Feature

ผศ.ดร. ถิรภาพ ฟักทอง : วิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์จุลภาค เรื่องความเป็นแรงงานกับวงการกีฬา | Main Stand

ในปัจจุบัน การคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์มักเป็นไปในลักษณะ “มหภาค (Macroeconomics)” ที่เป็นการเสนอวิธีคิดในลักษณะ “องค์รวม” เพื่อให้เห็นถึงผลจากระบบในภาพกว้าง ซึ่งจะเข้ามากระทบต่อบุคคล และทำให้สามารถรับรู้ เข้าใจ และฉายภาพความคิดบางอย่างได้อย่างชัดเจนเหนือไปจากแค่การรับรู้เดิมของตนเองมากยิ่งขึ้น

 


กระนั้นหลายต่อหล่ายครั้งกลับมีลักษณะ “เหมารวม” เกินไป ทำให้วิธีคิดแบบ “จุลภาค (Microeconomics)” ที่เน้นความสำคัญของ “ภาพย่อย” ในเชิงลึกเป็นสำคัญกลับขึ้นมามีที่ทางอีกครั้ง โดยเฉพาะในเรื่องของ “แรงงานกับวงการกีฬา” ที่บางครั้งไม่สามารถพิจารณาได้จากองค์รวม เพื่อนำไปทำความเข้าใจสังคมที่มีความซับซ้อนได้

ผศ.ดร. ถิรภาพ ฟักทอง อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงทำการแถลงไขให้เห็นถึงความสำคัญของเศรษฐศาสตร์จุลภาค ในฐานะวิธีคิดทางเศรษฐศาสตร์รูปแบบหนึ่ง ที่อาจตอบคำถามบางประการเกี่ยวกับแรงงานและวงการกีฬาได้

แล้วเศรษฐศาสตร์จุลภาค จะเกี่ยวข้องกับกีฬาได้อย่างไร ? ติดตามหาคำตอบไปกับ Main Stand ได้ที่นี้

 

กราบสวัสดีครับอาจารย์

สวัสดีครับ วันนี้เราคุยกันสบาย ๆ นะครับ ผมรู้อะไรผมตอบไปแบบนั้นนะครับ

แน่นอนครับ เนื่องในวาระที่อาจารย์ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะทำงานดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และกำหนดข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านเศรษฐกิจการแรงงานระหว่างประเทศ ยินดีด้วยครับ

ขอบคุณมาก แต่จริง ๆ ผมไม่ได้เชี่ยวชาญด้านแรงงานอะไรมากมายขนาดนั้น จริง ๆ แล้วผมเรียนมาทางสายปริมาณวิเคราะห์ ก็คิดว่าตนเองจะถนัดตรงนี้เป็นส่วนมาก

 

สิ่งนี้คืออะไรหรือครับ ?

เศรษฐศาสตร์ปริมาณวิเคราะห์ (Quantitative Economics) คือเครื่องมือของนักเศรษฐศาสตร์ ที่ทำให้เราเป็นนักเศรษฐศาสตร์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ คือสามารถที่จะชี้แบบ How Much How Many ได้ เราจะค้นพบความสัมพันธ์บางอย่างด้วยวิธีการทางสถิติ คณิตศาสตร์ ผสมกับความเป็นวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ อาทิ ผู้ว่าแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 1 กระทบกับภาคส่วนใด ร้อยละเท่าไร เอกชนจะลงทุนน้อยลงร้อยละเท่าไร คือสหสัมพันธ์ เป็นการทำให้ทฤษฎีออกมาเป็นตัวเลขที่จับต้องได้

 

คือเน้นแบบ Practical ใช่ไหมครับ ?

