Feature

เพลงหมัดฮิปฮอป : ทำไมกังฟูถึงเป็นที่นิยมในหมู่คนแอฟริกัน-อเมริกัน ? | Main Stand

หากพูดถึงเรฟเฟอเรนซ์ หรือการอ้างอิง ที่ศิลปินฮิปฮอปจากสหรัฐอเมริกา มักจะเอาไปอ้างถึงในเพลงของตนเองเกี่ยวกับกีฬานั้น ส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้นบาสเกตบอลหรืออเมริกันฟุตบอล อเมริกันเกมส์ที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมมานานแสนนาน 


 

แต่รู้หรือไม่ว่านอกจาก กีฬาสองชนิดนี้แล้ว ยังมีอีกหนึ่งกีฬาที่แรปเปอร์ชอบเอาไปพูดถึงในเพลงของตัวเองเช่นเดียวกัน นั่นคือ "กังฟู" 

ทำไมแรปเปอร์หลาย ๆ คนถึงชอบพูดเรื่องศิลปะการป้องกันตัวชนิดนี้ในเพลงของตัวเอง ? เป็นเพราะความชอบส่วนบุคคลหรือว่าเป็นค่านิยมของสังคมในช่วงหนึ่งเท่านั้น ? ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง กังฟู อาจมีความคล้ายคลึงกับฮิปฮอปมากกว่าที่เรารู้ก็เป็นได้ 

แอดติจูดแบบความสงบสยบความเคลื่อนไหว ความต้องการที่จะเป็นสุดยอดฝีมือแห่งยุทธภพ กังฟูฮีโร่ ตัวแทนของการไม่ยอมจำนนต่อความอยุติธรรม ได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กบางคนจนกลายมาเป็นแรปเปอร์ผู้ยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน ผ่านอาวุธที่เปลี่ยนจากหมัดเป็น "ไรม์" ที่ถูกสบถออกมาผ่านท่วงทำนองและเนื้อหาอันข้นคลั่ก 

เรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร ? Main Stand ขอชวนไปค้นหาคำตอบไปด้วยกัน 

 

THE INFLUENCE THAT INFLUENCED

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 1990s ช่วงเวลาที่ฮิปฮอปกำลังพุ่งทะยาน ดนตรีฮิปฮอปไม่ใช่แค่เทรนด์ หากแต่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ความรุนแรงและการต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อคนผิวดำของเจ้าหน้าที่ตำรวจและความไม่เป็นธรรมในสังคมอเมริกันด้วยในเวลาเดียวกัน

 

ยุคดังกล่าวถูกยกย่องว่าเป็น "ยุคทอง" ของวงการฮิปฮอป คึกคักไปด้วยแรปเปอร์จากฝั่งตะวันตกในแถบลอสแอนเจลิส อย่าง Dr.Dre และ Ice Cube อดีตสมาชิกกลุ่ม N.W.A ที่โด่งดังมาจากการเป็นตัวแทนของการใช้เพลงต่อต้านความรุนแรงของตำรวจมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980s, Snoop Dogg ในขณะนั้นยังแรปเปอร์หน้าใหม่มาแรงในฐานะเด็กปั้นของเดร และ 2pac แรปเปอร์ผู้ล่วงลับ ที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวต่อความไม่เท่าเทียมในสังคม 

ทางฝั่งตะวันออกเองก็ไม่น้อยหน้า มีแรปเปอร์ดาวรุ่งอย่าง Jay-Z, Nas, DMX ที่ได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน และที่ขาดไปไม่ได้เลย คือ Wu-Tang Clan แรปกรุ๊ปที่อัดแน่นไปด้วยแอดติจูดแบบนักสู้จากสเตเทน ไอส์แลนด์ นิวยอร์ก ซิตี้ และเป็นกลุ่มศิลปินที่เราจะพูดถึงต่อจากนี้...

