Feature

มวยไทยไอยาริน : แอปพลิเคชั่น ไอเดียหญิงไทยที่อยากให้คนทั่วโลกเข้าถึงมวยไทยได้ง่ายขึ้น | Main Stand

เราได้มีโอกาสไถฟีดไปสะดุดพบกับ “Muaythai Iyarin” แอปพลิเคชั่นที่รวบรวมทุกเรื่องราวเกี่ยวกับมวยไทยเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ที่มาพร้อมกับสโลแกนว่า “The Next Weapon in Your Hands” 

 

อะไร คือ คำว่า “อาวุธเด็ดในมือคุณ ?” คำนี้สร้างความสงสัยให้กับเรา… 

ท่ามกลางโลกที่แข่งขันกันสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน ยังคงมีช่องว่างให้ธุรกิจต่าง ๆ ได้เข้าไปเปิดตลาดใหม่ ๆ หนึ่งในนั้นคงเป็นแอปพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องกับมวยไทยโดยเฉพาะนี่แหละที่เรายังไม่เคยเห็นมาก่อน…  

ความน่าสนใจคือผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชั่นที่เกี่ยวข้องกับมวยไทยโดยเฉพาะนี้เป็นผู้หญิง … เธอชื่อ ไอซ์-ไอยริน เดวา ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ซีแอทเทิล, สหรัฐอเมริกา

เมื่อเราได้พูดคุยกับเธอ เราจึงเพลิดเพลินไปกับแพชชั่นที่อยากเปลี่ยนแปลงโลกมวยไทย พร้อมสิ้นสงสัยเกี่ยวกับคำว่า “The Next Weapon in Your Hands” 

ความหลงรักมวยไทยของ ไอซ์-ไอยาริน ถ้าเปรียบกับนักกีฬาแล้ว เธออาจไม่ใช่นักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่ได้ก้าวไปเป็นนักกีฬาอาชีพ แต่ทุก ๆ จังหวะชีวิตของเธอเกี่ยวข้องกับมวยไทยไปเสียหมด

และทุกอย่างมันเริ่มต้นตั้งแต่ตอนที่เธอยังเป็นเด็ก…

 


Round 1 : จุดกำเนิดไอยารินเด็กน้อยหมัดตรง  

“ไอซ์เป็นหลานสาวคนเดียวและสนิทกับอากู๋ อากู๋เป็นคนที่บ้ามวย โดนใช้ให้ไปวิ่งซื้อหนังสือมวยให้อากู๋ตลอด ทุกวันเราก็จะได้เห็นหนังสือมวยจนมันเป็นชีวิตประจำวัน มันทำให้เราอยู่กับวงการมวยไปด้วยโดยปริยาย บางทีก็เบื่อบ้างตามประสาเด็ก แต่อากู๋ก็จะคอยซื้อขนมมาหลอกล่อ (หัวเราะ)” ไอซ์-ไอยาริน เดวา เริ่มเล่าเรื่องราวความผูกพันของเธอกับมวยในวัยเด็กให้เราฟัง ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้เธอรักมวยไทยและอยู่กับมันมาทั้งชีวิต 

เธอเกิดและเติบโตขึ้นในครอบครัวชนชั้นกลาง มีธุรกิจอยู่ที่ร้อยเอ็ด เป็นลูกสาวคนเดียวในบรรดาพี่-น้อง ที่เป็นชายล้วนทั้งหมด ด้วยความที่สูญเสียคุณพ่อไปตั้งแต่เด็ก ๆ ทำให้เธอเป็นหลานสาวสุดที่รักและหวงแหนของอากู๋ (คำเรียกน้องของแม่ในครอบครัวคนจีน) ที่มักพาเธอไปไหนต่อไหนด้วยเสมอโดยเฉพาะสนามมวย จนเธอเริ่มหลงใหลในกีฬามวยไทยอยู่เงียบ ๆ 

เวทีมวยชั่วคราวตามต่างจังหวัดคือสถานที่ที่เธอคุ้นเคย เช่นเดียวกับค่ายมวย แต่เธอไม่เคยได้ฝึกมวยอย่างจริงจังนักเพราะอากู๋ค่อนข้างหวงหลานสาวไม่อยากให้เสียโฉม เธอจึงได้แต่ใช้วิธีครูพักลักจำ 

