโร (Querétaro) ทีมระดับกลางตารางของลีกเม็กซิโก โดยเจ้าตัวโดนตะโกนจากฝั่ง ติเกรส (Tigres UANL) ทีมคู่แข่งในวันนั้นว่า "ไอ้ลิง" ซึ่งถือเป็นการเหยียดที่ร้ายแรงอย่างมาก และไม่คิดว่าจะเป็นพวกเดียวกันเองที่กระทำใส่กัน

เมื่อพิจารณาแล้วช่างเป็นหนทางที่มืดมนเสียเหลือเกินสำหรับดินแดนอดีตอารยธรรมแอซเทคแห่งนี้ กระนั้นก็ได้มีช่วงหนึ่งที่เรื่องของสีผิวในวงการฟุตบอลเม็กซิโกนั้นได้รับการ "งดเว้น" ไปชั่วขณะ จากพ่อค้าแข้งชายหนุ่มพี่น้องอย่างคาดไม่ถึง

 

พี่น้อง ดอส ซานโตส จุดเปลี่ยนสำคัญ

เชื่อได้เลยว่าหากใครติดตามทีมชาติเม็กซิโกอย่างเหนียวแน่นจะต้องคุ้นเคยกับสองพี่น้องตระกูล ดอส ซานโตส (Dos Santos Brothers) อย่าง จีโอวานี และ โจนาธาน ได้เป็นอย่างดี

ทั้งสองถือเป็น "เด็กระเบิด" แห่งวงการฟุตบอลเม็กซิโก เพราะพวกเขาอยู่ในระบบศูนย์ฝึกเยาวชน ลา มาเซีย ที่โด่งดังแห่งบาร์เซโลน่า โดยจีโอวานีคนพี่ได้ลงประเดิมสนามให้ทัพเอล ทรี ชุดใหญ่ ก่อนด้วยวัย 18 ปี ก่อนที่น้องชายอย่างโจนาธานจะตามมาให้หลัง 

จีโอวานีรับบทบาทในตำแหน่งริมเส้นและหน้าต่ำที่ถือว่าทำเกมรุกได้สะเด่าอย่างมาก เขามีลีลาเฉพาะตัวคล้ายคลึงกับสไตล์แซมบ้า ส่วนโจนาธานรับบทบาทเป็นกองกลางสุดแข็งแกร่งที่ขึ้นสุดลงสุดและเลี้ยงบอลได้พลิวไหวมาก ๆ ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดนี้ส่วนหนึ่งเป็นการถ่ายทอดทางดีเอ็นเอมาจาก ซิซินโญ (Zizinho) กองกลางระดับตำนานของลีกเม็กซิโก ผู้เป็นบิดาของพวกเขานั่นเอง

แม้น้องชายจะไปไม่ถึงฝั่งฝันลดระดับตนเองเป็นนักเตะธรรมดา ๆ คนหนึ่ง หากแต่ตัวพี่ชายนั้นหากไม่นับผลงานระดับสโมสร ระดับทีมชาติก็สามารถเรียกได้ว่าเป็น "ตำนาน" ได้เลยทีเดียว เพราะเจ้าตัวเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่พาพลพรรคเอล ทรี คว้าเหรียญทองในการแข่งขันฟุตบอลชายโอลิมปิก ปี 2012 ได้สำเร็จ และเป็นชัยชนะเหนือ บราซิล ที่มี เนย์มาร์ ซุปเปอร์สตาร์แซมบ้าร่วมทีมด้วย มิหนำซ้ำเจ้าตัวยังพาทีมคว้าแชมป์ คอนคาเคฟ โกลด์ คัพ ได้ถึง 3 สมัย (2009, 2011, 2015) 

แม้ผลงานเชิงประจักษ์จะเป็นเพียงแค่การจุดพลุที่ขึ้นจุดพีกไม่กี่ปีก็ดับวูบลง แต่แฟนบอลในประเทศต่างแซ่ซ้องสรรเสริญเขาเป็นอย่างมากชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งที่พี่น้องตระกูล ดอส ซานโตส นั้นเป็นชาวผิวดำอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งถือว่าผิดแปลกและผิดปกติวิสัยอย่างมาก

นานาทรรศนะก็ว่ากันไป แต่ที่พอจะเข้าเค้าก็เห็นจะเป็น "การผสมปนเปทางเผ่าพันธุ์" ของพี่น้องตระกูลดอส ซานโตส นั้นมีบางส่วนที่สามารถไปกันได้กับสังคมเม็กซิโก