วูแทงแคลน เป็นชื่อของกลุมแรปเปอร์ ถือกำเนิดขึ้นในปี 1992 ประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งหมด 10 คน อันได้แก่ ริซซ่า (RZA), จิซซ่า (GZA), อินสเป็กต้า เด็ค (Inspectah Deck), ยู-ก๊อด (U-God), โกสต์เฟส คิลล่า (Ghostface Killah), เมธอด แมน (Method Man), แรควัน (Raekwon), มาสต้า คิลล่า (Masta Killa), คัปปาดอนน่า (Cappadonna) และ โอล เดอร์ตี้ บัสตาร์ด (Ol' Dirty Bastard) สมาชิกเพียงหนึ่งเดียวที่ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้วเนื่องจากการใช้ยาเกินขนาด 

 

แรปเปอร์ทั้ง 10 คน ประสบความสำเร็จจากการปล่อยอัลบั้มแรกที่มีชื่อว่า "Enter The Wutang (36 Chambers)" ในปี 1993 พวกเขาชัดเจนในแนวทาง "ฮาร์ดคอร์ แรป" มีเนื้อหาพูดถึงความรุนแรง ความโกรธและการเขม่นกันระหว่างอริที่มีปัญหากัน คาแร็กเตอร์ของฮาร์ดคอร์ฮิปฮอปจึงค่อนข้างชัดเจนและมักจะถูกจดจำในอีกชื่อว่า "แก๊งสเตอร์ แรป"

Enter The Wutang (36 Chambers) เป็นอัลบัมที่เข้าขั้น "คลาสสิก" และยังถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในอัลบัมแรปที่ดีที่สุดตลอดกาลจากหลายสำนักวิจารณ์ดนตรี ไม่ว่าจะเป็น Rolling Stone, Q, Spin, หรือ Pitchfork ในลิสต์หนึ่งในอัลบัมที่ดีที่สุดตลอดกาล, อัลบัมแรปที่ดีที่สุดตลอดกาล จะต้องมีชื่อของวูแทงแคลนอยู่ในนั้นด้วย

 

อัลบัมดังกล่าวยังเป็นต้นแบบให้แก่ฮาร์ดคอร์แรปอื่น ๆ ส่งผลให้ วูแทงแคลน เป็นหนึ่งในผู้มีอิทธิพลสำคัญต่อวงการ พวกเขาแหกขนบจากฮิปฮอปแบบที่เคยเป็น จากเดิมงานโปรดักชันจากฝั่งตะวันตกจะโดดเด่นด้วยการใช้บีตที่แซมเปิ้ลมาจากดนตรีแจ๊ซ ในทางกลับกันภาคดนตรีของวูแทงแคลนนั้นเรียบง่าย ไม่หวือหวา มีบีตง่าย ๆ อีกทั้งมิกซ์มาไม่ค่อยดีอีกต่างหาก 

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าริซซ่าและเพื่อน ๆ ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ในการอัดที่ดีได้ แต่ผลงานที่ออกมากลับกลายเป็นสิ่งที่สามารถจับจิตวิญญาณความอึมครึม แสดงบรรยากาศข้างถนนของเมืองนิวยอร์กได้เป็นอย่างดี 

วูแทงแคลน ยังเป็นแรปกรุ๊ปที่ชัดเจนในเรื่องของบุคลิก เพราะถ้าทันสังเกตระหว่างที่อ่านกันแล้วล่ะก็ Enter The Wutang (36 Chambers) เป็นชื่ออัลบัมที่ได้รับแรงบัลดาลใจมาจากภาพยนตร์ชื่อ Enter The Dragon (1973) กับ The 36th Chambers of Shaolin (1978) หรือแม้กระทั่งชื่อ วูแทงแคลน ยังได้แรงบันดาลใจมาจากหนังกังฟูเช่นเดียวกัน 

ใครจะไปเชื่อว่าฮิปฮอปและกังฟูจะมาบรรจบรวมกันตรงนี้ได้... 