“เราเหมือนโดนอากู๋บังคับให้ดูมวยอย่างเดียวแต่ไม่ได้ซ้อม เพราะว่าเขาจะกลัวว่าเราจะเสียโฉม ยุคนั้นมันยังไม่มีผู้หญิงฝึกมวย แล้วก็เข้าใจว่าอากู๋หวงเรา คือถ้าเกิดเราไปฝึกเนี่ยมันก็มีแต่ผู้ชาย ถ้าจะลงนวมกันมันต้องถึงเนื้อถึงตัว แต่เราชอบมวยไทยแล้ว เทคนิคมวยไทยมันโคตรเท่เลย” ไอยาริน เล่าถึงความหลังที่ไม่มีโอกาสฝึกซ้อมมวยไทยอย่างจริงจัง 

แต่ถึงแบบนั้น ไอยาริน ก็ไม่ได้ทำให้การเรียนรู้มวยไทยแบบครูพักลักจำของเธอเสียเปล่า ในวัยซาบซ่าสมัยอยู่ชั้นมัธยมต้น เธอและกลุ่มเพื่อนก็มีเรื่องมีราวกันตามประสาเด็ก ความที่เธอตัวเล็กและโดนเพื่อน ๆ ดูถูก เธอจึงใช้ท่าหมัดตรงที่เรียนรู้มาสอยเข้าลูกกระเดือกเพื่อนคนที่ตัวใหญ่ที่สุดอย่างจังจนลงไปกองกับพื้น วงทะเลาะวิวาทวันนั้นแตกทันที พร้อมกับกิตติศัพท์อันลือลั่นในโรงเรียนว่า 

“อย่าไปยุ่งกับยัยนั่นนะเว้ย มันเป็นมวย” ไอซ์ เล่าให้ฟังพร้อมกับเสียงหัวเราะ 

 

Round 2 : กำเนิดค่ายมวยไอยาริน 

โทนี เดวา เป็นคู่ชีวิตของ ไอซ์-ไอยาริน เขาเป็นอดีตนักมวยไทย ด้วยความที่ทั้งคู่รักมวยไทยเหมือนกันจึงเข้ากันได้เป็นอย่างดี ก่อนที่ในเวลาต่อมาเธอได้ย้ายไปใช้ชีวิตและทำงานที่เมืองซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่ออยู่ไปสักพักทั้งคู่จึงตัดสินใจเปิดธุรกิจที่ทั้งคู่รักนั่นคือ ค่ายมวยไทย 

“เราย้ายมาอยู่ที่อเมริกาเมื่อราว ๆ สัก 10 ปีก่อน ตอนนั้นสามีเปิดคอร์สสอนมวยไทยอยู่บ้างแต่ไม่ได้สอนจริงจัง เพราะมีธุรกิจร้านอาหาร เป็นบาร์ที่เขาเปิดกับคุณแม่ แต่ธุรกิจร้านอาหารมันเหนื่อย ใช้เวลาเยอะ เราคิดแล้วล่ะว่า ถ้าจะมีครอบครัว ไม่น่าเวิร์ก น่าจะดูแลครอบครัวลำบาก ถ้ามีลูกไม่รู้จะเลี้ยงลูกยังไงเลย” 

“ประจวบเหมาะว่า แลนด์ลอร์ด (เจ้าของที่ดิน) เขาขอเซ้งร้านเราไปเพื่อที่เขาจะขายที่ เราเลยตัดสินใจขาย ย้อนกลับไปคือตอนนั้นเมืองที่เราอยู่มันไม่มีคนไทยที่เป็นนักมวยเลย แล้วก็ค่ายมวยก็ไม่ได้เยอะ จุดนั้นทำให้เราและสามีเริ่มกลับมาจริงจังกับการทำค่ายมวยไทยเมื่อ 7 ปีก่อน” 

ในช่วงแรกไอซ์และสามียังไม่ทำค่ายมวยเป็นกิจจะลักษณะ เป็นเพียงการเปิดคอร์สสอนมวยไทย แต่เพราะการสอนที่ถูกใจผู้เรียน ทำให้เกิดการพูดกันแบบปากต่อปาก คนเริ่มขอมาเรียนด้วยเยอะขึ้น พวกเราจึงทำเป็นอาชีพหลักจนมีลูกศิษย์ในค่ายมวยไอยารินหมุนเวียนกันเข้ามาร่วม 3,000 คนในปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่เป็นคนทั่วไปที่ต้องการเรียนมวยไทยเพื่อการออกกำลังกาย

