Feature

วัฒนธรรมองค์กรสุดโหดของ "บาเยิร์น" ที่ทำโค้ชระดับโลกตกเก้าอี้เป็นว่าเล่น | Main Stand

บาเยิร์น มิวนิค คือสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการฟุตบอลเยอรมัน แชมป์ 31 สมัย ภายในเวลา 59 ปีของ บุนเดสลีกา ลีกสูงสุดแดนอินทรีเหล็ก คือเครื่องรับประกันความเกรียงไกรของสโมสรแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
 

 

ด้วยความยิ่งใหญ่ระดับนี้ ย่อมต้องมีโค้ชสมองเพชรอยู่เบื้องหลัง เป็นแกนหลักของทีม เหมือนที่เกิดขึ้นในหลายทีม เช่น อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, อาร์แซน เวนเกอร์ กับ อาร์เซนอล, บิล แชงค์ลีย์ กับ ลิเวอร์พูล

โมเดลแบบนั้น ใช้ไม่ได้กับ บาเยิร์น มิวนิค นับตั้งแต่เข้าสู่ยุคใหม่ของฟุตบอลเยอรมันในปี 1963 โค้ชที่คุมทีมยาวนานที่สุดของบาเยิร์น คุมทีมติดต่อกันเป็นเวลาเพียง 6 ปีเท่านั้น นั่นคือ ออตมาร์ ฮิทซ์เฟลด์ ในช่วงปี 1998 ถึง 2004

เท่านั้นยังไม่พอ มีโค้ชเพียง 6 คนเท่านั้น ที่มีโอกาสคุมทีมยาวนานเกิน 3 ปี ที่เหลือจอดไม่แจว ถูกบาเยิร์นปลดออกจากตำแหน่งกันอย่างถ้วนหน้า 

เนื่องจากสโมสรแห่งนี้ มีวัฒนธรรมองค์กรที่สุดโหด เงื่อนไขมากมายที่พร้อมเชือดคอบุคลากรออกจากทีมได้ตลอดเวลา และเป็นแนวทางรักษาความสำเร็จ ในแบบฉบับเฉพาะของ บาเยิร์น มิวนิค

 

กล้าจะเปลี่ยนแปลง

จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด ต้องย้อนไปในช่วงต้นยุค 70s ซึ่งทัพเสือใต้ เพิ่งเรืองอำนาจขึ้นมาหมาด ๆ ทั้งฟุตบอลในประเทศ และเวทียุโรป

ภายใต้การนำของ ฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์, แกรนด์ มุลเลอร์, เซปป์ ไมเออร์ และยอดนักเตะดีกรีทีมชาติเยอรมัน (ตะวันตกในตอนนั้น) อีกหลายคน พวกเขาคว้าแชมป์บุนเดสลีกา 4 สมัยใน 6 ฤดูกาล ระหว่างปี 1969 ถึง 1974 รวมถึงการแชมป์ยูโรเปียน คัพ (ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ในปัจจุบัน) ถึง 3 สมัยซ้อน ในช่วงปี 1974 ถึง 1976

อย่างไรก็ตามในฤดูกาลถัดมา บาเยิร์น มิวนิค กลับไม่มีถ้วยติดมือ เมื่อผนวกกับการไม่ได้แชมป์บุนเดสลีกา นับตั้งแต่ปี 1974 เท่ากับว่าทัพเสือใต้ไม่ได้ถือครองถาดแชมป์ลีก มาเป็นเวลา 3 ฤดูกาลติดต่อกัน

Photo : T-Online

บาเยิร์น มิวนิค เริ่มรู้ตัวแล้วว่า ยุคสมัยของพวกเขากำลังจะจบลง ไม่ต่างจากกระแสฟุตบอลของทีมอื่นที่เคยโด่งดัง และจากไปเมื่อเวลาได้พ้นผ่าน

ทว่าทีมดังจากแคว้นบาวาเรีย ไม่อยากเป็นแบบนั้น พวกเขาต้องการครองความยิ่งใหญ่ต่อไป หากแต่ทัพเสือใต้ต้องหารหัสความสำเร็จให้เจอ ก่อนจะสายเกินไป 

เพราะ ณ เวลานั้น โบรุสเซีย เมินเชนกลัดบัค ได้ก้าวขึ้นมา คว้าแชมป์บุนเดสลีกา 3 สมัยติดต่อกัน เรียกได้ว่ายึดความยิ่งใหญ่บนแผ่นดินเยอรมัน มาเป็นของตัวเอง ซึ่งบาเยิร์นต้องการทวงกลับคืนมา อย่างถึงที่สุด

