Feature

แมนนี่ ปาเกียว : ฮีโร่บนสังเวียน แต่อาจไม่ใช่ในสภา ... สำหรับชาวฟิลิปปินส์ | Man Stand

 

แมนนี่ ปาเกียว น่าจะเป็นนักกีฬาอาเซียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จากตำนานต่าง ๆ ที่เขาฝากฝังไว้ในวงการมวย 

 


ยอดนักชกฟิลิปปินส์ คือไอคอนของผู้คนทั้งประเทศ ทุกคนรักเขาในฐานะนักมวย และตัวปาเกียวเองก็พยายามจะต่อยอดความนิยมนี้มาผลักดันตัวเองให้ก้าวหน้าทางสายการเมือง และหวังถึงขั้นการเป็น ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ เลยด้วยซ้ำ 

มองเผิน ๆ คนอย่าง ปาเกียว ที่คนรักทั้งประเทศน่าจะมีโอกาสชนะในการเลือกตั้ง แต่จากคะแนนความนิยมล่าสุดดูเหมือนจะไม่เป็นอย่างที่คิด

ทำไมจึงเป็นแบบนั้น มีเหตุผลอะไรที่ทำให้ ปาเกียว อาจไม่ประสบความสำเร็จบนเวทีการเมืองอย่างที่หวัง ? ติดตามได้ที่ Main Stand 

 

ทำไม ปาเกียว จึงอยากเป็นนักการเมือง ? 

"ผมเป็นนักสู้ และผมจะสู้ทั้งในและนอกสังเวียน" นี่คือสิ่งที่ แมนนี่ ปาเกียว แชมป์โลกมวยสากล 8 รุ่น เคยกล่าวเอาไว้เมื่อปี 2013 ซึ่ง ณ ปีนั้นคือจุดเริ่มต้นที่เขาเริ่มหันหน้าจากสังเวียนมวยสู่เวทีสภาในฐานะนักการเมืองของประเทศ

เราคงไม่ต้องพูดอะไรเยอะว่า ปาเกียว ได้รับคะแนนนิยมมากมายขนาดไหนจากชาวฟิลิปปินส์ เขาคือนักกีฬาผู้สร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก และยืนระยะในเวทีในฐานะผู้สวมเข็มขัดแชมป์ยาวนานเกือบ 20 ปี 

มันเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ว่าเสียงของนักกีฬานั้นน่าฟังและน่าดึงดูดใจยิ่งกว่าเสียงนักการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักกีฬาระดับโลกอย่าง ปาเกียว นั้นเรียกได้ว่ามีคะแนนนิยมมากกว่านักการเมืองทุกคนในประเทศอย่างแน่นอน เหตุผลก็เพราะเมื่อคุณเป็นนักการเมืองมันจะถึงเวลาที่คุณต้องเลือกข้าง ทันทีที่คุณเลือกเป็นมิตรกับฝั่งใดฝั่งหนึ่ง อีกฝั่งหนึ่งก็จะกลายเป็นศัตรูกับคุณไปโดยปริยาย ณ นาทีนั้น 

สิ่งที่น่าสนใจคือ ทำไม ปาเกียว จึงต้องเอาชื่อเสียงตัวเองที่คน 100% ชื่นชม เอามาใช้ในทางการเมืองซึ่งจะทำให้เสียงที่เคยชื่นชมอาจหายไปถึง 50% … เรื่องนี้ ปาเกียว เคยเล่าถึงความตั้งใจว่า ชีวิตของเขามีจุดเริ่มต้นคล้ายชาวฟิลิปปินส์อีกหลายล้านคน กล่าวคือเป็นการเติบโตมาพร้อมกับความยากจน ภายใต้การไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้มีอำนาจ 

ดังนั้นเมื่อเขามาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด มีอำนาจ ชื่อเสียง และเงินทอง เขาคิดว่าตัวเองได้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างมาไม่น้อยและต้องการจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนรากหญ้าให้ได้มีลู่ทางลืมตาอ้าปากยิ่งกว่าที่คนรุ่นเขาเคยประสบพบเจอมาก่อน 

