ในไทยลีกฤดูกาลนี้ นับว่ามีประเด็นเซอร์ไพรส์ประการหนึ่ง นั่นคือการตื่นจากภวังค์ของ “ชลบุรี เอฟซี” อดีตยักษ์ใหญ่แห่งลีกสูงสุดของประเทศ ที่เป็นยักษ์หลับไปนานหลายฤดูกาล โดยพลพรรคฉลามชลยังเกาะกลุ่มหัวตารางอย่างเหนียวแน่น พร้อมกับฟอร์มการเล่นสุดสะเด่า และบรรดาสายเลือดใหม่แดนตะวันออก ที่พร้อมใช้พลังความสดไล่ตะบันคู่แข่งเป็นว่าเล่น
กระนั้น ไม่ใช่เพียงเรื่องทางฟุตบอลอย่างเดียว แต่ในช่วงที่ผ่านมา อะไรหลายๆ อย่าง ของชลบุรี เอฟซี ได้คลี่ปมออกมาให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นกรณีร่างสัญญานักฟุตบอลสุดเอ๊ะของ ชิตษณุพงศ์ โชติ กรณีชายเสื้อยืดขาวปริศนาที่เข้ามาควบคุมสถานการณ์ที่ วรวุฒิ สุขุนา ขับรถชน หรือแม้กระทั่งดราม่าไม่จับมือ ซึ่งทั้งหมดนี้ ชลบุรี เอฟซี มีการจัดการที่แหวกแนวมากๆ ทำให้ตรงนี้ อาจตั้งแง่สงสัยว่ามี “ความยูนีค” ไม่เหมือนกับสโมสรอื่นๆ ได้หรือไม่?
Main Stand จักพาไปพูดคุยกับ ชาลินี สนพลาย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับชลบุรี เอฟซี อย่างจริงจัง ในแง่ที่ว่า แท้จริงนั้น “ความเป็นชลบุรี (Chonburiness)” มีอยู่หรือไม่? หากมี แตกต่างอย่างไรกับสโมสรอื่นๆ? และท้ายที่สุด ความเป็นชลบุรี สามารถทำให้เกิดการเรียนรู้ ตระหนัก หรือเข้าใจ สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นองคาพยพต่างๆ ในประเทศไทย นอกเหนือจากฟุตบอลได้หรือไม่?
กราบสวัสดีครับอาจารย์
สวัสดีค่ะ แหมเป็นทางการเชียว
แน่นอนครับ ก่อนอื่นต้องขอเท้าความก่อนเลยว่า อาจารย์ไปตกลงปลงใจ ศึกษาเรื่องชลบุรี เอฟซี อย่างจริงจังได้อย่างไรครับ
คือพื้นฐานเราเป็นคนชอบดูฟุตบอล เราเป็นแฟนบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สำหรับฟุตบอลไทยก็คงเหมือนคนทั่วไปคือดูทีมชาติ แต่ไม่ได้ติดตามบอลไทยลีกขนาดนั้น แต่พอเข้าเรียนปริญญาโท อาจารย์เขามอบหมายให้เขียนเปเปอร์ เรื่องอะไรก็ได้ เราเลยนึกถึงฟุตบอลขึ้นมา พอลองไปค้นๆ ดู ไม่ค่อยมีงานศึกษาเรื่องนี้เป็นภาษาไทยอย่างจริงจัง ในแง่ของการเมือง มีแต่ภาษาอังกฤษ เลยรู้สึกว่าต้องทำเรื่องนี้ พอเขียนวิทยานิพนธ์ เราเลยทำเรื่องนี้ ที่ปรึกษาคือเชียร์มากๆ อยากให้ทำ เพราะตอนนั้น เป็นสิบปีมาแล้ว บอลไทยกำลังบูม แต่ว่ายังไม่ค่อยมีใครศึกษา จากนั้น เลยมาค้นหาต่อว่า ในไทย มีเคสไหนที่น่าหยิบยกขึ้นมาทำวิทยานิพนธ์
แน่นอน ณ ตอนนั้น ชลบุรี ถือได้ว่าน่าสนใจที่สุด ทั้งในแง่ของพื้นที่ คือตัวจังหวัดชลบุรีเอง หรือในแง่ของตัวสโมสรฟุตบอล คือสโมสร สำหรับคนทำวิทยานิพนธ์ ต้องตะโกนหา สรรหา information-rich case คือมีข้อมูลมากมายให้ศึกษา และฐานแฟนบอลตอนนั้นของชลบุรี คือกว้างขวางมากๆ อยู่ในพื้นที่หลายจังหวัดด้วยกัน และมีทั้งแฟนบอลหน้าใหม่และแฟนบอลเก่าแก่ด้วย คือผ่านช่วงเวลามาหลากหลาย มันเลยมีทั้งความกว้าง และความลึกเพียงพอที่จะศึกษาได้
ทีนี้ ในแง่ของจังหวัดชลบุรี การเมืองท้องถิ่นคือก็อยู่ในช่วงที่น่าสนใจมาก นักการเมืองของจังหวัดนี้ มีบทบาทสำคัญต่อการเมืองไทยอยู่ไม่น้อย ตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา และอีกอย่าง ในช่วงเวลานั้น (ทศวรรษ 2550) ชลบุรีกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน เพราะกำนันเป๊าะวางมือ และพวกลูกๆ ขึ้นมารับช่วงต่อแทน จึงไม่แปลกใจตนเองเลยที่เลือกชลบุรี
คืออาจารย์เริ่มต้นจากความสนใจทางวิชาการ แล้วค่อยๆ คืบคลานไปยังความสนใจทางฟุตบอลใช่ไหมครับ?