บาเยิร์น มิวนิค จึงย้อนไปมองวิธีที่เคยทำให้พวกเขาครองความสำเร็จ ตั้งแต่ปลายยุค 60s มาถึงกลางยุค 70s ซึ่งการกระทำที่พวกเขาเห็นอย่างชัดเจน คือการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นตลอดเวลา

Photo : Bundesliga

ปี 1974 บาเยิร์น มิวนิค เฉลิมฉลองแชมป์ยุโรปอย่างชื่นมื่น แต่หลังจากฤดูกาลใหม่เริ่มต้นขึ้น และเกมการแข่งขันผ่านไปเพียง 2 เกม ... อูโด ลาเท็ค กุนซือผู้ดลบันดาลความสำเร็จให้กับทัพเสือใต้ ถูกเด้งออกจากตำแหน่งแบบสายฟ้าแลบ

"ตอนนั้นเราทำผลงานไม่ตามเป้าหมาย ผมเข้าไปคุยกับประธานสโมสรว่า เราต้องการความเปลี่ยนแปลง เขาเห็นด้วย และบอกว่า 'ผมไล่คุณออก' ผมโกรธมาก ๆ เลยล่ะ" อูโด ลาเท็ค รำลึกความหลัง

ถึงจะเป็นการกระทำที่ดูใจดำ และมีความอำมหิต แต่ผลที่ตามมาคือ บาเยิร์น มิวนิค ยังคงคว้าแชมป์ยูโรเปียน คัพ ต่อไปอีก 2 ฤดูกาล ภายใต้การนำของโค้ชคนใหม่ ดีตมาร์ คราเมอร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การตัดสินใจปลด อูโด ลาเท็ค คือสิ่งที่ถูกต้อง

Photo : RE:SLETT

บาเยิร์น จึงเลือกทำแบบนั้นอีกครั้ง หลังจบฤดูกาลปี 1977 ด้วยการปล่อย ฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์ ออกจากทีม เพื่อเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่า นี่คือการเริ่มต้นใหม่ของ บาเยิร์น มิวนิค

เมื่อฤดูกาล 1977-78 เริ่มต้นขึ้นได้ไม่กี่เดือน ทัพเสือใต้ได้ทำการดีด ดีตมาร์ คาร์เมอร์ ออกจากสโมสรไปอีกคน เท่ากับว่าภายในเวลาอันสั้น บาเยิร์นได้ทำการเขี่ยผู้ชายสองคน ที่มีอำนาจมากที่สุดในห้องแต่งตัวออกไปจากทีม

บาเยิร์นเริ่มสร้างทีมใหม่อย่างช้า ๆ ไม่ใช่แค่การปล่อยนักเตะตัวเก่าแก่ออกไป แต่รวมถึงการเปลี่ยนผู้บริหาร โดยการดึงตัวคนรุ่นใหม่ไฟแรง อย่าง อูลี เฮอเนส อดีตดาวเตะของทีมที่แขวนสตั๊ดไปด้วยอาการบาดเจ็บ ซึ่งมีอายุเพียง 27 ปีในตอนนั้น มาช่วยวางแผนระยะยาวให้กับสโมสร

Photo : Sportbuzzer

ภายในระยะเวลาอันสั้น บาเยิร์น เริ่มกลับมาทวงความยิ่งใหญ่ ด้วยการคว้าแชมป์บุนเดสลีกา ฤดูกาล 1979-80 และ 1980-81

นับแต่นั้นเป็นต้นมา บาเยิร์น มิวนิค พบสูตรสำเร็จแล้วว่า หากทีมจะประสบความสำเร็จ ต้องใช้บุคลากรทำงานที่มีศักยภาพเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ชื่อเสียง, อิทธิพล หรือความสนิทชิดเชื้อ ไม่มีความหมายกับการทำงานที่สโมสรแห่งนี้

 

เก่งมาจากไหน ก็แพ้หัวใจเสือใต้

บาเยิร์น มิวนิค กลายเป็นทีมที่ตั้งมาตรฐานไว้สูง คือภาพที่เห็นได้อย่างชัดเจน ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ไม่ใช่ข้ออ้างกับสโมสรแห่งนี้ และสามารถเชือดนักเตะ หรือโค้ช ออกจากทีมได้อย่างง่ายดาย หากพวกเขาเหล่านั้นแสดงให้เห็นว่า ดีไม่พอที่จะเล่นให้กับ บาเยิร์น มิวนิค

ตำแหน่งที่โดนหนักที่สุด คือหัวหน้าผู้ฝึกสอน เพราะทัพเสือใต้พร้อมปลดออกจากตำแหน่งแบบไม่ไว้หน้า โดยไม่เกรงใจดีกรี ชื่อเสียง ความสำเร็จ หรือความสัมพันธ์ส่วนตัว

