Feature

จุดกำเนิด “บัวขาว บัญชาเมฆ” ณ วันที่ “ดำดอตคอม” ปรากฏตัวบนเวทีมวยราชดำเนิน | Main Stand

ไม่มีใครปฏิเสธว่าปัจจุบัน “บัวขาว บัญชาเมฆ” ถือเป็นนักชกผู้ทรงอิทธิพลของวงการมวยเมืองไทย เพราะนอกจากจะยืนหยัดเป็นกำปั้นเงินล้านมายาวนานหลายสิบปี ยังสร้างอิมแพ็กต์ได้เสมอเมื่อเขาขึ้นชก

 


เขารับตำแหน่งเป็นทั้งบอร์ดบริหารของ สมาคมกีฬาคิกบอกซิ่งแห่งประเทศไทย ควบกับบทบาท “ประธานพัฒนากีฬามวยเวทีราชดำเนิน” เพื่อยกระดับมวยไทยให้ไปสู่ระดับนานาชาติ 

ด้วยเหตุนี้เขาจึงตัดสินใจขึ้นคืนสู่สังเวียนมวยหมายเลข 1 ของเมืองไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี เพื่อปลุกกระแส รวมถึงเป็นการย้อนรอยบทบันทึกบนเส้นทางการต่อสู้ของเขา

เพราะครั้งหนึ่งที่แห่งนี้เคยมอบโอกาสให้กับ”บัวขาว” ได้สร้างชื่อและแสดงศิลปะแม่ไม้มวยไทยให้ผู้ชมได้ประจักษ์

“ใหญ่ ลำนารายณ์” หรือ พรชัย อุดมสมพร เจ้าของคอลัมน์ใน มวยไทย อะราวด์ เดอะ เวิลด์ นิตยสารมวยตู้ และผู้สื่อข่าวกีฬาที่คลุกคลีตีโมงกับการทำข่าวนักมวยไทยมานานกว่า 20 ปี จะมาย้อนความหลังถึงจุดกำเนิดของ” บัวขาว บัญชาเมฆ ตั้งแต่วันแรกที่ปรากฏตัวบนสังเวียนเวทีราชดำเนิน เมื่อ 18 ปีก่อน 

18 ปีที่แล้ว บัวขาว เป็นอย่างไร ? และเขาฝากอะไรไว้ในการต่อสู้ ณ ตอนนั้นที่เปรียบเสมือนประตูในการพา บัวขาว ไปโกอินเตอร์ในเวลาต่อมา

 

ไม่ใช่มวยเอก

“บัวขาวเป็นนักมวยของ กำนันแก๊-ประมุข โรจนตัณฑ์ เจ้าของค่ายมวย ป.ประมุข แห่งจังหวัดฉะเชิงเทรา นักมวยค่ายนี้ขึ้นชกศึกวันทรงชัยที่สนามมวยเวทีลุมพินี พระราม 4”

“เพราะกำนันแก๊ กับ ทรงชัย รัตนสุบรรณ เป็นคนบ้านเดียวกัน และยี่ห้อศึกวันทรงชัยใคร ๆ ก็รู้ว่านักมวยคนไหนก็อยากชกทั้งนั้น”

“ในเวลาต่อมากำนันแก๊ได้รับแต่งตั้งเป็นโปรโมเตอร์เวทีลุมพินี นักมวยค่าย ป.ประมุข จึงขึ้นชกประจำที่วิกสังกะสี”



น่าเสียดายที่บัวขาวในวัยละอ่อนยังเป็นเพียงแค่นักชกหน้าใหม่ที่ชื่อเสียงเป็นรองเพื่อนร่วมค่ายอย่าง โชคดี และ พรสวรรค์ ป.ประมุข เขาจึงยังไม่ไปถึงการเป็นมวยเอกของเวทีมวยลุมพินี

อย่างไรก็ดีสไตล์การชกของ “บัวขาว” ที่เป็นมาตั้งแต่ไหนแต่ไรคือความแข็งแรงและใจสู้ แม้ว่าฝีมือมวยหลักเหลี่ยมชั้นเชิงถูกมองว่าธรรมดามาก เวลาเจอคู่ต่อสู้ที่มีจังหวะหลักเหลี่ยมดีกว่า บัวขาวก็มักจะแพ้เพราะแก้วงในไม่ตกเป็นประจำ