ซิซินโญ พ่อของเขาเป็นชาวบราซิล และเป็นคนผิวดำแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนคุณแม่ของเขานั้นเป็นพวก เมซติซา (Mestiza) หรือก็คือลูกผสมระหว่างคนผิวขาวและคนพื้นเมือง (ผู้ชายเรียกเมซติโซ ผู้หญิงเรียกเมซติซา) ที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของเม็กซิโก ใกล้ ๆ ชายแดนสหรัฐอเมริกา

ดังนั้นเมื่อเกิดการปฏิสนธิกันก็เกิดออกมาเป็นพี่น้องตระกูลดอส ซานโตส ที่สีผิวของพวกเขาถึงจะดำแต่ก็ดำไม่สนิทโดยจะมีสีแดง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวพื้นเมืองปนอยู่เล็กน้อย ส่วนใบหน้านั้นจะออกไปทางชนพื้นเมืองแบบชัดเจนมากๆ ส่วนลักษณะผมน่าจะได้พ่อมา มีหยิก ๆ หยอย ๆ แบบคนผิวดำ หากแต่สีผมนั้นจะออกน้ำตาล ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชนพื้นเมือง

เช่นนี้ตัวพวกเขาเองจึงมีลักษณะ "ครึ่ง ๆ กลาง ๆ" ทางเผ่าพันธุ์ เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าคน ๆ นี้เป็นเผ่าพันธุ์ใดได้ชัดเจน จะว่าเป็นคนผิวดำก็ไม่ใช่ ผมใช่แต่หน้าไม่เข้าเค้า จะว่าเป็นชนพื้นเมืองก็ไม่เชิงเพราะโครงหน้าได้แต่สีผิวก็ไม่เหมือน

เมื่อไม่สามารถเป็นอะไรได้เลย สิ่งเดียวที่พวกเขาเป็นได้ก็คือ "เป็นคนเชื้อชาติเม็กซิโก" ลงเล่นให้ทีมชาติ ทำผลงานให้แฟนบอลประทับใจ จนเป็นความภาคภูมิใจของชาวเม็กซิโกทั้งชาติได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจนั่นเอง

สภาวะเช่นนี้ถือว่ามีความพิเศษในตัวอย่างมาก ขนาดที่ โรเบิร์ต จ้าว โรเมโร (Robert Chao Romero) นักวิชาการชาวจีน-ละตินอเมริกัน ด้านเอเชีย-อเมริกันศึกษา (Asian American Studies) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (The University of California, Los Angeles : UCLA) ได้นิยามการศึกษาทางเผ่าพันธุ์นี้ไว้ว่า

"การจะเข้าใจบริบทประวัติศาสตร์นี้ได้ สำคัญที่สุดเลยคือการเข้าใจสหสัมพันธ์ของเผ่าพันธุ์ในปัจจุบันของเม็กซิโก ชาตินิยม และอย่าลืม จีโอวานี (ดอส ซานโตส) ร่วมด้วย"

นับเป็นเรื่องดีที่อย่างน้อย ๆ ประเด็นเรื่องของความสามารถจะนำหน้าประเด็นเรื่องสีผิว แต่กระนั้นก็ใช่ว่านักฟุตบอลหลาย ๆ คนจะประสบกับชะตากรรมโชคช่วยเช่นนี้

เพราะตราบใดที่สังคมในเม็กซิโกหรือที่อื่น ๆ ณ ปัจจุบันยังทำการแก้ไขปัญหาแบบซุกไว้ใต้พรมและไม่ได้ให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันอย่างจริงจัง โอกาสที่คนผิวดำจะได้มีที่ทางของตนเองจริง ๆ นั้นก็เป็นไปได้ยากตามไปด้วย

ดังนั้นก็นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายฝีเท้าของนักฟุตบอลผิวดำในเม็กซิโกอย่างเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

 

แหล่งอ้างอิง

หนังสือ ก้าวย่างสู่สังคมโลก : พัฒนาการทางสังคมและการเมืองของลาตินอเมริกาในยุคอาณานิคม
https://remezcla.com/features/sports/giovani-dos-santos-history-mexican-blackness/ 
https://remezcla.com/features/culture/meet-the-instagram-project-giving-a-voice-to-the-blaxican-experience/ 
https://www.britannica.com/topic/mulatto-people 
https://www.comptonherald.org/blackmexicothirdroot 
https://www.bbc.com/news/magazine-35981727
https://aldianews.com/en/culture/heritage-and-history/equality-pitch  
https://www.usatoday.com/story/sports/soccer/2014/11/04/ronaldinho-abuse-reveals-soccer-racism-in-mexico/18465159/ 

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น