Photo : Der Spiegel

เริ่มต้นตั้งแต่ พอล เชอร์ไน กุนซือในช่วงปี 1979 ถึง 1983 ที่เป็นผู้เริ่มพาบาเยิร์น กลับมาคว้าแชมป์ลีกได้ 2 สมัยซ้อน แต่ทันทีที่พลาดถ้วยแชมป์ อูลี เฮอเนส ได้ทำการลงดาบปลดเขาออกจากตำแหน่งในทันที และแต่งตั้ง อูโด ลาเท็ค อดีตกุนซือจากยุค 70s กลับมารับตำแหน่งนี้อีกครั้ง

ภายใต้การนำของลาเท็คหนสอง ทีมดังจากแคว้นบาวาเรียคว้าแชมป์บุนเดสลีกา ติดต่อกัน 3 สมัย ในช่วงปี 1985 ถึง 1987 อยู่ในจุดที่เรียกว่า เป็นหนึ่งในทีมที่แข็งแกร่งของยุโรป ณ เวลานั้น สะท้อนให้เห็นว่าเป็นอีกครั้งที่บาเยิร์นตัดสินใจได้อย่างถูกต้องกับการเปลี่ยนแปลง

อย่างไก็ตาม ความพ่ายแพ้ในเกมนัดชิงชนะเลิศ ยูโรเปียน คัพ ปี 1987 ให้กับ เอฟซี ปอร์โต จากโปรตุเกส ถึงกับทำให้ลาเท็ค โดน บาเยิร์น มิวนิค ปลดออกจากตำแหน่ง อย่างสุดช็อก

Photo : Weltfussball

เหตุผลที่บาเยิร์น เลือกปลดยอดโค้ชรายนี้ มาจากเหตุผลที่ว่า ทีมเต็มไปด้วยนักเตะระดับโลกมากมาย ทั้ง คาร์ล ไฮนซ์ รุมมินิเก, โลธาร์ มัธเธอร์อุส, เคลาส์ เออเกนแทเลอร์, ดีเตอร์ เฮอเนส ดังนั้นความผิดพลาดกับการแพ้ให้กับปอร์โต ในรอบชิงฟุตบอลยุโรปถ้วยใหญ่ คือสิ่งที่รับไม่ได้ และไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ควรจะเป็นของบาเยิร์น มิวนิค

การทำงานกับองค์กรแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยความกดดัน เพราะบาเยิร์นต้องการสิ่งที่ที่สุดเสมอ เท่าที่ทีมจะไปถึง หากศักยภาพของทีมไปได้ถึงการคว้า 3 แชมป์ ทีมต้องได้ 3 แชมป์ ไม่มีการได้ 2 แชมป์ หรือแชมป์เดียว มาเป็นข้อแก้ตัว หรือรางวัลปลอบใจ

ซึ่งหลายคนที่ร่วมงานกับบาเยิร์น เข้าใจในมาตรฐานอันสูงส่งตรงนี้ดี เช่น พอล เชอร์ไน อดีตกุนซือของทีมที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า มาตรฐานของบาเยิร์น คือการเป็นแชมป์เท่านั้น หากไม่ได้แชมป์แค่ 2 ฤดูกาลติด ถือเป็นเรื่องน่าอับอายมาก ดังนั้นการปลดโค้ชออกจากตำแหน่ง ถือเป็นเรื่องที่เข้าใจได้

Photo : BR

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการปลดโค้ชของบาเยิร์น จะไร้ข้อกังขา เพราะ พอล เชอร์ไน เผยว่าตัวเขาเคยทะเลาะอย่างเอาเป็นเอาตาย กับ อูลี เฮอเนส เนื่องจากการปลด จุปป์ ไฮย์เกส ออกจากตำแหน่งเฮดโค้ช เมื่อปี 1991

ไฮย์เกส เข้ามารับช่วงต่อจาก อูโด ลาเท็ค เมื่อปี 1987 และทำทีมได้ตามาตรฐาน คว้าแชมป์บุนเดสลีกาได้ 2 สมัย จาก 3 ปีแรก แต่เมื่อทัพเสือใต้พลาดแชมป์บุนเดสลีกา ฤดูกาล 1990-91 ยอดกุนซือรายนี้เป็นอันต้องหลุดออกจากตำแหน่งไปตามระเบียบ

"บางครั้งการเป็นโค้ช ไม่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้ในทันที และไฮย์เกสต้องทำงานโดยที่เท้าเหยียบอยู่บนไฟตลอดเวลา เขาคือโค้ชที่สุดยอด ในฐานะโค้ชเหมือนกัน ผมเชื่อว่าทุกคนควรได้เวลาอย่างเต็มที่" พอล เชอร์ไน กล่าว

