Feature

Panic Buy : คืนสุดท้ายของตลาดซื้อขายที่ลุ้น ช็อก และเพี้ยนสุดขั้ว | Main Stand

ตลาดซื้อขายนักเตะฤดูร้อน 2022 ปิดตัวลงแล้ว ในเช้าวันที่ 2 กันยายนตามเวลาบ้านเรา ... และปีนี้ก็เหมือนทุก ๆ ปีที่เราได้เห็นหลายทีมดึงตัวนักเตะมาเสริมทัพมากมาย แต่สังเกตไหมว่าทำไมดีลในวันสุดท้ายจึงเต็มไปด้วยอารมณ์ที่หลากหลายและน่าประหลาดใจจนเตรียมตัวกันไม่ถูก ? 

 

นี่คือเรื่องราวของคำว่า แพนิคบาย ที่นับวันเรายิ่งได้เห็นสิ่งนี้ชัดเจนและเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ... ติดตามวันที่เหล่าเอเยนต์เรียกมันว่า "ชั่วโมงแห่งความสุข" ได้ที่นี่กับ Main Stand 

 

แพนิคบาย คืออะไร ?

ไม่ต้องอธิบายเยอะก็น่าจะรู้กันดีหากแปลตรงตัว Panic buy หมายถึง การซื้อตัวนักเตะแบบตื่นตระหนก กล่าวคือมีปัจจัยอื่นมารบกวนที่ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายสูญเสียความเป็นธรรมชาติ ความเยือกเย็น และตัดสินใจไปในแบบที่คาดเดาไม่ได้ 

หลายคนอาจจะเข้าใจว่า แพนิคบาย หมายถึงการซื้อในช่วงวันสุดท้ายของตลาดซื้อขายที่เหลือเวลาให้แต่ละฝ่ายตัดสินใจได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง ช่วงเวลาอันบีบคั้นนี้สามารถเปลี่ยนนักเตะคนหนึ่งให้มีค่าตัวแพงขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าในแบบที่ใครคาดไม่ถึง 

แต่อันที่จริงแล้ว The Athletic สื่อเจ้าดังของอังกฤษ ช่วยอธิบายคำนี้ให้ชัดเจนมากขึ้นว่า แพนิคบาย ไม่ได้มีปัจจัยแค่เรื่องของเวลาเท่านั้น ยังมีกรณีอื่น ๆ อีกมากมายที่ทำให้ราคาของนักเตะผันผวนอย่างที่สุดเช่น การที่ทีมสองทีมแย่งนักเตะคนเดียวกันที่ทำให้เกิดการ "บิด" ราคา หรือการเพิ่มราคาซื้อตัวนักเตะคนดังกล่าวมากกว่าปกติเพื่อการันตีว่าพวกเขาจะกลายป็นคนที่วิ่งเข้าเส้นชัยในดีลนี้ 

ยกตัวอย่างเช่นการที่ 2 สโมสรที่มีเงินมหาศาลอย่าง ปารีส แซงต์-แชร์กแมง และ เรอัล มาดริด แย่งกันซื้อตัว โอเรเลียง ชูอาเมนี กองกลางของ โมนาโก ในช่วงต้นซัมเมอร์ที่ผ่านมา ที่ราคาแต่เริ่มเดิมทีของชูอาเมนีในวัย 22 ปีอยู่ที่ 60 ล้านยูโร ซึ่งก็ถือว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผลสำหรับดาวรุ่งที่มีศักยภาพพอที่จะเป็นสตาร์แถวหน้าของวงการ 

หาก มาดริด สนใจชูอาเมนีอยู่ทีมเดียวราคามันคงจบตั้งแต่ที่ 60-70 ล้านยูโรไปแล้ว แต่เมื่อมี เปแอสเช ที่ทุนหนาไม่แพ้กันเข้ามาร่วม พวกเขาจึงต้องยื่นราคาที่เปแอสเชต้องยอมถอยและไม่กล้าสู้ต่อก่อนจะจบลงด้วย 80 ล้านยูโรบวกออปชั่นเพิ่มเติมในอนาคตอีก 20 ล้านยูโร รวมเป็น 100 ล้านยูโรพอดิบพอดี มากกว่าค่าตัวของนักเตะที่ถูกประเมินในเดือนพฤษภาคม ปี 2022 เกือบ 50% ภายในเวลาแค่เดือนเดียวเท่านั้น 

