Feature

ฟุตบอลสเปนในยุคเปลี่ยนผ่าน: นิยาม “อัตลักษณ์ชาติแบบใหม่” หลังรัฐบาลฟรังโก | Main Stand

ภายหลังจากที่ผู้นําเผด็จการอย่าง ฟรานซิสโก ฟรังโก ได้สิ้นชีพลงในปี 1975 ประเทศสเปนหลังจากนั้นก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สําคัญ โดยเฉพาะ การขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ ฆวน คารลอส ที่ 1 (Juan Carlos I) แม้ตอนแรกๆ ประชาชนจะคิดว่าท่านจะเป็นทายาทอสูร สืบสานระบอบฟรังโก เนื่องจาก กษัตริย์ ฆวน คาร์ลอส ได้รับการดูแลจากฟรังโกมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ 

 


แต่หารู้ไม่ ต่อมาท่านได้ทำสิ่งที่เกินความคาดหมายของประชาชนโดยทั่ว นั่นคือ การตั้ง อโดลโฟ ซัวเรส (Adolfo Suarez) เข้ามาปฏิรูปการเมืองสเปน จัดกลุ่มอํานาจเก่าให้สิ้น และได้นําคนรุ่นใหม่เข้ามาบริหาร คืนอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชน หลังจากอยู่ใต้เผด็จการมากว่าสามทศวรรษ (1936 - 1975) แน่นอน สภาพทางการเมืองของสเปนหลังจากนั้น ก็ได้เข้าสู่
การเปิดกว้างมากขึ้น เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ทุกสิ่งในประเทศสเปนเปิดกวางตามไปด้วย 

ไม่เว้นแม้กระทั่ง “ฟุตบอลสเปน” ที่แต่ก่อนมีการผูกขาดอัตลักษณ์ชาติไว้ที่ส่วนกลางเพียวๆ กับสโมสรเรอัล มาดริด ก็ได้ขยายไปสู่อัตลักษณ์ชาติอื่นๆ ที่สมัยฟรังโก้กดทับกดขี่ไว้มากยิ่งขึ้น กลายเป็น “นิยามใหม่” ที่รวมๆ ตัวกันกลายเป็นอัตลักษณ์ชาติสเปนอีกแบบหนึ่งในที่สุด

อัตลักษณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นใหม่ มีตื้นลึกหนาบางอย่างไร? ติดตามไปพร้อมกับเรา

 

เป็นอื่นมานานนม

ประเทศสเปน ก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ ที่ในแผนที่ อาจเห็นว่ารวมเป็นหนึ่งเดียว เป็นเนื้อเดียวกัน แต่หากลงลึกไปจนถึงภายในนั้น ก็มีความแตกต่างหลากหลายของอัตลักษณ์กันไปในแต่ละพื้นที่ แต่ละภูมิภาคทั้งสิ้น

นั่นเพราะในสมัยก่อน ดินแดนแถบคาบสมุทรไอบีเรียนี้ เต็มไปด้วยรัฐเล็กรัฐน้อย แว่นแคว้นต่างๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่ว ถึงแม้จะยังไม่มีเส้นเขตแดนแบ่งชัดแบบรัฐในปัจจุบัน แต่ว่า ในแต่ละดินแดนก็มีอำนาจปกครองตนเอง มีการเก็บภาษีการค้า ตรวจคนเข้าเมือง หรือแม้แต่มีเครื่องแสดงตนว่าอยู่ในดินแดนนั้นๆ เพื่อแบ่งแยกประชากรให้ชัดเจน

กาลิเซีย, กานตาเบรีย, เลออน, นาวาร์, บานเลนเซีย, กานารี, แบลีอาริค, อาสตูริอาส, อันดาลูเซีย, กาตาลุนญา, อารากอน หรือบาสก์ เหล่านี้ล้วนเป็นแว่นแคว้นที่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ และประมุขปกครองดินแดนของตนเองที่ยิ่งใหญ่ในอดีตมาทั้งนั้น 

