Feature

บันทึกอาเซียน : เจาะเบื้องหลังการเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ครั้งแรกของบรูไน จัดแล้วได้อะไร | Main Stand

ย้อนกลับไปยังปี 1999 ประเทศขนาดเล็กบนเกาะบอร์เนียวอย่าง บรูไน ได้โอกาสเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ถือเป็นชาติแรกนอกกลุ่ม 5 มหาอำนาจที่ได้รับบทบาทนี้ในรอบหลายสิบปี


 

Main Stand จะพาคุณไปเจาะเบื้องหลังการเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ของบรูไน ประเทศเศรษฐีน้ำมันแห่งนี้ต้องการอะไรจากมหกรรมกีฬาประจำภูมิภาค กับคำตอบที่แสดงถึงความทะเยอทะยานและความชาญฉลาดในการยกระดับชาติของตัวเอง

 

ยกระดับทัดเทียมมหาอำนาจอาเซียน

“ซีเกมส์ครั้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่ยุคมิลเลนเนียมและศตวรรษใหม่” นี่คือประโยคที่ผู้คนทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พูดถึงมหกรรมกีฬาซีเกมส์ 1999 หรือ ซีเกมส์ครั้งที่ 20 ซึ่งการแข่งขันกีฬาอันเป็นประตูก่อนก้าวสู่ยุคใหม่นี้ถือเป็นภาพสะท้อนความต้องการของประเทศเจ้าภาพอย่าง บรูไน ได้อย่างดีเยี่ยม

แม้ปัจจุบันชาวไทยจะรู้จักบรูไนในฐานะประเทศเศรษฐีน้ำมัน แต่ถ้าย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่พวกเขายังเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร บรูไนยังคงเป็นเขตปกครองขนาดเล็กบนเกาะบอร์เนียวที่เต็มไปด้วยความล้าหลังและห่างไกลความเจริญ แม้แต่ชาวฟิลิปปินส์ที่ถือเป็นเพื่อนบ้านในเขตอาเซียนภาคพื้นสมุทรก็แทบจะไม่รู้จักและปราศจากความรู้เกี่ยวกับบรูไน

เหตุผลที่ทำให้บรูไนใช้เวลาราว 50 ปีในการพัฒนาตัวเองจากรัฐที่ถูกปกครองโดยเจ้าอาณานิคมสู่การเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจดีมากที่สุดประเทศหนึ่งของภูมิภาคเป็นเพราะความทะเยอทะยานที่จะพัฒนาตนเองให้ทัดเทียมกับชาติแถวหน้าในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาอย่างยิ่งชาติในกลุ่มท็อป 5 อย่าง ไทย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ทั้งที่พวกเขายังคงเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร

ปี 1975 ถือเป็นปีที่เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของความสมดุลทางอำนาจ เนื่องจากการสิ้นสุดของสงครามเวียดนามในปีเดียวกัน ส่งผลให้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเจือจางไป และองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ซีโต้ (SEATO) หรือ นาโต้ เวอร์ชั่นอาเซียนได้ถูกยุบเลิกตามไป

เมื่อสหรัฐอเมริกาไม่ดำเนินนโยบายต่างประเทศเหนือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาติในอาเซียนจึงผนึกกำลังกันจนนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค บรูไนเองก็เป็นชาติที่เดินไปตามแนวทางนี้ มีการเปิดให้นักลงทุนจากชาติอื่นในอาเซียนเข้าไปทำธุรกิจเพื่อยกระดับประเทศ ยกตัวอย่างเช่นการอนุญาตให้บริษัทวิศวกรรมจากฟิลิปปินส์เข้ามาดำเนินธุรกิจ ซึ่งในที่สุดพวกเขาก็มีโอกาสในการสร้างปราสาทขององค์สุลต่านอีกด้วย

ปี 1975 ยังเป็นปีสำคัญของมหกรรมกีฬาซีเกมส์ เพราะสามชาติจากเขตอินโดจีน คือ เวียดนาม, กัมพูชา และ สปป.ลาว ได้ถอนตัวจากการแข่งขัน เนื่องจากกการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค นำมาสู่การขยายชาติที่มีสิทธิ์เข้าร่วมแข่งขัน เปิดทางให้บรูไนได้โอกาสลงแข่งขันซีเกมส์เป็นครั้งแรกในปี 1977 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มหกรรมกีฬาครั้งนี้ถูกจัดขึ้นในชื่อซีเกมส์ ไม่ใช่กีฬาแหลมทองอย่างที่เคย

การก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของซีเกมส์ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับบรูไนในการก้าวเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน แต่พวกเขายังห่างไกลกับการทัดเทียมกับกลุ่มท็อป 5 หรือ ASEAN-5 ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นเพียง 5 ชาติที่เคยมีโอกาสรับบทบาทเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาซีเกมส์ นับตั้งแต่ปี 1977 โดยไทยรับบทบาทเจ้าภาพในปี 1985, 1995 สิงคโปร์ในปี 1983, 1993 ฟิลิปปินส์ในปี 1981, 1991 มาเลเซียในปี 1977, 1989 และอินโดนีเซียในปี 1979, 1987, 1997