 

THE ROLE MODEL THAT MADE ROLE MODEL 

ชื่อของ วูแทงแคลน ถือกำเนิดโดย ริซซ่า และ โกสต์เฟซ คิลล่า พวกเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์ชื่อ "เส้าหลิน แอนด์ วูแทง" (Shaolin and Wu-Tang) ภาพยนตร์แอ็กชันจากประเทศฮ่องกง ออกฉายครั้งแรกในปี 1983 บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับโรงเรียนศิลปะการต่อสู้เส้าหลินและอู่ตัง (บู๊ตึ๊ง) ต่อสู้กันเพื่อชิงความเป็นใหญ่ 

 

ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้แก่ชื่อของวง อีกทั้งยังมีการเพิ่มลูกเล่นให้กับคำว่า "วูแทง" ในภาษาอังกฤษเข้าไปอีกด้วย โดยตัวสะกด Wu-Tang นั้นย่อมาจาก "Witty Unpredictable and Natural Game" แปลได้คร่าว ๆ ว่า "เกมไหวพริบที่ยากต่อการคาดเดาและเป็นธรรมชาติ" เป็นการเปรียบเปรยถึงทักษะทางการแรปของพวกเขา 

เมธอด แมน อีกหนึ่งสมาชิกของวงยังเคยบอกไว้อีกว่า คำว่า "วู" เป็นเสียงของกระบี่ตัดผ่านลม กับคำว่า "แทง" เป็นเสียงของกระบี่กระทบกับโล่ เรียกได้ว่าพวกเขาชอบหนังกังฟูกันแบบเข้าเส้นเลยทีเดียว 

ความรักที่พวกเขามีให้ต่อหนังกังฟูจากประเทศจีน ได้แปรเปลี่ยนมาเป็นชื่อประจำแรปกรุ๊ป เป็นความตั้งใจของริซซ่าและโกสต์เฟซ คิลล่าที่อยากจะได้ปรัชญาแบบตะวันออกมาผสม เพราะนอกจากกังฟูฮีโร่ในหนังจีนจะเป็นต้นแบบของความแข็งแกร่งแล้ว พวกเขาเหล่านี้ยังเป็นต้นแบบในเรื่องของการไม่ยอมจำนนในเรื่องของการถูกกดขี่อีกด้วย 

สืบเนื่องจากบริบททางสังคมของสหรัฐอเมริกา ที่มีการเหยียดผิวเป็นเป็นปัญหาหยั่งรากลึกมาเป็นเวลานาน กลุ่มชาติพันธุ์แอฟริกัน-อเมริกัน ต้องเผชิญกับความอยุติธรรม ถูกกดขี่จากสังคมโดยรอบ เช่นเรื่องการเลือกปฏิบัติในที่สาธารณะ การถูกมองว่าเป็นอาชญากรในสายตาของตำรวจทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ทำอะไร ภาพยนตร์จากประเทศฮ่องกงที่ถูกนำมาฉายแบบเหมา จัดโปรแกรมหลายเรื่องตามโรงภาพยนตร์ในนิวยอร์ก ซิตี้ แบบราคาประหยัดในช่วงเวลานั้น จึงกลายเป็นเหมือนภาพจำลองของฮีโร่ ที่เด็กหลายคนในยุคนั้นใฝ่ฝันอยากจะเป็น 

ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง Enter the Dragon ในปี 1973 ที่ บรูซ ลี นำแสดง ก็เป็นเรื่องราวของสายลับที่ต้องแฝงตัวเข้าไปในองค์กรอาชญากรรมที่ทำธุรกิจผิดกฎหมาย อีกทั้งยังกดขี่ข่มเหงผู้อื่น เพื่อโค่นล้มองค์กรนี้ให้สิ้นซากจากภายใน หรือ Five Deadly Venoms ในปี 1978 ภาพยนตร์แอ็กชันจากฮ่องกง บอกเล่าเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่ต้องออกไปหยุดการนำวิชาอสรพิษไปใช้ในทางที่ผิดของศิษย์พี่ ซึ่งถูกถ่ายทอดวิชามาจากอาจารย์คนเดียวกัน จนทำให้เกิดความเดือดร้อนกันทั่วบ้านทั่วเมือง 