และแน่นอน เมื่อมีที่มาที่ไป มีจุดอ้างอิงที่ยึดโยงประชาชนในพื้นที่ นั่นหมายถึงการมี “อัตลักษณ์” ของตนเองที่แตกต่างกันออกไปเช่นกัน โดยเฉพาะ กาตาลัน (Catalonia) และบาสก์ (Basque) ที่ดูจะมีความเข้มข้นของอัตลักษณ์ในพื้นที่ที่มากกว่าชาวบ้านชาวช่องใกล้เคียง และมีความ “เป็นอื่น” จากส่วนกลางที่เข้มข้น

สิ่งที่ทำให้เป็นเช่นนั้น ในศัพท์สเปนทางการเมืองเรียกว่า “ฟวยโรส (Fueros)” หรือก็คือการให้กฎหมายปกครองตนเอง ซึ่งก็มีมาตั้งแต่ราชวงศ์อับสบูร์ก (House of Habsburg) ปกครองสเปนแล้ว อภิสิทธิ์ในพื้นที่ที่จะได้รับ คือการกำหนดอัตราภาษีที่จะต้องส่งกลับไปส่วนกลางได้ตามใจชอบ หากคราใดเก็บภาษีได้เยอะ ก็อาจส่งกลับพอประมาณ หากคราใดเก็บได้น้อย ก็อาจส่งให้น้อยตามไปด้วย

กระนั้น จุดเปลี่ยนสำคัญก็มาถึง เมื่อครั้งสงครามสืบบัลลังก์สเปน (War of the Spanish Succession) ระหว่าง ราชวงศ์อับสบูร์ก ที่เป็นราชวงศ์เดิมปกครองสเปน ปะทะกับราชวงศ์บูร์กบง (House of Bourbon) ที่เข้ามาท้าทายบัลลังค์ ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 18 

โดยฝ่ายที่ถือหางฮับสบูร์กนั้น แน่นอนว่าจะต้องเป็น กาตาลัน (มีอารากอนและบาเลนเซียผสมโรงด้วย) เพราะรูปแบบการปกครองของอับสบูร์กนั้น เน้นหนักไปที่การ “กระจายอำนาจ” แจกฟวยโรสรัวๆ เอาใจพื้นที่ภูมิภาค แตกต่างจากบูร์กบงที่เน้นการ “รวมศูนย์อำนาจ” เข้าสู่ส่วนกลาง ซึ่งแบบนี้ โดนใจมาดริด (และพื้นที่กาสตีล) อย่างมาก และในท้ายที่สุด บูร์กบงก็ประสบแก่ชัยชนะ ฟวยโรสในกาทาลันจึงได้รับการลิดรอนจากส่วนกลางไปโดยปริยาย 

บาส์กเองก็มีชะตากรรมไม่ต่างกันหลังจากนั้น เมื่อครั้งสงครามการ์ลิสท์ครั้งที่ 3 (The Third of Carlist War) ซึ่งเป็นสงครามชิงบัลลงค์สเปน ช่วงนั้น บาสก์ (และนาวาร์รา) เป็นฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏการ์ลิสท์ และเมื่อกลุ่มกบฏได้รับการปราบปรามจนแตกพ่ายไป แน่นอน ความซวยจึงไปตกที่บาส์กอย่างเลี่ยงไม่ได้ ฟวยโรสโดนริบไปหมด 

และถึงแม้ฟวยโรสจะได้กลับคืนสู่คาทาลันและบาสก์ในระยะเวลาสั้นๆ สมัยรัฐบาลฝ่ายยซ้าย ในสาธารณรัฐที่ 2 ของสเปน (The Second Republic of Spain) แต่เมื่อเข้าสู่สมัยการปกครองของเผด็จการฟรังโก (Franco Regime) ที่ยึดถือนโยบายรวมศูนย์ เน้นความเป็นปึกแผ่น สเปนนั้นจะที่แบ่งแยกมิได้ ฟวยโรสที่ได้มาก็เป็นอันโมฆะ 