ส่วนประเทศที่เหลือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่หมดโอกาสก้าวเป็นเจ้าภาพซีเกมส์เป็นไปด้วยสองเหตุผล คือประเทศเล็กเกินไปหรือไม่ก็จนเกินไป อย่างไรก็ดีบรรดาชาติระดับสูงก็เปิดโอกาสให้ชาติกลุ่มล่างเข้ามารับบทบาทเจ้าภาพซีเกมส์เสมอ ด้วยเงื่อนไขที่ว่าพวกเขาต้อง “มีความพร้อม” ในการจัดการแข่งขัน


ในบรรดาชาติกลุ่มล่างของอาเซียนทั้งหมด บรูไน เป็นประเทศแรกที่ก้าวมาคว้าความสำเร็จในฐานะเจ้าภาพซีเกมส์ 1999 หลังจากผลักดันการเป็นเจ้าภาพซีเกมส์มาตั้งแต่ปี 1983 แต่พลาดไปเนื่องจากปัญหาเรื่องสิ่งอำนวยการแข่งขันที่ขาดความพร้อม รวมถึงปัญหาเรื่องเอกราชของชาติ เพราะขณะนั้นบรูไนยังเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร ก่อนจะเป็นเอกราชในปีถัดมา

มหกรรมกีฬาซีเกมส์ 1999 จึงเหมือนเป็นประตูสู่ยุคใหม่ของบรูไนอย่างแท้จริง เพราะนับแต่นั้นเป็นต้นไปพวกเขาได้ประกาศถึงความพร้อมที่ทัดเทียม 5 ชาติมหาอำนาจของอาเซียน ไม่ใช่ในแง่ของการจัดมหกรรมกีฬาแต่เป็นเรื่องความพร้อมทางเศรษฐกิจและอิทธิพลบนเวทีภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

อีเวนต์สาธิตเพื่อเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจ 

การได้เป็นเจ้าภาพซีเกมส์ 1999 ของบรูไน ไม่เพียงจะช่วยให้หน้าตาของประเทศทัดเทียมกับชาติอื่นในภูมิภาค แต่ยังมีส่วนช่วยในการพยุงเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากขวบปีดังกล่าวถือเป็นปีที่ชาติอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และถึงแม้บรูไนจะไม่ได้รับผลหนักในระดับเดียวแบบที่ไทยต้องเจ็บปวดกับวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่พวกเขาก็รายได้หายกำไรหดเนื่องจากภาวะราคาน้ำมันตกต่ำไปด้วย

น้ำมันและก๊าซธรรมชาติถือเป็นสินค้าส่งออกหลักของบรูไน คิดเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของประเทศ แต่หลังจากเศรษฐกิจตกต่ำ คู่ค้าสำคัญอย่างชาติสมาชิกในกลุ่มอาเซียนและญี่ปุ่นต่างลดความต้องการที่จะซื้อน้ำมันจากบรูไนลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันของบรูไนในปี 1999 ตกลงเหลือเพียง 9 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ภาวะถดถอยของธุรกิจขายน้ำมันส่งผลให้รัฐบาลบรูไนเริ่มมองหาลู่ทางอื่นในการหากำไรเข้าสู่ประเทศ ก่อนจะได้ข้อสรุปถึงความต้องการที่จะก้าวมารับบทบาทศูนย์กลางทางการเงินในระดับโลกผ่านการอนุญาตให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาทำธุรกิจในประเทศได้โดยแทบไม่ต้องเสียภาษี แต่ก่อนอื่นบรูไนจำเป็นต้องแสดงให้ชาวโลกเห็นว่าพวกเขามีเศรษฐกิจที่ดี, มีการประสานงานที่ดี และมีความมั่นคงทางการเมือง

บรูไนยังมีความทะเยอทะยานต้องการเป็นศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยนและการท่องเที่ยวประจำภูมิภาค ซึ่งเป็นแผนการร่วมกับประเทศอาเซียนในกลุ่มภาคพื้นสมุทร อย่าง อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์ เพื่อจะก้าวไปถึงตรงนั้นบรูไนจึงทุ่มเงินหลายล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อยกเครื่องระบบสื่อสารทั้งประเทศและรอคอยโอกาสที่จะสาธิตให้คนทั่วโลกเห็นว่าบรูไนพร้อมจะเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจ, การเงิน และการท่องเที่ยว

มหกรรมกีฬาซีเกมส์ 1999 ถือเป็นเครื่องมือสาธิตนั้น นี่คืออีเวนต์ที่บรูไนจะทดลองเป็นเจ้าภาพงานระดับนานาชาติที่เต็มไปด้วยผู้มาเยือนจากต่างประเทศ ก่อนที่พวกเขาจะก้าวไปรับงานใหญ่นั่นคือบทบาทเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปี 2000 ซึ่งเป็นงานที่ใหญ่กว่าซีเกมส์มาก เพราะจะมีแขกระดับรัฐมนตรีจากประเทศมหาอำนาจของโลกเดินทางมาสู่บรูไน

