ย้อนไปในอดีตช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา การประกวดดนตรีถือว่าเป็นโอกาสสำคัญของผู้ที่รักในเสียงเพลงทุกคน ที่หวังจะก้าวขึ้นมาเป็นศิลปินอาชีพ มีเวทีประกวดประชันความสามารถมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งระดับประเทศไปจนถึงระดับท้องถิ่น
อย่างไรก็ตามในโลกยุคปัจจุบันการจะเป็นศิลปินง่ายกว่าในอดีตมาก ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาล้ำหน้า ทำให้ผู้ที่รักในเสียงเพลงไม่จำเป็นต้องรอคอยโอกาสจากการประกวด เพื่อหวังทำผลงานให้เข้าตาค่ายเพลงจนได้รับสัญญาเป็นศิลปินในการออกเพลงเป็นของตัวเองอีกต่อไป
ทุกคนสามารถเริ่มทำเพลงได้จากที่บ้าน ขอแค่มีอุปกรณ์และโปรแกรมต่าง ๆ ที่พร้อม การมีผลงานออกมาก็ไม่ใช่เรื่องยาก ประกอบกับยุคปัจจุบันที่มีแพลตฟอร์มจำนวนมากให้ได้ปล่อยเพลงไปสู่สาธารณชน ทำให้ความสำคัญของการประกวดค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ และคนรักในเสียงเพลงรุ่นใหม่ หันมาเน้นทำเพลงด้วยตัวเองมากกว่าจะโฟกัสไปกับการแข่งขันตามเวทีต่าง ๆ
ทุกอย่างเปลี่ยนไปเป็นวัฏจักร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในปัจจุบันเวทีประกวดดนตรีจะไร้ความสำคัญไปทั้งหมด เพราะถึงจะเข้าสู่ยุคสมัยที่ศิลปินไม่ต้องพึ่งพาเวทีประกวดเพียงอย่างเดียวในการก้าวเป็นศิลปินอาชีพ แต่การจัดแข่งขันประกวดดนตรีก็ยังคงเกิดขึ้นทั่วโลกในหลายรูปแบบ มีหลายการแข่งขันที่ได้รับการยอมรับและความสนใจจากคนรักเสียงเพลงอยู่เสมอ
แม้ทุกคนจะทำเพลงได้ที่บ้านของตัวเอง แต่การเป็นศิลปินเพลงที่ดีต้องมีการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งเวทีประกวดดนตรียังคงตอบโจทย์ในจุดนี้ เพราะนี่คือพื้นที่ซึ่งมอบโอกาสให้ศิลปินได้เจอผู้คนที่มีแพชชั่นเดียวกัน ต่อสู้แข่งขันเพื่อเอาชนะขีดจำกัดของตัวเอง
ด้วยความสำคัญของการประกวดดนตรีที่ยังคงอยู่ แต่ในปัจจุบันสังคมดนตรีในประเทศไทย เริ่มมองข้ามความสำคัญของการแข่งขันดนตรีอย่างจริงจัง ที่ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อแค่ชิงเงินรางวัล แต่เป็นการแข่งขันเพื่อหวังสร้างโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของศิลปินรุ่นใหม่
ทำให้ คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย จับมือกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดประกวดดนตรีสุดยิ่งใหญ่แห่งปี “THE POWER BAND” เวทีประกวดวงดนตรีสากลสมัยนิยมผสมเครื่องเป่า ประจำปี 2564 เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินรุ่นใหม่ได้มีโอกาสแสดงความสามารถ เรียนรู้ และพัฒนาตัวเองผ่านเวทีการแข่งขันนี้
“เวที THE POWER BAND เรียกได้ว่าเป็นเวทีที่มีความท้าทายอย่างมากเวทีหนึ่งเนื่องจากมีโจทย์ให้ผู้เข้าแข่งขันได้ท้าทายความสามารถ ต้องแต่งเพลงเอง เพื่อมุ่งเน้นเรื่องการสร้างสรรค์ ขณะที่เวทีอื่นไม่ได้บังคับ รวมไปถึงการเล่นเครื่องเป่าผสมผสานกับวงดนตรีสมัยนิยมไม่ใช่เรื่องง่าย เครื่องเป่าเกิดมาจากวงโยธวาทิต เน้นการอ่านโน้ตเป็นหลัก แต่วงดนตรีใช้หูแกะเพลง ซึ่งต้องใช้สกิลที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงต้องอาศัยการวางตัวโน้ต การเรียบเรียง และความพร้อมเพรียงในการเล่นร่วมกัน ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายสำคัญของเวทีนี้ คือ เน้นการสร้างสังคม รูปแบบการสร้าง Collaboration ระหว่างเด็กวงโยธวาทิต กับเด็กดนตรีสากล และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ให้เกิดการทำงานและเล่นดนตรีร่วมกัน มากกว่าเป็นเพียงแค่การจัดงานอีเว้นท์”
ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนักประพันธ์ระดับโลกรางวัลThe Charles Ives Awards สาขาการประพันธ์เพลง ในฐานะตัวแทนผู้ร่วมจัด THE POWER BAND กล่าว
การประกวดในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากมิวสิคกูรูแถวหน้าของเมืองไทยจากหลากหลายสาขาอาชีพ ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน นำโดย นักปั้นศิลปินแถวหน้าของเมืองไทย นิค-วิเชียร ฤกษ์ไพศาล ผู้ก่อตั้งค่ายเพลง Genie Records รวมถึงโปรดิวเซอร์มือทอง พล-คชภัค ผลธนโชติ ผู้บริหารค่ายเพลง Boxx Music อีกทั้ง ประสบการณ์ชั้นครูของ เช่-อัคราวิชญ์ พิริโยดม นักดนตรีวง The Richman Toy และหัวหน้าสาขาวิชาดนตรีสมัยนิยม มหาวิทยาลัยมหิดล, โอ-ทฤษฎี ศรีม่วง นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ มิวสิกไดเรกเตอร์ แห่งวง Jetset’er และโปรดิวเซอร์นักแต่งเพลงมือฉมัง ฟองเบียร์-ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท มิวซิกมูฟ จำกัด มาร่วมค้นหาสุดยอดวงดนตรีหน้าใหม่ในครั้งนี้
“ทุกการสร้างสรรค์งานดนตรีเริ่มจากการเรียนรู้จากต้นแบบ ต้องมั่นฝึกฝน แกะเพลงให้เยอะๆ ใช้ระยะเวลา 10 ปีเป็นอย่างต่ำกว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง อาทิ BodySlam, Labanoon, Clash และ KALA ล้วนผ่านเวทีประกวดมาแล้วทั้งสิ้น” นิค-วิเชียร ฤกษ์ไพศาล ผู้ก่อตั้งค่ายเพลง Genie Records กล่าว
“แต่พื้นที่แสดงความสามารถของเด็กไทยทางดนตรีในรูปแบบเวทีการประกวดในปัจจุบันกลับน้อยลงทุกวัน ถือเป็นโอกาสดีมาก ๆ ของคนในแวดวงดนตรีที่เวที THE POWER BAND จะมาสร้างพลังและสานต่อความฝันพร้อมสร้างความคึกคักให้วงการดนตรีอีกครั้ง เพราะเป็นเวทีประกวดที่มีการส่งเสริมอย่างจริงจัง เน้นวงดนตรีที่มีการสร้างสรรค์ และความสามารถเชิงทฤษฎีที่ถูกต้อง”
“ความแข็งแรงของเวทีนี้ คือ ผู้จัดงานมีเป้าหมายที่ชัดเจน” พล-คชภัค ผลธนโชติ ผู้บริหารค่ายเพลง Boxx Music กล่าว
“ทั้งกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ที่มีนโยบายในการสนับสนุนคนไทยด้านดนตรีมาอย่างต่อเนื่อง และ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เป็นเบอร์ต้น ๆ ของประเทศในการผลิตคนคุณภาพทางดนตรีออกสู่อุตสาหกรรมเพลงไทย นี่คือโอกาสครั้งใหญ่ ขอให้น้อง ๆ เตรียมตัวมาให้พร้อม เวทีประกวดให้สิ่งดี ๆ กลับไปเสมอ ไม่ว่าจะแพ้ หรือชนะ อย่างน้อยก็ได้ชนะตัวเอง เพราะเล่นตามโจทย์ที่ได้ฝึกซ้อมมา ทั้งนี้ ที่สุดของการเป็นศิลปิน ไม่อยากให้มองแค่ความสวยหรู ว่าจะเป็นศิลปินที่อยู่เบื้องหน้าอย่างเดียว แต่ดนตรีอยู่ในทุกบทบาทที่สามารถทำได้หลายอาชีพ รวมไปถึงการทำงานเบื้องหลัง เช่น นักแต่งเพลง วิศวกรเสียง ตลอดจนช่างเทคนิคที่ดูแล ทดสอบ และเตรียมเครื่องดนตรีบนเวทีให้กับศิลปิน”