หรืออาจกล่าวได้ว่า กาตาลันและบาส์ก ก็เหมือนโดนเอาคืน เพราะได้กลายเป็นพื้นที่แห่ง “สถานะรอง” ไปเสีย ไม่เคยได้อะไรดีๆ จากส่วนกลาง หรือต่อให้อยากได้ ก็ไม่มีใครเหลี่ยวแลจะให้อยู่ดี 

ซึ่งสิ่งดังกล่าว ก็ได้สะท้อนมายังวงการฟุตบอลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

กดทับไว้ใต้พรมด้วยมาดริด 

ฟุตบอลไม่เคยแยกขาดจากการเมืองฉันใด การเมืองก็สามารถใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือได้ฉันนั้น สิ่งนี้สามารถอธิบายสภาพวงการฟุตบอลในประเทศสเปนในการเมืองยุคฟรังโกได้เป็นอย่างดี

อย่างที่ทราบกันว่า มาดริด ซีเอฟ ที่ตัดเรอัลข้างหน้า และมงกุฏบนโลโก้ออก เพราะฟรังโกไม่ต้องการให้มีสัญลักษณ์สื่อถึงราชวงศ์ นั้นเปรียบเสมือนสโมสรจากส่วนกลาง มาจากเมืองหลวงที่มีการรวมศูนย์ ฟรังโกให้ท้ายเต็มที่ อยากทำอะไรทำได้หมด ประเดี๋ยวมีคนคอยตามล้างตามเช็ดให้ 

เห็นได้จาก การบุกถึงห้องแต่งตัว ข่มขู่นัดเตะบาร์เซโลนา ก่อนเริ่มการแข่งขันฟุตบอลถ้วย โกปา เด เอสปันญา (ตัด เรย์ ที่แปลว่ากษัตริย์ออก) ส่งผลให้มาดริด ชนะไปแบบท่วมท้น 11-1 หรือแม้กระทั่งการร่วมผสมโรง ฉกตัว “อัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน” พ่อค้าแข้งที่ได้ชื่อว่า “เทพที่สุด” แห่งยุค 50-60 จากอ้อมอกของบาร์เซโลนา ชนิดมีคดีความระดับข้ามประเทศ แต่ฟรังโกก็ได้ใช้ “อำนาจบางอย่าง” คว้าสเตฟาโนมาสวมชุดขาวได้สำเร็จ

และที่ทำไปนี้ ก็เพื่อทำให้ “ราชันย์ชุดขาว” ทีมนี้กลายเป็นหนึ่งในใต้หล้า เป็นภาพแทนของระบอบ “เผด็จการ” ที่เข้มแข็ง ประกาศก้องให้เกรียงไกร ระบือไปทั่วทั้งคาบสมุทรไอบีเรีย

ยิ่งไปกว่านั้น “โลส บลังโกส์” ก็ไม่ได้เป็นเพียงภาพแทนของเผด็จการฟรังโก หากแต่ยังได้เป็นภาพแทนของ “ความเป็นสเปน” ไปด้วยในตัว หากสโมสรฟุตบอลของท้องที่ใด อยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแข่งขัน ไม่ได้รับการกีดกันออกไป ก็จะต้องทำอย่างมาดริด มีมาดริดเป็นโรลโมเดล หากทำนอกเหนือจากนี้ ถือว่าเหิมเกริม ต่อต้านความเป็นสเปน เป็นพวก “ชังชาติ” 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ หากจะเข้าร่วมแข่งขัน นักฟุตบอลต้องกระทำการ “คารวะแบบฟาสซิสต์ (Fascist Salute)” ก่อนเริ่มการแข่งขันทุกแมทช์

ซึ่งการบังคับให้ทำแบบตรงๆ (หรือมีบ้างที่กลายๆ) เช่นนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการ “กดทับ” ไม่ให้อัตลักษณ์อื่นๆ พุ่งปรี๊ดขึ้นมาทัดเทียมกับสิ่งที่เผด็จการทหารอยากให้เป็น ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ความเป็นหนึ่งเดียวที่เกิดขึ้น เป็นแค่เพียง “ภาพลวงหลอกตา” ที่เธอสร้างขึ้นมาให้ฉันตายใจ ทั้งสิ้น 