และตัวอย่างที่ 2 คือกรณีที่เกิดขึ้นแบบสด ๆ ร้อน ๆ ที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ดึงตัว แอนโทนี่ ปีกของ อาหยักซ์ อัมสเตอร์ดัม มาด้วยราคา 100 ล้านยูโร (ค่าตัว 95 ล้านยูโร ออปชั่น 5 ล้านยูโร) โดยในส่วนนี้มีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งเรื่องของเวลาที่ตลาดใกล้จะปิดตัวลงในอีกไม่กี่วัน และยังมีเรื่องของ 2 สโมสรคือ อาหยักซ์ ที่ยืนกรานจะไม่ขาย ขณะที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ก็ต้องการตัวมาให้ได้ เพราะพวกเขารู้ว่าหากปล่อยให้ตลาดจบลงโดยไม่เสริมตัวรุกเพิ่มเติม ปัญหาดังกล่าวจะส่งผลหนักจนทำให้ทีมอาจหลุดจาก 4 อันดับแรกของลีกที่หวังไว้ได้ และการหลุดท็อป 4 หมายถึงการสูญเสียรายได้มหาศาลอีกครั้ง จากการไม่ได้ไปเล่น ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก 

ดังนั้นต่อให้ อาหยักซ์ จะตั้งราคาไปเวอร์ ๆ ที่ 100 ล้านยูโรซึ่งถือมากสุด ๆ สำหรับนักเตะที่เพิ่งมาเล่นในยุโรปได้แค่ 2 ปี แถมยังเล่นแค่ในลีกเนเธอร์แลนด์เท่านั้น แต่สำหรับ แมนฯ ยูไนเต็ด พวกเขาคิดว่ามันเป็นราคาที่พร้อมเสี่ยงและตัดสินใจให้ 100 ล้านยูโร ซึ่งเป็นราคาที่ อาหยักซ์ ไม่สามารถปฏิเสธได้แม้จะอยากเก็บตัวนักเตะไว้แค่ไหนก็ตาม 

นอกจากการจ่ายแพงเกินกว่าเหตุด้วยเหตุผลของการแย่งชิงตัวนักเตะและมีกรอบของเวลาเข้ามากดดันแล้ว แพนิคบาย ยังยกตัวอย่างได้อีกมากมายด้วยหลายเงื่อนไข เช่น การซื้อโดยที่ไม่มีเหตุผล ซื้อเพราะกันแฟนบอลด่า เหมือนตอนที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ในยุค หลุยส์ ฟาน กัล ทำในฤดูกาล 2014-15

ตอนนั้น เอ็ด วูดเวิร์ด บ้าคลั่งทุ่มเงินคว้านักเตะรวดเดียวถึง 5 คนภายในเวลาห่างกันไม่ถึง 2 อาทิตย์ พวกเขาได้ตัว มาร์กอส โรโฮ ด้วยราคา 18 ล้านปอนด์ ในวันที่ 20 สิงหาคม จากนั้นก็ไปได้ อังเคล ดิ มาเรีย ในอีก 6 วันต่อมาด้วยค่าตัว 59.7 ล้านปอนด์ ยังไม่จบแค่นั้น ในวันสุดท้ายของตลาดซื้อขายคือวันที่ 1 กันยายน แมนฯ ยูไนเต็ด คว้านักเตะรวดเดียว 3 คน ได้แก่การยืมตัว ราดาเมล ฟัลเกา มาจาก โมนาโก ด้วยการประเคนค่าเหนื่อยมหาศาล กับซื้อ ดาลี่ย์ บลินด์ และ ทิม โฟซู เมนซาห์ มาจาก อาหยักซ์ 

ซึ่งแต่ละคนก็แทบไม่ได้ฝากผลงานดี ๆ เอาไว้เลย และมันยิ่งทำให้แน่ชัดว่าเป็นการซื้อโดยไม่ได้วางแผนมาก่อนอย่างชัดเจน ซึ่งภายหลังโค้ชอย่าง ฟาน กัล เปิดเผยว่าบอร์ดบริหารเป็นคนซื้อนักเตะเหล่านี้มาให้เขาเกือบทั้งหมด โดยที่ตัวเขาเองไม่ได้ต้องการเลยด้วยซ้ำ 