“ด้วยความที่ไม่ใช่นักมวยชูโรงของศึกวันทรงชัยเหมือนอย่างโชคดี จึงเป็นเรื่องง่ายที่โปรโมเตอร์ลุมพินีคนอื่น ๆ จะขอบัวขาวไปจัดชก”

“ขณะเดียวกันทรงชัยก็ส่งไปชกที่เวทีราชดำเนินกับโปรโมเตอร์พันธมิตรที่นั่นด้วย ในเวลานั้นมี ศึกเกียรติสิงห์น้อย ที่เป็นรายการระบายขุนพลมวยวันทรงชัยที่มีอยู่มากมายจนจัดไม่ทัน”

 

สู่ราชดำเนินครั้งแรก

“วันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม 2543 บัวขาวขึ้นชกที่เวทีราชดำเนินเป็นครั้งแรก พบกับ เวหาสน์ ลูกพระบาท ซึ่งในเวลานั้นเป็นมวยหน้าใหม่เหมือนกัน”

“ในไฟต์แรก บัวขาวอาศัยความแข็งแกร่งเดินลุยอัดจนคู่ชกออกอาการยุบ กระทั่งได้จังหวะฟันศอกเอาชนะน็อกไปได้ในยกที่ 4” 

บัวขาวเปิดตัวไฟต์แรกที่วิกแอร์ได้อย่างดุดันราวกับพล็อตมังงะต่อสู้ แต่ในความเป็นจริงหลังจบเกมนัดนั้นบัวขาวกลับไม่ได้เป็นที่รู้จักมากขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นการต่อสู้กันของ 2 นักชกรุ่นใหม่ก็เลยยังไม่ค่อยเป็นที่สนใจมากนัก 

หลังจากนั้นบัวขาวมีโอกาสมาชกออกทีวีที่เวทีมวยสยามอ้อมน้อย ภายใต้การจัดของ วิรัตน์ ไพรอนันต์ หรือ เชน เมืองชล โปรโมเตอร์ศึกไพรอนันต์ จนได้แชมป์อ้อมน้อยถึง 2 รุ่นคือ 126 และ 135 ปอนด์ ขณะที่เวทีช่อง 7 สี ชุ้น เกียรติเพชร (พีรพงศ์ ธีระเดชพงศ์) ก็เคยนำบัวขาวไปจัดเช่นกัน

ซึ่งทำให้บัวขาวเริ่มเป็นรู้จักมากขึ้นจากการได้ชกออกทีวีบ่อยครั้ง ก่อนที่บัวขาวจะมาประสบความสำเร็จคว้ามวยรอบมาราธอน ที่เวทีมวยลุมพินี ในรุ่น 140 ปอนด์ จนกลายเป็นใบเบิกทางพาเขาไปโกอินเตอร์ที่ประเทศญี่ปุ่่น 

 

ราชดำเนินครั้งล่าสุด

“ชื่อของ บัวขาว ป.ประมุข เริ่มเป็นที่สนใจของโปรโมเตอร์ต่างชาติอย่างจริงจัง บัวขาวได้ไปชกที่เกาหลีใต้และจีนเอาชนะน็อกคู่ต่อสู้ได้ทั้ง 2 ไฟต์ จึงได้เดินทางไปชกที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นไฟต์ที่ 2 แต่คราวนี้บัวขาวไม่ได้เดินทางไปชกในฐานะนักมวยไทยธรรมดาเหมือนการทำศึกครั้งแรกเมื่อ 2 ปีก่อน”

“ครั้งนี้บัวขาวขึ้นชกกับ ฟูจิ เฉลิมศักดิ์ หรือ เฉลิมศักดิ์ ชูวัฒนะ อดีตแชมป์เวลเตอร์เวตประเทศไทย ซึ่งเป็นมวยสร้างของญี่ปุ่น แม้จะเป็นรายการของ NJKF หรือ New Japan Kickboxing Federation”

“แต่การชกไฟต์นี้มีตัวแทน K-1 มานั่งชมอยู่ด้วย เมื่อบัวขาวเป็นฝ่ายชนะคะแนนเฉลิมศักดิ์ไปอย่างสนุก K-1 ก็เปิดเจรจากับกำนันแก๊เพื่อขอจัดบัวขาวชกในไฟต์ถัดไปทันที” 