หลายท่านอาจคิดว่า การได้แชมป์สโมสรยุโรป 5 สมัยรวดของมาดริด จะนำพาความภาคภูมิใจมาสู่สเปน แต่เปล่าเลย ความภาคภูมิใจนั้น เกิดขึ้นแก่พวกเผด็จการ และคนในพื้นที่มาดริด และกาสตีลต่างหาก อีกกว่าค่อนนี่สาปแช่งล้วนๆ

แต่ภายหลังจากปี 1975 ที่นายพลฟรังโกสิ้นชีพไป พื้นที่ที่เคยได้รับการกดทับกดขี่ไว้ ก็ได้เฮกันเสียงดังลั่นสนั่น ส่วนกลางมีการผ่อนปรน ประณีประนอมมากขึ้น จึงเกิดกระแส “กระบวนการทำให้เป็นพื้นถิ่น (Regionalization)” ขึ้น เพื่อให้พื้นถิ่นนั้นๆ หลุดออกจากกรอบของส่วนกลาง ซึ่งกระแสดังกล่าวก็ได้แพร่กระจาย อุบัติในหลายพื้นที่ด้วยกัน อาทิ บาเลนเซีย กาลิเซีย นาวาร์รา หมู่เกาะกานารี เป็นต้น 

อย่างไรเสีย หากว่าด้วยเรื่องอัตลักษณ์ที่ ”เข้มข้นและรุนแรง” ย่อมไม่ทีพื้นที่ใดจะเทียบเท่า กาทาลัน และบาสก์ เพราะสองถิ่นนี้ อัตลักษณ์ไม่ได้ทำงานในระดับ “พื้นที่” แต่ในระดับของความเป็น “ชาติ” ต่างหาก 

โดยผู้เป็นแฟนคลับพยายามนำเสนอสัญญะของความเป็น ”ชาตินิยม” ภายในสนามเพื่อกระทำการให้สโมสรเป็นดั่ง “ตราชู (Emblem)” เป็นความภาคภูมิใจของคนทั้งชาติ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็เห็นจะเป็น การเชิญ “ธงชาติบาส์ก” ลงสนาม ของ อินาซิโอ กอร์ทาบาร์เรีย และโฆเซ อังเกล อิรีบาร์ สองกับตันทีม และตำนานจาก เรอัล โซเซียดาด และแอธแลธิก บิลเบา ซึ่งเป็นสโมสรแห่งความภาคภูมิใจของบาส์ก ราวช่วงปลายยุค 70 

ยิ่งไปกว่านั้น บรรดาแฟนคลับ นักฟุตบอล และผู้บริหารสโมสรยังได้สร้าง “ข้อบังคับ (Statute)” ร่วมกันในการปฏิบัติตนต่อกันและกันด้วย หรือก็คือ เป็นครั้งแรกที่แฟนคลับ รวมถึงนักฟุตบอล “มีอำนาจและมีส่วนร่วม” กับสโมสรแบบจริงๆ จังๆ เสียด้วย

 

มากระจ่างในฟุตบอลโลก 1982

ไม่เพียงแต่อัตลักษณ์ชาติของคาทาลันและบาสก์ที่ขึ้นมาเป็นอัตลักษณ์เฉพาะพื้นที่เท่านั้น แต่สถานะของอัตลักษณ์ดังกล่าวยัง “เทียบรัศมี”  มีศักดิ์เท่ากันกับความเป็นสเปนอีกด้วย 

หรือก็คือ อัตลักษณ์ของทั้ง กาทาลัน และบาสก์ ไม่เพียงแต่อยู่ในพื้นที่ แต่กลับครอบคลุมถึงความเป็นสเปนทั้งแผ่นดิน สอดรับกับระบอบประชาธิปไตยที่เปลี่ยนแปลงระบอบฟรังโกอันรวมศูนย์สู่ระบอบกึ่งสหพันธรัฐ 