 

ไม่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร = ไล่ออก

ช่วงเวลาเดียวกันที่ประเทศอังกฤษ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ได้เวลาหลายปีในการสร้างทีมจนพา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ครองความยิ่งใหญ่ แต่นี่ไม่ใช่วิธีของทัพเสือใต้ การให้เวลาไม่ใช่สิ่งที่ได้เห็นบ่อยนัก กับสโมสรแห่งนี้

ไม่ใช่ปัจจัยด้านผลงานเพียงอย่างเดียว ที่สามารถทำให้โค้ชของถ้ำเสือหลุดออกจากตำแหน่ง แต่รวมถึงการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรด้วยเช่นกัน เพราะ บาเยิร์น มิวนิค มีแนวทางการทำงานที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน นั่นคือ การทำงานหนักอย่างมืออาชีพ แต่ขณะเดียวกันก็มีอีโก้ที่สูงจัด ไม่มีใครยอมใครง่าย ๆ 

เรียกได้ว่าต้องมีทั้งความสามารถในการคุมทีมขั้นสูง จิตวิทยาที่ยอดเยี่ยมในการจัดการนักเตะ และการปรับตัวที่ดีให้เข้ากับผู้บริหาร หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป ย่อมหมายความว่า อนาคตในฐานะเฮดโค้ชของบาเยิร์น อาจจบลงในอนาคตอันใกล้

Photo : Kicker

อ็อตโต เรฮาเกล ยอดกุนซือชาวเยอรมัน คือคนที่โดนบทเรียนนี้เข้าอย่างจัง เขาเคยได้เวลา 14 ปี กับ แวร์เดอร์ เบรเมน ในการสร้างทีมจนก้าวมาเป็นสโมสรชั้นนำของเมืองเบียร์ แต่เจ้าตัวกับได้โอกาสคุมบาเยิร์น ไม่ถึง 1 ปี ก่อนโดนตะเพิดออกจากตำแหน่ง

เรฮาเกล คือสุดยอดกุนซือมากฝีมือที่ใคร ๆ ก็ยอมรับ หากแต่วิธีการทำงานของเขาไม่เข้ากับ บาเยิร์น มิวนิค แม้แต่น้อย

เริ่มต้นตั้งแต่การที่เรฮาเกล ต้องการให้อำนาจทั้งหมดอยู่ในมือของเขา นักเตะ หรือผู้บริหาร ห้ามเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการตัดสินใจ ในการปลุกปั้นสโมสร ซึ่งเป็นวิธีการที่โค้ชรายนี้ ใช้สร้าง แวร์เดอร์ เบรเมน จนโด่งดัง

หากแต่ที่ บาเยิร์น มิวนิค ต่างออกไป ไม่มีใครในทีมใหญ่ไปกว่าผู้บริหาร แม้แต่เฮดโค้ชก็ต้องฟังผู้มีอำนาจกลุ่มนี้ ... ขณะที่นักฟุตบอลของบาเยิร์น ไม่ใช่นักเตะโนเนมแบบเบรเมน แต่แข้งเหล่านี้มีดีกรีทีมชาติ ความสำเร็จติดตัว และต้องการอำนาจที่จะตัดสินใจในห้องแต่งตัว เช่นกัน 

Photo : SPOX

สุดท้ายตลอดฤดูกาล 1995-96 จึงกลายเป็นการเกิดสงครามภายในสโมสร ระหว่าง โค้ช, นักเตะ และผู้บริหาร อันนำมาซึ่งการตัดสินใจสุดฉาวของ บาเยิร์น มิวนิค ที่ตัดสินใจปลดเรฮาเกลออกจากตำแหน่ง ก่อนเกมนัดชิงชนะเลิศ ยูฟ่า คัพ (ยูโรปา ลีก ปัจจุบัน) เพียง 4 วันก่อนการแข่งขันเท่านั้น

"มันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องจัดการเรื่องราวทั้งหมดเสียที เสียงความไม่พอใจในองค์กรดังขึ้นเรื่อย ๆ แต่เรฮาเกลไม่เคยสนใจกับสิ่งนั้น ความเป็นมืออาชีพของเราไม่เหมือนกัน (เรฮาเกล กับ บาเยิร์น) ถ้าเขาอยู่ในตำแหน่งต่อไป ทุกอย่างจะบานปลายมากกว่านี้" ฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์ ประธานสโมสรบาเยิร์น ในเวลานั้น กล่าวถึง การปลดเรฮาเกล