“กฎของเรามีบอกไว้เลยว่าเราจะไม่เหมือนฟิตเนสทั่วไปที่มาเอาเหงื่อออกไปแล้วก็จบ แต่คุณมาเรียนที่นี่คุณต้องเอาสกิลออกไปด้วย คุณต้องรู้รูปมวยว่าต้องยืนยังไงให้ถูกต้อง ต้องเข้าใจวิธีการใช้อาวุธและแก้อาวุธเป็น คนที่มาเรียนก็เลยเริ่มชอบ จากที่มาซ้อมเฉย ๆ ก็รู้เริ่มรู้และได้ออกกำลังกายไปในตัว บางคนเขาก็อยากท้าทายตัวเองค่ะ เขาก็ขอขึ้นชกจริง ที่นี่ (ซีแอตเทิล) จะมีจัดแข่งขันสำหรับมือสมัครเล่นโดยเฉพาะ ผู้ชนะจะได้ครั้งละ 50 เหรียญ บางคนเป็นหมอ เป็นทนาย ก็อยากท้าทายตัวเองขึ้นชกเหมือนกัน แต่กว่าจะขอขึ้นชกได้ ก็ต้องผ่านบททดสอบของเราด้วยนะ เราก็จะมีเกณฑ์ว่าคุณพร้อมที่จะไปชกแล้วหรือยัง” ไอซ์ เล่าต่อ 

จุดเปลี่ยนสำคัญทั้งหมดเริ่มจากโรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้ทั้งคู่ไม่สามารถเปิดคลาสการเรียนการสอนได้ตามปกติ ท่ามกลางความต้องการของลูกศิษย์ในค่ายที่ยังต้องการฝึกฝนเรียนรู้ ไอซ์-ไอยาริน และสามี โทนี เดวา จึงได้ไอเดียว่า มวยไทยมันควรเข้าถึงทุก ๆ คนได้ง่ายขึ้น 

 

Round 3 : อาวุธเด็ดในมือ

“มีลูกศิษย์มาถามว่าจะขยายสาขาไหม เขาต้องย้ายไปทำงานที่อื่นแล้วยังอยากเรียนที่นี่อยู่ มันก็มีคำถามแบบนี้เข้ามาเรื่อย ๆ ตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้ว่าต้องทำยังไงดี เราไม่อยากขยายสาขา กลัวคุมคุณภาพไม่ได้ ต้นทุนก็สูงขึ้น แต่ก็อยากให้ทุกคนได้เรียนกับเรา” ไอซ์-ไอยาริน เล่าต่อ 

“ทีนี้เรามีลูกศิษย์ที่ทำงานในองค์กรสายเทคโนโลยีด้วย เลยคุยกับเขาแล้วได้ไอเดียว่า เราควรทำแอปพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับมวยไทยขึ้นมา” 


แรกเริ่มเดิมที แอปพลิเคชั่นมวยไทยไอยาริน อาจมีจุดเริ่มต้นที่แนวคิดที่อยากให้ใครก็ได้เข้ามาเรียนรู้ฝึกฝนมวยไทย แต่เมื่อมองให้ลึกไปกว่านั้น ไอซ์-ไอยาริน พบว่ามีอีกหลายเรื่องราวเกี่ยวกับมวยไทยที่ผู้คนยังเข้าไม่ถึงหรือเข้าถึงได้ยาก เช่น ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม รวมถึงข่าวสารต่าง ๆ ไปจนถึงการถ่ายทอดสด จึงต้องการให้แอปพลิเคชั่นนี้ เป็นศูนย์รวมครบวงจรเรื่องมวยไทย   

“เมื่อเราเริ่มทำแอปพลิเคชั่นเราไม่ได้ต้องการให้มันเป็นแค่คลาสเรียนรู้ฝึกสอนมวยไทย แต่ต้องมีคอนเทนต์ มีข่าวสาร มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ตลอดจนกฎกติกา ข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับมวยไทย ทั้งหมดเราจะเอามาไว้ในนี้และเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดเพื่อรองรับการเข้าถึงของคนทั่วโลก” 

“นั่นทำให้มีผู้คนเข้าถึงเราจากเกือบ 140 ประเทศทั่วโลก และหลังจากเปิดมาเกือบ 1 ปีก็มีผู้ใช้งานในปัจจุบันกว่า 30,000 คน”  

ฟีเจอร์เด่นในแอปพลิเคชั่นนี้นอกจากจะมี Muaythai Guide ที่เป็นเสมือนคลังข้อมูลให้กับผู้ที่สนใจข่าวสารมวยไทย ยังมี Muaythai Timer ออกแบบมาเพื่อซ้อมมวยไทยโดยเฉพาะ ซึ่งสามารถใช้งานได้ฟรี และในอนาคตพวกเรายังเตรียมเพิ่มฟีเจอร์เด็ดในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้อย่าง

