Feature

วองต์โฟเรต์ โคฟุ : ความภาคภูมิใจแห่งยามานาชิ กับแชมป์ฟุตบอลถ้วยของ "ทีมรองบ่อน" | Main Stand

สิ้นเสียงนกหวีดยาวที่ นิสสัน สเตเดียม เมืองโยโกฮามา จังหวัดคานางาวะ ประเทศญี่ปุ่น ท่ามกลางผู้ชมในสนามร่วมหมื่นคน บรรดานักฟุตบอลและกองเชียร์ของสโมสร วองต์โฟเรต์ โคฟุ (Ventforet Kofu) ได้เฮสนั่น กระโดดโลดเต้น ดีใจอย่างสุดเสียง จากการดวลจุดโทษชนะ ซานเฟรชเช ฮิโรชิมา ทีมแกร่งจากเจลีก ไป 5-4 หลังจากที่เสมอในเวลา 1-1 คว้าแชมป์ เอ็มเพอเรอร์ส คัพ ประจำฤดูกาล 2022 ไปอย่างยิ่งใหญ่

 

การคว้าถ้วยสุดยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่นนี้กลับจังหวัดยามานาชิ (Yamanashi Prefecture) นับเป็นความสำเร็จแรกตลอด 25 ปีของการจดทะเบียนนิติบุคคลสโมสร และยังเป็นการคว้าแชมป์อีกหนึ่งครั้งของทีมรองบ่อนในระดับ เจ 2 (J2 League) ลีกฟุตบอลระดับสองของประเทศ โดยครั้งแรกเป็นทีม เอฟซี โตเกียว ที่ทำได้ในปี 2011

ทั้ง ๆ ที่ทำผลงานในลีกสุดบู่สวนทางกับรายการฟุตบอลถ้วยอย่างมาก เพราะในฤดูกาล 2022 นี้ พลพรรค "อัศวินนักสู้อมตะ" รั้งอันดับ 18 บนตารางคะแนนเจลีก 2 แม้จะยังไม่จบฤดูกาล แต่ก็การันตีว่าจะรอดตกชั้นแบบเส้นยาแดงผ่าแปด 

Main Stand จึงจะพาทุกท่านไปสืบสาวราวเรื่องสโมสรซึ่งเป็น "ความภาคภูมิใจแห่งจังหวัดยามานาชิ" ทีมนี้ว่ามีการประกอบสร้างแบบใด ? ผ่านอุปสรรคขวากหนามอะไรมาบ้าง ? กว่าจะสามารถกรุยทางคว้าความสำเร็จและคว้าโควตาการแข่งขันสโมสรฟุตบอลระดับเอเชียนี้ไปได้

 

ก่อรูปจากจิตวิญญาณแห่ง ฟุ ริน คะ ซัน

วองต์โฟเรต์ โคฟุ นั้นก่อตั้งขึ้นในปี 1965 โดยใช้ชื่อว่า สโมสรฟุตบอลคาคุโจ (Kakujo Club) ก่อนเปลี่ยนมาเป็น โคฟุ เอสซี (Kofu SC) ในภายหลัง โดยใช้สนามประจำโรงเรียนมัธยมโคฟุไดอิจิ (Kofu Daiichi High School) เป็นสังเวียนฟาดแข้ง 

ซึ่งบรรดาพ่อค้าแข้งก็มาจากผู้ที่จบการศึกษาหรือไม่ก็นักเรียนชั้นปีที่ 3 (มัธยมศึกษาปีที่ 6) ของโรงเรียนเป็นแกนหลัก โดยตั้งเป้าหมายแบบฝันให้ไกลไปให้ถึง ว่าอีกไม่นานจะต้องได้ลงโม่แข้งใน เจแปน ซอกเกอร์ ลีก หรือ เจเอสแอล (Japan Soccer League - JSL) ลีกสูงสุด ณ ขณะนั้นให้ได้

ช่วงที่เริ่มก่อตั้ง โคฟุ เอสซี จะลงทำการแข่งขันอยู่ในระดับลีกภูมิภาคประจำภูมิภาคคันโต 6-7 ฤดูกาล ซึ่งก็ถือได้ว่าทีมนั้นเป็นเต้ยประจำลีก เพราะสามารถเกาะกลุ่มหัวตารางได้ตลอด และมีถึงสองฤดูกาลที่ทีมสามารถคว้าแชมป์ได้ คือในฤดูกาล 1969 และ 1970

ก่อนที่ในฤดูกาล 1972 ทางฝั่งเจแอลเอลจะทำการเพิ่มลีกอีกระดับโดยคัดเลือกบรรดาทีมหัวตารางประจำภูมิภาคจำนวน 10 ทีม (ภูมิภาคคันโต 4 ทีม ภูมิภาคคันไซ 4 ทีม และภูมิภาคโทไค 3 ทีม) ขึ้นสู่ เจเอสแอล ดิวิชั่น 2 ซึ่งแน่นอนว่า โคฟุ เอสซี ที่จบตำแหน่งรองแชมป์ในลีกภูมิภาคคันโตได้รับเชิญเข้าร่วมไปโดยปริยาย (โทวะ เอสเตท เดเวลอปเมนต์ แชมป์ลีกภูมิภาคคันโตฤดูกาลนั้นได้เลื่อนไป เจเอสแอล ดิวิชั่น 1 ทันที เพราะบริษัทแม่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง)

