Feature

จากย่าโมสู่สวาทแคท: พลวัต “ความเป็นโคราช” กับฟุตบอลลีกไทย | MAIN STAND

“คุณย่าโม เหมือนดังร่มโพธิ์ผงาด คุ้มครองปกป้องโคราช มีอำนาจ เหนือใจทุกคน”

 


ส่วนหนึ่งจากเนื้อเพลง กราบเท้าย่าโม ของ สุนารี ราชสีมา อันโด่งดังนี้ น่าจะบ่งบอกได้ถึงความสัมพันธ์อันแยกไม่ออกของ “ท้าวสุรนารี” หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ย่าโม” และ “ความเป็นโคราช” ได้อย่างดียิ่ง 

ผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในโคราช หรือจริง ๆ ก็คือจังหวัดนครราชสีมาทุกคนต่างมีย่าโมเป็นจุดร่วมที่บ่งบอกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สมานฉันท์ดั่งพี่น้อง ไม่ว่าจะมาจากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอไหน ไปทำงานพลัดถิ่นที่ใด หรือแม้กระทั่งเข้ามาเป็นเขยหรือสะใภ้ที่โคราชก็จะได้รับการนับว่ามีความเป็นโคราชขึ้นมาทันที ดั่งคำโปรยที่พูดกันว่า “โคราชบ้านเอ็ง ไม่ต้องเกรงใจกัน”

โดยถือได้ว่าเป็นความพิเศษของจังหวัดนครราชสีมาที่แตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ ถึงแม้ว่าบางจังหวัดจะมีการอ้างอิงวีรบุรุษ วีรสตรี หรือบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์เพื่อประกอบสร้างความเป็นจังหวัดของตน อาทิ พระนางจามเทวี แห่งจังหวัดลำพูน เจ้าพ่อพระยาแล หรือ ปู่แล แห่งจังหวัดชัยภูมิ หรือกระทั่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม หรือ หลวงประจักษ์  แห่งอุดรธานี ซึ่งเป็นโอรสคนหนึ่งของรัชกาลที่ 4 แต่ก็ไม่มีที่ไหนจะเทียบกับความเป็นโคราชได้เลย

แต่กระนั้นเมื่อพูดถึงฟุตบอล โดยเฉพาะกับเรื่องการประกอบสร้างสโมสรฟุตบอลประจำจังหวัดอย่าง นครราชสีมา เอฟซี กลับมีจุดร่วมเพื่อแสดงความเป็นโคราชอีกแบบหนึ่ง นั่นคือการใช้ “แมวโคราช” หรือ “แมวมาเลศ” หรือที่แฟนบอลรู้จักกันในชื่อ “สวาทแคท” ในการบ่งบอกตัวตนของแฟนบอลชาวโคราช 

ซึ่งก็ดูเหมือนจะติดลมบนเสียด้วย เพราะหากสังเกตดูจะพบว่ามีคนจำนวนไม่น้อยใช้โลโก้ของนครราชสีมา เอฟซี เพื่อบ่งบอกพื้นเพของตนเอง อาจจะตั้งเป็นรูปโปรไฟล์ รูปโคเวอร์ บนโซเชียล สกรีนอยู่บนอกข้างซ้ายใส่เดินเตร่แถวสยาม หรือติดเป็นสติ๊กเกอร์อยู่ตามท้ายรถกระบะ รถทัวร์ หรือรถสิบล้อ ก็มีให้เห็นมาแล้วอย่างดาษดื่น

โคราชมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับเรา

 

เล่นของสูงระวังเจอตอ

การยกย่องเชิดชู “วีรบุรุษ” หรือ “วีรสตรี” โดยการสร้าง “อนุสาวรีย์หรือรูปปั้น” เป็นเรื่องปกติมาก ๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะหากวีรชนเหล่านั้นเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้มีเลือดขัตติยา เป็นเชื้อเจ้าเชื้อพระวงษ์ ก็จะยิ่งสร้างความเป็นส่วนหนึ่งกับประชาชนในพื้นที่ได้ง่ายยิ่งขึ้น ดังที่เกิดขึ้นกับเคสของย่าโม