แน่นอน อย่างการกล่าวว่า เงินมากขึ้น บริโภคมากขึ้น เด็กมัธยมสมัยนี้ก็เข้าใจ แต่การกล่าวว่า บริโภคจะเป็นเท่าไรเมื่อมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น นี่สิประเด็น แต่สิ่งนี้เป็นไปในลักษณะของเครื่องมือ คือมีไว้ให้ประยุกต์ใช้ นำไปทำความเข้าใจประเด็นใด ๆ ได้หมด แทบทุกแขนง ไม่ใช่เพียงวิชาเศรษฐศาสตร์ด้วย แต่พวกวิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ก็นำไปใช้ได้ทั้งหมด เพียงแต่ว่าบริบทในการใช้นั้นแตกต่างกัน

 

อย่างนี้อาจารย์ได้นำมาใช้ในเรื่องของแรงงานใช่ไหมครับ ? 

ผมมีความสนใจเป็นหลัก เป็นหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต เกี่ยวกับบุคคล ดูจับต้องได้ เลยเข้ามา ณ จุดนี้ แต่หลัง ๆ ผมพยายามขยายองค์ความรู้ออกไป อย่างการไปพิจารณาเรื่องของภาคการเกษตรกรรม ภาคการประเมินผลกระทบจากการลงทุนภาครัฐของเอกชน พยายามไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ 

แต่กระนั้นผมก็ยังไม่ทิ้งเรื่องแรงงาน เพราะผมพยายามทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์บางอย่างทำให้กับคนที่ผมไปให้คำปรึกษา และผมเองก็เพิ่งจะมีโอกาสเข้าไปในกระทรวงแรงงานไม่นานนี้ จริง ๆ ทำมานานแล้ว สร้างและฝึกลูกศิษย์มาหลายรุ่น ไม่ได้เข้าหากระทรวง เราทำของเราไป จนล่าสุดผู้ใหญ่ถามว่าไปอยู่ไหนมา ทำไมเพิ่งมาป่านนี้ด้วยเหมือนกัน (หัวเราะ)

 

เช่นนั้น สิ่งนี้คือวิธีการที่อาจารย์ใช้ในการทำความเข้าใจอะไรบางอย่างใช่ไหมครับ ?

ใช่เลย เอ้อ จริง ๆ ในมุมของปริมาณวิเคราะห์นี่ เครื่องมือที่ผมถนัดอีกอย่างจะเป็นกลุ่ม Economics Modelling ซึ่งเป็นการทำแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ คือทำคำอธิบายทางเศรษฐศาสตร์ด้วยคณิตศาสตร์ แต่ตอนที่ผมจบมาใหม่ ๆ พวกข้อมูลระดับพฤติกรรมขาดแคลนมาก และประสิทธิภาพของการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์อาจจะยังไม่พัฒนาเท่ากับในปัจจุบัน แต่ตอนนี้ทุกอย่างดีขึ้นมาก 

สิ่งที่ผมชอบเลยเป็นจริงได้ ลองจินตนาการนะครับ สมมุติผมอยากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เวลาเราขึ้นไปแล้วผลกระทบมันเกิดขึ้นเลย ผู้ดำเนินนโยบายจะกดปุ่ม reset แบบใน Game ไม่ได้ จึงต้องมีการคาดการณ์ผลกระทบขึ้นมา พวกผมต้องช่วยผู้ดำเนินนโยบายในการคาดการณ์ผลกระทบที่เกิดตามมา ซึ่งซับซ้อนมาก ๆ ต้องสำรวจอย่างจริงจัง ต้องเจาะไปในเชิงพื้นที่และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจริง ๆ หรือกล่าวได้อีกแบบคือ คุณควรจะศึกษาในมุมมองของเศรษฐศาสตร์จุลภาค (Microeconomics) เป็นสำคัญ

 

โอ้ เศรษฐศาสตร์จุลภาค ศัพท์นี้ได้ยินมานาน ว่าแต่สาระสำคัญคืออะไรหรือครับ ?