ก็ชอบฟุตบอลก่อน แล้วเป็นการพาของที่เราชอบ 2 อย่างมาเจอกันมากกว่า คือฟุตบอล กับวิชารัฐศาสตร์ แล้วสนามฟุตบอลเนี่ยมันมีเสน่ห์มากนะ แม้ว่าคุณจะเข้าไปในฐานะนักวิจัย แต่เมื่อได้เข้าไปซึมซับบรรยากาศในสนาม รู้ตัวอีกที เอ้า ไปตะโกนเชียร์กับแฟนบอลซะแล้ว
ทีนี้ มาเข้าเรื่องของเรานะครับ ในฐานะที่อาจารย์แตกฉานเรื่องชลบุรีมากๆ จึงอยากให้อาจารย์เคลียร์ศัพท์ที่ว่า “ความเป็นชลบุรี” ในแง่ฟุตบอล คืออะไรครับ?
ก่อนอื่นขอเท้าความเสียก่อน อย่างแรกเลย ชลบุรีถือว่ามีพันธกิจที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะเป็นสโมสรจากต่างจังหวัดสโมสรแรกที่คว้าแชมป์ไทยลีก ชนะทีมจากกรุงเทพได้ เวลาสปอตไลท์ในโลกฟุตบอลสาดส่องหา ก็จะออกแนวประมาณนี้ แต่หากเป็นแง่มุมของคนทำวิจัย ต้องบอกว่า เป็นภาพแทนของจังหวัดชลบุรีในเชิงพื้นที่ ทั้งในแง่ของการรวมกลุ่มอีลีทในพื้นที่ และพื้นที่สำหรับรวมกลุ่มของชนชั้นกลางและชนชั้นกลางระดับล่างด้วย
ในแง่ของชนชั้นนำในพื้นที่ (Local Elite) การทำสโมสรฟุตบอล ต้องใช้ทรัพยากรมาก จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าต้องให้ชนชั้นนำในพื้นที่เป็นกำลังหลักในการระดมทรัพยากร แต่พอดำเนินการไปสักระยะ บรรดาชนชั้นกลางและชนชั้นกลางระดับล่างจะเข้ามาผนวกรวมได้ในฐานะแฟนบอลที่ผูกพันภักดีกับสโมสรฟุตบอล มันเลยทำให้สโมสรฟุตบอลเป็นพื้นที่พิเศษ ที่เป็นทั้งการรวมตัวกันของเครือข่ายชนชั้นนำในต่างจังหวัด
เหมือนกับการตั้งก๊วนตีกอล์ฟ ใครออกรอบกับใครคือรู้เลยว่าเค้ามีสายสัมพันธ์กัน สโมสรฟุตบอลก็ทำงานแบบนั้นเช่นเดียวกัน คือเป็นพื้นที่ในการสร้างและรักษาเครือข่ายเลย เป็นพื้นที่ใหม่ของการดีลความสัมพันธ์ แต่ในอีกด้านหนึ่งมันมีพื้นที่สำหรับแฟนบอลด้วย ที่เป็นประชาชนธรรมดา ให้สามารถเข้ามาสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กันในพื้นที่นี้ได้เช่นกัน แล้วยังสร้างความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ที่ข้ามชนชั้นได้ด้วย คือระหว่างชนชั้นนำกับชนชั้นกลางและชนชั้นกลางระดับล่างในพื้นที่ แล้วชลบุรีก็เป็นสโมสรฟุตบอลที่สามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีมาก ๆ
โอ้ ฟังดูมีการผสานผลประโยชน์หลากหลายกลุ่มมากเลยครับ จึงอยากให้ Clarify เสียเล็กน้อยว่า กลุ่มที่ว่านี่ มีใครบ้างครับ?