กระนั้นประเทศไทยก็ก้าวไปอีกขั้น ด้วยการไม่ได้มองว่าบรรดาวีรชนเหล่านั้นเป็น “ตัวอย่าง” ที่แสดงถึงความกล้าหาญ เสียสละ ไม่รักตัวกลัวตาย หรือเป็นประชาชนต้นแบบตามที่รัฐบอกว่าดี แต่กลับมองว่าเป็น “เทพเทวดา” หรือ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ที่คอยปกปักษ์รักษา คุ้มกะลาหัว หรือไม่ก็ต้องคอยรับเรื่องวอนขอจากคนในพื้นที่ต่างหาก 

ท่อนต่อมาของเพลง กราบเท้าย่าโม ข้างต้น ที่ร้องว่า “ เป็นแสงสว่างอยู่กลางเมือง รุ่งเรืองสตรีวีรชน ใครไหว้ใครบน ได้ดังอธิษฐาน” หรือเพลง อกหักจากปักษ์ใต้ ของ เอกชัย ศรีวิชัย ที่ร้องว่า “ลงรถทัวร์เมืองราชสีมา ย่าโมจ๋า ลูกมาให้ย่าช่วยหน่อย” น่าจะให้คำตอบเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี 

ตรงนี้ก็จะยิ่งทำให้เกิดความใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น การเคารพบูชาย่าโมของชาวโคราชจึงเป็นเหมือนการให้ท่าน “บลัฟพลังให้” ยามใดที่อกหักรักคุด ท้อแท้ หมดหวัง สิ้นไร้ไม้ตอกในชีวิต เพียงแค่ได้ไปกราบท่าน หรือแม้แต่หากไปกราบถึงที่ไม่ได้ก็ยังมีท่านสถิตย์อยู่ในดวงใจ ซึ่งจะทำให้ไม่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ 

ซึ่งก็ไม่ได้มีแต่ย่าโมเท่านั้น บรรดาวีรชนอื่น ๆ ในประเทศไทยส่วนใหญ่ก็เป็นแบบนี้หมด ที่ดัง ๆ หน่อยอย่าง สมเด็จพระเจ้าตากสิน ก็เห็นได้ชัดจากเพลง วอนพ่อตากสิน ของ รุ่ง สุริยา ที่ร้องว่า “ธนบุรี ตอนนี้ใจลูกแทบสิ้น หวังพึ่งองค์พ่อตากสิน ให้แฟนคืนถิ่นสงสาร” หรือ หลวงประจักษ์แห่งอุดรธานี ก็เห็นได้จากเพลง คอยข่าวสาวอุดร ของ เอกพล มนต์ตระการ ที่ร้องว่า “วอนหลวงประจักษ์ โปรดพิทักษ์รักลูกอีกคน อุ้มชูหนุ่มเมืองอุบล ให้ได้เป็นลูกเขยอุดร” เรียกได้ว่าทุกจังหวัดแทบจะยกวีรชนของตนเป็นเทพเทวดาด้วยกันทั้งนั้น

ซึ่งการขยับสถานะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนั้นทำให้ย่าโมไม่ได้อยู่ในสถานะของ “มนุษย์” อีกต่อไป นั่นก็หมายความว่าสำหรับชาวโคราชแล้ว ย่าโมนั้นเป็น “ของสูง” ที่ใครหน้าไหนก็ไม่อาจแตะต้องได้ หากคิดจะริลองมาแหยมก็จะถือว่าเป็นการ “ลบหลู่” ชาวโคราช และจะพร้อมใจกัน “ประชาทัณฑ์” แทบจะในทันที 

แล้วในโลกฟุตบอลที่มีเรื่องของอารมณ์ที่เดือดพล่านและศักดิ์ศรีที่ยอมกันไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง บางทีการแข่งขันแพ้พ่ายก็มีการทำลายสัญลักษณ์ของสโมสรคู่แข่ง บางทีก็เผาธง เผาเสื้อ นำตราสโมสรไปตัดต่อเสีย ๆ หาย ๆ ในโซเชียล หรือหนักสุดก็นำเท้าไปขยี้ตราสโมสร แล้วใครหน้าไหนล่ะจะกล้านำย่าโมเข้ามาเป็นตัวกลางในการสร้างอัตลักษณ์ของสโมสรประจำจังหวัดนครราชสีมา

ซึ่งก็ไม่ใช่แต่โคราชเพียงที่เดียว หากลองกวาดตาไปยังสโมสรประจำจังหวัดอื่น ๆ มีที่ไหนหาญกล้าพอจะนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดมาเป็นโลโก้สโมสร หรือมาทำแบรนดิ้งเพื่อการตลาดบ้าง ?