ซึ่งในการแข่งขันกว่า 20 ปีกลับเต็มไปด้วยความกระท่อนกระแท่น นับตั้งแต่จบรองแชมป์ดิวิชั่น 2 ในฤดูกาล 1973 ส่วนมากทีมมักจะวนเวียนอยู่แถว ๆ กลางค่อนไปท้ายตาราง เนื่องจากทีมต้องเผชิญกับปัญหาสถานะทางการเงินวนเวียนอยู่ตลอด แต่ทีมก็ยังถูลู่ถูกังเอาตัวรอดมาได้เสมอ

ก่อนที่ในปี 1995 ทีมจะทำการเปลี่ยนอัตลักษณ์ของสโมสร โดยเป็นการทำตามกระแส ณ ตอนนั้นที่หลายสโมสรได้ทำการ "เพิ่มชื่อเฉพาะ" เข้าที่ข้างหน้าหรือข้างหลังเพื่อแสดงให้เห็นถึงคาแร็กเตอร์ ความเป็นตัวตน และประวัติศาสตร์ที่หล่อหลอมทีมที่สื่อถึงถิ่นฐานที่ตั้งอีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมการตั้งชื่อแบบ "อเมริกัน" นั่นเอง รวมถึงเป็นการทำตามกฎของ เจลีก (J League) ที่ห้ามใช้ชื่อองค์กรเป็นชื่อสโมสรในกรณีของหลาย ๆ ทีมอีกด้วย

โดย โคฟุ เอสซี ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเป็น วองต์โฟเรต์ โคฟุ ซึ่ง วองต์ (Vent) และ โฟเรต์ (Foret) แปลว่า "ลม" และ "ป่า" ในภาษาฝรั่งเศส ตามลำดับ 

ลมและป่าที่ว่านี้ต้อนย้อนไปถึง "ยุคเซ็นโกคุ" (Sengoku period : 戦国時代) ที่เป็นยุคที่ทั่วญี่ปุ่นบ้านเมืองลุกเป็นไฟ มีสงครามเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า บรรดานักรบ ซามูไร เจ้าผู้ปกครองดินแดน หรือตระกูลมีชื่อตามแว่นแคว้นน้อยใหญ่ ต่างลุกฮือกันขยายอำนาจให้แผ่ไพศาล 

หนึ่งในเจ้าผู้ปกครองดินแดนที่มีชื่อเสียงจากสงครามยุคนั้น คือ มูลนาย หรือ "ไดเมียว" (Daimyo) นามว่า ทาคาดะ ชินเก็น (Takeda Shingen : 武田 信玄) ผู้นำตระกูลชินเก็น (The Takeda Clan : 武田氏) ที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลมินาโมโตะ (Minamoto : 源) ตระกูลยิ่งใหญ่ผู้ถวายการรับใช้จักรพรรดิราชในตำนาน รวมถึงเป็นผู้ปกครองแคว้นไค ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองโคฟุ จังหวัดยามานาชิ ในปัจจุบัน

โดยเอกลักษณ์ที่สำคัญในทุก ๆ การออกศึกของชินเก็นคือเขามักจะทำการ "ชูธง" ที่ประกอบไปด้วยคำ 4 คือคำว่า "ฟุ ริน คะ ซัน" (風林火山) แปลว่า ลม ป่า ไฟ ภูเขา ซึ่งเป็นหนึ่งในคำโปรยของตำราพิชัยสงคราซุนวู (The Art of War : 孫子兵法) ที่เป็นตำรายอดนิยมสำหรับการศึกษาและฝึกสอน ประหนึ่งตำราเรียนของยอดนักรบในยุคสมัยนั้น

ฟุ ริน คะ ซัน หากท่านใดเป็นแฟนตัวยงของการ์ตูนญี่ปุ่นแนวโชเน็น (Shounen) ที่เน้นการรบราฆ่าฟัน ทั้งในเรื่องของสงครามหรือการกีฬาก็มักจะมีตัวละครใดตัวละครหนึ่งที่จะมีความ "บ้ากาพย์กลอน" ใช้ชีวิตโบราณ ๆ และมักจะมีลีลาการต่อสู้ที่อิงกับ ฟุ ริน คะ ซัน

อย่างในการ์ตูน "เจ้าชายลูกสักหลาด" (Prince of Tennis) ก็มีตัวละครชื่อว่า เก็นอิจิโร่ ซานาดะ (Genichirō Sanada : 真田 弦一郎 ) รองกัปตันชมรมเทนนิสของโรงเรียนสาธิตริคไค (Rikkai University-Affiliated Middle School : 私立立海 大 附属 高等学校 ) ที่มีคาแร็กเตอร์แบบ "ลิเก" มีความเงียบขรึม เจ้าระเบียบ เคร่งครัดต่อหน้าที่ ซึ่งกระบวนท่าในการตีเทนนิสของเขาก่อนหวดลูกสักหลาดโต้ตอบจะต้องท่องบทกลอน ฟุ ริน คะ ซัน และตั้งท่าพิลึก ๆ เสมอ

