Feature

ข้ามฟ้ามาคว้าตั๋วบอลโลก : เบื้องหลังการย้ายโซนของ “ออสเตรเลีย” ที่ง่ายและได้ผลเหลือเชื่อ | MAIN STAND

“ออสเตรเลียมันเอเชียตรงไหน ?”  ทุกครั้งที่ ออสเตรเลีย ได้ไปฟุตบอลโลกเรามักจะได้เห็นคอมเมนต์แบบนี้บ่อย ๆ เพื่อค่อนขอดว่าที่ทัพซ็อคเกอร์รูส์มาที่เอเชียก็เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองล้วน ๆ 

 


เรื่องผลประโยชน์นี้ต่อให้มองจากดาวอังคารก็รู้ว่ามันเป็นเรื่องจริง ออสเตรเลียได้ไปฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายทุกรอบหลังย้ายมาแข่งขันในโซนเอเชีย

อย่างไรก็ตามหากจะถามถึงจุดเริ่มต้นว่าเหตุใดกลุ่ม “ฝรั่ง” กลุ่มนี้จึงสามารถย้ายมาเตะกับชาวเอเชียหัวดำได้ง่ายดายนัก ?  ติดตามได้ที่ MainStand 

 

เรื่องสุดแซด 

มันไม่มีอะไรที่จะน่าผิดหวังมากไปกว่าการพยายามเป็นที่ 1 ในบรรดาผู้คนรอบตัว ... แล้วคุณสามารถเอาชนะพวกเขาได้ทั้งหมดอย่างขาวสะอาดและขาดลอย ทว่าเมื่อถึงเวลาที่คุณควรจะได้รับรางวัลแห่งชัยชนะ กลับมีคนบอกว่า "ยังก่อน ... ก่อนจะรับรางวัล แกต้องไปหวดกับแชมเปี้ยนต่างถิ่นให้ชนะก่อน"

เมื่อคุณเตรียมตัวไปสู้เพื่อทำตามกฎอย่างเคร่งครัด แต่เมื่อเงยหน้ามองคู่แข่ง พวกเขากลับเป็นคนที่แข็งแกร่งกว่า ตัวใหญ่กว่า และมีประสบการณ์มากกว่าคุณ ... แม้จะสู้ได้ดีแค่ไหนแต่โอกาสที่คุณจะถูกเหล่านักสู้ผู้มีประสบการณ์เชือดนั้นสูงลิบ ... สิ่งนี้แหละที่เกิดขึ้นกับทีมชาติออสเตรเลีย

ขุนพล "ซ็อคเกอร์รูส์" เก่งกาจกว่าใครในภูมิภาคโอเชียเนีย แม้จะมี นิวซีแลนด์ คอยเป็นหนามตำใจอยู่บ้าง แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องชี้ขาดออสเตรเลียก็ทำได้ดีกว่าและครองอันดับ 1 ของโซนโอเชียเนียมาตั้งแต่จำความได้ 

อย่างไรก็ตามต่อให้พวกเขาเก่งแค่ไหนแต่ก็ต้องมาเสียท่าให้กับคำว่า "โควตาครึ่งทีม" เนื่องจากโซนโอเชียเนียเป็นโซนที่ทำผลงานได้ด้อยที่สุดในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย จึงทำให้พวกเขามีค่าสัมประสิทธิ์ต่ำและต้องยอมรับโควตาครึ่งทีม ซึ่งหมายถึงต่อให้ออสเตรเลียจะจองแชมป์โอเชียเนีย แต่พวกเขาก็ยังต้องเข้าไปเพลย์ออฟกับชาติอื่น ๆ อีก และชาติอื่น ๆ ที่ว่านี้คือทีมอันดับ 5 จากโซนอเมริกาใต้ ซึ่งก็หนีไม่พ้นทีมระดับเกรดจากอเมริกาใต้อย่าง อุรุกวัย, ชิลี, เปรู, เอกวาดอร์ ... ซึ่งแน่นอนว่าออสเตรเลีย ในช่วงยุค 70-80s หรือ 90s ก็ไม่แข็งแกร่งพอที่จะผ่านทีมเหล่านี้ไปได้ง่าย ๆ นั่นจึงทำให้พวกเขาไม่ได้ไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเลยนับตั้งแต่ปี 1974 ที่เยอรมันตะวันตกเป็นเจ้าภาพ  

ว่าง่าย ๆ ก็คือนับตั้งแต่มีการให้เพลย์ออฟกับทีมจากอเมริกาใต้ ออสเตรเลีย แพ้ทุกครั้ง โดยในปี 2002 นั้นสื่อออสเตรเลียถึงกับบอกว่า "แม้กระทั่งทีมยุคทองของเราก็ไม่อาจจะพาเราไปฟุตบอลโลกได้" โดยในครั้งนั้นพวกเขามีนักเตะชุดที่ดีที่สุดในรอบหลายปี มาร์ค ชวาร์เซอร์ จากมิดเดิลสโบรห์, มาร์ค เบรสชาโน่ จากปาร์ม่า,พอล โอคอน จากลาซิโอ, เบร็ต อีเมอร์ตัน จากแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส, จอห์น อลอยซี่ จากโอซาซูน่า, สแตน ลาซาริดิส จาก เวสต์แฮม ยูไนเต็ด และคนอื่น ๆ อีกมากมายที่เล่นในลีกสูงสุดในยุโรป โดยเฉพาะ 2 เด็กนรกอย่าง แฮร์รี่ คีลล์ และ มาร์ค วิดูก้า จาก ลีดส์ ยูไนเต็ด