แม้จะเป็นการกระทำที่เรียกเสียงด่า ได้จากทุกสารทิศ ถึงการปลดเรฮาเกลออกจากตำแหน่ง เพราะนอกจากจะโหดร้ายกับโค้ชรายนี้ ผลลัพธ์ที่ตามมา คือ บาเยิร์น มิวนิค แพ้ 2 เกมติดในศึกบุนเดสลีกา พลาดการได้แชมป์ลีกในประเทศ ไปในที่สุด (โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ คว้าแชมป์ในปีนั้นไป) แม้จะคว้าแชมป์ ยูฟ่า คัพ ได้ก็ตาม

Photo : FC Bayern

ภาพตรงนี้ได้แสดงให้เห็นว่า บาเยิร์นพร้อมที่จะสละอนาคตระยะสั้น หากเห็นแล้วว่าโค้ชคนไหนไม่ตอบโจทย์กับการทำงานด้วยการในระยะยาว ทีมพร้อมจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในทันที

ดังนั้น การทำงานในสโมสรแห่งนี้ จึงต้องรู้จักที่จะเรียนรู้ปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมองค์กร รักษาความสัมพันธ์ของแต่ละฝ่ายให้ราบรื่น ไม่เช่นนั้นแล้ว การใส่คอนเวิร์สทางใครทางมัน สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

 

ทีมเยอรมัน ทำงานแบบเยอรมัน

บาเยิร์น มิวนิค คือทีมที่มีความเป็นเยอรมันในตัวสูงมาก นั่นคือพวกเขานิยมการทำงานอย่างเข้มข้น สุดความสามารถ เต็มที่ทุกวินาที หากอยู่ในชั่วโมงการทำงาน แต่ขณะเดียวกัน ต้องมีการวางแผนที่ละเอียด ชัดเจน มีประสิทธิภาพ 

สิ่งที่ บาเยิร์น มิวนิค ไม่ชอบ ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับที่คนเยอรมันส่วนใหญ่ไม่ถูกใจ คือการทำงานแบบสบาย ๆ ไม่ต้องมีแบบแผนมากมาย หรือเน้นการแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าทีละเปลาะ ต่อให้ได้ผลเป็นอย่างดี พวกเขาก็ไม่นิยม

ดังนั้นแล้ว โค้ชต่างชาติที่เข้ามาทำงานกับบาเยิร์น จึงมักเจอปัญหาความแตกต่างด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะชาติที่มีลักษณะนิสัยตรงกันข้ามกับคนเยอรมัน นั่นคือ อิตาลี และเนเธอร์แลนด์

สำหรับอิตาลี นี่คือชาติที่ไม่มีระเบียบวินัยสักเท่าไหร่นัก ทำงานอย่างไร้แบบแผน เพราะเน้นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ใช้จินตนาการ แต่ได้ผลดีมีประสิทธิภาพเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นี่คือสิ่งที่ตรงข้ามกับวิธีทางของเยอรมัน อย่างเห็นได้ชัด

Photo : Abendzeitung München

ตัวตนของแต่ละชาติ ถูกถ่ายทอดลงสู่ปรัชญาฟุตบอลอย่างชัดเจน รวมถึงสไตล์ในการทำทีมด้วย ยอดโค้ชชาวอิตาลีอย่าง โจวานนี ตราปัตโตนี ดึงเอกลักษณ์ของชนชาติบ้านเกิดมาใช้ในกีฬาฟุตบอล ด้วยการให้อิสระกับนักเตะ ค่อย ๆ ดึงจุดเด่นของผู้เล่นแต่ละคน มาสร้างเป็นแผนการเล่นของทีม แทนที่จะใช้ระบบที่คิดมาเป็นอย่างดี และให้ทุกคนปฏิบัติตามคำสั่ง

แนวทางของตราปัตโตนี ช่วยให้เขาประสบความสำเร็จอย่างมาก กับ ยูเวนตุส และ อินเตอร์ มิลาน สองทีมดังจากแดนมักกะโรนี เพราะวิธีการของเขา เข้ากับวัฒนธรรม นิสัยใจคอของชาวอิตาลีได้เป็นอย่างดี

แต่เมื่อย้ายมาจับงานต่างประเทศครั้งแรกในชีวิต กับบาเยิร์น มิวนิค ทุกอย่างเปลี่ยนไปคนละเรื่อง นักเตะเยอรมันงงเป็นไก่ตาแตก เมื่อพบเจอการทำงานแบบสบาย ๆ ของตราปัตโตนี 

Photo : FC Bayern

ในความเป็นจริงแล้ว โจวานนี ตราปัตโตนี เป็นชายที่ชอบความสมบูรณ์แบบ การทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ต่างจากคนเยอรมัน และมีความเป็น "บาเยิร์น มิวนิค" อยู่ในตัว ตรงที่ว่าเขาไม่มีทางรับได้ หากผลงานของทีมล้มเหลว หรือไม่เป็นไปตามเป้า แม้แต่นิดเดียว