ในยุคนี้เอง เป็นช่วงเวลาที่ภาพยนตร์กังฟูกำลังโด่งดังและเฟื่องฟูสุดขีด ภาพยนตร์เหล่านี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เด็ก ๆ ผิวดำ เพราะด้วยความที่ตัวละครเป็นชาวเอเชีย พวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องเจอกับความจำเจจากสื่อที่ผลิตโดยคนขาวอีกต่อไป 

อาจเรียกได้ว่าเป็นความบังเอิญอันเหมาะเจาะเกินไป เพราะในปี 1973 ตอนที่ Enter the Dragon เข้าฉาย เป็นปีเดียวกันกับตอนที่ฮิปฮอปค่อย ๆ ถือกำเนิดขึ้นในย่านบรองซ์ การก่อตัวและการขยายของวัฒนธรรมทั้งสอง จึงกลายมาเป็นมวลความนิยมลอยตัวอบอวลอยู่ทั่วบิ๊กแอปเปิล 

อาจกล่าวได้ว่า ริซซ่า และเพื่อน ๆ ของเขาใน วูแทงแคลน คือกลุ่มเด็กที่หลงใหลในหนังกังฟูและเติบโตมากับดนตรีฮิปฮอป เขาเป็นแรปเปอร์ผู้มี บรูซ ลี เป็นต้นแบบ และเคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ The Undefeated เมื่อปี 2020 เอาไว้ว่า 

"บรูซ ลี เป็นคนที่ผสมศิลปะการป้องกันหลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน และยังเคลื่อนไหวเหมือนกับ มูฮัมหมัด อาลี มีปรัชญาการใช้ชีวิตแบบลัทธิเต๋าและศาสนาพุทธ แต่เขาก็ยังเป็นคนที่มีสำนึกเรื่องความยากลำบากของคนดำในอเมริกา ทุกอย่างมันถูกแสดงออกมาผ่านงานและบุคลิกของเขา"

"ตอนผมยังเด็ก ผมมักจะนึกภาพว่าตัวเองอยู่ในหนังเหล่านั้น ในภาพยนตร์พวกนั้น กลายมาเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานสำหรับผม ลองคิดดูนะ ในหนังเรื่อง Enter The Dragon เนี่ย มันมีการร่วมมือกันระหว่างคนขาวที่เล่นคาราเต้เป็นโดย จอห์น แซกซอน คนดำที่เชี่ยวชาญในศิลปะการต่อสู้อย่าง จิม เคลลี่ และ บรูซ ลี พวกเขาร่วมมือกันต่อต้านพวกคนที่ชอบกดขี่ข่มเหงคนอื่น" 

"เพิ่มเติมแค่อีกสองสามอย่างในเรื่อง มันก็กลายเป็นหนังที่เกี่ยวกับประเทศของเราแล้ว พี่น้องครับ!" 

 

สิ่งที่ริซซ่าพูดนั้น ไม่เกินความจริงแต่อย่างใด เพราะ บรูซ ลี ก็ถูกยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ของความปรองดองสำหรับคอมมูนิตี้แอฟริกัน-อเมริกันจริง ๆ จากคำบอกเล่าของ เบา เหงียน ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเวียดนาม-อเมริกัน เจ้าของผลงานสารคดีเรื่อง "Be Water" เกี่ยวกับ บรูซ ลี ได้ให้ความเห็นกับสำนักข่าว NBC เอาไว้ว่า 

"การมีปฏิสัมพันธ์กับคนมากมายของบรูซ และความเต็มใจที่จะเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างของเขา ทำให้เขากลายเป็นที่ชื่นชอบสำหรับใครหลาย ๆ คน ในฐานะคนที่เป็นเอเชียน-อเมริกันแบบผม เรายืนอยู่ข้างเดียวกัน" 