ซึ่งบทกลอนนั้นปรากฏอยู่ในบทที่ 7 ประโยคที่ 17 และ 18 ที่มีใจความระบุไว้ว่า

"พริ้วไหวดุจสายลม เยือกเย็นดุจพงไพร" (故其疾如風,其徐如林) 
"จู่โจมไวปานไฟผลาญ หนักแน่นดุจศิงขร" (侵掠如火,不動如山)

โดยทางสโมสร โคฟุ เอสซี ก็ได้ตัดท่อนคำมาให้เหลือเพียง ลม และ ป่า ส่วนหนึ่งเพราะหากมาครบทั้ง 4 อาจจะมีความยาวจนเกินไป ไม่เหมาะกับการทำแบรนดิ้ง แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือในเมืองโคฟุรุ่มรวยไปด้วยธรรมชาติที่งดงาม มีดอกไม้นานาพันธุ์ มีภูมิศาสตร์ที่เป็นที่ราบหุบเขาอยู่ใกล้ชิดกับภูเขาไฟฟูจิ และมีอาณาบริเวณใกล้กับทะเลญี่ปุ่น ทำให้ภูมิอากาศในโคฟุนั้นชุ่มชื่นเย็นสบาย รวมถึงมีลมพัดจากทะเลตลอดทั้งปี

ดังนั้นเมื่อมีทั้ง ลม และ ป่า ทางสโมสรจึงนำมาใช้เป็นภาพแทนของสโมสรเพื่อการสื่อสารที่ชัดเจน แม้กระทั่งการออกแบบตราสโมสรก็ยังได้นำ ดอกฟูจิซากุระ มาประดับไว้เหนือตรา สูงยิ่งกว่า มณีสี่เหลี่ยม ซึ่งเป็นตราประจำตระกูลชินเก็นที่ถูกหยิบยืมมาใช้

อีกทั้งคำโปรยเรื่องลมและป่าในตำราพิชัยสงครามซุนวู ทางสโมสรก็ยังได้นำมาใช้เป็นการปลุกใจเพื่อให้พ่อค้าแข่งที่จะเข้ามาสวมอาภรณ์ฟ้า-เลือดหมู ระลึกไว้ในใจยามลงทำการแข่งขันว่า "จงลงสนามด้วยความแข็งขัน กล้าหาญ แล้วก็อย่าลืมความความสงบ เยือกเย็น" เรียกได้ว่าใช้จุดอ้างอิงแบบเก็บทุกเม็ดเลยทีเดียว

เมื่อประวัติศาสตร์พร้อม อัตลักษณ์พร้อม การปลุกใจพร้อม นั่นเท่ากับว่ายอดทีมจากภูมิภาคคันโตทีมนี้ได้ "มีที่มีทาง" ในสารบบฟุตบอลญี่ปุ่นไปเรียบร้อยแล้ว และในปี 1997 วองต์โฟเรต์ โคฟุ ก็ได้ตัดสินใจจดทะเบียนนิติบุคคล เพื่อเปลี่ยนจากทีมฟุตบอลสมัครเล่นสู่การเป็นทีมระดับอาชีพเต็มตัว 

 

ทีมน้ำกร่อยทั้งปีทั้งชาติ

แม้การก่อรูปของสโมสรจะดูอีปิก มีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ มหาบุรุษ และวัฒนธรรมโบราณ แต่อย่างไรเสียว่าด้วยเรื่องผลงานในสนามแบบเพียว ๆ ก็ถือว่าไม่น่าอภิรมย์สำหรับแฟนวองต์โฟเรต์เสียเท่าใด นั่นเพราะ พลพรรควีเอฟเค มีลักษณะเป็น "ทีมน้ำกร่อย" ที่มีผลงานแบบ "โยโย่" ขึ้น ๆ ลง ๆ ระหว่างลีกรองและลีกสูงสุด เป็นทีมที่ดีเกินกว่าจะอยู่เจ 2 แต่ก็ไม่ดีพอจะอยู่เจลีก 1 ทำให้สโมสรไม่สามารถตั้งมั่นได้เสียที

ตั้งแต่เจลีกเพิ่มการแข่งขันลีกระดับอาชีพอีกหนึ่งขั้นเป็น เจ 2 ในปี 1999 วองต์โฟเรต์ก็วนเวียนอยู่แถว ๆ กลางตารางมาโดยตลอด มีผลงานแบบแทบไม่ใกล้เคียงกับการลุ้นเลื่อนชั้นหรือเกาะกลุ่มหัวตารางเลย

กระนั้นใครจะคิดว่าการเข้ามาของโค้ชโนเนมไร้ดีกรีที่ชื่อ ทาเคชิ โอกิ (Takeshi Oki) จะเปลี่ยนแปลงให้ยอดทีมจากยามานาชิทีมนี้ก้าวขึ้นไปสัมผัสอากาศบริสุทธิ์บนเจลีกได้สำเร็จ