เท้าความก่อน คือสโมสรฟุตบอลไทยเป็นพื้นที่ของการประสานผลประโยชน์มาตลอด ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะชนชั้นนำตามต่างจังหวัด ที่เข้าถึงทรัพยากรภาครัฐได้ ทั้งงบประมาณ ทักษะในการประสานงาน ความไว้วางใจกัน หรืออื่น ๆ การมีสายสัมพันธ์ที่ดีดังกล่าว ไม่ใช่การคอรัปชั่น ออกตัวไว้ก่อน แต่ระบบเป็นเช่นนี้ อีกด้านคือภาคเอกชน ชนชั้นนำเหล่านี้ในด้านหนึ่งคือนักธุรกิจด้วย ดำเนินกิจการเองด้วย หรือเป็นมือผสานผลประโยชน์เอกชนในพื้นที่กับภาครัฐด้วย ในแง่ที่ว่าเมื่อเขามีเครือข่าย มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ บางทีภาคเอกชนรายใหม่ที่อยากเข้ามาในพื้นที่ก็จะวิ่งเข้ามาหา
เพราะอย่างที่กล่าว การดำเนินธุรกิจจะได้สะดวกมากยิ่งขึ้น จากการเข้าหาอีลีทที่ดีลกับภาครัฐได้ ชลบุรีเป็นศูนย์รวมในแง่นี้ คือมีความสามารถในการประสานผลประโยชน์ได้หมด ทั้งในและนอกพื้นที่ และเมื่อสโมสรฟุตบอลได้รับความนิยม ติดตลาด มีฐานแฟนบอลมากขึ้น อย่าลืมว่าแฟนบอลคือลูกค้า คือประชาชน บรรดาธุรกิจที่แสวงหาผลกำไร จึงอยากเข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้ด้วย นอกจากนี้ ในอีกแง่หนึ่ง มันมีงานวิจัยต่างประเทศที่อธิบายด้วยว่าเมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปสนับสนุนหรือมีปฏิสัมพันธ์กับสโมสรฟุตบอลของท้องถิ่น จะทำให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกแก่กันและกันมากขึ้น ในทางที่ประชาชนที่เป็นแฟนบอลจะมีความรู้สึกที่ดีและให้ความร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นมากขึ้น ดังนั้นสโมสรฟุตบอลมันจึงเป็นพื้นที่ที่พิเศษมาก เพราะมันทำงานบนฐานของความรู้สึกผูกพันภักดีระหว่างสโมสรอันเป็นที่รัก กับแฟนบอลที่รักสโมสร มันเป็นเรื่องของความผูกพันทางด้านอารมณ์ความรู้สึก และสามารถแผ่ขยายออกไปสู่สิ่งอื่น ๆ ที่สนับสนุนสโมสรหรือเกี่ยวพันกับสโมสรได้ด้วย
อาจจะสรุปได้ว่า มีการสร้างสามเหลี่ยมความสัมพันธ์ คือ ภาครัฐ อีลีท(ผู้มีอิทธิพล)ในพื้นที่ และลูกค้าหรือประชาชน ในสมการความเป็นชลบุรีใช่ไหมครับ?
ภาครัฐที่ว่านี่คือบรรดาข้าราชการส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นเนอะ แต่ที่จริง บรรดาอีลีทก็เข้าไปฉวยใช้อำนาจในส่วนกลางได้ด้วย อย่างการเป็นรัฐมนตรีต่างๆ อะไรแบบนี้ คือจะนับรวมส่วนกลางไปด้วยก็ได้ เป็นองคาพยพเดียวกัน
อย่างนี้ อาจจะทำให้คิดไปถึงคำว่า “เจ้าพ่อ” ซึ่งถือได้ว่าในชั่วระยะเวลาหนึ่งของการเมืองไทย ถือได้ว่าเป็นศัพท์ที่ไม่รู้ไม่ได้ ชลบุรีหละครับ มีนัยของประเด็นดังกล่าวมากน้อยขนาดไหน?
ขอรวบเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของเจ้าพ่อกับการทำทีมฟุตบอลทีเดียวเลย เพื่อความไม่เสียเวลา คือสำหรับคนอายุประมาณ 40-50 ปี หรือคนที่ทันการเมืองตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เนี่ย กำนันเป๊าะคือภาพแทนของเจ้าพ่อเลย ไม่ใช่แค่ชลบุรีด้วย คืองี้ ไม่อยากชวนคุยแบบด้านมืด สีเทาอะไรแบบนี้ แต่จะกล่าวว่า เจ้าพ่อคือผลผลิตที่เกิดขึ้นจากเงื่อนไขทางการเมือง อย่างที่ทราบกันดีว่า ในยุคที่การเมืองปิด แต่การกระจายทรัพยากรต่างๆ มีมหาศาล ภายใต้โปรเจ็คการพัฒนาของรัฐไทยช่วงหลัง 2500 เป็นต้นมา
โดยเฉพาะการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไปลงที่หัวเมืองหมด พวกเจ้าพ่อ หรือชนชั้นนำในต่างจังหวัดเหล่านี้คือกลุ่มคนที่รู้จักรัฐพร้อมกับเข้าใจประชาชน เลยสามารถสั่งสมความมั่งคั่งได้จากโปรเจ็คการพัฒนาที่รัฐไทยผลักดันในเวลานั้น จนมีทรัพยากรเหนือคนอื่นๆ ในพื้นที่ และพอมีส่วนเกิน จึงนำมาช่วยเหลือคนในพื้นที่ จริงๆ ต้องบอกว่ารัฐไทยในช่วงเวลานั้นไร้ความสามารถในการจัดบริการสาธารณะให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เมื่อรัฐไร้ความสามารถเลยเปิดโอกาสให้เจ้าพ่อเข้ามาทำหน้าที่เหล่านี้แทนรัฐได้
ทีนี้ เจาะลึกไปที่กำนันเป๊าะ ซึ่งก็คือตระกูล “คุณปลื้ม” ใช่ไหมครับ แต่ในชลบุรี เอฟซี มีอีกตระกูลหนึ่งที่ชื่อว่า “สิงห์โตทอง” เข้ามาเกี่ยวพันด้วยในแง่การทำทีม อยากให้กล่าวถึงประเด็นนี้เสียเล็กน้อยครับ
จริงๆ ชลบุรีมีหลาย “บ้านใหญ่” อีกตระกูลก็ “เนื่องจำนงค์” และมาใหม่คือ “ชมกลิ่น” ซึ่งก็มีการแแข่งขันเพื่อชิงอำนาจนำในพื้นที่ แต่ขอบอกก่อนว่า สิงห์โตทอง กับ คุณปลื้ม ไม่ใช่ “คู่แค้น (Antagonist)” ซึ่งกันและกัน จริงๆ ต้องกล่าวถึงโควทกำนันเป๊าะที่ว่า “กินแบ่ง ไม่กินรวบ” ซึ่งไม่ได้หมายถึงการทุจริตนะ แต่หมายถึงการจัดสรรทรัพยากรและอำนาจทางการเมืองในพื้นที่อย่าให้เราใหญ่คนเดียว ต้องแบ่งความใหญ่ให้พวกอื่นๆ เขาเฉิดฉาย แล้วบริหารจัดการเครือข่ายให้ดี ความสัมพันธ์ของตระกูลสิงห์โตทองกับตระกูลปลื้มก็มีลักษณะทำนองนั้น คือแบ่งพื้นที่กัน ไม่ได้ขับเคี้ยวกันเอาเป็นเอาตาย หรือจ้องจะทำลายล้างกัน
แต่ในทางฟุตบอล สองตระกูลนี้มาเจอกันได้จาก “สถาบันการศึกษา” นามอัสสัมชัญ ศรีราชา บรรดาลูกชายไปเรียนที่นั้น คือเป็นที่ทราบกันดีเนอะว่า สถาบันการศึกษาเป็นอีกที่หนึ่งที่มีบทบาทในการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ของผู้คน แน่นอน ชลบุรีก็ไม่ต่างกัน โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชาก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่คนในชลบุรีมาเจอกัน และถักทอความสัมพันธ์ขึ้นที่นั่น ในกรณีของชลบุรีเอฟซี ผู้บริหารเค้ามาเจอกัน คือมาร่วมกันทำฟุตบอล ทำบอลโรงเรียนก่อน แล้วพอเติบใหญ่ ค่อยขยับขยายไประดับใหญ่ขึ้น แน่นอน ทุนทางสังคมและทุนทรัพย์มีเยอะ ไม่ใช่ปัญหาในการเดินตามฝัน
แต่เน้นย้ำว่า ชลบุรี เอฟซี คุณปลื้มและสิงห์โตทอง แยกการทำงานกันชัดเจน คือฝ่ายแรกนั่งเป็นเหมือนประมุขของทีม เป็นคนระดมทรัพยากรทางเศรษฐกิจมาทำสโมสร ส่วนฝ่ายหลังรับบทบาทในการบริหารสโมสร เป็นคนสร้างเครือข่ายและทรัพยากรทางฟุตบอลให้กับสโมสร ที่เด่นชัดที่สุดคือการสร้างบุคลากรทางฟุตบอล อย่างพวกอะคาเดมี หรือโค้ชต่าง ๆ และที่สำคัญ คือความพยายามในการทำงานเพื่อให้สโมสรมีสถานะเป็นภาพแทนของความเป็นชลบุรีทั้งปวง
ดังที่เห็นได้จาก การโปรโมท “เนย ซินญอริต้า“ หรือชื่อจริง “ลลิตา สิงห์โตทอง” คนที่ไม่ได้สนใจชลบุรีอาจจะมีน้อยคนจะรู้ว่าเนยอยู่ในตระกูลนี้ เป็นหลานคุณอรรณพ สิงห์โตทอง ให้มาร้องเพลงของสโมสรชลบุรี เอฟซี อีกคนก็คือ เบน ชลาทิศ ซึ่งเรียนที่อัสสัมชัญศรีราชา เป็นรุ่นเดียวกับคุณศศิศ ลูกชายคุณอรรณพไง
อาจจะกล่าวแบบศัพท์วัยรุ่นได้ไหมครับว่า ตระกูลคุณปลื้มคือ “หัวจ่าย” ส่วนตระกูลสิงห์โตทองคือ “สายเดิน”?