 

จุดพีกที่สุดของ "แพนิคบาย"

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่มีเรื่องไหนที่ส่งผลให้เกิดแพนิคบายได้มากกว่าเรื่องของเงื่อนไขเวลาอีกแล้ว ยิ่งในฟุตบอลยุคปัจจุบันที่เหล่าเอเยนต์สามารถเข้าถึงสโมสร และสโมสรก็สามารถเข้าถึงเอเยนต์นักเตะได้ง่ายขึ้น จึงทำให้เกิดความพีกของแพนิคบายมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี 

ในยุคโซเชียลแบบนี้กลุ่มเอเยนต์นักเตะได้ให้สัมภาษณ์ว่าสำหรับพวกเขาวันสุดท้ายของตลาดซื้อขายนั้นเปรียบเสมือนช่วงเวลาที่พวกเขารอคอยมาทั้งชีวิต มันมีชื่อเรียกกันในหมู่เอเยนต์ว่า "ชั่วโมงแห่งความสุข" ... และแน่นอนว่ามันเป็นความสุขสำหรับผู้ขายมากกว่าผู้ซื้อแน่นอน 

เหตุผลที่ยุคโซเชียลมาเกี่ยวข้องกับเรื่องพีก ๆ ช็อก ๆ ในตลาดซื้อขายวันสุดท้ายคือ เอเยนต์สามารถติดต่อกับสโมสรได้โดยตรง พวกเขาสามารถติดตามข่าวสารได้อย่างทันท่วงทีแม้จะมีเวลามาบีบในการหาข้อมูล แต่พวกเขาก็รู้ได้ภายในเวลาไม่กี่นาทีว่าสถานการณ์ของแต่ละสโมสรเป็นอย่างไร 

ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเหล่าเอเยนต์ได้ข่าวว่าทีม ๆ หนึ่งกำลังต้องการนักเตะตำแหน่งกองหน้าเป็นอย่างมาก (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม) เหล่าเอเยนต์จะรู้เรื่องเหล่านี้ผ่านข้อมูลวงในอย่างรวดเร็ว และพวกเขาจะติดต่อไปยังสโมสรทันทีก่อนจะเสนอตัวนักเตะในการดูแลของพวกเขาพร้อมตั้งราคาค่างวดให้พิจารณา 

ถ้าสโมสรที่เป็นผู้ซื้อกำลังเลือดเข้าตาและต้องการนักเตะตำแหน่งนี้จริง ๆ พวกเขาก็อาจจะคว้ามันไว้ เพราะมันคาดเดาไม่ได้ว่านักเตะคนหนึ่งจะดีหรือแย่ในการซื้อขายแต่ละครั้ง ดังนั้นเมื่อโดนเวลาบีบคั้นพวกเขาก็ตัดสินใจเข้าข้างตัวเองว่า "ตัวนี้ดีแน่ หรือต่อให้มันไม่ได้ดีอย่างที่คิดก็ยังดีกว่าไม่ได้ใครมาเสริมทัพเลย"

เอเยนต์ปริศนาที่ให้สัมภาษณ์กับ The Athletic ยังยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด ๆ อีกว่า "เวลาบีบเข้ามาแล้ว ต่อให้คุณมีทีมสเกาต์ มีทีมวิเคราะห์สถิตินักเตะ และทีมจัดหานักเตะที่เหมาะสมแค่ไหน แต่เอกสารและข้อมูลเป็นตั้ง ๆ ขนาดนั้นพวกเขาจะคิดว่าเราไม่มีเวลามาวิเคราะห์ขนาดนั้น ได้เวลาเสี่ยงกับการตัดสินใจแล้ว พวกเขาจะมองข้ามข้อมูลเหล่านั้นและเลือกเชื่อในสิ่งที่พวกเขาคิดแทน" 