ในฤดูกาล 2005 โอกิได้ทำการดึงตัว บาเร่ (Baré) กองหน้าจอมถล่มประตูที่ไม่อยู่ในแผนการทำทีมของ โอมิยะ อาร์ดิจา ทีมที่ได้ขึ้นไปเล่นลีกสูงสุด ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ที่เพลย์เซฟอย่างมาก เพราะตัวบาเร่นั้นการันตีว่ายิงประตูในลีกรองได้เป็นกอบเป็นกำอย่างสม่ำเสมอ โดยเขาทำได้ 22 ประตู และ 15 ประตูในฤดูกาล 2003 และ 2004 

โดยโอกินั้นตั้งใจซื้อบาเร่มาร่วมประสานงานกับ ทาโระ ฮาเสะกาวะ (Taro Hasegawa) กองหน้าที่ทีมซื้อมาปั้นแต่ดันปืนฝืด ยิงได้เพียง 3 ประตูใน 2 ฤดูกาลของเจลีก 2 

คอมบิเนชั่นนี้ถือได้เลยว่า "อย่างตึง" เป็นที่สุด เพราะสองแรงร่วมด้วยช่วยกันผลิตสกอร์ไป 38 ประตู ซึ่งเป็นเกือบครึ่งของจำนวนที่ทีมทำได้ทั้งฤดูกาล (78 ประตู) แบ่งเป็นของ ฮาเสะกาวะ 17 ประตู และ บาเร่ 21 ประตู พร้อมคว้าตำแหน่งรองดาวซัลโว และพาทีมคว้าอันดับที่ 3 โควตาสุดท้ายในการไปเล่นเจลีกได้สำเร็จ

แต่ลีกรองกับลีกสูงสุดนั้นมีความเข้มข้นนั้นต่างกันลิบลับ ในเจลีกฤดูกาล 2006 วองต์โฟเรต์ประสบปัญหาคล้าย ๆ กับทีมน้องใหม่ทั่วไปคือไม่สามารถรับมือกับการปรับตัวได้ กองหน้าที่เคยยิงระเบิดก็เงียบเป็นเป่าสาก กองหลังที่เคยแข็งแกร่งก็เสียรูปกระบวนเกมรับไปสิ้น แต่ว่าโชคยังช่วย เพราะมีอีก 3 ทีมที่ผลงานย่ำแย่กว่า พวกเขาจึงสามารถจบอันดับที่ทำให้รอดตกชั้นลำดับสุดท้าย (อันดับ 15 จาก 18 ทีม) ไปแบบไม่ยากเย็นเท่าใด (มี 42 คะแนน ส่วนอันดับตกชั้นมี 27 คะแนน)

อย่างไรเสียความจริงก็คือความจริง เมื่อฤดูกาลต่อมา (2006) ทีมยังคงประสบปัญหาเดิม ๆ แบบคาราคาซัง คือยิงก็ไม่ได้รับก็ไม่ดี ทำให้ทีมจบด้วยอันดับที่ 17 ตกชั้นตั้งแต่ไก่โห่แบบแทบไม่ให้แฟนบอลได้ลุ้นแม้แต่นิดเดียว

ข้อดีเดียวของการได้ออกไปแตะขอบฟ้าเจ 1 มาแล้ว นั่นคือหลังจากนั้นทีมสามารถรักษามาตรฐานวน ๆ เวียน ๆ อยู่ในกลุ่มหัวตารางลีกรอง ขับเคี่ยวแย่งโควตาเลื่อนชั้นในทุก ๆ ฤดูกาลได้ แต่มักจะเฉียดไปเฉียดมา จ่อแล้วจ่ออีก ไม่ได้กลับไปสู่จุดเดิมเสียที แต่แล้วในฤดูกาล 2010 วองต์โฟเรต์ก็กลับมาเฉิดฉายอีกครั้ง

โดยทีมเลือกใช้โค้ชโนเนมอีกเช่นเคย เขามีนามว่า คาซึโอะ อุจิดะ (Kazuo Uchida) แถมรอบนี้เขาไม่เคยคุมทีมระดับอาชีพมาก่อนด้วย แม้อายุอานามจะใกล้แซยิดแล้ว แต่เผอิญว่าอุจิดะนั้นมีของและมีสายตาอ่านขาด เพราะเขาได้ทำการชุบชีวิตกองหน้าตกอับอย่าง ไมค์ ฮาเวนาร์ (Mike Havenaar) และ เปาลินโญ่ (Paulinho) ให้กลับมามีฟอร์มที่สุดสะเด่าอีกครั้ง

34 ประตูคือจำนวนที่คู่หูแห่งวีเอฟเคกระหน่ำได้ แบ่งเป็นของ เปาลินโญ่ 14 ประตู และของ ไมค์ 20 ประตู แถมไมค์ยังคว้ารางวัลดาวซัลโวมาประดับบารมีได้ด้วย พร้อมทั้งส่งทีมกลับสู่เจ 1 ในฐานะรองแชมป์ลีกรองได้อีกครั้ง