หากแต่สุดท้ายแล้ว ความเป็นอิตาลีในตัวตราปัตโตนี ทั้งการมองฟุตบอลเป็นเรื่องของศิลปะ รวมถึงการเน้นใช้ไม้อ่อนในการควบคุมนักเตะ ซึ่งสวนทางกับวิถีทางแบบเยอรมัน ทำให้เขาไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น กับการคุมทัพบาเยิร์น มิวนิค โดยเฉพาะการคุมทีมครั้งแรกของตราปัตโตนี ในฤดูกาล 1994-95 ซึ่งเจ้าตัวถูกปลดทันที หลังผ่านไปเพียงฤดูกาลเดียวเท่านั้น และไร้แชมป์ติดมืออีกด้วย

Photo : Bavarian Football Works

คาร์โล อันเชล็อตติ คืออีกคนที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับ บาเยิร์น มิวนิค เพราะนิสัยความเป็นอิตาลีของเขา เช่น การสูบบุหรี่ที่สนามซ้อม ซึ่งกลายเป็นภาพที่ขัดใจเหล่าผู้บริหารทัพเสือใต้ จนถึงกับต้องมีการออกกฎว่า ห้ามบุคลากรทุกคนสูบบุหรี่ที่สนาม เพียงเพราะไม่ต้องการให้โค้ชใหญ่ของทีมสูบบุหรี่ อันเป็นภาพลักษณ์การทำงานที่แย่ ในสายตาของคนเยอรมัน

นอกจากนี้ สไตล์การฝึกซ้อมแบบสุดชิลของอันเชล็อตติ ยังเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เขาโดน บาเยิร์น มิวนิค เด้งออกจากตำแหน่ง ในฤดูกาล 2017-18 ทั้งที่ปีก่อนหน้ายังพาทีมคว้าแชมป์บุนเดสลีกา 

เนื่องจากแข้งเสือใต้ ไม่ว่าจะเป็น ฟรองค์ รีเบรี, อาร์เยน ร็อบเบน, โธมัส มุลเลอร์ และ โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี พากันรวมตัวกดดันผู้บริหารทีม ให้ไล่อันเชล็อตติออก เพราะไม่ชอบแนวทางการซ้อมแบบสบาย ๆ ซึ่งพวกเขามองว่าไม่ช่วยให้ฝีเท้าพัฒนาแม้แต่น้อย และอยากได้โค้ชที่ซ้อมแบบเข้มถึงใจ สไตล์เยอรมัน เข้ามาทำหน้าที่แทน

"โค้ชต่างชาติที่ไปทำงานในบาเยิร์น มิวนิค ต้องพิสูจน์ตัวเองเยอะมาก เพื่อให้ผู้เล่นยอมรับ กรณีของอันเชล็อตติ คือตัวอย่างที่ชัดเจนมากว่า การแยกทางไม่ได้เกิดขึ้นเพราะตัวเขา มีปัญหากับผู้บริหาร" มิชาเอล บัลลัค อดีตแข้งของทัพเสือใต้ กล่าวให้เห็นถึงความยากลำบากของโค้ชต่างชาติ ที่มาทำงานกับสโมสรแห่งนี้

Photo : Carlo Ancelotti

อีกหนึ่งชาติที่ต้องเจอปัญหานี้ คือเนเธอร์แลนด์ อย่าง หลุยส์ ฟาน กัล ยอดโค้ชผู้มีจินตนาการเต็มเปี่ยมในการสร้างสรรค์เกมลูกหนัง ไม่ต่างอะไรกับชาวฮอลแลนด์ ซึ่งเป็นผู้รักในอิสระ ชื่นชอบในอิสระเสรี เต็มไปด้วยจินตนาการ เรียกได้ว่าเป็นด้านตรงข้ามของเยอรมัน ที่ยิ่งกว่าอิตาลีเสียด้วยซ้ำ

หลุยส์ ฟาน กัล เข้ามาสร้างผลงานในปีแรกของเขา กับทพเสือใต้ด้วยการคว้าแชมป์ถ้วยใหญ่ในประเทศ ทั้ง บุนเดสลีกา และ เดเอฟเบ โพคาล รวมถึงเข้าชิงชนะเลิศฟุตบอล ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ในฤดูกาล 2009-10 แต่ฤดูกาลต่อมาทุกอย่างพลิกไปคนละด้าน