เรื่องดังกล่าวคล้าย ๆ กับที่ ดาเมี่ยน โคมอลลี่ อดีตผู้อำนวยการฟุตบอลของ ลิเวอร์พูล บอกเล่าถึงเรื่องราวในปี 2011 วันที่ทีมยอมจ่ายค่าตัว แอนดี้ แคร์โรลล์ ถึง 35 ล้านปอนด์ ตอนนั้นโคมอลลี่ยอมรับว่ากว่าที่ลิเวอร์พูลจะเคลียร์เรื่องการขาย เฟร์นานโด ตอร์เรส ให้เชลซีลุล่วงก็จ่อจะปิดตลาดแล้ว นาทีนั้นโทรศัพท์ปริศนาก็ดังมาถึงโคมอลลี่ 

"ในคืนก่อนที่จะถึงวันเดดไลน์ ผมได้รับโทรศัพท์จากใครสักคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสโมสร พวกเขาบอกผมว่า 'ผมได้ยินมาว่าประธานสโมสรนิวคาสเซิลพร้อมจะขาย แอนดี้ แคร์โรลล์' ... ตอนนั้นผมยอมรับว่าหูผึ่งเลย ตอร์เรสกำลังจะจากไปและเราไม่มีใครเลย ผมเลยรีบติดต่อหานิวคาสเซิลในคืนนั้น และตกลงกับพวกเขาทันที" โคมอลลี่ กล่าว

ความพีกยังไม่จบแค่นั้น เพราะเมื่อตอนแรกที่ทำท่าจะตกลงกันได้แล้ว บังเอิญว่าดีลตอร์เรสก็ลุล่วงพอดี พอนิวคาสเซิลได้ยินว่าลิเวอร์พูลขายตอร์เรสได้ถึง 50 ล้านปอนด์ แพงที่สุดในเกาะอังกฤษ ณ เวลานั้น พวกเขาจึงขอเพิ่มราคาแคร์โรลล์ขึ้นอีก 5 ล้านปอนด์ จาก 30 ล้านปอนด์เป็น 35 ล้านปอนด์ ซึ่งทุกคนก็รู้ดีว่าลิเวอร์พูลตัดสินใจเพิ่มเปล่า ๆ 5 ล้านปอนด์ เพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการ ก่อนที่พวกเขาจะได้ตัวแคร์โรลล์มาในวันสุดท้ายของตลาดซื้อขาย 

"พอนิวคาสเซิลบอกว่าอยากให้เราเพิ่มเงินอีก 5 ล้านปอนด์ ผมแทบจะบ้าตายตรงนั้นเลย เรามีเวลาไม่มากแล้ว ผมต้องตัดสินใจทำมัน" โคมอลลี่ เล่าต่อ 

สุดท้ายสิ่งที่โคมอลลี่ทำก็คล้าย ๆ กับที่เอเยนต์ปริศนาให้สัมภาษณ์ เขายกเหตุผลมาเข้าข้างตัวเองเพื่อช่วยเพิ่มความกล้าในการจ่ายเงินที่แพงเกินกว่าเหตุในท้ายที่สุด

"ผมรู้ว่าพวกเราจ่ายเกินราคาสำหรับแคร์โรลล์ แต่เราคิดว่าสมควรเสี่ยงเพราะเขายังเด็ก เป็นคนอังกฤษด้วย อย่างแย่ที่สุดถ้าเขาไม่ดีจริง ๆ เราก็น่าจะพอเทขายให้กับทีมอื่นได้ในราคาสัก 20 ล้านปอนด์" อดีต ผอ.ฟุตบอลของลิเวอร์พูล ยอมรับ 

 

วันที่ตลาดนักเตะผิดเพี้ยนที่สุด 

ยุคนี้เราจะได้เห็นความผิดเพี้ยนและแพนิคบายมากขึ้นยิ่งกว่าเดิมอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้น โลกทุกวันนี้มันไร้พรมแดนไปเรียบร้อยแล้ว การเซ็นสัญญาภายในเวลาไม่กี่นาทีโดยที่นักเตะยังอยู่คนละประเทศก็เคยมาแล้ว เพราะการสื่อสารช่วยย่นระยะทาง ร่นเวลา และร่นวิธีการได้ในคราวเดียว รู้ตัวอีกทีนักเตะก็ได้ย้ายทีมไปเรียบร้อยแล้ว 