ขอเรียกแบบอาวุโสหน่อยนะคะ (หัวเราะ) คือคล้ายๆ หน้าที่ของ “ซีอีโอ” และ “ผู้จัดการ” คือทำหน้าที่ต่างกัน แต่ความปรารถนาคืออยากให้ชลบุรีก้าวไกล คือคุณอรรณพ สิงห์โตทอง เป็นคนที่มีแพสชั่นและมีความใฝ่ฝันในทางฟุตบอลสูงมาก หรืออย่างตอนนี้มีคุณ ศศิศ สิงห์โตทอง เป็นผู้จัดการทีม เขาเป็นที่คลุกคลีกับวงการฟุตบอลมาตลอด เคยทำงานในไนกี้มาก่อนด้วย อยู่ในส่วนงานที่ต้องดูแลหรือประสานกับนักกีฬา การดีลอะไรต่างๆ เลยง่ายขึ้น แต่แน่นอน คุณปลื้มก็ใช่ว่าจะเป็นฉากหลังเพียวๆ เพียงแต่เค้าไม่ได้ลงมาเล่นหรือแทรกแซงการทำงานเอง คือรู้หน้าที่กันไง ไม่ก้าวก่ายกัน
ทีนี้ กลับมาที่คุณปลื้มเล็กน้อย อาจจะบอกได้ไหมครับว่า เพราะไม่สามารถเล่นบทบาทนำในชลบุรีได้ เลยไปเล่นบทบาทนำในพัทยา ยูไนเต็ด ศรีราชา เอฟซี แทนในช่วงเวลาหนึ่ง?
ตรงนี้ขอออกตัวก่อนว่าไม่ได้ตาม 2 สโมสรนั้นเนอะ เราตามชลบุรี เอฟซี มันก็จะมีส่วนที่รู้บ้าง แต่คงไม่ละเอียดนัก แต่การนั่งของคุณอิทธิพล และคุณสนธยา คุณปลื้ม ในพัทยา และศรีราชา ก็ไม่ต่างจากการนั่งในชลบุรี คือไปนั่งเป็นประธานและทำหน้าที่ระดมทรัพยากร แต่ไม่ได้บริหารจัดการเอง ในช่วงเวลานั้นที่ชลบุรีมีสโมสรฟุตบอลอยู่ในมือเยอะ ส่วนสำคัญเป็นเพราะทุนทรัพยากรมนุษย์เยอะ ต้องมีที่ทางให้แสดงฝีเท้าไง แต่ภายหลัง ฟุตบอลเริ่มใช้เงินเยอะขึ้น เริ่มดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายไม่ได้ เลยผ่องถ่ายไปสู่มือของคนอื่น ๆ ที่สนใจรับช่วงต่อ
ทีนี้ เชิงตระกูลไปแล้ว เชิงบุคคลหละครับ อย่างคุณศศิศ ที่แบบสนิทไปหมด ขนาดนักเตะย้ายออกไปแล้วยังขับรถไปหา ตรงนี้ ถือเป็นความพิเศษไหมครับ ที่ผู้จัดการลงมาข้างล่าง ใกล้ชิดกับนักเตะขนาดนี้ แบบกอดคอ เฮฮาปาร์ตี้ ซึ่งไม่เหมือนกับที่ผู้จัดการคนอื่นๆ กระทำ?