คือโดยปกติคนมักคิดในลักษณะของ เศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics) แต่ในความเห็นผม ความน่าสนใจของข้อมูลมหภาคมันอาจจะลดลงไปมาก เพราะจุลภาคคือการศึกษาพฤติกรรมระดับบุคคล ครัวเรือน แล้วในยุคนี้ทุกคนอยากได้ข้อมูลในระดับบุคคลทั้งนั้น เพื่อมาหานโยบายหรือการแก้ปัญหาที่มาจากการเป็น Data-driven จริง ๆ 

อาทิ หากอยากศึกษาเรื่องการบริโภค ถ้าคุณใช้มหภาค คุณจะเห็นแต่องค์รวมว่าการบริโภคในภาพรวมดีขึ้น แต่หากใช้จุลภาคเราอาจพบว่าอาจจะมีคนส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนน้อยที่บริโภคมากเกินขนาด และหลายคนอาจจะไม่บริโภคเลย ซึ่งข้อมูลมหภาคที่ได้มาถือว่าไม่ครบถ้วนในกรณีนี้ ทำให้ข้อสรุปที่ว่าการบริโภคโดยรวมของทั้งประเทศมันดีขึ้นนั้นอาจจะไม่ใช่แบบนั้นจริง ๆ ดังนั้นผมคิดว่าการมองในหน่วยย่อยแบบจุลภาคน่าจะดี แต่หากไปถามคนอื่นอาจจะตอบอีกแบบ

 

หรือก็คือ เศรษฐศาสตร์จุลภาค ทำให้เรา “คิดลึก” มากขึ้นใช่ไหมครับ ?

ข้อมูลพฤติกรรมสำคัญมาก มีค่ามาก ๆ แต่เข้าถึงได้ยากมาก ต้องลงทุนเพื่อให้ได้มา ง่าย ๆ เลย หากจะชี้ให้เห็นถึงความสำคัญ สิ่งนี้สำคัญกับวิธีคิดของคนเราอย่างมาก เป็นการคิดแบบหน่วยย่อยที่ไม่ได้เหมายกเข่ง และที่สำคัญจุลภาคเป็นวิธีคิดที่อยู่คู่กับบุคคล เราทำเป็นเรื่องปกติ เป็นชีวิตประจำวันเลย สมมุตินะ ยกตัวอย่างให้คนอ่านที่เป็นคอกีฬาเข้าใจ คุณเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอล เวลาร่างสัญญาจ้างให้นักเตะควรร่างแบบไหน ให้ค่าตอบแทนเท่าไร จ่ายโบนัสเท่าไร ตั้งราคาขายเท่าไร โก่งได้ไหม มีวันหยุดให้ไหม พวกนี้จุลภาคหมด เป็นการตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์ที่เราสนใจ

เวลาจะจ้างใครสักคน จ้างคนเก่งก็ต้องให้ค่าจ้างตามความสามารถ เราคงไม่โยนเงินทิ้งให้ไปเฉย ๆ ต้องวัดให้ได้ อย่างการมาสัมภาษณ์ผมวันนี้คุณคิดอะไรมาบ้าง ตอนนั่งรถเมล์มาคุณก็คิดว่า ค่าโดยสารเท่าไร นั่งสายไหนถึงไปทันเวลานัดหมาย สายไหนเร็วที่สุด ถูกไหม นี่แหละจุลภาคทั้งนั้น อีกอย่างหนึ่งมหภาคใคร ๆ ก็พูดได้ เช่น การท่องเที่ยวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่หากจะบอกว่า นักท่องเที่ยวลงตรงไหน ย่านไหน จ่ายเงินอย่างไร จ่ายเมื่อไร อะไรเป็นปัจจัยให้ยอมจ่าย มีภาคธุรกิจในย่านไหนได้ประโยชน์และเติบโตอย่างไร ตรงนี้ถึงจะทำให้สามารถออกนโยบายได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ

 

โอเคครับ ทีนี้กลับมาที่เรื่องแรงงาน หลังจากที่อาจารย์ได้เกริ่นไว้ อยากทราบว่าในขอบข่ายของเศรษฐศาสตร์ ศัพท์ว่า แรงงาน มีความหมายครอบคลุมกลุ่มใดในสังคมครับ ?