แต่ก็ใช่ว่าโคราชจะไม่เคยมีมาก่อน โดยสมัยที่สโมสรใช้ชื่อว่า นครราชสีมา สติงเรย์ ช่วงที่ยังเล่นอยู่ในโปรวินเชียลลีก ราวฤดูกาล 2549-2551 สโมสรได้ทำการอัญเชิญรูปย่าโมเข้ามาอยู่ในโลโก้ พร้อมกับรถถังคอมมานโดสติงเรย์เป็นแบ็กกราวน์ แต่ก็ด้วยความกังวลของฝ่ายบริหารว่าเป็นเหมือนการ “นำของสูงมาเล่น” ที่อาจจะทำให้เกิดดราม่าได้ 

ดังนั้นสโมสรจึงได้เปลี่ยนไปใช้แมวโคราชมาเป็นสัญลักษณ์ของสโมสรแทนราวช่วงฤดูกาล 2552 ซึ่งก็ถือเป็นการเปลี่ยนโลโก้เพื่อตอนรับลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 รวมถึงการเกิดขึ้นของฟุตบอลไทยสมัยใหม่ที่เป็นลีกอาชีพแบบเต็มตัวอีกด้วย

และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของสวาทแคทกับความเป็นโคราช 

 

โชคดีที่มีแมวดัง

ในสมุดข่อย “ตำราแมว” ที่เขียนขึ้นราวปี 1893 - 2310 ได้ระบุถึงลักษณะแมวมงคล จำนวน 17 สายพันธุ์ (ปัจจุบันเหลือ 5 สายพันธุ์) ที่หากใครเลี้ยงไว้จะเป็นคุณแก่เจ้าของ และนำลาภยศ สมบัติ ชื่อเสียง การงานที่ดีมาให้ 

โดยหนึ่งในนั้นคือ แมวมาเลศ หรือ แมวสีสวาด แต่มาเป็นที่รู้จักในภายหลังว่า “แมวโคราช” จากการพบถิ่นกำเนิดว่าอยู่แถวอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา โดยมีลักษณะระบุไว้ดังนี้

ขนอ่อนศรีดอกเลา        เล็บตาขาวใสโศภา
คฤน้ำค้างสองตา             เสียงร้องรับจับใจครั้น
หญิงชายใดเลี้ยงไว้         ย่อมทำได้ทุกคืนวัน
สิ่งทรัพย์ษาระพัน             พลันกึ่งเราเอาไว้คง
    
นั่นเท่ากับว่าแมวโคราชได้เป็นที่รู้จักของคนไทยมาตั้งนานนมแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองนู่นแหละ 

และไม่เพียงเท่านั้น แมวโคราชยังโด่งดั่งไกลถึงต่างประเทศอีกด้วย โดยในปี 2439 มีฝรั่งอังกฤษนำแมวโคราชไปแสดงที่ลอนดอน โดยอาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นวิเชียรมาศ หรือในปี 2502 มีการส่งแมวโคราชคู่หนึ่งไปสหรัฐอเมริกา และได้รับการยกย่องว่าเป็นแมวไทยอีกพันธุ์หนึ่งด้วย

แน่นอนเมื่อแมวพันธุ์นี้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ซ้ำยังมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่โคราช และเป็นที่รู้จักโดยมีคำสร้อยว่าโคราชอยู่ข้างหลังแมว มีหรือที่ชาวโคราชจะไม่ยิ้มแก้มปริ ภาคภูมิใจในแมวพันธุ์นี้ว่าเป็นเสมือน “ภาพแทน” อีกอย่างหนึ่งของ “ความเป็นโคราช” ไปโดยปริยาย

รวมถึงการใช้แมวโคราชแทนการใช้ย่าโมสำหรับสโมสรฟุตบอลนั้นก็มีความเหมาะสมกว่ามาก เพราะต่อให้จะเกิดเหตุการณ์การทำลายสัญลักษณ์สโมสรคู่แข่ง เผาธง เผาเสื้อ นำตราสโมสรไปตัดต่อในโซเชียล นำเท้าไปขยี้ตราสโมสร หรือจะทำอะไรก็ตามในการแสดงการปลดปล่อยอารมณ์ออกมา การทำเช่นนี้กับน้องแมวโคราชบนตราสโมสรย่อมไม่มีดราม่าอะไรใหญ่โตแน่นอน