พื้นเพความยากจนของ ปาเกียว นั้นมีหลายส่วนที่เขาเห็นว่ามันผิดไปจากที่ควรจะเป็น เช่น เขาต้องออกจากโรงเรียนมาดิ้นรนสู้ชีวิตที่กรุงมะนิลา เมืองหลวง ตอนอายุ 14 ทางเดียวที่เขาจะรอดตายจากความอดยากคือการเสียสละตัวเองเพื่อก้าวขึ้นมาเป็นยอดนักมวยให้ได้ เพราะขาดพื้นฐานในชีวิตทุกด้าน เขาไม่สามารถไปทำงานในที่ที่มีค่าตอบแทนสูง ๆ ได้เลยในสภาวะที่ไร้การศึกษาเช่นนั้น 

นั่นคือสิ่งที่เขาบอก และหากเราลองวิเคราะห์เหตุผลประกอบกัน คือการเป็นนักกีฬานั้นคืออาชีพที่ไม่สามารถทำเงินหรือสร้างชื่อเสียงให้กับเขาไปได้ตลอด เมื่อวันหนึ่งเขาเลิกชกมวยการถูกพูดถึงก็จะน้อยลงไปตามธรรมชาติ ดังนั้นหากเขาไม่เอาความนิยมที่มีไปต่อยอดในด้านไหนสักทาง ก็ดูจะเป็นการเสียโอกาส และอาจจะทำให้บั้นปลายชีวิตต้องมาตกระกำลำบากเหมือนอดีตนักกีฬาดังหลาย ๆ คน

นอกจากนั้นนักกีฬายังเป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตัวเองเยอะมาก ต้องควบคุมอาหารการกิน ต้องอยู่ห่างบ้านไกลเมือง ต้องฝึกซ้อมหามรุ่งหามค่ำ วนไปอยู่อย่างนั้น มันค่อนข้างสวนทางกับวิถีชีวิตของมนุษย์โลกปัจจุบันที่มีความสุขกับการใช้ชีวิตที่ได้ทำตามสิ่งที่ตัวเองชอบ อยากกินก็ได้กิน อยากนอนก็ได้นอน อยากจะพักผ่อนก็ทำได้เต็มที่ ... ซึ่งแน่นอนว่านักการเมือง (บางส่วน) สามารถทำเช่นนั้นได้ 

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลในแง่บวกหรือแง่ลบ ทั้งหมดไม่สำคัญ เพราะเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม แมนนี่ ปาเกียว ก็เดินหน้าสู่สนามการเมืองแบบที่เขาเคยพูดมาตลอด 

 

ท่านสมาชิกวุฒิสภาแห่งฟิลิปปินส์ 

"เพื่อพระเจ้าและคนจน" คือปรัชญาทางการเมืองที่ แมนนี่ ปาเกียว กล่าวตอนที่เขาหาเสียงในการลงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งฟิลิปปินส์เมื่อปี 2007 ซึ่งในตอนนั้นเจ้าตัวประสบความพ่ายแพ้ โดยคู่แข่งทางการเมืองของเขาถึงกับเคยกล่าวว่า "คนฟิลิปปินส์ยังไม่พร้อมที่จะสูญเสียไอคอนนักชกเช่นเขาไป"

ถึงกระนั้น ปาเกียว ก็หาได้ถอดใจไม่ เจ้าตัวลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. อีกครั้งในปี 2010 ก่อนที่เขาจะชนะการเลือกตั้งจนได้ และดำรงตำแหน่งถึง 2 สมัย ก่อนเบนเข็มมาลงสมัครสมาชิกวุฒิสภาและได้รับการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 