คุณอย่าลืมนะคะว่าฟุตบอลแยกออกจากสังคมไม่ได้ คืออยากจะบอกอย่างนี้ ตรงนี้สำคัญมากๆ ห้ามตัดทิ้ง บางทีเรามักจะสร้างชุดความคิดที่ว่า “ฟุตบอลไทยไม่เจริญเพราะมีระบบอุปถัมภ์” จริง ๆ เราไม่ค่อยชอบคำนี้เท่าไร เพราะถูกเอาไปใช้จนกลายเป็นผู้ร้ายของสังคมในทุกเรื่อง แต่อยากจะชวนคุยแบบนี้ สิ่งที่มองเห็นในชลบุรีเนี่ย มันคือการให้คุณค่ากับ “ความสัมพันธ์” ซึ่งจริงๆ แล้วตัวสังคมไทยไม่สามารถตัดขาดสิ่งนี้ได้ แล้วฟุตบอลซึ่งปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ของสังคมไทยด้วย จะตัดขาดออกไปง่ายๆ ได้อย่างไร จริงไหม? วิถีบางอย่างจึงกำกับชุดวิธีคิดทางฟุตบอลไปด้วย
แล้วชลบุรีเนี่ย จริงๆ คนรุ่นพวกคุณอาจจะฟังแล้วระคายหู แต่พวกเขาอยู่กันแบบ “ครอบครัว” จริงๆ มีนักฟุตบอลยุคก่อนๆ มาดูแลน้องๆ คือช่วยหมดตั้งแต่วิธีการเล่นยันการดำเนินชีวิต หรือตัวผู้บริหารเองก็สัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักฟุตบอล มีการให้คำแนะนำเรื่องการบริหารจัดการเงิน การใช้ชีวิต คือไม่ได้มีเส้นแบ่งแบบนายจ้าง-ลูกจ้าง ชัดเจน
อยากจะเตือนไว้ว่า เวลาเห็นสภาพการณ์แบบนี้ ต้องทำความเข้าใจให้มากๆ อย่าไปตัดสินว่าแบบนี้ผิดแบบนี้ถูก คือ อยากให้เปิดใจ แล้วทำความเข้าใจ ว่าเหตุใดจึงเกิดอะไรแบบนี้ขึ้น อย่าไปด่วนตัดสิน จริงๆ เป็นทุกที่ โลกตะวันตกก็มี อย่าไปตีกรอบว่าเป็น Asian Values เหตุใดคุณไม่มีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างโรนัลโดกับเฟอร์กี้ แต่มามีปัญหากับชลบุรี ความสัมพันธ์ส่วนตัวมันคงแยกออกจากงานแบบเด็ดขาดไม่ได้หรอก เพราะมนุษย์เป็นมนุษย์ เรามีความรู้สึก มีความผูกพัน ใช่มั้ย นักบอลแมนยูหลายคนก็ชอบเฟอร์กี้ หรือชอบโซลชา เพราะเค้าใส่ใจดูแลนักฟุตบอลด้วยดี ดังนั้นมันทำให้หายไปไม่ได้หรอก แต่ที่ควรจะเป็นประเด็นคือ เราจะจัดการอย่างไรไม่ให้มันนำไปสู่การเลือกปฏิบัติจนเกิดปัญหาขึ้น
แหม่ พอมาถึงประเด็นปัญหานี้ เมื่อหลายเดือนก่อน “ชิษณุพงษ์ โชติ” โดนชลบุรียกเลิกสัญญา และในรายละเอียดของสัญญาที่เปิดเผยมานั้น พบว่ามีความแปลก แบบที่หลักสากลไม่ทำกัน คือเป็นไปในแนว “ให้โดยเสน่หา” แล้วนักเตะมา “เนรคุณ” ท้ายที่สุดแล้ว ตรงนี้อาจารย์คิดเห็นว่าเกี่ยวพันกับความเป็นชลบุรีอย่างไรบ้างครับ?
ขอแยกก่อน 2 ประเด็นนะคะ คือเรื่องสัญญาก็คือสัญญา แต่เรื่องคุณศศิศกับนักเตะก็อีกเรื่องหนึ่ง อย่าไปคิดรวมกันเป็นเรื่องเดียวกันขนาดนั้น ไม่แน่ใจว่า สโมสรอื่นๆ ก็อาจจะทำเช่นนี้ เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ
ส่วนเรื่องคุณศศิศกับนักบอล อย่างที่บอกคือ ความสัมพันธ์มันไม่ได้คิดในโหมดว่าเป็นนายจ้าง-ลูกจ้างไง แบบที่ได้กล่าวไป แล้วสายสัมพันธ์ของนักฟุตบอลกับสโมสรมันเลยไม่ได้จบลงเมื่อนักบอลเดินออกจากสโมสร หลายคนย้ายไปแล้วแต่ยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอยู่ ผู้บริหารและแฟนบอลยังคงนับว่าเขาเหล่านั้นคือคนในชุมชนชลบุรี เอฟซีอยู่
เหมือน วรชิต หรือเก่าๆ หน่อยก็พวก เอกพันธ์ ภูริทัต สินทวีชัย อดุล อะไรแบบนี้ อาจจะเว้นสุรีย์ไว้คนนึง (หัวเราะ) จินตนาการความเป็นชลบุรีมันกว้างใหญ่มาก พร้อมโอบรับคนจำนวนวมากไว้ในนั้น และไม่ได้ผลักไสกันออกไปง่าย ๆ
โห เรียกได้ว่าขยายขนาดถึงขั้นนั้นเลยหรือครับ?