จริง ๆ กว้างมาก เพราะเศรษฐศาสตร์เรานับว่าแรงงานเป็น “ปัจจัยการผลิต” ต่อมาในโลกของความเป็นจริงเรานิยามแคบลงไปว่า “คนที่อยู่ในวัยทำงาน และพร้อมจะทำงาน” 15 - 65 ปี แต่เดี๋ยวนี้อายุ 60-70 ยังขับแกร็บได้ยังมี โดยนับรวมพวกคนที่พร้อมทำงานแต่ไม่มีใครจ้าง ไม่มีงานทำ นี่ก็นับเป็นแรงงาน เหมือนมุกตลกในทวิตเตอร์ที่ว่า Not Unemployed, Called Promoted to Customer อะไรแบบนี้ ไม่ได้มาสนว่าจะเป็นฟรีแลนซ์ เต็มเวลา หรือคอนแทร็กต์ 

 

อย่างนักกีฬานี่เข้าข่ายเลยนะครับ

แน่นอน หากนิยามตามแบบข้างต้นเข้าข่ายหมด เพียงแต่พวกนักกีฬาบางท่านมีรายได้ในระดับสูงอย่างมีนัยสำคัญ และมีค่านู่นค่านี่อื่น ๆ แบบที่แรงงานทั่วไปไม่มีก็เท่านั้น

 

แล้วที่อาจารย์เปิดหัวไว้ว่า การกีฬาเป็นเศรษฐศาสตร์จุลภาค ช่วยขยายความจุดนี้ได้ไหมครับ ? 

จริง ๆ เมืองนอกสอนเรื่องนี้กันอย่างแพร่หลาย ในไทยนี่ผมยังหาไม่เจอ อาจจะมีก็ได้นะ เพราะกีฬาในเมืองนอกสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมระดับมหาศาล สร้างงาน สร้างอาชีพมากมาย นักเศรษฐศาสตร์จึงไม่พลาดที่จะเข้าไปทำความเข้าใจ คือมีเรื่องของค่าจ้างเป็นสำคัญ โดยวงการกีฬา อย่างที่บอก เป็นวงการหนึ่งที่มีความชัดเจนที่ “ศักยภาพ” ค่อนข้างไปด้วยกันกับ “ค่าจ้าง” อันนี้ผมอ้างอิงจากงานศึกษาในต่างประเทศนะ ในทางเศรษฐศาสตร์เนี่ย ศักยภาพหรือความสามารถนั้นจริง ๆ วัดยากมาก แต่กับกีฬาคือถ้านักกีฬาท่านนั้นมีของจริง ๆ สโมสรก็พร้อมทุ่มไม่อั้น 

อีกเรื่องที่สำคัญคือ Competitive Balance คือการแข่งขันแบบคู่คี่สูสี แนวคิดนี้มาจากการที่ทุกคู่แข่งขันสามารถต่อกรได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ มีการโงหัวขึ้นมาได้บ้าง อย่างการเกิดขึ้นของ Financial Fair Play นี่ไง ต้องเข้าแทรกแซงกลไกไม่ให้ทีมแบบเจ้าบุญทุ่มเกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ ดูดแต่นักเตะศักยภาพเทพ ๆ ทุกปีแล้วได้แชมป์ นี่คือแกนหลักของเรื่องนี้ อย่างพรีเมียร์ลีกนี่ผมเห็นว่าเข้าข่ายของการมี Competitive Balance ที่มากขึ้น คุณดูทีมอย่าง ไบรท์ตัน ตบทีมใหญ่รัว ๆ ไม่ใช่มาแบบไม่มีมือไม่มีเท้า เล่นรอโดน หรือ นิวคาสเซิล อะไรแบบนี้ ฤดูกาลนี้ก็มาเฉยเลย มันทำให้เราดูกีฬาได้ตื่นเต้นและสนุกมากขึ้น