ซึ่งก็มีไม่น้อยที่การสร้างอัตลักษณ์ของท้องถิ่นโดยใช้สัตว์เป็นตัวตั้งในระดับสโมสร อาทิ สโมสร คลับ ติฆัวน่า (Club Tijuana) ในลีกา เอ็มเอ็กซ์ เม็กซิโก ที่เลือกใช้ “สุนัขพันธุ์โชโลอิตซ์คูอินทลี (Xoloitzcuintle)” หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า “โชโล (Xolo)” ซึ่งเป็น “สุนัขไร้ขน” ที่มีมาตั้งแต่สมัยอารยธรรมแอซเท็กในการแสดงตัวตนของสโมสร 

และถึงแม้จะไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสุนัขโชโลมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเมืองติฆัวน่า แต่การที่สโมสรพยายามนำสุนัขพันธุ์นี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเมืองก็ได้ทำให้โชโลกลายเป็นภาพแทนของความเป็นติฆัวน่าไปเสีย 

คิดดูว่าชื่อเล่นของสโมสรยังเรียกว่า “โลส โชโลส (Los Xolos)” ขนาดสนามแข่งขันยังตั้งชื่อว่า “เอสตาดิโอ กาลีเอนเต้ โชโลอิทซ์คูอินทเลส (Estadio Caliente Xoloitzcuintles)” หรือแม้แต่มาสคอตก็ยังใช้ชื่อว่า “โชโลมายอร์ (Xolo Mayor)” เลยทีเดียว

 

วัฒนธรรมนำสัตว์มาสร้างอัตลักษณ์

นครราชสีมา เอฟซี ถือว่าคิดถูกอย่างมากที่นำแมวมาใช้เชื่อมร้อยชาวโคราชกับสโมสรฟุตบอล แต่นอกเหนือจากการป้องกันดราม่า การใช้สัตว์เป็นอัตลักษณ์ในวงการฟุตบอลนั้นถือว่า “เป็นเรื่องสากล” ที่ใคร ๆ เขาก็ทำกัน 

โดยเฉพาะในโลกตะวันตกที่นิยมนำสัตว์นานาชนิดมาใช้เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้แก่เมืองและสโมสรประจำเมืองมาช้านาน อาทิ สโมสรโคโลญจน์ ก็มีการใช้ “แพะ” ที่ชื่อ “เฮนเนส” ในทุก ๆ รุ่น ตั้งแต่ปี 1950 สโมสรเบนฟิกา ก็ได้ใช้ “นกอินทรีย์” ที่ชื่อ “วิกตอเรีย” ในตราสโมสร หรือแม้แต่สโมสรลีลล์ ก็ใช้ “สุนัขมาสทีฟฟ์” มาตั้งแต่ปี 1981 ขนาดที่ว่าสโมสรสร้างศูนย์ฝึกแห่งใหม่ยังสร้างรูปปั้นมาสทีฟฟ์มาวางไว้ตรงทางเข้าเสียด้วย

ไม่เว้นแม้กระทั่งสัตว์ที่ไม่มีจริงอย่าง “นกลิเวอร์เบิร์ด” ของสโมสรลิเวอร์พูล ก็ยังใช้ในการสร้างอัตลักษณ์ได้เลย

มิหนำซ้ำการใช้สัตว์เป็นตัวกำหนดอัตลักษณ์ยังหาชิ้นที่ไม่ประสบความสำเร็จยากมากอีกด้วย ลองคิดดูว่า หากให้เปรียบเทียบ 2 สโมสร ระหว่าง สโมสร อาแอส โรม่า ที่ใช้ “หมาป่า” ผู้ให้นมโรมุลุสและเรมุส สองวีรบุรุษผู้สร้างกรุงโรม กับ สโมสรเซบีญ่า ที่ใช้ “พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 3 แห่งคาสตีลล์” วีรบุรุษผู้ปลดปล่อยเมืองเซบิลล์จากบรรดาแขกมัวร์ในสมัยยุคกลาง อันไหนที่สามารถมองปราดเดียวแล้วเข้าใจอัตลักษณ์หรือจดจำสตอรี่ได้ง่ายกว่ากัน ?