บรูซ ลี ยังได้ชื่อว่าเป็นคนที่สามารถพาตัวเองเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมอันหลากหลายได้ อย่างตอนที่เขาและ คารีม อับดุล-จาบาร์ นักบาสเกตบอลระดับตำนานของ NBA ได้กลายมาเป็นเพื่อนกัน ขณะถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง "Game of the Death" ที่ออกฉายในปี 1978 

ริซซ่ายังกล่าวถึง บรูซ ลี ต่ออีกว่า 

"ถ้าตัดเรื่องสีผิวออกไป พวกเราก็เหมือนกันนั่นแหละ" 

"บรูซ ลี เป็นภาพแทนของคนที่มีพลังพิเศษ ภาพของคนที่ควรจะมีพลังพิเศษจริง ๆ เขาเป็นคนที่มีความหลากหลายในตัวมาก แต่เขาก็ยังคงชัดเจนในแนวทางของตัวเอง เราในฐานะที่เป็นคนเหมือนกัน สิ่งที่เรามีร่วมกันคือความเป็นมนุษย์ แต่คนถืออำนาจและอยู่ในตำแหน่งผู้นำทั้งหลายที่เรารู้จัก มักจะนำความเป็นมนุษย์นี้ไปไว้ข้างหลังเสมอ" 

เนื้อหาเพลงของวูแทงแคลนส่วนมากจะพูดเรื่องความรุนแรง การกดขี่ ตลอดจนถึงไลฟ์สไตล์ของพวกเขาในแต่ละวัน เอกลักษณ์ของพวกเขาคือการนำประโยคหรือเสียงในภาพยนตร์กังฟูที่พวกเขาชื่นชอบมาแซมเปิ้ลในเพลงของตัวเอง หรือเขียนเนื้อเพลงให้มีความเกี่ยวข้องกับหนังกังฟู

ท่อนที่พอจะอธิบายถึงการผสมกันระหว่างฮิปฮอปและกังฟูได้อย่างลงตัวที่สุดมาจากเพลง "Da Mystery of Chessboxin'" ที่เปิดด้วยไดอะล็อกจากหนัง Five Deadly Venoms และมีท่อนของ อินสเป็กต้า เด็ค ว่า 

"I come from the Shaolin slum and the isle I'm from is comin' through with nuff n- and nuff guns" 

แปลได้ทำนองว่า "ฉันมาจากวัดเส้าหลินในสลัม เกาะที่ฉันจากมามีทั้งคนดำและปืนที่มากมาย" ให้ความหมายเปรียบเปรยถึงการที่พวกเขาเป็นจอมยุทธ์ที่มาจากเกาะสเตเทน และสภาพแวดล้อมที่พวกเขาเติบโตขึ้นมาก็ห้อมล้อมไปด้วยความรุนแรง ป่าเถื่อน 

 

หากให้เราลองเปรียบเทียบอย่างง่าย ให้ลองนึกภาพตามว่า วูแทงแคลนคือคนที่ใส่ชุดกังฟูสั่งตัดพิเศษ พร้อมกับมีถ้อยคำเป็นอาวุธ เรื่องนี้ถูกส่งต่อไปยังแรปเปอร์รุ่นน้องอย่าง "เคนดริก ลามาร์" แรปเปอร์ผู้มองวูแทงแคลนเป็นต้นแบบอีกทอด

"พวกเขาพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในย่านชุมชนของพวกเขา และในเวลาเดียวกันพวกเขาก็มีคาแร็กเตอร์ที่ชัดเจนมาก ๆ แม้แต่แค่การเดินบนถนนก็ยังดูเท่ นี่มันบ้าสุด ๆ" เคนดริก กล่าวกับ MTV 