แม้กระทั่งทีมชุดนี้พวกเขาก็ยังไม่สามารถผ่านอุรุกวัยในการเพลย์ออฟไปได้ (ชนะในบ้าน 1-0, แพ้เกมเยือน 0-3) ... นี่คือเหตุผลว่าทำไมการแพ้ในรอบเพลย์ออฟที่วันดีคืนดีก็ได้เจอทีมแถวหน้าของอเมริกาใต้แบบนี้อยู่เรื่อยไปจึงกลายเป็นความเบื่อหน่ายของสมาคมฟุตบอลออสเตรเลียและแฟนบอลเป็นอย่างมาก ดังนั้นไอเดียสุดบรรเจิดก็เกิดขึ้น 

 

ขอย้ายง่าย ๆ แบบนั้นเลย ? 

แนวคิดการย้ายโซนของออสเตรเลียเกิดขึ้นจากวันที่พวกเขาแพ้อุรุกวัยในเพลย์ออฟฟุตบอลโลก 2002 พวกเขามีทีมยุคทองอยู่ในมือ และพวกเขาเชื่อว่ามันจะเป็นเรื่องเสียโอกาสมากหากยังต้องไปเพลย์ออฟกับทีมจากอเมริกาใต้ที่วันดีคืนดีก็อาจต้องไปแข่งกับบราซิลหรืออาร์เจนตินา เห็นทีว่าชาติของพวกเขาคงไม่มีประวัติศาสตร์ในฟุตบอลโลกแน่ 

การย้ายโซนเกิดขึ้นในปี 2005 โดยออสเตรเลียได้ทำเรื่องกับฟีฟ่าขอย้ายจากโซนโอเชียเนียมาอยู่ภายใต้การดูแลของ AFC หรือการเป็น 1 ในสมาชิกโซนเอเชียนั่นเอง  

ช่วงเวลาการย้ายโซนนั้นเป็นการตัดสินใจที่ทุกฝ่ายคุยกันได้ผ่านฉลุย ... หยุดที่ตรงนี้กันสักหน่อย เราจะอธิบายเรื่องนี้เพิ่มว่าการย้ายโซนมันทำกันได้ง่าย ๆ แบบนี้เลยหรือ ? 

ว่ากันตามกฎแบบเป๊ะ ๆ คือ การขอย้ายโซนถือว่าทำได้ เรื่องทั้งหมดมีอยู่ว่าออสเตรเลียนำเรื่องนี้ไปเสนอต่อ FIFA เพื่อให้พิจารณา ก่อนที่การตัดสินจะแล้วเสร็จภายใน 1 ปี นั่นคือคณะกรรมการบริหารของ FIFA เห็นชอบกับแนวคิดดังกล่าว โดยการยกมือเห็นชอบถูกเปิดเผยโดย เซปป์ แบลตเตอร์ ประธาน FIFA ณ เวลานั้น ที่เผยว่าการย้ายจากโซนโอเชียเนียมายังโซนเอเชียของออสเตรเลียถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย เพราะชาติในโซนโอเชียเนียก็จะได้มีการแข่งขันที่สูสีขึ้น ชาติอื่น ๆ ที่แพ้ออสเตรเลียทุกเมื่อเชื่อวันจะได้ลืมตาอ้าปากบ้าง เพราะออสเตรเลียนั้นเเข็งแกร่งเกินไป 

ขณะที่ฝั่งเอเชียก็จะได้ทีมแกร่งที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มระดับของการแข่งขันให้สูงขึ้นในการแข่งขันระดับทีมชาติและการแข่งขันระดับสโมสรชิงเเชมป์เอเชีย จากเหตุผลดังกล่าวคณะกรรมการของ FIFA จึงยกมือรับรองเรื่องนี้ในท้ายที่สุด 

พูดง่าย ๆ ก็คือ 3 สิ่งที่จะชี้ขาดว่าย้ายโซนได้หรือไม่คือ 1. ฟีฟ่าเห็นชอบ 2. ชาติในโซนที่เเข่งขันด้วยไม่ทักท้วงและพร้อมให้ย้ายออกไป 3. ชาติที่อยู่ในโซนที่กำลังจะย้ายเข้าไปยินดีต้อนรับ ... ซึ่งทั้ง 3 สิ่งนี้เปิดไฟเขียวพร้อมกัน ออสเตรเลียจึงได้ย้ายมาแข่งขันในโซนเอเชียในท้ายที่สุด 

 