แต่ขึ้นมาคราวนี้ทีมได้เลือกที่จะเปลี่ยนแปลงบางอย่าง โดยทีมได้ทำการปลดโค้ชอุจิดะออกแล้วไปเลือก โทชิยะ มิอุระ (Toshiya Miura) โค้ชหนุ่มไฟแรงที่ผ่านประสบการณ์พา คอนซาโดเล ซัปโปโร เลื่อนชั้น และเคยได้ไปคุมทีม วิสเซล โกเบ บนลีกสูงสุดมาแล้ว และหากยังจำกันได้เขาก็คือเฮดโค้ชทีมชาติเวียดนามก่อนหน้า พัค ฮัง-ซอ นั่นเอง

แม้จะพกดีกรีมาเต็มกระเป๋า แต่การทำทีมของมิอุระกลับพังไม่เป็นท่า ทีมมีการเข้าทำที่ไม่มีรูปแบบ เน้นแต่บอลโยนสาด ๆ เข้าไปให้กองหน้าเก็บไปทำด้วยตนเอง ท้ายที่สุด ทีมก็กลับไปเริ่มต้นใหม่ที่ลีกรองอีกครั้ง แม้คราวนี้จะได้ลุ้นยันแมตช์สุดท้ายของฤดูกาลก็ตาม

กระนั้นเรื่องที่น่าปีติยินดีเรื่องเดียวของทีมก็คือ ไมค์ ฮาเวนาร์ สามารถถล่มประตูจนคว้ารองดาวซัลโวได้สำเร็จด้วยจำนวน 17 ประตู ซึ่งเครดิตของเจ้าตัวก็ส่วนหนึ่ง แต่แทคติกสาดยาววัดดวงของมิอุระถือว่าเข้าทางกับสรีระที่สูงใหญ่ของไมค์มาก ๆ เจ้าตัวทำประตูจากลูกกลางอากาศได้บ่อยครั้ง ขนาดก้าวขึ้นไปติดทีมชาติญี่ปุ่นได้สำเร็จ รวมถึงฟอร์มของเจ้าตัวได้ไปเตะตาสโมสรวิเทสส์ แห่งเนเธอร์แลนด์ และเซ็นสัญญาไปร่วมทัพในกาลต่อมา นับได้ว่านี่เป็นการพลิกชะตาชีวิตของนักเตะได้อย่างน่าทึ่ง


หลังตกชั้นรอบนี้ทีมก็ยังคงไว้ใจให้มิอุระทำทีมต่อไป และแม้จะเสียตัวหลักทั้งไมค์และเปาลินโญ่ แต่ก็ได้ไปดึงตัว ดาบี (Davi) กองหน้าส่วนเกินจาก นาโกยา แกรมปัส ในลีกสูงสุดมาร่วมทัพ

ซึ่งคราวนี้มิอุระตัดสินใจได้เฉียบขาด เพราะการมาของดาบีถือว่าช่วยทีมได้มาก เพราะเจ้าตัวยิงกระจุยกระจายชนิดที่ไม่แบ่งเพื่อนร่วมทีมยิงเลย จนจบฤดูกาล 2012 เจ้าตัวคว้ารางวัลดาวซัลโวไปที่จำนวน 32 ประตู และพาวองต์โฟเรต์คว้าแชมป์ลีกรองได้สำเร็จ และถือเป็นความสำเร็จแรกของสโมสรนับตั้งแต่เข้าสู่ระบบลีกอาชีพอีกด้วย

แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจไม่น้อยนั่นคือการขึ้นมาคราวนี้ไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะวองต์โฟเรต์นั้นสามารถเอาตัวรอดยืนหยัดบนลีกสูงสุดได้ยาวนานถึง 5 ฤดูกาลติดต่อกัน 

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการเลือกที่จะไม่เปลี่ยนแปลงนักเตะโควตาต่างชาติมากจนเกินไปแบบในอดีตที่ทีมที่มาจากลีกรองส่วนใหญ่มักจะทำ แบบเปลี่ยนยกชุดแล้วหวังให้ตัวใหม่ ๆ ที่เข้ามาทำผลงานให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ โดยทีมเลือกใช้งานนักเตะต่างชาติอย่างน้อย 2-3 ปีขึ้นไป ซึ่งมันอาจจะทำให้พ่อค้าแข้งเหล่านี้ค่อย ๆ ปรับตัวซึมซับกับวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียบ อัตลักษณ์ และดีเอ็นเอของการเล่นของสโมสรแบบถึงแก่นก็เป็นได้

หรืออีกกรณีก็คือการค้นพบนักเตะประเภทปิดทองหลังพระที่คอยรับบทเป็นพระรอง ทำหน้าที่เก็บกวาด คอยช่วยเหลือ ประคับประคองคนอื่น ๆ ในทีมให้เล่นได้สะดวกขึ้น นั่นคือชายที่มีชื่อว่า มาควินญอส ปารานา (Marquinhos Paraná) กองกลางตัวรับชาวบราซิลของทีมนั่นเอง