นั่นทำให้ทั้งสองอัตลักษณ์ คือ “ส่วนหนึ่ง” ของความเป็นอัตลักษณ์หลักของสเปนไปโดยปริยาย ซึ่งจะเห็นได้ชัดจาก “ฟุตบอลโลก 1982” ที่สเปนรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ 

โดยในพิธีเปิดการแข่งขันนั้นได้เลือกใช้สนามคัมป์ นู (Camp Nou) ของสโมสร ฟุตบอลบาร์เซโลนา และป้ายประชาสัมพันธ์ขนาดใหญ่ของสนามได้มีการแสดงข้อความในภาษาสเปน คาทาลัน และอังกฤษ ในพิธีเปิดนั้นได้นำการแสดงพื้นบ้านในท้องถิ่นคาทาลันผสานเข้ากับการเต้นอันเป็นรูปแบบเฉพาะในพื้นที่อื่นๆ ของสเปน รวมถึงมีการเชิญธงคาทาลัน ขึ้นสู่ยอดเสาพร้อมๆ กับธงชาติสเปน เลยทีเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น ประธานสหพันธ์ฟุตบอลแห่งสเปน (Spanish Football Federation) ณ ตอนนั้น ก็เป็นชาวกาทาลันพอดี นามวา่ ปาโบล ปอร์ตา (Pablo Porta) ได้กล่าวสุนทรพจน์เปิดงานด้วยภาษากาทาลันและสเปนควบคู่กัน


และที่สำคัญ มาสค็อตประจำการแข่งขัน นามว่า “นาราฆิโต (Narajito)” ที่มีลักษณะเป็นผลส้ม ที่มีใบหน้า แขนและขา เหมือนมนุษย์ขนาดย่อรายละเอียด นั้นก็ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจาก มาจากสินค้าอันเป็นสัญลักษณ์ของบาเลนเซีย นั่นคือ “ส้มบาเลนเซีย (Valencia Orange)” 

ทำให้ชี้ชัดได้ว่า อัตลักษณ์ความเป็นสเปนนั้นมิได้ผูกโยงกับความเป็นส่วนกลางอีกต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น การรับรู้เข้าใจอัตลักษณ์ดังกล่าวยังผลต่อผู้ชมที่รับชมการถ่ายทอดสดในทั่วโลก และจากการขายสินค้าที่ระลึก ทั้งในรูปแบบของหวาน ไอศกรีม พวงกุญแจ ดินสอ ปากกา เสื้อยืด กางเกง ลูกฟุตบอล กระเป๋า ชุดนอน หรือแก้วกาแฟ อีกด้วย

และหากไม่นับเหตุการณ์อื้อฉาวของเยอรมนี “มุนดิอัล 82 (Mundial 82)” ซึ่งเป็นชื่อย่อของการแข่งขันฟุตบอลโลกที่สเปนครั้งนั้น ถือว่าประสบความสำเร็จ ทั้งในแง่กระบวนการแปรฟุตบอลให้เป็นสินค้า (process of football commodification) ได้เม็ดเงินไหลเข้าสเปนมหาศาล รวมไปถึงการ “เปิดพื้นที่” ให้แก่การนิยาม “อัตลักษณ์ชาติแบบใหม่” ได้อย่างน่าทึ่ง

นี่แหละคือมนต์เสน่ห์ของ “ความแตกต่างหลากหลาย” ไม่ใช่หรือ?

 

แหล่งอ้างอิง

หนังสือ ประวัติศาสตร์สเปนยุคกลาง
หนังสือ สเปน จักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน
หนังสือ Football and National Identities in Spain: The Strange Death of Don Quixote
หนังสือ Basque Nationalism
หนังสือ The Rise of Catalan Identity: Social Commitment and Political Engagement in the Twentieth Century
https://www.goal.com/en-om/news/why-are-real-madrid-accused-of-robbery-in-europe/1nfc4uhb61x011l1bwl0r500at

Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น