ลืมบอกไปว่า ความเป็นชลบุรีนั้น อาจจะเรียกได้ว่ามีความเป็น “Inclusive Imaginary” หรือก็คือ หากเข้าร่วมครั้งหนึ่งแล้ว จะถือว่าเป็นสมาชิกของชุมชนนั้นตลอดไป เป็นกันหมด ทั้งผู้บริหารและแฟนบอล อย่าง สินทวีชัย เทิดศักดิ์ พิภพ อะไรแบบนี้ แม้จะไม่ได้อยู่ที่ชลบุรีแล้ว แต่ก็ยังถูกนับรวมด้วยอยู่
อย่างที่สินทวีชัยออกจากทีมไปตอนแรก แล้วสินทวีชัยพูดเหมือนกับว่ามีประเด็นบางอย่างที่ทำให้ตัดสินใจย้ายทีมใช่มั้ย แต่เค้าก็ไม่พูด และเราคิดว่าในอนาคตเค้าก็คงจะไม่พูด! (หัวเราะ) หรืออาจจะกล่าวในมุมกลับได้ว่า ฟุตบอลของชลบุรีไม่ได้เป็นธุรกิจไปเสียหมด หรืออาจจะกล่าวให้ดูยิ่งใหญ่ไปกว่านั้นได้ว่า “ชลบุรี เอฟซี คือทีมที่ผสานคุณค่าที่สังคมไทยยึดถือเข้ากับการบริหารฟุตบอลได้อย่างลงตัว”
โอเค ผู้บริหารไปแล้ว นักเตะไปแล้ว ทีนี้โค้ชหละครับ มีคนหนึ่งซึ่งถือได้ว่าสำคัญมากๆ อย่าง “โค้ชเฮง - วิทยา เลาหกุล” ที่เรียกได้ว่าเกาะชลบุรียันเงา ช่วยแทบจะทุกอย่างมาอย่างยาวนาน ตรงนี้ ถือเป็นความพิเศษในการโอบรับบุคลากรเข้ามาไหมครับ?
จริง ๆ โค้ชเฮงเนี่ยมีบุคลิกบางอย่างที่อาจจะร่วมงานกับคนไทยได้ลำบากหน่อยใช่มั้ย คือเป็นคนยอมหักไม่ยอมงอ อะไรแบบนี้ แต่บุคลิกแบบนี้ทำไมอยู่ในชลบุรีได้
สิ่งนี้คือข้อได้เปรียบของความ Inclusive ของชลบุรี คือไม่ได้ผูกขาดความเป็นเจ้าของไว้กับตนเองเพียงลำพัง ทำให้ทุกคนที่อยู่ในที่นั้นมีพื้นที่ของตัวเอง สามารถทำอะไรที่ตัวเองอยากทำ แล้วยังอยู่ในชุมชนความเป็นชลบุรีได้ คือไม่มีมาขัดแข้งขัดขา อยากใส่ไม่ยั้งแบบไหนได้หมด เลยกลายมาร่วมหอลงโลงกันไง เป็นศูนย์รวมใจอีกคนหนึ่งในชลบุรี
เคยคุยกับคุณอรรณพครั้งหนึ่ง เขาให้ความสำคัญกับการสร้างภาพแทนเรื่องนี้อย่างมาก หรือการมีเลขานุการสโมสรที่เคยเป็นแฟนบอลชลบุรีมาก่อน ก็เป็นอีกปัจจัยนึงที่ทำให้สโมสรกับแฟนบอลมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน สื่อสารกันได้ เข้าใจหัวอกของกันและกัน ทำให้แฟนบอลก็ไม่ได้รู้สึกว่าถูกกีดกันออกจากความเป็นเจ้าของสโมสร หรืออย่างห้องประชุมชลบุรี ใช้ชื่อว่า “อ่อนโม้” มาจากใครไม่ต้องสืบนะคะ (หัวเราะ) ก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้สโมสรเป็นของทุกคน
แน่นอนครับ ขนาดจัดเทสติโมเนียลแมทช์ให้ ถือว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว
เห็นไหม Inclusive มีข้อดีแบบนี้ คือพยายามทำให้เป็นของทุกคนจริงๆ ไม่ใช่ในเชิงธุรกิจ แต่เป็นเชิงจิตวิญญาณ คือความรู้สึกร่วมไง ซึ่งแน่นอน เป็นเรื่องค่อนข้างพื้นฐาน ใครๆ ที่ดูฟุตบอลย่อมทราบกันดี
ทีนี้ ผมสะกิดใจบางอย่างครับ ในแง่ที่ว่า หากเป็นไปอย่างที่อาจารย์นำเสนอ เท่ากับ เราสามารถกล่าวได้ว่า ชลบุรี เป็นขั้วตรงข้าม “ความเป็นสากล” โดยสิ้นเชิง ไหมครับ?