แต่การอยู่รอดแต่ละฤดูกาลของทีมนั้นหืดจับตลอด เพราะพวกเขาต้องมาหนีตกชั้นทุกปี และจบอันดับวนเวียนไม่เคยพ้นเลข 12 บางปีต้องหนีตายจนถึงแมตช์สุดท้ายเสียด้วยซ้ำ 

จนกระทั่งงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เมื่อวองต์โฟเรต์จบอันดับที่ 16 ในฤดูกาล 2017 กลับบ้านเก่าอย่างสิ้นลาย และไม่ได้โผล่พ้นผิวน้ำขึ้นมายังลีกสูงสุดอีกเลยนับจากนั้น

 

ประกาศศักดาคว้าถ้วยจักรพรรดิ

ชีวิตในลีกรองของวองต์โฟเรต์มีแต่เตี้ยลงสาละวันเตี้ยลง ซึ่งเป็นเรื่องทั่วไปของทีมที่อยู่ในลีกสูงสุดมานานแล้วอยู่ ๆ พลาดท่าร่วงตกชั้นไป อาฟเตอร์ช็อกย่อมตามมาเป็นแน่ 

หากแต่พลพรรคฟ้า-เลือดหมู นั้นเป๋ไปเพียงฤดูกาลเดียวก็สามารถกลับมายึดหัวตารางลีกลุ้นเลื่อนชั้นได้อีกครั้ง และพวกเขาก็เข้าใกล้โอกาสนั้นมากที่สุดในฤดูกาล 2021 เนื่องจากทีมจบอันดับที่ 3 แต่ไม่ได้เลื่อนชั้นเสียอย่างนั้น!

ซึ่งโดยปกติทีมที่จบอันดับ 3 ต้องได้เลื่อนชั้น หากแต่เมื่อสืบสาวราวเรื่องก็ต้องย้อนความไปตั้งแต่ตอนเกิดสถานการณ์ COVID-19 ขึ้น ที่ทำให้เจลีกมีมติ "ไม่มีทีมตกชั้นจากลีกสูงสุด" ในฤดูกาล 2020 ทำให้ฤดูกาล 2021 จะมีทีมเข้าร่วมแข่งขันถึง 20 ทีม จากนั้นจึงกำหนดให้มีทีมตกชั้น 4 ทีม และเลื่อนชั้นขึ้นมาเพียง 2 ทีม เพื่อให้เจลีกกลับมาเป็น 18 ทีมเช่นเดิม

นั่นทำให้ความซวยตกมาสู่วองต์โฟเรต์ และอาจจะด้วยเหตุนี้ทีมจึงเป๋ไปยาว ๆ เพราะแค่คืบเท่านั้นก็จะได้ไปเล่นในลีกสูงสุดอยู่แล้วแต่ก็คว้าโอกาสไว้ไม่ได้ เอฟเฟ็กต์จึงต่อเนื่องมาถึงฤดูกาล 2022 ที่ทั้งทีมเล่นฟุตบอลเหมือนไร้วิญญาณใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว 

หากแต่สิ่งที่เกิดขึ้นดันเกิดเฉพาะกับเกมลีกเท่านั้น หากแต่ในฟุตบอลถ้วยกลับแตกต่างกันแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

ทัตสึมะ โยชิดะ (Tatsuma Yoshida) ได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามากุมบังเหียนวองต์โฟเรต์คำรบที่สอง ภายหลังจากพาทีมชาติสิงค์โปร์ไปไม่ถึงฝั่งฝันใน เอเอฟเอฟ คัพ 2020 ซึ่งก็เป็นโยชิดะนี่แหละที่เป็นกุนซือคนสุดท้ายของทีมในลีกสูงสุด และก็เป็นคนพาทีมร่วงตกชั้นเสียเองด้วย

แม้สถิติของโยชิดะในการทำทีมลงแข่งขันฟุตบอลลีกจะอยู่ในระดับแย่ค่อนไปทางแย่มาก แต่หากเป็นฟุตบอลถ้วยก็ถือว่ากุนซือรายนี้ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว เห็นได้จากการเปลี่ยนสิงคโปร์จากทีมดาด ๆ ให้กลับกลายมามีลุ้นแชมป์อาเซียนได้ ด้วยสไตล์รับแน่น ๆ โยนบอลไดเร็กต์ไปทางกว้าง เข้าทำจากกราบข้างด้วยนักเตะความเร็วสูง ซึ่งถือเป็นการผสานฟุตบอลยุคก่อนกับโมเดิร์นฟุตบอลได้อย่างลงตัว และเป็นแผนที่เหมาะกับที่ทีมรองบ่อนจะนำไปใช้ในการเล่นกับทีมใหญ่ 