แม้ว่า เคนดริก จะเป็นแรปเปอร์ที่เติบโตมาในเมืองคอมป์ตัน รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ห่างกับวูแทงแคลนระดับข้ามประเทศ แต่วูแทงแคลนก็เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้เขาในวัยเด็กในแง่ของความชัดเจนในตัวตน นั่นคือสิ่งที่เด็กชายเคนดริกอยากจะทำบ้างในวัยเด็ก จนถึงวันหนึ่งเขาก็สร้างคาแร็กเตอร์ของตัวเองในอัลบัมหนึ่งขึ้นมาเป็นเซียนกังฟู ไม่ต่างจากแรปเปอร์รุ่นพี่เหล่านี้ และกลายมาเป็นหนึ่งในแรปเปอร์ผู้แข็งแกร่งที่สุดในยุทธภพแรปเกมส์​

 

THE GLOW THAT STILL GLOW  

เคนดริก ลามาร์ เป็นอีกหนึ่งแรปเปอร์ที่น้อมรับวัฒนธรรมกังฟูแบบตะวันออกเข้าไปสู่ผลงานของตนเอง เมื่อเขาปล่อยสตูดิโออัลบั้มลำดับ 4 ออกมาเมื่อปี 2017 พร้อมกับสร้างตัวตนสำหรับอัลบั้มนี้ขึ้นมาในคาแร็กเตอร์ที่มีชื่อว่า "กังฟู เคนนี่"

เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะชายที่ชื่อว่า ดอน ชีเดิล ... นักแสดงเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน ที่เรามักจะคุ้นเคยกันดีในบทนาวาอากาศเอก เจมส์ โร้ดส์ หรือ วอร์ แมชชีน เพื่อนสนิทของ โทนี สตาร์ก หรือ ไอออน แมน จากแฟรนไชส์ภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่มาร์เวล (เจ้าตัวเข้ามารับบทนี้ตั้งแต่ Iron Man 2 หลัง เทอร์เรนซ์ ฮาเวิร์ด ผู้รับบทในภาคแรกมีปัญหาเรื่องการเจรจาค่าตัว)

ก่อนเขาจะไปเป็นซูเปอร์ฮีโร่ในจักรวาล MCU ดอน ชีเดิล เคยเล่นภาพยนตร์แอ็กชัน-คอมเมดี้เรื่อง "Rush Hour 2" มาก่อน คนไทยอาจคุ้นหูกันในชื่อ "คู่ใหญ่ฟัดเต็มสปีด" นำแสดงโดย แจ็คกี้ ชาน และ คริส ทัคเกอร์ ซึ่งดอนเข้ามารับบทเล็ก ๆ ที่ชื่อ "กังฟู เคนนี่" ... เขาไม่ได้รับเครดิต เป็นแค่คาเมโอสั้น ๆ ที่เจ้าตัวเต็มใจอยากมาเล่นเพราะอยากต่อยกับเฉินหลงเท่านั้น 

 

เบรต แรตเนอร์ ผู้กำกับภาพยนตร์เล่าให้ฟังถึงเรื่องดังกล่าวว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไรแบบติดตลกว่า 

"ผมเสนอบทนี้ให้เขาไปโดยที่รู้ว่ายังไงเขาก็ไม่มีทางรับเล่นหรอก แต่เขากลับบอกผมว่า 'ผมจะเล่นโดยมีข้อแม้สองข้อคือ หนึ่ง ผมต้องพูดภาษาจีนกวางตุ้งเท่านั้น และสอง ผมต้องได้สู้กับ แจ็คกี้ ชาน' หลังจากนั้น ดอนก็ไปฝึกศิลปะการป้องกันตัวเพื่อที่เตรียมสู้กับแจ็คกี้และเขาก็โคตรจะเข้าถึงบทเลย" 