 

เราเห็นว่านักกีฬานี่มีความพิเศษกว่าอาชีพอื่น ๆ คือมีการสร้างมาแต่เด็ก อย่างพวก โปรเม หรือ เจ ชนาธิป พวกนี้แบบจุลภาคมาก ๆ อาจกล่าวได้ว่าหากตอบในเชิงเศรษฐศาสตร์ พวกนี้เป็นแรงงานตั้งแต่เด็กหรือพร้อมทำงานตั้งแต่เด็กหรือไม่ครับ ?

คิดว่าเป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์เสียมาก สมมุติคุณมีลูก คุณรู้อนาคตไหมว่าลูกคุณจะเป็นอะไร คุณไม่ได้เกิดมาแบบพวกมดถูกไหม เราเลือกลงทุนได้อย่างไร ดังนั้นจะต้องมีการบริหารความเสี่ยง เราต้องมองให้ครบองคาพยพ ประเด็นคือ ลงทุนแล้วมีผลลัพธ์ได้แค่ 3 ทาง อย่างแรก ลูกคุณยอมแพ้ ไปไม่สุด ค่าเสียเวลาตามมาอีกบาน หรือเป็นได้แต่แค่ระดับทั่วไป แต่หากโชคดีลูกคุณก็จะกลายเป็นเมสซี่ไปเลย 

แต่ประเด็นคือเสี่ยงมาก ๆ การลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์ทางด้านกีฬาเนี่ย พ่อแม่ที่มาในทางนี้คือใจถึงและต้องแกร่งมาก ๆ ในไทยเพิ่งตั้งไข่ด้านกีฬา หากเกิดโชคร้ายไปพบอคาเดมีไม่ดี ความเสี่ยงยิ่งมากตามไปด้วย เทียบกับโลกตะวันตกที่มีอคาเดมีดี ๆ มากมาย หากไม่ฉายแสงกับที่นี่ก็อาจจะลองไปที่อื่นได้ โอกาสเติบโตมีช่องทางชัดเจน ซึ่งส่วนตัวคิดว่าเสี่ยงไม่เท่าบ้านเรา น้อยคนที่ตบลูกแล้วจะได้ดีแบบ เจ ชนาธิป ทางที่ดีต้องสัมพันธ์กับระบบระเบียบบางอย่างจะได้ไม่ต้องมาเสี่ยง พ่อแม่คือผู้บริหาร ต้องบริหารความเสี่ยงให้ได้ ระบบที่วางไว้ต้องช่วยลดความเสี่ยงจึงจะไปกันได้

 

เมื่อใช้ศัพท์แบบผู้บริหารเช่นนี้ ทำให้นึกถึง “การกำหนดนโยบายภาครัฐ (Policy)” ขึ้นมา เลยอยากให้ช่วยออกแบบนโยบายแรงงานที่สามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาเรื่องการกีฬา และจะเป็นไปได้ในรูปแบบไหนครับ ?

จริง ๆ คำถามนี้ตอบได้ไกลกว่าวงการกีฬา แต่หากให้คิดเร็ว ๆ ผมเน้นเลยนะครับ นั่นคือ “ดูแลคนกีฬาให้ดี ๆ” คุณอย่าลืมว่าพวกอาชีพที่รายล้อมกีฬานี่มีมากมาย คนดูแลหญ้าในสนาม พนักงานรักษาความปลอดภัย แม่บ้าน พวกนี้ต้องนับเป็นคนกีฬาทั้งหมด ต้องทำให้กินดีอยู่ดี ใช้ชีวิตอยู่กับกีฬาได้ และที่สำคัญพวกสตอรี่ในไทยอย่างการเตะบอลวันหยุด วันธรรมดาไปทำงานโรงงานอะไรแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้น กีฬาต้องเป็นอาชีพจริง ๆ ในอังกฤษก็มีพวก แอนดี้ โรเบิร์ตสัน หรือ เจมี่ วาร์ดี้ อะไรแบบนี้ แต่พอพวกเขาเล่นอาชีพแล้วก็คืออาชีพไง ของไทยยังขาดตรงนี้ นักเตะลีกรองนี่ก็เพียบเลย 