หลังจากได้ตำแหน่ง ปาเกียว ใช้เงินของตัวเองเป็นทุนสนับสนุนโครงการพัฒนาที่จำเป็นอย่างยิ่งในฟิลิปปินส์ทั้งด้านกีฬาและการศึกษาอย่างที่เขาบอกจริง รวมถึงเป็นกระบอกเสียงในการผ่านกฎหมายจำนวนไม่น้อย จนรักษาฐานเสียงจากคนรากหญ้าได้อย่างต่อเนื่องในช่วงแรก แต่นักวิจารณ์ด้านการเมืองของฟิลิปปินส์ก็ออกมาให้ความเห็น ณ เวลานั้นว่า สิ่งที่ ปาเกียว ทำกำลังเป็นการเสี่ยงดวงของเขาเอง

ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ อย่าง วินนี่ มอนซอด ก็บอกว่า แนวทางการเล่นการเมืองของ แมนนี่ ปาเกียว นั้นอาจจะสวยแต่รูปจูบไม่หอม เพราะทั้ง ๆ ที่ปากของเขาว่าตาของเขาก็ขยิบ เมื่อนักการเมืองที่เขาร่วมงานด้วยต่างก็เป็นที่เบื่อหน่ายของชาวฟิลิปปินส์และขึ้นชื่อเรื่องการทุจริตมาตลอดในช่วงหลายปีหลัง 

ขณะที่ ราฟ บาร์โธโลมิว นักข่าวสายมวยของ The Athletic เขียนในบทความวิเคราะห์เรื่องของปาเกียวกับการเมืองว่า "การเมืองจะเพิ่มโชคชะตาและวาสนา แต่ก็จะทำให้คะแนนนิยมของเขาตกลงไปเช่นกัน" (increase his fortune while destroying his reputation)

ทุกอย่างก็เป็นไปตามศาสตราจารย์ วินนี่ มอนซอด และนักข่าวอย่าง ราฟ บาร์โธโลมิว วิเคราะห์ไว้ เมื่อเวลาผ่านไป ปาเกียว ก็ต้องเผชิญกับสิ่งใหม่ ๆ ที่เขาไม่เคยเจอ นั่นคือการโดนชาวฟิลิปปินส์ตั้งคำถามกับสิ่งที่เขาพูด และไม่พอใจกับนโยบายของเขา 

ในปี 2016 ปาเกียว เคยกล่าวโจมตีกลุ่ม LGBTQ+ ว่า "หากผู้ชายจับคู่กับผู้ชายและผู้หญิงจับคู่กับผู้หญิง พวกเขาก็แย่กว่าสัตว์" จุดชนวนเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรงในฟิลิปปินส์ขึ้น และทำให้ ไนกี้ ผู้สนับสนุนรายใหญ่ของปาเกียว ตัดสินใจยกเลิกสัญญากับยอดมวยฟิลิปปินส์ทันที แม้ว่าเจ้าตัวจะออกมาขอโทษในภายหลังก็ตาม

นี่คือตัวอย่างคร่าว ๆ ในชีวิตนักการเมืองของ ปาเกียว เขาสูญเสียความนิยมส่วนตัวไปบ้าง และต้องเจอกับการค้านของชาวฟิลิปปินส์ที่เขาไม่เคยเจอ แต่อย่างไรก็ตามภายใต้การอยู่ฝั่งเดียวกับ โรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ ที่ได้รับความนิยมจากประชาชนในประเทศเป็นอย่างดีจากนโยบายปราบปรามยาเสพติด ก็ทำให้เขายังรักษาพื้นที่อำนาจเอาไว้ได้

แม้ ดูแตร์เต จะโดนวิจารณ์จากต่างชาติมากมาย แต่ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนฟิลิปปินส์โดยหน่วยงาน Social Weather Stations เมื่อเดือนเมษายน ปี 2017 ชี้ว่า ชาวฟิลิปปินส์พอใจในรัฐบาลของประธานาธิบดีดูแตร์เตสูงถึงร้อยละ 75 

ซึ่งแน่นอนว่าการที่ ปาเกียว อยู่ฝั่งเดียวกับ ดูแตร์เต ในสังกัดพรรค PDP-Laban นั้นก็ยังทำให้เส้นทางการเมืองของเขาสดใส มีโอกาสจะก้าวหน้าไปในตำแหน่งที่สูงขึ้น