วองต์โฟเรต์ได้บายในรอบแรก และรอบที่สอง (64 ทีม) ชนะทีมสมัครเล่นที่อ่อนชั้นกว่าอย่าง มหาวิทยาลัยนานาชาติแปซิฟิก (International Pacific University) ไปแบบสบายเท้า 5-1 หากแต่รอบต่อ ๆ ไปคือของจริงล้วน ๆ เพราะทีมที่ผ่านเข้ารอบมานั้นล้วนแล้วแต่มีชื่อชั้นเหนือกว่าทั้งสิ้น

รอบที่สาม (32 ทีม) ทีมต้องเปิดบ้านปะทะกับ คอนซาโดเล ซัปโปโร จากเจ 1 ซึ่งก็ถึงคราวซวย เพราะพวกเขาทำเข้าประตูตนเองให้ทีมเยือนนำไปก่อน หากแต่ คาซึชิ มิตสึฮิระ (Kazushi Mitsuhira) กองหน้าขิงแก่ประจำทีม จะมาตะบัน 2 ประตูให้พลพรรควีเอฟเคผ่านเข้ารอบต่อไป

รอบที่สี่ (16 ทีม) ทีมยังคงได้เปิดบ้านต้อนรับ ซางัน โทสุ จากลีกสูงสุดเช่นเดิม แต่ช่วงนั้นซางันเองก็มีผลงานในลีกไม่ค่อยดีจึงเลือกส่งตัวสำรองลงเยอะ ทำให้วองต์โฟเรต์สามารถเก็บชัยชนะไปได้ 3-1 แบบไม่ยากเย็น

รอบก่อนรองชนะเลิศ ทีมต้องยกพลลงใต้ไปเยือน อวิสปา ฟุกุโอกะ ทีมฟอร์มแรงจากลีกสูงสุด ซึ่งเกมนี้ถือว่ายืดเยื้อเป็นอย่างมาก ทั้งสองทีมกินกันไม่ลงจนต้องต่อเวลาพิเศษ และก็เป็น โยชิกิ โทริไค (Yoshiki Torikai) กองหน้าเด็กปั้นของทีม ตะบันประตูชัยให้กองเชียร์เจ้าบ้านอ้าปากค้างไปตามระเบียบ

เพียงเท่านี้สำหรับทีมรองบ่อนก็นับว่ามาไกลเกินฝันแล้ว การแข่งขันในรอบต่อ ๆ ไปถือเป็นกำไรของแฟนบอล นักเตะ และสตาฟทุก ๆ คน กระนั้นสิ่งที่โยชิดะจัดให้กับวองต์โฟเรต์ถือว่าอีปิกยิ่งกว่านั้นหลายเท่า

รอบรองชนะเลิศ ทีมเดินทางไม่ไกลไปเยือน คาชิมา แอนท์เลอร์ส ที่จังหวัดอิบารากิ โดยเกมนี้ถือได้ว่าเข้าทางวองต์โฟเรต์เป็นอย่างมาก พวกเขาได้ประตูขึ้นนำเร็วจาก จุมมะ มิยาซากิ (Jumma Miyazaki) ปีกดาวรุ่งของทีม ทำให้สามารถเล่นฟุตบอลแบบอุดได้สบาย ๆ และถึงเจ้าบ้านจะบุกเต็มสตรีมเท่าไรก็เจาะไม่เข้า ก่อนจะพ่ายแพ้ไปด้วยประตูโทนลูกนั้นนั่นเอง

การเข้าชิงชนะเลิศได้นั้นถือว่ามาได้ไกลเสียยิ่งกว่ามาไกล ใครเลยจะคิดฝันว่า สโมสรที่กำลังอยู่ในขาลง ใช้โค้ชที่ซมซานกลับประเทศมา และมีนักเตะที่ไม่ได้มีดีกรีอะไร จะสามารถกรุยทางที่เต็มไปด้วยขวากหนามมาจนถึงจุดนี้ได้

ถึงตรงนี้ผลงานในลีกจะย่ำแย่สักแค่ไหนก็คงจะไม่มีใครสน เพราะปณิธานที่มุ่งมั่นของวองต์โฟเรต์นั้นมีเพียงการคว้าโทรฟี่กลับยามานาชิให้จงได้

16 ตุลาคม 2022 เวลา 14:00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของญี่ปุ่น ที่ นิสสัน สเตเดียม เมืองโยโกฮามา ฟุตบอลเอ็มเพอเรอร์ส คัพ รอบชิงชนะเลิศ ระหว่าง วองต์โฟเรต์ โคฟุ จาก เจ 2 ปะทะ ซานเฟรชเช ฮิโรชิมา จากเจ 1 ได้เริ่มต้นขึ้น

เกมนี้ทำท่าว่าจะเป็นของวองต์โฟเรต์อยู่รอมร่อ เพราะในนาทีที่ 26 ทีมรองบ่อนทีมนี้ก็สามารถทำประตูขึ้นนำได้ จากการวิ่งทะลุช่องและจ่ายบอลตัดเข้ากลางของ โช อาการิ (Sho Araki) ให้กับ มิตซึไฮระ กองหน้าขิงแก่เจ้าเก่า แปนิ่ม ๆ ผ่านมือ เคซึเกะ โอซาโกะ (Keisuke Osako) ผู้รักษาประตูคู่แข่งเข้าประตูไป