เอกลักษณ์ของฟาน กัล ตอนที่เขานำทัพบาเยิร์น คือเขาพร้อมที่จะทดลองทุกอย่างในสนามฟุตบอล ทั้งการสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งผู้เล่น หรือให้โอกาสผู้เล่นหน้าใหม่ ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดีในปีแรก

Photo : FC Bayern

แต่เข้าสู่ปีที่สอง ฟาน กัล ยังคงใช้จินตนาการอันล้ำเลิศของเขา แก้แผนตัวเองไปเรื่อย ๆ หากแต่กลายเป็นยิ่งแก้ยิ่งเละ จนทีมหลุดจากวงโคจรลุ้นแชมป์ไปตั้งแต่ช่วงครึ่งฤดูกาล สุดท้ายบอร์ดของบาเยิร์น ไม่ยอมรอไปมากกว่านี้ ปลดกุนซือรายนี้ออกจากตำแหน่ง ก่อนที่ฤดูกาล 2010-11 จะจบลงเสียอีก

ดังนั้นแล้ว โค้ชต่างชาติที่เข้ามาทำงานกับบาเยิร์น ต่อให้มีผลงานชัดเจน หรือชื่อเสียงมากมาย แต่หากย้ายเข้ามาแล้วปรับตัวไม่ได้ กับวิธีการทำงานแบบคนเยอรมัน สิ่งเดียวที่พวกเขาจะได้รับคือซองขาว ไล่ออกในท้ายที่สุด

 

ไม่มีมิตรภาพในถ้ำเสือ

หลายสโมสรจะเห็นได้ว่าความผูกพัน ระหว่างโค้ชกับทีม มีผลต่อการตัดสินใจว่า จะเลือกให้กุนซือคนนั้นยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปหรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม เรื่องของความผูกพัน ความรักที่มีให้กันระหว่างบุคคล ไม่มีส่วนเกี่ยวกับหน้าที่การงาน ในสโมสร บาเยิร์น มิวนิค เพราะที่นี่ต่อให้ชีวิตจริงสนิทกันมากแค่ไหน แต่ถ้าผลงานไม่เข้าตา หรือมีปัญหาเกิดขึ้น ต้องแยกทางกันสถานเดียว

Photo : UEFA

เยอร์เกน คลินส์มันน์ คือหนึ่งในอดีตนักเตะบาเยิร์น ที่ผันตัวมาคุมทีมเก่าในฤดูกาล 2008-09 ด้วยความคุ้นเคยกันดีกับทีมผู้บริหาร ทำให้บอร์ดของเสือใต้ไฟเขียวเต็มที่แก่โค้ชรายนี้ ปล่อยให้เขามีอำนาจในการตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว ในการสร้างทีมตามแบบฉบับของตัวเองขึ้นมา

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผลงานของทีมไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แถมคลินส์มันน์ยังมีปัญหากับผู้เล่นภายในทีมหลายคน จากวิธีการทำงานที่ไม่เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน ส่งผลให้บาเยิร์นทำการปลดโค้ชรายนี้ออกจากตำแหน่ง ก่อนจบฤดูกาลด้วยซ้ำไป

Photo : beIN SPORTS

คนต่อมาคือ นิโก โควัช อีกหนึ่งเด็กเก่าของทีม ที่กลับมาสู่สโมสรอีกครั้ง ในฐานะเฮดโค้ช เมื่อฤดูกาล 2018-19 ซึ่งโควัชเข้าตำราเดียวกับคลินส์มันน์เป๊ะ ๆ นั่นคือมีความสนิทกับผู้บริหารของสโมสรเป็นอย่างดี ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่

อีกทั้งในเวลานั้น บาเยิร์นเพิ่งปวดหัวกับการเข้ามาของโค้ชต่างชาติ อย่าง คาร์โล อันเชล็อตติ ที่ไม่ได้รู้จักธรรมเนียมของสโมสร ทีมจึงเลือกเอาโควัชเข้ามา เพราะมองว่ารู้จักวัฒนธรรมของทีมเป็นอย่างดี แม้จะเป็นชาวโครแอตก็ตาม อีกทั้งดีกรีก็พอมี คือการพา ไอน์ทรัค แฟรงค์เฟิร์ต คว้าแชมป์เดเอฟเบ โพคาล ด้วยการชนะบาเยิร์นในรอบชิงชนะเลิศ

อย่างไรก็ตาม โควัชก็ไปลงเอยแบบเดียวกับคลินส์มันน์ นั่นคือ ผลงานไม่ตามเป้า และคุมนักเตะไม่ได้ แม้จะได้แชมป์บุนเดสลีกา ในปีแรกที่ทำงานร่วมกับทีม แต่หลังจากเปิดฤดูกาลใหม่ได้เพียง 2 เดือน โควัชก็ถูกบอร์ดเสือใต้ปลดออกจากตำแหน่งทันที โดยไม่ต้องรอให้เวลาพิสูจน์ฝีมือ