ภายหลังจากที่บัวขาวเอาชนะคะแนน จอร์แดน ไท นักชกออสเตรเลียขาดลอย ตัวแทนของ K-1 ก็ได้เจรจาขอให้บัวขาวกลับมาร่วมชกในรายการ K-1 World MAX 2004 พิกัด 70 กิโลกรัม ในอีก 3 เดือนข้างหน้า

โดยในระหว่างรอบินกลับไปชกที่ญี่ปุ่น โปรโมเตอร์ทรงชัยจึงได้จังหวะส่งบัวขาวไปชกรายการใหญ่ที่เวทีราชดำเนิน นั่นคือ ศึกเกียรติสิงห์น้อย นัดวันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม 2547 บัวขาวชกเป็นคู่รองพบกับ มั่นคง เกียรติสมควร ในพิกัด 138/140 ปอนด์

“แม้จะต้องต่อน้ำหนักให้คู่ชก 2 ปอนด์ แต่เจ้าตัวก็ไม่ได้เปรียบมากนัก เพราะแฟนมวยมองว่าบัวขาวหันไปชกมวย 3 ยกนาน แรงปลายน่าจะสู้มวยเข่าแข็งแรงอย่างมั่นคงซึ่งได้เปรียบช่วงชกไม่ได้แน่”

“แต่หารู้ไม่ว่าการที่บัวขาวขึ้นชกกับนักมวยต่างชาติบ่อย ๆ ทำให้เจ้าตัวกลายเป็นมวยอาวุธเยอะขึ้นมาโดยอัตโนมัติ บัวขาวภาคใหม่จึงมีครบทั้ง หมัด เท้า เข่า ศอก แล้วอาศัยความได้เปรียบตรงนี้เดินบดเบียดจนแซงเอาชนะคะแนนมั่นคงไปอย่างสนุกขาดลอยตอนท้าย ๆ”

ชัยชนะเหนืออดีตแชมป์ไลท์เวตเวทีราชดำเนินอย่างมั่นคง ส่งให้ชื่อของบัวขาวได้รับความสนใจมากขึ้นในฐานะนักมวยไทยระดับแนวหน้าของเมืองไทย

แต่หลังจากนั้น 2 เดือน ชีวิตของบัวขาวก็เปลี่ยนไปตลอดกาล เมื่อเขาบินไปคว้าแชมป์ K-1 รุ่น 70 กิโลกรัมเป็นสมัยแรก จนดังเป็นพลุแตกในต่างแดน 

นับจากวันนั้นถึงวันนี้ บัวขาวกลายเป็นนักชกเนื้อหอมที่มีแต่โปรโมเตอร์จัดคิวให้ชกตลอดทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ จนแทบไม่มีโอกาสได้กลับมาชกที่ “เวทีมวยราชดำเนิน” อีกเลย 

วันเวลาผ่านไปล่วงเลยนานถึง 18 ปี ในที่สุด “บัวขาว บัญชาเมฆ” ก็จะได้หวนคืนสู่เวทีราชดำเนินอีกครั้ง ทำศึกกับ “โคตะ มิอูระ” นักสู้ MMA ผู้เป็นทายาทของ “คิง คาซู” คาซึโยชิ มิอุระ นักฟุตบอลระดับตำนานของญี่ปุ่น 

แม้จะเป็นเพียงไฟต์พิเศษที่จัดขึ้นเพื่อต้อนรับการกลับมาสู่บ้านของมวยไทยอย่าง เวทีมวยราชดำเนิน ของตำนานตลอดกาลอย่าง “บัวขาว”

แต่เชื่อว่าไฟต์นี้น่าจะเรียกความน่าสนใจจากผู้ชมและตอกย้ำการเดินหน้าจัดมวยไทยยุคใหม่ของ สนามมวยเวทีราชดำเนิน ที่พร้อมเปิดประตูต้อนรับคนทุกเพศทุกวัยให้กลับมาดูมวยไทยที่สนามกันอีกครั้ง

Author

ทัศนะเทพ รัตนจันทา

Muay Thai Stand's writer - มวยไทยสแตนด์ สังเวียนที่ทำให้คุณอยู่ใกล้มวยไทย

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