ย้ายเมื่อไหร่สมใจเมื่อนั้น 

แทบไม่ต้องคิดเลยว่าเมื่อย้ายมายังเอเชียที่ได้โควตา 4 ทีมครึ่ง (ผ่านเข้ารอบอัตโนมัติ 4 ทีม เพลย์ออฟอีก 1 ทีม) ออสเตรเลียจะกลายเป็น 1 ในผู้จับจองโควตา "4ทีม" ไม่ต่างจาก เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และ อิหร่าน ... การมาของออสเตรเลียทำให้ชาติตะวันออกกล่างชาติอื่น ๆ ต้องเท้าสะเอวด้วยความเซ็ง ทีมอย่าง ซาอุดีอาระเบีย, บาห์เรน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ชาติเหล่านี้ต่างเคยพยายามมาก ๆ ในการคว้าอันดับที่ 4 ก็ต้องโดนออสเตรเลียเขี่ยกระเด็นไปโซนเพลย์ออฟแทน 

สิ่งที่ยืนยันเรื่องนี้ได้คือนับตั้งแต่ที่ออสเตรเลียย้ายมาเล่นในโซนเอเชีย พวกเขาสามารถผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายด้วยสถิติ 100% เต็ม (ฟุตบอลโลก 2006, 2010, 2014, 2018 และ 2022) มันก็ชัดเจนแล้วว่าการย้ายโซนคือสิ่งที่พวกเขาคิดถูกอย่างไม่ต้องสงสัย

แม้ชาติในเอเชียหลายชาติจะบ่นว่า "เอาออสเตรเลียมาทำไม ?" แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมาของออสเตรเลียแม้จะถูกมองว่าเข้ามาแย่งโควตาไปฟุตบอลโลกเพียงอย่างเดียวก็มีสิ่งดี ๆ ที่ได้รับอยู่บ้าง นั่นคือชาติในเอเชียจะได้เจอทีมที่เล่นฟุตบอลเหมือนกับทีมในยุโรปที่ตัวใหญ่ แข็งแรง และแทคติกดี ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำให้นักเตะเอเชียได้มีโอกาสพัฒนาตัวเองเมื่อได้เจอนักเตะที่มีคุณภาพดีขึ้น นอกจากนี้การแข่งขันฟุตบอลเอเชียนคัพ หรือศึกชิงแชมป์เอเชีย ก็เข้มข้นขึ้นด้วย  

มาตรฐานของออสเตรเลียอยู่ในระดับไล่ ๆ กันกับทีมแถวหน้าของเอเชีย พวกเขามาที่นี่และได้สิ่งที่ต้องการ นั่นคือ "โควตาฟุตบอลโลก" แม้ทุกวันนี้บนหน้าอินเทอร์เน็ตจะมีการดูแคลนพวกเขาว่าเป็น "เอเชียปลอม หรือเป็นทีมที่มาหาผลประโยชน์ในเอเชีย" แต่หากมองในมุมกลับมันก็เป็นโอกาสที่ดีมาก ๆ ที่เราจะได้เจอกับทีมที่มีสไตล์ที่แตกต่างกับทีมในเอเชียอื่น ๆ และมีนักเตะที่ค้าแข้งอยู่ในยุโรปมากมาย 

หากคุณยังจำกันได้ในฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือกที่ ไทย ได้อยู่กลุ่มเดียวกับ ออสเตรเลีย มันทำให้แฟนบอลและสื่อบ้านเราตื่นตัวมากกว่าการเจอกับทีมอย่าง โอมาน, บาห์เรน, คูเวต หรือ เลบานอน แน่นอน แถมในครั้งนั้นเรายังสามารถเก็บแต้มจากออสเตรเลียด้วยการเสมอ 2-2 ที่ราชมังคลากีฬาสถานได้อีกด้วย  

คิดดูแล้วกันว่าในฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือกเราได้ดูทีมชาติไทยเตะกับทีมระดับทวีป 3-4 ทีม ทั้งญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย มันเป็นกำไรของคนดูชัด ๆ การได้เจอกับทีมเหล่านี้บ่อย ๆ ทุกเดือนทุกปีมันจะทำให้เราได้รู้ว่าเมื่อต้องวัดกับทีมระดับนี้เรายังขาดอะไรต้องเพิ่มตรงไหนบ้าง ... และหากเรายังกลัวออสเตรเลียแล้วพรํ่าบอกว่าพวกเขาเป็นฝรั่งไม่ใช่เอเชีย เพียงเพราะพวกเขามาแย่งโควตาฟุตบอลโลกไป ก็คงต้องยอมรับว่ามันเป็นทัศนคติที่ยังไม่พร้อมกับการได้ไปแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายจริง ๆ 

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.reddit.com/r/Aleague/comments/1xeq51/why_was_australia_moved_from_the_oceania/
https://en.wikipedia.org/wiki/Australia_at_the_FIFA_World_Cup
https://www.chinadaily.com.cn/english/doc/2005-03/24/content_427715.htm
https://www.quora.com/Why-does-Australia-take-part-in-the-AFC-Asian-Cup-when-it-s-not-a-part-of-Asia
https://www.thesun.co.uk/sport/football/4596734/why-australia-play-football-in-asia-world-cup-fifa/
https://www.smh.com.au/sport/soccer/australia-get-all-clear-to-join-asian-group-20050324-gdkzq2.html

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น