บท กังฟู เคนนี่ ของ ดอน ชีเดิล ได้กลายมาเป็นตัวละครโปรดของแฟนหนังและใครหลาย ๆ ไม่ต่างจาก เคนดริก ลามาร์ จนต้องเอาไปเป็นต้นแบบในการนำเสนออัลบั้มของเขาที่มีชื่อว่า "DAMN." จนมีเพลงฮิตมากมายไม่ว่าจะเป็น "HUMBLE.", "ELEMENT." หรือ "DNA." ที่ได้ ดอน ชีเดิล มาร่วมเล่นมิวสิกวิดีโอด้วย 

เคนดริก ลามาร์ เป็นแรปเปอร์ที่เรียกได้ว่าเข้าขั้นอัจฉริยะ ฝีมือการเล่นคำอันชาญฉกาจของเขาทำให้หลายคนในสนามแรปต่างก็ยอมรับ เขาตีความตัวละครกังฟู เคนนี่ ให้เป็นคนที่ฝักใฝ่ในวิชาและตามหาสิ่งที่เรียกว่า "เดอะ โกลว์" หรือ แสงสว่าง ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังกังฟู (อีกแล้ว) ชื่อว่า "The Last Dragon" ภาพยนตร์แอ็กชันเกี่ยวกับเด็กหนุ่มที่ออกตามหาพลังที่ชื่อว่า "เดอะ โกลว์" เพื่อเป็นที่สุดของยอดฝีมือในศิลปะการต่อสู้ ออกฉายในปี 1985

ในทำนองเดียวกัน เคนดริก ที่ตามหา เดอะ โกลว์ ในแบบของตนเอง ก็เพื่อเป็นที่หนึ่ง เป็นยอดฝีมือในสนามแรป แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความตั้งใจ ความเกรียน หรือความลึกซึ้งที่ยากเกินจะเข้าใจ สุดท้ายแล้วสถานที่ที่เดอะโกลว์สถิตอยู่สำหรับเคนดริกนั้น กลายเป็นบริเวณหว่างขาของผู้หญิง กล่าวคืออยู่ในอวัยวะเพศของเพศแม่นั่นเอง 

ในทุก ๆ คอนเสิร์ตของเคนดริกในช่วงทัวร์คอนเสิร์ตสำหรับอัลบั้ม DAMN. จะมีหนังสั้นเปิดตัวชื่อว่า "The Damn Legend of Kung Fu Kenny" เป็นฟุตเทจที่เขาฝึกวิชากังฟูอย่างหนักหน่วงกับปรมาจารย์กังฟูและก่อนที่หนังสั้นเรื่องนี้จะจบลงและเข้าสู่คอนเสิร์ต จะมีข้อความปรากฏว่า 

"KUNG FU KENNY FOUND THE MOTHERFUCKIN' GLOW, HOE" ความหมายประมาณว่า "เจอ เดอะ โกลว์ แล้วจ้าแม่จ๋า"

เป็นที่น่าเสียดายที่เราไม่สามารถแปลความหมายตรง ๆ ให้ได้ตรงนี้ เพราะอาจจะหยาบคายเกินไปหน่อย แต่หากใครใคร่รู้ก็สามารถนำไปแปลกันได้เองตามสะดวก 

 

อย่างไรก็ตาม ถึงจะฟังดูเกรียนเวอร์ขนาดไหน แต่ เดอะ โกลว์ ที่ว่าของเคนดริกก็เปล่งประกายได้อย่างสมชื่อ อัลบั้ม DAMN. เข้าไปคว้ารางวัลแกรมมี่ ในสาขาอัลบัมเพลงแรปยอดเยี่ยม และยังได้รางวัลรางวัลพูลิตเซอร์ ในสาขาดนตรี มีดีกรีถูกยกย่องว่าเป็นอัลบั้มที่สามารถตีแผ่เรื่องราวอันซับซ้อนของชีวิตชาวแอฟริกัน-อเมริกันออกมาได้อย่างถ่องแท้ กลายเป็นเซียนกังฟูผู้วิพากษ์วิจารณ์สังคมและประเด็นการเหยียดผิวได้อย่างออกรส