ซึ่งจะให้เกิดขึ้นได้ต้องมาจากสัญญาจ้างที่เป็นธรรม การให้รายได้อย่างเพียงพอให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นการสนับสนุนของคนไทยด้วยกันเอง ไม่ใช่ว่านักบอลสบายมีอยู่กับแค่สโมสรท็อป 4 ของไทยลีกเฉย ๆ ซึ่งตรงนี้รัฐทำไม่ไหว รัฐจะไปรู้ดีเท่าสโมสรได้อย่างไร คุณลองคิดว่าถ้านำข้าราชการสายกีฬาไปบริหารทีมฟุตบอลคงแย่แน่ ๆ หากไม่มีความสามารถก็ปล่อยให้เอกชนทำไป รัฐควรเล่นบทบาท Carry คือคอยสนับสนุนอยู่ห่าง ๆ ช่วยไปขายกีฬาไทยในประเทศอื่น ๆ ได้ยิ่งดี อย่าง เจลีก นี่ผมรู้จักครั้งแรกจากเกมวินนิ่งเลย นโยบายเขาดี เวลาวางแผนต้องโยงใยกันได้หมด บ้านเราคำว่าบูรณาการนี่ ตลกร้าย ใช้กันทุกหน่วยงานแต่ไม่เคยปฏิบัติได้จริงเลย ต่างคนต่างทำล้วน ๆ รัฐต้องหาวิธีให้ได้ 

 

ทีนี้ผมลองคิดต่อโดยกลับไปหาความคลาสสิกของวิชาเศรษฐศาสตร์ อย่างศัพท์ “เงินเฟ้อ” โดยเฉพาะ เงินเฟ้อในฟุตบอลไทยที่ย้ายทีมทีหลักครึ่งร้อยล้าน ทั้งที่ชื่อเสียงยังมีไม่มากและราคาสูงกว่าไปเจลีกเสียอีก ตรงนี้ถือเป็นอุปสรรคในเชิงเศรษฐศาสตร์การกีฬาไหมครับ ? 

ต้องไปพิจารณาว่าที่แพงนี่แพงจากอะไร คิดว่าไม่ได้มีเพียงศักยภาพ ยังมีค่านู่นนี่อีกเพียบ อย่างค่าอนาคต เผื่อฟอร์มดี ค่ากินเปล่า ค่าลิขสิทธิ์ ปัจจัยเยอะมาก ทำไมยอมจ่ายล่ะ หากคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล (Rational) ต้องบอกว่า อาจจะมีการชาร์จอะไรบางอย่าง อาทิ นักเตะคนนี้สามารถขายเสื้อหรือขายตั๋วได้ในอนาคต เป็นการลงทุนล่วงหน้าเสียเป็นส่วนมาก บางคนซื้อมาทำคอนเทนต์ก็มี เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์อะไรแบบนี้ ตรงนี้อาจจะเป็นแต้มต่อให้เฟ้อได้ 

 

อย่างนั้นอาจารย์ลองพิจารณาเทรนด์การทำความเข้าใจทางเศรษฐศาสตร์การกีฬาในอนาคตได้ไหมครับ ?