มันควรจะเป็นการจับคู่ที่ไร้เทียมทาน 1 นักกีฬาที่เป็นขวัญใจของคนทั้งประเทศ กับประธานาธิบดีที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ... หลายคนมองอนาคต ปาเกียว ว่าจะได้รับการกรุยทางรอให้เขาขึ้นเป็นประธานาธิบดี

ทว่าเรื่องดังกล่าวก็ไม่เกิดขึ้น เพราะการเมืองไม่เคยมีมิตรแท้และศัตรูถาวรอยู่แล้ว 

 

ลงจากหลังเสือ สู่จุดเริ่มต้นของมวยรอง 

เชื่อว่าหลายท่านก็รู้ ๆ กันอยู่ว่าวงการนี้เต็มไปด้วยผลประโยชน์และการชิงเหลี่ยมกันตลอดเวลา เพื่อจะได้สัมผัสรสชาติของการเป็นผู้ชนะ และนี่อาจจะเป็นเรื่องที่ ปาเกียว ต้องเสียสายสัมพันธ์กับ ดูแตร์เต ที่เขารักษามาตลอดช่วงหลายปีหลัง 

ผลประโยชน์ข้อนี้อ้างอิงมาจากเรื่องการเปลี่ยนตัวแคนดิเดตผู้ท้าชิงตำแห่งประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ ในปี 2022 เพราะตามรัฐธรรมนูญของฟิลิปปินส์ อนุญาตให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้เพียงสมัยเดียว ระยะเวลาสูงสุด 6 ปี และหากดำรงตำแหน่งมาแล้วเกิน 4 ปี ก็จะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งอีกสมัยได้ ดังนั้น ดูแตร์เต ต้องส่งไม้ต่อให้คนถัดไป 

แรกเริ่มคนที่สื่อคาดการณ์กันไว้คือ แมนนี่ ปาเกียว ทว่าเมื่อการเลือกตั้งใกล้เข้ามาถึง ดูแตร์เต กลับแสดงท่าทีจะหนุนหลัง ซารา ดูแตร์เต–คาร์ปิโอ ลูกสาววัย 43 ปีของตัวเองแทน เพื่อหลบเลี่ยงปัญหาที่เขาอาจจะต้องเผชิญหลังลงจากตำแหน่งไปแล้ว 

การตัดสินใจของ ดูแตร์เต สร้างความไม่พอใจให้กับ ปาเกียว เป็นอย่างมาก แต่นี่คือการสอนมวยปาเกียวบนเวทีทางการเมืองอย่างแท้จริง ดูแตร์เตถึงกับเคยด่าปาเกียวว่า "โง่" ที่กล้าตั้งตัวเป็นศัตรูกับเขามาแล้ว ซ้ำร้ายปาเกียวยังต้องช้ำหนักเมื่อสมาชิกพรรคหลายคนเห็นด้วยและยังเชื่อฟังดูแตร์เตอยู่ จึงทำให้มีสมาชิกจำนวนไม่น้อยร่วมมือกับดูแตร์เตในการสกัดกั้นปาเกียวไม่ให้ลงชิงตำแหน่ง 

ทว่าสิ่งที่ยิ่งกว่านั้นก็เกิดขึ้นอีก เมื่อมีการเปลี่ยนแคนดิเดตประธาธิบดีของฝั่งดูแตร์เตอีกครั้ง ด้วยการเปิดตัว "บองบอง" เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ บุตรชายของอดีตประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้นำเผด็จการที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต ขโมยเงินประเทศไปหลายพันล้านดอลลาร์จนประชาชนลุกฮือและต้องสละอำนาจเมื่อปี 1986 

แม้จะมีชื่อเสียงด้านลบของผู้เป็นพ่อ แต่ มาร์กอส จูเนียร์ ก็ยังได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดอิโลคอส นอร์เต บ้านเกิดของบิดา ก่อนจะได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปี 2010 และกลายเป็นนักการเมืองที่ได้รับความนิยมอย่างมากทางตอนเหนือของฟิลิปปินส์ 