Daily Mail สื่อแถวหน้าของอังกฤษ ยืนยันว่าแม้จะเป็นการซื้อขายวันสุดท้าย แต่บางครั้งก็มีดีลง่าย ๆ เกิดขึ้น โดยดีลเหล่านี้มักจะมาจากการซื้อตัวนักเตะจากทีมที่พร้อมจะขายอยู่แล้ว ในกรณีนี้แค่คุยเรื่องเงินให้ลงตัวทั้ง 3 ฝ่าย (ทีมซื้อ, ทีมขาย และตัวนักเตะ) เท่านั้น ทุกอย่างก็จะจบลงอย่างรวดเร็ว ดีลลักษณะนี้เกิดขึ้นได้ทั่วไป ยกตัวอย่างเช่นการย้ายทีมของ อูมาร์ นิอาสส์ จาก โลโคโมทีฟ มอสโก มา เอฟเวอร์ตัน ในปี 2016 เป็นต้น

ดีลนี้เกิดจากการที่เอฟเวอร์ตันมีผลงานไม่ดีในครึ่งแรกของซีซั่น 2015-16 และนิอาสส์ก็เป็นนักเตะในลิสต์กองหน้าที่พวกเขาติดตามฟอร์มมาพักใหญ่ ทำให้ได้โอกาสดีที่สุดในการปิดดีลนี้ด้วยการจ่ายเงิน 16 ล้านปอนด์ ... ซึ่ง โลโคโมทีฟ มอสโก ก็ตาวาวทันใด พวกเขาเห็นเงินก้อนนั้นและไม่ต้องคิดอะไรต่อให้มากความ จากการเจรจาสัญญากับนักเตะเพียง 1 ชั่วโมง อูมาร์ นีอาสส์ ก็กลายเป็นนักเตะของเอฟเวอร์ตันอย่างรวดเร็ว ประมาณว่าอ้อยเข้าปากช้างอย่างไรอย่างนั้น

"เคยเห็นทีมไหนปิดประตูฉลองหลังขายนักเตะตัวเก่งของทีมออกไปไหมล่ะ ? ผมจะบอกให้ โลโคโมทีฟนี่ไง พวกเขาพูดกันว่าการขายนีอาสส์เป็นดีลที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ ข้อเสนอแบบนี้เราไม่มีทางปฏิเสธได้เลย" อาเธอร์ เปโตรเซียน นักข่าวสายฟุตบอลรัสเซีย เฉลยสิ่งที่เกิดขึ้นหลังดีลนี้ยุติลง 

ด้วยเหตุผลเช่นนี้เราจึงได้เห็นดีลแปลก ๆ มากมายในช่วงโค้งสุดท้ายของตลาดซื้อขาย อย่างในปี 2022 ใครจะไปคิดว่าอยู่ดี ๆ ลิเวอร์พูล ที่ซื้อตัวโดยมีแบบแผน มีการวางโครงสร้างไว้ชัดเจนมาตลอด ยังไปคว้า อาตูร์ เมโล่ มิดฟิลด์ของยูเวนตุส หลังจากที่พวกเขามีปัญหาเรื่องกองกลางบาดเจ็บ เป็นต้น

ขณะที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ของ เอริก เทน ฮาก ที่คุยนักคุยหนาว่าปีนี้พวกเขาจะสร้างทีมโดยนักเตะเลือดใหม่และเป็นคนที่โค้ชเลือก แต่สุดท้ายพวกเขาก็เกือบได้ตัวนักเตะที่ไม่ตรงกับปรัชญาของ เทน ฮาก อย่างแรง นั่นคือ มาร์โก อาร์เนาโตวิช กองหน้าตัวเก๋าจากโบโลญญ่า ซึ่งเป็นนักเตะที่ผิดสเป็กทุกอย่าง ทั้งอายุมากแล้ว ทัศนคติไม่ค่อยดี มีปัญหานอกสนามบ่อยครั้ง สิ่งเดียวที่พอเข้าเค้าคือ อาร์เนาโตวิชเคยร่วมงานกับเทน ฮาก สมัยอยู่กับ ทเวนเต้ ... โชคยังดีที่ดีลนี้ว่ากันว่าแฟนบอลต่อต้านจนสุดท้ายฝั่งปีศาจแดงก็ต้องล้มดีลไป 