หากปราศจากความพร้อมในการรับมือซีเกมส์ ไม่มีทางเลยที่พวกเขาจะได้เป็นเจ้าภาพงานใหญ่อย่างการประชุมเอเปค ซึ่งทั้งสองอีเวนต์นี้สำคัญต่อประเทศบรูไนเป็นอย่างมาก เพราะหากการจัดงานทั้งสองเป็นไปด้วยดีจะเป็นเครื่องยืนยันต่อสายตาชาวโลกว่าบรูไนไม่ใช่เกาะขนาดเล็กที่ล้าหลังหรือห่างไกลความเจริญอีกต่อไป และพร้อมแล้วจะเปิดรับนักท่องเที่ยวมากมายเข้ามาสู่ประเทศ

บทบาทเจ้าภาพซีเกมส์ 1999 จึงมีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจของบรูไนในช่วงเวลานั้น เพราะท้ายที่สุดแล้วพวกเขาตระหนักได้ว่าไม่สามารถฝากเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศไปกับการค้าน้ำมันเพียงอย่างเดียวได้ การแสดงความพร้อมในฐานะศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนและการท่องเที่ยวของภูมิภาคจึงมีความสำคัญเช่นเดียวกัน ซึ่งอีเวนต์ที่รองรับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่มากกว่า 4 พันชีวิตอย่าง ซีเกมส์ 1999 คืองานสาธิตศักยภาพของประเทศที่ไม่เลวเลยทีเดียว

 

พัฒนาคุณภาพทางสังคม

บทบาทเจ้าภาพมหกรรมกีฬาซีเกมส์ไม่เพียงช่วยบรูไนในเรื่องของต่างประเทศ แต่ยังมีส่วนแก้ไขปัญหาทางสังคมและการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศด้วยเช่นกัน เนื่องจากความถดถอยทางเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดปัญหาต่อระบบสวัสดิการของประชาชน มีการยกเลิกเกณฑ์เงินเดือนพื้นฐานของทหารและลูกจ้างของรัฐ และยังมีปัญหาอาชญากรรมยาเสพติดรวมถึงลักขโมยโดยเยาวชนที่เพิ่มมากขึ้น


การสร้างกิจกรรมที่ทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมจึงเป็นเรื่องสำคัญของบรูไน โดยซีเกมส์ 1999 ถือเป็นพื้นที่ซึ่งเปิดให้เยาวชนได้หลุดออกจากสภาพแวดล้อมอันย่ำแย่และเพิ่มโอกาสในการตอบแทนสังคม มีรายงานว่าบรรดาอาสาสมัครที่ช่วยจัดงานซีเกมส์จำนวน 17,000 คน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนซึ่งมีบทบาทอย่างมากในงานพื้นที่เปิดและปิด รวมถึงการจัดการทั่วไปในสนามแข่งขัน

การเข้ามามีส่วนร่วมของผู้คนในสังคมต่อมหกรรมกีฬานานาชาติครั้งแรกของบรูไนย่อมมีส่วนในการสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาล ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังเข้ามา หากซีเกมส์ครั้งนี้ประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี ชาวบรูไนย่อมภูมิใจในชาติของพวกเขา นี่คือสิ่งที่สำคัญมากกับบรูไนในขณะนั้น

ซีเกมส์ 1999 จึงเป็นอีเวนต์ที่สำคัญต่อผู้คนในประเทศบรูไนอย่างแท้จริง และเมื่ออีเวนต์นี้จบลงอย่างประสบความสำเร็จ พร้อมกับได้รับคำชมไม่น้อยจากชาติสมาชิกอาเซียน และมีการยืนยันว่าชาวบรูไนรู้สึกว่าพวกเขาพร้อมกับการจัดมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติครั้งต่อไป ซึ่งอีกทางหมายความว่าชาวบรูไนมั่นใจในศักยภาพในประเทศของตน ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจและระบบสวัสดิการที่เกิดขึ้น


นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ บรูไน ยังไม่ได้กลับไปรับบทบาทเจ้าภาพมหกรรมกีฬาซีเกมส์เป็นครั้งที่สอง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักจากนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบันที่ไม่ได้ให้ความสำคัญทางด้านกีฬา แต่ความสำเร็จของซีเกมส์ในปี 1999 แสดงให้เห็นแล้วว่าบรูไนสามารถใช้อีเวนต์กีฬาพัฒนาประเทศได้มากเพียงใด ทั้งในแง่ของความเชื่อมั่นต่อนานาประเทศ, โอกาสทางเศรษฐกิจ และการยกระดับมาตรฐานของสังคม

 

แหล่งอ้างอิง

https://www.cambridge.org/core/journals/trans-trans-regional-and-national-studies-of-southeast-asia/article/eternal-friends-and-erstwhile-enemies-the-regional-sporting-community-of-the-southeast-asian-games/3455D9F70A541397668964B4323CCDD4
https://globalnation.inquirer.net/87155/waiting-for-aquino-in-brunei
หนังสือ Southeast Asian Affairs 2000 โดย ISEAS Publishing

Author

ณัฐนันท์ จันทร์ขวาง

Love is not blind – it sees more, not less.But because it sees more, it is willing to see less.

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น