เมื่อ มาร์กอส จูเนียร์ จับคู่กับ ซารา ดูแตร์เต–คาร์ปิโอ ผู้ได้ความนิยมทางตอนใต้ของประเทศที่ลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ ปาเกียว กลายเป็นมวยรองไปในทันที 

"ผมเป็นนักสู้ และผมจะสู้ทั้งในและนอกสังเวียน" ปาเกียว ต้องกล่าวคำนี้อีกครั้งในวันที่เขาประกาศตัวเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี 

ณ เวลานี้คะแนนนิยมจากโพลสำรวจของเขาตามหลัง มาร์กอส จูเนียร์ แบบไม่เห็นฝุ่น ยิ่งเขาถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตีเรื่องการขาดความรู้ด้านกฎหมายและการศึกษา ยิ่งทำให้ ปาเกียว เสียคะแนนนิยมลงไปอีก และไม่ว่า มาร์กอส จะชนะหรือไม่ แต่โอกาสของ ปาเกียว แทบปิดลงไปแล้วตั้งแต่การเลือกตั้งจริงยังไม่มาถึง

จากทั้งหมดที่เกิดขึ้นคงจะบอกได้ว่า การก้าวข้ามสถานะจากนักกีฬามาสู่การเป็นนักการเมืองนั้นไม่ได้การันตีความสำเร็จ 100% ต่อให้ได้รับคะแนนนิยมจากคนทั้งประเทศ เพราะการเมืองนั้นลึกลับซับซ้อนยิ่งกว่านั้นเยอะ มันจำเป็นต้องอาศัยทั้งประสบการณ์ คอนเน็กชั่น และเรื่องของอำนาจวาสนาก็มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งนั้น 

นี่คือสิ่งที่ แมนนี่ ปาเกียว ต้องเรียนรู้ เขายังใหม่มากในวงการการเมือง แต่ก็ใช่ว่าโอกาสด้านการเป็นประธานาธิบดีของเขาจะปิดตายไปตลอดกาล เพราะอย่างที่ได้กล่าวเอาไว้ การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร 

ยกตัวอย่างเช่นคนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเวลานี้อย่าง บองบอง ก็เคยแพ้เลือกตั้งประธานาธิบดีมาก่อน หรือจะยกตัวอย่างจากนักกีฬาที่ได้เป็นประธานาธิบดีของประเทศอย่าง จอร์จ เวอาห์ ตำนานนักเตะทีมชาติไลบีเรีย ซึ่งในรายนี้ก็ใช้เวลาอยู่ในเวทีการเมืองมานานและเคยแพ้เลือกตั้งมาแล้วเช่นกัน ก่อนที่เขาจะได้รับตำแหน่ง ณ ปัจจุบันนี้ 

ทั้งหมดคือเรื่องราวอันแสนซับซ้อนและชิงเล่ห์ชิงเหลี่ยมกันแบบวินาทีต่อวินาทียิ่งกว่าการชกมวย ... และนี่เป็นสิ่งที่ ปาเกียว จะเอาความผิดหวังครั้งนี้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในอนาคตได้แน่นอน 

 

แหล่งอ้างอิง 

https://bleacherreport.com/articles/1178598-manny-pacquiao-why-pacquiaos-political-dreams-have-derailed-his-career
https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2021-09-26/manny-pacquiao-isn-t-the-president-the-philippines-needs
https://www.theguardian.com/world/2021/sep/19/boxing-legend-manny-pacquiao-to-run-for-president-of-philippines
https://prachatai.com/journal/2021/08/94615
https://thestandard.co/manny-pacquiao-and-former-political-ally/
https://bleacherreport.com/articles/811967-a-brief-look-at-manny-pacquiaos-political-career
https://www.bangkokbiznews.com/blogs/world/988779

Author

ชยันธร ใจมูล

นักเขียนลูกสอง จองเรื่องฟุตบอลและมวยโลก รู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เขียนแล้วอินทุกเรื่อง

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