ขณะที่ เช่-อัคราวิชญ์ พิริโยดม นักดนตรีวง The Richman Toy และหัวหน้าสาขาวิชาดนตรีสมัยนิยม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า “ตอนนี้เป็นยุคสมัยที่มีความก้าวหน้าของเทคโนโลยี นักดนตรีสามารถทำเพลงเองได้และสามารถปล่อยผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียได้อย่างง่ายดาย”
“ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยในปัจจุบันทำให้นักดนตรีสามารถทำเพลงเองได้จากที่บ้านหรือเรียกว่า Home Studio ซึ่งต้องยอมรับว่าในปัจจุบันวงการดนตรีของไทย คนรุ่นใหม่มีฝีไม้ลายมือที่ฉกาจใกล้เคียงกับต่างประเทศมาก เพราะ เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถหาไอเดียและรู้เทรนด์เพลงทั่วโลกได้ง่ายแค่เพียงปลายนิ้ว และนำเทคนิคมาปรับใช้ เรียกได้ว่า เป็นช่วงเวลาสำคัญที่อุตสาหกรรมเพลงไทยกำลังพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง THE POWER BAND เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนเพื่อเป็นบันไดให้เยาวชนและประชาชนคนไทยพร้อมสำหรับการก้าวสู่ระดับนานาชาติได้อย่างเต็มภาคภูมิ” ตัวแทนจาก The Richman Toy กล่าวทิ้งท้าย
ความตั้งใจสำคัญของเวที THE POWER BAND คือการพัฒนาศักยภาพของเด็กไทยรุ่นใหม่ ในการสร้างสรรค์ผลงานเพลงของตัวเอง โดยการแข่งขันในเวทีนี้ จะมีการให้ผู้เข้าแข่งขันแต่งเพลงขึ้นมาเพื่อใช้ในการแข่งด้วยตัวเอง เพื่อหวังมุ่งพัฒนาทักษะการสร้างบทเพลงใหม่ของแต่ละคนให้ไปได้ไกลกว่าที่เคยทำในอดีต จนก้าวข้ามขีดจำกัดของแต่ละคน
นอกจากนี้เวที THE POWER BAND จะนำการทำเพลงจากสองแนวทางเข้ามารวมกันในเวทีเดียว นั่นคือแนวเพลงเครื่องเป่าจากวงโยธวาทิต ที่เน้นการอ่าน วาง และเรียบเรียงตัวโน้ต รวมถึงความพร้อมเพียงในการเล่นเป็นวง ขณะที่อีกหนึ่งแนวทางคือการเล่นดนตรีสากลทั่วไป ที่ต้องพัฒนาฝีมือผ่านการแกะเพลงด้วยตัวเอง
เวที THE POWER BAND จะนำการทำดนตรีทั้งสองรูปแบบนี้มาผสมผสานกันบนเวทีนี้ เพื่อให้ศิลปินจากทั้งสองสายได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เรียนรู้ทักษะใหม่จากอีกสายที่ไม่เคยได้ทำมาก่อน เพื่อเป็นความรู้ใหม่ที่จะปลดล็อกความสามารถของตัวเอง พัฒนาศักยภาพในฐานะศิลปินไปให้ไกลกว่าเดิม
เป้าหมายสำคัญที่สุดของเวที THE POWER BAND คือการยกระดับศิลปินหน้าใหม่ไทยให้ไปสู่ระดับสากล เพราะทุกวันนี้ศิลปินไทยจำนวนไม่น้อยพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พวกเขามีดีไม่แพ้ศิลปินชาติไหนบนโลก เวทีนี้จึงหวังเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันศักยภาพของเด็กไทยให้พัฒนาไปได้ไกลมากขึ้นกว่าเดิม
สำหรับการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ THE POWER BAND เวทีประกวดวงดนตรีสากลสมัยนิยมผสมเครื่องเป่า ประจำปี 2564 จะจัดขึ้นในวันที่ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 ตั้งแต่เวลา 9.30 น. เป็นต้นไป สามารถติดตามชมการถ่ายทอดสดได้ทาง Facebook : King Power Thai Power พลังคนไทย และ Facebook : Thailand International Wind Symphony Competition