จนถึงตอนนี้ เคนดริก ก็ยังคงเป็นหนึ่งในศิลปินฮิปฮอปที่มีคนชอบมากที่สุดและยังมีคนฟังอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเขาจะเก็บตัวห่างหายไปจากวงการอยู่ช่วงเวลาหนึ่งตั้งแต่ปี 2018 หลังจากเสร็จงานทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Black Panther แต่อีกไม่นานเกินรอ เขากำลังจะกลับมาโลดแล่นในวงการอีกครั้ง พร้อมกับประกาศว่าอัลบั้มต่อไปจะเป็นอัลบั้มสุดท้ายของเขากับต้นสังกัดเดิมอย่าง TDE เราในฐานะผู้ฟังก็ได้แต่เฝ้าติดตามต่อว่าเคนดริกจะเบนทิศทางเพลงของตนเองไปทางไหนอีก หลังจากฝึกจิตแบบกังฟูไปในอัลบั้มก่อนหน้า

 

หากเรามานั่งวิเคราะห์ทบทวนกันอีกครั้งว่า ทำไม กังฟู ถึงได้รับความนิยมสำหรับคอมมูนิตี้ฮิปฮอป คำตอบของคำถามนี้ก็คงไม่ตายตัวเสียเท่าไหร่ คำตอบของแต่ละคนอาจจะมีความแตกต่างกันไป บ้างก็อาจจะเป็นเรื่องของความงามแบบตะวันออก เป็นเพียงความชอบเท่านั้น หรืออาจเป็นเรื่องของคำปรัชญาอันสลับซับซ้อนที่จะกลายมาเป็นวัตถุดิบชั้นเลิศในการเขียนเพลงของศิลปินฮิปฮอปก็ได้ 

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่วูแทงแคลนและเคนดริกถือร่วมกัน คือความตั้งใจในการฝึกปรือวิชาแรปให้มีความผิดแผกไปจากคนอื่น โดยการถือคติการฝึกฝนแบบวิชากังฟู ความคล้ายคลึงระหว่างฮิปฮอปและกังฟูจึงอาจเป็นเรื่องของความมุมานะในการพัฒนาฝีมือตลอดเวลานั่นเอง 

ไม่ว่าพวกเขาจะศึกษามามากน้อยขนาดไหน ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นเซียนศิลปะการป้องกันตัวแบบ บรูซ ลี หรือไม่ แต่การถือปณิธานแบบตะวันออกเช่นนี้ ก็มีพลังมากพอที่จะทำให้พวกเขาถือครองพื้นที่การสร้างอิทธิพลในแรปเกมส์ได้อย่างทรงพลังมาจนถึงทุกวันนี้ 

 

แหล่งอ้างอิง :

https://ambrosiaforheads.com/2019/09/rza-wu-tang-clan-10-kung-fu-movies-sampled/ 
https://www.highsnobiety.com/p/kendrick-lamar-kung-fu-kenny-origin/ 
https://www.latimes.com/archives/la-xpm-2004-nov-14-ca-cheadle14-story.html 
https://www.nbcnews.com/news/asian-america/how-bruce-lee-became-symbol-solidarity-black-community-n1230136 
https://medium.com/@vskv/wu-tang-clan-and-the-east-asian-culture-influences-on-enter-the-wu-tang-36-chambers-1018f0c1b5e2 
https://www.mtv.com/news/1717005/wu-tang-clan-artists-remember-20-years/ 
https://www.thefader.com/2017/04/20/don-cheadle-confirms-kendrick-lamars-kung-fu-kenny-moniker-is-a-irush-hour-2i-reference 
https://www.theodysseyonline.com/enter-the-rapper-martial-arts-influence-on-hip-hop 
https://theundefeated.com/features/wu-tangs-rza-on-the-influence-of-bruce-lee/\

Author

ณัฐพล ทองประดู่

Memento Vivere / Memento Mori

Graphic

ภราดร ภราดร

อยากจะทำให้ดี ไม่ใช่แค่อยากจะทำให้เป็น