ในช่วงเวลาเดียวกัน แมนฯ ยูไนเต็ด ก็มีข่าวกับ อาเดรียง ราบิโอต์ นักเตะที่มีปัญหานอกสนามพอ ๆ กับ ปอล ป็อกบา ที่พวกเขาปล่อยออกจากทีมไปฟรี ๆ เพื่อหวังสร้างบรรยากาศในห้องแต่ตัวที่ดีขึ้นกว่าเดิม มองดูแล้วผิดฝาผิดตัวไปหมด แต่เดชะบุญที่เวลาของดีลเหล่านี้ยังเหลือพอสมควร สุดท้าย แมนฯ ยูไนเต็ด ก็ไม่ต้องเสียเงินเพื่อเสี่ยงกับนักเตะที่มีประวัติเหล่านี้ 

ดังนั้นวิธีการหลีกเลี่ยงจากแพนิคบายคือการมีโครงสร้างและปรัชญาในการเสริมทัพที่ชัดเจน นักเตะคนไหนไม่ตรงสเป็กและโค้ชไม่ได้เรียกร้องก็ไม่ควรจะทู่ซี้เอามา เพราะมีโอกาสอย่างมากที่จะเสียมากกว่าได้แน่นอนอยู่แล้ว 

ดังนั้นวันสุดท้ายของตลาดซื้อขายจึงเป็นวันที่เกิดแพนิคบายมากที่สุด และเปรียบเสมือนเกมการซื้อตัวที่สามารถพลิกไปพลิกมาได้ตลอด หากฝ่ายไหนเห็นจุดอ่อนของอีกฝ่ายพวกเขาก็เอาจะจุดนั้นมาเล่นงาน ดังนั้นในวันสุดท้ายนี้คนที่จะมีงานหนักที่สุดก็คือเอเยนต์และตัวซีอีโอของแต่ละสโมสรที่มีกึ๋นเท่าไหร่ต้องเอาออกมาวัดกันแบบหมัดต่อหมัด

อย่างไรก็ตามการซื้อขายนักเตะก็เหมือนกับทุกอย่างบนโลกนี้ มันไม่มีอะไรแน่นอน ดังคำที่ว่า "แพงไม่แพงไม่ได้วัดกันที่ราคา แต่วัดกันที่ผลงาน" เพราะบางครั้งนักเตะที่ได้มาในราคาแพงหูฉี่ในช่วงโค้งสุดท้ายก็กลายเป็นกุญแจสำคัญของบางสโมสรได้ ยกตัวอย่างเช่นดีลในโค้งสุดท้าย เช่น ดิมิทาร์ เบอร์บาตอฟ ที่ย้ายจาก ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ส มา แมนฯ ยูไนเต็ด ก่อนจะพาทีมคว้าแชมป์ลีก และตัวเขาก็ได้รางวัลดาวซัลโวของพรีเมียร์ลีกในฤดูกาลต่อมา

ดังนั้นเราคงต้องมาดูกันว่าดีลที่ถูกเรียกว่าแพนิคบายในซัมเมอร์นี้จะมีดีลไหนที่สามารถหักปากกาเซียนได้บ้าง 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

อลหม่านเดดไลน์ : เรื่องวุ่นของตลาดวันสุดท้าย ใครได้-ใครเสีย?

 

แหล่งอ้างอิง

https://sportreviews.com/en/panic-buying-phenomenon-in-the-football-world/
https://theathletic.com/2349583/2021/01/30/it-was-a-bloody-expensive-mistake-why-clubs-keep-making-panic-buys/
https://theathletic.com/live-blogs/transfer-deadline-news-live/uIaufjyfJ58Q/
https://www.90min.com/posts/5962734-keep-calm-keep-bidding-6-examples-of-premier-league-winter-transfer-window-panic-buys
https://www.dailystar.co.uk/sport/football/premier-league-january-transfer-window-25815805
https://www.givemesport.com/1605466-who-are-the-worst-deadline-day-panic-buys-in-premier-league-history

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น