หมาป่ามองปราดเดียวก็รู้ได้ทันทีว่าคือหมาป่า ถ้าอยากรู้สตอรี่เพิ่มเติมยังไงก็ค่อยไปศึกษา แต่มีใครหน้าไหนบ้างที่มองแวบแรกแล้วรู้เลยว่า ชายวัยกลางคน เคราเฟิ้ม สวมมงกุฎยาวเกือบเมตร คนนี้คือ พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ที่ 3 หากไม่ได้เกิด เติบโต เป็นลูกครึ่ง หรือมีญาติอยู่สเปนจริง ๆ

ย่าโมก็เช่นเดียวกัน ในไทยอาจจะไม่สะทกสะท้าน เพราะยังไงท่านก็ปรากฏอยู่ตามแบบเรียนประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ชั้นประถม แต่ชาติอื่น ๆ จะไปรู้กับเราหรือไม่ ? กลับกันเมื่อเป็นแมวโคราชที่เวิล์ดไวล์ดพอตัว ยังไง ๆ ก็เข้าไปประทับฝังใจได้ง่ายกว่าเป็นเท่าทวี

ยิ่งในโลกที่ฟุตบอลคือธุรกิจ การทำแบรนดิ้งถือว่าสำคัญมาก ยิ่งทำให้ติดตาง่ายเท่าไรก็ยิ่งดี เพราะผู้คนจะได้รับรู้อัตลักษณ์ เข้าใจคอนเซ็ปต์ หรือวีถีแห่งท้องถิ่นของสโมสรได้ง่ายขึ้น

ซึ่งก็เห็นได้จากหลายสโมสรในไทยที่ปรับมาใช้สัตว์ในการกำหนดอัตลักษณ์ของสโมสรมากยิ่งขึ้น อาทิ “ค้างคาวไฟ” ของ สุโขทัย เอฟซี ที่มาจากค้างคาวในอุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย “จงอางผยอง” ของ ขอนแก่น เอฟซี ที่มาจากหมู่บ้านงูจงอาง หรือ “นกใหญ่พิฆาต” ของ ชัยนาท ฮอร์นบิลล์ ที่มาจากนกเงือกที่อยู่ในสวนนกของจังหวัด

เพียงแต่ว่าสรรพสัตว์เหล่านั้นยังไม่สามารถเทียบชั้นเรื่องการแสดงแสนยานุภาพ “ในส่วนลึกของจิตใจ” ต่อคนในพื้นที่เดียวกันได้มากเท่ากับแมวโคราชนั่นเอง

จึงนับได้ว่านี่อาจจะเป็นโชคสองชั้นของสโมสรนครราชสีมา เพราะในเชิงอัตลักษณ์ของแฟนบอลก็มีแมวโคราชคอยประสานความเป็นกลุ่มก้อนให้ และในระดับภาพใหญ่ก็มีย่าโมที่เป็นเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยเตือนใจ ซึ่งหาได้น้อยสโมสรไม่ใช่แค่ในไทยแต่ในระดับโลกที่จะเทียบชั้นได้

ซึ่งก็อยู่ที่การบริหารจัดการแบบเพียว ๆ นั่นแหละที่จะทำให้ตัวสโมสรบินสูงได้ เพราะหากคืนสู่สามัญลงมารูด ๆ ก็นับเป็นความน่าเสียดายสำหรับวงการฟุตบอลไทยเลยทีเดียว

 

เอกสารอ้างอิง

วิทยานิพนธ์ การสื่อสารกับการต่อรองอำนาจและการสร้างอัตลักษณ์ของคนพลัดถิ่นในพื้นที่วัฒนธรรมฟุตบอลท้องถิ่น: ศึกษากรณี สโมสรนครราชสีมา มาสด้า เอฟซี และบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด
วิทยานิพนธ์ ภาพลักษณ์ท้าวสุรนารีในประวัติศาสตร์ไทย
หนังสือ ภูมิใจไทย: แมวไทย
https://www.silpa-mag.com/history/article_73047 
https://www.youtube.com/watch?v=x8fVvhMWP80
https://www.vavel.com/en-us/soccer/2016/01/05/586600-liga-mx-know-the-teams.html  
https://www.marca.com/en/football/bundesliga/2021/04/21/60805afa22601d324e8b45d3.html 
https://www.soccerbible.com/news/2016/bts-losc-lille-training-ground-domaine-de-luchin/ 

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น