♦ E-Commerce Marketplace ให้คนทั่วโลกสามารถซื้ออุปกรณ์มวยไทยกันผ่านทางช่องทางนี้
♦ พื้นที่หางาน เนื่องจากมีครูมวยไทยจำนวนมากที่ต้องการแสวงหาโอกาสไปสอนมวยไทยตามยิมต่าง ๆ ทั่วโลก 
♦ Broadcast Pay-Per-View ดูมวยผ่านแอปพลิเคชั่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าของวงการมวยไทยทั้งไทยและต่างประเทศ 

สิ่งเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้ภาคธุรกิจเติบโตแบบไร้ขีดจำกัด ช่วยผลักดันธุรกิจมวยไทยรุกตลาดโลกเต็มตัว ด้วยเทคโนโลยี AR-AI และ Blockchain ที่จะช่วยให้ผู้คนได้รับรู้ข่าวสารมวยไทยทั้งในไทยและต่างประเทศมากขึ้น, การซื้อ-ขายสินค้าก็เป็นไปได้ง่ายดายขึ้น แถมมีการถ่ายทอดสดมวยไทยไปทั่วโลกเพื่อรองรับวิถีของชีวิตยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ กลายเป็นอาวุธเด็ดจากปลายนิ้วของเราที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมมวยไทย 

ณ จุด ๆ นี้ผู้เขียนสิ้นข้อสงสัยกับสโลแกนของแอปพลิเคชั่นนี้แล้ว… 

 

Round 4 : แพชชั่นของมวยไทยไอยาริน  

ไอซ์-ไอยาริน เล่าย้ำอีกครั้งว่าชีวิตของเธออยู่กับมวยไทยมาตลอดโดยเฉพาะมวยไทยระดับภูธร และในวันที่เธอรับรู้ปัญหา (Pain Point) ของวงการมวยไทย ประจวบเหมาะกับจุด ๆ หนึ่งของชีวิตที่เริ่มพร้อมและมั่นคง มันยิ่งทำให้เธออยากมีส่วนช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโตขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“อย่างการที่เราจะเพิ่มฟีเจอร์ Broadcast Pay-Per-View (เป็นลักษณะการจ่ายเงินต่อครั้งเพื่อชมการถ่ายทอดสดมวยไทย) เพราะเราเพื่ออยากช่วยมวยภูธร ส่วนมวยใหญ่ (ราชดำเนิน-ลุมพินี) พวกเขาเผยแพร่กันผ่านฟรีทีวีอยู่แล้ว ส่วนมวยระดับล่าง ๆ อย่างมวยภูธรในต่างจังหวัดจะมีรายได้จากการขายตั๋วและสปอนเซอร์ ซึ่งปัจจุบันพวกเขาจัดมวยไม่ได้ เพราะไม่มีคนดู สปอนเซอร์ก็ไม่มีอีก ถ้าจัดไม่ได้พวกเขาก็ต้องเลิก เวลาเราเห็นนักมวยเลิกชกหรือค่ายมวยเลิกทำแล้วมันรู้สึกใจหาย” 

“งานใหญ่เขายังจัดได้อยู่ แต่ต้นกล้ามวยไทยที่อยู่รอบประเทศเรามันไม่แข็งแรง เราเลยอยากจะสร้าง Pay-Per-View ขึ้นมา เพื่อให้สามารถจัดมวยภูธรได้เหมือนเดิม คนไทยก็ได้ดูมวย ต่างชาติก็ได้ดูด้วย”  

“ที่เราทำมาทั้งหมดนี้เพราะเรากลัวว่ามวยไทยมันจะสูญพันธุ์ ฝรั่งเขามีแพชชั่น เวลาทำอะไรทำจริง และเขามีความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยี เรื่องการตลาด ถ้าธุรกิจนี้ไม่ใช่คนไทยทำเราอาจโดนชาวต่างชาติครอบงำธุรกิจมวยไทยไปทั้งหมดก็ได้”  

ไอซ์-ไอยาริน รู้ดีว่าธุรกิจของเธอไม่อาจผลักดันให้วงการมวยไทยดีขึ้นไปเสียทั้งหมด มันอาจเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งแต่สิ่งสำคัญมันยังจำเป็นต้องมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกื้อหนุนกัน โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ แต่เธอก็หวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมมวยไทยก้าวไปข้างหน้าได้ 

“ถ้าเราไม่อยากเสียอัตลักษณ์ของเราไป เราคนไทยต้องช่วยเหลือกัน” เจ้าของ แอปพลิเคชั่นมวยไทยไอยาริน กล่าวทิ้งท้าย  

 

Author

กฤติกร ธนมหามงคล

Executive Editor

Photo

วัชพงษ์ ดวงแปง

Main Stand's Backroom staff

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น