นั่นไง ว่าแล้ว ประเดี๋ยวขอเคลียร์ประเด็นนี้ให้ชัดๆ ไปเลย นั่นเป็นเรื่องของวิธีคิดที่ว่าด้วยเรื่อง “Universal” หรือความเป็นหลักสากลบางอย่าง คือเวลาดูบอล พวกคุณมักคิดไปเรียบร้อยแล้วว่า จะต้องมีหลักบางอย่างที่สามารถทะลุทะลวงพื้นที่และเวลาได้ หรือเรียกว่า “Universal” แต่จริง ๆ แล้ว Universal เนี่ย มันคือ “Westernization” รึเปล่าคะ
ถึงแม้ว่าฟุตบอลมันจะถูกทำให้เป็นกีฬาสมัยใหม่โดยฝีมือของชาติตะวันตก แต่อย่าลืมว่า เมื่อฟุตบอลเดินทางไปถึงพื้นที่อื่น ๆ ในโลกนี้ สังคมในแต่ละที่ ก็ส่งผลต่อการทำฟุตบอลในแต่ละที่เช่นกัน คือคุณเลี่ยง Context ไม่ได้ อย่าไปคิดว่ามี universal ทุกที่มีที่ทางของตนเอง ตรงนี้ ต้องยอมรับให้ได้ ใครจะรู้ ว่าการทำตาม Western จะทำให้ฟุตบอลพัฒนาจริงๆ เดินเวย์นี้เท่านั้นจึงจะสัมฤทธิ์ผล คือใช่หรือ? ครั้งหนึ่งโลกก็เชื่อว่าต้องเดินตาม Modernization Theory เท่านั้น จึงจะกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ใช่มั้ย แต่ว่าประสบการณ์จากหลายประเทศก็พบว่าไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปแบบนั้น ฟุตบอลก็เช่น เห็นชลบุรีตอนนี้ไหม หัวตารางนะคะ! ขอกล่าวแบบถอดความเป็นนักวิชาการเล็กน้อย (หัวเราะ) แต่แน่นอน ลุ้นแชมป์ก็อาจจะยาก แต่ยั่งยืนแน่นอน
หรืออาจจะกล่าวได้ไหมครับว่า สโมสรที่อื่นๆ ในไทยก็เป็นแบบนี้ แต่ชลบุรีเห็นชัดที่สุด?
ใช่เลย ชลบุรีอยู่มานานไง คือจริงๆ ก็มีทีมที่อยู่มานานกว่า อย่าง เทโร ศาสน นี่ทีมองค์กรที่อยู่มายาวนานที่สุดในไทย น่าสนใจไม่ต่างกับชลบุรีเลย แต่แก่นแกนบางก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง เพราะนั่นทีมองค์กรไง ไม่ได้ยึดโยงอะไรกับท้องถิ่น แต่การบริหารจัดการ ความสัมพันธ์ต่างๆ ของผู้บริหารกับนักเตะ ก็คล้ายๆ กัน
สุดท้ายนี้ มีอะไรอยากฝากถึงแฟนบอลทางบ้านไหมครับ?
แน่นอน นอกจากเชียร์ชลบุรี ฟุตบอลนอก เรายังเชียร์ทีมที่กำลังร้อนแรงที่สุด ณ ขณะนี้ อย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กล่าวอย่างมั่นใจเลยนะคะ พวกเรากลับมาแล้ว! (หัวเราะ) และอีกอย่าง เข้าสนามไปรับชมไทยลีกเถิดนะคะ ไปดื่มด่ำบรรยากาศ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมแฟนบอล เพราะแฟนบอลในสนามเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้สโมสรฟุตบอลอยู่ได้ สโมสรที่ยิ่งใหญ่ ต้องการแฟนบอลที่ยิ่งใหญ่เช่นกัน
อีกอย่างหนึ่ง อยากให้บอลไทยอยู่คู่กับสังคมไทยไปเรื่อยๆ จริงๆ แล้ว ฝากความหวังไว้ที่ไทยลีกมากกว่าทีมชาติ หากพัฒนาดีๆ จะเป็นเรื่องของการเสริมแกร่งให้ทีมชาติ และเป็นส่วนหนึ่งให้พื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย จัดการความสัมพันธ์ของ “ความเป็นไทย” บางอย่างที่มาจากเบื้องล่าง คืออย่าให้ส่วนกลางมากำหนดความเป็นไทย สโมสรทั้งหลายในท้องถิ่นต้องเป็นหนึ่งในองคาพยพที่จะจัดการความสัมพันธ์ดังกล่าว นี่คือความหวังที่ขอฝากฝังไว้