Photo : Squawka Football

เช่นเดียวกับ ฮานชี ฟลิค ที่เพิ่งพาบาเยิร์นคว้าแชมป์ 6 รายการในปี 2020 และมีความสัมพันธ์ที่ดีอย่างมากกับฝั่งนักเตะ หากแต่เขาดันมีปัญหากับ ฮาซาน ซาลิฮามิซิช ผู้อำนวยการกีฬาของทีม เรื่องแนวทางการทำทีมที่ไม่ลงตัว โดยเฉพาะการซื้อผู้เล่นที่ฝั่งบอร์ดบริหาร ไม่ยอมซื้อนักเตะตามที่โค้ชรายนี้ร้องขอ แม้แต่คนเดียว

นำมาซึ่งการประกาศลาออกจากตำแหน่งของ ฮานชี ฟลิค ที่แม้จะผูกพันกับทีมเสือใต้ชุดนี้มากเพียงใด แต่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น เขารู้ตัวดีว่า จะไม่มีการประณีประนอมเกิดขึ้น ทำให้ยอดกุนซือรายนี้ขอเลือกเป็นฝ่ายที่จะเดินจากไป

มีโค้ชเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ที่ยุติช่วงเวลากับ บาเยิร์น มิวนิค อย่างสวยงามไร้ซี่งปัญหา เช่น อ็อตมาร์ ฮิทซ์เฟลด์, เป๊ป กวาร์ดิโอลา เพราะแม้แต่ จุปป์ ไฮย์เกส ผู้นำทีมคว้า 3 แชมป์ (บุนเดสลีกา, เดเอฟเบ โพคาล, ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก) ครั้งแรกของสโมสรในฤดูกาล 2012-13 ยังเคยผ่านประสบการณ์ถูกเด้งออกจากตำแหน่งแบบไม่ให้เวลา สมัยคุมทีมครั้งแรก

Photo : Kicker

เป็นเรื่องที่ยากมาก หากโค้ชสักคนจะอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอนของ บาเยิร์น มิวนิค ให้ได้อย่างยาวนาน เพราะสุดท้ายมีเหตุผลมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลงาน, วัฒนธรรมการทำงาน, ความสัมพันธ์ภายใน ที่ทัพเสือใต้สามารถใช้มาเป็นข้ออ้าง ไล่โค้ชออกจากตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม ถึงจะไม่มีโค้ชคนไหนอยู่ยืนหยัดยาวนานที่นี่ แต่ผลดีที่บาเยิร์นได้รับกลับมา คือสโมสรแห่งนี้ไม่เคยกลัวกับความเปลี่ยนแปลง ไม่เคยยึดติดกับอะไรเก่า ๆ พร้อมรับกับสิ่งใหม่ตลอดเวลา

ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญ ทำให้บาเยิร์นเดินก้าวไปข้างหน้า ไม่เคยหยุดอยู่กับที่ และรักษาความเป็นเจ้าแห่งวงการฟุตบอลเยอรมัน มายาวนานกว่า 50 ปี 

 

แหล่งอ้างอิง

https://fcbayern.com/en/news/2015/09/dettmar-cramer-obituary-180915
http://inbedwithmaradona.com/journal/2011/10/17/dettmar-cramer-the-football-professor.html
https://www.bavarianfootballworks.com/2019/7/18/20688850/bayern-munich-history-1980s-uli-hoeness-karl-heinz-rummenigge-klaus-augenthaler-lothar-matthaus
https://www.welt.de/sport/fussball/article110036134/Die-letzten-Jahre-waren-des-FC-Bayern-unwuerdig.html
https://www.kicker.de/_koenig_gegen_kaiser_rehhagel_und_das_bayern_missverstaendnis-779378/artikel
https://www.si.com/soccer/2019/08/12/giovanni-trapattoni-career-2-halves-defined-golden-era-calcio-juventus
https://www.dailymail.co.uk/sport/football/article-4802300/Bayern-Munich-boss-Carlo-Ancelotti-banned-smoking.html
https://www.espn.com/soccer/club/bayern-munich/132/blog/post/3216337/carlo-ancelotti-sacked-tactics-trouble-and-player-power-rule-at-bayern

Author

ณัฐนนท์ จันทร์ขวาง

let me fly you to the moon, my eyes have always followed you around the room 'cause you're the only.

Graphic

อภิสิทธิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์

Art Director ผู้รับเหมางานภาพกราฟิกหน้าปกบทความทุกชิ้น