เทรนด์ด้านการใช้ข้อมูลนี่มาแน่นอน ตอนนี้ทุกคนต้องการข้อมูลเชิงลึกทั้งนั้นเลย อย่างตอนนี้มีแต่คนบอกว่าไทยลีกกำลังโต ผมถามเลย โตที่ว่านี่อะไรโต ใครเป็นคนขับเคลื่อน ขับเคลื่อนอย่างไร ใครคือกลุ่มคนดู จ้างงานใคร จ้างงานเท่าไร จ้างงานอย่างไร เกี่ยวพันกับบุคลากรในสายอื่น ๆ อย่างไร ตรงนี้คือสิ่งสำคัญ 

อย่างพวกสถิติต่าง ๆ พวก Data Science ที่เก็บข้อมูลต่างๆ มากมาย เช่น การวิ่ง การหายใจ ท่าทาง ความแม่นยำของการยิง คือสมัยนี้ไปไกลมาก สโมสรที่ไปได้ไกลทั้งไทยและต่างประเทศ นอกจากทุนหนาแล้วข้อมูลต้องมีมาก อย่าง ไบรท์ตัน เห็นได้ชัด เขารู้ไง มีข้อมูล ทฤษฎี Moneyball อะไรแบบนี้ ซื้อถูกขายแพง เป็นการควานหาเพชรในตมอะไรแบบนี้

 

เมื่อเราพอเห็นภาพรวมเช่นนี้ จึงอยากให้อาจารย์ลองทำความเข้าใจปัญหาทางการกีฬา ด้วยวิธีการแบบจุลภาคได้ไหมครับ ?

หนีไม่พ้นการจ้างงาน แรงงานที่เป็นองคาพยพในวงการกีฬานี่เป็นแรงงานนอกระบบเยอะมาก ๆ คนดูแลสนาม พนักงานรักษาความปลอดภัย อะไรพวกนี้ไม่ Outsourcing ก็แบบลูกจ้างรายวัน อย่างที่ผมกล่าวไปคือช่วยดูแลคนพวกนี้ให้ดีเทียบเท่ากับที่เขาดูแลนักกีฬาของคุณ ในการกีฬามีความเสี่ยงไม่เท่ากัน คนที่เกี่ยวข้องกับกีฬาทั้งหมดไม่ควรต้องมาบริหารความเสี่ยงมากจนเกินไป หรืออย่างนักเตะเยาวชนอะไรแบบนี้ในไทยยังดูแลไม่ดีพอ ผมเสียดายทรัพยากรมนุษย์ ในโลกตะวันตกเขามีสัญญาให้นักเตะเยาวชนชัดเจน

 

สุดท้ายนี้ อาจารย์อยากฝากอะไรถึงโลกกีฬาไหมครับ ?

ผมเป็นแฟนบอลลิเวอร์พูล ดังนั้นจึงอยากบอกว่าที่ทำมาก็ดีอยู่แล้วครับ เป็นเรื่องธรรมชาติ มีขึ้นมีลง ต้องบริหารอารมณ์ตนเองให้เป็น เชียร์เอาสนุกพอ ต้องเข้าใจว่าตอนนี้ฟุตบอลเริ่มพัฒนา Competitive Balance ทีมเล็กเริ่มสู้ทีมใหญ่ได้ ไบรท์ตัน หรือ เบรนท์ฟอร์ด นี่ก็เริ่มทาบรัศมี เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะเห็นภาพบาดตาว่าเราสามารถพ่ายแพ้ได้ ก็ตื่นเต้นดี การผูกขาดในวงการลูกหนังมันสร้างความไม่ท้าทาย ยิ่งแพ้เราก็ยิ่งต้องหาทางแก้เพื่อพิสูจน์ตนเอง ให้เชียร์ในลักษณะนี้ คือต้องเชียร์ต่อแล้วก้าวผ่านไปให้ได้ และการเชียร์ฟุตบอลก็จะมีสีสันมากขึ้นครับ

 



Author

วิศรุต หล่าสกุล

หน้าตา 4KINGS ฟังเพลง 4EVE

Photo

อาณกร จารึกศิลป์

Main Stand's Photographer

Graphic

อรรนพ สะตะ

graphic design ผู้ชื่นชอบกีฬาฮอกกี้, เกมส์, เดินเขา เป็นชีวิตจิตใจ