หลังจากนั้นวองต์โฟเรต์ก็ทำการอุดสุดชีวิต พยายามรักษาสกอร์ไว้ให้ได้ แต่ทำนบก็มาแตกในนาทีที่ 84 เมื่อ ทาคุมุ คาวามุระ (Takumu Kawamura) กองกลางของทีมสามศร ล็อกหลบกองหลังคู่แข่งจนหัวทิ่ม ก่อนจะยิงแสกหน้าเป็นประตูตีเสมอไป

จบการแข่งขันด้วยการเสมอกันไปแบบสนุก 1-1 ต้องต่อเวลาพิเศษ แต่ทั้งสองทีมก็ยังทำอะไรกันไม่ได้ จึงต้องหาผู้ชนะด้วยการดวลจุดโทษตัดสิน

ไม่แน่ใจว่าเป็นนรกชังหรือสวรรค์แกล้ง เพราะคนที่ยิงจุดโทษพลาดในเกมนี้กลับเป็นคาวามุระ คนยิงประตูตีเสมอให้ซานเฟรชเชนั่นเอง ส่วนฝั่งของวองต์โฟเรต์นั้นยิงเข้าครบ 5 คน

จบการแข่งขัน วองต์โฟเรต์ โคฟุ คว้าชัยในช่วงดวลจุดโทษไป 5-4 เถลิงบัลลังก์แชมป์ถ้วยจักรพรรดิสุดยิ่งใหญ่ 

โดยสร้างสถิติเป็นทีมจากลีกรองทีมที่สองที่คว้าถ้วยนี้ได้ต่อจาก เอฟซี โตเกียว ในปี 2011 รวมถึงยังเป็นทีมจากลีกรองที่ยังอยู่ในลีกรองทีมแรกของญี่ปุ่นที่ได้ไปแข่งขัน เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบแบ่งกลุ่ม (เอฟซี โตเกียว คว้าแชมป์ เจ 2 ด้วยเช่นกันในปี 2011 จึงได้เลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดในปี 2012) โดย โยชิดะ โค้ชของวองต์โฟเรต์ ได้กล่าวถึงจุดนี้แบบยิ้มแก้มปริว่า

"ผมย้ำกับเด็ก ๆ ว่า หากเราสร้างบางสิ่งในการแข่งขันนี้ได้ เราก็สามารถคิดฝันไปไกลถึงการลงแข่งขันในระดับเอเชียได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทีมเจ 2 อื่น ๆ ไม่ได้สัมผัสแบบเราแน่ … เราทำได้ก็เพราะเราสร้างปาฏิหาริย์ได้หลายครั้ง ผลการแข่งขันในวันนี้ก็คือหนึ่งในนั้น การไปเล่นในระดับเอเชีย 5 ปีจากนี้ไปเราจะลิขิตชะตาด้วยตนเอง" 

ซึ่งก็นับว่าเป็นครั้งที่สองติดต่อกันแล้วที่ทีมจากลีกพระรองลงโม่แข้งในฟุตบอลถ้วยใหญ่สโมสรเอเชีย หากยังจำกันได้ในฤดูกาล 2022 นี้ก็มีสโมสร ชอนนัม ดรากอนส์ (Jeonnam Dragons) อยู่ในกลุ่ม จี ร่วมกับสโมสร บีจี ปทุม ยูไนเต็ด นั่นเอง โดยพลพรรคมังกรแดนใต้ได้สิทธิ์เข้าร่วมจากการชนะเลิศ โคเรียน เอฟเอ คัพ บอลถ้วยในประเทศเกาหลีใต้ และที่พีกก็คือในเคลีก 2 ฤดูกาลนั้นชอนนัมก็จบด้วยการเป็นบ๊วยของลีกเลยทีเดียว (ทว่าในเกาหลีใต้ เคลีก 2 คือลีกอาชีพระดับต่ำสุด โดยทีมบ๊วยไม่ตกชั้น ทำให้ยังได้เล่นในลีกรองฤดูกาล 2023 ต่อไป)

เส้นทางของยอดทีมจากจังหวัดยามานาชิทีมนี้ในเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก จะเป็นอย่างไรต่อไป จะเป็นแบบ เอฟซี โตเกียว ที่ไปไกลถึงรอบ 16 ทีมสุดท้าย หรือจะเป็นแบบ ชอนนัม ดรากอนส์ ที่ตกรอบแบ่งกลุ่มและมาเป๋ยาว ๆ ในลีก เป็นสิ่งที่น่าติดตามต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.ventforet.jp/en/club_history.html 
https://www.worldhistory.org/Sengoku_Period/ 
https://princeoftennis.fandom.com/wiki/Genichir%C5%8D_Sanada/Playing_Styles_%26_Techniques 
https://princeoftennis.fandom.com/wiki/Genichir%C5%8D_Sanada 
https://www.japantimes.co.jp/sports/2022/10/16/soccer/emperors-cup-ventforet-sanfrecce/ 
https://www.youtube.com/watch?v=yYrTC2218g4 

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น